วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2009, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร)


ย้อนบรรยากาศการศึกษาและการเผยแผ่ธรรมในอดีต
:: อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันนี้ก็ขอนำเอาความทรงจำในอดีตมาเล่าให้ฟัง สมัยผมบวชเป็นเณรน้อย ประมาณสี่สิบปีมาแล้ว จำได้ว่าบรรยากาศ “ทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา” ดีกว่าสมัยนี้มากนัก พระภิกษุ สามเณร ขะมักเขม้นศึกษานักธรรมบาลีกันอย่างจริงจัง พระผู้ใหญ่เล่าต่างก็ให้ความสำคัญแก่พระปริยัติศาสนา ตั้งสำนักสอนนักธรรมบาลีกันแพร่หลาย

สำนักเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สำนักวัดมหาธาตุ สำนักวัดอนงคาราม สำนักวัดทองนพคุณ ต่างก็ผลิตเปรียญธรรมสร้างบุคลากรแก่พระศาสนาปีละมากๆ บางสำนักที่หาพระภิกษุจบเปรียญสูงๆ ดำเนินการสอนไม่ได้ อย่างเช่น สำนักวัดสามพระยา ด้วยความที่เห็นคุณค่าแห่งปริยัติศาสนา ท่านเจ้าอาวาส ซึ่งก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) ได้ให้คฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนมาช่วยสอนบาลีชั้นสูงแก่พระภิกษุสามเณร

บัณฑิตคฤหัสถ์ที่ว่านี้คือ อาจารย์วิเชียร บำรุงผล กับ น.อ.(พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง

อาจารย์วิเชียรนั้นแต่งบาลีเก่งฉกาจฉกรรจ์มาก สอนเทคนิคการเขียนเอสเสบาลี ซึ่งเป็นหลักสูตรเปรียญ 9 ประโยคได้ดี มีวิธีอธิบายให้นักเรียนเข้าใจง่าย จนหลายท่านออกปากว่า เวลาฟังอาจารย์อธิบายแล้วดูเหมือนว่าวิชานี้ง่ายจริงๆ แต่พอเขียนเข้าจริงๆ กลับยาก เสียนี่กระไร แค่เรียนแปลบาลีเป็นไทย แปลไทยกลับเป็นบาลีธรรมดาๆ ก็แทบ “จะอ้วก” อยู่แล้ว การเขียนเอสเส หรือเรียงความบาลีมิใช่เรื่องง่ายๆ

ส่วนอาจารย์แย้ม ลือชื่อว่าเป็นกวีชั้นยอด แต่งฉันท์บาลีหาตัวจับยาก และมีวิธีสอนให้นักเรียนแต่งฉันท์ได้ และแต่งเก่งในเวลาไม่นาน

ว่ากันว่า การเรียนของพระเณรเน้นการท่องจำ ใครท่องจำได้เก่งก็สอบไม่ค่อยตก คำพูดนี้เป็นจริงได้เพียง 7 ประโยค พอขึ้นเปรียญ 8-9 ประโยคแล้ว ความจำอย่างเดียวช่วยไม่ได้

ผู้เรียนจะต้องมีความเป็น “กวี” ด้วย เปรียญ 8 ประโยคจะต้องแต่งฉันท์บาลี คนไม่มีหัวทางฉันทลักษณ์ถึงรู้บาลีดีอย่างไร ก็แต่งจืดๆ ชืดๆ ยังงั้นๆ สอบกี่ปีกี่ชาติก็ตกอยู่นั่นแล้ว ส่วนชั้นเปรียญ 9 ประโยค คนจะสอบผ่านก็ต้องเป็น “นักเขียนเรียงความชั้นดี” ชั้นดีของท่านนั้น อย่างน้อยจะต้อง

1. ภูมิภาษาบาลีแน่น รู้ด้วยว่าสำนวนบาลีแบบพระไตรปิฎก แบบอรรถกถาฎีกาต่างกันอย่างไร

2. จำสำนวนเหล่านั้นได้ เวลาต้องการ “โคว้ต” เพื่อสนับสนุนการอธิบาย และเชื่อมข้อความเมื่อใดก็หยิบยกขึ้นมาใช้ได้ทันที

3. มิใช่สักแต่ว่าเขียนบาลีได้ แต่ภาษาที่เขียนต้องดีถึงขนาดด้วยข้อผิดพลาดไม่จำเป็น (silly mistake) คำเดียวก็อาจถูกปรับตกได้

บรรยากาศอย่างหนึ่งที่ผมเห็นสำคัญมากในยุคนั้นคือ มีการ “แข่งขัน” กันสูง สำนักนั้นเปิดสอนมีนักเรียนมาก และสอบได้มาก สำนักโน้นก็ระดมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นทุนในการจัดการเรียนการสอน ครูสอนที่เก่งและมีประสบการณ์ ตลอดถึงการเอาใจใส่ดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี พระผู้ใหญ่บางท่านไม่มีวุฒิทางเปรียญ คือตัวท่านเองไม่สามารถสอนได้ ท่านก็ตั้งสำนักเรียน หาครูมาสอน ครูไม่มีพอ ก็เปิดระบบ “ฟังเทป” (สมัยก่อนมีเทปคาสเซ็ตเปิดฟัง) ให้นักเรียนมาประชุมกันฟังเทปอธิบาย ซึ่งให้อาจารย์ลงเสียงไว้ล่วงหน้า เรียกได้ว่าสมาชิกยุทธจักรดงขมิ้นรู้จัก “ใช้สื่อ” ช่วย เป็นการก้าวหน้าระดับหนึ่ง

ขอบันทึกไว้ด้วยว่า สำนักเรียนวัดใหญ่ศรีสุพรรณ เป็นแห่งแรกที่เปิดสอนด้วยการฟังเทป จากนั้นก็แพร่ขยายไปตามสำนักเรียนอื่นๆ ด้วย


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



“การเสริมแรง” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ จำได้ว่าสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) ในฐานะแม่กองบาลี ท่านเอาใจใส่มาก พระเณรรูปใดสอบได้ชั้นสูงๆ ท่านจะชมเชยให้กำลังใจ ถ้าอาจารย์รูปใดมีศิษย์สอบได้เปรียญ 9 ประโยค อาจารย์รูปนั้นจะได้รับเมตตาจากแม่กองบาลีเป็นพิเศษ ถึงเวลาก็สนับสนุนให้เลื่อนสมณศักดิ์สูงๆ ขึ้นไป เป็นการบำเหน็จความดีความชอบที่ช่วยสร้างบุคลากรที่เป็นกำลังของพระศาสนา

ทั่วทั้งวงการสงฆ์ให้ความสำคัญแก่การศึกษาเล่าเรียนกันอย่างนี้ การเรียนนักธรรมบาลีในสมัยโน้นจึงฟูเฟื่องสุดขีด เมื่อมีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง สามารถสอบผ่านถึงเปรียญ 9 ประโยค ตั้งแต่อายุยังไม่ครบบวช ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช สนับสนุนให้บวชในพระบรมราชานุเคราะห์ จึงเป็นเครื่อง “เสริมแรง” ให้สำนักเรียนต่างๆ หา “ช้างเผือก” มาฝึกฝนปลุกปั้น เพื่อจะเป็นอย่างนั้นบ้าง

จากนั้นก็มีสามเณรเปรียญ 9 ประโยคเกิดขึ้นอีกหลายรูป

สิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นอดีตไปแล้ว เพราะ “บรรยากาศแห่งวิชาการ” และ “การเสริมแรง” ดังกล่าวข้างต้นได้สะดุดกึก และอาจจะขาดสะบั้นไปแล้วก็ได้ในวงการสงฆ์ปัจจุบันนี้ เมื่อระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขยายโอกาสการเรียนจากเดิมเป็น 12 ปี โอกาสผู้มาบวชแต่อายุยังน้อยอย่างเมื่อก่อนก็หมดไป การเรียนการสอนอย่างเข้มงวดจริงจังอย่างที่โบราณาจารย์พากันทำ ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว จะมีอยู่ก็เพียงการสอบประจำปี ถึงเวลาก็ออกข้อสอบให้สอบ สอบเสร็จก็ตั้งกรรมการตรวจสอบเท่านั้นเป็นเสร็จพิธี

นอกจากส่งเสริมให้พระเณรศึกษานักธรรมบาลีแล้ว การศึกษาระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์คือ มหาจุฬาฯ มหามกุฎฯ พระผู้ใหญ่สมัยโน้นก็ให้ความสำคัญและให้ความอุปถัมภ์ เพราะเห็นว่าผู้จบการศึกษาระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว นอกจากได้ความรู้ธรรมบาลี ยังมีความรู้สาขาวิชาอื่นๆ อันจะเป็น “สื่อ” สำหรับเผยแผ่ธรรมได้ด้วย

พระเณรจึงแห่กันไปเข้ามหาจุฬาฯ มหามกุฎฯ ปีละมากๆ และเพื่อความสมดุลไม่ให้ “เห่อของใหม่” อย่างเดียว หลายสำนักได้วางกฎไว้ว่า ผู้ที่จะไปเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฎฯ จะต้องได้เปรียญอย่างน้อย 4 ประโยค และขณะเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่ก็ห้ามเลิกเรียนบาลีต่อ หมายความว่า จะไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์น่ะได้ แต่ต้องไม่ทิ้งบาลี เพราะฉะนั้นผู้ต้องการเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต หรือศาสนศาสตรบัณฑิต ก็ต้องมีความพากเพียรอีกเท่าตัว ว่าอย่างนั้นเถอะ

ระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งที่สืบสายต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในบางสำนักคือ การฝึกนักเผยธรรม สำนักที่ขึ้นชื่อลือชามานานก็มีสำนักวัดพระเชตุพน มี “สภาธรรมกถึก” ฝึกพูด ฝึกสอนธรรม สำนักวัดประยุรวงศาวาสนั้น เคยเป็นแหล่งพระนักเทศน์ติดต่อกันมานาน กระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงจะไม่มีการฝึกอบรมกันอย่างแต่ก่อน ก็ยังมีรุ่นหลานศิษย์ เหลนศิษย์ที่ส่อแวว “เชื้อไม่ทิ้งแถว” อยู่

สำนักวัดสามพระยา นอกจากจะจัดการอบรมนักเผยแผ่ธรรมเป็นระยะๆ แล้ว ศาลาอบรมสงฆ์อันโอ่โถงนั้น จัดกิจกรรมปาฐกถาธรรมบ้าง อภิปรายธรรมบ้าง เป็นประจำ เชิญนักพูด นักแสดงธรรม ฝีปากเอกมาบรรยายเสมอมิได้ขาด ท่านเจ้าสำนักเอง คนรุ่นหลังคงไม่ทราบว่า เป็นพระนักเทศน์ชั้นเยี่ยม มีวาทศิลป์เฉียบคม นาม “สังฆทาส” อันเป็นนามล้อ “พุทธทาส” นักรบธรรมแห่งสวนโมกข์ ก็เป็นนามของเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นี้

รูปภาพ
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

รูปภาพ
อาจารย์เสถียร โพธินันทะ


สำนักเล็กๆ แห่งหนึ่งนาม “กันมาตุยาราม” (ที่ว่า “เล็ก” ก็เพราะเป็นวัดขนาดเล็ก) แต่ยิ่งใหญ่ด้วยคุณค่า ได้สร้างนักวิชาการ นักพูด นักเขียน เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาผู้เฉียบคมเป็น “เพชรน้ำเอก” ขึ้นประดับวงการพุทธศาสนาในเมืองไทยสมัยนั้น ท่านผู้นี้คือ สุชีโว ภิกขุ หรือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (ผู้ล่วงลับ) สุชีโว ภิกขุ มีความรู้วิชาการสมัยใหม่ลึกซึ้ง สมัยนั้นหาพระเณรที่รู้ภาษาอัสดงคตประเทศได้ยาก สุชีโว ภิกขุ รู้ภาษานี้อย่างแตกฉาน แสดงพุทธธรรมแก่ชาวต่างประเทศด้วยภาษาของเขาได้อย่างฉาดฉาน คำเทศน์คำสอนเล่าก็ลึกซึ้ง เป็นหลักเป็นฐาน จึงไม่แปลกว่าสมัยนั้นมีพระคุณเจ้ารูปนี้รูปเดียวที่ “ดัง” ทั่วฟ้าเมืองไทย

ท่านมีศิษย์หนุ่มคนหนึ่ง พูดและเขียนภาษาจีนกลางได้คล่องแคล่ว มาเรียนธรรมอยู่ด้วย ศิษย์คนนี้มีมันสมองเป็นเลิศ อ่านหนังสือเที่ยวสองเที่ยวจำไม่ลืม ไม่มีความรู้ภาษาบาลี แต่พูดภาษาบาลีได้เป็นเรื่องเป็นราว ขนาดเป็น “ไก๊ด์กิตติมศักดิ์” พาพระพม่า พระลังกา ไปเที่ยวชมวัดอาราม และปูชนียสถานต่างๆ บรรยายเป็นภาษาบาลี สื่อสารกับพระพม่า และพระลังกา ได้อย่างประหลาดใจ เมื่อถามว่าทำได้อย่างไร “ศิษย์ฆราวาส” ท่านนี้บอกว่า จำศัพท์ในพระไตรปิฎก แล้วนำมาต่อกันเป็นประโยค ไม่นึกว่าพระพม่า พระลังกา ท่านจะเข้าใจ ปรากฏว่าท่านฟังรู้เรื่อง สื่อสารกันได้ ก็เลยว่ากันเพลินท่านว่าอย่างนั้น

ไม่บอกก็คงไม่รู้ “ศิษย์ฆราวาส” ผู้นี้ต่อมาก็คือ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ผู้ล่วงลับนั้นแล

ท่านผู้นี้อายุ 30 กว่าปี มีผลงานเขียนที่ทรงคุณค่ามากมาย อาทิ ภูมิศาสตร์ พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ อาณาจักรมคธสมัยพุทธกาล ฯลฯ ที่มากมายจนอ่านแทบไม่หมด ก็เพราะท่านเขียนหนังสือมาตั้งแต่สมัยยังนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยม

ท่านอาจารย์สุชีพ ผู้เป็นอาจารย์เล่า มีผลงานด้านการปาฐกถาที่รวมพิมพ์มากมาย ด้านการเขียน อาทิ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาประวัติศาสนา ฯลฯ งานอีกด้านหนึ่ง ถือว่าเป็นงานบุกเบิก คือนิยายอิงธรรมะที่ฮือฮาที่สุดในยุคนั้นคือ “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ท่านได้นำเอาเค้าโครงเรื่องของคัมภีร์พระไตรปิฎก ยกเอาตัวละครซึ่งมีอยู่จริงในคัมภีร์ มาแต่งเติมเสริมต่อแบบนิยายสอดแทรกธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นระยะๆ อ่านแล้วได้ความบันเทิงด้วยได้ความรู้ไปด้วย

เมื่อเกิดใต้ร่มกาสาวพัสตร์ขึ้น ก็เป็นการ “เสริมแรง” ให้รุ่นน้องรุ่นศิษย์ดำเนินรอยตาม ในช่วงนั้นจึงมี “ลีลาวดี” นิยายธรรมเรื่องเรวตภิกษุหนุ่ม จากปลายปากกาของธรรมโฆษ และ “พ่อผมเป็นมหา” และ “อานนท์พุทธอนุชา” ของวศิน อินทสระ เกิดตามมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งพระมหาเถระระดับสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพน ยังทรงนึกสนุกทรงนิพนธ์เรื่อง “สันติวัน” โดยสันติวัน ขึ้น คงไม่เกินจริงไปกระมังถ้าจะกล่าวว่า อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านเป็นคนแรกที่เปิดแนวทางการสอนพระพุทธศาสนาโดยใช้จิตนิยายอิงหลักธรรมเป็นสื่อ แต่ก็น่าเสียดายว่าแนวทางนี้มิได้มีการสืบต่อกันต่อมาเลย คุณค่าดีงามหลายอย่างในวงการพระศาสนาในบ้านนี้เมืองนี้ กำลังเลือนหายไป มองไปข้างหน้ามีแต่ความวิเวกวังเวง

รูปภาพ
หลวงพ่อเขมธัมโม กับ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


:b8: หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10949


:b44: รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49286

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2020, 13:18 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2020, 20:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2021, 12:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2023, 09:44 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร