วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2011, 16:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว



พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง

พระพุทธเจ้าองค์ปฐม


..................................

ตอนนี้เรื่องที่เด่นมากคือ “พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง” น่าสนใจเป็นอย่างมากครับ นอกนั้นก็มีเรื่อง พรหมวิหาร๔ เป็นธรรมที่ปิดกั้นความเลวทั้งปวง,จงอย่าด่าครู อย่าตำหนิครู,ขึ้นชื่อว่ากฎของกรรม ไม่มีการให้ผลนั้นไม่มี ,จงอย่าประมาทในธรรม,จงทำให้ชินเป็นปกติตั้งแต่ตื่นยันหลับไปเลย,ฟังอะไรไม่ถ่องแท้ เข้าใจไม่ตลอด,อย่าหลงตัวหลงตนคิดว่าดีแล้วเป็นอันขาด,จงพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จักพูดทุกครั้ง,ทุกข์จากการทำงานหรือทุกข์จากการไม่รู้จักพอ,คำว่าเสร็จจริงๆ ของงานทางโลกนั้นไม่มี เป็นต้น ทั้งหมดในชุดนี้เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์ปฐม รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน จากหนังสือธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ มีนาคมตอน ๑
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ


..................................


พรหมวิหาร๔ เป็นธรรมที่ปิดกั้นความเลวทั้งปวง




สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตา ตรัสสอน เรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. เป็นอย่างไรเจ้า ความดียังไม่ได้ทำ เพียงแค่คิดก็ยากเสียแล้วใช่ไหม แล้วใยความเลวเล่า ทำได้โดยไม่ทันคิดทำไมจึงง่ายยิ่งนัก ที่ร่างกายของพวกเจ้าต้องประสบกับความลำบากเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ อันมีความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายเป็นต้น นี้เป็นผลของความเลวหรือความดี (ก็ยอมรับว่าเป็นผลของความเลว)

๒. พรหมวิหาร ๔ เมื่อเข้าใจดีแล้ว ธรรมนี้แหละเป็นทำนบปิดกั้นความเลวทั้งปวง จงหมั่นนำมาประพฤติปฏิบัติเถิด

๓. เศรษฐีรวยทรัพย์ ต้องอาศัยความเพียรเก็บหอมรอมริบ ประการหนึ่ง อาศัยทานบารมีที่มีแต่อดีตชาติหนึ่ง การสะสมพรหมวิหาร ๔ ก็เช่นกัน จักต้องอาศัยความเพียรเก็บหอมรอมริบดูมันทุกวันว่า วันนี้เก็บพรหมวิหาร ๔ ไปได้เท่าใด

๔. สำหรับทานบารมีก็จักต้องอาศัย เพื่อวัดกำลังใจของการทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ หากพรหมวิหาร ๔ มีกำลังต่ำ การให้ทานก็เกิดขึ้นไม่ได้ จิตมันละโมบโลภมาก แม้แต่ทรัพย์สินนอกกายก็ไม่ยอมให้ใคร ถ้ามีอารมณ์ปานกลาง การให้อามิสทานก็ยังมีการหวังผลเป็นการตอบแทน แต่ถ้ามีกำลังสูง การให้อามิสทานก็ให้โดยไม่มีการหวังผลตอบแทน รวมทั้งมีกำลังใจให้อภัยทานแก่บุคคลผู้หลงผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าบุคคลผู้นั้นไปประพฤติผิดในพระธรรมวินัย ใครเขาจักมีอารมณ์โกรธ โลภ หลง ก็เรื่องของเขา แม้เขาจักด่า นินทา ชม สรรเสริญร่างกายของเรา จิตของเราก็ไม่หวั่นไหวไปกับถ้อยคำนั้นๆ

๕. จิตมีพรหมวิหาร ๔ เต็ม มีอภัยทานอยู่เสมอ แม้ในบุคคลที่กระทำผิดในพระธรรมวินัย ก็ใช่ว่าจักโกรธแค้นขุ่นเคืองก็หาไม่ หากเตือนได้ก็เตือนด้วยจิตเมตตา กรุณา อารมณ์พระอรหันต์ไม่ข้องติดอยู่ในกรรมทั้งปวง จิตมีมุทิตา เยือกเย็นอยู่เสมอ หากเตือนไม่ได้ อุเบกขาก็ทรงตัวอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่จักทำให้จิตพระอรหันต์พร่องได้จากพรหมวิหาร ๔

๖. ศึกษาศีล ศึกษาธรรม แล้วพิจารณาย้อนไปย้อนมาให้รอบคอบ จักเห็นตัวพรหมวิหาร ๔ ในคำสั่งสอนอย่างชัดเจน และอย่าตำหนิกรรมของ อาทิกัมมิกะบุคคลเหล่านั้น (ผู้กระทำผิดก่อนที่จะมีการบัญญัติศีลข้อนั้นๆ) พวกเขาเป็นครูสอนเรื่องขาดพรหมวิหาร ๔ หรือการมีอารมณ์เบียดเบียนทั้ง ๓ ประการ ให้แก่พวกเจ้าได้เห็นชัดโดยการศึกษา จึงจัดว่าพวกเขาเหล่านั้นมีบุญคุณที่เป็นแบบอย่างให้พวกเจ้าได้ตระหนักว่า การกระทำเหล่านั้นไม่ควรกระทำเพราะในที่สุดก็เป็นผลเบียดเบียนตนเองชัด

๗. เพราะฉะนั้นจงอย่าด่าครู อย่าตำหนิครู ให้พิจารณาการกระทำของครูเหล่านั้นโดยธรรม เจ้าจักเห็นอารมณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ครูเหล่านั้นหลงผิด เห็นความชั่วว่าเป็นความดี จึงกระทำความชั่วไปตามความหลงที่คิดว่าดีนั้นๆ จงพิจารณาให้ถ่องแท้ จักเห็นอารมณ์โกรธ โลภ หลง ที่บงการครูเหล่านั้นกระทำผิดๆ อยู่ ไม่ว่าทางด้านมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม การสร้างกรรมทางใดทางหนึ่ง ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเบียดเบียนตนเองเป็นที่สุดเหมือนกัน

๘. ขึ้นชื่อว่ากฎของกรรม ไม่มีการให้ผลนั้นไม่มี ถ้าตราบใดผู้ก่อกรรมนั้นๆ ยังมีการจุติอยู่ และไม่มีการเข้าถึงพระโสดาบันเพียงใด อบายภูมิ ๔ ยังเปิดรับอยู่เสมอ

๙. แม้บรรลุพระโสดาบันแล้ว ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ยังมีการจุติอยู่ กฎของกรรมทั้งความดีและความชั่วก็ยังให้ผลอยู่ เพียงแต่ปลอดจากการไปสู่อบายภูมิ ๔ เท่านั้น จนกว่าจิตดวงนั้นจักมีบารมี ๑๐ เต็ม เป็น ๓๐ ทัศ และมีพรหมวิหาร ๔ เต็มเป็น อัปปมัญญา ตัดสังโยชน์ ๑๐ ขาดสะบั้นแล้ว ทิ้งอัตภาพของขันธ์๕ หรือกาย พรหม และเทวดา อันเป็นภพชาติสุดท้ายแล้ว จิตเคลื่อนสู่พระนิพพาน ดินแดนเอกันตบรมสุขเท่านั้น จึงจักได้ชื่อว่าพ้นจากกฎของกรรมทั้งปวง สัพเพ ธัมมา อนัตาติ

๑๐. เพราะฉะนั้น พวกเจ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็จงอย่าประมาทในธรรม เร่งความเพียร พยายามรักษาพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ ให้มีกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามคำสอนที่เคยให้พิจารณาควบคู่ไปกับพระกรรมฐานทั้งหลายก็ดี ตามความพิจารณาโดยอาศัยจากการศึกษาศีลในพระไตรปิฎกก็ดี จงทำให้ชินเป็นปกติตั้งแต่ตื่นยันหลับไปเลย อย่าว่างเว้น อย่าให้ขาด เห็นความสำคัญเข้าไว้ตามนี้

พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอน เรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. เรื่องสัญญา ความจำของชาวโลก มักจักไม่เที่ยง ฟังอะไรไม่ถ่องแท้ เข้าใจไม่ตลอด ก็มักจักจำความอะไรที่ผิดๆ แล้วนำไปพูดต่อในทางที่ผิด จึงทำให้คนที่ฟังต่อๆ ไปเข้าใจผิดอย่างมากมาย แต่นั่นก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับการฟังธรรมคำสั่งสอนแล้วตีความหมายผิดๆ เอาสัญญาความจำที่ไม่เที่ยงมาตู่คำสอน และเอาปัญญาที่มีอยู่ในตน ตีความหมายเอาตามความคิดเห็น อันเป็นอุปาทานส่วนตัวมาบังหน้า แล้วนำธรรมนั้นออกไปเผยแพร่กระจายออกสู่สาธารณะชน คนฟังก็จำธรรมนั้นโดยการฟังที่คล้อยตาม จุดนี้ซิอันตราย

๒. คนมักจักพูดโอ้อวดธรรมที่ไม่มีในตน โดยมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้เลิศประเสริฐในการเข้าใจพุทธพจน์บทพระบาลีอ้างพระธรรมคำสั่งสอนว่าเป็นคำตรัสของพระตถาคตเจ้าขึ้นนำหน้า แต่ในภายหลังที่อรรถาธิบาย ก็มักจักสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตนตีความหมายของธรรมนั้น ตามอุปาทานแห่งตน กล่าวเป็นเชิงโอ้อวดตนว่าเข้าถึงในธรรมนั้นๆ

๓. ที่ตถาคตกล่าวมานี้ ก็เพื่อให้พวกเจ้าสำรวมจิต หรืออารมณ์ที่ทะนงตนว่าเป็นผู้เข้าถึงธรรมเอาไว้ดีๆ อย่าหลงตัวหลงตนคิดว่าดีแล้วเป็นอันขาด จักทำให้จิตพลาดจากความดีไปอย่างหน้าเสียดายอย่างยิ่ง

๔. พูดมากเท่าใด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น จงพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จักพูดทุกครั้ง เล็งเห็นสาระหรือประโยชน์ในการพูดแต่ละครั้งด้วย อย่าพูดให้เสียเปล่าหรือพูดให้เป็นโทษ เป็นที่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น คุมจุดนี้เอาไว้ให้ดีๆ ชาวโลกหมองใจฆ่ากันตาย ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเพราะวจีกรรมมามากต่อมากแล้ว

๕. เมื่อห้ามปากแล้วก็มาห้ามใจ การห้ามปากและห้ามใจก็ดี จงห้ามที่ตนเอง อย่าไปห้ามที่บุคคลอื่น เรื่องของการห้ามใจ คือ ให้พิจารณาอารมณ์คิดดูว่าขณะจิตหนึ่งๆ นั้นมีอารมณ์ที่เป็นสาระหรือประโยชน์ในความคิดหรือความสงบนั้นบ้างไหม เป็นคุณหรือเป็นโทษ เบียดเบียนตนเองหรือไม่ เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือไม่ อารมณ์ใดถ้าหากตกเป็นทาสของกิเลส จักโกรธ โลภ หลง ก็ตาม อารมณ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นโทษและเบียดเบียน จักต้องหมั่นรู้ธรรมของจิตอยู่เสมอ จึงจักแก้อารมณ์กิเลสได้


ทุกข์จากการทำงานหรือทุกข์จากการไม่รู้จักพอ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอน เพื่อนผมไว้ดังนี้

๑. เห็นทุกข์อันเกิดจากการทำงานแล้วหรือยัง (ก็รับว่าเห็นแล้ว) มันน่าจักเกิดอีกไหม เหนื่อยเสียให้พอ จักได้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

๒. เพราะความไม่รู้จักพอนี่แหละ เป็นปัจจัยให้กลับมาเกิดมีร่างกายอย่างนี้ ไม่รู้จักพอในความโกรธ ไม่รู้จักพอในความโลภ ไม่รู้จักพอในความหลง จึงมีแต่ความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุด เกิดทุกชาติก็ไม่รู้จักพอสักชาติ เหน็ดเหนื่อยเพราะภาระหน้าที่กิจการงาน แต่ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักแสวงหาความหลุดพ้น

๓. งานทุกอย่างก็มีปัญหา เกิด เสื่อม ดับอยู่ทุกชาติ จิตมันก็เกาะอยู่ตามนั้น แก้ไขได้บ้าง แก้ไขไม่ได้บ้าง จิตผูกพันกับการงานโดยรู้เท่าไม่ถึงกฎของความเป็นจริง

๔. ไตรลักษณ์ครอบครองโลกทั้งหมดไม่ว่า พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ จิตเกาะอยู่ตามนั้นจึงเป็นทุกข์ แล้วมาชาตินี้เจ้ารู้หรือยังว่าเป็นทุกข์ (ก็รับว่ารู้แล้ว)

๕. พร้อมที่จักพอในหน้าที่การงานหรือยัง (ก็รับว่าพร้อมแล้ว)

๖. แต่เมื่อขันธ์ ๕ ยังทรงชีวิตอยู่ หน้าที่ก็คือหน้าที่ กิจการงานซ่อมแซมโบสถ์และวิหารเป็นภาระที่เจ้าจักต้องรับผิดชอบ ก็จักต้องทำงานนี้ไปตามหน้าที่ เพียงแต่รู้จักพอ และพยายามให้จิตทรงอารมณ์อุเบกขา ไม่เกาะในกิจการงานให้มากจนเกินไป มีจิตพร้อมที่จักละจากงานอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือขันธ์ ๕ พังเมื่อไหร่ ตั้งใจไปพระนิพพานได้เมื่อนั้น คำว่าไม่พร้อมจักไม่มีในจิตของเจ้าตั้งใจไว้ตามนี้(รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน)

๗. เมื่อตั้งใจจักทำงานชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย งานทางจิตก็จักต้องควบคุมให้เข้มแข็งเข้าไว้ งานทางโลกมีปัญหา เมื่อเจ้าพิจารณาเห็นต้นเหตุของปัญหาได้ งานทางจิตก็เช่นกัน อารมณ์ที่สะดุด คือ มีปัญหาทำให้จิตไม่ราบเรียบ ก็จงพิจารณาหาเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เจ้าก็จงดับเหตุแห่งธรรมนั้น ปัญหาทางจิตก็หมดได้เช่นกัน

๘. คำว่าเสร็จจริงๆ ของงานทางโลกนั้นไม่มี ทำอย่างไรก็ไม่แล้วเสร็จไปสักที อย่าไปเกาะติดกับมันให้มากนัก ให้เห็นตัวธรรมดาเข้าไว้ แก้ไขซ่อมแซมไปตามหน้าที่ การทำงานทางโลกก็พึงทำไปตามกำลังร่างกาย ได้มาก - น้อย ก็จงพอใจตามกำลังของกายในแต่ละวัน ถือเอาความมัชฌิมาของจิตและกายเป็นที่ตั้ง คือ มีความพอดีอยู่ในการทำงานนั้นอยู่เสมอ จิตก็จักเป็นสุข

๙. อนึ่งงานทางธรรมก็เช่นกันอย่าทิ้ง กายทำงานทางโลก จิตก็ทำงานทางธรรมได้พร้อมกัน แต่งานทางธรรมนั้นมีการจบได้ตามลำดับ (จากอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ตามลำดับ) จบแล้วคำว่าเสื่อมถอยหลังให้ต้องกลับมาซ่อมแซมนั้นไม่มีอีก และจงพอใจในผลของการปฏิบัติในแต่ละครั้ง ได้มากได้น้อยก็พอใจ มีความพอดีอยู่ในธรรมปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่เสมอ จิตจักเป็นสุข

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
…………………………….

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ มีนาคมตอน ๑
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ

…………………………………


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron