วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 09:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2012, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มิ.ย. 2012, 14:54
โพสต์: 2805


 ข้อมูลส่วนตัว


พากันตั้งใจฟังธรรมเทศนา วันนี้จะอธิบายถึงเรื่องเครื่องส่องคือกระจกเงา
กระจกมีไว้สำหรับส่องดูตัวเราเองก็ได้ ส่องดูสิ่งอื่นก็ได้
โดยมากคนเราไม่ค่อยจะเห็นตัวเราเอง
คิดดู ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวันตาย ถ้าหากไม่ไปมองดูกระจก ก็จะไม่เห็นหน้าเราสักที
หน้าของเราไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ตา หู จมูก อวัยวะต่างๆ ทั้งหน้า
ไม่ทราบว่ามีรูปร่างลักษณะอย่างไร
นี่พูดถึงความไม่ดีของคนเราหรือความโง่ของคนเรา
ได้ของมาพร้อมกันแล้ว แต่ว่าไม่รู้จักหน้ารู้จักตา
ไม่รู้จักรูปพรรณสัณฐานของมันเสียเลย
ต้องอาศัยกระจกส่องดู นี่ถึงขนาดนี้คนเรา
ว่าถึงเรื่องของไม่ดีมันเป็นอย่างนี้ หรือเรียกว่าเราโง่
ต้องอาศัยคนอื่นส่องจึงค่อยเห็นความโง่ของเรา


คนเราแต่ละคนก็ทำนองนั้น
เกิดขึ้นมายากที่จะรู้เรื่องของตนเอง อ่านตนเองไม่ค่อยออก
การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำนั้น อ่านไม่ค่อยออกว่าทำผิดหรือถูก
ดีหรือชั่ว หยาบหรือละเอียด ควรหรือไม่ควร
ทำลงไปด้วยความโง่ๆ เง่าๆ ทำด้วยความลุ่มหลงมัวเมา
เราชอบใจจะทำอย่างไรก็ทำลงไปอย่างนั้น
ชอบใจจะพูดอย่างไรก็พูดออกไป ชอบใจคิดนึกอย่างไรก็คิดนึกไป
แต่มันจะเป็นผลดีผลเสียอย่างไร ไม่รู้
ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการศึกษาสดับตรับฟัง
ถึงแม้จะฟังก็ตาม ศึกษาเล่าเรียนมาเท่าไหร่ก็ช่าง ก็เหมือนกับกระจก
ที่เราศึกษาเหมือนกับกระจกเหมือนกัน
กระจกไปตั้งไว้ ถ้าเราไม่เข้าไปส่องก็ไม่เห็นเหมือนกัน
จะเรียนรู้มากสักเท่าไหร่ก็ตามเถอะ
ถ้าหากเราไม่ส่องดูตัวของเราแล้ว
ก็จะไม่รู้เรื่องตัวของเราเหมือนกัน


สิ่งที่เราพึงรู้พึงเห็นในตัวของเรานั้น เพียงรูปร่างหน้าตาไม่เป็นของสำคัญเท่าไรนัก
หน้าตารูปร่างสัณฐานของเรานั้น มันจะเป็นอย่างไรๆ
บุญกรรมวาสนาบารมีส่งมาให้แล้ว มันก็แค่นั้นแหละ
จะไปดัดแปลงแก้ไขมันก็แก้ไขไม่ได้
อย่างใบหูก็ดี จมูกก็ดี ตาก็ดี เราจะแต่งใหม่ก็ไม่ได้เหมือนกัน
อย่างปาก อย่างคิ้ว แต่งใหม่ไม่ได้หรอก
อย่างดีที่สุดก็ไปเสริมนิดๆ หน่อยๆ
เอารู้จเอาอะไรไปทานิดๆ หน่อยๆ ให้มันแปลกๆ
คือไปทาให้แปลกกว่าเก่า ให้คนมองดู
ถ้าเป็นเหมือนเก่าคนเบื่อ เขาดูนานๆ แล้วเบื่อ
ให้มันแปลกแตกต่างเก่าหน่อย คนจะได้สนใจ ขนาดนั้นคนเรา
แล้วก็ไม่เห็นดีวิเศษวิโสอะไรตัวของเรา
ดีไม่ดีอาจจะทำความเสื่อมเสียให้แก่เราอีกซ้ำ


ถ้าเขาชมเรา เราก็จะลืมตัว
หาว่าเราสวยสดงดงามอะไรต่างๆ ถือตนถือตัว ลืมตนลืมตัว
ถ้าเขาติเรา เราจะโกรธ เสียใจน้อยใจ ไม่ใช่เป็นของดี
ถ้าหากปกติแล้ว อยู่ตามเรื่องตามราวมันก็สบายไป นี่จึงว่าไม่เป็นปัญหา
ถ้าเราไปตบแต่งเข้า นอกจากจะเป็นภัยอันตรายแก่ตนแล้ว
ก็ไม่เห็นดีวิเศษวิโสอะไรขึ้นมา
ของอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงให้แต่ง
แต่งมันเป็นภาระสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก
นอกจากเป็นบ่อเกิดของกิเลสดังอธิบายมาแล้ว
ยังเป็นของสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีก
ที่พระพุทธองค์ทรงให้แต่งให้ดูนั้น ไม่ใช่ดูตรงนั้น
ดูความประพฤติต่างหาก ดูการกระทำต่างหาก


คนเราจะเป็นคนดีหรือคนเลว
ไม่ใช่เพราะโคตร วงศ์ตระกูล รูปร่างสัณฐาน วิชาความรู้
ดีตรงที่ประพฤติต่างหาก
ดูครั้งพุทธกาล ผู้ที่บวชในพุทธศาสนา สูงสุดเป็นถึงกษัตริย์
ต่ำลงมาก็พวกพราหมณ์ ต่ำลงมาอีกก็พวกคนธรรมดาสามัญ ต่ำที่สุดคนขอทาน
คนขอทาน พระองค์ก็เทศนาอบรมสั่งสอน ให้ประพฤติปฏิบัติตน
จนได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน มีสักขีพยานชัดเจน
พระองค์จึงตรัสอย่างนั้นว่า คนจะดีไม่ใช่ดีเพราะโคตร
เพราะวงศ์ตระกูล หรือรูปร่างสัณฐาน ผิวพรรณต่างๆ
ดีเพราะการฝึก ตรงนี้จุดสำคัญที่เราต้องสนใจกัน
ความประพฤติก็ไม่มีอะไร มีในตัวของเราทั้งหมด
มีกาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้แหละ ดีชั่วอยู่ตรงนี้
จะดีก็เพราะกายวาจาใจนี้ จะชั่วจะเลวก็เพราะกายวาจาใจนี้


กาย ไม่ได้หมายถึงเรื่องกายที่อธิบายมาแล้ว
อันนั้นเป็นของมีอยู่ ไม่ใช่จะไปแต่งตรงนั้น
คือแต่งกาย – ความประพฤติต่างหาก
ไม่ใช่แต่งหน้าแต่งรูปโฉมอย่างที่ว่า แต่งความประพฤตินี่ต่างหาก
ดังอธิบายมาแล้วในขั้นต้น คนเราไม่ค่อยจะรู้สึกตัว
คือไม่รู้เรื่องของตนที่ตนเป็นมา ตนทำอยู่นี้ไม่รู้เรื่อง
บางทีทำด้วยกาย การงานอะไร ภาระใดๆ ทั้งสิ้น
ทำลงไปนั้น เข้าใจว่าเป็นของถูกของดี ถูกต้องดีแล้ว
แต่ทำไปบางทีมันอาจเป็นเครื่องกระทบกระเทือน
หรืออาจเป็นเครื่องเบียดเบียนคนอื่น ทำให้คนอื่นเสื่อมเสียไปก็ได้
หลักมีอย่างนี้ ทำสิ่งใด ถ้าหากว่าทำดี ถูกต้องนั้น
ไม่เป็นเครื่องกระทบกระเทือนทั้งตนและคนอื่น
คือไม่ทำความเสียหายแก่ตนและคนอื่น
ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนและทั้งคนอื่นด้วย
นั่นแหละหลักความดี
อย่าไปเอาดีแต่ตนฝ่ายเดียว
ถ้าตนเห็นว่าดีแล้ว คนอื่นอาจกระทบกระเทือนก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ของดี
นี่ตรงนี้ ตรงที่จะต้องส่องดูตัวของเรา


คนเรามักไม่ส่องตน ไม่ค่อยจะส่องตัวของเรา ทำไปหน้าเดียวเลย
เข้าใจว่าดีแล้วก็ทำไปหน้าเดียว นี่ไม่ส่องตน
ถ้ามีหลักอย่างว่านี้ ส่องดูว่าทำสิ่งใดลงไป
มันเป็นเครื่องเบียดเบียนตนและคนอื่นหรือไม่
ถ้าไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น อันนั้นใช้ได้
ให้ส่องแบบนี้ นี่เป็นเรื่องการกระทำ
กาลเวลาที่เราต้องทำนั้น มันรู้จักกาลไหม ถูกแล้วก็ต้องรู้จักกาลรู้จักเวลา
อย่างบางคนขยันหมั่นเพียรทำกิจภารธุระ
ขยันจริงๆ แต่ไม่รู้จักกาล รู้จักประมาณตนเอง
อย่างทำเรือกสวนไร่นา ทำตะพึดตะพือไป
ครั้งพุทธกาลก็เคยมีพระองค์หนึ่งถือว่าการปัดกวาดนี้
เป็นการบุญการกุศลเสียจริงๆ กวาดตะพึดตะพือไปเลย
ถือว่าเป็นของดีของวิเศษศักดิ์สิทธิ์ กวาดไม่มีหยุดมีหย่อน ไม่รู้จักเวลา
ไม่มีเวลาที่จะทำความเพียรภาวนา มีแต่หาจะกวาดลานวัดตลอดเวลา


พระองค์ตรัสว่า ให้รู้จักกาล มันไม่ใช่จะดีอยู่ตรงนั้นอย่างเดียว
อันนั้นเป็นกิจวัตรที่ควรประกอบ นี่ไม่รู้จักกาล ไม่รู้จักประมาณ
เมื่อไม่รู้จักกาล ก็ไม่รู้จักประมาณอีกเหมือนกัน
คือ ทำไม่รู้จักกาล รู้จักประมาณ
คือไม่รู้พอดีพองาม ว่าจะเหมาะควรด้วยประการใดๆ
อันนี้ไม่เบียดเบียนคนอื่นจริงอยู่หรอก แต่เบียดเบียนตนเอง
กวาดวัดกวาดวากวาดตะพึดตะพือไป ไม่เบียดเบียนใครหรอก
คนอื่นเขาก็ชมว่าเป็นของดีเหมือนกัน เราไม่ต้องกวาดยาก
คนอื่นกวาดให้แล้วก็แล้วไป สบาย ไม่เบียดเบียนใครหรอก
แต่ไปเบียดเบียนตนซิ คือขาดการกระทำคุณงามความดีอย่างอื่น
แทนที่จะเอาเวลาไปกวาดวัดสักพักหนึ่ง
แล้วมาทำกิจวัตรเดินจงกรมภาวนาสักพักหนึ่ง
แทนที่จะทำอย่างนั้นไม่เอา เอาแต่กวาดอย่างเดียว
นี่ส่องไม่ถึง คือ ไม่มีกระจกส่องตนเอง นี่ตัวอย่าง


ทีนี้คนทำงาน เช่น คนทำสวน ทำนา ปลูกก็ปลูกเรื่อยไป ทำก็ทำเรื่อยไป
ปลูกตะพึดตะพือ พอได้ปลูกแล้วก็กะว่าจะร่ำรวย
ปลูกมะเขือเทศ ผักกาด กะหล่ำปลี ปลูกอะไรต่างๆ
ปลูกจนไม่มีจังหวะจะโคน ปลูกมากๆ จนชิดจนกระทั่งมันขึ้นมาไม่ได้
มันชิด มันแย่งอาหารกันกิน เลยไม่มีลูก ไม่มีผล ได้แต่ต้น ต้นก็ไม่งามด้วยซ้ำ
นี้เรียกว่าไม่รู้จักพอดีพองาม เห็นเขาทำก็ทำไป
เมื่อคิดไปก็น่าสงสาร คล้ายกับเครื่องจักร พอติดเครื่องแล้วก็ทำตะพึดตะพือเลย
เครื่องไม่พัง น้ำมันไม่หมด ก็เลยเดินเครื่องอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา


อันนี้ว่าถึงเรื่องการกะทำด้วยกาย
เมื่อไม่มีอุบายปัญญา เมื่อไม่ฉลาด ทำด้วยความโง่เง่า
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงชมเชยสรรเสริญ
ไม่มีเครื่องส่องตนเอง หากคนอื่นจะส่องให้ ก็ไม่เหมือนตนเองส่อง
หากคนอื่นไปติเข้า ลองดูซิ ไม่พอใจ
หากคนอื่นไปชมก็ลืมตัว
ก็เลยไม่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ถ้าตนเองส่องตนเอง รู้เท่าเข้าใจตนเอง ว่าควรไม่ควรด้วยตนเอง
นั่นแหละจึงเรียกว่าส่องตนเอง รู้จักตนเอง
เปรียบเหมือนกับเราไปส่องกระจก ดูหน้า ตรงไหนมีจุดมีไฝ
ตรงไหนมันดำ ตรงไหนมันไม่ดีไม่งาม จนต้องเช็ดต้องชำระ
ควรที่จะแต้มจะแต่งด้วยประการใด ให้มันเหมาะสมแก่ใบหน้าของตน
และก็ค่อยสวยขึ้นมาเพิ่มเติมขึ้นสักนิดหนึ่ง ดีกว่าไม่แต่ง
เรียกว่าความรู้ เพราะรู้สิ่งที่ผิดที่ถูก
คือความรู้อันนั้นเอง สิ่งที่ควรไม่ควร รู้อันนั้นเอง
อันนั้นจึงจะเรียกว่าส่องกระจกตนเอง
นี่พูดถึงเรื่อง กาย อย่างเดียว


คราวนี้พูดถึงเรื่อง วาจา ยิ่งกว้างกว่านั้น กว้างกว่ากายอันนั้นมาก
คนเราตั้งใจว่าเราพูดถูกพูดดีแล้ว ว่าถูกต้องไม่เท็จ ไม่โกหกใครทั้งนั้น
สิ่งที่เราจะต้องพูดออกไปเพื่อความเมตตาปรานี หวังดีต่อคนอื่น อันนี้ว่าถึงส่วนดี
ถ้าว่าส่วนไม่ดีแล้ว พูดสิ่งใดเป็นเรื่องกระทบกระแทกแดกดัน
หรือต้องการให้เจ็บช้ำน้ำใจ ให้คนอื่นเดือดร้อน
นั่นบาปโดยแท้ นั่นเรียกว่าไม่ได้ส่องกระจก หรือส่องแต่ยังไม่ทันเห็น


พูดสิ่งใดออกไปที่หวังประโยชน์ความดีแก่คนอื่น
สิ่งที่เราพูด วาจาหรือสำนวนนั้น มันเป็นสำนวนหยาบคาย
คนอื่นฟังแล้วมันไม่เพราะหู ไม่มีความอุตสาหะวิริยะที่จะต้องทำตาม
มันก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน
นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นโทษแก่ตัวเราอีกด้วยซ้ำ
คือเขาเกลียดและเบื่อ เขาไม่อยากฟัง ไม่อยากทำตาม
ตัวเราเองไม่รู้ เรายิ่งโกรธเพิ่มขึ้นอีก แสดงความน้อยใจ ไม่พอใจมากเพิ่มขึ้นอีก
อันนั้นมีกระจกส่องแต่ว่าไม่เห็น ไม่เห็นหน้าตนเอง
นี่มันยาก คือไปมองแต่คนอื่น ไม่มองตนเอง
จึงว่ามีกระจกส่องแต่ไม่เห็น


ถ้าหากว่าเรามารู้สึกตนได้ว่าที่เราหวังดีปรารถนาดี
แต่ทำไมเราพูดเราสอนคนอื่น ทำไมเขาไม่พอใจ มันเป็นเพราะอะไร
มาตรวจดูตัวของเราให้ถี่ถ้วนจะเห็นหรอก
บางทีเกิดเพราะนิสัยเคยชินติดมาแต่นมนาน เราเคยฝึกฝนอบรมอย่างนั้นมา
แต่ก็ไม่มีใครจะตักเตือนบอกกล่าวว่าสอน ว่าสิ่งนั้นมันไม่ดีไม่งาม
ถึงคนอื่นตักเตือนสั่งสอนก็อย่างที่ว่าแล้ว
จะไม่พอใจ เกิดความไม่พอใจขึ้นมา
อันนั้นเรียกว่าส่องกระจกไม่เป็น คือไม่เห็นเงาของตนเอง
หรือเห็นแล้วก็แต่งไม่ได้ เลยไม่แต่ง
มันจุดดำจุดแหว่งตรงไหนก็ตามมันเถอะ ก็เลยจะไม่แต่ง ไว้ตามเดิมนั่นแหละ
มันเป็นอย่างนี้แล้วก็ปล่อยไว้อย่างนี้แหละ ก็ดีเหมือนกันถ้าปล่อยไว้อย่างนั้น
แต่ว่าเราอย่าไปทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและคนอื่น


ถ้าปล่อยแล้วไม่เดือดร้อนตนเองและคนอื่นเหมือนกัน
ว่าเราเคยพูดอย่างนี้ละ เราเคยพูดสำนวนวาจาอย่างนี้ละ
เราปล่อยตามเรื่องมัน นิสัยสันดานเราเป็นอย่างนี้ ก็ปล่อยตามเรื่อง
ก็อย่าไปพูดให้คนอื่นได้ยิน ถ้าไปพูดให้คนอื่นได้ยิน มันเดือดร้อนคนอื่น
เมื่อเขาไม่พอใจ เขาแสดงความไม่พอใจและโต้ตอบ
เดี๋ยวเราก็เดือดร้อนขึ้นมาอีก ร้อนทั้งตนและคนอื่น
กระทบทั้งตนและคนอื่นก็ใช้ไม่ได้อีก ถ้าปล่อยตามเรื่องแล้ว
เอาอย่างนี้ละ เราปล่อยเลย ไม่ต้องไปพูดกับใคร มันก็ดีไปส่วนหนึ่งเหมือนกัน
ถือว่าเวรกรรมเราสร้างมาอย่างนี้ ความชั่วเราอบรมมาอย่างนี้


พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงเรื่องการส่อเสียด
โทษของการส่อเสียด หาเรื่อง หาโทษให้คนโน้นคนนี้
ตายไปตกนรก พ้นจากนรกมา มาเป็นคนพูดปากไม่ดี ปากมีกลิ่นเหม็น
อยู่ใกล้ใครพูดกับใคร ใครก็ไม่ชอบ พูดคำใดวาจาใดออกไป
มีแต่คนเกลียดเหยียดหยามดูถูก ไม่เป็นเหตุให้คนอื่นเชื่อฟัง
พูดดีๆ เขาก็ไม่เชื่อฟัง พูดเพราะๆ เขาก็แสดงความรังเกียจ
บาปกรรมอันนั้นยังเหลือเศษอยู่ ถ้าระลึกได้อย่างนี้
รู้สึกตัวว่า กรรมของเรา ค่อยยังชั่วหน่อย จะได้มีการระมัดระวัง
เรียกว่าส่องกระจกดูตัวเราเห็น และมีหนทางแก้ไข
ถึงแก้ไม่ได้ ก็ยังเรียกว่าเราระงับตนไว้เสีย
อย่าให้เป็นเรื่องกระทบคนอื่นต่อไป อย่าไปสร้างกรรมต่อไปอีก
ถ้าเขาไม่พอใจและเขาแสดงความโต้ตอบ รังเกียจเหยียดหยาม
เราไปโกรธอีกยิ่งไปใหญ่อีกละ สร้างกรรมเพิ่มอีก
กรรมมีแล้วยังไม่แล้ว ยังเพิ่มกรรมอีก ทวีคูณขึ้นอีก เลยไม่หมดสิ้นสักที
ถ้าหากเรารู้อย่างที่ว่ามาแล้ว ปล่อยเอาเถอะ หมดกรรมหมดเวรเสีย
เอาแค่นี้เราเข็ดแล้ว เรายอมแล้ว ทีนี้ต่อไปจะไม่สร้างกรรมต่อไปอีก
ก็ดี ถ้าอย่างนั้นก็ดี นี่พูดถึงเรื่องวาจา ส่องดูวาจา


คราวนี้ส่องดูใจ ใครเป็นคนส่อง ใจส่องใจ
ใจนั่นแหละไปส่องดูกาย ส่องดูวาจา ส่องดูใจ
คราวนี้ใจส่องดูใจ ใจปกติธรรมดา ดังเคยอธิบายมาแล้ว
คือกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่คิดหยาบละเอียด อะไรทั้งหมด เฉยๆ
ผู้ที่ฝึกฝนทำภาวนาสมาธิจนกระทั่งจิตรวมเข้าไปแน่วแน่แล้ว
ไม่มีอะไรเหลือเลย ยังเหลือแต่ความสงบนิ่งใสแจ๋วอยู่คนเดียว
นั่นคือ ใจแท้ ใจเดิม
อาการที่มันแสดงออกมาทั้งปวงทั้งหมด คิดนึก ส่งส่าย วิตก วิจาร
วุ่นวายนั่นนี่อะไรต่างๆ เป็นอาการของใจ


ตรงนั้นแหละ เราจะส่องดูตรงนั้นแหละ มันคิดอะไร
มันคิดไม่พอใจคนนั้น หาว่าคนนั้นเกลียดเหยียดหยามดูถูกเรา
คนนี้รักเรา คนนั้นไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่รักเรา เกลียดโกรธเรา ดูถูกเหยียดหยามเรา
ใจที่ไปวิตกวิจารนั้น ให้เห็นให้รู้ตัว ว่าอันนั้นมันไม่ใช่ของดี
เอาละ ถึงเขาจะเกลียดจะโกรธ หรือจะเหยียดหยาม ดูถูก
เขารักหรือชังก็ตามเถอะ
ถ้าหากเขาเกลียด เขาโกรธ เขาไม่พอใจ
เราไปแสดงความโกรธหรือเกลียด น้อยใจหรือเสียใจ
ตัวของเราก็พลอยสร้างกรรมไปอีก
แล้วกรรมตัวนั้นก็เลยเพิ่มทวีขึ้นมาอีก ดังอธิบายให้ฟังในเรื่องวาจา


เพราะว่ากรรมเก่าของเรา มันจึงเป็นอย่างนั้น
จึงมีคนไม่ชอบ ไม่พอใจ หรือเกลียดโกรธ
เพราะกรรมที่เราทำชั่วไว้แต่ก่อนเก่า
เมื่อเราเข้าใจว่าเรามีกรรมเช่นนั้นแล้ว เรามาเสวยกรรม
เราอย่าให้กรรมนั้นเพิ่มทวีขึ้นอีก เสวยเท่าที่มีอยู่
เหมือนกับว่าเรามีหนี้สิน มีสักร้อยสักพันหนึ่ง
เราใช้ให้หมด หมดเรื่อง อย่าไปหาเพิ่มมาอีก
หรือมิฉะนั้น ก็เหมือนเรามีแผลที่แข้งหรือขา มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม เราพอใจไหม
แผลขาขวามีแล้ว อยากจะได้แผลขาซ้ายอีกไหม
หรือว่าแผลแขนขวามีแล้ว แขนซ้ายอยากได้อีกไหม
ถ้าหากว่าเราไม่พอใจ ก็พยายามรักษาแผลนั้นให้หาย
แล้วเราก็จะได้สบาย จะไม่มีคนรังเกียจอีกต่อไป


ถ้าเรารู้ตัวอย่างนี้ เราส่องดูตัวเรา เห็นใจของเราอย่างนี้
เราก็พยายามอย่าให้แผลนั้นมากขึ้นอีก หรือเหวอะหวะ กว้างลึกใหญ่กว่าเก่าอีก
พยายามรักษาแผลนั้นให้มันหายเสีย อย่าไปเพิ่มแผลอื่นอีกต่อไป
หากว่าความคิดนึกของเราไม่ชอบใจคนนั้นคนนี้
เราติดอกติดใจในคนนั้นคนนี้ อะไรต่างๆ
เกิดความรักความพอใจในคนนั้นคนนี้ขึ้นมา
ความรักความชอบอันนี้ ก็เป็นเหตุหนึ่งเหมือนกัน


พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า
ปิยโต ชายเต โสโภ รักสิ่งใด โศกเพราะสิ่งนั้น
ปิยโต ชายเต ภยํ รักสิ่งใด ภัยเกิดจากสิ่งนั้น
นี่พระองค์ทรงเทศนาอย่างนี้
ที่เราไปรักไปชอบใจ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นของดี
ความโศกมันจะเกิดจากตรงนั้น ภัยจะเกิดจากนั้น


ถ้าหากว่าไปรักหมู่เพื่อน ชอบใจหมู่เพื่อน สนิทสนมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
จะต้องระบายความรักความชั่วที่ตนทำมาแล้ว ให้หมู่เพื่อนฟังจนหมดเปลือกเลย
ทีหลังเวลาไม่พอใจ โกรธขึ้นมาแล้ว ความลับที่เราระบายนั้นจะเสียใจภายหลัง
หรือบางทีเขาจะไปโฆษณาความชั่วของเรา เลยเสียหายใหญ่โตมโหฬาร
ความโศกมันเกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้ จึงว่ามันเป็นโศกเป็นภัย
ความรักอย่าเข้าใจว่าเป็นของดี
หากว่าสิ่งนั้นพลัดพรากจากไป เกิดอันตรายขึ้นมาแล้ว
เราจะกลุ้มใจ เป็นทุกข์เป็นโศกเพราะสิ่งนั้น
นี่ท่านจึงสอนให้รู้จักรักษาตน คือส่องดูตน
อย่าให้หลงมัวเมาเรื่องความชอบความดี


ถ้าหากเป็นนักภาวนาจริงๆ จังๆ มีสติคุ้มครองรักษาจิต
จะคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด ส่งส่ายไปตามอายตนะผัสสะต่างๆ
จะต้องส่องดูว่า อันนี้มันคิดดี คิดชั่ว เราก็รู้จัก หยาบละเอียดเราก็รู้จัก
ส่งส่ายไปตามอายตนะทั้งหลายเราก็รู้จัก
ว่าเป็นไปเพื่อสะสมกิเลส หรือเป็นไปเพื่อได้ความรู้ความฉลาด เกิดอุบายปัญญา
ตามรู้ตามเห็นอยู่ตลอดเวลา และก็ตามชำระอยู่ทุกขณะ
นี่เรียกว่าเราส่อง เรามองดูใจของเรา เรียกว่าใจเห็นใจ
เมื่อใจเห็นใจแล้ว ก็ตั้งใจเพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะใจอันเดียว
นี่นักภาวนาต้องเป็นอย่างนี้


เมื่อเราไปจับจุดตรงนั้นได้แล้ว ส่วนกาย วาจา ไม่มีปัญหา
ถ้าจับตรงนั้นแล้วไม่มีปัญหา เพราะกาย วาจา อยู่ใต้บังคับของใจ
ใจเป็นผู้บัญชาการ ถ้าเราจับใจได้แล้ว เรื่องทั้งหลายนั้นก็หมดเรื่องไป
ทำแบบนี้พระพุทธเจ้าท่านว่ามีธรรมเป็นกระจกเครื่องส่องตนเอง
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรามาปฏิบัติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
จงเอากระจกคือพระธรรม มาไว้เป็นเครื่องส่อง
เราได้กระจกมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่ส่อง มันก็ไม่เห็นตัวของเรา
เพราะฉะนั้นจงพากันส่องตัวของเราทุกคน จึงจะสมว่าเราเป็นนักปฏิบัติ
นี่อธิบายเรื่องกระจกส่องเงาตนเอง
มีเนื้อความพอที่จะจดจำนำไปปฏิบัติเพียงเท่านี้


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

.....................................................
อย่าลืมทำกิจในอริยสัจ
เราจะเดินให้สุดทาง http://www.thaidhamma.net


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 มี.ค. 2010, 16:12
โพสต์: 2298

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


bigtoo เขียน:
ถ้าหากเป็นนักภาวนาจริงๆ จังๆ มีสติคุ้มครองรักษาจิต
จะคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด ส่งส่ายไปตามอายตนะผัสสะต่างๆ

จะต้องส่องดูว่า อันนี้มันคิดดี คิดชั่ว เราก็รู้จัก หยาบละเอียดเราก็รู้จัก
ส่งส่ายไปตามอายตนะทั้งหลายเราก็รู้จัก ว่าเป็นไปเพื่อสะสมกิเลส
หรือเป็นไปเพื่อได้ความรู้ความฉลาด เกิดอุบายปัญญา


ตามรู้ตามเห็นอยู่ตลอดเวลา และก็ตามชำระอยู่ทุกขณะ
นี่เรียกว่า เราส่อง เรามองดูใจของเรา เรียกว่าใจเห็นใจ
เมื่อใจเห็นใจแล้ว ก็ตั้งใจเพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะใจอันเดียว
นี่นักภาวนาต้องเป็นอย่างนี้



เมื่อเราไปจับจุดตรงนั้นได้แล้ว ส่วนกาย วาจา ไม่มีปัญหา
ถ้าจับตรงนั้นแล้วไม่มีปัญหา เพราะกาย วาจา อยู่ใต้บังคับของใจ
ใจเป็นผู้บัญชาการ ถ้าเราจับใจได้แล้ว เรื่องทั้งหลายนั้นก็หมดเรื่องไป

ทำแบบนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า มีธรรมเป็นกระจกเครื่องส่องตนเอง
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างนี้
ขอโมทนาครับ สาธุ .. :b8:

.....................................................
"พุทโธ .. พุทโธ .. พุทโธ"
ภาวนาวันละนิด จิตแจ่มใส


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 37 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร