วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 03:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2013, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลักมนุษยธรรม

๑. ความหมายของคำว่า มนุษยธรรม


คำว่า มนุษยธรรม หมายถึง "ธรรมที่ทำให้คนเป็นมนุษย์สมบูรณ์" คือเป็นมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งได้แก่ศีล ๕

หากสังคมมนุษย์ไม่มีศีลเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจแล้ว มนุษย์ก็จะมีพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตไม่ต่างอะไรจากสัตว์ทั่ว ๆ ไป หาชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐไม่ เพราะเมื่อไม่มีศีลแล้วมนุษย์ย่อมก่อความเดือดร้อนให้กันและกันเสมอหาความสงบในชีวิตได้ยาก การที่ได้เกิดเป็นมนุษย์นี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยบุญเก่าคือบุพเพกตบุญญตาช่วยอุปถัมภ์และชาติที่เกิดเป็นมนุษย์นี้ถือว่าเป็นชาติที่สำคัญ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งการทำความดีทั้งหลายสามารถ ที่บำเพ็ญธรรมเพื่อให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ตั้งแต่เบื้องต่ำไปจนถึงพระนิพพานได้ ในวิสุทธิมรรคพระพุทธโฆสาจารย์ได้กล่าวถึงศีลว่า ศีล คือความงามอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นแห่งคุณธรรม และศีลเป็นเบื้องต้นแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งปวง ดังพุทธดำรัสในสังยุตตนิกายว่า ศีลที่หมดจดดีแล้ว ชื่อว่าเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย และในโอวาทปาติโมกข์ข้อต้นที่ว่าการไม่ทำบาปทั้งปวง และที่ว่าศีลชื่อว่างามนั้นก็เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความไม่เดือดร้อนเป็นต้น พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า ศีลเป็นความงามในเบื้องต้น สมาธิเป็นความงามในทามกลางและปัญญาเป็นความงามในขั้นสุดท้าย ศีล ๕ นี้ เป็นศีลขั้นต้นที่ถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งศีลทั้งปวง


๒. มนุษยธรรม ๕ หรือศีล ๕


ศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาที่เป็นคฤหัสถ์
คือเบญจศีลหรือศีล ๕ คือ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติล่วงในกามารมณ์
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมาทุกชนิด

ศีลข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี คือการตั้งใจงดเว้นการทำลายชีวิตสัตว์ ความมุ่งหมายในการที่ทรงบัญญัติศีลข้อนี้ ก็เพื่อให้มนุษย์อบรมจิตของตนเองให้คลายความเหี้ยมโหด มีความเมตตากรุณาต่อกันและเผื่อแผ่ความรัก ความเอื้ออาทรแก่สัตว์ทั้งปวงด้วย เห็นชีวิตของผู้อื่นเสมอกับชีวิตของตนและให้ปลูกไมตรีจิตในสัตว์ทุกจำพวก

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเบญจศีล เบญจธรรมว่า ขอบเขตของสิกขาบทนี้ มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้น เพื่อรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ
๑. การฆ่า การทำให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ หรือร่วมกับคนอื่น
๒. การทำร้ายร่างกาย การทำให้บาดเจ็บอย่างสาหัส
๓. การทรกรรม เช่น การใช้งานเกินกำลัง การกักขัง การนำสัตว์ไปโดยวิธีทรมาน การผลาญสัตว์ เช่น ยั่วให้ต่อสู่กันเพื่อความสนุกสนาน

ในอัฏฐสาลินี ได้กล่าวว่า ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ (องค์ประกอบของการฆ่า)
๑. สัตว์นั้นมีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีเจตนาจะฆ่า
๔. พยายามฆ่า
๕. สัตว์นั้นตายเพราะถูกฆ่า

เมื่อครบองค์ ๕ ประการนี้ ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบเพียงแต่ด่างพร้อย ทำเองหรือใช้ให้คนอื่นทำศีลย่อมขาดได้เหมือนกัน การทำปาณาติบาตจะมีโทษมากหรือน้อย มีหลักเกณฑ์พิจารณาดังนี้คือ

๑. กำหนดด้วยวัตถุ ถ้าเป็นมนุษย์ ฆ่าผู้มีคุณมาก มีโทษมาก ฆ่าผู้มีคุณน้อยมีโทษน้อย เช่น ฆ่าพระอรหันต์ บิดาและมารดามีโทษมาก เพราะพระพุทธเจ้าเพียงแต่ทำร้ายให้ห้อพระโลหิต มีโทษเท่ากับฆ่าบิดามารดา ส่วนคนที่ไม่มีคุณก็มีโทษน้อยลดหลั่นกันลงไป ถ้าเป็นสัตว์ ก็กำหนดด้วยคุณ ถ้าไม่มีคุณเหมือนกัน กำหนดด้วยรูปร่างใหญ่เล็ก กว่ากัน ถ้าใหญ่มีโทษมาก ถ้าเล็กมีโทษน้อย
๒. กำหนดด้วยเจตนา คือการตั้งใจฆ่า มีโทสะมากหรือน้อยกว่ากัน ถ้าโทสะมาก โทษมาก โทสะน้อย โทษน้อย
๓. กำหนดโดยประโยค คือความพยายามที่จะฆ่าให้ตายใช้ความพยายามมากมีโทษมาก ให้ความพยายามน้อย มีโทษน้อย

ศีลข้อที่ ๒ อทินนาทานา เวรมณี คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการขโมย ความมุ่งหมายในการบัญญัติสิกขาบทนี้ เพื่อให้ทุกคนเคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น เว้นจากการทำมาหากินในทางทุจริต ประกอบอาชีพในทางมิจฉาชีพ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในทางเลี้ยงชีพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า ข้อห้ามหรือขอบเขตของสิกขาบทนี้ มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้น เพื่อรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ
๑. โจรกรรม
๒. อนุโลมโจรกรรม
๓. ฉายาโจรกรรม

๑. โจรกรรมมี ๑๔ อย่าง คือ

๑. ลัก ถือเอาทรัพย์เมื่อเจ้าของไม่เห็น ที่เรียกว่า ขโมยและตัดช่องย่องเบา
๒. ฉก ชิงเอาทรัพย์ต่อหน้าเจ้าของ ที่เรียกว่า ตีชิง วิ่งราว
๓. กรรโชก ขู่ให้เขากลัวแล้วให้ทรัพย์ ที่เรียกว่า จี้ ในปัจจุบันนี้
๔. ปล้น รวมหัวกันหลายคน มีศรัตราอาวุธเข้าแย่งทรัพย์
๕. ตู่ อ้างหลักฐานพยานเท็จ หักล้างกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น เช่น ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งไม่อยู่ใน
ปกครองของตน
๖. ฉ้อ โกงเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนปกครอง เช่น โกงของฝาก โกงที่ดินที่ตนอยู่อาศัย
เป็นต้น
๗. หลอก ปั้นเรื่องให้เขาเชื่อแล้วให้ทรัพย์
๘. ลวง ใช้เล่ห์เอาทรัพย์เครื่องมือลวง เช่น โกงตาชั่ง เป็นต้น
๙. ปลอม ทำหรือใช้ของปลอม เช่น ธนบัตรปลอม ยาปลอม เป็นต้น
๑๐. ตระบัด ยืมของคนอื่นมาใช้แล้ว ยึดเอาเสีย กู้หนี้แล้วไม่ใช้ดอก เป็นต้น
๑๑. เบียดบัง กินเศษกินเลย เช่น เลี้ยงสัตว์ กินค่าอาหารสัตว์ เป็นต้น
๑๒. สับเปลี่ยน แอบสลับเอาของผู้อื่น ซึ่งมีค่าสูงกว่า
๑๓. ลักลอบ หลบหนีภาษีของหลวงหรือลอบนำสิ่งที่ต้องห้าม เช่น เหล้าเถื่อน เป็นต้น
๑๔. ยักยอก ยักเอาทรัพย์ของคนที่ถูกริบไว้ ยักยอกภาษี ยักยอกทรัพย์ที่ถูกฟ้องล้ม
ละลายไว้

๒. อนุโลมโจรกรรม ทำโจรกรรม คือ กิริยาที่ไม่ทำให้โจรกรรม ๑๔ อย่าง แต่ทำงานคล้ายโจรกรรม พออนุโลมเข้ากับโจรกรรมได้ เรียกว่า อนุโลมโจรกรรมมี ๓ อย่าง คือ

๑. สมโจร สนับสนุนโจร เช่น ให้ที่พักและอาหารและรับซื้อของโจร เป็นต้น
๒. ปอกลอก คบหาเพื่อปลอกลอกเอาทรัพย์
๓. รับสินบน รับสินจ้างแล้วทำผิดหน้าที่ เพราะเกรงใจเขา
ทั้ง ๓ อย่างนี้ ศีลไม่ขาดแต่ด่างพร้อย เฉพาะการรับสินบนนี้ ถ้าผู้รับมีเจตนาร่วมกับผู้ให้ในการทำลายกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ก็เป็นการร่วมโจรกรรมโดยตรง ศีลขาด

๓. ฉายาโจรกรรม คือ การกระทำที่ไม่ทำอนุโลมโจรกรรม แต่ทำพัสดุของผู้อื่นให้สูญเสียและเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตน เรียกว่าฉายาโจรกรรม มี ๒ อย่าง คือ

๑. ผลาญ ทำลายทรัพย์ของผู้อื่นให้เสียหาย (ไม่เอามาเป็นของตน) เช่น เผาบ้านเสีย
หาย เป็นต้น
๒. หยิบฉวย ถือวิสาสะเกินขอบเขต เช่น ลูกหลานเอาของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย โดยไม่
ได้รับอนุญาต หรือถือเอาของญาติมิตรมากกว่าที่เขาอนุญาตให้ เอาโดยไม่ต้องซื้อ ทั้ง ๒ อย่างนี้ ศีลไม่ขาดแต่ด่างพร้อย

ในอัฏฐสาลินี ได้แสดงถึงองค์ประกอบของอทินนาทานว่า ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ

๑. ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. รู้ว่าของนั้นมีเข้าของหวงแหน
๓. ตั้งใจลักสิ่งของนั้น
๔. พยายามลักสิ่งของนั้น
๕. ได้สิ่งของนั้นมา ด้วยความพยายามนั้น

เมื่อพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๕ นี้ ศีลขาด ถ้าไม่ครบองค์ศีลไม่ขาดเป็นเพียงแต่ด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์ ทำเอาหรือใช้ให้ผู้อื่นทำศีลขาด

ในการวินิจฉัยว่า การทำอทินนาทาน จะมีโทษมากหรือน้อยนั้น ในอัฏฐสาลินีได้อธิบายเกณฑ์ในการพิจารณาคือ

๑. กำหนดด้วยวัตถุ คือ ของมีค่ามากมีโทษมาก มีค่าน้อยมีโทษน้อย
๒. กำหนดด้วยเจตนา คือ ความตั้งใจที่เจือด้วยกิเลสมาก มีโทษมาก ที่เจือด้วยกิเลสน้อยมีโทษน้อย
๓. กำหนดด้วยประโยค คือความพยายามที่จะได้สิ่งของนั้น ถ้าพยายามมากมีโทษมาก พยายามน้อยมีโทษน้อย

ข้อยกเว้นการถือเอาของผู้อื่นโดยวิสาสะ คือ ของญาติหรือมิตรหรือคนที่คุ้นเคยกันเคยช่วยเหลือกัน เคยอนุญาตไว้ก่อน แม้จะถือเอาโดยไม่บอกก็ไม่เป็นอทินนาทาน แต่ประกอบด้วยลักษณะการถือวิสาสะในอัฏฐสาลินี ที่ท่านอธิบายว่าต้องประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ

๑. เจ้าของเป็นผู้สนิทกับตน
๒. เจ้าของเคยอนุญาตไว้ก่อน
๓. เมื่อถือเอาแล้วไม่มีคนสนเท่ห์
๔. ของนั้นเป็นของที่เจ้าของไม่หวงแหนสำหรับเราหรือพอให้ได้
๕. เมื่อเจ้าของรู้แล้วก็พอใจไม่ว่าอะไร

ศีลข้อที่ ๓ กามเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ การงดเว้นจาการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ความมุ่งหมายในการบัญญัติสิกขาบทนี้คือ เพื่อให้มนุษย์สร้างความสามัคคีไม่แตกร้าวกัน รักษาสายโลหิตวงค์ตระกูลของตนไม่สำส่อนกันเยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน หรือเป็นผู้มักมากในกาม

ในอัฏฐสาลินีได้อธิบายถึงขอบเขตของข้อห้ามตามสิกขาบทนี้ว่า ทั้งหญิงและชายย่อมประพฤติผิดในกามได้ด้วยกันทั่งสองฝ่าย ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทได้ ดังนี้

ก. หญิงที่ต้องห้ามสำหรับชายมี ๓ จำพวก คือ

๑. หญิงมีสามี โดยที่สุดแม้แต่ภรรยาชั่วคราวเช่าชั่วคืนก็ถือว่ามีเจ้าของ
๒. หญิงที่มีผู้พิทักษ์รักษา เช่น บิดามารดาหรือญาติเป็นต้นรักษา
๓. หญิงที่มีจารีตห้าม เช่น แม่ ย่า ยาย ทวด ลูก หลาน เหลน นักบวชเป็นต้น
หญิงทั้ง ๓ ประเภทนี้ เมื่อชายประพฤติล่วงเกิน จะโดยเขายินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ศีลย่อมขาด

ข. ชายที่ต้องห้ามสำหรับหญิงมี ๒ จำพวก คือ

๑. ชายอื่นทุกคนนอกจากสามีของตน สำหรับหญิงมีสามี
๒. ชายที่จารีตห้าม เช่น พ่อ ปู่ ตา ทวด ลูก หลาน เหลน นักบวช เป็นต้น
ชาย ๒ ประเภทนี้ เป็นวัตถุแห่งกาเมสุมิจฉาจารของหญิง คือผิดศีล เว้นไว้แต่ถูกข่มขืนไม่เต็มใจ ส่วนการเคล้าคลึงหรือพูดเกี้ยวแม้ศีลจะไม่ขาดย่อมทำให้ศีลด่างพร้อยได้

และในอัฏฐสาลินีได้กล่าวถึงองค์ประกอบของกาเมสุมิจฉาจารว่ามีองค์ ๔ ประการ

๑. หญิงหรือชายนั้นเป็นผู้ต้องห้าม
๒. ตั้งใจเสพกาม
๓. ประกอบกามกิจ
๔. อวัยวะเพศล่วงล้ำเข้าไปแม้เพียงเท่าเมล็ดงา

เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ นี้ ศีลขาด ถ้าไม่ครบองค์ไม่ขาด ในการพิจารณาโทษว่ามีโทษมากมีโทษน้อย มีกฎเกณฑ์คล้ายกับ ๒ สิกขาบทข้างต้น คือ

๑. กำหนดด้วยบุคคล คือ ผู้มีคุณมากบาปมาก เช่น ประพฤติผิดต่อนักบวชบาปมากคนธรรมดาบาปน้อย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายบาปมากคนอื่นบาปน้อย
๒. กำหนดเจตนา คือ มีเจตนาประกอบด้วยราคะแรงกล้ามีโทษมาก ไม่แรงกล้ามีโทษน้อย
๓. กำหนดด้วยประโยค คือ ความพยายามในการ
ประกอบกามกิจ ถ้าข่มขืนไม่ยินยอมมีโทษมาก ยินยอมมีโทษน้อย

ศีลข้อที่ ๔ มุสาวาทา เวรมณี คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ ความมุ่งหมายในการทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ คือ เพื่อป้องกันการทำลายประโยชน์ของตนและผู้อื่นด้วยการพูดเท็จและให้เป็นคนมีสัจจวาจา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายสิกขาบทข้อนี้ว่ามีข้อห้ามและขอบเขตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้นเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ

๑. มุสาวาท ๗ วิธี (การแสดงเท็จ หรือลักษณะแห่งมุสาวาท) ท่านประมวลไว้มี ๗ วิธี คือ

๑. ปด ได้แก่การโกหกชัด ๆ ไม่รู้ว่ารู้ ไม่เห็นว่าเห็น ไม่มีว่ามี เป็นต้น
๒. ทนสาบาน คือ ทนสาบานเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าตนไม่เป็นเช่นนั้น จะด้วยวิธีแช่งตัวเองหรือด้วยวิธีนั่งนิ่งเมื่อถูกถามก็จัดเป็นทนสาบาน
๓. ทำเล่ห์กะเท่ห์ ได้แก่การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินความจริง เช่น อวดวิเศษเรื่องใบ้หวยโดยไม่รู้จริงเห็นจริงเป็นต้น
๔. มายา แสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น ไม่เจ็บทำเป็นเจ็บ เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมากเป็นต้น
๕. ทำเลศ คือไม่อยากจะพูดเท็จแต่พูดเล่นสำนวน พูดคลุมเครือให้ผู้ฝังคิดผิดไปเอง เช่น เห็นขโมยวิ่งผ่านหน้าไปไม่อยากบอกให้ผู้อื่นทราบว่าตนเห็น จึงย้ายที่ยืนหรือที่นั่งไป เมื่อถูกถามพูดเล่นสำนานว่าอยู่ที่นี่ไม่เห็น อย่างนี้เรียกว่าทำเลศ
๖. เสริมความ เรื่องเล็ก แต่พูดให้คนฟังเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เช่นเห็นไฟไหม้หญ้าแห้งก็ตะโกนเสียงดังว่าไฟ ๆ เพื่อให้คนแตกตื่นตกใจหรือโฆษณาสินค้าพรรณนาสรรพคุณจนเกินความจริง
๗. อำความ ตรงกันข้ามกับเสริมความ คือเรื่องใหญ่แต่พูดให้เป็นเรื่องเล็ก หรือปิดบังอำพลางไว้ไม่พูดไม่รายงานต่อผู้มีหน้าที่ให้รับทราบ

ข้อห้ามหรือขอบเขตของสิกขาบทนี้ มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้นเพื่อรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ

๑. มุสา
๒. อนุโลมมุสา
๓. ปฏิสสวะ

๑. มุสา แปลว่าเท็จ หรือไม่จริง การกล่าวคำเท็จหรือคำไม่จริง เรียกว่ามุสาวาทหรือพูดโกหก ส่วนมากใช้วาจา แต่การแสดงเท็จหรือโกหกอาจแสดงได้ทั้ง ๒ ทาง คือ ทางวาจากับทางกาย

ทางวาจา คือ พูดคำเท็จออกมา

ทางกาย คือ แสดงทางกาย เช่น การเขียนจดหมายโกหก รายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม ตีพิมพ์ข่าวเท็จ เผยแผ่ทำเครื่องหมายให้คนอื่นหลงเชื่อตลอดจนการใช้ใบ้ให้คนอื่นเข้าใจผิดเช่น สั่นศีรษะหรือโบกมือปฏิเสธในเรื่องควรรับหรือพยักหน้ารับในเรื่องที่ควรปฏิเสธ เป็นต้น

๒. อนุโลมมุสา คือ การไม่แสดงเรื่องเท็จทั้ง ๗ อย่าง แต่พูดเรื่องไม่จริงซึ่งไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ แต่เจตนาจะให้เขาเจ็บใจหรือแตกร้าวกัน เป็นต้น เรียกว่า อนุโลมมุสา เช่น

-พูดเสียดแทง กระทบกระแทก แดกดัน
-พูดประชด ยกให้เกินความจริง
-พูดด่ากดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง
-พูดสับปลับ ด้วยความคะนองวาจา แต่ไม่ตั้งใจให้เข้าใจผิด
-พูดคำหยาบ คำต่ำทราม
ไม่จัดเป็นมุสาวาทแต่ศีลด่างพร้อย

๓. ปฏิสสวะ ได้แก่ การรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจไม่ทำตามที่รับคำนั้นโดยที่ตนยังพอทำตามคำนั้นได้อยู่ มี ๓ อย่าง คือ

๑. ผิดสัญญา ว่าจะทำด้วยความสุจริตใจ แต่กลับไม่ทำในภายหลัง
๒. เสียสัตย์ ให้สัตย์ปฏิญาณไว้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม
๓. คืนคำ รับปากว่าจะไป แต่กลับใจภายหลังไม่ไป

ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่เป็นมุสาวาท ศีลไม่ขาดแต่ทำให้ศีลด่างพร้อยได้ ในอัฏฐสาลีนี ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของมุสาวาท ว่าต้องพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ

๑. เรื่องไม่จริง
๒. เจตนาจะพูดเรื่องนั้น
๓. พูดหรือแสดงออกไป
๔. ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น

ในการพิจารณาว่ามุสาวาทอย่างไรมีโทษมากหรือมีโทษน้อยท่านได้อธิบายไว้ว่า มุสาวาทที่ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมาก คือเขาได้รับความเสียหายมากมีโทษมาก ได้รับความเสียหายน้อยก็มีโทษน้อย ส่วนการกำหนดโดยวัตถุเจตนาและประโยคเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ยังมีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคำไม่จริงแต่พูดแล้วไม่เป็นมุสาวาท คือคำพูดที่พูดตามที่ได้ยินได้ฟังมาหรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เรียกว่า ยถาสัญญา คำพูดประเภทนี้มี ๔ อย่าง คือ

๑. โวหาร พูดตามสำนวนโลก ที่ใช้กันจนเป็นแบบธรรมเนียม เช่น คำลงท้ายจดหมายว่า ด้วยความเคารพอย่างสูงหรืออย่างยิ่ง เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ไม่เป็นมุสาวาท
๒. นิยาม การเล่านิยายหรือแสดงลิเก ละคร เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็ไม่เป็นมุสาวาท
๓. สำคัญผิด พูดด้วยเข้าใจว่าถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นไม่ถูกไม่เป็นความจริง เช่น จำวันผิดบอกไปโดยเข้าใจว่าถูก ไม่เป็นมุสาวาท
๔. พลั้ง พูดด้วยความพลั้งเผลอ โดยไม่ได้ตั้งใจให้ผิดพลาด ไม่เป็นมุสาวาท

ศีลข้อที่ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี คือ การเว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ได้แก่การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ความมุ่งหมายในการบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ คือเพื่อให้คนมีสติไม่ประมาท รักษาสติของตนไว้ไม่ให้เผอเรอ พลาดพลั้งในการปฏิบัติงานประจำเพื่อดำรงชีวิตโดยราบรื่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายสิกขาบทข้อนี้ว่า มีข้อห้ามหรือขอบเขตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

โดยตรง คือ น้ำเมา ได้แก่

๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่น ที่เรียกกันว่า เหล้า
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น ได้แก่ เบียร์ สาโท น้ำตาลเมา กระแช่ เป็นต้น


โดยทางอ้อม หมายถึง ยาเสพย์ติดให้โทษทุกชนิด เช่น ฝิ่น กัญชา สารไอระเหย เป็นต้นเป็นอันห้ามไว้ในศีลข้อนี้ กิริยาที่ทำไม่เฉพาะการดื่มอย่างเดียวแต่หมายถึงการสูบและการฉีดด้วย การดื่มสุราและการเสพยาเสพย์ติดให้โทษที่ทำให้ศีลขาดนั้น ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ

๑. ของนั้นเป็นของมึนเมา
๒. มีเจตนาจะเสพของมึนเมานั้น
๓. พยายามเสพ
๔. ให้ล่วงไหลผ่านลำคอลงไป

ในการพิจารณาโทษในการละเมิดสิกขาบทข้อนี้นั้น ในอัฏฐสาลินีได้กล่าวโทษไว้เฉพาะสุราอย่างเดียว ส่วนนอกนั้นก็อนุโลมตามข้อนี้เช่นเดียวกันว่ามีโทษ ๖ ประการ คือ

๑. ทำให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔. ทำให้เสียชื่อเสียง
๕. ทำให้หมดความละอาย
๖. ทอนกำลังสติปัญญา

เปรียบเทียบระหว่างเบญจศีลและเบญจธรรม


เบญจศีล

ฝ่ายที่ต้องละเว้น ไม่ควรประพฤติ
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นจากการประพฤติล่วงในกามารมณ์
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมาทุกชนิด

เบญจธรรม

ฝ่ายที่ต้องประพฤติ ต้องนำมาปฏิบัติ
๑. มีเมตตากรุณา
๒. มีสัมมาอาชีวะ
๓. มีการสำรวมในกามารมณ์
๔. มีวาจาสัตย์
๕. มีสติรอบครอบ

ในพระไตรปิฏกไม่ได้กล่าวถึงเรื่องศีล ๕ ไว้โดยตรง แต่จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งเรื่องศีล ๕ ข้อก็มีอยู่ในเรื่องนี้ด้วย

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากปลงชีวิต
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
๘. อนภิชฌา ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. อพยาบาท ความไม่คิดร้ายผู้อื่น
๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม

ศีล ๕ ข้อนี้ ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้บัญญัติขึ้นไว้ หากแต่เป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่เป็นอย่างนั้นเอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษยธรรม คือ มีความดีอย่างมนุษย์นั่นเอง ศีล ๕ ข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครโต้แย้งหรือทัดทานได้ ศาสดาผู้บัญญัติศาสนาทุกศาสนาต้องยอมรับ และไม่สามารถจะบัญญัติให้สานุศิษย์ของตน ประพฤติปฏิบัติเป็นการขัดแย้งกับศีล ๕ ข้อนี้ได้เลย และถ้ามนุษย์พากันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกันเลย มนุษย์ก็จะมีอันสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน เพราะจะทำลายล้างผลาญกันเองจนหมดไปในที่สุด แม้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงยอมรับและนำมาปฏิบัติเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ไว้อย่างครบถ้วน และยังได้ทรงเพิ่มเติมทางปฏิบัติให้เข้มงวดยิ่งขึ้น คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

การจำกัดความขององค์มรรคขั้นศีล ต้องมีรูปลักษณ์เป็นคำปฏิเสธนั้นมีเหตุผลโดยย่อ ดังนี้

๑. ศีลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพุทธธรรม
๒. ศีลในฐานะเป็นกระบวนการปฏิบัติธรรมหรือฝึกอบรมตน
๓. ศีลในฐานะเป็นระบบการฝึกอบรมของไตรสิกขา
๔. ศีลในฐานะที่พุทธธรรมถือว่าจิตใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
๕. ศีลในฐานะเป็นคำสอน
๖. ศีลในฐานะเป็นตัวกำหนดความหมายของศีลในแง่ละเว้นความชั่ว
๗. ศีลในฐานะเป็นการปฏิบัติตามองค์มรรคทุกข้อ
๘. ศีลในฐานะเป็นการปฏิบัติธรรม

ศีลมี ๒ ระดับ คือ

๑. ระดับธรรม ระดับที่ยังเป็นธรรม คือเป็นข้อแนะนำสั่งสอนหรือหลักความประพฤติที่แสดงและบัญญัติไปตามกฎธรรมดาแห่งความดีความชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม ผู้ทำดีทำชั่วหรือรักษาศีลละเมิดศีล ย่อมได้รับผลดีชั่วเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย หรือกฎแห่งกรรมนั้น

๒. ระดับวินัย
คือเป็นแบบแผน ข้อบังคับ ที่บัญญัติหรือวางหรือกำหนดขึ้นไว้เป็นทำนองกฎหมาย สำหรับกำกับความประพฤติของสมาชิกในหมูชนหรือชุมชนหนึ่ง โดยสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะหรือชุมชนนั้น โดยเฉพาะผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศีลประเภทวินัยนี้ มีความผิดตามอาญาของหมู่ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มอกุศลเจตนาที่จะได้รับตามกฎแห่งกรรมของธรรมชาติ

ข้อสังเกต ศีลขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ เช่น ศีล ๕ จะมีสาระที่มุ่งเพื่อการไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นขั้นต้นที่สุดของการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกื้อกูล ศีลต่อจากนั้นไป จะหันไปเน้นการสร้างสภาพเกื้อกูลทั้งของสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ส่วนตัว และการฝึกหัดขัดเกลาตนเองเพื่อจุดหมายที่จำเพาะมากยิ่งขึ้น

ความสำนึกในการรักษาศีล

๑. เพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง
๒. การคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือสังคม

อานิสงส์ ( ความดี ) ของการประพฤติเบญจศีลเบญจธรรม
พระอรรถกถาจารย์กล่าวอานิสงส์ของการประพฤติในเบญจศีลเบญจธรรมไว้ ดังนี้

๑. เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. เป็นผู้ไม่ทำชีวิตให้เดือดร้อนเสียหาย
๓. เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
๔. เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
๕. เป็นผู้ที่มีคุณค่ามากทางสังคม
๖. เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม
๗. เป็นผู้มีความแกล้วกล้าในสังคม
๘. เป็นที่เคารพ ยกย่องและนับถือของสังคม
๙. เป็นผู้นำที่ดีในสังคม
๑๐. เป็นผู้ไม่หลงลืมสติจนถึงวินาทีสุดท้าย
๑๑. เป็นต้นเหตุให้บรรลุคุณธรรมวิเศษ มีพระโสดาบัน เป็นต้น
๑๒. เป็นผู้ควรแก่การนับถือบูชาหลังจากสิ้นชีพไปแล้ว
๑๓. เป็นผู้นอนเป็นสุขไม่ฝันร้าย


๓ สังคมที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม


สังคมที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่มีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหมาะแก่การดำรงชีวิต ประกอบกิจการงาน และจะเป็นสังคมที่มีลักษณะดังนี้ คือ

๑. เป็นสังคมที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะมีสื่อหรือกลไกในการควบคุมระเบียบสังคม
๒. เป็นสังคมที่มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๓. เป็นสังคมที่มีความสงบสุขไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
๔. เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เห็นแก่ตัว


๔ ประเทศที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม


ประเทศที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม จะเป็นประเทศที่มีลักษณะสำคัญอันเป็นบ่อเกิดทางการเกื้อกูลแก่การดำรงชีพ การประกอบสัมมาชีพทุกอย่างของประชาชน โดยสรุป ศีล ตามความหมายของพระพุทธศาสนาแล้วจะทำให้ประเทศมีลักษณะที่สำคัญ คือ

๑. ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติกิจต่าง ๆ เพื่อการเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามโดยลำดับ จนถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต
๒. ทำให้สมาชิกของสังคมหรือสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี สังคมสงบเรียบร้อย สมาชิกต่างดำรงอยู่ด้วยดีและมุ่งหน้าปฏิบัติกิจของตน ๆ โดยสะดวก
๓. โภคสมบัติของประเทศนั้นมั่งคั่งและมั่นคง
๔. ประชาชนฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ทำให้กิเลสเบาบางลง ด้วยการควบคุมยับยั้งสังวร ปรับการแสดงออกทางกาย วาจาให้เอื้อแก่สภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลและการอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น อันเป็นขั้นต้นของการพัฒนาชีวิตของตนให้พร้อมที่จะเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นพื้นฐานของสมาธิหรือการฝึกปรือคุณธรรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไป


๕ ผู้นำที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม


บุคคลที่เป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับโลก ผู้นำระดับประเทศ หรือผู้นำระดับอื่น ๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำบริษัท ห้างร้าน ชุมชนต่าง ๆ หรือแม้แต่องค์กรเล็ก ๆ เช่น ผู้นำครอบครัว หากยึดมั่นในหลักศีล ๕ แล้ว ก็จะทำให้สังคมเป็นสังคมยุคพระศรีอาริย์ สาเหตุที่โลกมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับไหนก็ตาม ส่วนมากเกิดมาจากผู้นำขาดหลักมนุษยธรรม จึงมีการคดโกงเอารัดอาเปรียบกันใช้อำนาจทำการประพฤติผิด จึงทำให้สังคมเดือดร้อน ครอบครัวเกิดการหย่าร้างเพราะสามีภรรยาไม่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักศีล ๕ แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาแก่บุตร ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกมากมาย ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้จะหมดไป หากผู้นำทั้งหลายในทุกระดับหันมาประพฤติตามหลักมนุษยธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงบ ความสันติ ความปลอดภัยความผาสุกก็จะกลับมาสู่สังคมตลอดไป


๖ ประโยชน์ของความมีมนุษยธรรม


เมื่อสังคมประพฤติตามหลักมนุษยธรรม ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะสังคมมีความเมตตาเห็นอกเห็นใจ เห็นประโยชน์หรือสุขทุกข์ของคนอื่นเป็นเสมือนหนึ่งว่าของตนเอง ไสว มาลาทอง๑ ได้บอกถึงประโยชน์ของศีล ๕ แต่ละข้อไว้ดังนี้

เบญจศีลข้อที่ ๑

๑. เพื่อให้มีเมตตาธรรม ไม่เบียดเบียน
๒. เพื่อให้ชีวิตมีความปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงกันและกัน
๓. เพื่อให้ประกอบกิจการงานและประพฤติธรรมได้โดยสะดวก
๔. เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ต่อไป
๕. เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
๖. เพื่อกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคต

เบญจศีลข้อที่ ๒

๑. เพื่อให้ประกอบอาชีพโดยความซื่อสัตย์สุจริต
๒. เพื่อให้รักและเคารพเกียรติของตนเอง
๓. เพื่อให้เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
๔. เพื่อให้เกิดความมั่นใจในทรัพย์สินของตนเองไม่ต้องวิตกกังวล
๕. เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
๖. เพื่อกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคต

เบญจศีลข้อที่ ๓

๑. เพื่อให้เกิดความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ไว้วางใจกันได้
๒. เพื่อให้เคารพในสิทธิความเป็นสามีเป็นภรรยาของกันและกัน
๓. เพื่อป้องกันการหย่าร้าง การแตกร้าว ภายในครอบครัว
๔. เพื่อสร้างความมั่นคงและความอบอุ่นภายในครอบครัว
๕. เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข
๖. เพื่อกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคต

เบญจศีลข้อที่ ๔

๑. เพื่อให้มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจและไว้วางใจกันได้
๒. เพื่อสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ
๓. เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของกันและกัน
๔. เพื่อให้ใช้วาจาประสานประโยชน์ของกันและกัน ไม่ทำลายกันด้วยคำพูด
๕. เพื่อให้อยู่รวมกันด้วยความสงบสุข
๖. เพื่อกำจัดเวรภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เบญจศีลข้อที่ ๕

๑. เพื่อสนับสนุนการรักษาศีล ๕ ข้อข้างต้นให้เกิดมีขึ้น
๒. เพื่อให้มีสติรอบคอบสามารถควบคุมใจตัวเองได้
๓. เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกัน
๔. เพื่อป้องกันสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมิให้เสื่อม
๕. เพื่อป้องกันอาชญากรรม มิจฉาชีพและการกระทำทุจริตต่าง ๆ
๖. เพื่อกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคต

หากเราจะนำวัตถุประสงค์ของศีล ๕ ไปเปรียบทียบกับวัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยของพระภิกษุก็น่าจะนำมาประยุกต์เข้ากันกับประโยชน์ของศีล ๕ ข้อได้ คือก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ พระองค์ได้แถลงถึงวัตถุประสงค์คือประโยชน์ที่มุ่งหมายของวินัยก่อนบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อให้ภิกษุทราบโดยทั่วกันก่อน ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุขแห่งสงฆ์
๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
๔. เพื่อความผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน
๖. เพื่อบำบัดความเสื่อม ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น



:b39: ----------- :b39:

.....................................................
รูปภาพ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 32 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร