วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 19:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 12:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติเพื่อให้ได้สมาธิ
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติจิตตภาวนา คือการอบรมจิต
อาศัยสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลัก ดังที่ได้แสดงมาในปี
ทั้งหลายเป็นลำดับ เพราะว่าการปฏิบัตินั้นไม่ใช่
เป็นสิ่งที่พึงทำสำเร็จ ให้บริบูรณ์ได้
ในระยะเวลาปีเดียวสองปี สำหรับผู้ปฏิบัติที่เป็นสามัญชน
ทั่วไป แต่ต้องปฏิบัติกันสืบต่อเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้น
การฟังบ่อยๆ ก็เช่นเดียวกับการที่ต้องปฏิบัติซ้ำๆ
อยู่บ่อยๆ เพื่อให้บังเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฉะนั้น แม้
จะมีการฟังและการปฏิบัติซ้ำกันอยู่
ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เพียงพระสูตรเดียว แต่ก็
เป็นประโยชน์ให้เกิดความพูนเพิ่ม เพิ่มพูนขึ้น
โดยลำดับดังกล่าว
โดยปรกติจิตนี้ของทุกๆ คน
ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก แต่ก็
สามารถอบรมจิตนี้ให้ตรงได้ คือให้สงบตั้งมั่น
ด้วยอาศัยอุปการธรรม ๔ ประการ ซึ่ง
ได้อธิบายมาแล้ว คือ อาตาปะ ความเพียรเผากิเลส
สัมปชานะ ความรู้ตัวหรือความรู้พร้อม สติ
ความระลึกกำหนด และ (วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
) การกำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย
เมื่อมีอุปการธรรมทั้ง ๔ นี้ จึง
สามารถปฏิบัติทำจิตตภาวนาได้
สมาธิเพื่อความสงบ สมาธิเพื่อปัญญา
และจิตตภาวนา แม้ตามหลักสติปัฏฐานทั้ง
๔ นั้น ก็มีทั้งเพื่อสมาธิความตั้งมั่นแห่งจิต หรือสมถะ
ความสงบ และทั้งเพื่อปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจ
จะธรรม ทั้งสองนี้เป็นจิตตภาวนา ซึ่งต้องมีศีล
เป็นภาคพื้น
และกรรมฐานที่ตั้งของการปฏิบัติเบื้องต้นก็เพื่อ
ให้จิตเป็นสมาธินั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน
ไว้เริ่มตั้งแต่สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ดังที่
ได้ตรัสสอนไว้ให้ไปสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง อันหมาย
ถึงที่สงบสงัด นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาดหรือขัดสมาธิ
ตั้งกายตรง ดำรงสติอยู่จำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้รู้
หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น
หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจ
เข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กาย
ทั้งหมดหายใจออก
รูปกาย นามกาย
ซึ่งคำว่ากายนี้มีสองอย่าง
นามกายอย่างหนึ่ง รูปกายอย่างหนึ่ง
กองแห่งนามคืออาการของจิตใจเป็นนามกาย
กองของรูปคือรูปกายเป็นกองรูป
รวมความว่ารู้ทั้งกายและใจ
และพระอาจารย์ก็ยกอธิบายรวบรัด
เข้ามาว่ากายคือกองลม กองลมหายใจเข้า
กองลมหายใจออกทั้งหมด ก็
เป็นการอธิบายเพื่อยกเอากองลมขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ได้
กำหนดดูกองลม
เพราะเมื่อกำหนดดูกองลม กาย
และใจก็ย่อมรวมกันอยู่ที่กองลมนี้ทั้งหมด และยัง
ได้อธิบายแยกกองลมออกไปเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง
และที่สุด เมื่อหายใจเข้านั้นลมหายใจเข้าก็
จะผ่านปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเข้าไป
และผ่านทรวงอกเข้าไป
ถึงอุทรคือท้องที่มีอาการพองออก ให้กำหนดเป็น ๓ จุด
คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนจุดหนึ่ง
อุระคือทรวงอกภายในจุดหนึ่ง นาภีคือท้องจุดหนึ่ง
และเมื่อหายใจออกก็ให้กำหนดท้องที่ยุบเป็นจุดที่หนึ่ง
แล้วก็มาอุระคือทรวงอก แล้วก็มาปลายจมูก
หรือริมฝีปากเบื้องบน มีสติตามดูลมหายใจที่เข้าไป
และที่ออกมาดั่งนี้ เรียกว่ารู้กายทั้งหมด
และเมื่อได้ปฏิบัติดังนี้บ่อยๆ จนจิตรวม
เข้ามาอยู่ตัวดีขึ้น ก็ทิ้งเสีย ๒ จุด กำหนด
ไว้เพียงจุดเดียว ซึ่งพระอาจารย์ท่านหนึ่งก็สอน
ให้กำหนดที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
อาจารย์สำนักอื่นก็มีสอนต่างๆ กันออกไป เช่น
ให้กำหนดที่ท้อง หายใจเข้าก็พองออก
หายใจออกก็ยุบลง เพราะว่าปรากฏได้ง่าย
แต่แม้ว่า
จะกำหนดที่ปลายจมูกแต่เพียงจุดเดียวก็รู้ได้ง่ายเหมือน
กัน เพราะหายใจเข้านั้นลมหายใจก็
ต้องกระทบที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบนเข้าไป
หายใจออก หายใจลมหายใจก็ย่อมกระทบจุดนี้เหมือน
กัน ลมหายใจเมื่อหายใจเข้านั้นจะ
เป็นลมหายใจเย็นตามปรกติ หายใจออกนั้นจะ
เป็นลมหายใจที่อบอุ่นหรือร้อนขึ้น
เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่ดั่งนี้ ใจก็ย่อมรวม
เข้ามาเป็นจุดเดียวกันอยู่ในภายใน ก็ชื่อว่ารู้กายทั้งหมด
กายสังขาร เครื่องปรุงกาย
และเมื่อได้ศึกษาสำเหนียกกำหนดให้รู้กาย
ทั้งหมดดั่งนี้แล้ว ต่อไปก็ตรัสสอนให้
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจ
เข้า ศึกษาว่าเรา
จะระงับกายสังขารคือเครื่องปรุงกายหายใจออก
และเครื่องปรุงกายที่เรียกว่ากายสังขารนั้น ก็หมาย
ถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือการหายใจ
เข้าการหายใจออกนี้เอง
เพราะว่าลมหายใจหรือการหายใจนั้น
เป็นเครื่องปรุงกายให้ดำรงอยู่ ดังที่คนเรา
ต้องมีลมหายใจจึงดำรงอยู่ได้ และหมายถึงเจตนาคือ
ความจงใจ หายใจเข้า หายใจออก เช่นต้องการจะ
ให้ยาว ต้องการจะให้สั้น หรือว่าอาการต่างๆ
ของกายที่ปรากฏเป็นความเมื่อยขบ หรือ
ความระคายเคืองร่างกาย เช่นคันที่โน่นที่นี่ เป็นต้น ก็
เป็นการปรุงกายอย่างหนึ่ง ซึ่งเนื่องมาจาก
ต้องมีเหตุปัจจัย มาทำให้เป็นเช่นนั้น ปรากฏเป็น
ความปรุงคือเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น
ในการหายใจนั้นจึ่งไม่ยึดถือด้วยตัณหา หรือด้วยเจตนา
แต่ปล่อยให้หายใจเข้าหายใจออกไปโดยปรกติ
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วลมหายใจก็จะละเอียดเข้า
และกายอันนี้ก็จะละเอียดเข้า ดังเช่นเมื่อหายใจ
เข้าหายใจออกโดยปรกติยังมิได้ปฏิบัติ ลมหายใจจะ
เข้าออกตลอดทางทั้ง ๓ จุด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
คือตั้งแต่ปลายจมูก ผ่านอุระคือทรวงอก ไป
ถึงนาภีคือท้อง และก็จากนาภีคือท้อง ผ่านอุระมา
ถึงปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
และอาการของร่างกายก็จะปรากฏ
เช่นว่าท้องพองท้องยุบ
หรือร่างกายที่ตรงขึ้นหรือว่าค้อมลง
หรือว่าร่างกายเอียงไปข้างหน้าเอียงไปข้างหลัง
ข้างซ้ายข้างขวา ซึ่งเรียกว่าเป็นความปรุงกายทั้งหมด
ลมละเอียด
ต่อเมื่อได้ตั้งสติกำหนดลมหายใจ
เข้าออกดังกล่าวมาโดยลำดับ ตั้งแต่หายใจเข้าออกยาว
โดยปรกติ หรือว่าสั้นโดยปรกติ หรือว่าสั้นเข้า
เพราะเหตุว่าจิตกำหนดที่ลมหายใจ จิตได้สมาธิ
ในการกำหนดลมหายใจ ลมหายใจก็สั้นเข้าละเอียดเข้า
เพราะว่าสั้นก็คือละเอียด ละเอียดก็คือสั้น รวม
ความรู้กายใจทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ลมหายใจไม่
ให้ออกไปข้างไหน
ลมหายใจก็จะสั้นเข้าละเอียดเข้า
อาการพองยุบของนาภีคือท้อง ที่พองยุบอยู่
โดยปรกติเมื่อหายใจเข้าหายใจออกก็จะลดลง
พองยุบน้อยเข้า จนถึงเมื่อหายใจละเอียดเข้า
ร่างกายละเอียดเข้า สมาธิดีขึ้น ก็เหมือนอย่างหายใจ
จากอุระคือทรวงอก อาการพองยุบของท้องจะไม่ปรากฏ
จากทรวงอกมาถึงปลายจมูก จากจมูกมา
ถึงกลางทรวงอก ไปไม่ถึงท้อง เพราะว่าท้องจะสงบ
เพราะจิตละเอียด กายก็ละเอียด
จนถึงเมื่อได้สมาธิดีขึ้นอีก
การหายใจก็รู้สึกเหมือนอย่างว่าหายใจอยู่แค่ปลายจมูก
หรือริมฝีปากเบื้องบนเท่านั้น ไม่เข้าไปถึงอุระคือทรวงอก
หรือออกจากอุระคือทรวงอก และเมื่อจิตละเอียดยิ่งขึ้น
กายก็ละเอียดยิ่งขึ้น อาการปรุงแต่งกายจะไม่มี
ก็เหมือนอย่างไม่หายใจ หรือว่าแผ่วๆ อยู่แค่ปลายจมูก
เท่านั้น หรือว่าสงบไปทีเดียว เพราะว่าจิตละเอียดที่สุด
ด้วยสมาธิ กายก็ละเอียดที่สุด ปราศจากความปรุงแต่ง
จึงเหมือนอย่างไม่หายใจ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ไม่หายใจ
ยังคงหายใจอยู่นั่นเอง ปรากฏว่าบางคนเมื่อมาถึงขั้นนี้
แล้วเกิดตกใจ เกรงว่าจะหยุดหายใจเป็นอันตรายแก่ชีวิต
จึ่งเลิกปฏิบัติออกจากสมาธิเพียงแค่นั้น
แต่อันที่จริงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องกลัว ก็เป็นธรรมดา
เมื่อการปรุงแต่งกายที่เรียกว่ากายสังขารนี้สงบลง
โดยที่จิตสงบ กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างสงบ
กายก็สงบ และเมื่อกายสงบ ลมหายใจเองก็สงบ จึง
เป็นจิตละเอียดที่สุด กายสงบละเอียดที่สุด
ก็เหมือนอย่างไม่หายใจ แต่ความจริงนั้นลมหายใจก็ผ่าน
เข้าผ่านออกอยู่โดยปรกติ โดยที่ร่างกาย
ไม่มีอาการเยื้องกรายอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อถึงขั้นนี้
แล้วความเมื่อยขบต่างๆ ความคันโน่นคันนี่ต่างๆ เป็นต้น
ก็จะไม่มี จะหายไปหมด ในขณะที่จิตสงบ
จากการปรุงแต่ง กายก็สงบจากการปรุงแต่ง
เมื่อจิตเป็นสมาธิ
แม้ในขณะเช่นนี้ก็ให้กำหนดว่าลมหายใจ
ยังมีอยู่ โดยที่ร่างกายไม่ต้องเคลื่อนไหว ยังมีลมหายใจ
เป็นอารมณ์ของสมาธิอยู่ จิตยังไม่ถอนจาก
ความกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นแต่เพียงว่าสงบอยู่
ในภายใน กำหนดรู้ว่าลมมีอยู่ แต่เป็นลมละเอียด จนถึง
ไม่ปรากฏว่าเข้าหรือออก แต่ว่าลมมีอยู่ เมื่อ
เป็นดังนี้ก็ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ
จิตที่เป็นสมาธินี้ต้องมีลักษณะรู้ รู้สงบ
อยู่ภายใน ไม่รู้ฟุ้งออกไปรับอารมณ์ภายนอก รู้สงบ
อยู่ภายใน มีตัวสติคือตัวกำหนด กำหนดรู้ รู้นั้น
เป็นสัมปชัญญะ กำหนดเป็นตัวสติ รู้เป็นสัมปชัญญะ
แต่เรียกรวมกันเป็นสติคำเดียวโดยมากว่ากำหนดรู้
และอาการที่จิตตั้งอยู่กับความกำหนดรู้ จิต
ไม่ฟุ้งออกไปภายนอกนั่นเป็นตัวสมาธิ ( ข้อความขาด
เล็กน้อย ) ( เริ่ม ๑๖๔/๑ ) ตั้ง สมาธิและสตินี้ต้องอาศัย
อยู่ด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ก็เพราะว่าจิตจะกำหนด
เป็นตัวสติอยู่ได้ ก็ต้องมีสมาธิคือจิตต้องตั้งอยู่ ถ้าจิต
ไม่ตั้งอยู่สติก็กำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติจึง
ต้องมีสมาธิ อีกอย่างหนึ่งสมาธิก็ต้องมีสติ คือ
เพราะเหตุว่ามีสติกำหนดอยู่
จิตจึงตั้งอยู่กับความกำหนดนั้นได้ ถ้า
ไม่มีสติกำหนดอยู่ จิตก็ไม่มีที่ตั้ง เพราะว่าสติ
นั้นสร้างที่ตั้งให้แก่สมาธิ สมาธิอาศัยสติกำหนด จึงตั้งอยู่
ได้ ก็เป็นอันว่าทั้งสติและทั้งสมาธินี้ต้องอยู่ด้วยกัน แยก
กันไม่ได้
บริกรรมภาวนา อุปจาระภาวนา อัปปนาภาวนา
การปฏิบัติดั่งนี้ เมื่อว่าถึงเป็นวิธีภาวนา
คือการอบรมจิตหรือจิตตภาวนาดังที่เรียกนั้น ก็มีแสดง
ไว้ว่าในขณะที่ทำสติกำหนดรู้ลมหายใจ
เข้าออกดั่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เรียกว่า บริกัมมภาวนา
คือเป็นภาวนา การปฏิบัติอบรมในขั้นบริกรรม
คือขั้นที่เริ่มกระทำ จิตยังไม่รวมอยู่โดยมาก จิตมัก
จะออกไปก็ต้องกลับเข้ามา และเมื่อจิตเริ่มรวมตัวเข้ามา
สติกำหนดลมหายใจเข้าออกเข้มแข็งขึ้น จิตก็ตั้งมั่นขึ้น
แต่ยังไม่แน่น ยังไม่ลึก ยังไม่มั่นคง ยังคลอนแคลน
แต่ก็ดีกว่าในตอนแรก และใกล้ที่
จะแนบแน่นตั้งมั่น การปฏิบัติในขั้นนี้ก็เรียกว่า
อุปจารภาวนา คือภาวนาที่ทำสมาธิใกล้จะตั้งมั่นแนบแน่น
และเมื่อได้ถึงขั้นนี้แล้วก็แปลว่าจิตเริ่มได้สมาธิขึ้น
เมื่อจิตเริ่มได้สมาธิขึ้น สมาธิก็จะดีขึ้นในเมื่อ
ได้กระทำต่อไปบ่อยๆ และเสมอๆ จนถึงแนบแน่นตั้งมั่น
อยู่ได้ ก็เป็นอันว่าเข้าเขตของอัปปนาสมาธิ การปฏิบัติก็
เป็น อัปปนาภาวนา คือการปฏิบัติในขั้นอัปปนา
จิตตั้งมั่นแนบแน่นขึ้น
เพราะฉะนั้นในขั้นของการปฏิบัติจึงมี ๓
ดังนี้ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา
การที่จิตปฏิบัติเป็นจิตตภาวนาดั่งนี้ได้ ก็
ต้องอาศัยการที่มีความเพียรเผากิเลสเป็นต้น อัน
เป็นอุปการธรรมทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวมาแล้ว
ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 65 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร