วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

แด่คุณครู...ด้วยดวงใจ ใน ๑๖ มกรา

นิ สั ย ค รู
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)

บ ท นิ ย า ม คำ ว่ า “ครู”

คณะครูชายหญิงผู้เจริญทั้งหลาย

คำว่า “ครู” เป็นคำศักดิ์สิทธิ์คำที่สองถัดจากคำว่า “พ่อ” “แม่” อันศิษย์รู้จักดี
และเป็นคำที่ศิษย์รักเคารพเหมือนคำว่า “พ่อ” “แม่” ก็ปานกัน มีภาษิตอยู่ว่า

“บุคคลที่เราควรเคารพ ถัดจากบิดามารดาของเรามา ครูอาจารย์
บุคคลผู้สั่งสอนวิชาการ ย่อมเป็นบิดามารดาคนที่สองของเรา”


ทั้งนี้เพราะครูมีคุณลักษณะอยู่หลายประการ

เพื่อประกาศคุณลักษณะที่มีประจำตัวครูทั้งหลาย
จึงจะนำคุณสมบัติของครูมาแสดง

แต่จะแถลงคำว่า “ครู” ให้ทราบไว้ก่อน
ครูอาจเป็นศัพท์แผลงมาจากมูลศัพท์ ๓ อย่าง

๑. มาจาก “ครุ” แปลว่า “หนัก ยำเกรง เอาใจใส่ เอื้อเฟื้อ”

หมายความว่า ผู้มีใจหนักแน่น ไม่ใจเบาฉุนเฉียว โกรธง่ายใจเร็ว
มีน้ำหนักแม้นฉัตรศิลา เพราะฉัตรศิลาเป็นของหนัก
แม้นลมพัดมาทั้งแปดทิศ
ก็มาอาจให้เขยื้อนเคลื่อนที่ได้ อีก ๓ คำ

หมายเอาผู้ที่ศิษย์พึงเคารพยำเกรง
ผู้เอาใจใส่ในการเรียนของศิษย์
และผู้เอื้อเฟื้อต่อศิษย์ ถือศิษย์เสมือนลูกของตน
โบราณจึงเรียกผู้เรียนอยู่ในสำนักของตนว่า “ลูกศิษย์”

๒. มาจาก “คร” แปลว่า “เชิดชู เปิดเผย เลิศลอย”

หมายความว่าผู้เชิดชูศิษย์ที่จมอยู่ในความโง่ ให้ขึ้นสู่ความฉลาด
ผู้ประสิทธิ์วิทยาแก่ศิษย์โดยเปิดเผย
ไม่อำความรู้ ไม่ปิดบังซ่อนไว้เพราะหวงวิชา
และผู้เลิศลอย คือเด่นด้วยวิทยา เห็นปรากฏแก่ศิษย์
เหมือนพระอาทิตย์เด่นด้วยรัศมี เห็นปรากฏแก่ชาวโลกีย์

๓. มาจาก “ศิร” แปลว่า “กล่าวหรือเปล่ง”

ถือเอาความว่าผู้สั่งสอนอบรมศิษย์

รูปภาพ

(มีต่อ ๑)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า : บรมศาสดาผู้ทรงเป็น “บรมครู” ของโลก]


คุ ณ ลั ก ษ ณ ะ ค รู

ครูนี่เองเป็นผู้ให้กำเนิดพลเมืองดี
คือ ชุบพลเมืองให้เป็นนักรู้ นักงาน นักพูด นักคิด นักประดิษฐ์
นักตำรา นักคว้าเหตุผล นักปราชญ์ และนักอื่นๆ อีก

เหตุที่ครูจะให้กำเนิดพลเมืองได้เช่นนั้น
เพราะครูเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของครู
ตามที่ปรากฏใน คัมภีร์สารัตถปกาสินี ๗ ประการ คือ

๑. ปิยตา : ทำตนให้เป็นที่รักของศิษย์

๒. ครุตา : ทำตนให้เป็นที่เคารพของศิษย์

๓. ภาวนียตา : อบรมตนให้เจริญ

๔. วตฺตุตา : อุตส่าห์สั่งสอน

๕. วจนกฺขนฺติ : อดทนต่อถ้อยคำรบกวนของศิษย์

๖. คมฺภีรกถากรณํ : ขยายข้อที่ลึกให้ตื้นเห็นง่าย และ

๗. อนโยชนํ : ไม่ชักนำศิษย์ในทางที่ไม่ควร

รูปภาพ
[ตามความเชื่อเกี่ยวกับเทพนพเคราะห์ : “พระพฤหัสบดี” คือเทพฤษี
ปุโรหิตของเหล่าเทวดา และเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้แก่มวลมนุษย์]



๑. ปิยตา : ทำตนให้เป็นที่รักของศิษย์

ทำตนให้เป็นคนน่ารัก สาระสำคัญของศิษย์ที่จะรักครูนั้น อยู่ที่ครูต้อง

“เอาใจเราไปใส่ใจเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

กฎนี้คือกฎที่แน่นอน เพราว่าศิษย์จะเอาใจใส่ครู ก็ต่อเมื่อครูเอาใจใส่เขาแล้ว
และเป็นไปไม่ได้ที่ศิษย์จะเอาใจใส่ครู ซึ่งถ้าครูมิได้เอาใจใส่เขา

โดยปกติศิษย์ย่อมต้องการที่จะได้รับความหวังดี
และความหวังช่วยเหลือจากครู
ถ้าตนได้ดีอยากให้ครูยกย่อง
ตนทำผิดพลาดอยากให้ครูไม่ซ้ำเติม

เมื่อครูหยั่งทราบนิสัยอ่านจิตใจของศิษย์ออกเช่นนี้แล้ว
จงปรับความต้องการของตน กับความต้องการศิษย์ให้ประสานกัน
ปฏิบัติต่อศิษย์ฉันบิดาผู้ให้กำเนิดความรู้
ตั้งตนอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ ประการ

๑.๑ มีเมตตา

หวังดีต่อศิษย์ คิดหาทางให้เขาเป็นสุข และเจริญด้วยศิลปวิทยา
แสดงอัธยาศัยโอบอ้อมอารี สนิทสนมรักใคร่เอาใจใส่ศิษย์ทั่วถึง
เช่น ควรระวังมิให้ศิษย์ประมาท ไม่ให้ขาดการเรียน
รู้เวลาบริโภคอาหาร และเวลาพักผ่อนของศิษย์

ศิษย์ผู้อยู่ในข่ายแห่งเมตตาของครูนั้น
ย่อมมองเห็นแต่ความสวยงามและสุภาพของครู
ความสุภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ในระหว่างครูกับศิษย์เช่นเดียวกับน้ำมันจำเป็นสำหรับเครื่องยนต์
ถ้าครูมีความสุภาพต่อศิษย์
เหมือนกับครูมีอัธยาศัยสุภาพต่อคนแปลกหน้าแล้ว
ศิษย์ก็จะรักครูเท่ากับพ่อแม่โดยมิต้องสงสัย


๑.๒ มีกรุณา

สงสารเอ็นดูศิษย์ หวังช่วยเหลือให้พ้นจากโง่
หากเขาได้ทุกข์ ช่วยคิดให้พ้นทุกข์
เช่น เวลาศิษย์เจ็บไข้ ได้ป่วย ตั้งใจช่วยพยาบาลและปลอบให้อุ่นใจ
เมื่อเห็นศิษย์ผิดพลาด ช่วยระงับและประคับประคองไว้ในทางที่ถูก
คอยป้องกันในทางอันตราย
เช่น ช่วยเตือนให้รู้จักหลบหลีกภัย ในการไปมา
และไม่ละทิ้งในยามวิบัติ

เมตตากรุณาที่มีอยู่ในตัวของครู
คือ ยาแก้ให้ความขี้ริ้ว กลับเป็นความสวยงาม
ความโง่เป็นความฉลาด
ความแก่เป็นความหนุ่มสาว
ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น
ใจแคบเป็นใจกว้าง


และบำรุงให้ดวงเนตรหวาน
สีหน้ายิ้มแย้มชื่นบาน
กริยาสุภาพอ่อนละไม
เสียงไพเราะอ่อนหวาน
เมื่อศิษย์ได้เห็น ใคร่จะเห็นอีก
ได้ยินเสียงแล้ว ใคร่จะได้ยินเสียงนั้นอีก

๑.๓ มีมุทิตา

พลอยชื่นชมยินดีด้วยที่ศิษย์ได้ดี
และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏในหมู่ศิษย์
ไม่ใจหยาบช้ากล้าแข็งขี้ริษยา
ถือเอาความผิดหยาบช้ากล้าแข็งเป็นมะเร็ง
ที่เกาะกินความรักความเคารพนับถือให้วอดวาย

การยกย่องศิษย์ผู้ได้ดีแม้เพียงเล็กน้อย
และยกย่องเขาทุกครั้งที่เขาทำดีให้ยิ่งขึ้นนั้น
คือหลักการสนับสนุนกำลังใจ
ให้ศิษย์รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของแห่ง
ความสามารถในการเรียนที่แฝงอยู่ในตัวเอง
ซึ่งจะกระตุ้นให้เขาทำตามคำยกย่องของครูยิ่งขึ้น


ถ้าครูปล่อยให้ศิษย์ดำรงชีวิตอยู่โดยขาดอาหาร
ก็นับเป็นความผิดอย่างหนึ่ง
แต่มิได้ถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง

แต่เมื่อครูปล่อยให้ศิษย์ผู้ทำดี
มิได้รับคำยกย่องด้วยความจริงใจแล้ว
นี่นับเป็นความผิดที่ร้ายแรงยิ่ง
เพราะนั่นเป็นวิธีทอนกำลังใจของศิษย์ให้ถดถอย

๑.๔ มีอุเบกขา

วางตัวเป็นกลางในเมื่อศิษย์ทำผิดพลาด
ไม่ยินดีด้วยที่เขาต้องโทษ
และไม่พลอยซ้ำเขาให้สมน้ำหน้า

มีใจเป็นยุติธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอคติ
คอยประสาทความยุติธรรมแก่ศิษย์
เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ศิษย์ ผู้จะหนีร้อนมาพึ่งเย็น
เป็นหลักคำประกันสันติสุขของหมู่คณะผู้ร่วมงาน


ครูผู้มี พรหมวิหาร ๔ นี้ ประจำใจแล้ว

ย่อมเป็นคนสุขุมชุ่มเย็น
รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่ตึงไม่หย่อน
ไม่ร้อนถึงกับไหม้ ไม่เย็นถึงกับบูด

ภายใต้เสื้อของครูนั้น ก็คือ หัวใจที่เต็มเปี่ยม
ด้วยความเอาใจเราไปใส่ใจเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา


ซึ่งเป็นหัวใจแห่งเมตตาอารี
แห่งกรุณาปราณี แห่งมุทิตา และแห่งอุเบกขา
แสดงออกซึ่งลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส
มีนัยน์ตาชื่นบานหรรษา

แลดูศิษย์ด้วยอัธยาศัยไมตรี
วางท่าทีละมุนละไม
เจรจาไพเราะอ่อนหวาน
เป็นเสน่ห์ยวนตายวนใจ
ให้เป็นที่รักใคร่ของศิษย์ผู้ได้เห็นโดยแท้

รูปภาพ

(มีต่อ ๒)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจาก : ภาพยนตร์เรื่อง “สวัสดีไม้เรียว”]


๒. ครุตา : ทำตนให้เป็นที่เคารพของศิษย์

ครูเป็นผู้ปกครองศิษย์โดยตำแหน่ง
ควรมีวิธีปกครองที่จะนำให้ศิษย์เชื่อฟัง
และให้ศิษย์ได้รับความสุขสำราญ

มีหน้าตาอันชื่นบาน แววตายินดีกิริยาประเปรียว
ใจเคารพจดจ่ออยู่ที่ครู และอยู่ในระเบียบเรียบร้อย
ไม่เกิดระอาท้อถอยเบื่อหน่าย แต่กระหายให้ครูปกครอง

เพราะวิธีปกครองเป็นเบื้องต้นของกิจการทั้งปวง
ผู้ใดไม่รู้จักวิธีปกครอง
ผู้นั้นจะเป็นใหญ่เป็นโตได้ยาก
การปกครองนี่เองที่ทำให้ศิษย์มีความเตารพจดจ่ออยู่ที่ครู


โบราณว่า

“ผู้ปราศจากความงาม ๕ อย่าง
คือ แต่งตัวเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่า
วาจาอ่อนหวาน วิทยาความรู้และระเบียบวินัยอันดี
ยากจะได้รับความเคารพ”


แม้ครูถ้าไม่มีวิธีปกครองแล้ว
ก็ยากที่ศิษย์จะเคารพ

ผู้ใดหักห้ามตนเองจากสิ่งอันมิบังควรได้ทุกครั้ง
ผู้นั้นเป็นผู้ปกครองชั้นเยี่ยม


นี่หมายความว่า

ครูจะปกครองศิษย์ได้
จะต้องปกครองตนเองได้ก่อน


วิธีปกครองอันจะนำพาให้ศิษย์เคารพนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ

รูปภาพ

๒.๑ นิคควิธี : วิธีปกครองด้วยการขู่ขนาบ

เป็นอุบายกระตุ้นเตือนให้ศิษย์รู้สึกตัว
ละนิสัยชั่ว แล้วเข้าหานิสัยดี

ครูเอาใจใส่ห้ามกันศิษย์ในทางชั่วทุจริตมิให้กระทำ
เพ่งมองสอดส่อง ดูความประพฤติของศิษย์

เมื่อเห็นเขาประพฤติไม่ดีงามแล้ว
รีบทักท้วงตักเตือนว่ากล่าวสั่งสอน
และเมื่อเขากระทำชั่วที่ผิดกฎข้อบังคับ
คอยขู่ขนาบหรือลงอาชญาตามโทษานุโทษ
ไม่ปล่อยปละละเลย
นี่เรียกว่า นิคควิธี

วิธีปกครองด้วยการขู่ขนาบนี้
อาจอำนวยให้ทั้งได้ผลและเสียผล
การขู่ขนาบด้วยการกล่าวด้วยความผิดของศิษย์เกินกว่าเหตุ
และขุดความบกพร่องที่ล่วงแล้วขึ้นมาพูดประจาน
นี่เป็นการเสียผล

เพราะทำลายกำลังใจให้เขาใจฝ่อ
หมดกำลังใจที่จะงดการทำผิดและกลับทำถูกได้

การขู่ขนาบด้วยการปรารภการทำผิดของศิษย์
คล้ายกับว่าเป็นของเล็กน้อย
และการนำเอาการทำถูกที่ล่วงแล้วมาพูดชมเชยให้เขาภูมิใจ
นี่เป็นการได้ผล


เพราะให้กำลังใจให้ความหวัง
และให้ความตั้งใจแก่เขาที่จะงดการทำผิดเสีย
และกลับทำถูกต่อไป

วิสัยคนทำผิดโดยมาก เว้นตัวเองเสีย
มักจะโทษใครต่อใครยุ่งไปหมด
เมื่อถูกว่ากล่าวและตำหนิแล้ว ชอบแก้ตัวและเข้าข้างตัวเอง
ทั้งจะโทษผู้ตำหนิเข้าให้ด้วย

แน่หลือเกินการตำหนินี้ดุจนกพิราบที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน
มันจะต้องกลับมาบ้านเสมอ

ครูต้องการจะเปลี่ยนแปลงศิษย์ผู้ทำผิด
โดยมิให้เขารู้สึกบาดหมางขุ่นเคือง

จงพิจารณาโดยรอบคอบ
และไต่สวนให้เห็นโทษน้อยใหญ่แล้ว
ใช้การสนับสนุนกำลังใจก่อน
จึงตำหนิเขาตามโทษานุโทษในภายหลัง


(มีต่อ ๓)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๒.๒ ปัคควิธี : วิธีปกครองด้วยยกย่อง

เป็นอุบายเร้านิสัยดี และป้องกันนิสัยชั่ว

เมื่อศิษย์ทำดีคือเรียนดี ทำงานดี รักษาอนามัยดี และประพฤติดี
แม้เพียงอย่างใดหรือทั้งหมด
ครูคอยส่งเสริมแสดงความยินดียกย่องด้วยพูดชมเชยในที่ต่อหน้าบ้าง
กล่าวสรรเสริญในที่ลับหลังบ้าง
ยกการทำดีของเขาเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์บ้าง
หรือให้เกียรติเชิดชูเขาให้เด่นในหมู่บ้าง

เพื่อเป็นอุบายเสริมกำลังใจเสริมสมรรถภาพในการทำดี
และเพื่อจูงใจศิษย์อื่นให้เกิดอุตสาหะแข่งขันกันทำดี
นี่เรียกว่า ปัตคควิธี

การยกย่องชมเชยคนทำดี
นับเป็นหลักการสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติงานทุกอย่าง
ศิษย์ทุกคนชอบยกย่องสรรเสริญ
เมื่อทำดีแล้วไม่ต้องการสิ่งอื่นใดมาเป็นอาหารใจ
ยิ่งไปกว่าคำยกย่องชมเชยของครู

ถ้าครูใดมีอุบายส่งเสริมศิษย์ ผู้ทำดี
และแก้ศิษย์ผู้ทำผิดให้รู้สึกตัวได้ด้วยการยกย่อง
ครูนั้นจะเป็นคนที่น่ารักน่าเคารพอย่างสูง
และเมื่อสิ้นชีพแล้ว แม้แต่สัปเหร่อก็จะรู้สึกเศร้าใจ

ดังนั้น ครูควรให้อาหารใจ
คือคำยกย่องแก่ศิษย์ผู้ทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ซึ่งคำยกย่องนั้นจะไพเราะซาบซึ้ง
ประหนึ่งว่าเสียงแห่งดนตรีสวรรค์ได้ฝั่งอยู่ในความจำของเขาโดยมิรู้จักลืมเลือน

๒.๓ ทิฏฐานุคติ : วิธีปกครองด้วยทำให้เป็นตัวอย่าง

เป็นอุบายโน้มน้าวนิสัยศิษย์ให้คล้อยตามเยี่ยงอย่าง
ครูปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างของศิษย์
เช่น มีกิริยาสุภาพ วาจาสุภาพ และใจสุภาพ

โดยใช้กิริยางาม กิริยาดี กิริยาอ่อนโยน
วางท่าทางให้สง่าน่าเลื่อมใส ถือระเบียบวินัยเคร่งครัด ตรงต่อเวลาเป็นนิตย์
ไม่ดื่มสุราให้ศิษย์เห็น ไม่เล่นการพนัน
พูดจาอ่อนหวาน มีอารมณ์ชื่นบานหรรษา
และอัธยาศัยอารีอารอบแสดงออกให้ศิษย์เห็น

เพื่อเป็นอุบายจูงใจศิษย์โดยการกระทำ
ชักนำศิษย์ให้ถือเป็นธง
น้อมจิตลงรับเอาเป็นแบบอย่าง
โดยไม่ต้องออกปากสั่งสอน นี่เรียกว่า ทิฏฐานุคติ


สัญชาตญาณของคนเราที่อยู่กันเป็นหมู่ใหญ่
ก็จะมีอำนาจอยู่เหนือความคิด

ดูฝูงโคที่ขังคอกไว้เป็นจำนวนร้อยเถิด
ถ้าตัวหนึ่งกระโดดข้ามคอกออกไปได้โดยทางไหน
ตัวอื่นๆ จะกระโดดตามออกไปโดยทางนั้น

แม้คนเราก็เหมือนกัน
พึงเห็นในหมู่นักเรียนที่อยู่กันเป็นจำนวนมาก
ถ้าครูทำตนให้เป็นตัวอย่างในทางไหน
นักเรียนก็จะพากันเดินตามอย่างไปในทางนั้นได้โดยง่าย
เพราะว่าตัวอย่างเสมือนเชื้อโรค ซึ่งติดต่อกันได้โดยง่าย

ครูเปรียบเหมือนกระจกเงาหรือแม่พิมพ์
ถ้ากระจกชัดเจนดี คนมองก็เห็นรูปดี
และแม่พิมพ์ชัดเจนดี การพิมพ์ลงก็ได้รูปดี


เมื่อครูจะทำอะไร ควรนึกถึงว่าศิษย์จะถือเป็นแบบอย่าง

อย่าลืมว่าการกระทำดังกว่าคำพูด
คำพูดคือใบไม้ การกระทำคือผลไม้
ซึ่งแสดงความหมายลึกซึ้งกว่ากัน


เพราะตัวอย่างมีผลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าคำสอน
คือการทำให้เป็นตัวอย่างนั้น ดีกว่าการสอนด้วยปาก


หนึ่งเฟื้องของการทำให้เป็นตัวอย่าง
มีค่าเท่ากับหนึ่งบาทของการสอนด้วยปาก

ถ้าครูต้องการชักจูงให้ศิษย์ทำดี
พึงปฏิบัติดีตามที่ตนชักจูงเขา
และปลุกเขาให้เกิดความต้องการที่จะปฏิบัติตาม
ด้วยการทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่เขา
หากทำเช่นนี้ โลกทั้งโลกก็จะอยู่ข้างท่าน

คนเรามักจะเรียนจากตามากกว่าหู
สิ่งที่เห็นปรากฏด้วยตา
ย่อมจับใจแม่นกว่าอ่านพบหรือได้ยินเขาเล่าบอก

การแสดงออกตัวอย่างให้เห็นจึงเป็นครูท่าดีที่สุด
แม้จะไม่มีปากสั่งสอน ก็ยังไม่มีครูอื่นสู้ได้

ตัวอย่างทั้งดีและชั่วจัดเป็นจิตตเลขา
คือเขียนฝากไว้ที่จิตใจ
และปรากฏออกมาให้เราเห็นโดยทางกิริยาวาจาของผู้อย่าง
ทั้งส่องรัศมีถึงผู้ให้ตัวอย่างด้วย

ผู้เอาอย่างรับเอาแบบอย่างที่ชั่วเท่ากับนำปีศาจเข้าบ้าน
ส่วนผู้เอาอย่างรับเอาแบบอย่างที่ดีชื่อว่าเชิญเทวดาเข้าเฝ้าบ้าน

ครูต้องอย่าส่งปีศาจเข้าสิงศิษย์
แต่ควรเชิญเทวดาเข้าเฝ้ารักษาเขา
ด้วยทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี


เมื่อครูนำศิษย์ด้วยวิธีปกครอง ๓ อย่างนี้แล้ว

ศิษย์ผู้อยู่ใต้ร่มเงา
ถ้าประพฤติชั่ว ครูคอยขู่ขนาบทักท้วงตักเตือนว่ากล่าวสั่งสอน
ถ้าประพฤติดี ครูช่วยส่งเสริมยกย่อง
และปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่ทุกระยะ

เขาก็จะเป็นคนดีมีสัมมาจารี
เคารพนับถือจดจ่ออยู่ที่ครู
ถ่อมตนลงอยู่ใต้ร่มเงาจริงๆ
ไม่มีอาการหยิ่งทะนงองอาจ
ปราศจากอาการแข็งกระด้างและอ่อนแอ

มีแต่ลักษณะที่เข้มแข็งและอ่อนน้อม
พ้นจากโทษ คือโง่น่าเกลียดฉลาดน่าชัง และตั้งตนอยู่ในคุณ
คือโง่น่ารัก ฉลาดน่านับถือ

(มีต่อ ๔)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๓. ภาวนียตา : อบรมตนให้เป็นคนน่ายกย่อง

การอบรมตนให้เป็นผู้ที่น่ายกย่องนี้
หมายถึงการอบรมจิตใจให้มีกำลังเป็นจุดสำคัญ
รูปร่างหน้าตามิใช่ที่หมายอันสำคัญ
ซึ่งจะพึงอบรมกำลังใจของคนเรามีลำดับจากง่ายไปหายาก ดังนี้

ความสะเทือนใจ ความสังเกต ความจำ ความคิดคำนึง
ความคิดรวบยอด ความไต่สวนเปรียบเทียบ ความรู้เหตุผลหรือพิจารณา

การจะอบรมกำลังใจให้กล้าแข็งนั้น
ต้องอบรมที่ประสาท คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันสื่อของจิตใจ

ต้องอย่าเชื่อว่า หนามแหลมเอง คนจะดีก็ดีเอง หรือบุญมีดีเอง
แต่จงเชื่อว่า คนจะดีมีบุญ สามารถดำรงวงศ์สกุล
หรือจรรโลงชาติให้เจริญได้นั้น
เพราะจิตใจได้รับอบรมให้ดีมาแต่เบื้องต้นตนเป็นนิสัย
เมื่อได้รับแต่สิ่งดีๆ มาอบรมจนเคยแล้ว


ย่อมเป็นทุนที่หวังได้ว่าจะเป็นคนดีไปตลอดชีวิต
แม้นิสัยที่ติดมาแต่พ่อแม่จะมีอยู่
แต่นิสัยที่จิตใจถูกอบรมเมื่อเกิดมาแล้วมีกำลังยิ่งกว่า
ส่วนการอบรมตนให้เจริญนี้มีอยู่ ๓ ประการ ดังนี้

๓.๑ อบรมตนให้เชี่ยวชาญในวิชาการ

ครูควรฝึกฝนตนให้แม่นยำช่ำชองวิชาเก่าและวิชาใหม่
ด้วยการอ่านหนังสือและการฟังคิดถามจดจำ
เพื่อฟื้นวิชาเก่าให้เฟื่องและเพิ่มวิชาใหม่ขึ้นอีก
เพราะวิชาชั้นต้นเป็นแต่ลูกกุญแจสำหรับไขคลังสรรพวิทยา

หนังสือจัดเป็นตัวคลังสรรพวิทยา
สำหรับจ่ายความรู้ให้แก่ผู้มีลูกกุญแจอยู่เป็นคู่มือ
เลือกอ่านหาวิทยาต่างๆ ได้ตามความประสงค์

เมื่อครูฟื้นฟูวิชาเก่าและเพิ่มวิชาใหม่ขึ้นด้วยอุบายอย่างนี้
ชื่อว่านำลูกกุญแจมาไขเอาสมบัติในคลังสรรพวิทยา


ครูได้อบรมตนให้มีวิชาเชี่ยวชาญ
ด้วยการฟัง อ่าน คิด ถามและจดจำแล้ว
ย่อมเป็นคนคงแก่เรียน เปรื่องปราด
ฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูด
คิดดีที่จริง คือจริงที่ดี
ทำดีที่จริง ทำจริงที่ดี
และพูดดีที่จริง พูดจริงที่ดี


มีวิชาไว้สำหรับใช้ในทางที่ถูก
ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้ต้องเดือดร้อน

ยึดหลักการเก็บดอกบัวเป็นมาตรฐาน
โดยบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
หรือทำนองแมลงผึ้งเข้าไปเคล้าคลึงเกสร
รับรสหวานของดอกไม้
มิได้ทำให้ดอกไม้ชอกช้ำอับเฉา
นับว่ามีวิชาเป็นเสน่ห์ สะดุดสายตา
มีคุณความดีชนะหัวใจคน
จำไว้เถิดว่า


“คนฉลาดยิ่งมีความรู้ยิ่งอ่อนโยน”

ทำนองต้นไม้มีผล ซึ่งยิ่งมีผลดกก็ยิ่งโน้มกิ่งลง
แต่คนโง่ยิ่งมีความรู้ยิ่งแข็งกระด้างน้อมไม่เป็น
เหมือนไม้แห้งซึ่งอ่อนไม่เป็น ได้แต่หักท่าเดียว

(มีต่อ ๕)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๓.๒ อบรมตนให้มีสมรรถภาพในงาน

ครูควรฝึกฝนตนให้มีความรู้สมกับตำแหน่งหน้าที่
มีความประพฤติดีน่าไว้ใจ
สามารถนำการงานในหน้าที่ให้ก้าวหน้าไปโดยราบรื่น

มิใช่คนดีแต่บ่น
ตั้งใจทำจริงให้สำเร็จมีผลงานดี

มิใช่คนดีแต่พูด
รับผิดชอบการงานในหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง
ไม่สะเพร่ามักง่าย หละหลวมเฉื่อยชา

มิใช่คนดีแต่คอยหลบ
และแบกงานไว้บนไหล่ด้วย
ทำให้เสร็จเรียบร้อย
มิใช่คนเพิกเฉย

ถ้าครูปฏิบัติได้อย่างนี้
จะทำการงานอันใดในหน้าที่ของตน
แสดงความสามารถอย่างเต็มที่
มุ่งผลสำเร็จแห่งการงานนั้นเป็นเบื้องหน้า
แม้จะมีอุปสรรคเข้าขัดขวาง
ก็สู้ด้วยความทรหด ไม่ยอมบิดพลิ้ว
หรือเลี่ยงที่ยากไปหาที่ง่าย


ตั้งหน้าบากบั่นไม่ว่ายากง่ายทั้งสิ้น
และยอมสละกล้าได้กล้าเสีย
เพื่อทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จแก่ตนและหมู่คณะ
ตามที่เป็นธรรมโดยสมควรเสมอไป
ชื่อว่าอบรมตนให้มีสมรรถภาพในการงาน


รูปภาพ

๓.๓ อบรมตนให้เจริญด้วยศีลธรรม

ครูควรฝึกตนให้มีกำลังใจเข้มแข็ง
และอยู่เหนืออำนาจธรรมชาติฝ่ายต่ำ
ประพฤติตนให้เป็นผู้ดีมีศีลธรรม

กล้าสละละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
พอใจรับเอาสิ่งที่ดีเข้ามาประดับกายวาจาใจ

ศีลธรรมในที่นี้หมายเอา ศีล ๕ กับ กัลยาณธรรม
ศีลเป็นบัญญัติฝึกหัดกายวาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

กัลยาณธรรมเป็นคุณอบรมอัธยาศัยให้ประณีต มีน้ำใจดี
พอช่วยสุขและบรรเทาทุกข์ของคนอื่นได้

ผู้ตั้งใจรักษาศีล ๕ และประพฤติกัลยาณธรรมนี้เอง
เรียกว่าผู้ดีมีศีลธรรม อย่าลืมว่า

“วิชานำให้คนมีความรู้เฉลียวฉลาด
ส่วนศีลธรรมนำให้คนมีกิริยาวาจาใจดีงาม
มีกิริยาวาจาใจดีงามนี่เอง แต่งคนให้เป็นคน”


หัวใจของศีล ๕ อยู่ที่ทำแก่เขา
ดุจเราปรารถนาให้เขาทำแก่เรา
และอยู่ที่อย่าทำแก่เขา อย่างที่เราไม่ปรารถนาให้เขาทำแก่เรา
นี่ควรเป็นกฏที่ครูพึงระลึกถึงเนืองๆ
แล้วตั้งใจเว้นข้อห้ามด้วยการสมาทานศีล ๕ ดังนี้ว่า

๑. ข้าเว้นจากการผลาญสัตว์มีชีวิต
๒. ข้าเว้นจากการลักทรัพย์ที่มีเจ้าของหวงแหน
๓. ข้าเว้นจากการทำชู้ในระหว่างคู่ของคนอื่น
๔. ข้าเว้นจากการพูดเท็จ และ
๕. ข้าเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย


กัลยาณธรรมได้แก่ เมตตากรุณา
สำหรับกำกับศีลข้อต้น

สัมมาอาชีวะ คือการหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบสำหรับกำกับศีลข้อ ๒
ความสำรวมในกาม สำหรับกำกับศีลข้อ ๓
ความมีสัตย์ สำหรับศีลข้อ ๔
ความมีสติรอบคอบ สำหรับกำกับศีลข้อ ๕

การไม่ทำสิ่งที่ตนคนเดียวชอบ
และพยายามชอบสิ่งที่คนดีทั้งหลายทำ
ทั้งทำสิ่งที่คนดีทั้งหลายชอบ
นี่คือหัวใจแห่งกัลยาณธรรม
ซึ่งเป็นกฏอันครูพึงระลึกถึงเสมอ
แล้วอบรมตนให้เจริญด้วยศีลธรรมดังกล่าวมา

สถิติที่จะวัดการศึกษาของคนนั้น
อยู่ที่การรักษาศีลธรรมนี้เอง
มิใช่อยู่ที่การอ่านออกเขียนได้

บ้านเมืองใดมีพลเมืองตั้งอยู่ในศีลธรรม
บ้านเมืองนั้นจะเพียบพร้อมด้วยความสุข


การอ่านหนังสือไม่ออก
และเขียนหนังสือไม่ได้
หาเป็นภัยแก่ผู้ใดไม่


แต่การใช้ความรู้หนังสือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ย่อมเป็นภัยแก่สังคมอย่างยิ่ง
สังคมจะตั้งอยู่ได้ด้วยการไม่เบียดเบียนกัน
และช่วยเหลือกันในทางที่ชอบ
ระเบียบที่จะป้องกันการเบียดเบียดกันนั้น
ก็คือศีลธรรมนี่เอง


(มีต่อ ๖)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๔. วตฺตุตา : อุตส่าห์สั่งสอน

การสอนคือการถ่ายเทความรู้แก่ศิษย์
ให้เขาฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูด
รู้จักให้การศึกษาแก่ตนเอง และฝึกฝนตนเองให้รู้เหตุผล
มีไหวพริบพอจะดึงเอาความรู้ ความถนัดและสมรรถภาพออกมาใช้
ให้ตนเป็นคนชำนาญในการประกอบศิลปหัตถกรรม

มีการสังเกตฟังด้วยหู ดูด้วยตา มีสุขภาพอนามัยดี
คุ้มครองตนให้รอดพ้นจากเล่ห์เหลี่ยมของคนพาล
มีกิริยาวาจาใจอยู่ในระเบียบวินัยอันดีงาม
และมีสติปัญญาสามารถบำเพ็ญสุจริต
อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนและคนอื่นได้

คนเราต่างมีสมรรถภาพต่างๆ อยู่ในร่างกายและจิตใจหลายอย่าง

คนฉลาดสามารถดึงออกมาใช้ได้โดยด่วนมาก
และดำเนินชีวิตของตนให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ได้


แต่คนโง่ไม่รู้จักดึงออกมาใช้
แม้จะดึงออกมาใช้บ้างก็เพียงเล็กน้อย
ต้องดำรงชีวิตอยู่ห่างไกลจากจุดหมายที่ตนควรจะก้าวไปถึง

การอุตส่าห์สั่งสอนเป็นการสร้างสมรรถภาพให้แก่ศิษย์
เพื่อเผชิญกับสถานการณ์ชีวิต
และเป็นวิธีปลุกให้ศิษย์ตื่นตัวขึ้นเป็นคนฉลาด
รู้จักนำความรู้ ความถนัด สมรรถภาพออกมาใช้จนทำอะไรได้ดี


ครูพึงทราบว่า ความมุ่งหมายของการสอน
มิใช่เพื่อให้ศิษย์มีความรู้อย่างเดียว
แต่เพื่อให้ศิษย์มีการปฏิบัติด้วย


เพราะถ้าศิษย์มีความรู้และปฏิบัติให้เกิดผลได้แล้ว
ก็จะมีความเชื่อมั่นตัวเอง
รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน

ยิ่งเรียนรู้สูงก็ยิ่งพึ่งตนเองได้มาก
แม้ออกจากโรงเรียนแล้ว
ก็เรียนต่อได้ด้วยตนเอง
สามารถค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำรา
จากความสังเกตด้วยหูและตา
จากการทดลอง จากความวิจารณ์หาเหตุผล และจากไหวพริบ
แล้วนำความรู้มาใช้ให้เกิดผลดีแก่ตนและคนอื่นได้

รูปภาพ

(มีต่อ ๗)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

การสอนนั้นโดยปริยายหนึ่ง มี ประการคือ

๔.๑ สันทัสสนา : ชี้ให้เห็นแจ่ม

ครูเหมือนคนนำทางชูดวงประทีปขึ้นส่อง
ให้ศิษย์แลเห็นหนทางได้ถนัด
คือสอนให้เข้าใจชัดเจน

ด้วยวิธีสอนจากสิ่งที่รู้แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ บ้าง
จากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากบ้าง
จากสิ่งที่มีตัวตนไปสู่สิ่งที่ไม่มีตัวตนบ้าง
จากสิ่งที่ชำนาญไปหาสิ่งที่มีเหตุผลบ้าง
จากสิ่งที่ไม่มีขอบเขตไปหาสิ่งที่มีเขตบ้าง


สอนอย่างให้ศิษย์เรียนเองบ้าง
สอนมีทั้งให้ความรู้และฝึกหัดความชำนาญบ้าง
และใช้กฎประกอบทดลองในสิ่งที่สอนแล้ว

คือใช้การสอบสวน ใช้ไต่ถาม ใช้คำถามให้ศิษย์ใช้สมอง
ใช้อุทาหรณ์ และใช้การเปรียบเทียบให้รู้ว่าต่างกันเหมือนกัน
เพื่อดูว่าศิษย์เข้าใจหรือไม่เข้าใจ


เมื่อครูสอนศิษย์ให้มีความรู้
และเปลี่ยนแปลงความรู้นั้นเป็นความฉลาดได้
ด้วยชี้เหตุผลในหลักวิชาการ การงาน อนามัย และจรรยา
ให้เขาเข้าใจชัดแล้ว ชื่อว่า ชี้ให้แจ่ม

รูปภาพ

๔.๒ สมาทปนา : ชวนให้มีแก่ใจทำตาม

ครูควรชักชวนศิษย์ให้เห็นคุณและโทษว่า
คนวิชาดีเป็นคนฉลาด มีวิทยาสมบัติ
คนการงานดีเป็นคนดี มีหลักฐานมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ
คนอนามัยดีมีร่างกายสมบูรณ์สุขภาพดี จิตใจสดชื่น
คนจรรยาดีเป็นผู้ดีมีคุณสมบัติ

แต่คนไร้วิชาเป็นคนโง่
คนชี้เกียจย่อหย่อนในการทำงาน เป็นคนยากจนไร้ที่พึ่ง
คนอนามัยมัยไม่ดีเป็นคนมีร่างกายอ่อนแอ ใจเศร้าเจ่าจุกทุกข์ร้อน
คนจรรยาไม่ดีเป็นคนชั่ว
ชอบเป็นนักเลงเจ้าชู้ นักเลงสุรา
นักเลงการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร

เมื่อครูชักชวนศิษย์ด้วยอุบายอย่างดีแล้ว
โน้มน้าวให้เขาผูกใจรักใคร่ในการเรียนวิชา
ประกอบการงาน รักษาอนามัย และประพฤติศีลธรรมจรรยานั้น
ชื่อว่าชวนให้มีแก่ใจทำตาม

วิธีชวนให้ศิษย์นี้มีแก่ใจทำตามนี้สำคัญมาก

เมื่อครูจะชักนำศิษย์ ควรน้อมตนลงหาศิษย์
ทำความสนิทสนมให้เป็นกันเองก่อน
แล้วจะให้ศิษย์ทำอะไรก็จะได้ง่าย
ควรดูเยี่ยงทะเลซึ่งอยู่ต่ำกว่าลำธาร
และได้รับน้ำจากลำธารบนภูเขา


แต่กลับเป็นเจ้าอยู่เหนือลำธาร
หรือไม้ซีกไม่ควรเอางัดไม้ซุง
แต่ไม้ซุงต้องเอาไม้ซีกและงัด

ดังนั้น หากครูประสงค์จะนั่งในหัวใจของศิษย์แล้ว
แม้ทั้งๆ ที่ตนอยู่เยื้องสูง
และควรถ่อมลงมา และซ่อนตนไว้ไม่ทำเด่น
ปวงศิษย์จะรู้สึกเบาใจ
แม้จะจูงเขาไปในทางใด
เขาก็คล้อยตามโดยง่าย


รูปภาพ

(มีต่อ ๘)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจาก : ภาพยนตร์เรื่อง “มอ ๘”]


๔.๓ สมุตเตชนา : เร้าให้เกิดอุตสาหะอาจหาญ

เพื่อจะทำการเร้าใจเสมือนหนึ่งลมโชยที่ให้ความสดชื่นแก่ชีวิต
เป็นแม่บททำให้ศิษย์ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง
เพราะเป็นเครื่องก่อให้เกิดข้อคิด
เกิดอุตสาหะแผ่รัศมีแห่งความขยันขันแข็ง และเกิดกำลังใจแรงกล้า
พอจะเริ่มทำในสิ่งที่ตนขอบได้

จริงอยู่คนเราย่อมอยากได้ใคร่ดีกันอยู่ได้ทุกคน
แต่บางคนไม่มีข้อคิดในเกิดอุตสาหะทำดีตามที่ตนอยากได้
ต้องมีชีวิตต่อไปจนแก่เฒ่า
ก็ไม่เคยนึกทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเก่า
คงทำงานในวันนี้อย่างเดียวกับปีก่อนๆ
ซึ่งปีแล้วปีเล่าก็คงเฝ้าทำอยู่แต่อย่างเดิมอยู่นั่นเอง

ดังนั้นครูจึงควรแสดงการเร้าใจอกมา
ให้ศิษย์เห็นโดยทางกิริยาและโดยทางวาจา
พรรณนาคุณภาพของวิชาดี การงานดี อนามัยดี และจรรยาดี
เพื่อส่งเสริมยั่วยุ และข้อคิดกำลังอุตสาหะกำลังอาจหาญ
ให้เริ่มตั้งใจเรียนวิชาทำการงาน รักษาอนามัย และประพฤติศีลธรรมจรรยา
ด้วยความสมัครรักใคร่เอาใจใส่จริงๆ

รูปภาพ

๔.๔ สัมปหังสนา : พยุงให้ร่าเริงในการทำ

เมื่อศิษย์ถูกเร้าใจให้เกิดข้อคิด
เกิดอุตสาหะและเกิดกำลังใจอาจหาญเพื่อจำทำแล้ว
แต่พอเริ่มลงมือประกอบธุรกิจของตนก็เข้าพบอุปสรรคจึงชะงัก
แล้วเกิดอ่อนเพลียละเหี่ยใจถึงกับท้อถอยเบื่อหน่าย

ครูต้องใช้อุบายชวนชื่นปลอบศิษย์ให้เบิกบานร่าเริง
ให้กลับมีกำลังใจมีความหวังและตั้งใจทำต่อไป
ด้วยชี้ให้เขาเห็นว่า อุปสรรคเป็นของธรรมดา
กิจการทุกอย่างต้องมีทั้งอุปสรรคและคู่แข่งขัน

ผู้เอาชนะอุปสรรคได้ย่อมมีชีวิตรุ่งโรจน์
แต่ผู้มีชีวิตตกอับเพราะยอมแพ้อุปสรรค


ที่จริงผู้ใดมีกำลังใจ ผู้นั้นมีความหวัง
และผู้ใดมีความหวัง ผู้นั้นย่อมมีทุกสิ่ง


เพราะเป็นผู้สามารถชิงชัย ต่อสู้กับอุปสรรคได้ทุกชนิด
ครองชีวิตอยู่ด้วยการทำลายอุปสรรค
แม้อุปสรรคจะมีมากน้อยสักเพียงไร
ก็ยิ้มรับท้าทายให้แหลกไปร้อยทั้งร้อย

จริงเหลือเกิน คนมีกำลังย่อมถือว่า
อุปสรรคคือกุญแจไขทางสว่างแห่งชีวิต
ยินดีรับอุปสรรคทุกชนิดที่ผ่านมาในชีวิตด้วยความเต็มอกเต็มใจ
และเห็นว่ามีอุปสรรคนี้แหละ
จะช่วยก่อลักษณะเข้มแข็งนี้ขึ้นในตน
และจำนำตนไปสู่ความสนุกความสำราญในอนาคตแห่งชีวิตอีก

เมื่อครูอุตส่าห์สอนศิษย์ด้วยวิธีการสอนทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว

ย่อมปลุกให้ศิษย์ตื่นตัว
จูงฐานะของศิษย์ให้ดีขึ้น นำศิษย์ให้เดินถูกทาง
ฝังหลักของศิษย์ให้มั่นคง

ศิษย์ก็จำเป็นผู้รู้วิชา รู้การงาน รู้อนามัย และรู้จรรยาที่สมสมัย
เป็นคนช่างรู้ ช่างทำ ช่างพูด
ใช้ภูมิรู้ในทางที่ถูก ประพฤติกิริยาวาจาใจดีงาม

ครูอย่าลืมว่า

“การช่วยเหลือที่ดีที่สุด ที่ครูพึงจะช่วยเหลือแก่ศิษย์นั้น
คือ สอนให้เขารู้จักช่วยตัวเอง”


(มีต่อ ๙)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจาก : ภาพยนตร์เรื่อง “มอ ๘”]


๕. วจนกฺขนฺติ : อดทนต่อถ้อยคำรบกวนของศิษย์

ความอดทนมีสาระสำคัญอยู่ที่การหักห้ามใจไว้อยู่
ในเมื่อได้ประสบให้เกิดเหตุอันจะก่อให้เกิดอารมณ์ร้าย
มีสติครองตนไม่หุนหันพลันแล่น
เช่น อดทนตรากตรำในขณะที่ทำงาน
ไม่เห็นแก่หนาวร้อนและเช้าสายบ่ายค่ำ

มีกำลังใจอยู่เหนือความยากง่ายหนักเบา
อดทนเจ็บปวดในเวลาป่วยไข้
มีกำลังใจทนทานสู้กับความเจ็บปวด
ไม่ทุรนทุรายจนเสียสติสัมปชัญญะ

และอดทนเจ็บใจ
ในขณะที่คนอื่นทำให้ไม่เป็นที่พอใจ
ไม่ด่วนฉุนเฉียวโกรธง่ายใจเร็ว

สำหรับความอดทนในที่นี้
หมายถึงอดทนต่อความเจ็บในเมื่อคนอื่นพูดกวนใจ
ซึ่งมีเหตุให้ต้องอดทนต่างกัน

คืออดทนต่อถ้อยคำของตนสูงกว่า
เพราะจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

อดทนต่อถ้อยคำของคนเสมอกัน
เพราะจะรักษามิตรภาพ

และอดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่า
เพราะถือขันติเป็นสำคัญ


การไม่มีน้ำอดน้ำทนต่อคำพูดของคนอื่น
ที่หมิ่นประมาทเหยียดหยามด่าว่าเย้ยหยัน
ย่อมเป็นสัญญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ
และเป็นมหันตภัยที่ทำให้จิตใจอันภาคภูมิได้รับความปวดร้าว
ทำลายความรู้สึกว่าเป็นคนมีความสำคัญน้อยลง
และก่อให้เกิดโทสะรุนแรง


ส่วนการอดกลั้นต่อกิริยาวาจาอันรุนแรงของคนอื่นนั้น
ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง
เป็นอุบายระงับอารมณ์ให้สงบเยือกเย็นลง
และยับยั้งความขุ่นข้องหมองใจไว้
เพื่อเรียกร้องความรู้สึกผิดชอบพิจารณาเสียก่อน


นับเป็นกฎที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพ่อแม่ที่ขี้บ่น
ครูที่จู้จี้เอาเรื่อง นายจ้างที่ขี้ดุว่า หัวหน้าที่หูเบา
หรือคนที่มีนิสัยที่น่าเกลียดน่าชัง
ซึ่งตั้งหน้าแต่จะคอยจับผิดผู้อื่น


ครูผู้ที่อยู่ในระหว่างศิษย์ที่เยาว์วัยไม่เดียงสา
ควรมีนิสัยอดทนเป็นเครื่องประดับใจ
ภายใต้เสื้อของครูนั้นพึงเป็นหัวใจที่อดทนมีกำลังเข้มแข็ง
หัวใจแห่งเมตตากรุณา
หัวใจซึ่งจะไม่ทำให้ศิษย์คนใดได้รับอันตราย

ครูผู้มีนิสัยอดทน รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา
มีใจดีท่ามกลางศิษย์ที่รบกวน
และมีความอ่อนโยนที่สุดท่ามกลางศิษย์ที่ดุร้ายที่สุด
รักษาอารมณ์ของตนไว้ในลักษณะสงบเสงี่ยม
ทำงานได้ด้วยกำลังใจเข้มแข็ง

เมื่อถูกศิษย์รบกวนถือเหมือนเขาขอความช่วยเหลือ
ไม่เคยยอมให้อารมณ์เสีย อดทนต่อคำรบกวนของศิษย์
มีริมฝีปากปราศจากการดุด่าว่าร้าย
ยับยั้งใจใช้ดุลยพินิจให้ถี่ถ้วนรอบคอบ
เผยแต่ถ้อยคำที่ดีน่าชื่นใจ
และเอาอกเอาใจศิษย์ด้วยเมตตากรุณาต่อศิษย์
ด้วยไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ และไม่พยาบาท

เมื่อครูปฏิบัติต่อศิษย์โดยวิธีละม่อมเช่นนี้แล้วย่อมจะได้ผล ๒ ประการ คือ

ให้ศิษย์โค้งคำนับด้วยความสมัครรักใคร่
เคารพนับถืออย่างบริสุทธิ์ใจ

และให้ศิษย์มีความซื่อสัตย์สุจริต
กระตือรือร้นตั้งอกตั้งใจเรียนให้เกิดผลงามแก่ตัวเขาเอง


รูปภาพ

นอกจากนี้ ครูยังจะได้รับเกียรติจากศิษย์อีกว่า

“ภายในเครื่องแบบแห่งครูเรานั้น คือนิสัยอดทน
นิสัยที่เราพึงจงรักภักดี และเคารพสักการะอย่างสูง”


ดังนั้น ครูจึงถือขันติเป็นอาภรณ์
จงเป็นตัวของตัวเอง

ถ้าครูอดทนต่อถ้อยคำดูหมิ่นของคนอื่นไม่ได้
ก็จงอดทนต่อคำรบกวนของศิษย์

ถ้าครูจะตั้งตัวเป็นดังพ่อแม่ของศิษย์ไม่ได้
ก็จงเป็นครูของเขา

แม้จะเป็นครูของเขาไม่ได้
ก็เป็นพี่เลี้ยงของเขาเถิด


นี่คติจำไว้ด้วยว่า

“เราอาจตั้งบัญญัติเพื่อบังคับสารพัดได้ทุกอย่าง
แต่ถ้าเราไม่มีน้ำอดน้ำทน
พอถูกด่าว่าเข้าบ้างแล้ว
โทสะก็อาจกระโดดข้ามรั้ว
มิเกรงกลัวบัญญัติที่เราตั้งขึ้นนั้นเลย”


รูปภาพ

(มีต่อ ๑๐)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 18:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๖. คมฺภีรกถากรณํ : ขยายข้อที่ลึกให้ตื้นเห็นง่าย

วิชาในศาสตร์ต่างๆ ที่ครูจะนำสอนศิษย์
บางอย่างมีข้อความลึกและสลับซับซ้อน
มีเคล็ดลับอยู่ในตัว เห็นได้ยาก

เปรียบเหมือนหม้อที่ปิดอยู่
หม้อเปล่าและหม้อเต็มที่ปิดอยู่นั้น
จะมีวัตถุอะไรหรือไม่มี
แม้มีอยู่จะเป็นวัตถุชนิดไหน
ก็เป็นของที่รู้เห็นได้ยาก

ต่อเมื่อเราเปิดออกดู
จึงจะรู้ว่าหม้อเปล่าและหม้อเต็มด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้
แม้วิชาที่มีข้อความลึกลับก็เช่นเดียวกัน
ครูต้องเปิดเผยข้อลึกลับนั้นออก
ตีแผ่อธิบายให้ศิษย์เห็นเป็นอย่างๆ โดยวิธีสอนดังนี้

๖.๑ แสดงจุดเด่นของวิชา

ครูจะคิดค้นคลำหาจุดเด่นของวิชา
ทำนองค้นหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ
เพื่อนำขยายข้อลึกลับของงวิชานั้นให้ตื้นให้ง่าย

เมื่อพบแล้วจงเก็บใจความมาย่อเป็นข้อควรจำ
ข้อควรท่องบ่น ข้อควรคิด และข้อควรเข้าใจ
แล้วขยายเนื้อความแห่งหัวข้อนั้นๆ ออก
เหมือนเปิดหม้อที่ปิดให้ศิษย์เห็นง่าย โดยลำดับเป็นข้อๆ

๖.๒ แสดงเหตุผลของวิชา

ครูจงเปิดเผยให้ศิษย์รู้มูลรากของวิชาที่มีสอนว่า
มีต้นเดิมมาเป็นมาอย่างไร
โดยจับเหตุอธิบายท้าวความไปหาผล
และจับผลอธิบายสาวความเข้ามาหาเหตุ
วิชาหนึ่งกับอีกวิชาหนึ่งจงใช้การเทียบเคียงกัน
มีตัวอย่างประกอบให้ศิษย์เห็นง่าย

เช่น อธิบายวิชาชั้นต่ำให้เห็นแนวทางขึ้นไปหาวิชาชั้นสูง
ทำนองขึ้นต้นไม้
อธิบายวิชาชั้นสูงลงมาหาวิชาชั้นต่ำ
ทำนองลงต้นไม้

รูปภาพ

๖.๓ แสดงสาระสำคัญของวิชา

ครูจงแสดงให้ศิษย์เห็นว่าสาระสำคัญของวิชานั้น
อยู่ที่เรียนรู้แล้วและต้องประพฤติดี
มิใช่อยู่ที่เรียนรู้แล้วและประพฤติแล้ว
คุณค่าของวิชาอยู่ที่นำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ตนและหมู่คณะ


การมีความรู้แต่เพียงเล็กน้อย
แต่รู้แน่นอนและปฏิบัติตามได้จริง
ย่อมมีค่าสูงยิ่งกว่าการมีความรู้กว้างขวาง
แต่นำไปประกอบการสิ่งใดไม่ได้
ที่จริงความรู้กับการกระทำต้องไปด้วยกัน

ครั้นศิษย์เห็นสาระสำคัญอย่างนี้แล้ว
จงกระตุ้นให้เขามีฉันทะเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติ
เพราะเมื่อเขาปฏิบัติตามความรู้แล้ว
ย่อมได้รับผลควรแก่การปฏิบัติ

รูปภาพ

(มีต่อ ๑๑)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๗. อนโยชนํ : ไม่ชักนำศิษย์ในทางที่ไม่ควร

ทางที่ไม่ควร หมายถึง สิ่งที่ชั่วช้าเลวทรามซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าติเตียน
นำให้ผู้ประกอบเป็นคนเลว เป็นคนเสื่อม เป็นคนฉิบหาย
ส่อให้โลกเขาเห็นว่า เป็นคนมีชีวิตต่ำต้อยอับเฉา เศร้าหมองล่มจม

ครูควรระมัดระวังและหลีกเร้นให้ห่างไกล
ทางที่มาควรนั้นมีอยู่หลายประเภท
แต่จะแสดงเฉพาะปากทางแห่งความเสื่อม
ซึ่งเรียกว่า “อบายมุข” มีอยู่ ๖ ประการ

รูปภาพ

๗.๑ ดื่มน้ำเมา

ให้โทษ คือเสียทรัพย์ ก่อการทะเลาวิวาท เกิดโรค
ต้องติเตียน ไม่รู้จักอาย และทอนกำลังปัญญา

๗.๒ เที่ยวกลางคืน

ให้โทษ คือชื่อว่าไม่รักษาตัว ชื่อว่าไม่รักษาครอบครัว
ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ เป็นที่ระแวงของคนที่หลาย
มักถูกใส่ความและได้ความลำบากมาก

๗.๓ ติดดูการละเล่น

ให้โทษ คือรำที่ไหนไปที่นั้น ดีดสีตีเป่าที่ไหน ไปที่นั้น
เสภาที่ไหนไปที่นั้น เพลงที่ไหนไปที่นั้น และเถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น

๗.๔ เล่นการพนัน

ให้โทษ คือ เมื่อชนะย่อมก่อเวร เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
ทรัพย์ย่อมฉิบหาย ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนบ้าน
และไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

๗.๕ คบคนชั่วเป็นมิตร

ให้โทษ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน
นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ นำให้เป็นนักเลงเหล้า
นำให้เป็นคนลวงเขาเป็นของปลอม
นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า และนำให้เป็นคนหัวไม้

๗.๖ เกียจคร้านการทำงาน

ให้โทษ คือมักอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เวลาเย็นแล้ว
ยังเช้าอยู่หิวนักกระหายนักแล้วไม่ทำการงาน

เมื่อครูหยั่งรู้ว่าอบายมุขทั้ง ๖ เป็นทางที่ไม่ควร
คือเป็นเหตุเครื่องฉิบหาย ซึ่งแต่ประการล้วนมีโทษอย่างร้ายแรง
จงหาทางให้ศิษย์หลีกเลี่ยงเหตุแห่งความเสื่อมนั่นเสีย
ชักนำให้เขาประกอบแต่เหตุแห่งความเจริญ
อันเป็นทางที่ควรส่วนเดียว
อย่างนี้เรียกว่า ไม่ชักนำศิษย์ในทางที่ไม่ควร

รูปภาพ

สรุปความว่า เมื่อครูเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของครู ๗ ประการ คือ

๑. ทำตนให้เป็นคนน่ารักของศิษย์
๒. ทำตนให้เป็นน่าเคารพของศิษย์
๓. อบรมตนให้เป็นคนน่ายกย่อง
๔. อุตส่าห์สั่งสอน
๕. อดทนต่อถ้อยคำรบกวนของศิษย์
๖. ขยายข้อที่ลึกให้ตื่นเห็นง่าย และ
๗. ไม่ชักนำศิษย์พบทางที่ไม่ควร


เหล่านี้แล้ว

ย่อมสามารถสร้างศิษย์ให้เป็นพลเมืองดี
ชนิดมีวิชาดี มีการงานดี มีอนามัยดี และมีจรรยาดี


ศิษย์ผู้มีดีครบถ้วนทั้ง ๔ ดีนี้
ก็ชื่อว่าเป็นพลเมืองดีที่เข้มแข็ง
และอ่อนโยนที่สุดของชาติศาสนา


:b8: :b8: :b8:

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)


:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : บทสร้างนิสัยครู, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร),
มหามกุฎราชวิทยาลัย จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๙, หน้า ๑-๒๘)


(มีต่อ : บทส่งท้าย...)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2009, 00:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ดอกกล้วยไม้ : สัญลักษณ์ของวันครู]


บ ท ส่ ง ท้ า ย : นิ ย า ม แ ห่ ง “ครู”

๑. ครูโดยพยัญชนะ

มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” แปลว่า หนักในความหมายที่ว่าต้องเคารพ

๒. ครูโดยอรรถะ

๒.๑ ผู้ที่ควรเคารพ

๒.๒ การค้นพบพิเศษทางภาษาศาสตร์
พบคำว่า “ครุ” มีรากศัพท์ว่าเปิดประตู

ดังนั้นครูจึงเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ
ซึ่งเป็นเรื่องสูงสุดทางจิตใจ
ใช้เป็นคำสูงสุดสำหรับผู้สอนของบุคคลชั้นสูง

๒.๓ บัดนี้ใช้มีความหมายเป็นผู้สอนวิชาความรู้
แม้ในขั้นต้นๆ เช่นสอนหนังสือ และวิชาชีพก็ได้

๒.๔ สิ่งใดหรือการกระทำใดๆ ที่ช่วยให้หายโง่แก่คนใดคนหนึ่ง
ก็เรียกว่าครูได้ทั้งนั้น แม้ความผิดก็ยังเป็นครูได้

๓. ครูโดยประวัติ

๓.๑ ในระดับทั่วไปบิดามารดาเป็นครูคนแรก
หมดความรู้แล้วก็มอบให้ครูประเภทผู้มีอาชีพ
และหน้าที่ในการสั่งสอน ซึ่งก็ได้ศึกษาเล่าเรียนสืบต่อกันมา

๓.๒ ในด้านจิตวิญญาณ มีบุคคลผู้ออกศึกษาค้นคว้าในที่สงบสงัด
พบความรู้ที่มีประโยชน์ในทางจิตใจแล้วก็สอนสืบต่อกันมา
เรียกว่า ฤาษี (ผู้แสวง) มุนี (ผู้รู้) บ้าง สืบต่อมาสูงๆ ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
จนเกิดพระบรมครู คือพระพุทธเจ้า

รูปภาพ

๔. ครูโดยไวพจน์ (คำที่แทนกันได้)

ได้แก่ กัลยาณมิตร ศาสดา สารถี เนตติกะ (ผู้นำ)
จนกระทั่งปัจจุบันนี้แม้แต่คำว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์
ก็ได้ใช้เป็นไวพจน์ของคำว่า ครู ซึ่งในสมัยโบราณไม่เคยใช้

๕. ครูโดยอุปมา (เปรียบเสมือน)

๕.๑ ผู้ปลูกต้นโพธิ์ของโลกซึ่งมุงบังโลกนี้ให้ร่มเย็น

๕.๒ ทุ่นที่รับประกันความล่มจมของโลก
ที่จะล่มจมลงไปในทะเลแห่งความผิดพลาด

๕.๓ ห้ามล้อที่ป้องกันโลกไม่ให้ตกเหว

๕.๔ เครื่องจักรที่ทำหน้าที่ยกสถานะทางวิญญาณของเยาวชน

๕.๕ แสงประทีปส่องทางเดินแห่งชีวิตของเยาวชน

๕.๖ ผู้ปล่อยสัตว์ออกจากกรงขังแห่งความเขลาเบื้องต้น

๕.๗ แพทย์ให้วัคซีนป้องกันในเบื้องต้นของโรคทางวิญญาณของเยาวชน

รูปภาพ
[ช่อมาลัยพวงน้อย...ร้อยคารวะแด่ “ครู”]


๖. ครูโดยภาษาคน-ภาษาธรรม

๖.๑

ภาษาคน : ผู้มีอาชีพสอนหนังสือหรือสอนวิชาชีพ
ภาษาธรรม : ผู้ยกสถานะทางวิญญาณของโลกให้สูงขึ้น

๖.๒

ภาษาคน : ครูคือผู้ที่มีอยู่ตามสถานการศึกษา
ภาษาธรรม : ครูผู้ที่อยู่ในสถานที่อันวิเวกเป็นฤาษี มุนี พระอรหันต์ทั้งหลาย
กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๖.๓

ภาษาคน : ครูมักจะตกเป็นลูกจ้างอยู่ภายให้อาณัติของผู้มีอำนาจ
ภาษาธรรม :ครูอยู่เหนือความเป็นลูกจ้าง แต่เป็นปูชนียบุคคล

๖.๔

ภาษาคน :ไม่รับผิดชอบว่าตนกระทำได้ตามที่สอน
ภาษาธรรม : ยืนยันว่าตนกระทำได้ตามที่สอน

๖.๕

ภาษาคน : ใช้ครูแสวงหาอย่างโลกๆ ให้แก่ตน
ภาษาธรรม : ใช้ความเป็นครูแสวงหาประโยชน์ในทางธรรมให้แก่คนทั้งโลก

(ที่มา : คัดลอกบางตอนมาจาก ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เล่ม ๒)

:b8: :b8: :b8:

รูปภาพ

“กล้วยไม้ออกดอกช้า..........................ฉันใด

การศึกษาย่อมเป็นไป..........................เช่นนั้น

แต่ออกดอกคราวใด...........................งามเด่น

งานสั่งสอนปลูกปั้น.............................เสร็จแล้ว แสนงาม”


ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปูชนียบุคคลในวงการศึกษา : ผู้ประพันธ์

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2009, 00:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b8: :b20: :b8: :b20: :b8:

“...เพราะครูผู้นำทาง................ใช่เรือจ้างรับเงินตรา

พุ่มพานจึงนำมา.......................กราบบูชาพระคุณครู

หญ้าแพรกแทรกดอกไม้............พร้อมมาลัยอันงามหรู

เข็มดอกออกช่อชู.....................จากจิตหนูผู้รู้คุณ...”


:b8: :b20: :b8: :b20: :b8:

รูปภาพ

:b8: :b20: :b8: :b20: :b8:

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

ขอมอบบทความเรื่องข้างต้นนี้....

เพื่อน้อมรำลึกและบูชาพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน
ทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาส
มาด้วยความซาบซึ้งในพระคุณด้วยความเคารพยิ่ง
:b8:

และขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนผู้เป็น “คุณครู” ทุกคน

ได้มั่นคงแน่วแน่บนแนวทาง
ในอันที่ช่วยกันจรรโลงวิญญาณของความเป็นครู
ให้ดำรงอยู่เพื่อความสถิตสถาพรของอาชีพอันทรงเกียรติ
ที่ควรแก่การเคารพ...นับถือ
และไว้วางใจของชนทั้งปวงยิ่งขึ้น....สืบไป
:b4: :b16:

:b8: :b20: :b8: :b20: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2009, 08:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


คุณ ครู ที่รัก หนู ขอจำ คำ สั่ง สอน

สวัสดี คุณครู เช้าตรู่ เรา พบกัน
แต่ทำไม ครูจึง ถึง ชอบบ่น
ยัง ไม่แก่เลย.


เมื่อคุณครู จู้ จี้ ผมก็จุ๊กจิ๊ก เป็นธรรมดา
ตามประสา คนดี ที่อดทน ฟังครู.
เฮ้อ บ่นจังเลย


สวัสดี คุณครู ไม่รู้หรือ ว่าผมลูกใคร
หากมาทำเป็นตี ทีนี้ โดนแน่
แล้ว จะหาว่าหล่อ ไม่เตือน
ให้การบ้าน กองพะเนิน
นึกว่าเพลิน หรือครับคุณครู
กลับมาบ้าน ทีไร ไม่เคยได้ดู ทีวี
เฮ้อ เบื่อจังเลย



รูปภาพ

:b37: :b37: :b37: ....ดนตรี.......... :b41: :b41: :b41:

คุณ ครู ที่รัก หนู ขอจำ คำ สั่ง สอน

ครูดุจบิดร มาร ดา ปรารถนา ให้ เรา ดี

คุณ ครู ที่รัก หนู ประจักษ์ เดี๋ยว นี้ เอง

คำสั่งสอน ของครู เป็นประตู สู่ อนา คต.


:b8: :b8: กราบระลึกพระคุณของครูด้วยคนครับ :b8: :b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร