ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43764
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 14:40 ]
หัวข้อกระทู้:  คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

คนสร้างงาน...งานสร้างสุข

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

รูปภาพ

เจริญพรญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้พวกเราก็ร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรม การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เพื่อศึกษาให้เข้าใจชีวิตของเรา เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนต่างแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราต้องการความสุข เราก็ต้องเข้าใจว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

การเกิดมาเป็นมนุษย์จะเรียกว่า เราเกิดมาเพื่อทำงานก็ไม่ผิด ทุกคนต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เมื่อเรามีงานทำก็ต้องรู้จักทำงานด้วยความถูกต้อง การทำงานก็เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีงานทำ ก็มีแต่ทุกข์กันทั้งนั้น เกิดมาเป็นมนุษย์เราก็จำเป็นต้องเลี้ยงชีพ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และยารักษาโรค

เรื่องปัจจัย ๔ ก็มีความสำคัญกับทุกคน แม้แต่นักบวชเองก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ โดยอาศัยหลักพอเพียง รู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักประมาณในการใช้สอยสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่เป็นฆราวาส ปัจจัย ๔ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และยารักษาโรค หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ปัจจัย ๔ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตของตัวเองและครอบครัว

เด็กชายมิตซูโอะกับการทำงาน

พ่อแม่ของอาจารย์เป็นชาวนาชาวไร่ อาจารย์จำได้ว่า ตั้งแต่เด็กๆ กิจวัตรประจำวันที่พ่อของอาจารย์ทำ คือตื่นแต่เช้าเพื่อไปดูแลนาข้าวที่ปลูกไว้ และตัดหญ้ากลับมาให้วัว ๒ ตัวที่อยู่ที่บ้านกินเป็นประจำ ไม่เคยขาด อาจารย์ตื่นขึ้นมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อ เพราะพ่อก็ออกไปทำงานแล้ว เข้าใจว่าพ่อตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เริ่มสว่างก็ออกไปทำงาน แม่อาจารย์พูดอยู่บ่อยๆ ว่า ตื่นแต่เช้าเป็นกำไรชีวิต อาจารย์จะตื่นประมาณหกโมงเช้า

พอหกโมงกว่าๆ พ่อก็ทำงานเสร็จอย่างหนึ่ง แล้วจึงกลับมาบ้านประมาณหกโมงครึ่ง กินข้าวด้วยกันกับทุกคนในครอบครัว พ่อแม่ลูกแล้วก็ยาย หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างไปทำหน้าที่ของตัวเอง สำหรับอาจารย์ก็คือออกไปเรียนหนังสือ

รูปภาพ

สมัยเป็นเด็กนักเรียน บางครั้งอาจารย์ก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน มีงานหลายอย่าง ทั้งดำนา เกี่ยวข้าว แล้วก็เอามาตากแห้ง ตีข้าว งานเหล่านี้ก็ทั้งเหนื่อย ทั้งคันตัว บางครั้งก็เกิดความรู้สึกขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉยๆ แต่การที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำให้เรารู้สึกเคารพและศรัทธาพ่อแม่ ที่ทำงานเหนื่อยอย่างนี้ทุกวันไม่เคยบ่น

ในช่วงวันหยุดปิดภาคเรียนชั้นมัธยม อาจารย์ก็เริ่มรับจ้างทำงานพิเศษ ใครจ้างให้ไปตัดหญ้าก็ไปตัด ถ้ามีโครงการก่อสร้าง เขาจ้างงาน เราพอที่จะทำงานอะไรได้ก็ไปทำ ทำงาน ๒-๓ สัปดาห์ ได้ค่าจ้างมาก็เก็บออมเงินเอาไว้ จะได้ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่เมื่อต้องการซื้อของที่เราอยากได้ สำหรับอาจารย์ก็ซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการปีนเขา ชุดเล่นสกี เพราะอาจารย์เป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบปีนเขามาก เป็นกีฬาที่ท้าทายอยู่เหมือนกัน

เงินค่าจ้างที่อาจารย์ได้รับก็เท่ากับที่เขาจ้างผู้ใหญ่ทำงาน อาจารย์ก็รู้สึกภาคภูมิใจ ตั้งใจทำงานเต็มที่ รู้สึกว่าเราก็ต้องมีความรับผิดชอบให้เหมือนผู้ใหญ่ ไม่มีความรู้สึกขี้เกียจแล้ว ทุกครั้งที่่ไปทำงานก็มีความสุข

เมื่อเติบโตถึงวัยทำงาน จำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ก็เข้าใจว่าการทำงานนี้ สามารถพัฒนาจิตใจได้เหมือนกัน เมื่อเราขยัน ตั้งใจ และเอาใจใส่ในการทำงาน เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็มีความสุข นอกจากจะได้ค่าจ้างตอบแทนสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัวแล้ว ก็เป็นความสุขที่เกิดจากความเอาใจใส่ มีสมาธิกับการทำงานด้วย ภายหลังจึงได้ทราบว่า ความสุขนี้เกิดจากการที่ร่างกายของเราหลั่งสารชื่อว่าเอ็นดอร์ฟิน และเซโรโทนิน

รูปภาพ

(มีต่อ)

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 14:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) สารแห่งความสุข

สารเอ็นดอร์ฟินเป็นสารแห่งความสุข เพราะเป็นสารเคมีที่ส่งผลดีต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ จากการวิจัยทางการแพทย์ มีการรับรองผลว่า สมองจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินในหลายๆกรณี กล่าวคือ

(๑) จากการทำสมาธิ ซึ่งทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย เกิดปีติสุข

(๒) ในการปฏิบัติธรรมของเราก็เช่นกัน เมื่อเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ บางครั้งเมื่ออยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ เราต้องทนทุกขเวทนาที่เกิดจากความปวดเมื่อย ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ระงับทุกขเวทนา

(๓) เมื่อเราออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลา ๑๕ นาทีขึ้นไป

(๔) จากการทำงานที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่องกัน สังเกตชาวนาชาวไร่ที่ทำงานทั้งวัน แม้ว่าต้องตากแดดตากฝน เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็มีความสุข ซึ่งเกิดจากการได้เคลื่อนไหวร่างกาย

เซโรโทนิน (Serotonin) สารคลายเครียด

รูปภาพ

การทำงานของเราไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ ที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เมื่อทำไปเรื่อยๆ เช่น การทำงานฝีมือ การปั่นจักรยาน การเคี้ยวหมากฝรั่ง การเดิน การวิ่ง หรือการทำงานอยู่ในโรงงานที่ต้องทำงานอย่างเดิม ทำอยู่อย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมา เป็นเวลานานๆ อาจจะเป็นการประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องทำงานหลายชิ้นที่เหมือนกัน จิตใจจดจ่ออยู่กับการทำงาน เมื่อทำนานเข้าๆ เกิดความคล่องตัว สมาธิก็เริ่มเกิดขึ้น จิตใจสงบ มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า เซโรโทนิน ออกมา เซโรโทนินเป็นสารที่ทำให้อารมณ์ดี นอนหลับง่าย นอกจากจะพบในอาหารบางชนิดเช่น กล้วย ถั่ว นม สารนี้ก็เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะซ้ำไปซ้ำมา หรือในการทำสมาธิ การที่เรากำหนดดูลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ซ้ำๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนจิตสงบเป็นสมาธิ สมองก็จะหลั่งสารเซโรโทนิน ออกมาเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าทรงทำนาที่ให้ผลเป็นอมตะ

เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต ณ หมู่บ้านพราหมณ์แห่งหนึ่ง ในแคว้นมคธ พราหมณ์คนหนึ่งกำลังเลี้ยงอาหารคนงานหลายร้อยคน ที่พากันมาทำนาตั้งแต่เช้า พระพุทธเจ้าก็เดินมาใกล้ๆ ยืนในที่อันสมควรเพื่อขอบิณฑบาต เมื่อพราหมณ์ได้เห็นพระพุทธเจ้ายืนบิณฑบาตอยู่ ก็พูดกับพระองค์ว่า

พราหมณ์ : "ข้าแต่สมณะ ข้าพระองค์ทำนา ไถ และหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค ข้าแต่สมณะ แม้พระองค์ก็จงทำนา ไถและหว่าน เมื่อไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด"

พระพุทธเจ้า : "พราหมณ์ เราก็ทำนา ไถ และหว่านเหมือนกัน ครั้นไถและหว่านแล้วจึงบริโภค"

พราหมณ์ : "ข้าพระองค์ไม่เห็นแอก ไถ ผาน ประตัก หรือวัวควายทั้งหลายของท่าน พระองค์ยืนยันว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นการไถนาของพระองค์"

พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า : "ศรัทธาของเราเป็นเหมือนพืช ความเพียรของเราเป็นเหมือนฝน ปัญญาของเราก็เป็นเหมือนแอกและไถ หิริ (ความละอาย) เป็นงอนไถ ใจของเราเป็นเหมือนเชือก สติของเราเป็นเหมือนผานและประตัก

เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจาได้แล้ว สำรวมในการบริโภคอาหาร เราดายหญ้า (วาจาสับปลับ) ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะ (จิตใจที่เข้มแข็งทนต่อความยากลำบาก) ของเราช่วยทำงานให้สำเร็จ ให้ถึงความพ้นทุกข์ เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้นมีผลเป็นอมตะ"

หมายความว่า ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมดสิ้นจากอาสวะกิเลส ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

เมื่อพราหมณ์ได้ฟังแล้วก็เข้าใจ และเกิดศรัทธา จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าให้ฉันอาหาร แต่พระพุทธองค์ปฏิเสธว่า "เราไม่ได้แสดงธรรมเพื่ออาหาร เมื่อพราหมณ์มีศรัทธาแล้วก็ขอให้พราหมณ์ ได้บำรุงสมณะนักบวชในภายภาคหน้าต่อไป"

รูปภาพ

พระทุกรูปก็ต้องทำงาน

ที่วัดสุนันทวนารามในพรรษานี้ก็มีพระจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๕๐ รูป พระทุกรูปก็ต้องทำหน้าที่่ดังนี้ ตื่นแต่เช้า เวลาตีสองสี่สิบห้า เพื่อมาทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิจนถึงตีห้า จากนั้นเตรียมตัวบิณฑบาต ประมาณแปดโมงเช้าก็เริ่มฉัน บ่ายโมงนั่งสมาธิ ศึกษาพระธรรมวินัย บ่ายสามโมงทำกิจวัตร ปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดศาลา ห้องน้ำ ฯลฯ สี่โมงฉันน้ำปานะ หกโมงเย็นรวมกันที่ธรรมศาลา เดินจงกรม ทำวัตรสวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม นั่งสมาธิถึงประมาณสามทุ่ม เสร็จแล้วต่างคนต่างกลับไปกุฏิของตน

ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน นี่คือหน้าที่ที่พระทุกรูปในวัดจะต้องปฏิบัติประจำวัน นอกจากนั้นในวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ก็จะมีการถือเนสัชชิกคือไม่นอนตลอดคืน ปฏิบัติธรรมในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง การปฏิบัติธรรมของพระ ของนักบวช จริงๆ แล้วก็คือการทำงาน แต่เป็นงานเพื่อการพัฒนาจิตใจ เพื่อผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ

รูปภาพ
วัดสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี

(มีต่อ)

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 15:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

งานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยอิทธิบาท ๔

ทุกครั้งที่เราทำงานก็อยากทำงานด้วยความสุขด้วยกันทุกคน หลักในการทำงานให้มีความสุข และประสบผลสำเร็จนั้นก็มีอยู่ ตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่า ต้องมีอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ฉันทะ คือ ความพอใจ

เราต้องพิจารณาดูว่า เรามีฉันทะในการทำงานไหม ถ้ายังไม่มี ก็ต้องรู้จักใช้ความคิดให้เกิดฉันทะ ในการทำงานไม่ว่าเราจะมีหน้าที่อะไรก็ตามเราก็ต้องมีฉันทะ บางทีก็อาจจะรู้สึกขี้เกียจ หรือบางคนตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่มีฐานะดี เลี้ยงดูเรามาอย่างดี ตามใจเรามาตลอด อยากให้ลูกสบายไม่ต้องทำอะไร จะทำอะไรก็มีคนคอยรับใช้ เมื่อโตขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากทำอะไรเหมือนกัน ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่เป็น เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของความไม่มีฉันทะ และเห็นประโยชน์ของความมีฉันทะว่าเป็นอย่างไร

อันนี้ก็อาศัยความคิด รู้จักคิดดีคิดถูก เมื่อเกิดฉันทะแล้วความพอใจในการที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จก็จะเกิดขึ้น เมื่อเราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานที่เราชอบหรือว่าไม่ชอบก็ตาม ทำงานก็ได้ค่าตอบแทน ได้เงินเดือน เราก็ต้องพิจารณาว่างานที่เราทำนี้มีประโยชน์กับชีวิตตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคมประเทศชาติหรือไม่ ถ้าคิดได้แบบนี้ฉันทะก็จะเกิด

วิริยะ คือ ความเพียร

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เมื่อรู้สึกขี้เกียจ เราก็ต้องใช้ความคิดพิจารณาให้เห็นโทษของขี้เกียจ พยายามเอาความรู้สึก ที่ขี้เกียจ ออกจากจิตใจของเราก่อน แล้วก็สร้างความขยันให้เกิดมีขึ้น ด้วยการใช้ปัญญา ความคิด ให้เห็นประโยชน์ของความขยัน เราก็สามารถมองดูคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราว่า คนขี้เกียจเป็นอย่างไร คนขยันเป็นอย่างไร เราก็ดูแบบอย่างคนที่ดีคนที่ขยัน และเราก็อยากจะทำงานด้วยความขยันเหมือนเขา ความรู้สึกขยันจะเข้ามาแทนความรู้สึกขี้เกียจได้

จิตตะ คือ จิตใจจดจ่อ

จิตจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ ไม่ใช่ทำงานแล้วใจลอยไปลอยมา คิดถึงแต่เรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้วก็น้อยใจเสียใจ ไม่สบายใจ อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็เป็นกังวล กลัวจะไม่เป็นอย่างที่หวังเอาไว้ ถ้าหวังไว้มาก ไม่เป็นอย่างหวัง ก็ผิดหวังมาก ฉะนั้นต้องมีจิตใจจดจ่ออยู่กับหน้าที่การงานในปัจจุบัน มีสมาธิอยู่กับงานที่ทำในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จิตตะก็หมายถึง การรู้จักใช้ปัญญาความคิด เพื่อหาทางทำงานให้สำเร็จด้วยเช่นกัน เช่น การคิดในลักษณะทบทวนการทำงานในอดีตเพื่อนำมาเป็นบทเรียน การคิดวางแผนในอนาคต การคิดเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หาวิธีการที่จะช่วยทำให้งานสำเร็จ

วิมังสา คือ การใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา

งานที่เราทำบางครั้งก็มีปัญหา อาจจะมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง แต่ทุกปัญหามีทางออก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ต้องใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ต้องใช้ความคิด คิดหาสาเหตุของปัญหาว่าคืออะไร เราต้องแก้ที่เหตุ ถ้าแก้เหตุได้ปัญหาก็จบ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า ปัญหาเกิดเพราะเหตุ เมื่อเหตุดับปัญหาก็ดับ เมื่อเรารู้เหตุของปัญหา เราก็ต้องแก้ที่เหตุตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

งานที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน

ใจเป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้าของชีวิต เมื่อจิตใจดี ก็จะส่งผลให้ คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานสำเร็จได้ด้วยดี ถ้าใจเราไม่ดี คิดก็ไม่ดี พูดอะไรก็ไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี

เมื่อใจเราไม่ดี ถึงแม้จะรวยขนาดไหน มียศตำแหน่งสูงขนาดไหน ได้รับการยกย่องสรรเสริญมากขนาดไหน ถึงแม้ว่าเราจะมีอะไรดีๆก็ตาม แต่ถ้าใจเราไม่ดีแล้วก็หาความสุขไม่ได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราคือ ใจ เราจึงต้องพัฒนาใจดวงนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องรู้จักรักและเมตตาตัวเอง

การมีเมตตาแก่ตัวเอง หมายถึง การรักษาจิตใจของตัวเอง ให้มีความสุข มีความสบายใจ เมตตาแก่ตัวเองในที่นี้ จึงไม่ใช่เพื่อความสุขทางกาย แต่เป็นทางใจ คนที่รู้จักรักและเมตตาต่อตัวเอง คือคนที่พยายามรักษาสุขภาพจิตใจดีตลอดกาลตลอดเวลา

รูปภาพ

สุขภาพใจไม่ดี คือ ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ขี้โกรธ ขี้เหนียว ขึ้นต้นด้วยขี้นี่แหละ หรือรวมเรียกว่า ไม่สบายใจ ไม่สบายใจเปรียบเหมือนปฏิกูลทางจิตใจ เป็นของเสียออกจากจิตใจของเรา หรือถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็เปรียบเหมือนขยะ เพื่อที่จะรักษาจิตใจให้สะอาด เป็นสุขภาพใจที่ดี เราต้องรู้จักจัดการกับความรู้สึกไม่สบายใจ ปกติอาจารย์อุปมาอุปมัยว่า วิธีปฏิบัติเพื่อชำระจิตใจของเราให้สะอาดนี้ เปรียบเหมือนสร้างห้องสุขาสะอาดเอาไว้ห้องหนึ่ง

สำหรับพวกเราทุกคน งานชิ้นแรกที่พวกเราจะต้องทำคือ การสร้างห้องสุขาสะอาดห้องหนึ่งเอาไว้ที่หัวใจของตัวเอง ถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน เมื่อเราอยากจะมีความสุข ก็จำเป็นต้องมีห้องสุขาสะอาดห้องหนึ่งเอาไว้ที่หัวใจของตัวเอง

(มีต่อ)

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 15:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของจิตนี้บริสุทธิ์ เป็นประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตเราเปรียบเหมือนน้ำสะอาด มนุษย์ ๖,๗๐๐ ล้านคน มีธรรมชาติดั้งเดิมของจิตที่บริสุทธิ์ แต่ทุกวันนี้จิตใจของเราที่ไม่สะอาดก็เหมือนน้ำที่ไม่สะอาด น้ำเน่า น้ำเสีย สิ่งเจือปนที่ทำให้น้ำสกปรกก็เปรียบเป็นกิเลส ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา

เมื่อเราต้องการน้ำสะอาด แม้ว่าจะยังไม่มีน้ำสะอาดให้เรา แต่ความจริงแล้ว ขอให้มีน้ำอะไรก็ได้ น้ำเน่า น้ำเสีย น้ำทะเล ขอให้เป็นน้ำ แล้วเราก็ต้องเข้าใจว่า น้ำบริสุทธิ์ก็อยู่ที่เดียวกับน้ำไม่บริสุทธิ์

รูปภาพ

สมมุติว่า เราไม่มีน้ำสะอาดดื่ม เราก็ต้องหาน้ำจากที่ไหนก็ได้ เช่น ถ้าอยู่ใกล้ๆ ทะเล ก็ใช้น้ำทะเล แต่เราก็ต้องหาวิธีที่จะทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำสะอาดพอที่จะดื่มได้ วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ ต้มน้ำทะเลให้เดือด แล้วก็เก็บกักไอน้ำไว้ ทำให้น้ำเย็นลง ก็จะได้น้ำสะอาดเอามาดื่มกินได้ เราสามารถกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำสะอาดได้ สำหรับจิตใจของเรา ก็เหมือนกัน

สบายใจ-ไม่สบายใจ อยู่ที่เดียวกันคือใจ

ความสบายใจอยู่ที่ไหน เหมือนกันกับน้ำสะอาดมันก็อยู่ที่เดียวกับน้ำไม่สะอาด สบายใจมันก็อยู่ที่เดียวกันกับไม่สบายใจ จุดนี้เป็นจุดสำคัญ ไม่ใช่ว่าสบายใจ มีความสุขใจ อยู่ที่ไม่เสื่อมลาภ ไม่เสื่อมยศ ไม่มีใครนินทา ไม่มีใครทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่ใช่

แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เองก็หนีไม่พ้น พระพุทธเจ้าหลังจากสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจนเข้าถึงมหาปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็อยู่ในท่ามกลางโลกธรรม ๘ คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา มีทั้งสุขทั้งทุกข์ บางครั้งมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน มารก็อยู่ที่นั่น หมายความว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ปัญหาหรืออุปสรรคของชีวิตก็คอยติดตามมาเหมือนกัน เราต้องยอมรับความจริงว่าชีวิตของเรานี้เป็นทุกข์ ความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย การต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ การพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกหนีได้พ้น เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนดีขนาดไหน แม้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์แล้วก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานี้ เปรียบเหมือนธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ลมฟ้าอากาศ ร้อนจัด หนาวจัด มีฝนมากหรือไม่มีฝน เกิดพายุ แผ่นดินไหว สึนามิ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในอดีต ปัจจุบันยังมีอยู่ และอนาคตก็จะต้องเกิดขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า อย่าหวั่นไหว อย่ายินดียินร้ายกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งในการทำงานของเราที่บางครั้งก็ราบรื่น บางครั้งก็มีปัญหา ชีวิตส่วนตัวของเราก็เหมือนกัน บางครั้งก็ราบรื่น บางครั้งก็เกิดปัญหา เช่นกัน

รักษาใจหนักแน่น ไม่ยินดี ยินร้าย

รูปภาพ
เด็กๆ ชั้นป.๓ เข้าอบรมปฏิบัติธรรม
กับพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ณ วัดสุนันทวนาราม


พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า อย่ายินดียินร้าย สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ น้อมเข้ามาดูจิตใจของเราเอง คนอื่นไม่ดี อะไรไม่ดี ไม่ต้องคิด หน้าที่ของเราคือ ดูว่าจิตใจเราดีไหม สุขภาพใจเราดีไหม เรามีความสบายใจ

มีเมตตาแก่ตัวเองแล้วหรือยัง นี่เป็นจุดสำคัญ

เมื่อไม่สบายใจเกิดขึ้นแล้ว จุดที่เกิดไม่สบายใจคือที่ "ใจ" ของเรานี้เป็นสำคัญ ความสบายใจมันก็อยู่ที่เดียวกับไม่สบายใจ ใครจับหลักนี้ได้ก็มีความหวังว่า ชีวิตนี้จะมีความสุขได้

ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก เราต้องหยุดคิดไว้ก่อน แล้วก็โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูจิต เมื่อความไม่สบายใจเกิดขึ้นมาภายในจิตของเรา เราต้องมีความศรัทธา เชื่อมั่นว่า ธรรมชาติของจิตของเรานี้บริสุทธิ์ หรืออย่างน้อยเป็นสุขภาพใจดี ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปฏิกูลทางจิตใจ เป็นขยะในใจของเรา

ไม่สบายใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องห้ามความคิด แต่อย่าส่งเสริม สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือความคิดหรือมโนกรรม เราต้องมีสติปัญญารู้เท่าทัน แล้วก็รักษาใจสงบ ถ้าคิดก็ให้รู้จักคิดดี คิดถูก

เมื่อน้อยใจ เสียใจ กลัว โกรธ ให้เข้าใจว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นปฏิกูลทางจิตใจ เราต้องสร้างห้องสุขาสะอาดไว้รองรับปฏิกูลเหล่านี้ที่หัวใจของเรา ความน้อยใจเกิดขึ้นเดี๋ยวเดียว เมื่อคิดดี คิดถูก ความน้อยใจก็หายไป ความอิจฉาริษยา ความกลัว ความโกรธ ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นได้แต่เมื่อรู้จักคิดดี คิดถูก มีหิริโอตตัปปะ รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อบาปแล้ว เราจะสามารถจัดการกับปฏิกูลทางจิตใจนี้ได้ เรียกว่าเรามีห้องสุขาสะอาด เราสร้างห้องสุขาสะอาดที่ใจไว้ด้วยความศรัทธา ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร มีวิริยะ คือความเพียรพยายาม มีสติรู้เท่าทัน มีสมาธิและปัญญา คือรักษาใจสงบ และรู้จักคิดดี คิดถูก

(มีต่อ)

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 15:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น เมื่อเกิดความไม่สบายใจ น้อยใจ เสียใจ กลัว โกรธ จิตเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น เพราะมีกิเลส ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำจิต ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน แต่ทำอย่างไรจึงจะปล่อยวางได้

ก่อนอื่นให้เข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้มีความรู้สึกตัวชัดเจนกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกัน ต่อเนื่องกัน เมื่อเรามีสติ มีความรู้สึกตัวชัดเจน รู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแล้ว จิตก็จะอยู่กับลมหายใจนี้ เมื่อสติสัมปชัญญะจิตตั้งมั่นกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ความไม่สบายใจจะหายไป

รักษายิ้มน้อยๆ ในใจไว้เสมอ

การปฏิบัติอย่างหนึ่งที่อาจารย์สอนอยู่เป็นประจำคือ รักษายิ้มน้อยๆ ในใจไว้เสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม "ยิ้มน้อยๆ ในใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ทำใจสบายๆ"

ยิ้มน้อยๆในใจ มีความหมายว่า จิตของเรานี้ระลึกถึงความสบายใจ ปีติสุขที่จิตเราเคยมีประสบการณ์มา ความระลึกถึงอันนี้ทำให้เราสบายใจ จริงๆแล้วขณะนี้เราไม่สบายใจ แต่เราก็เชื่อมั่นว่า ความไม่สบายใจอยู่ที่ไหน ความสบายใจก็มีอยู่ที่นั่น

รูปภาพ

ระลึกถึงความสบายใจ แล้วก็ปรับปรุงลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ เมื่อมีสติ มีความรู้สึกตัวชัดเจน เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อนั้นความไม่สบายใจก็หายไป ให้จิตของเรานี้อยู่กับการทำงาน คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกัน ต่อเนื่องกัน

ชีวิตทั้งหมดคือการทำงาน

การทำงานทุกชนิดของเราต้องเอาใจใส่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เอาใจใส่ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้วยสุขภาพใจดี ใครจะทำความสะอาดบ้าน ปัด กวาด เช็ด ถู ก็ให้จิตอยู่กับการทำความสะอาด ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ ก็ให้จิตอยู่กับงานที่กำลังทำ หรือแม้แต่ในอิริยาบถต่างๆ ยืน เดิน นั่ง นอน ขับรถ หรือจะทำอะไรก็ตาม พยายามให้จิตของเราอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับการทำงาน คอยระมัดระวังความคิด

เมื่อเราเอาใจใส่ในหน้าที่การงานแล้วก็จะมีสุขภาพใจดี มีความสุขได้ หากเข้าใจในจุดนี้แล้ว ไม่ว่าจะทำงานที่เป็นอาชีพก็ดี ทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสาธารณกุศล เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็ดี ทำงานเป็นแม่บ้าน หรือในการปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมก็ตาม ตราบใดที่มีลมหายใจอยู่ เมื่อจิตใจอยู่กับกาย อยู่กับปัจจุบัน จิตใจเอาใจใส่อยู่กับการทำหน้าที่ทุกอย่างในชีวิต ชีวิตทั้งหมดก็คือการทำงาน และเท่ากับว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ซึ่งผลของงาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ก็เป็นผลต่อการพัฒนาจิตใจ นอกจากจะเป็นประโยชน์เพื่อตนเองแล้ว ก็เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมด้วยเช่นกัน

งานของพระอรหันต์ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เมื่อพรรษาแรกผ่านไปมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกนี้ ๖๐ องค์ ถ้ารวมพระพุทธเจ้าด้วยก็ ๖๑ องค์ พระพุทธเจ้าบัญชาว่า ดูก่อนภิกษุท้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อแสดงธรรม แต่อย่าไปในที่เดียวกันสององค์ ให้แยกกันไปทุกทิศทุกทาง เพื่อแสดงธรรม พรหมจรรย์ ธรรมะที่ทรงแสดงเรียกว่าพรหมจรรย์ คือเป็นธรรมที่แสดงดีแล้ว ไพเราะในเบื้องต้น (ศีล) ไพเราะในท่ามกลาง (สมาธิ) ไพเราะในที่สุด (ปัญญา) เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน

พระอรหันต์เมื่อบรรลุอรหันต์หมดสิ้นกิเลสแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่เฉยๆ แต่พระอรหันต์ก็ต้องทำงาน ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษา นับจากวันที่ตรัสรู้ จนถึงวาระสุดท้ายก่อนเข้ามหาปรินิพพาน

(มีต่อ)

เจ้าของ:  หัวหอม [ 03 พ.ย. 2012, 15:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รูปภาพ

สำนึกดีต่อสังคมเริ่มต้นที่ มีเมตตาแก่ตนเอง

สำหรับพวกเราทุกคนก็เหมือนกัน การทำงานของเรา ในเบื้องต้นเราก็ต้องหาเลี้ยงชีวิตของเราด้วยสัมมาอาชีพ แล้วเราก็ยังมีหน้าที่ต่อครอบครัว ต่อสังคม และประเทศชาติด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดเมื่อจะทำอะไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงส่วนรวม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักรักษาจิตใจของเราให้ดี รู้จักรักและเมตตาแก่ตนเองแล้ว จิตสำนึกที่จะมีต่อส่วนรวม ต่อสังคม และประเทศชาติ จะเกิดขึ้นเอง ยิ่งเราแต่ละคนรู้จักรักและเมตตาแก่ตนเองมากเท่าไร คนในสังคมและประเทศชาติจะรักกัน สามัคคีกันได้มากเท่านั้น ความสุขก็จะเกิดขึ้นในสังคมเล็กๆ หรือในครอบครัว ซึ่งเปรียบเหมือนโลกรอบๆ ตัวเรา ถ้าสมาชิกทุกคนในครอบครัว ในชุมชน ในโรงเรียน ในองค์กร ในจังหวัด ในประเทศชาติ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาจิตใจตนเอง รู้จักรักและเมตตาแก่ตนเองแล้ว ความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ชีวิตที่ถูกต้อง คือชีวิตที่ทำประโยชน์เพื่อความสุขของมหาชน ถ้าทุกคนเข้าใจอย่างนี้แล้วก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สังคมของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างแน่นอน

รูปภาพ


ที่มา : หนังสืออีกหนึ่งมุมมอง เล่มที่ ๒ รวมบทสัมภาษณ์
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

เจ้าของ:  Hanako [ 03 พ.ย. 2012, 20:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

สาธุ... :b8:

เจ้าของ:  หัวหอม [ 07 พ.ย. 2012, 10:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

หุหุ กระทู้เปลี่ยนไป แต่ก็สวยไปอีกหนึ่งมุมมอง ^ ^

เจ้าของ:  eragon_joe [ 07 พ.ย. 2012, 12:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

หัวหอม เขียน:
รักษายิ้มน้อยๆ ในใจไว้เสมอ

การปฏิบัติอย่างหนึ่งที่อาจารย์สอนอยู่เป็นประจำคือ รักษายิ้มน้อยๆ ในใจไว้เสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม "ยิ้มน้อยๆ ในใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ทำใจสบายๆ"

ยิ้มน้อยๆในใจ มีความหมายว่า จิตของเรานี้ระลึกถึงความสบายใจ ปีติสุขที่จิตเราเคยมีประสบการณ์มา ความระลึกถึงอันนี้ทำให้เราสบายใจ จริงๆแล้วขณะนี้เราไม่สบายใจ แต่เราก็เชื่อมั่นว่า ความไม่สบายใจอยู่ที่ไหน ความสบายใจก็มีอยู่ที่นั่น



:b9: :b9: :b9:

อิอิ ยิ้มน้อย ๆ ของเอกอน
ถ้าพระอาจารย์ได้เห็น คงจะอยากยันตกศาลา... :b9: :b9:

smiley smiley smiley

ขอบคุณกับบทความธรรมะดี ๆ ที่คุณ หัวหอม นำมาฝาก

เจ้าของ:  eragon_joe [ 07 พ.ย. 2012, 12:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

หัวหอม เขียน:
หุหุ กระทู้เปลี่ยนไป แต่ก็สวยไปอีกหนึ่งมุมมอง ^ ^


smiley smiley smiley

แสดงว่ามีมือที่สาม เข้ามาแทรก

smiley smiley smiley

ขอบคุณมือที่สามด้วยจร้าาาาาาาาาาาาา


smiley smiley smiley

เจ้าของ:  หัวหอม [ 08 พ.ย. 2012, 12:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คนสร้างงาน...งานสร้างสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

"อิอิ ยิ้มน้อย ๆ ของเอกอน
ถ้าพระอาจารย์ได้เห็น คงจะอยากยันตกศาลา"



ไม่หรอกครับคุณเอกอน เพราะพระอาจารย์สอนไว้ว่า สาระแห่งชีวิตคือรักและเมตตา :b43:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/