ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การุณยฆาต (สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48180
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  เช่นนั้น [ 15 ก.ค. 2014, 23:22 ]
หัวข้อกระทู้:  การุณยฆาต (สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล)

รูปภาพ

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
โดย กองบก. IMAGE

นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๔

ในทัศนะของพุทธศาสนา การกระทำใดที่มีเจตนาเพื่อยุติชีวิตหรือทำให้ชีวิตตกล่วงไป ไม่ว่าชีวิตของตนหรือชีวิตของผู้อื่น ถือว่าเป็นอกุศลกรรม จัดว่าเป็นบาป เพราะปุถุชนจะทำกรรมดังกล่าวได้ย่อมต้องมีอกุศลจิตเจือปนอยู่ไม่มากก็น้อย เช่น โทสะหรือความโกรธเกลียด ตัณหาหรือความอยากที่จะไปให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ (เรียกว่าวิภวตัณหา) เป็นต้น แม้ผู้กระทำนั้นจะมีเจตนาดีเป็นจุดเริ่มต้น แต่ทันทีที่ตั้งใจทำลายชีวิตหรือทำให้ชีวิตจบสิ้น อกุศลจิตก็เกิดขึ้นทันที ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำการุณยฆาตจะเป็นหมอหรือญาติ ก็ถือว่าได้ทำอกุศลกรรม

ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นว่าหมอและญาติมีสิทธิในชีวิตของผู้ป่วยหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยเอง แม้มีสิทธิในชีวิตของตน แต่เมื่อตั้งใจจบชีวิตตัวเอง (จะโดยฆ่าตัวตายหรือขอให้ผู้อื่นช่วยทำการุณยฆาตให้ก็ตาม) ก็มักจะมีอกุศลจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง หากตายไปในสภาพจิตดังกล่าว ย่อมไปอบาย ไม่ได้ไปสุคติ

การุณยฆาตหากเป็นการกระทำกับพ่อแม่ของตนเอง ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม ในพระไตรปิฎก พูดถึงลูกที่หยิบยื่นอาวุธเพื่อให้พ่อแม่ฆ่าตัวตาย หรือลงมือฆ่าพ่อแม่ตามคำสั่งของท่าน ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมเช่นกัน อนันตริยกรรมนั้นเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาตอยู่แล้ว

ปาณาติบาตนั้น ไม่ได้หมายความถึงการลงมือฆ่าเท่านั้น แม้แต่การชักชวนให้เขาฆ่าตัวตาย ก็เข้าข่ายปาณาติบาต เช่น พระที่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ หากเขาฆ่าตัวตายสำเร็จ
พระรูปนั้นก็ถือว่าต้องปาราชิกข้อที่ ๓ อันได้แก่ การจงใจฆ่ามนุษย์ให้ตาย

จริงอยู่ที่ว่ามนุษยธรรมกับศีลธรรมหรือข้อบัญญัติทางศาสนานั้น บางครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน (เช่น บางศาสนาส่งเสริมการบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์ ซึ่งย่อมขัดกับสำนึกทางมนุษยธรรมอยู่แล้ว) อย่างไรก็ตามหากพูดจำเพาะศีลธรรมทางพุทธศาสนา มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษยธรรม กล่าวคือศีลธรรมทางพุทธศาสนา ไม่ได้คำนึงแต่เฉพาะผลกระทบที่มองเห็นชัด จับต้องได้ (เช่น ค่าใช้จ่าย หรือภาระแก่ผู้ที่ดูแล) แต่ยังคำนึงถึงมิติทางจิตใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยลงลึกไปถึงสภาวะจิตเช่น จิตที่เป็นกุศลและอกุศล รวมทั้งตระหนักถึงศักยภาพของจิตที่สามารถจะเป็นอิสระเหนือความเจ็บปวดได้ ในขณะที่มนุษยธรรม (ซึ่งมีความหมายกว้างมาก และแตกต่างกันไปตามทัศนะของแต่ละคน) อาจจะมองข้ามประเด็นดังกล่าวไป หรือมองไม่ถี่ถ้วนรอบด้าน

ยกตัวอย่างเช่น การทำการุณยฆาต ส่วนใหญ่มักให้เหตุผลว่า การมีชีวิตอยู่ต่อไปของผู้ป่วย ไม่มีประโยชน์แล้ว เป็นการอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี เพราะนอกจากเจ็บปวดทุกข์ทรมานแล้ว ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ มองในแง่ของมนุษยธรรม การช่วยให้ผู้ป่วยจบชีวิตโดยเร็ว ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเจ็บปวด แต่พุทธศาสนามองว่าชีวิตนั้นมีคุณค่า ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ แม้เจ็บป่วยเพียงใดก็ยังสามารถทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยกับจิตใจของตน อาทิ การทำจิตให้สงบด้วยการน้อมใจนึกถึงสิ่งดีงาม หรือทำสมาธิภาวนา อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้จากความเจ็บป่วย หรือใช้ความเจ็บป่วยเป็นเครื่องมือสอนธรรม คือเห็นความจริงของชีวิตอย่างชัดเจนว่า ชีวิตนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจของเรา หลายคนที่เห็นความจริงดังกล่าว สามารถทำใจปล่อยวางจากความเจ็บปวดได้ คืออยู่กับความเจ็บปวดได้โดยไม่ทุกข์ใจ เพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของสังขาร

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระอรหันต์จำนวนไม่น้อยซึ่งบรรลุธรรมขณะที่ป่วยหนักมีทุกขเวทนาแรงกล้า อาศัยความเจ็บป่วยและทุกขเวทนานี้เองท่านเหล่านั้นจึงเกิดปัญญาเห็นความจริงของชีวิตจนไม่ยึดติดถือมั่นสังขารร่างกายต่อไป แม้ว่าคนเจ็บป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถจะทำได้อย่างพระอรหันต์ท่านที่กล่าวมา แต่ก็มีไม่น้อยที่สามารถอยู่กับความเจ็บปวดได้โดยไม่ทุรนทุราย เพราะจิตมีสมาธิ มีสติ ไม่ปล่อยใจถลำจมอยู่ในความเจ็บปวด และมีปัญญาคือแลเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ไม่คิดผลักไสความเจ็บปวด ทำให้ปวดแต่กาย ส่วนใจไม่ปวด

นี้คือศักยภาพหรือความสามารถที่มนุษย์ทุกคนสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะตระหนักหรือไม่ และเตรียมตัวมามากน้อยเพียงใด จริงอยู่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ ดังนั้นเมื่อตนเองป่วยหนักหรือเห็นคนรักป่วยหนักถูกความเจ็บปวดรุมเร้า จึงคิดว่าทางออกจากความทุกข์ดังกล่าวมีทางเดียวเท่านั้นคือ จบชีวิตให้เร็วที่สุด

แต่อาตมาอยากจะย้ำว่า คนป่วยมีทางเลือกมากกว่านั้น คือ แม้ทุกข์กายเพียงใด แต่ใจไม่ทุกข์ ก็ได้ ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ความเข้าใจแบบโลกย์ ๆ (หรือสำนึกทางมนุษยธรรม) อาจจะนึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป จึงนึกแต่เพียงว่าการุณยฆาตเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบได้ แต่ถ้าหากเราคิดแต่จะใช้การุณยฆาตเป็นคำตอบสำหรับผู้ป่วยหนักที่หมดหวังในการรักษา นั่นก็เท่ากับเรามองข้ามหรือตัดโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้ทำหรือประสบสิ่งที่ดีกว่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงถึงผลเสียด้านอื่นอีก เช่น เรื่องอกุศลจิตหรือการกระทำที่เป็นบาป ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วตอนต้น

ดังนั้น แทนที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่หมดหวังในการรักษา จบชีวิตโดยเร็ว เราน่าจะช่วยให้เขาสามารถอยู่
กับความเจ็บป่วยและทุกขเวทนาได้โดยไม่ทุกข์ใจ เช่น ช่วยให้เขาวางใจอย่างถูกต้อง รู้จักการทำสมาธิภาวนา แนะนำเขาให้ยอมรับความเจ็บป่วย และอยู่กับมันได้โดยไม่ผลักไส เพราะยิ่งผลักไสปฏิเสธความเจ็บปวด ก็ยิ่งทุกข์


อันที่จริงสิ่งหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ความเจ็บปวดที่รุมเร้าผู้ป่วยนั้น ไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความทุกข์ใจ เช่น ความวิตกกังวล ความห่วงหาอาลัย ความคับแค้นโกรธเกรี้ยว ความรู้สึกผิด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์ชีวิตในอดีต หรือจากความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับคนบางคน มีหลายกรณีที่เมื่อแก้ปมในใจดังกล่าวแล้ว ความเจ็บปวดทุรนทุรายลดลง ในทางตรงข้ามหากปมดังกล่าวยังไม่ได้แก้ แม้ให้ยาระงับปวด ก็ลดความทุรนทุรายได้ชั่วคราว สักพักอาการก็จะกลับมาหรือกำเริบอีก ดังนั้นแทนที่จะนึกถึงแต่การบรรเทาความทุกข์ของเขาด้วยเทคโนโลยี จนไปไกลถึงขั้นจบชีวิตของเขาให้เร็วที่สุด ควรหันมาใส่ใจกับการบรรเทาความทุกข์ในใจของเขาควบคู่ไปกับการบรรเทาความปวดทางกาย จะทำเช่นนั้นได้หมอ พยาบาลและญาติ นอกจากจะต้องมีเมตตากรุณาแล้ว ยังต้องมีเวลาให้แก่ผู้ป่วย เข้าใจความรู้สึกของเขา และมีสัมพันธภาพที่ดีกับเขา จนเขาศรัทธาหรือมีความไว้วางใจ จึงจะสามารถให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่เขาได้

จะว่าไปแล้ว ความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระบวนการรักษาหรือการเยียวยาของหมอเอง เช่น การเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งหากผู้ป่วยมีโอกาสหายหรือรอด ก็น่าทำ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีโอกาสหาย และอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว การทำเช่นนั้นก็เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้แก่เขา การทำให้เขามีชีวิตหรือลมหายใจยืนยาวขึ้นกลับกลายเป็นการยืดความทรมานให้ยาวกว่าเดิม ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพอทำใจได้ หรือรู้จักใช้ธรรมะรักษาใจ ก็อาจไม่เป็นปัญหา (ผู้ป่วยที่โคม่าหรือแม้แต่เป็นผัก มีหลักฐานที่ชี้ว่า ยังสามารถรับรู้ได้ หรือมีความรู้สึกนึกคิดได้ แม้ไม่อาจแสดงออกให้คนอื่นรู้ได้ก็ตาม) แต่หากผู้ป่วยทำใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ทรมานมาก ในกรณีอย่างนี้จะเป็นการดีหากผู้ป่วยแจ้งความจำนงล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า หากไม่รู้สึกตัวเมื่อใด จะไม่ขอรับการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าจะมีชีวิตอยู่รอดได้ไม่นาน ทั้งนี้เพื่อลดความทุกข์ทรมานอันจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามการแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวควรทำหลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับหมอและญาติพี่น้อง จนเป็นที่เห็นพ้องต้องกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาเวลาที่ผู้ป่วยโคม่าและหมอทำตามที่ผู้ป่วยร้องขอ คือไม่ใช้มาตรการแทรกแซงใด ๆ เพียงเพื่อให้มีลมหายใจและหัวใจเต้นต่อไปชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น

การปฏิเสธการรักษาหรือการแทรกแซงทางการแพทย์เมื่ออยู่ในภาวะดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่เป็นการยอมรับความตายที่กำลังจะมาถึงและเมื่อรู้ว่าใกล้จะตายแล้วก็เลือกที่จะตายอย่างสงบโดยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังขาร แต่ถ้าไม่แสดงเจตจำนงล่วงหน้าหรือไม่ได้มีการพูดคุยกับญาติจนเห็นพ้องต้องกัน หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ญาติและหมอก็อาจจะเจาะคอ ใส่ท่อ หรือใช้วิธีการทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งมักสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย และต่อมาก็อาจก่อความทุกข์และความเดือดร้อนแก่ญาติได้ ถึงตอนนั้นหากจะถอดท่อ ก็จะกลายเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะถ้าถอดแล้วผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตทันที ก็จะกลายเป็นปาณาติบาตได้ (แต่ก็มีบางกรณีที่ถอดท่อแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถหายใจเองได้และมีชีวิตอยู่พักใหญ่ก่อนจะหมดลม ในกรณีนี้ย่อมไม่ถือว่าเป็นปาณาติบาต)

ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดปัญหา ผู้ป่วยจึงควรแสดงเจตจำนงล่วงหน้าให้ชัดเจนหากไม่ต้องการให้มีการยื้อชีวิตในสภาพที่ไม่รู้สึกตัวและใกล้ตายแล้ว

อย่างไรก็ตามในกรณีที่เจาะคอหรือใส่ท่อไปแล้ว และลำบากใจที่จะถอดอุปกรณ์เหล่านั้นหรือยุติการยื้อชีวิตของผู้ป่วย หมอและญาติควรหันมาให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางจิตใจของผู้ป่วย เช่น แนะนำผู้ป่วยให้ถอนจิตออกจากความเจ็บปวด โดยมาจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทน เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ ความดีงามที่ตนเคยทำและภาคภูมิใจ หรือชวนสวดมนต์และทำสมาธิภาวนา เพื่อให้จิตเกิดความสงบ รวมทั้งตั้งสติให้อยู่กับความเจ็บปวดได้โดยไม่ทุรนทุราย วิธีเหล่านี้สามารถเป็นประโยชน์แม้กระทั่งผู้ป่วยที่โคม่าหรือเป็นผัก เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวแต่ถูกความเจ็บปวดรุมเร้า


:b8: :b8: :b8:


= รวมคำสอน “พระไพศาล วิสาโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42477

= ประวัติและปฏิปทา “พระไพศาล วิสาโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22853

เจ้าของ:  ปลีกวิเวก [ 16 ก.ค. 2014, 07:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การุณยฆาต โดยพระไพศาล วิสาโล

:b8: อนุโมทนาค่ะ

ความเกิดเป็นทุกข์จริงหนอ
ความไม่เกิดเป็นสุขอย่างยิ่ง

เจ้าของ:  sirinpho [ 02 ต.ค. 2014, 10:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การุณยฆาต (สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล)

ขอโมทนาสาธุคะ :b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/