วันเวลาปัจจุบัน 10 ก.ย. 2024, 03:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2012, 08:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: คิดดีก็รู้ คิดไม่ดีก็รู้ คิดดีก็เฉย คิดไม่ดีก็เฉย เราก็รู้จักตัวเราว่ามีทั้งคิดดี และคิดไม่ดี สงบหรือไม่สงบ เราก็ยืนอยู่ต้องเฉย “เฉย” ก็คือการทำสติ หรือภาวนา พยายามดึงกลับมาไว้ตรงนั้น มันก็สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ...ใครจะทำอย่างไร ก็วางเฉยได้ ไม่ปากเปราะ ไม่อารมณ์ร้อน ไม่ตอบโต้กับใครง่ายๆ เฉยเป็น นิ่งเป็น ที่มาฝึกก็เพราะเราต้องการสิ่งเหล่านี้ คือ ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนั่นเอง


:b44: เรามาฝึกใจของเรา ได้ก็ไม่ดีใจ เสียไปก็ไม่เสียใจ ทำเป็นกลาง อยู่ก็ดีใจ ไปก็ไม่เสียใจ ใครจะเกลียดเรา ก็ไม่เสียใจ ใครจะรักเรา ก็ไม่ลืมตัว เมื่อเราทำใจเป็นกลาง เราถือว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น มันเป็นกังวลทั้งนั้น มันเป็นภาระหนักทั้งนั้น ไม่ว่าจะไปจับอะไรสักอย่างหนึ่ง

ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราวางใจเสียได้ ไม่ไปยึดว่าเป็นของเรา ไม่ไปยึดว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องได้มาอย่างนั้น จะต้องได้มาอย่างนี้ จิตเราก็สบาย


:b44: พระพุทธเจ้าทรงศึกษามาแล้วจนจบจิต พวกเราที่ยังเป็นวัฏฏะ เวียนว่าย ตาย เกิดอยู่ก็ เพราะเราศึกษาจิตไม่จบ เพราะเรายังหลงจิตอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะจับจุดพิจารณาอย่างไร ทำอย่างไรที่จะเข้าไปรู้ให้ถึงธรรมอันนั้น เพราะเรายังอยู่ในวัฏฏะ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ เพราะจิตไม่มีตัวตน ก็เลยไม่รู้ว่าจะมองดูอย่างไร จะจับอย่างไร จิตนั้นมีความโลภ โกรธ หลง อยู่ในนั้นอยู่แล้วเราก็ไม่สามารถไปจับเขามาดู หรือมาบีบคั้นให้มันหมดไปได้อย่างไร

เมื่อไม่มีตัวตนเราก็ต้องใช้วิธีจับจิต แบบไม่มีตัวตนก็คือ ใช้การภาวนา เอาจิตเข้าไปไว้ตรงใดตรงหนึ่งให้จิตเป็นหนึ่ง เมื่อจิตใจจดจ่ออยู่เป็นหนึ่งก็ปรากฏความคิดขึ้นมา คิดไปเรื่องโน้นเราก็ตั้งสติ คิดไปเรื่องนี้เราก็รู้สติว่าเราคิดอะไร พอเรารู้ทันหนักเข้าๆ มันก็รวมเป็นใจว่าง ใจว่าง ใจสว่างนั่นคือ ตัวรู้ทันจิต ทำให้เกิดปัญญาญาณรอบรู้เท่าทันจิตตัวเองเกิดความสุขสงบขึ้นมา


:b44: บุญและบาปอยู่ในใจเราคนเดียว เหมือนมีคน ๒ คนอยู่ในใจเรา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ผลัดกันแสดงอาการออกมา เวลาสงบก็มี “พุธโธ ธัมโม สังโฆ” อยู่ในใจ และนึกถึงพระอรหันต์อยู่ในใจ คนดีก็โผล่ขึ้นมาในใจ ก็นึกแต่สิ่งที่ดี พูดคุยแต่สิ่งที่ดี ก็แสดงอาการที่ดีออกมาทางกายและวาจา ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ คนไม่ดีก็เกิดขึ้นมาแทน คิดแต่เรื่องไม่ดี ทำแต่เรื่องไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี ทำแต่เรื่องที่ไม่สบายใจตลอดเวลา เขาเรียกว่า จิตตสังขารปรุงแต่งเป็นบุญและบาป “ปรุงแต่ง” เป็นบุญก็สบายใจ เย็นใจ ถ้าปรุงแต่งเป็นบาปก็ทำให้จิตใจเร่าร้อน เป็นทุกข์ระทมขมขื่นใจ จิตตสังขารปรุงแต่งจิตให้เป็นบุญและบาปอยู่สม่ำเสมอ ก็ต้องทำ “อุเบกขา” คือ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย สุขก็ทำเฉยๆ ทุกข์ก็ทำเฉยๆ ถือว่าเป็นธรรมดาที่คนเราก็มีอยู่ทุกวันทุกเวลา


:b44: ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนตามหลักธรรมชาติโดยตรง ร่างกายของเราก็เป็นธรรมชาติ ปรุงแต่งมาจากธรรมชาติ ที่เรามานั่งอยู่นี่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติทั้งหมด

ที่ทุกข์ที่สุขนี่ เราไปคิดเอาเองจนเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต จนกลายเป็นยึดมั่นถือมั่น ว่าจากเราไปไม่ได้ ทั้งๆที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันจากกันได้หมด ไม่มีอะไรติดอยู่ในตัวเราเลย จะมีก็ “ทาน ศีล ภาวนา” ที่จะติดอยู่ในใจเราได้

สิ่งนี้แหละที่จะส่งเราไปถึงพระนิพพาน นอกจากนั้นไม่มีเลย ไปไม่ถึงนิพพาน เป็นของหล่นอยู่กับโลกหมด กลายเป็นของที่ถูกคนอื่นนำไปใช้ต่อ


:b44: ที่คนเราไปศึกษาข้างนอกมากๆ จึงได้แต่ความวุ่นวาย เพราะไม่เคยดูกายใจตัวเอง ไปเห็นผมคนโน้นสวย เห็นขนคนนี้สวย เห็นปรุงแต่งแต่เรื่องสวยงาม เห็นเล็บ เห็นขน เห็นหนังคนโน้นสวยคนนี้สวย ใจมันก็เลยไม่สงบ พอมาดูตัวเรา เราก็หลงว่ามันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าไม่ได้ดูตัวเอง หรือดูแต่ไม่ได้พิจารณาให้แจ้งชัด จิตมันก็เลยฟุ้งซ่านไม่สงบ

เรียนรู้กรรมฐาน ก็คือ เรียนรู้เรื่องของตัวเองตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไปรู้เรื่องธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แยกกายแยกใจตัวเอง การที่เราเรียนรู้แยกกายแยกใจ ทำให้จิตของเราสบายไม่ข้อง ไม่ไปวิตกกังวล จึงว่าเราต้องมาคิดถึงเรื่อง ความเกิด แก่เจ็บ ตาย ถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เลยเราก็คงไม่เป็นสุขพอเราคิดแล้วเรื่องราวต่างๆ มันก็ปล่อยวางได้ ดีใจเสียใจเราก็ปลงได้ เรื่องของการปฏิบัติมันก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากเรื่องพิจารณาตัวเอง ถ้าเรามาดูเรื่องอย่างนี้มันก็ไม่ยากอะไร ก็ไม่ใช่ของลำบากอะไร แล้วพอมาเห็นเรื่องของตัวเรา เราก็สงบมีความรู้มีปัญญาเกิดขึ้น ควบคุมใจตัวเองได้ก็เป็นของดีที่สุด


:b44: “สมาธิ” ทำให้คนฉลาด ทำให้คนรู้จักใจตัวเอง สมาธินี่เป็นการทำเบรค คนเราโดยมากใจไม่มีเบรค เพราะไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ไม่มีการควบคุมใจของตนเอง ก็กลายเป็นคนใจไม่ดี คอยมีเรื่องอยู่ทุกวัน เพราะขาดสติทุกวัน แต่ถ้าเราทำใจดีๆ แล้ว ก็ไม่มีเรื่องอะไรกับใคร มีแต่เรื่องดีให้เขาทั้งวัน พูดเมื่อไหร่ก็สบายใจเมื่อนั้น นั่นแหละเพราะใจดี


:b44: ถ้ามนุษย์ดิ้นรนเกินความจริงเป็นทุกข์ไหม ที่เราดิ้นรนทุกวันนี้มันเกินความจริงโยม เกินฐานะของมนุษย์ มนุษย์จึงเดือดร้อนเหมือนกับคนมีบ้านหลังหนึ่งที่พออยู่ แต่มนุษย์บอกว่ามันเล็กเกินไปกลัวจะอายเขา เพราะบ้านเล็ก บริษัทเล็กไปต้องให้ใหญ่กว่านี้ นี่เกินความจริงแล้ว ! แล้วก็ดิ้นรนไปกู้หนี้ยืมสิน โทรทัศน์เท่านี้บอกว่า จอมันเล็กไป เดี๋ยวเพื่อนมาเยี่ยมแล้วอายเขา ต้องให้มันจอใหญ่ๆ หน่อย เครื่องเสียงขนาดนี้เล็กไปมันไม่กระฮึ่ม ต้องเอาให้มันใหญ่ๆ เสื้อผ้าอย่างนี้ไม่พอ ต้องแต่งให้มากกว่านี้

ความจริงแล้วมนุษย์แค่พึ่งพาอาศัยตนเองนิดหน่อยๆ พอแล้ว แต่ทุกวันนี้เราอยู่ด้วยความหลอกกัน ต้องเอาอะไรมาปกปิดตกแต่งให้ทุกคนยอมรับเรา และมนุษย์ที่ยอมรับเราก็มนุษย์ที่หลงตัวทั้งนั้นเลย ที่ไม่รู้จักความจริงทั้งนั้นเลย ก็มายกย่องเราว่าถูกต้อง

คุณอยู่อย่างนี้ดีแล้ว คุณรวย คุณเก่ง แล้วเราก็ได้รับการยกย่องจากคนที่ไม่รู้ความจริงของมนุษย์ สังคมจึงถูกหลอกอยู่อย่างนี้กันทุกวัน เราก็ต้องดิ้นรนตามเขาใช่ไหม ? จึงเหนื่อยเหน็ด แต่ถ้าเราอยู่ด้วยความจริงแล้ว เมืองไทยเราจะอยู่อย่างสมถะ อยู่ได้อย่างไม่จนเลย

เหมือนอย่างที่ในหลวงท่านสอน เราเคยอยู่กันมาได้ เรามีอะไรก็แลกเปลี่ยนกันกิน มีน้อยก็ใช้น้อย มีมากก็ใช้มาก อยู่อย่างสมถะ อยู่อย่างนี้เราก็อยู่กันได้นี่ อยู่มาตั้งหลายร้อยปีแล้ว แต่ทำไมทุกวันนี้อยู่ไม่ได้ แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ด้วยพื้นฐานความจริง ฉะนั้นขอให้เราอยู่ด้วยความจริงแล้วเราจะสบายใจ


:b44: เราทำบุญ เราก็ต้องเข้าใจว่าทำแล้วคือสำเร็จ ทำแล้ว คือได้ผล ทำแล้วมีพยาน ทำแล้วมีหลักฐาน ทำแล้ว พิสูจน์ได้ เราทำเองเราก็เห็น เราจะเห็นเองว่า ทุกข์แค่ไหน เสียใจแค่ไหน ดีใจแค่ไหน โกรธแค่ไหน โลภแค่ไหน รักชังแค่ไหนไม่มีใครจะรู้ใจเรา เราจะต้องรู้จิตของเราเอง

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีตัวรู้ คือนาม ธรรม ให้มีตัวรู้คือสติ ให้มีตัวรู้คือสมาธิ ให้มีตัวรู้คือ ปัญญาให้ไปไตร่ตรองพิจารณาทุกข์สุขที่ใจของเรา เราจะได้เห็นตัวเราจะได้เข้าใจถ่องแท้ของแก่นธรรม ในตัวเรา รู้เรื่อง จิต เจตสิก รูป นิพพาน รู้ความเกิด ความดับของจิตว่าไม่มีอะไรทุกข์เกินจิต ไม่มีอะไรสุข เกินจิต เมื่อเรารู้จักจิตใจของเราแล้ว เราก็จะเข้าใจตัวเราเอง

พระโสดาบันจึงไม่สงสัยในศาสนาทุกศาสนา ไม่สงสัย ในบุญบาป ไม่สงสัยในกรรมเวร ไม่สงสัยในกรรมดี กรรมชั่วของตัวเองและของคนอื่น มีความมั่นใจในการสร้างแต่ความดี มั่นคงในการให้ทาน มั่นคงในการรักษาศีล มั่นคงในการเจริญภาวนา ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ท้อถอยไม่ตัดพ้อต่อว่าใครดีใครชั่วใครจะมาทำร้าย ร้าย ใครจะมานินทา ใครจะมาสรรเสริญ ใครจะมากลั่นแกล้ง ใครจะทำอย่างไรก็ไม่หวั่น เพราะเชื่อในการทำความดีของตนเอง มีความมั่นใจเหมือนเพชร ย่อมแข็งแกร่ง ย่อมเป็นหนึ่ง


:b44: เรามาแก้ใจตัวเองเถอะ พยายามหาศีลหาธรรมให้มากขึ้น ศีลธรรมจะทำให้ใจเราดี ให้ทานจนไม่มีความตระหนี่ รักษาศีลจนไม่กลัวแก่ ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย ทำสมาธิจนมั่นใจ ไม่ทิ้งศีลธรรม มีปัญญารอบรู้ ในกองสังขาร คือ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ แตกสลายอยู่ทุกเวลา ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เราไม่ทุกข์กับมัน พอรู้ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เท่านั้นแหละ คนคนนั้นฉลาดเลย ปลงตก ปล่อยวางเป็น อยู่ที่ไหนก็สบาย ขันธ์ ๕ มีทุกข์ทั้งนั้น เดี๋ยวคนนั้นป่วย เดี๋ยวคนนั้นเจ็บ เดี๋ยวคนนั้นเกิด เดี๋ยวคนนี้ตาย เดี๋ยวคนนั้นมีเรื่องอย่างนี้ คนนี้มีเรื่องอย่างนั้น

โอ ! ขันธ์ ๕ นี่ทุกข์วุ่นวายจริงๆ แบกทุกข์อยู่นั่นเอง มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันพลัดพรากก็เพราะขันธ์ ๕ นี่เอง จึงต้องเสียใจ ต้องร้องไห้ ต้องโลภ ต้องโกรธ ต้องหลง ก็เลยรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีทุกข์เพราะมีขันธ์ ๕ ก็ปล่อยวางเป็น ก็สบายเพราะมีปัญญา ใครจะทำอะไรก็ไม่ไปด่ากับใคร ไม่ไปทะเลาะกับใคร ปลงใจได้อุเบกขาได้ วางเฉยได้ ก็เป็นคนใจเย็น


:b44: คนเราที่ทะเลาะกัน ก็คือ แย่งความเป็นใหญ่ หรือแย่งความคิดที่ว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ตัวเองเป็นนาย ตัวเองสำคัญ คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าเขา แต่แท้ที่จริงแล้วคนเรามีธาตุธรรมเสมอกัน ไม่มีใครจะเกินเลยกันได้ มนุษย์เรานี้มีกินเท่ากัน นอนเท่ากัน ใช้ชีวิตไม่ต่างกัน บุญกุศลก็สามารถทำได้เท่ากัน ไม่มีใครจะวิเศษกว่ากัน


:b44: ทุกวันนี้เราก็ทุกข์มากอยู่แล้ว เดือดร้อนพอกันแล้ว อย่าไปหาสิ่งอื่นมาใส่ใจอีกเลย ต้องพยายามนะ พยายามทำให้เกิดปัญญา ให้เห็นค่าสมมุติว่าของอาศัยอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม ทำใจให้หลุดพ้น ทำใจให้ไปนิพพาน คือทำใจให้ดีนั่นเอง ทำใจไม่ให้เป็นคนพาล ทำใจไม่ให้เป็นคนโกรธ ไม่เกลียด ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ปองร้ายใคร ไม่มองใครในแง่ร้าย...สาธุ ! สาธุ ! อยู่เรื่อยๆ ดีๆๆ อยู่เรื่อย

เห็นใครทำดีเราก็ว่าดี เห็นใครทำไม่ดี เราก็เฉย เราทำดีแล้วดีเข้าตัวเราหมด ก็จะมีความสุข ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรก็ไม่ดีฟังก็ไม่ดี มันก็เข้าตัวเองหมด ร้อนเข้าตัวเองหมด

เห็นคนนั้นก็ไม่ดีเห็นคนนั้นก็ไม่ดีเห็นคนนี้ก็ไม่ดี ได้ยินได้ฟังก็เอาแต่เรื่องไม่ดีอย่างเดียว คนที่ได้ยินก็ร้อนใจ เราต้องเอาแต่สิ่งที่ดีใครทำอะไรก็กรรมของเขา เราทำกรรมดีก็กรรมของเรา

พอเราทำจิตใจได้ก็จะไม่มีทุกข์ เราต้องหาที่พึ่งให้ถูกต้อง อย่าไปหาที่พึ่งที่ผิดๆ

นั่งสมาธิก็ต้องการดับ ดับอะไร ? ดับความวุ่นวายใจ ดับความคิดมาก ดับความร้อนใจมาก ดับความมีปัญหามาก คนพูดมาก คนคิดมาก คนวุ่ยวายมาก มีตัวตนมาก คือ ตัวเรา เราคือตัววุ่นวาย

ต้องพยายามแก้ตัวเรา ไม่ให้วุ่นวาย คราวนี้บ้านช่องเรือนชานก็อยู่เป็นสุข กินก็สบาย นอนก็สบาย ตั้งแต่หยุดโกรธได้ ไม่มองใครในแง่ร้ายนี่สบาย ใครจะลำบากใจเราก็ไม่ลำบากใจ มันอยู่ที่ใจเราไม่เดือดร้อนนี่เอง


:b44: คนเราเมื่ออายุมากๆ เป็นบ้าหอบฟาง ตัวไม่หอบแต่ใจมันหอบ ไปทีไรก็แบกไปหมด อะไรต่อมิอะไรเก็บมาคิดมานึกหมด สะสมอยู่คนเดียวนั่นแหละ ใครไม่ทุกข์เราก็เก็บมาทุกข์คนเดียว บ้าหอบฟางมันไม่มีอะไร มีแต่ฟางที่หอบไป มันหลงนึกว่าเป็นสมบัติล้ำค่า แต่ที่แท้ก็แค่ฟางเท่านั้นเอง ไม่มีทำอย่างไรได้ ?...อะไรๆ ก็ของเรา ก็ต้องแก้ที่ใจซิ ! มันมีก็ทำใจเหมือนไม่มี ปล่อยวางให้เป็น มันก็เลยเย็นลง


:b44: ทุกข์เพราะอะไร...นอกจากไม่ทันอารมณ์ หลงปล่อยใจคิดมากจนดับไม่ได้ คิดอะไรดีหรือไม่ดีก็ปล่อยไปตามอารมณ์จนจบ พอจบก็เป็นทุกข์ คิดดีก็เฉย คิดไม่ดีก็เฉย ไม่ไปตามทั้งคิดดีและไม่ดี

หากทำใจเฉยไม่ได้ เมื่ออะไรเข้ามาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ พอยึดแล้ว หลงทำตามก็เป็นทุกข์ทั้งหมด เพราะมันไปคิดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา แต่ถ้าคิดแล้วมันเฉย กระทบแล้วมันปล่อย มันก็เบากายเบาใจ เพราะใจเสียไม่มี มีแต่ใจเฉย ใจเฉยน่ะใจดี


:b44: เพียงความคิดนึก...คิดถึงคนนั้นก็ “พุทโธ” คิดถึงคนนี้ก็ “พุทโธ” มันรู้เห็นเข้าๆ มีเกิดดับอย่างเดียว มันไปไหนไม่รอด เพราะสติ สมาธิมันมีมาก ปัญญามันก็รู้ทันหมด รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่มีอะไร

หลักปฏิบัติก็คือ ตามเฝ้าดู เฝ้าพิจารณากายกับใจ นามกับรูป รูปกับนาม ยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณะญาณ เห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอยู่ทุกขณะจิต ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา มันเป็นเพียงแค่ความคิดนึกเท่านั้น แต่ถ้าเราทำตาม...มันเป็นตัวตนใหญ่เลย มันแค่นึกแล้วก็หาย ไม่มีตัวตน คิดว่าจะไปเอาโน่นเอานี่ เราไม่ไปตามมันก็ดับ แต่ถ้าเราหลงไปตาม มันเอาเรื่องใหญ่ๆเข้ามาเลยนะ


:b44: มันวุ่นวายจริงๆ ได้เห็นได้ยินอะไร เป็นตัวเป็นตนเป็นเขาเป็นเราไปหมด ไม่ยอมแพ้ จะเอาชนะอย่างเดียว แต่พอมาปฏิบัติ มารู้จักหลักปฏิบัติของใจ อะไรก็มองเป็นธรรมดาไปหมด เกิดปล่อย เกิดละ เกิดวาง ไม่ค่อยชิงชังเคียดแค้น ไม่คิดที่จะเอาชนะเอาแพ้กับใคร ธรรมะมันค่อยๆ ปลดเปลื้องไปโดยไม่รู้ตัว จากนิสัยไม่ดีเลยกลายเป็นคนดี ใจที่ไม่เคยปลดเคยวาง ก็ปลดวางได้ เราจะเห็นบุญในชาตินี้...ใจก็ดีกว่าเดิม มันสงบ มันรู้เท่าทันอารมณ์มากกว่าเดิม


:b44: นั่งสมาธิไม่เป็นก็หัดนั่ง ลองมาดูใจตัวเองว่า วันหนึ่งๆมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ฝึกไม่ซ้อมจะไม่รู้เลย ว่าความสงบเป็นอย่างไร พอทำสมาธิเกิดขึ้น จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นของประเสริฐดีกว่าสิ่งอื่น ถึงแม้จะมีเงินทองก็ไม่ได้ให้ความสุขแก่ใจเรา แต่่ความสงบนี่ ให้ความสุขแก่ใจเราทุกเวลา


:b44: คนเราถ้าไม่มาปฏิบัติธรรม...มันมีปัญหาทุกคน เพราะใจมันคอยคิดในแง่ไม่ดีอยู่เรื่อย แง่ดีมันก็ไม่คิด ใครพูดไม่ดี มันเอาเชียวล่ะ ! ตอกกลับไปทันที อย่างน้อย...ขโมยโกรธเขาก่อนก็ยังดี ไม่แสดงความโกรธออกมา ขโมยโกรธก็เอา โกรธเขาข้างหลัง ถ้าทำใจได้ มันก็แยกความรู้สึกของตนเองให้อยู่ในฐานะของคนรักสงบ ชอบอยู่อย่างสบายใจ ไม่หาปัญหาให้ตัวเอง และไม่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น ทุกคนก็อยู่ในฐานะที่เหมาะสมกับตัวเอง คือ ต้องการความสงบ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน


:b44: สังคมสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้ทำให้คนฟุ้งซ่านมาก จะแก้ความฟุ้งซ่านด้วยการไปเห็น ไปดู ไปกิน ไปเต้น ไปรำ ไปเที่ยว มันแก้ไม่ได้หรอก กลับยิ่งทำให้วุ่นวายใหญ่ ยิ่งคิดมาก หัวใจยิ่งอ่อนแอมาก

เราต้องเลิกคิด แล้วหาที่พึ่งที่เกาะทางใจ ด้วยการมาภาวนา พอมาปฏิบัติเราจะเห็นทางแก้หัวใจอยู่ตรงนี้เอง จุดเดียวเท่านั้นเองเหมือนไฟหลายดวงมีสวิตซ์อันเดียว พอกดสวิตซ์อันเดียวดับมืดหรือสว่างหมด

ใจเราก็เช่นกัน ถ้าไม่สงบ...ใจมันก็มืด ปัญหาต่างๆ ก็ตามมากลุ้มรุมหัวใจ ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรมันว้าวุ่นไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ถ้าใจเราสงบก็สว่าง ปัญหาร้อยแปดก็ดับหมด


:b44: เกิดที่ไหนให้ดับที่นั้น...เรื่องอะไรที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเรา ก็ให้มันดับตรงนั้น ไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นแล้วเราพูดไปทั่ว นั่นมันไม่ดับตรงนั้น คนไหนทำไม่ดี เราก็ไปพูดกับทุกคนจนรู้หมด อย่างนี้ไม่ดี ถ้าเราเห็นอะไรไม่ดี ก็จบตรงนั้น ถ้าดีไม่เป็นไร คนไหนทำดีไปบอกคนโน้นคนนี้เราก็ดีใจ ถ้าหากเรื่องไม่ดี เราไปบอกคนโน้นคนนี้ เขาก็ไม่พอใจ

ไม่ดีนั้นเป็นบาป ดีนั้นเป็นบุญ คนที่จะมีความสุขได้ คนนั้นต้องมีบุญ บุญคือความดีใจ ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ปองร้าย ไม่มองใครในแง่ร้าย มองว่าเราคือเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราก็ทำใจให้เมตตาสงสารทุกคน ถ้าทำใจดีได้ มันก็เป็นสุขที่ใจ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2012, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: หลวงพ่อสอนว่า “ตายแบบกรรมฐาน”

ช่วงสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เดินทางไปที่พักสงฆ์เกาะปู่เทพ จังหวัดตาก เพื่อไปคารวะศพของท่านอาจารย์สัมพันธ์ อดีตพระอุปัฎฐากองค์สำคัญองค์หนึ่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก หลวงพ่อท่านเคยกล่าวไว้นานแล้วว่า ท่านสัมพันธ์เป็นคนกตัญญู

สภาพศพเป็นรอยฟกช้ำดำเขียว พระคุณเจ้าท่านเล่าว่า ก่อนจะมรณภาพอาจารย์สัมพันธ์ได้เข้าห้องกรรมฐาน และปิดห้องห้ามใครเข้าไปรบกวนโดยเด็ดขาด จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปดู เวลาผ่านไป ๖-๗ วัน จึงเปิดประตูเข้าไปพบว่า ท่านมรณภาพแล้ว ท่านรู้วาระมาก่อนว่าจะสิ้นแล้ว

หลวงพ่อได้สนทนากับคณะสงฆ์ที่วัดโดยเล่าว่า “ตอนไปอยู่ถ้ำแกลบ มีหลวงปู่สังวาลย์, หลวงปู่สงฆ์, หลวงปู่มาลัย มีนักกรรมฐานมากมายพวกหนึ่งเขาเรียกว่า เซียน พอรู้ว่าจะตาย เขาก็ก่อเจดีย์เอาไว้ก่อน เมื่อเวลาจะตายก็เข้าไปนั่งสมาธิข้างใน ครั้นตายแล้วก็ให้คนปิดปากทางเข้าเลย ท่านสัมพันธ์ท่านก็สิ้นแบบนักกรรมฐาน เป็นตัวอย่างให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา”

“จะมีสักกี่คนที่ตายแบบนักกรรมฐาน...”


:b42: ปัญญาทำให้รู้จักตัวเองขึ้นมาได้มาก คนเราต้องทุกข์อีกเยอะ ทุกข์กับความเกิด ทุกข์กับความแก่ ทุกข์กับความเจ็บอีก แล้วยังต้องไปทุกข์กับความตายอีก เขาตายก็ดี เราตายก็ดี

ถ้าทำใจไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ทุกคน การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายจึงเป็นทุกข์อย่างมาก ใครก็หลีกเลี่ยงธรรมอันนี้ไม่พ้น ถ้าไม่ตายตอนหนุ่มตอนสาวก็ต้องตายตอนแก่ ก็ต้องทุกข์เหมือนกัน เพราะเราหนีไม่พ้น ต้องผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว เรี่ยวแรงไม่มี เดินก็เหนื่อย นั่งก็เหนื่อย นอนก็เหนื่อย เดินก็เจ็บ นั่งก็เจ็บ นอนก็เจ็บ ทุกข์กับความแก่นี่ไม่ใช่ทุกข์วันเดียว ทุกข์เป็นปีๆ ทุกข์หลายๆ ปี

บางคนมีโรคประจำกาย ตายก็ไม่ตาย ทรมานต่อสังขารร่างกาย ทรมานจิตใจตลอดวันตลอดคืน ไม่มีใครเห็นทุกข์แบบนี้ เพราะคนเรามันหลง ไม่ยอมรับความจริง ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ขันธ์ ๕ จะต้องมีทุกข์อย่างนี้ เราก็จะสบายใจสามารถปลงได้


:b42: สมบัติในโลกนี้ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เงินสักบาทหนึ่งสักสลึงหนึ่งก็เอาไปไม่ได้ เอาใส่ปากก็ยังเอาไปไม่ได้ เว้นแต่บุญกุศลเพียงข้าวทัพพีหนึ่ง หรือสมาธิชั่วครู่หนึ่ง กลับมีอานิสงส์ไปยังชาติหน้าได้


:b42: คนเรามันโง่ก็ไปคิดผิดๆ เขาไม่รักเรายิ่งทุกข์ใหญ่ เขาไม่รักเราสิสบายใจ เราไม่ต้องไปปรนนิบัติเอาอกเอาใจเขาแล้ว เราช่วยตัวเองดีกว่า เข้าหาธรรมะมาบวชมาเรียนมาปฏิบัติเสียดีกว่า ตายแล้วยังได้ไปสวรรค์บ้าง อ้ายนั่นตายแล้วก็ไปนรก เพราะรักเขาไม่มีปัญญา ตัวเขากลับไปนั่งยิ้มคนเดียว ส่วนเราก็เป็นทาสของความรักไป ช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย เขาเรียกว่าเป็นทุกข์เพราะความรัก


:b42: ถ้าคนเราเข้านิพพานเสียได้ก็หมายถึงสุข แต่เพราะความวุ่นวายที่ทุกคนมีอยู่ยังดับไม่ลง เดี๋ยวเรื่องนั้นเข้ามาแทรกเดี๋ยวเรื่องนี้เข้ามาซ้อน เรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องบ้าน เรื่องเรียน เรื่องรักเรื่องใคร่ เรื่องโลภโกรธหลง มีอยู่ในหัวใจทุกคน คนก็พยายามจะแสวงหาความอยากได้มากๆ แสวงหาความรักมากๆ ไปขอความรักเขา ให้เขารักมากๆ รักน้อยๆ ก็ไม่เอา ล้วนแต่จะเพิ่มให้มันมากขึ้น ที่จริงมันเพิ่มทุกข์ทั้งนั้น


:b42: โดยมากคนเรามักมีอคิต คนนี้พวกเราก็เข้าข้าง ทำดีเราก็สรรเสริญ แม้ทำไม่ดีเราก็ยังกลับยกย่อง คนไหนที่ไม่ใช่พวกเราทำดีอย่างไรเราก็อิจฉา ไม่ชอบไม่พอใจ เพราะไม่ใช่พวกเรา ยิ่งถ้าทำไม่ดีแล้วเราก็ไม่ยอมให้อภัย นั่นมันไม่ดีสำหรับใจเรา ไม่ใช่ดีชั่วอยู่ที่ตัวเขา แต่ดีชั่วมันอยู่ที่ใจเราเสียแล้ว เพราะเราคิดไม่ดีกับคนอื่น


:b42: “แม่สอนว่า”...พระเดชพระคุณหลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ ท่านจะเน้นการเทศน์และสั่งสอนเรื่องของความกตัญญูอยู่เสมอ ซึ่งท่านมักจะพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “ไม่มีใครรักเราเท่ากับแม่อีกแล้ว”

ครั้งหนึ่งที่ห้องรับรอง สถานีโทรทัศน์พุทธภูมิ หลวงพ่อสนองท่านได้เล่าให้โยมฟังเกี่ยวกับเรื่องสมัยก่อนที่ท่านจะบวชเป็นพระว่า ท่านเป็นคนไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน มีเพื่อนมากและชอบเที่ยวไปเรื่อยๆ ซึ่งแม่ของท่านก็จะเป็นห่วงมาก ด้วยความที่แม่ของหลวงพ่อท่านไม่อยากให้ลูกชายมีครอบครัว แม่ของหลวงพ่อจะสอนในทำนองโน้มน้าวให้ลูกชายทุกคนบวชอยู่เสมอๆ ว่า “ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่เขาจริงใจกับเราหรอก...”

และก็สอนต่างๆ นานา เพื่อให้ลูกชายของท่านละทางโลก จนในที่สุดหลวงพ่อสนองก็ได้มาบวช แล้วมาเข้าห้องกรรมฐานที่ป่าช้าวัดหนองไผ่ จ.สุพรรณบุรี โยมแม่ก็ตามมาส่งอาหารทุกวัน ไปอยู่วัดเขาถ้ำหมี จ.สุพรรณบุรี โยมแม่ก็ตามไปอยู่ด้วย ไปอยู่ถ้ำกะเปาะ จ.ชุมพร แสนที่จะลำบาก โยมแม่ก็ตามไป จนสุดท้ายโยมแม่หรือแม่ชีแม้นก็มาตามมาอยู่และดับสังขารที่วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี นั่นเอง

หลวงพ่อพูดในตอนท้ายว่า “ความรักของแม่ที่มีให้กับท่านนั้น เป็นความรักที่มากมาย และบริสุทธิ์เกินที่จะเปรียบได้” ซึ่งถ้าใครได้ฟังหลวงพ่อเล่าเรื่องโยมแม่ที่รักลูกนั้นคงจะยาวนานมาก เพราะตัวหลวงพ่อเองนั้น “ท่านก็ไม่เคยลืมพระคุณที่โยมแม่มีให้กับท่านมาตลอดตราบชั่วชีวิตนี้ และตลอดไป”


:b42: คนที่กายดี ตาดี หูดี แต่พิการทางใจฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ไม่อยากเข้าวัด กลับไปเข้าแหล่งมั่วสุมแหล่งการพนัน หูก็ฟังแต่เรื่องไม่ดี ใครทำกูกูพยาบาท ใครทำกูกูพยายามเอาชนะ ใจไม่เคยสบายมีแต่ตัวตน มีแต่เราเขา คิดแต่จะหากินให้สนุกสบาย ไม่เคยคิดปลงว่าเราจะต้องแก่ต้องตาย

คนพวกนี้ใจพิการ ก็เหมือนพิการทั้งหมด ปิดหู ปิดตา ไม่รับแสงสว่าง คนที่ไม่สนใจธรรมะนั้นน่าสงสารทุกคน เวลามีทุกข์จิตใจ ก็จะวุ่นวาย ถึงเจ็บก็รักษายาก เพราะใจเจ็บใจป่วย คือเจ็บปวดทรมานเมื่อตนไม่สมหวัง จิตใจมีแต่ความรู้สึกว่าชีวิตนี้ทุกข์ทรมานปลงไม่ตก มีบ้านใหญ่โตก็อาศัยแค่หลับนอน มีเสื้อผ้าหรูก็แค่สวมใส่ธรรมดาพอตายแล้วก็ไม่เหลืออะไร ที่เอาไปได้ก็คือใจ

เราควรแสวงหาชีวิตให้สุขสงบ ทำใจไม่เป็นทาส ถ้าเราอยู่ใต้มันมันก็จะทับเราจม แต่ถ้ามีปัญญาทำบุญทุกวันก็ทำใจได้ เพราะต้องเตรียมตัว เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก เกิดได้ก็ดับได้ ทำให้จิตใจมีที่พึ่งทางใจไว้


:b42: พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเกิดเป็นทุกข์” ทุกข์ของการเกิดนั้นเป็นทุกข์จริง แต่เราไม่รู้ เราไม่เห็น เพราะตอนที่เราเกิดเรายังไม่มีสติ ยังไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นทุกข์อย่างไร จึงไม่รู้ว่าทุกข์มันอยู่ที่ไหน ทุกคนเลยยังอยากเกิดอยู่ ถ้าเรามาเรียนรู้ธรรมะ ก็จะรู้ว่าทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นทุกข์ของจิต ทุกข์ของจิตนี่มากกว่าอะไรทั้งหมด ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก ทุกข์ที่ดับความอยากไม่ลง ความอยากที่ทำบ่อยๆ ทำจนเป็นนิสัยเป็นปัจจัย ทำจนเป็นทุกข์มากขึ้นทุกวันๆ ทำจนไม่สามารถจะละทุกข์นั้นได้


:b42: คนเราถ้าไม่มีสมาธิ จิตมันจะหยาบจะคิดมาก มันจะไม่หยุดคิด พอเรามีสมาธิขึ้นมา ทีนี้จิตเราว่างได้สักครั้งหนึ่งจิตเราจะละเอียด คราวหลังจะทันอารมณ์ว่านี่โกรธและนั่นไม่โกรธ สงบไม่สงบก็จะค่อยๆ รู้ขึ้นมาทีละน้อย นั่นแหละการทำบุญมหาศาล


:b42: ความสวยงามต่างๆ บนโลกนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากมุมมองของแต่ละบุคคลที่ได้เห็น ได้สัมผัส จนเกิดความนึกคิดปรุงแต่งเป็นความงดงามขึ้น แต่น่าเสียดาย...ที่เรามัวหลงเพลินอยู่กับความงามภายนอกเหล่านั้น จนลืมย้อนกลับมามองใจเรา การรู้ไม่เท่าทันจึงเกิดขึ้น ความทุกข์ก็ตามมา เพราะเราไม่อาจหยุดยั้งความนึกคิดของเราได้


:b42: ธรรมะนี่แก้ตัวเองได้ทั้งหมด รู้ว่าเราเป็นคนใจไม่ซื่อ เราจะคบกับใครก็ไม่นาน จะรักใครก็ไม่จริง รักหลอกๆ ไม่จริงใจกับใคร เรารู้เลยว่าใจอย่างงี้ หาความสุขไม่ได้ หาเพื่อนตายไม่ได้ หาความสงบไม่ได้แน่นอน เพราะใจเราไม่ซื่อ อะไรทำให้ไม่ซื่อ ? เพราะความเห็นแก่ตัว คิดจะเอาเปรียบคนอื่น

เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว เราก็พยายามฝึกใจเราให้เสียสละ ใครมีทุกข์เราก็ให้เขามีสุข เขาทุกข์ใจก็ปลอบใจ เขาดีใจแล้วก็ไม่ทำลายน้ำใจเขาให้เสียใจ เป็นผู้เสียสละทั้งกายวาจาใจ ต่อไปก็จะแก้นิสัยตัวเอง ให้กลายเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนมีเมตตา เป็นที่รักของทุกคนเลย ถึงรูปของเราไม่งามแต่ใจเรางาม คนก็รักน้ำใจเรา


:b42: ทำสมาธิยากที่สุดในชีวิต หาเงินเป็นร้อยเป็นล้านพันล้านก็หาได้ คนโง่ๆ ก็หาได้ แต่หาคนทำสมาธิสิยากมากเลย จะทำให้ไปสวรรค์ไปนิพพานนั้นยากที่สุดในโลก มีลาภมียศสิมีง่าย แต่ทำสมาธิสิยาก...แค่มาตามความคิดตัวเองให้ทัน แค่โกรธแล้วเราจะทำให้หายโกรธยังทำยากเลย ความคิดเราน่ะลึกซึ้ง เรามองตัวเองไม่ออก แล้วเราจะไปมองใจใครออก


:b42: การที่เธอตั้งมั่น เธอตั้งในความเพียร สละบาปอกุศลทั้งปวง ไม่ติดค้างในใจ บริสุทธิ์ผ่องใสเธอจะเข้าใจถึงสวรรค์และนิพพาน โลกทุกวันนี้มันไม่มีแก่นสารอะไรเลย มีแต่ความไม่แน่นอน ดังนั้น ไม่มีใครทำตามใจคิดได้เลยทุกอย่าง ไม่สามารถเนรมิตให้ได้ดังใจหวัง


:b42: ความเมตตาที่ให้แต่ธรรมที่อภัยตนเองเท่าไร ก็เมตตาคนอื่นเท่านั้น รักตนเองเท่าไรก็รักคนอื่นเท่านั้น สงสารตนเองเท่าไรก็สงสารคนอื่นเท่านั้น กรุณาคิดจะช่วยตนเองให้พ้นจากความลำบากเท่าใด ก็คิดจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากความลำบากเท่านั้น มุฑิตาพลอยดีใจกับความสำเร็จของตนเองเท่าไร ก็พลอยดีใจกับความสำเร็จของผู้อื่นเท่านั้น อุเบกขาทำใจวางเฉยต่อดีชั่วของตนเองเท่าไหร่ ก็วางใจตัวเรื่องดีชั่วของคนอื่น ไม่แสดงความดีใจและเสียใจต่อเรื่องตนเองอย่างไรก็แสดงกับคนอื่นเช่นนั้น


:b42: ดีก็ที่ปาก ชั่วก็ที่ปาก จนก็ที่ปาก รวยก็ที่ปาก ก็ต้องหัดพูดดี ดี ก็ไม่ใช่ดีเฉพาะเวลาเราพูดนะ มันต้องดีตลอดทุกเวลา


:b42: เราจำเป็นต้องเรียนเรื่องจิต เพราะว่าทุกข์เกิดที่จิต สุขก็เกิดที่จิต ถ้าเราอยากจะได้ความสุข เราจะไปหาตรงไหน ? ความสุขไม่ได้อยู่ที่กินอิ่ม นอนหลับ ได้ลาภ ได้ยศ แต่ถ้าเรียนเรื่องจิต จนจิตของเรานั้นสงบแล้ว วางแล้ว เฉยแล้ว ตามรู้ทันแล้ว จิตนั้นเป็นดวงเดียวได้ เมื่อไร จิตว่างได้เมื่อไร เมื่อนั้นเราก็พบแก่นธรรม เราก็พบความสุขที่ใจเรา เราไม่ต้องวิ่งไปหาอะไรอีกแล้ว


:b42: ที่เรามีทุกข์ทุกวันนี้ เพราะเราไม่เดินตามพระพุทธเจ้า นี่ถ้าเดินตามทางพระพุทธเจ้า ไม่มีใครบ่นเลยว่าทุกข์ จะไม่มีใครท้อถอยต่อชีวิตเลย จะไม่มีใครอ่อนแอเลย จะไม่มีใครโทษเลยว่าโลกนี้ทำให้เราเป็นทุกข์ จะไม่โทษพ่อ โทษแม่ โทษผัว โทษเมีย โทษสังคม เราจะรู้เลยว่า จะสุขจะทุกข์ เพราะใจเรา เพราะกรรมของเราที่เราทำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ที่เราคนเดียว พวกเราเป็นชาวพุทธต้องเข้าใจเรื่องนี้ ดังนั้น ถ้ามนุษย์อยากให้โลกนี้มีความเจริญ ก็ต้องสร้างกรรมดีขึ้นมา ทำกายวาจาใจตัวเองให้สงบก่อน แล้วความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับสังคมของเรา อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยหนีเราไปเลยนะ


:b42: การเรียนสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนและที่พระพุทธเจ้าทำ ก็คือ เรียนเรื่องจิต เรื่องวิญญาณที่จุติที่เกิดเป็นดีเป็นชั่ว เป็นบุญเป็นบาป รู้ว่าวิญญาณมี ๖ ทาง ๖ ช่อง เป็นตัวกลไกที่ทำคนให้หลง เช่น ตาเห็นรูป ตามีอย่างเดียวมันไม่รู้จักอะไรหรอก พอตาเห็นรูปปุ๊ป เห็นนี่เป็นวิญญาณ มันก็ส่งรูปนั้นเข้าไปถึงจักขุวิญญาณผ่านทางสมอง สมองก็เป็นเครื่องกลไกพอผ่านทางสมอง ภาพนั้นก็เข้าไปถึงจิตและก็เข้าไปปรุงแต่งว่า สีเขียว สีขาว สีแดง สวย ไม่สวย จิตสังขารตัวนั้นก็มีเจตสิกอีกหลายดวง

ถ้าตัวโลภมันก็ปรุง ตัวโกรธ ตัวหลง ตัวรักชัง มันก็ปรุงอันนั้นไม่ใช่ตาปรุงแต่งนะ วิญญาณเป็นตัวสื่อส่งไปสู่กระแสจิต จิตเจตสิกเป็นตัวปรุงว่าดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ รัก-ชัง แต่ที่จริงอยู่แค่ตานี่ไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าพระอรหันต์อยู่แค่ตา เห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อหูได้ยินเสียง จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายรู้สิ่งถูกต้องกาย ใจรู้เรื่องในใจ


:b42: พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นทุกข์ ทำทุกรกิริยามากกว่าคนอื่น ท่านทำถึง ๖ ปี พอท่านเห็นทุกข์ ท่านบอกว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นพ้นทุกข์ ธรรมนี้อยู่ที่ทุกข์

แต่ทุกวันนี้ทุกคนกำลังวิ่งหนีทุกข์ ทุกคนแสวงหาแต่ความสุข ที่จริงแล้วทุกคนต้องวิ่งกลับไปหาทุกข์คือต้องไปหาปัญญา ถ้าใครดูจิตตัวเองได้จนเห็นความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา เห็นตัวตน เห็นจิต ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2012, 14:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มิ.ย. 2012, 15:53
โพสต์: 410


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณบทความดีๆๆค่ะ อ่านแล้วเข้าใจง่าย และสงบ สบายใจ สาธุเจ้าค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2012, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b47: พระพุทธเจ้าพอถึงเวลาดับแล้วไม่มีอะไรเหลือเลยเรียกว่า “นิพพาน” แต่ทุกวันนี้ที่เราเป็นทุกข์ เพราะมีอะไรติดค้างอยู่ในใจเยอะแยะเลย เราคิดห่วงเรื่องคนโน้นคิดห่วงคนนี้ เป็นภาระผูกพันไม่จบ

เราคิดไปข้างหน้าท่าเดียว เราต้องศึกษาจิตให้เกิดปัญญา ถ้าทุกข์มากยิ่งฉลาดมาก คนไหนสบายมากคนนั้นก็โง่มาก ทุกข์ทำให้เกิดปัญญา...ข้อสอบที่ยากดีกว่า ข้อสอบง่าย ถ้าสอบผ่านก็แสดงว่าเรามีความรู้มีปัญญาเข้มแข็ง


:b47: พระพุทธเจ้าสอนสาวกทั้งหลายก็สอนให้ “ดูตัวเอง” บางคนศึกษาไปทั่วหมดเลย ศึกษาศาสนาโน้นศาสนานี้ ศึกษาแทบล้มแทบตายไม่เคยรู้จักตัวเอง พระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้ดูตัวเอง “เอ...ดูตัวเองนี่ง่าย”

บางคนน้อมเข้ามาเห็นตัวเองเลยว่า ตัวเองนั่งอย่างไร เดินอย่างไร กินอย่างไร คิดนึกอย่างไร เห็นตัวเองนั่นบรรลุเลย เหมือนอย่างที่พวกเรานั่งกรรมฐานนี่ พอเราเห็นหน้าตัวเองก็สงบทันที

เราเห็นลมหายใจก็สบายทันที พระพุทธเจ้าจึงบอกให้ดูตัวเองนี่ง่าย ดูผม ดูขน ดูเล็บ ดูฟัน ดูหนัง กรรมฐานคือการดูนั่นเอง ไม่ใช่หลับหูหลับตาไม่ดูอะไร หลับตาแต่ดู...ดูทางใน


:b47: ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เราจะไม่รู้เลยว่าใจเราเป็นอย่างไร เมื่อเรารู้ใจของเราแล้ว เราก็น้อมไปพิจารณาคนอื่นได้ว่า เขาก็คงคิดเหมือนเรา มีความนึกคิดทุกอย่างทั้งเรื่องเก่า เรื่องใหม่ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งอดีตอนาคต...แต่ถ้าเราไม่ภาวนา เราจะไม่รู้เลยว่าความคิดมี นึกว่าเราไม่ได้คิดอะไรมากมาย การที่ฝึกจิตตัวเองก็เพื่อให้รู้สิ่งอันนี้ เป็นการสร้างสติ สร้างสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้น ถ้าหาไม่แล้ว บางคนก็หลง คนที่หลงนั้นไม่รู้จักอารมณ์จิตตัวเองเลย ไม่รู้เลยว่าคิดอะไร ดีใจ เสียใจ คิดถึงใคร เป็นห่วงใครก็ไม่รู้ แล้วมันก็ไปตามความคิด จนกลายเป็นคนหลง ทำให้เกิดอารมณ์เร่าร้อนขัดเคืองฟุ้งซ่าน โกรธไม่รู้ตัว โลภไม่รู้ตัว เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จึงว่าไม่รู้ทันใจตนเอง เพราะขาดสมาธิ ขาดสติ


:b47: สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้ทั้งๆ ที่มันไม่สงบ ถ้ารู้ว่ามันไม่สงบนั่นแหละคือตัวสงบ คนที่สงบก็ไม่รู้ ไม่สงบก็ไม่รู้ นั่นเรียกว่ารู้ไม่ทัน


:b47: ทำความดีต้องไม่ท้อถอย ใครไม่ทำเราก็ทำของเรา


:b47: ถ้าเราไม่ฝึกใจเลย เราจะเป็นคนเร่าร้อนอยู่เรื่อย แล้วเราจะใช้ใจที่เร่าร้อนนี่หรือ ? ไปไหนก็ใจร้อน นั่งก็ใจร้อน นอนก็ใจร้อน กินก็ใจร้อน คิดนึกก็ใจร้อน แล้วเราพอใจหรือที่่เราเป็นคนร้อนอยู่ตลอดเวลา ? พอแล้วหรือที่เราจะไปใช้กับโลก ? อยู่วัดก็ร้อน อยู่โลกแล้วยิ่งร้อนใหญ่ แล้วเมื่อไหร่เราจะมีความสุข ? เราก็คงไม่พบความสุขแน่เพราะใจเราร้อน เราก็ต้องยอมเสียเวลา ต้องสละเวลา พยายามภาวนาของเราไว้ “พุทโธ” ไว้ พุทโธๆๆๆ จนใจเย็น จนใจไม่โกรธ จนใจไม่โลภ ไม่หลง จนใจสบาย...แล้วนั้นแหละ เราจึงเอาใจดวงนี้ไปใช้ได้ เพราะมันเย็นพอแล้ว เหมือนกับน้ำนี่แหละ เขาจะเอาน้ำเย็น น้ำประปาในก๊อก นี่มันไม่เย็นพอ พอจะให้เย็นเขาก็เอาไปเข้าห้องเย็นทำเป็นน้ำเย็น เป็นน้ำแข็งก็ได้ ใจเราก็เหมือนกัน ใจร้อนๆ นี่เอาไปปั่นให้ใจเย็นได้ “พุทโธ” นี่เป็นเครื่องทำความเย็น พุทโธๆๆ จนใจเย็น น้ำนี่เอามาทำ ให้ร้อน ใจเย็นได้ ก็น้ำอันเดียวกันนั่นแหละ


:b47: “วิธีสงบใจ” นั่งทำใจสบาย...สงบสักพักหนึ่ง นั่งเท้าขวาวางบนเท้าซ้าย มือขวาวางบนเท้าซ้าย หัวแม่โป้งมือชนกัน ตั้งกายตรงๆ หลับตาก็ได้ ลืมตาก็ได้ ทำใจให้สบาย...สูดลมเข้าลมออกสัก ๓-๔ ครั้ง แล้วก็ปล่อยลมธรรมดา...จับความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจของเรา ลมหายใจเข้าเราก็รู้ ลมหายใจออกเราก็รู้...ทำความรู้สึกไว้ที่สองช่องจมูกของเรา

ทำสติจำใบหน้า จำจมูกของเรา รูปร่าง หน้าตา นุ่งห่มผ้าสีใด ใส่เสื้อสีใด ระลึกรู้รูปนั่งของเรา รู้จักตัวเอง พิจารณากายนั่งสงบ พิจาณาใจ พยายามระลึกรู้ สงบกายสงบได้ ใจก็พยายามสงบตาม

ทำความรู้ไว้ที่ตัวเราว่านั่งอย่างไรหายใจอย่างไร ให้ทำสติระลึกรู้รูปกายของเรา มีอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อตัวของเราเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาเนื้อตัวของเรา มีผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ฟันก็ดี หนังก็ดี ซึ่งเป็นเรื่องทำใจของเราให้อยู่กับเนื้อกับตัว แล้วจิตจะได้ปล่อยวางความกังวล ความเป็นทุกข์ใจได้


:b47: ใครล่ะ คนไหนที่บอกตัวเองไม่มีบาป ? มีบาปทุกคน พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ไม่มีบาป นั่นแหละควรประกาศตัวเองว่าบริสุทธิ์ แต่ท่านก็ไม่ได้ยุใครให้เลิกทำบุญ ท่านก็ให้เราทุกคนนี่ละบาป บำเพ็ญบุญ แต่ทีนี้พวกเรายังไม่ทันไรเลย พอเรียนได้แค่สำเร็จทางโลก คิดว่าตัวเองมีความรู้มาก ก็ประกาศตัวว่าฉันมีบุญแล้ว ไม่ต้องเข้าวัดเข้าวา ไม่ต้องทำบุญ ฉันไม่เบียดเบียนใคร ฉันไม่ต้องทำบุญ แต่ฉันก็ไม่ทำบาป คนเรามาเอาปรัชญาอย่างนี้กันเยอะมาก ประกาศตัวว่าเป็นคนมีบุญ แต่ที่จริงมันเป็นความหลง หลงตัวเองว่าตัวเองดี หลงตัวเองว่าเป็นคนประเสริฐ

แต่พวกนี้นะพอเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย อาตมาไปเจอแล้ว เขาบอกว่าไม่มีที่พึ่งเลย ขนาดเป็นดอกเตอร์นะ จบจากเมืองนอกมา เป็นถึงศาสตราจารย์ เขาบอกว่าเขากลัวมากเลย ตอนที่เขาเป็นมะเร็งนะ เขากลัวมาก กลัวทุกอย่าง จิตใจเขาไม่มีที่พึ่งเลย เขาเกิดมาไม่เคยกลัวอย่างนี้เลย ที่อยู่ในตัวเขานี่เป็นพิษภัยหมดเลย

เราจึงรู้ว่าเขาไม่ได้เก่งจริงเลย อย่างที่เขาประกาศตัวว่าเขารู้แล้ว เขาทุกข์จริงๆ ผลที่สุดนี่ต้องเอาเทปสวดมนต์-ภาวนาไปให้ฟัง ความกลัวจึงเบาขึ้นหน่อย แต่ก็ยังไม่หายกลัว ที่เขาเรียนรู้ระดับดอกเตอร์นี่ เขาพึ่งอะไรตัวเองไม่ได้เลยนะ เขามีทุกสิ่งทุกอย่างแต่เขากลับกลัว หมดเลยนะ มีเงินก็กลัว มีครอบครัว มีอะไรๆ ก็กลัวหมดเลย กลัวว่าจะต้องพรากจากสิ่งนี้ไป มีตัวเองก็กลัวตัวเองอีก เพราะตัวเองเจ็บมาก พอนึกถึงตัวเองเมื่อไรก็กลัวตัวเอง เพราะมีโรคร้ายมากเลย จะหนีตัวเองก็หนีไม่พ้น จะอยู่ก็อยู่ไม่ได้ กลายเป็นว่าตัวเองที่ฆ่าตัวเอง ตัวเองที่ทรมานตัวเอง ไม่มีอะไรจะทุกข์เท่ากับตัวเองเลย ทีนี้โอ้โอ ! ไปไหนได้ล่ะ ความรู้ก็ช่วยไม่ได้ เงินก็ช่วยไม่ได้

นั่นแหละคนเราที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีทุกข์มากก็ตรงนี้เอง ที่ไม่มีที่พึ่งทางใจ ตัวเองก็น่ากลัวอีก เจ็บอีก ปวดอีก ทรมานอีก เงินก็น่ากลัวอีก เราใช้ไม่ได้อีกแล้ว นึกจะกินก็กินไม่ได้อีก น่ากลัวหมดทุกอย่าง พอนึกถึงอะไรแล้วมันผิดหวังหมดเลย มีอย่างเดียวคือความตาย ตายยิ่งน่ากลัวใหญ่ แต่ก็ต้องตายอีก ผลที่่สุดแกก็ต้องตาย ตายด้วยความกลัว พระพุทธเจ้าท่านรู้นะว่าเราหนีความจริงไม่พ้น ใครเก่งอย่างไรก็หนีไม่พ้น ไม่ต้องไปประกาศตัวว่าฉันไม่ต้องทำอะไร ต้องทำนะ ต้องสร้างบารมี ต้องสวดมนต์ ต้องภาวนา ต้องเจริญสติให้มาก ทำปัญญาให้มาก ทำสมาธิให้มาก เวลามีทุกข์จะได้มีกำลังใจกำจัดทุกข์ได้


:b47: เป็นไงบุญหนักไหม นั่งขยับไปขยับมา บุญนี่เอายากจังนะ แหม ! กว่าจะได้บุญเต็มที่ นั่งแทบตายเลย ไม่เหมือนทำบาปเลยนะ นี่ถ้าให้ไปดิสโก้สักชั่วโมงก็ยังดิ้นได้เลยนะ ได้ใช่ไหม ? ไม่บอกก็ยังไม่เลิก ให้ไปดิ้นสักชั่วโมงบอก แหม ! เวลาน้อย ให้ดิ้นต่อไปเถอะ แต่ถ้าให้นั่งเฉยๆ นี่ แหม ! ทรมานจัง ๑๕ นาที แทบตายเลย สวรรค์ไปยากตรงนี้เอง นรกไปง่าย ทำใจดีนะทำยาก ทำใจไม่ดีนะทำง่าย ให้นั่งสงบๆ นี่เราทำไม่ได้ ให้นั่งไม่สงบนี่นั่งได้ตลอดเวลา นั่งขยุกขยิกๆ นี่นั่งได้ ฝึกดีนี่มันยากนะ กว่าจะได้สักครั้งนี่ เรามาฝึกนะ เราก็ต้องอดทน อุบายที่ดีก็คือว่าทำอย่างไรเราจะนั่งให้นานๆ จะให้สงบได้ เป็นกำไรของเรา


:b47: คนทุกวันนี้นะ คิดมากทุกคนเลยนะ คิดมาก ฟุ้งซ่านมาก ทะเลาะกันมาก โกรธกันมาก อิจฉากันมาก ริษยากันมาก โกงกินกันมาก มีแต่มากขึ้นทุกวัน เพราะใครๆ ก็ไม่อยากได้น้อยใช่ไหม ? อยากจะรวยก็อยากจะรวยมากๆ อยากจะสวยก็ให้สวยเกินคนอย่างนี้ เพราะคนอยากได้มาก ก็ไปแข่งกันไปแย่งกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะไปเจอคนที่ร้ายๆ ทั้งนั้น คนที่อยากจะได้มากพอๆ กับเราก็เลยคิดมาก กลัวจะไม่ได้สมใจ เพราะทุกคนต่างแย่งแข่งดีกัน เพราะใครๆ ก็อยากจะได้อะไรมากๆ เท่าๆ กัน เราก็ต้องไปทำใจเผื่อเราไม่ได้ หรือต้องทำกำลังใจเผื่อเรามีบุญจะไปได้สิ่งนั้น มันได้ทั้งดีและไม่ดี ที่เราจะต้องทำใจเราเผื่อไปเจอสิ่งนั้น

ทีนี้ถ้าเราทำไปๆ แล้วพลังใจนี้ก็จะไปเจอสิ่งที่ดีงาม เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ดีงามก็วางใจได้ว่าเราเตรียมใจไว้พร้อมแล้ว คนไหนยังไม่พอต้องสะสม ต้องสร้างบารมี ทำวันเดียวไม่พอหรอก กินข้าวคำเดียวไม่พออิ่ม ต้องกินข้าวหลายๆ คำ ทำบุญวันเดียวไม่อิ่มใจหรอก ต้องพยายามทำหลายๆ วันจนอิ่มใจแล้วจึงใช้ได้


:b47: ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น คุ้มครองตัวเราอยู่ตลอดเวลา ขอให้รู้จักนำไปใช้ก็แล้วกัน จะได้เกิดประโยชน์กับชีวิตอย่างมาก เช่น เราระลึกคำว่า “พุทโธ” อย่างนี้่ เมื่อก่อนเราระลึกไม่ได้ ต่อมาเราระลึกได้ พอระลึกได้ใจก็มาอยู่กับ “พุทโธ” พอใครจะว่าอะไร ก็มี “สติ” ใจก็ไม่ค่อยเร่าร้อนเหมือนแต่ก่อน เพราะระลึกแต่ “พุทโธ” ไว้มาก ก็เลยไม่วุ่นวายใจ เราจะเห็นเลยว่า นี่แหละคือบุญ ระลึกเมื่อไรก็เป็นบุญเป็นกุศลเมื่อนั้น เมื่อก่อนเราไม่ได้นึก มัวคิดแต่เรื่องทางโลก คิดแต่เรื่องไม่ดี พอมาระลึก “พุทโธ” แล้วใจเบาสบาย ปล่อยละวางก็เห็นกุศลในตัวเรา เป็นเรื่องที่ต้องระลึกอยู่เรื่อยๆ เพราะเห็นว่ามันช่วยใจได้


:b47: การเรียนธรรมะ คือเรียนรู้เรื่องจิตของตัวเอง เรียนจิตหลายดวงที่คิดโน่นคิดนี่มากมาย เราเรียนรู้มากเข้าก็คิดน้อยลงๆ จนเหลือจิตดวงเดียว พอจับจิตดวงเดียวได้เราก็เริ่มรู้จิตตัวเรา ธรรมะก็คือเรียนจิตหลายร้อยหลายพันดวง วันหนึ่งนี่นับไม่ถ้วนเลย นั่งดูเถอะ คิดโน่นคิดนี่ ปรุงโน่น ปรุงนี่ ขยับกายหน่อยจิตมันก็ปรุงแต่งทันที กระพริบตาหน่อยจิตก็ปรุงแต่งทันที เคลื่อนไหวจิตมันก็ปรุงแต่งทันที ถ้าไม่มีสติมันก็ไปของมันเรื่อยเปื่อย

แต่พอสำรวมมากขึ้น มีสติมากขึ้น อิริยาบถละเอียดมากขึ้น เข้ามามองดูตัวเองมากขึ้น เราก็จะเห็นจิตพวกนี้มากขึ้น พอเห็นมากๆ มันก็ดับไปๆ ดับแล้วก็หาย หนักเข้าๆ มันก็วนเข้ามา มาเหลือ “จิตดวงเดียว” มาเหลือเพียงเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็เฉย...เกิดแล้วก็เฉย จิตของเราก็จะสว่าง จิตของเราก็ว่าง เรียนเรื่องจิตก็คือเรียนอย่างนี้


:b47: คนเราที่จะใจดี ไม่โกรธ ไม่พยาบาทใครเลยนั้น...หายาก...ขนาดหัดทำใจแล้ว ยังเอาดีไม่ค่อยได้เลย เพราะใจนี่มันคอยส่งไปอยู่กับคนโน้นคนนี้ ไม่พอใจคนโน้นคนนี้อยู่ตลอดวัน


:b47: คนคิดมากจะมีความสุขอะไร ? คนคิดมากก็คือคนทุกข์มาก...คนสงบมากคือคนสุขมาก สงบที่ใจ ไม่สงบที่ใจ ทุกข์ที่ใจ อันนี้แหละที่จะป็นอริยทรัพย์ของเรา เราต้องฝึกใจอย่างนี้ จะได้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในชาตินี้ว่า มาวัดแล้วเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจได้ดีขึ้นกว่าเดิม


:b47: ของที่มีค่าเหนือเงินเหนือทอง คือ “ธรรมะ” คือทรัพย์ภายใน ศีลธรรมนี่เป็นทรัพย์ภายใน อยู่เหนือเงินเหนือทอง สิ่งนี้สิมีค่ามาก เราควรจะมองสิ่งที่นำติดตัวไปได้

ในโลกนี้มีแต่ของสมมุติทั้งหมด ชื่อเสียงของเราก็สมมุติ ฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา มันไม่จีรังยั่งยืน เราก็ควรจะรู้ชัดว่า อะไรล่ะ ? ที่่จะเอาไปได้ แม้แต่ร่างกายก็เป็นของติ๊ต่าง เป็นของไม่จีรังยั่งยืน อยู่ไปไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็สลายไปหมด แล้วอะไรล่ะ ! ที่ไม่สลาย ที่เรากำลังทำอยู่นี่แหละ คือของที่ไม่สลายไปจากใจเรา “ที่เราทำใจสงบ ทานที่เราให้ไว้ในใจเรา ศีลที่เรารู้จักสงบ สมาธิที่เราตั้งมั่นไว้แล้วด้วยดี ปัญญาที่เรารู้แจ้งเห็นจริง รู้แล้วว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เลือด เนื้อ กายใจเรานี่ เป็นของสมมุติทั้งหมด”

เมื่อเรารู้สัจธรรมอย่างนี้แล้วเราก็จะไม่หลง เราก็จะเอาความดีที่ใจของเราไปได้ จะต้องแสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือสมมุติ คือ “วิมุตติ” หลุดพ้นจากการยึดติดบ้านเรือน ลูกหลาน เงินทอง ติดอารมณ์ ความโกรธนี่มันก็เป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมา ถ้าเรายึดถือมันก็โกรธ ถ้าเราไม่ยึดถือมันก็ดับไป


:b47: เราไม่ต้องไปร้องเรียกให้ใครแก้ปัญหาหัวใจตัวเองเลย คนที่ไปให้คนอื่นแก้ปัญหานั้นเขาสร้างปัญหาตนเองก่อน เพราะเราไปยินดียินร้ายก่อน ยินดียินร้ายจนเป็นทุกข์ ยินดีมากๆ ไปจนหลง พอเขาไม่ยินดีกับเรา เราก็เสียใจร้องไห้ตามเขาผิดหวังตามเขา พอเขาทำอะไร ไม่ถูกใจก็ยินร้าย ยินร้ายจนใจนึกปวดร้าวระทมเกิดความโกรธความพยาบาท เพราะเราปล่อยอารมณ์ให้ยินร้ายเสียจนเคย แต่แท้ที่จริงถ้าเราเริ่มต้นด้วยการแก้ว่า พอเรายินดีปุ๊บ! ก็ “พุทโธ” พอยินร้ายปุ๊บ ! ก็ “พุทโธ” เพราะใจยังงี้เป็นทุกข์เศร้าหมอง...ไม่เอา พอโกรธปุ๊บ ! ยินร้ายปุ๊บ ! ไม้ดี พอยินดีปุ๊บ ! ขืนยินดีต่อไปเดี๋ยว หลงต่อไปอีก พอเขาไม่ทำตามใจเดี๋ยวเป็นทุกข์อีก เสียใจเศร้าใจอีก ถ้าเราระวังใจว่าไม่ยินดี และไม่ยินร้ายวางอุเบกขา มีสติหนักเข้าๆ ไม่มีใครทำให้เราทุกข์เลย


:b47: ใครด่า เราก็ไม่โกรธ ใครมาล่อให้หลง เราก็ไม่หลง เมื่อเราไม่รักไม่ชังแล้วใครจะทุกข์ล่ะ ! คนทุกข์นั้นเพราะชังมากจึงเสียใจ ทุกข์เพราะรักมาก พอผิดหวังจึงเสียใจ ที่ทุกข์นั้นเพราะรักมากชังมาก แต่ถ้าวางเฉย คนไหนจะทุกข์ เหมือนกับเราตอนเด็กๆ นั่นแหละ ไม่เคยดีใจเสียใจกับปัญหาเหล่านี้เลย แต่พอโตแล้วมันปรุงแต่งมาก เพราะเราไม่ทันอารมณ์ เราไม่ทันใจตัวเอง เพราะเราปล่อยให้ขาดสติมาตลอด ไม่ฝึกกันเลย


:b47: ถ้าเรามีธรรมะโชคดีแล้วเรา ใครไม่รักไม่ห่วงไม่หวงก็ไม่เป็นไร เราจะได้ไปอยู่กับธรรมะ แต่นี่คนเรามันคิดผิดคิดที่จะไปอยู่กับเขาอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่เขาไม่จริงใจกับเรา นี่คนไม่มีธรรมะนะ แต่ถ้ามีธรรมะเสียแล้ว ก็จะปลงตก มันก็จะเอาแต่สิ่งที่ดีก็ฉลาดเข้าหาศีลธรรมเลยโชคดี ผัวไปมีเมียน้อย ยกให้เมียน้อยเลย “ฉันจะไปเอาธรรมะ รอเวลานี้มานานแล้ว จะได้หมดห่วงเสียที” ไปอยู่กับคนไม่ดี คนสองใจนี่ไม่มีความสุขหรอก ไปอยู่กับธรรมะใจเดียวดีกว่าสบายดี ถ้าฉลาดหน่อยเดียวสลัดทิ้งเลย ถ้าไม่ฉลาดโอ๊ย ! เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง ตกเป็นทาสความรัก


:b47: ถ้าเราไม่ฝึก ใจมันฟุ้งซ่านไม่สงบ มันทำไม่ได้เพราะจิตมันรวมไม่ลง จิตมันเตลิดเปิดเปิงมานานแล้ว มันจะรวมวันเดียวคงไม่ได้ ฟังๆ ไปก็ไปดีกว่า อยู่ไม่ได้แล้วมันฟุ้ง มันก็ได้แค่นั้นเอง ไปวัดไหนก็ร้อน ร้อนทุกวัด เพราะใจมันร้อน ไปร้อยวัดมันก็ไม่สงบ ไปนั่งฟังจนตายก็ฟังไม่รู้เรื่อง ใจมันสงบไม่ได้ ภาวนาไม่เป็น “พุทโธ” ไม่เป็นแล้วจะได้อะไร


:b47: ใจคนเรานั้นมีแต่ความคิด มีแต่ความกังวล มันคิดอยู่ตลอดติดต่อกันเป็นลูกโซ่ ไม่เคยหยุดคิดได้เลย คนเราที่หนักอกหนักใจที่ใจมันไม่สบาย ก็เพราะใจมันหยุดคิดไม่ได้ ใจมันปล่อยวางไม่ได้ คิดจนไม่มีสติ คิดจนไม่มีความสงบ คิดจนใจนั้นหนัก นั่นแหละเรียกว่า ไม่มีที่พึ่งทางใจ

คนเราเมื่อไม่มีที่พึ่งทางใจ ก็ต้องทุกข์อยู่คนเดียว ทุกข์แล้วใครก็ช่วยไม่ได้ กายร้อนยังมีคนเอาน้ำมันมาให้อาบหิวยังมีคนเอาข้าวมาให้กิน ไม่มีเงินยังไปหาเงินมาได้ ยังมีคนเอาเงินมาให้เราได้ ทุกข์ภายนอกนี่คนยื่นยังมาช่วยแบ่งเบาได้บ้าง แต่ทุกข์ภายในนี่เราจะทำยังไง ?

คนเราทุกวันนี้พยายามจะหาที่พึ่ง มีบ้านอยู่ มีเงินใช้ มีรถขับ มีทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่คิดว่านั่นแหละ คือความสุข ความสบาย ส่วนคนที่ยังไม่มียิ่งคิดมากใหญ่เลย บ้านเรายังไม่มียังเช่าเขาอยู่ เงินเดือนเรายังไม่พอกินพอใช้ รถก็ยังไม่มีขับ ยังไม่มีครอบครัวเป็นหลักเป็นแหล่ง ยิ่งคิดยิ่งเป็นทุกข์ เพราะคิดว่ามีบ้าน มีเรือน มีรถมีรา มีเงินมีทองแล้วคงจะเป็นสุข คิดว่ามีแล้วจะสบาย แต่คนที่มีแล้วเป็นยังไง ? มีบ้านอยู่แล้ว มีเงินใช้แล้ว มีเงินเดือนพอแล้ว มีลูกมีหลานแล้ว มีรถมีรายี่ห้อดีๆ ขับแล้ว แต่เอ๊ะ ! ยังไม่เห็นสบายเลยนี่ ยังมีเรื่องนี้เรื่องโน้นเข้ามาวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มีอยู่แล้วใจก็ยังไม่สงบยังทรมานใจ แสดงว่าเรายังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีศีล ยังไม่มีสมาธิ ยังไม่มีปัญญา ยังไม่สละทาน ยังตระหนี่ ยังเป็นคนโลภมากอยู่ ยังคิดว่าอะไรๆ เป็นของเราอยู่

คนที่คิดว่าอะไรๆ เป็นของเรานี่ คือคนมีทุกข์มาก นี่ลูกของเรา นี่หลานของเรา นี่บ้านของเรา นี่รถของเรา นี่เงินของเรา ของเราเต็มไปหมดเลย มีมากกลับเป็นทุกข์มากอีกแล้ว แต่คนที่คิดว่าเราพอแล้ว เราไม่ได้โลภโมโทสันแล้ว ได้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น ก็มีแค่นั้น จนก็แค่นั้น ก็ไม่เห็นโกรธพ้นทุกข์ได้สักคนเดียว เราต้องหาความพอดีที่่ใจ ทำยังไงให้ใจเราสงบไปวันหนึ่งๆ บ้าง พอเราสงบใจได้ นี่เอง คนรวยนี่่เอง คนที่มีที่พึ่งทางใจ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2012, 18:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b45: ความโกรธ ความเกลียด ความชัง ความอิจฉาปองร้าย คิดถึงคนอื่นในแง่ไม่ดีนั่นไม่ใช่เป็นความสุขของเรา เรารู้ว่าการคิดไม่ดีเป็นความทุกข์ของเราอย่างมาก ความทุกข์ไม่ใช่คนอื่นเบียดเบียนเรา ความทุกข์จริงๆ แล้วคือตัวเราเบียดเบียนตัวเราต่างหาก เช่น เราโกรธเขาทั้งๆ ที่เขาก็ยิ้มกับเรา เราเกลียด เราอิจฉาริษยาเขาทั้งๆ ที่บางทีเขาเป็นคนดีเหนือเรา เป็นคนมีใจสูงกว่าเรา หรือบางคนใจต่ำกว่าเรา แต่เราก็กลับไปโกรธ ไปเกลียดเขา คนที่เกลียดนั่นแหละกลับทุกข์ ทุกข์ไม่ได้มีใครทำให้เรา แต่เรานั่นแหละทำเอง ใจเราต่างหากที่ไปเกลียด

กิเลสนั่นต่างหากที่ทำลายจิตใจเรา ไม่ใช่คนอื่นทำลายเรา แต่คนไปเข้าใจว่าสังคมทุกวันนี้ไม่ดีเลย มีแต่คนไม่ดี มีแต่คนกะล่อน มีแต่คนกินเหล้าเมายา มีแต่คนไม่เรียบร้อย มีแต่ผู้ชายผู้หญิงไม่ดี ผู้ชายก็คบไม่ได้ ผู้หญิงก็คบไม่ได้ สังคมสมัยนี้ไม่ดีเลย เราไปมองสังคมไม่ดี ความเป็นจริงนั่นไอ้ตัวที่่เราคิดนั่นมันไม่ดีต่างหาก ความเกลียด ความโกรธ ความไม่พอใจในตัวเรานั่นแหละคือตัวสังคมที่ไม่ดีในใจเรา เราไม่สามารถทำใจเราให้มีเมตตาต่อคนที่เขาไม่ดี เราอภัยให้เขาไม่ได้ ทุกข์ไม่มีใครทำให้เรา คนที่เกิดมาในโลกนี้ไม่ใช่ใครทำให้เราเลย ตัวเราทำตัวเราเอง อย่าไปโทษว่าคนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี


:b45: จิตคนเราที่ไม่มีความสุขนั้นเพราะเขาหยุดความคิดไม่ได้ เขาไม่เป็นปกติสุข ความคิดของเขานั้นสับสนวุ่นวาย โดยการไปได้เห็น ไปได้ยิน ไปได้รส ไปได้สัมผัส แล้วเอามาคิดนึก คิดจนนอนไม่หลับ คิดจนผ่ายผอม คิดจนตรอมตรม บางคนคิดจนไม่อยากอยู่แม้ตรงที่่ตัวเองเคยมีความสุข บางคนคิดจนถึงฆ่าตัวตาย บางคนคิดจนถึงฆ่าคนอื่่นให้ตาย มันมาจากความคิดทั้งหมด

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า...ความคิดนี้เป็นตัวปรุงแต่งทำให้คนเรามีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ท่านจึงได้สอนจึงได้แนะวิธีปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้เป็นที่อยู่ของจิต เพราะเมื่อก่อนไม่มีใครค้นหาจิตพบ แต่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ท่านค้นพบความดับของจิตใจหรือนิโรธได้ ท่านก็มาสอนสาวกให้รู้จักดับทุกข์ ความจริงแล้วเราไม่รู้จักจิตของเรานั่นเอง เราค้นหาความดีของตัวเราไม่พบ เราค้นหาความสุขสงบในตัวเราไม่พบ บางคนต้องไปเที่ยวไปกินไปเล่น ที่สุดแล้วก็ไม่เจอความสุข บุคคลที่มีหลักการภาวนาเข้าสมาธิโดยการกำหนดลมหายใจจนจิตละเอียดไม่ฟุ้งซ่านแล้วหลับไป ด้วยความสงบ อันนี้คือความสุขอีกแบบหนึ่งที่ลึกขึ้นไป

ชาวโลกที่ค้นพบเพียงแค่นั้นเอง เมื่อทุกข์เกิดขึ้น เช่นเป็นหนี้เขา มีเรื่องราวผิดหวังในความรัก มีปัญหาการงานก็ทำให้นอนไม่หลับ ที่เคยนอนหลับแต่กลับนอนไม่หลับ กลับกลายเป็นทุกข์ เพราะดับความคิดตัวเองไม่ได้ ดับการปรุงแต่งไม่ได้เพราะไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่เคยภาวนา ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาที่่จะไปรู้ว่า...มันดับตรงไหน มันเกิดตรงไหน เมื่อก่อนมีปัญหาอะไรมา ก็แก้ได้ด้วยการนอนหลับตื่่นขึ้นมาก็ทำงานต่อ พอปัญหาสะสมมากขึ้นๆ ทำให้นอนไม่หลับ นั่นคือปัญหาชีวิตหา ความสุขไม่ได้เลยในชีวิตนี้


:b45: การปฏิบัติธรรมที่เราต้องพิจารณาธรรม พิจารณาอารมณ์ ก็คือพิจารณาใจเรานั่นเอง

คนเราจะหาที่พึ่งแต่ภายนอกไม่ได้ บางคนทุกข์ขึ้นมาก็ไปหาหมอดู ไปหาพระรดน้ำมนต์ หาคนทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา คือ ต่อใจตนเองให้ปิติ

“ทาน” ทำให้เราปีติ ทำทานมากๆ แล้วจะสะเดาะเคราะห์ได้

“ศีล” รักษาศีลแล้วจะสะเดาะเคราะห์ให้ได้ ทำใจให้ปีติในศีล มั่นใจในศีลตนเองว่ามีศีลตลอด

“สมาธิ” ทำใจให้ไม่โกรธ ทำใจให้เย็น ทำให้มีองค์ภาวนา ทำให้ฌานเกิดขึ้น ทำให้จิตตั้งมั่นเกิดขึ้น นั่นแหละ ! จะสะเดาะเคราะห์จ่อชะตาได้

“ปัญญา” ทำปัญญาให้รู้ว่าขันธ์ ๕ ทั้งหลาย เกิดแก่เจ็บตายเป็นของมีทุกข์ทั้งนั้น

เราแบกขันธ์ ๕ แบกไปแบกมา หนักไปหนักมา ต้องพากิน พาเดิน พานั่ง พานอน พาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เราลำบากอยู่ตลอดคืนตลอดวัน ร่างกายนี่เป็นของหนัก นั่งนานก็หนัก นอนนานก็หนัก กินนานก็หนัก หายใจมากก็หนัก คิดมากก็หนัก อยู่นานก็หนัก อายุมากก็หนักมากขึ้น นี่คือทุกข์ เมื่อเรามีปัญญามองเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องหาทางพ้นทุกข์อันนี้ การที่เราจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องแสวงหาธรรมะคือพระนิพพาน นั่งให้เบา นอนให้เบา กินให้เบา ไม่ต้องคิดอะไรมาก นี่เราเรียกว่าหาทางดับทุกข์ มีที่พึ่งทางใจ เมื่อเรามาประพฤติอย่างนี้แล้วเราจึงจะมีที่พึ่ง

อาตมาไปเยี่ยมหลวงพ่อรูปหนึ่งที่สุพรรณบุรี โยมมานั่งเฝ้ากันตั้งแต่เช้าจนถึง ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่ม จะไปหาเลขดีๆ กับพระ อยากจะให้พระบอกหวย อยากจะรวยทั้งๆ ที่มีอาชีพที่ดีแล้ว บางคนเป็นช่างเสริมสวย เป็นแม่ค้าแม่ขาย

โธ่ ! เอาเงินพวกนั้นมาทำบุญดีกว่า ไปเล่นหวยใต้ดินบนดินให้เสียเงินเปล่า บางจังหวัดเล่นกันทั้งจังหวัดเลยนะ

อาตมาไปธุดงค์เริ่มเดินไปตั้งแต่ อ.เดิมบางนางบวช สิงห์บุรี อ่างทอง ไปจนถึงภาคอีสานจนไปยันภาคใต้ งมงายกันจังเลย เห็นพระธุดงค์ไม่ได้ขอแต่หวยอย่างเดียว

อาตมาก็สลดสังเวชว่า โถ ! คนไทยนี่งมงายจังเลนะ เอาหวยใต้ดินบนดินเป็นที่พึ่งกันจนหมดทั้งประเทศเลย คนไทยนี่เป็นคนจนทั้งนั้น อาตมาพิจารณาแล้วคนไทยเรา ไม่มีที่พึ่งทางใจเลยไปหาพระ


:b45: ถ้าไม่เอาพระพุทธศาสนา ก็ไม่มีวิธีอื่นดับทุกข์ได้ ดังนั้น ความสุขที่เหนือความสุข ก็คือการพึ่งทางด้านธรรม คือด้านจิตใจของเรานั่นเอง เราจะเป็นเครื่องวัดตัวเราว่า...เรามีความสุขแค่ไหน เรานอนหลับเป็นสุข เราตื่นขึ้นมาเป็นสุขหรือทุกข์ เราจะต้องรู้ว่าสุขมาก สุขน้อย ทุกข์มาก ทุกข์น้อย คิดมาก คิดน้อย คนที่วิตกกังวลมากขึ้นจะหาความสุขไม่ได้เลย

ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีวิธีกำจัดทุกข์ได้ กำจัดภัยได้ แต่เราไม่ได้สนใจทำเอง เวลาคิดมากขึ้นมาก็ไปเที่ยวไปเล่นไปหาวิธีออกอย่างอื่น อาจจะคลายเครียดไปได้พักหนึ่ง แต่พอกลับมาอยู่เฉยๆ ก็เอาอดีตมาคิดอีก เอาอนาคตมากังวลอีก ก็ไม่มีใครพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องกลับมาปรุงแต่งมากขึ้นๆ บางคนที่เคยเป็นคนเข้มแข็งเป็นคนมีความอดทน พอปลดเกษียณก็กลายเป็นคนจู้จี้ ขี้บ่น ขี้โมโห เอาแต่อารมณ์ตัวเอง อยู่บ้านก็ไม่มีความสุข เพราะเขาไม่มีความสงบทางใจ ไม่รู้จักจิตที่สงบ จะกลายเป็นบุคคลที่เข้าสังคมไม่ได้ เป็นบุคคลที่ลูกหลานบางคนต้องเอาพ่อแม่ไปไว้บ้านคนชรา แต่คนที่มีธรรม คนที่จิตใจ ไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่สติ มีแต่สมาธิ มีแต่ความเย็นกายเย็นใจ ลูกหลานก็รัก เพื่อนก็รัก ทุกคนก็อยากจะอยู่ใกล้กับคนที่ใจเย็นใจสงบ

อันนี้เราต้องเข้าใจนะว่า...ชีวิตคนเรามีค่าไม่ใช่มีค่าตรงที่มีงานทำ มีเงินใช้ มีลาภ มียศ สิ่งเหล่านี้ยังมีค่าตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่มันจะหมดค่าตอนที่เราไม่มีธรรมนะซิ ดังนั้น เราจะต้องทำจิตใจของเราให้มีค่า ทำชีวิตของเราให้สมบูรณ์ เพราะธรรมนี้เป็นของเอาไปได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกว่าทำบุญกุศลครั้งหนึ่งจะทำบุญอะไรก็สุดแล้วแต่จะเป็นทาน เป็นศีล เป็นสมาธิ ภาวนา ชั่วช้างสะบัดหู ชั่วงูแลบลิ้น จะให้ทานเพียงข้าวทัพพีหนึ่ง น้ำแก้วหนึ่ง ยังมีค่ามากกว่าสมบัติในโลกนี้อีก แต่คนที่ไม่มีปัญญาก็จะเถียงในใจว่า...เป็นไปไม่ได้ ใครๆ ก็อยากได้แก้วแหวนเงินทองมากมาย ส่วนคนที่มีปัญญาก็จะบอกว่า “สมบัติในโลกนี้ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เงินสักบาทหนึ่งสักสลึงหนึ่งก็เอาไปไม่ได้ เอาใส่ปากก็ยังเอาไม่ได้ เว้นแต่บุญกุศล เพียงข้าวทัพพีหนึ่ง หรือสมาธิชั่วครู่หนึ่ง กลับมีอานิสงส์ไปยังชาติหน้าได้”


:b45: ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้บุคคลมีความเจริญทางใจ รวยทางใจ สวยทางใจ มีเสน่ห์ทางใจ มีความสุขทางใจ เพราะอะไร ? เพราะใจมันดี ใจมันเป็นเทวดา ใจงาม งามศีล งามธรรมเพราะไม่โกรธ การทำความไม่โกรธให้เกิดขึ้นกับใจได้นั้นเป็นผู้วิเศษ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้ทำใจได้นั้นว่ามีปัญญา เพราะใจของเรามันละเอียดอ่อน ยากที่จะควบคุม มันคิดอยู่ตลอดวัน เดี๋ยวคิดเรื่องนั้น เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ มันอยู่ไม่สุข ต้องอาศัยหลักปฏิบัติจึงจะทำให้ใจเราเย็นลงได้


:b45: ใจนี่ทำยาก ต้องฝึก ต้องสร้าง ต้องทำ ต้องอดทน อย่างนั่งสมาธินี่จะให้ใจอดทนจะทำอย่างไร ? เมื่อยก็ทน ทนแล้วได้อะไร ? มันทำให้เป็นคนอดทน ทนไปๆ เป็นชั่วโมงก็ไม่ขยับ ทำบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นคนที่ใครว่าอะไรก็เฉย ใครด่าอะไร ทีแรกก็เถียง ต่อๆ ไปก็ไม่เถียงหรอก เพราะมันทนเก่ง นี่ได้แล้วหนึ่งข้อ

“อ้อ ! ที่นั่งปวดนั่งเมื่อยทนแทบตาย สิ่งที่ได้คือการทำให้ใจอดทน กลายเป็นคนถูกกระทบแล้วไม่หวั่นไหว ไม่ว่าเจ็บปวดอะไร ทนได้หมด” แต่ถ้านั่งแล้ว โอ๊ย ! ปวด โอ๊ย ! เมื่อย ขยับไปขยับมา ใจคอหงุดหงิด ใครว่าอะไรโกรธหมด มันทำไม่ได้เลย นั่งไม่ได้ ก็โกรธนะซิ พลิกไปพลิกมา ผลที่สุดใจมันก็เลยโลเล เหลวไหล นั่งขยับไปขยับมา กลายเป็นคนหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ขี้โกรธอยู่นั่นเอง

ฉะนั้น คนที่นั่งทนอยู่ได้ กลายเป็นคนไม่โกรธไป ไม่ใช่สมาธิหัวตอนะ แต่เป็นสมาธิแบบมีปัญญา ถ้าสมาธิแบบคนโง่ก็ “สงบจริง หมดกิเลสแล้ว สบายจริงๆ” แต่พอใครว่า “คนนี้มันนั่งหลับตา ไม่ได้อะไรหรอก” ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แหม ! โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ โกรธเต็มที่เลย ผลที่สุดนั่งตั้งนานไม่ได้อะไรเลย


:b45: สตินี้จะปล่อยให้เกิด ไม่เกิดหรอก สมาธิจะปล่อยให้เกิด ไม่เกิดหรอก ปัญญานี้จะปล่อยให้เกิด ไม่เกิดหรอก ศรัทธาก็ดี สติก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ต้องสร้างขึ้นมา

ใจเราก็เหมือนกัน เมื่อก่อนไม่มีหรอก สติ สมาธิ ปัญญาที่จะรู้ธรรมเห็นธรรม ก็ต้องสร้าง สร้างด้วยการเข้ามาสู่หลักสติปัฏฐาน ๔ หรือองค์มรรค ๘ มีความเห็นว่าทำใจอย่างนี้ นี่จะดับทุกข์ได้ ดำริอย่างนี้จะไปถูกต้อง ดำริออกไปจากบาปอกุศล สำรวมกายวาจาใจอย่างนี้สงบ พยายามปฏิบัติเข้ามาสู่จุดนี้ พอเข้าสู่จุดนี้แล้วก็สงบจริงๆ

ความเพียรเกิดขึ้น สติเกิดขึ้น มากขึ้น ใจก็สงบมากขึ้น สมาธิก็ตามมา ปัญญาก็เกิดเห็นความเป็นจริง แล้วก็เอาธรรมะอันนี้ไปแก้ใจตัวเองได้ เรียกว่าสร้างขึ้นมา เมื่อมีหลักในใจ มีศีล สมาธิ ปัญญาแล้วก็ไม่มีทุกข์ในใจ อะไรเข้ามากระทบก็ไม่มีทุกข์


:b45: เราเป็นคนไทยต้องศึกษาประวัติศาสตร์และพุทธประวัติ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย เป็นนักเรียนต้องศึกษา ตอนเราเป็นนักเรียนเราชอบมากเลยเรื่องประวัติศาสตร์และพุทธประวัติ อ่านแล้วสนุก แล้วรู้ว่าเป็นเรื่องที่ทำประโยชน์ให้กับโลกให้กับคนมาแล้ว พระเจ้าอโศกฯ อดีตชาติพระองค์เป็นเด็กไปเที่ยวตามนอกบ้าน พอพระมาก็เอาดินใส่บาตรพระ ดินนั้นใช้ปั้นทำบาตรได้ ปั้นดินขยำแล้วก็เอาใส่บาตรพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็พยากรณ์ว่าเด็กผู้นี้ในอนาคตต่อไปจะได้เกิดเป็นพระราชา มีมหาอำนาจ และยิ่งใหญ่มาก จะเป็นผู้ที่มีแผ่นดินที่่ยิ่งใหญ่ เป็นมหาราช เพราะเขาเอาดินถวายพระพุทธเจ้า แค่เอาดินที่เล่นนี่ถวายพระพุทธเจ้า ต่อไปจะมีแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่มาก พระเจ้าอโศกฯ ในสมัยที่รุ่งเรืองถึงขุดสุดทรงขยายแผ่นดินได้ไกลมาก ทั้งปากีสถาน ตะวันออกกลาง พระพุทธศาสนาก็เผยแผ่ไป ๙ สายเลย ไปถึงอาหรับเลย มาหมดเลยทั้งไทย พม่า จีน ทิเบต นี่แค่ดินก้อนเดียวมีอาณาเขต บางคนซื้อที่่ดินถวายมากกว่าดินกำมือหนึ่ง อานิสงส์ก็มากตาม

สังฆทานนี่แต่ก่อนมีที่ดินแค่ที่หลวงพ่อโตเท่านั้นนะ แค่ตรงดอกบัวเท่านั้นเอง พอฝนตกทางนี้ก็วิ่งไปทางโน้น พอฝนสาดก็ไปทางข้างหลังหลวงพ่อโต พอฝนหยุดก็มาทางหน้าหลวงพ่อโต หนักเข้าไปไม่รู้ไปทางไหนก็นอนกรนตรงหน้าหลวงพ่อโต ผู้เขียนไม่กล้านอนแต่พระรูปอื่นท่านนอน พอตื่นขึ้นมาน้ำไปครึ่งตัว พอได้ที่มาก็ปลูกต้นไม้ทั้งนั้น แต่ก่อนเป็นสวนส้ม ข้างหลังเป็นสวนทุเรียน

นี่ดินกำมือหนึ่ง อานิสงส์ของการทำบุญที่ดิน ทุกคนเวียนตายเวียนเกิดมากันมากไม่ใช่ชาติเดียวเท่านี้ อันนี้มาอานิสงส์เก่า อานิสงส์ชาติก่อนมาให้ถึงชาตินี้ด้วยด้วย ชีวิตคนเรามีทั้งสบาย มีทั้งลำบากนะ ชีวิตของใครไม่สวยหรูไปหมด ถ้าเล่าเรื่องของพระพุทธเจ้านี่ลำบากทุกชาติเลย แต่บารมียิ่งใหญ่ทุกชาติ

พวกเราต้องรักในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ ต้องมีความจงรักภักดีไม่คิดคดทรยศจะชิงบัลลังก์ แล้วช่วยกันถ่ายทอดต่อๆ กันไป เราต้องอยู่ข้างคนฉลาดไม่โกง เงินซื้อเราไม่ได้ เราอยู่ข้างใคร ข้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เขาบอกว่า “มึงไม่ฉลาดหรอกมึงโง่ (ขออนุญาตใช้ภาษาพ่อขุนรามฯ) แต่ก็โง่ซื่อ กูก็อยู่ข้างฉลาดไม่โกง ถึงยังไงกูโง่ซื่อ ก็รักในหลวง ศาสน์ กษัตริย์ ก็ไม่คิดคดทรยศ มึงก็ซื้อกูด้วยเงินไม่ได้ ถึงมึงจะเอามาให้กู ร้อยล้านพันล้านก็ซื้อกูไม่ได้ ให้โกรธเกลียดในหลวงกูก็ไม่เกลียด ให้ทำลายชาติไม่ทำลาย ให้ทำลายศาสนาไม่ทำลาย เพราะกูโง่และซื่อ ซื้อด้วยเงินไม่ได้ เงินไม่มีความหมาย ถ้าตราบใดกูฉลาดก็จะช่วยคนได้มากกว่านี้อีก แต่ตอนนี้กูโง่ซื่อก็เอาแต่พวกกู ได้น้อย แต่ก็ฉลาดซื่อ เมื่อไรกูจะช่วยคนได้ทั้งโลกเลย”

ถ้าเกิดพวกเราเกิดมาโง่โกงละ พวกเราจะช่วยกษัตริย์ได้ไหม เขาก็ซื้อพวกเราไปเป็นพวกเขาน่ะสิ เพราะพวกเราโง่ โกงนะ อยากได้เงินเขาใช่ไหมล่ะ ใครบอกโน่นดีนี่ไม่ดี กษัตริย์ไม่ดี พวกเราเชื่อเค้าหมดเลยก็กลายเป็นพวกเราโง่ โกง เราก็จบเลย แล้วไปโดนพวกฉลาดโกงหลอก เอาเงินมาซื้อเราเอาลาภยศมาล่อ เราไม่รักใครเราก็รักตัวเราเอง เราไม่รักชาติ เราไม่รักศาสน์ กษัตริย์ เพราะเรารักเงิน เพราะเราไปคบกับพวกฉลาดโกง เราเลยเป็นพวกโง่โกง...โง่มา ๕๐๐ ชาติแล้ว ชาตินี้อาจเป็นชาติสุดท้ายแล้วกระมัง แล้วก็ฉลาดโกงมา ๕๐๐ ชาติแล้ว

พวกฉลาดโกง จะแพ้บุญใคร ฉลาดโกงจะแพ้บุญคนฉลาดซื่อ คนโง่โกงจะแพ้คนฉลาดซื่อ รวมแล้วคนฉลาดโกง กับโง่โกง จะแพ้คนฉลาดซื่อ กับโง่ซื่อ ผู้เขียนไม่ได้ต้องการต่อว่าใคร...ว่ากิเลส คนดีมีศีลธรรม แต่กิเลสไม่ดี เหมือนเราโกรธ เราอยากโกรธไหม ไม่ใช่เราอยากโกรธ กิเลสมันโกรธ พอเราหายโกรธแล้วเราก็คิดได้ว่าโกรธไปทำไมนะ ที่จริงแล้วเราไม่ใช่คนขี้โกรธ แต่กิเลสมันโกรธ นี่คือเราต้องฉลาดโดยสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ


:b45: การเกิดเป็นมนุษย์นั้นอาศัยการที่เราทำความดีมา เป็นกำไรที่เราทำบุญมาจากชาติที่เราทำความดีมา ทำให้เราพ้นจากนรก จากเปรต จากอสูรกาย จากสัตว์เดรัจฉาน และก็เกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง ไม่นานหรอกเราก็จะกลับจากชาตินี้ไปสู่ชาติที่เรามา ถ้าเราพัฒนาจิตใจได้ เสียสละอดทนได้ ก็จะไปสูงกว่าเดิม

เรามาด้วยศีล ๕ แต่เรากลับไปด้วยศีล ๘ เราก็จะไปสูงกว่าเดิม บางคนบอกว่าแล้วเมื่อเราแก่ตัวเราจะทำอย่างไร เมื่อเราไม่มีลูกหลาน เราก็ต้องทำบุญไว้ บุญจะสามารถช่วยเราได้ ธรรมจะเลี้ยงเราเอง คนไม่มีบุญนะทำสมบัติรวยแสนรวย บางคนไม่เคยทำบุญ ทำรวยอย่างเดียว ไปเที่ยวไหว้เจ้า เดินขึ้นเขาไปไหว้เจ้า พอเดินลงมาก็หลงทาง คนรวยพลัดกับลูกหลานก็ตามไม่เจอ ที่่สุดแล้วก็ไปเจอนอนตาย เหลือแค่กระดูก เพราะหลงป่า คนเศรษฐีตายอย่างอดอยาก เพราะไม่ได้ทำบุญในชาตินี้ บางคนนั้นรวยแต่ไม่มีสมาธิ ทำมาหากินจนรวยทั้งผัวทั้งเมีย แต่กลายเป็นคนไม่มีสมาธิ กลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น พออายุ ๖๐-๗๐ ปี ก็หลง กินก็ไม่รู้ จำวันเดือนปีไม่ได้ ในที่สุดลูกหลานรวยแล้ว ได้สมบัติพ่อแม่แล้ว เอาพ่อแม่ไว้ไม่ได้แล้ว เพราะรกสกปรก ก็ต้องเอาพ่อแม่ไปที่บ้านพักคนชรา พอตายแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็โทรมาบอกว่าแม่ตายแล้ว พ่อตายแล้ว จัดพิธีศพให้ใหญ่โต คนทั้งหลายก็มากันเต็ม ไม่ได้เพราะกตัญญูหรอก แต่มาเพราะกตัญญูเงิน แต่ความจริงแล้วเอาแม่ไปปล่อยที่บ้านพักคนชรา บ้านพักคนชราพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ดำริ พระองค์ดำริเพราะทรงทราบว่าต่อไปคนไทยจะเหมือนกับคนต่างประเทศ ที่ไม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ท่านก็เลยทำบ้านพักชราที่บางแค เพื่่อคนชรา เพื่อลูกหลานที่ลืมพ่อแม่จะได้เอามาไว้

คราวนี้ก็มีเกือบทุกจังหวัดที่มีบ้านพักคนชรา ถามคนชราบางคนว่าทำไมไม่มาอยู่วัด ตอบว่าก็ไม่รู้จะอยู่วัดไหน บางคนก็หลง บางคนก็ดูลักษณะผิวพรรณ หน้าตาแล้ว เป็นคนที่่มีเงินมีความรู้ แต่ก็พูดไม่หยุดซะแล้ว ใครพูดก็ไม่ฟัง พูดอย่างเดียว บางคนก็นอนเรื่่อยเลย นอนเปลือยเลย บางคนดูแล้วหาเงินจนรวย หาเงินจนหลง พอลูกเรียนสูงๆ แล้วกับมาเห็น พ่อแม่หลงมันก็ไม่เอาแล้ว ก็ไปฝากดีกว่า บางคนวันเสาร์-อาทิตย์มาเยี่ยม หลังๆ งานยุ่งไม่มีเวลา ไปเมืองนอกเมืองนา ไม่มาเลย นานเข้าลูกหลานก็ไม่รู้จักเลย คนกตัญญูก็ไปบ่อย พอธุรกิจมัดตัวก็จะไม่มา พอพ่อแม่ตายก็ไปเอาศพ นี่แหละ คือคนที่ไม่ทำบุญ คือ คนที่ไม่เข้าวัดไม่เห็นคุณค่าของวัด มัวแต่ไหว้เจ้า ยึดติดพิธีกรรม เพราะไม่มีสมาธิก็ทำให้หลงเลย เพราะว่าไม่เข้าวัด ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่รู้จักจิตตนเอง แต่ถ้าคนไทยเป็นอย่างนี้เยอะๆ เราจะพึ่งใคร ตัวเราทำตัวเราเองนะ จึงทำให้คนอื่นเบื่อตัวเรา ลูกหลานก็ทิ้งเรา เพราะเราไม่มีสติ ทำให้เวลาเราพูดก็หยุดไม่ได้ โมโหก็บ่นดุด่าว่ากล่าว นานๆ เข้าก็กลายเป็นคนสมองฝ่อเลอะเลือน ถ้าลูกหลานกตัญญูก็โชคดีไป สมัยก่อนเค้าไม่ทิ้งพ่อแม่หรอก สมองเลอะเลือน ก็เลี้ยงเช็ดทำความสะอาด นี่่เขาภูมิใจมาก เขาถือว่าได้เลี้ยงพ่อแม่กับมือจนเขาตาย

สมัยนี้เขาเลี้ยงพ่อแม่เขาไม่ได้ แม้แต่ลูกตัวเองยังต้องจ้างเขาเลี้ยง เช็ดเองไม่เป็น นี่แหละที่เขาวัดกันที่บุญ บุญนี้เราต้องฝึก เข้ามาฝึกสมาธิต้องควบคุมจิตตัวเองให้ได้ การที่่เราพูดละเมอเพ้อพกแบบขาดสติก็มาจากการที่่่เราไม่รู้จิตตัวเอง ขาดสติก็กลายเป็นคนหลง ที่เมืองนอกมีเยอะ พออายุ ๖๐ ปีไปแล้ว ถ้าหลงเขาก็ส่งไปที่่บ้านพักคนชรา โรงพยาบาลเมืองนอกจะห้ามคนเข้าไปเฝ้า โรงพยาบาลเมืองไทยนี่อบอุ่น มีลูกมีหลานพากันไปเยี่ยมไปเฝ้า แต่เมืองนอกเขาห้าม เพราะเอาเชื้อโรคไปให้เขา แค่ไปเยี่ยมหรือโทรศัพท์หาพ่อแม่เท่านั้นแหละ มันว้าเหว่มากเลยนะ ศาสนาพุทธเขาสอนให้เรารู้จักกตัญญูตอบแทน

บุคคลหาได้ยากมีอยู่ ๒ อย่าง คือบุคคลที่รู้คุณคน และคิดจะตอบแทนบุญคุณคน คือบุคคลที่หาได้ยากในโลกนี้ คนฉลาดก็หาได้ คนรวยก็หาได้ คนสวยก็หาได้ คนหล่อก็หาได้ คนมียศใหญ่ๆ ก็หาได้ แต่คน ๒ อย่างนี้หาไม่ค่อยได้แล้วในโลกนี้ ในโลกนี้คนกตัญญูที่พอคนเขาให้อะไรแล้ว ก็รู้จักที่จะตอบแทนบุญคุณ รู้จักบุญคุณคน เดี๋ยวนี้คนเป็นแม่ก็สอนลูกไม่เป็น สอนลูกให้บริโภคนิยม ไม่ได้สอนให้ธรรมะนิยมเมื่่อสอนบริโภคนิยมก็เอาเงินให้ เอาเสื้อผ้าให้ เอาของดีๆ ให้ ให้เรียนดีๆ ในที่สุดก็บริโภคนิยม ไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่ พอโตแล้วมันก็ไม่สนใจเรา มันก็ไปสนใจเพื่อนฝูงมากกว่า สนใจวัตถุนิยมมากกว่า อะไรที่่ดีเหมาะ อะไรที่ชักจูงเขาว่าดีก็ไป

ถ้าเอาธรรมะนิยมคนก็จะรู้คุณคน เขาก็จะรู้ว่านี่แม่เลี้ยงเรามา หาที่กินที่อยู่ให้เรา เลี้ยงเรามา หาที่เรียนให้เรา หาเสื้อผ้าดีๆ ให้เรา เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้เราเกิดมา จะให้เกิดโดยวิธีใดก็แล้วแต่ก็ถือว่าเป็นคนที่มีบุญคุณแก่เรา เป็นคนที่ทำให้เราเกิดมา ถ้าไม่มีพ่อแม่เราโตมาเมื่อได้เรียนหนังสือ ตรงนี้เราคิดไม่ได้ แม่คิดไม่ได้แล้วลูกจะคิดได้อย่างไร พ่อแม่ไม่คิดลูกไม่คิด พอไม่คิดก็กลายเป็นความรักที่่หลง รักลูกแล้วหลงไม่ได้เตือนอะไร พอลูกโตมาก็หลง เจอเพื่่อนก็หลงเพื่อนไป ไม่คิดที่จะกลับมาหาพ่อแม่ คนที่เสียใจก็คือพ่อแม่เพราะเลี้ยงลูกด้วยวัตถุนิยม ไม่ได้เอาธรรมะนิยมเลี้ยง ทุกวันนี้บ้านไหนที่ลูกไม่เถียงพ่อแม่หายาก ยิ่งเด็กติดเกมส์ไม่ต้องห่วง ก้าวร้าวเลย เด็กติดเกมส์ติดอินเตอร์เน็ตก้าวร้าวทุกคน พอพ่อแม่ว่าก็จะฉุนเฉียวทันที จะเถียงทันที กลายเป็นเด็กที่หาง่าย เด็กคนที่ไม่กตัญญู คนที่่ไม่รู้จักบุญคุณคน และไม่คิดที่จะตอบแทนคุณคน เผลอๆ จะเนรคุณคน นี่คือหาได้ง่ายในโลกนี้


:b45: ไม่ต้องแปลกใจเลยที่คนแก่เข้าวัด คนแก่รู้แก่ใจว่าจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เพราะยมทูตและพญามัจจุราชมาเตือนใจคนแก่แล้ว รู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตายจากลูกจากหลาน คนแก่จึงต้องไปหาพระหาวัด

ทำไมคนหนุ่มคนสาวจึงไม่ไป ? เพราะพวกเขายังไม่เห็นธรรมะ ยังไม่เคยเจ็บ ยังไม่เคยแก่ ยังไม่นึกถึงความตาย เพราะอายุของเขายังน้อยอยู่ จึงประมาทไม่อยากเข้าวัด ก็เลยไม่ค่อยพบคนหนุ่มคนสาวเข้าวัดปฏิบัติธรรม เจอแต่คนแก่ไปวัดกันมาก ถ้าคนหนุ่มสาวทั้งหลายเห็นว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของเขาด้วย พวกเขาก็จะเข้าวัด จะไม่ประมาท และอยากจะรู้เห็นธรรม อยากจะไปให้พ้นทุกข์ ให้พ้นแก่ พ้นเจ็บ พ้นตาย หนุ่มสาวบางคนที่เห็นภัยในความเจ็บ ความแก่ ความตาย ก็จะเร่งเพียรพยายามในการทำบุญทำกุศลเท่ากับคนแก่หรือมากกว่าเสียอีก

แต่คนแก่บางคนก็หลง เพราะความหลงมาครอบงำไม่ได้คิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทั้งๆ ที่อายุมาก ๘๐, ๙๐ แล้ว ก็ยังไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้ แม้แต่ใกล้จะหมดลมแล้ว คนแก่บางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะตาย นี่คนแก่พวกนี้ยังมองไม่เห็นภัย ทั้งๆ ที่ภัยนี้อยู่ในตัวเองแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้

“ธรรมะ” นี้เป็นเครื่องเตือนใจให้มีดวงตาเห็นธรรม เพื่อความไม่หลง เพื่อความไม่ประมาท คนที่ได้มาปฏิบัติธรรมส่วนมากก็คือ รู้แล้วว่าเราไม่มีอะไรเป็นของเรา เรามีกุศล มีทาน ศีล ภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นสมบัติของเรา ที่จะให้ความสงบสุขแก่เรา ที่จะให้เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวแก่ชีวิตเราทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่มีที่พึ่งอื่นเลยนอกจากการทำความดี การเพียรทำกรรมฐานนี่เป็นยอดบุญ กรรมฐานเป็นตัวทำให้สำเร็จทุกอย่าง ให้ถึงมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

แม้เรายังไม่แก่ก็ให้ใจคิดเหมือนคนแก่ เพราะคนเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากของรักไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่นอน เมื่อคิดอย่างนี้แล้วเราก็จะรีบลงมือประพฤติปฏิบัติธรรมโดยความไม่ประมาท ทุกคนก็จะเรียกร้องหาบุญกุศลของตน ทำมากขึ้นๆ จนอิ่มใจ จนสุขใจ ทำแล้วไม่ได้เฉพาะแก่ตนเองเท่านั้นนะ ทำแล้วได้แก่ครอบครัวแก่พี่น้องแก่เพื่อนมากมาย แถมจะให้คนอื่นรู้เห็นอย่างเช่นตัวเอง ได้อย่างเช่นตัวเอง เพราะรู้แล้วว่าปฏิบัติธรรมมันมีความสุข มีใจเย็นมีใจสบาย มันเข้าถึงความสงบที่สุด


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 16:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b45: การพิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

พิจารณากายของเรามีอาการ ๓๒ กายนั่งก็เอาความรู้สึกมาไว้ที่กายนั่ง กายเดินก็เอาความรู้สึกมาไว้ที่ความเคลื่อนไหวก้าวไปก้าวมา กายนอนก็พิจารณาอาการนอนของกาย กายทำอะไรเราก็พิจารณา กายกิน กายเดิน กายนั่ง กายนอน เอาจิตจับไว้กับกาย ความรู้สึกก็ตามอยู่กับกายตลอดเวลา หลับตาลืมตาโยกโคลง จิตก็อยู่กับกาย จิตก็มีสติ เมื่อมีสติติดต่อไปนานๆ ก็เป็นสมาธิขึ้นมาทันที

ตรงที่เป็นสมาธินี่เราจึงรู้ว่า อานิสงส์ของการทำความรู้กับกายนี้ทำให้จิตของเราสงบ เมื่อเห็นกายมากๆ ขึ้นมาก็เห็นทุกข์ของกาย เห็นทุกข์ของใจ จิตก็เกิดขึ้น เวลาเราคิดอะไรเราก็ทันจิตตัวเอง เรียกว่า รู้จิตเห็นจิต

จิตมีเวทนา สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ รู้สุขรู้ทุกข์เขาเรียกว่า รู้เวทนา เวทนานี่มีทั้งภายในและภายนอก เวทนาภายนอก ก็คือ เวทนาทางกาย เช่น กายเป็นสุขเป็นทุกข์ กายร้อนกายหิวกายกระหาย กายปวดเมื่อย ส่วนเวทนาภายใน คือ เวทนาทางใจ จิตเป็นสุขก็สุขเวทนา จิตเป็นทุกข์ก็ทุกขเวทนา จิตวางเฉยก็เป็นอุเบกขาเวทนา พระพุทธองค์ท่านให้พิจารณาหมดเลย ถ้าเราจะศึกษาให้เกิดปัญญาก็พิจารณาอย่างนี้ปฏิบัติจึงจะเกิดปัญญา เห็นเวทนาภายในบ้าง เห็นเวทนาภายนอกบ้าง เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้สักอย่างเดียว เสียงก็ดี รูปก็ดี ความคิดนึกก็ดี ก็มีเรื่องเกิดๆ ดับๆ อยู่ในจิตของเรา

เมื่อพิจารณามากๆ ก็รู้จิตเห็นจิตมากขึ้น รู้ธรรมเห็นธรรมมากขึ้น จิตภายในคิดเรื่องปรุงแต่งคิดนึกต่างๆ เห็นจิตภายนอกก็ท่องเที่ยวไปในเรื่องราวต่างๆ เรียกว่า รู้ทันจิตตัวเอง คิดไปถึงไหนก็รู้ถึงนั่น ดับที่จิตเกิดที่จิตก็รู้จิตภายใน ก็เห็นธรรม ธรรมที่เสื่อมไปบ้าง ธรรมที่เจริญบ้าง เรียกว่าธรรมารมณ์ที่เกิดกระทบใจ ธรรมเทศนาที่เกิดขึ้นในใจก็เกิดขึ้น เห็นสุขเห็นทุกข์ เห็นบุญเห็นบาป เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่ไม่เที่ยง พิจารณาธรรมในจิตที่เกิดขึ้นได้รู้ได้เห็น

ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็ทำให้เรารู้เรื่องมรรคองค์ ๘ รู้เรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้าว่ามีจริง พุทธศาสนานี่พอปฏิบัติแล้วจะเห็น อ๋อ...นี่เรื่องจริง พระพุทธเจ้าได้ผ่านพบสิ่งนี้จริงจึงได้สอนไว้ ถึงเราจะไม่เจอองค์พระพุทธเจ้า แต่เราก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เพราะธรรมอันนี้ปฏิบัติแล้วก็พบธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ทำแล้วก็เกิดเทศนาขึ้นในใจเรา ไม่ใช่นั่งไม่รู้อะไร นั่งแล้วกลับรู้ ยิ่งนั่งยิ่งรู้ ยิ่งนั่งยิ่งเห็น ยิ่งปฏิบัติยิ่งเพลิดเพลิน มีความสุขสงบ มันไม่ใช่เป็นคนเดิม พอเป็นอย่างนี้ก็เกิดความปีติพอใจที่ตนเองได้เข้ามาปฏิบัติ เห็นมรรคเห็นผลในใจเรา มีศรัทธาเชื่อมั่นแน่นอนไม่สงสัย การปฏิบัติธรรมก็ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง จะไปให้ใครมาบอกเราว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เหมือนเราเห็นเองรู้เอง


:b45: วันนี้อารมณ์ดีก็รู้ว่าอารมณ์ดี วันนี้อารมณ์เสียก็รู้ว่าอารมณ์เสีย วันนี้สงบก็รู้ว่าวันนี้สงบ ขณะนี้ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้ทั้งๆ ที่มันไม่สงบ ถ้ารู้ว่ามันไม่สงบนั่นแหละคือตัวสงบ คนที่สงบก็ไม่รู้ ไม่สงบก็ไม่รู้ นั่นเรียกว่ารู้ไม่ทัน

การไม่รู้ทัน คือ การเสียท่ามัน เสียท่าใจดวงนี้เสียแล้วว่า “เผลอตัวไป” เผลอตัวไปโกรธซะแล้ว เผลอตัวไปไม่พอใจซะแล้ว ก็ต้องรู้ให้ทัน นี่แหละการสร้างสติตัวเอง


:b45: ทุกข์ทำให้เกิดปัญญา เราก็เข้าไปรู้ทุกข์เห็นทุกข์พยายามละทุกข์อันนั้น เราเป็นคนคิดมากก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องความคิด พอคิดมากมันน้อยลงปัญหาก็ไม่มี คนขี้โกรธเพราะปล่อยให้โกรธมาก ปล่อยให้โกรธบ่อยๆ เลยโกรธเต็มหัวใจแก้ปัญหาไม่ตก เมื่อรู้ว่าเราโกรธเก่งก็พยายามลดให้น้อยลง เจริญเมตตาให้มากขึ้น พอเมตตามากขึ้นๆ ความโกรธก็ลดน้อยลงกลายเป็นคนใจเย็น แก้ตรงทุกข์นั่นเอง พอเห็นทุกข์แล้วก็แก้ทุกข์ได้ เราต้องหมั่นขยันสวดมนต์ ภาวนาเข้าหาธรรมเพื่อเป็นกำไรชีวิต ตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากทาน ศีล ภาวนา เป็นสมบัติติดตัวเราไป แก้วแหวนเงินทอง บ้านช่องเรือนชานก็ให้คนอื่นเขาทำต่อไป ตัวเราก็เอาไปแค่กรรมดีเท่านั้น ส่วนกรรมไม่ดีต้องทิ้ง ถ้าเอาไปก็เป็นทุกข์อีก มาแต่ตัวไปแต่ตัว ไม่ได้อะไร เอาไปได้แค่กรรมเดียว


:b45: บางคนเข้าใจผิดว่า “เอ...มีแต่ความคิดนึก ไม่ได้อะไรเลย นั่งๆ ไปก็มีแต่ความคิดนึก ไม่เห็นได้อะไร ไม่เห็น เห็นอะไร” แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละตัวพยาน ที่เรารู้เรื่องความคิดนึกนั่นแหละเอาจิตไปจดจ่อให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าคิดไปไหน คิดถึงใคร คิดอะไรๆ ให้ตามติดเหมือนกับตำรวจตามผู้ร้าย เห็นตัวแล้วไม่ยอมทิ้งก็จับผู้ร้ายได้

จิตของเราก็เช่นกัน เราก็ตามดูความคิดของเรา คิดอะไรก็ตามดูไปเถอะให้มันจบสิ้นให้ได้ ถ้าไม่ตามดูเราจะไม่รู้เรื่อง บุญบาป เรื่องนรก สวรรค์ นิพพาน ที่จิตได้

บางคนไม่รู้เลยเลิกเลย พอนั่งคิดโน่นคิดคิดนี่ “เลิกดีกว่านอนดีกว่าเมื่อยแล้ว ไม่เอา...” กลัวจิตตัวเองคิดไม่หยุด แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละธรรมะเกิดแล้ว การที่ตามดูจิตตัวเองได้ จะใช้ได้แล้ว แต่ว่าคนเราไปกลัวความคิดตัวเองเลยเลิก นึกว่าไม่สงบ นึกว่านั่งแล้วไม่ได้อะไร นั่นแหละได้แล้ว ถ้าคนไหนรู้ใจตัวเองนั่นแหละใช้ได้ ให้ตามดูใจตัวเองคิดนึกไปเรื่อยไปเลยทั้งวันทั้งคืน จะเว้นก็เวลาหลับ ตื่นขึ้นมาก็ตามดูจิต ภาวนาเรื่อยๆ ตามดูหนักเข้าๆ เราก็จะรู้ทันทีเลย คล้ายว่าตามจิตจน จนน่ะ พอจิตมันจนท่าแล้วมันจะหยุด จะทำให้เรารู้เรื่องต่างๆ ภายในจิตหมด ฉะนั้น การดูจิตนี้คือถูกต้อง ไม่ต้องไปสงสัย


:b45: ธรรมที่เกิดโดยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือธรรมที่เกิดจากพรหมวิหาร ๔ จึงปกครองโดยธรรมที่เป็นพรหมวิหาร ๔ คือที่เราทำวิทยุ ก็คือต้องการให้กระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ เผยแพร่ไปสู่คนทุกคน ว่าจะปกครองโดยธรรม เพราะวิทยุของเราเป็นวิทยุโดยธรรมที่ครูบาอาจารย์มาเทศน์มาสอน ท่านก็เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาสอน พระพุทธเจ้าไม่เคยเกลียดใคร ไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยอิจฉาใคร ไม่เคยริษยาใคร ไม่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวก พระองค์ทรงรวมคนทั้งหมดในชมพูทวีปมาเป็นพุทธบริษัทหมดเลย คนที่เป็นโจรห้าร้อย ร้ายที่สุด ที่คนกลัว พอโจรเข้าบ้านคน คนก็ต้องเอาตัวรอด แต่พระพุทธเจ้าไปหาโจร พระอรหันต์เดินไปหาโจร เข้าไปคุยกับโจรจนรู้เรื่อง จนโจรยอมทิ้งดาบ ทิ้งธนูหน้าไม้ กลับใจมาเป็นพระธรรมด้วยกัน มาเป็นพระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงปกครองโดยธรรม เทศนาธรรม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าไปที่ไหนจึงสงบร่มเย็นที่นั่น ไม่ความแตกแยกสามัคคี พระองค์ทรงละเอียดอ่อนมากในการมีพรหมวิหาร ๔

ถ้านักปกครองทั้งหลาย จะเป็นนายกคนไหนก็ดี เป็นประธานาธิบดีก็ดี เป็นรัฐมนตรีฝ่ายไหนก็ช่าง ขอให้ปกครองโดยธรรม เพราะคนไทยเราเป็นญาติกันทุกคน พระพุทธเจ้าท่านจึงเอาคนในชมพูทวีปมาเป็นญาติกันหมด ขอทานก็เอามาบวชได้ คนจัณฑาลก็เอามาบวชได้ โจรห้าร้อยก็เอามาบวชได้ ไม่มีคนไหนที่พระองค์ทรงรังเกียจ ที่พระองค์ทรงไม่ให้บวช คือ คนที่เป็นบัณเฑาะก์ เป็นกระเทย สองเพศบวชไม่ได้ คนจิตใจวิปริต ได้หน้าลืมหลัง เป็นคนที่หลงๆ ลืมๆ หรือเป็นคนที่ขาดสติสัมปชัญญะ บวชไม่ได้ คนเป็นใบ้ เป็นบ้าบวชไม่ได้ คนพิการบวชไม่ได้ หูหนวกตาบอดทั้งหมดบวชไม่ได้ แขนขากุดพิการบวชไม่ได้ เป็นขี้เน่าเข้าดอก ขี้ทูตขี้เรื้อนบวชไม่ได้ โรคเอดส์นี่ก็บวชไม่ได้นะ แล้วบุคคลที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ก็บวชไม่ได้ เช่น พญานาคปลอมมาบวช หรือเทวดาปลอมมาบวช นี่ก็บวชไม่ได้นะ ต้องเป็นบุรุษที่สมบูรณ์ ดำเกินไปก็บวชไม่ได้ ขาวเกินไปคนเห็นแล้วตกใจ ตัวอะไรเนี่ย ก็บวชไม่ได้ สูงยังกะเปรตนี่ก็บวชไม่ได้ เตี้ยเกินไปก็บวชไม่ได้ นี่่เรายังไม่เตี้ยมาก (หัวเราะ) เตี้ยม่อต้อผิดมนุษย์มนาก็บวชไม่ได้ พระองค์ทรงเลือกมหาบุรุษ เมื่อบวชแล้วทุกคนก็เป็นมหาบุรุษ

ฉะนั้น คนที่บวชพระนี่ คือมหาบุรุษ บุคคลที่เป็นบุรุษอาชาไนย ถ้าเป็นช้างก็เป็นช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย คือบุคคลที่สู้ตายได้ ไม่กลัวตาย อยู่ป่าช้าได้ อยู่ถ้ำได้ อยู่ดงเสือ ดงโจรได้ อยู่ที่อันตรายได้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ได้หมด นี่คือมหาบุรุษ ฉะนั้น สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนแม่ทัพธรรมหรือเหมือนนักรบ รบกับกิเลสนะ ไม่ใช่ไปรบตบตีกับใครนะ (หัวเราะ) นักรบคือ ฆ่าความคิดที่น่ากลัวในใจ ใครที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเรา คนที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุดคือตัวเรา คนที่น่ารักน่าชมก็คือตัวเรา คนอื่นว่าตัวเองน่าเกลียด แต่เราชมตัวเองว่าน่ารัก น่าเกลียดนะ ฉะนั้น บุคคลที่พระองค์ยกย่อง ก็คือมหาบุรุษที่ไม่กลัวตาย ไม่กลัวความแก่ไม่กลัวความเจ็บ


:b45: ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าวางเป็นหลักยึดเหนี่ยวทำให้ทุกคนร่มเย็น เข้าวัดแล้วก็ได้คิดได้ปลงได้ ละได้ปล่อยวางได้ กลับไปบ้านมันก็วุ่นวายต่อ แต่เราก็ไม่ทิ้งหลัก เรายังรู้ว่าเรามีความสุขสงบครั้งหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นทุนเป็นปัจจัยที่ฝังลึกในหัวใจเราว่า ทางดับทุกข์มี ทางเดินที่ไปสู่ความสงบสุขมี แต่ที่วุ่นวายนี่ เรายังเดินไปไม่ถึง เรายังอยู่กับความวุ่นวาย เราก็พยายามทำภาระให้มันหมดไปสิ้นไป ละความห่วงกังวลให้มันน้อยลง มันก็สิ้นทุกข์ไปเอง แต่ถ้าเราเพิ่มความรักความห่วงให้มันมากขึ้นๆ ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะเราปล่อยวางไม่เป็น แต่ถ้าเราปล่อยวางได้ มันจะเกิดมันก็เกิด มันจะดับมันก็ดับ มีความเป็นจริงในหัวใจ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องเกิดมันจะต้องดับ มันไม่เที่ยง

แม้แต่ความรักที่สาบานว่าจะรักกันจนตายมันก็ยังทิ้งกันได้ มันเกิดได้ยังตายจากกันได้ ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยงเลย แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามสัญญานั้นไม่มีหรอก จึงว่าเราเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ศึกษาชีวิตให้มันเป็นธรรมะเสีย เกิดคนเดียว ตายคนเดียว กินคนเดียว นอนคนเดียว ทุกข์คนเดียว ถ้าเรายังช่วยใจตัวเองให้สงบไม่ได้ ก็ช่วยคนอื่นไม่ได้ เราจึงต้องช่วยตัวเองก่อน เมื่อช่วยตัวเองได้ก็ช่วยคนอื่นได้


:b45: สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนแม่ทัพธรรม หรือเหมือนนักรบ รบกับกิเลสนะ ไม่ใช่ไปรบตบตีกับใครนะ นักรบคือ...ฆ่าความคิดที่น่ากลัวในใจ ใครที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเรา คนที่่น่าเกลียดน่ากลัวที่่สุด คือตัวเรา คนที่น่ารักน่าชมก็คือตัวเรา คนอื่นว่าตัวเองน่าเกลียด แต่เราชมตัวเองว่าน่ารัก น่าเกลียดนะ ฉะนั้น บุคคลที่พระองค์ยกย่องก็คือมหาบุรุษที่ไม่กลัวตาย ไม่กลัวความแก่ไม่กลัวความเจ็บ


:b45:


:b45:


:b45: หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เทศน์อบรมพระ : คนไม่สงบไม่เชื่อเรื่องอะไรเลยเพราะความสำรวมกายไม่มี สำรวมวาจาไม่มีด้วย แล้วจะเอาใจใจเป็นสุขตรงไหนมา หลัก ๓ ประการที่จะทำให้มีความสุขคือ หลักสำรวมกาย วาจา ใจเท่านั้นเอง พูดกันแล้วก็ย่อๆ มาตรงนี้ “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

สุขคือการสำรวมกายก็กายของเรามีมีอยู่แล้วนี่ เราก็ทำได้สิไม่ต้องไปหากายคนอื่นหรอก กายคนอื่นก็สุขคนอื่น กายเราก็สุขที่กายเรา การมาบวชเรียนมาประพฤติปฎิบัติจึงได้ รู้จิตตัวเองมากขึ้น

ไม่ติดอดีต ไม่ติดอนาคต พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากเมื่อสำรวมกาย วาจา ใจเป็นหนึ่งเดียวได้ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา และนี่ก็เป็นความสุขของเรา ไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่ไหนเลย เราหาพระพุทธเจ้าที่ใจเรา

การที่เราได้มาพบประชุมร่วมกัน ก็เพื่อจะได้เห็นทัศนวิสัยที่ดีต่อกันว่า สาขาที่ท่านไปอยู่ไม่รู้ว่าท่านเป็นยังไงเมื่อกลับมา ตอนนี้รู้สึกว่าพวกท่านเปลี่ยนแปลง สงบขึ้น สำรวมขึ้น พวกท่านเป็นพระที่รู้จักการประพฤติปฏิบัติมากขึ้น หรือบางท่านก็มาแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ดีต่อกันว่า “ผมไปอยู่ป่าช้าบุ่งมะแลง ผมได้เจอผี ผมได้เอาผีมาเป็นครูได้เอามาทำความเพียร ได้ใช้ชีวิตตรงนี้ดีมาก”

แต่ละฐานะความเป็นอยู่มา สรุปแล้วทุกคนก็ได้ในสิ่งที่แตกต่างกัน รวมแล้วคือได้ไปประพฤติปฏิบัติสำรวมกาย วาจา ใจ กลับมาตรงนี้ เราได้สิ่งที่ดีกลับมาแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน ครูบาอาจารย์ที่เราอยู่ท่านก็เสียสละเวลาเพื่อเรา ตอนไม่มีเราท่านก็อยู่อย่างสบาย ไม่ต้องห่วงกังวลจะบิณฑบาตได้น้อยได้มาก ท่านก็ไม่เดือดร้อน กุฎิจะพออยู่หรือไม่ ฝนฟ้าจะตกจะรั่วท่านก็ไม่เดือดร้อนอะไร เมื่อไม่มีเรา แต่เมื่อเราไปแล้วเนี่ยท่านก็ต้องขนขวาย ท่านต้องเสียสละเพื่อเราที่ทำๆ ไปนั้นไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อหมู่คณะ

อย่างวัดสังฆทานเราเนี่ย ถ้าเราจะทำเพื่อตัวเองไม่ต้องทำอะไรเลยปลูกกุฎิหลังเดียวก็สบายใช่ไหม ? ไม่ต้องสร้างศาลาใหญ่อย่างนี้เลยก็อยู่คนเดียวสร้างให้เหนื่อยทำไม อยู่ไหนก็ได้ แต่ที่ต้องทำนี่

เพราะอะไร ? เรามาเป็นครูบาอาจารย์จึงรู้ เป็นลูกศิษย์เนี่ยเราไม่รู้ เรานึกว่าไม่เห็นจะต้องทำอะไร

ใช่ ! ถ้าอยู่คนเดียวไม่ต้องทำอะไรเลย มีกุฎิหลังเก่าๆ สักหลังอยู่ชายน้ำ ตามถ้ำหรืออยู่ป่าช้า ไม่ต้องทำอะไรนั่นแหละเป็นความสุขไม่ต้องช่วยใครไม่ต้องห่วงใยใคร ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ไม่ต้องบอกบุญไม่ต้องสังคมกับญาติโยมสบายไหมล่ะอยู่คนเดียว แต่เป็นครูบาอาจารย์เป็นหมู่คณะ ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะอะไร เพราะไม่ใช่ปากเดียวท้องเดียวต้องสงเคราะห์หมู่คณะ เพื่อให้คนอื่นเขาได้ใช้ประโยชน์ตรงนั้นให้ได้สะดวกสบายทางจิตใจ ทางกายให้มากขึ้นก็เลยเป็นวัตถุถาวร ที่ทำปีเดียวพังทำสองปีพัง ทำไม่ไหวมุงจากใช้ได้ปีสองปีมันก็รั่วอีกแล้ว เอ...ทำไงดี ก็ต้องไปหาวัตถุถาวรมากลายเป็นก่อสร้างเพื่อส่วนรวม

ถ้าอยากจะสบายทำเพื่อตนเอง ตอนนี้เราได้โอกาสแล้วเรา เป็นพระบวชใหม่ก็ต้องทำตัวให้ถูกว่าอยู่คนเดียวสบายอย่างไร เมื่ออยู่คนเดียวสบายแล้ว สังคมที่เขาแบ่งเบาภาระปัญหาไปจากเราทำยังไงจะตอบแทนสังคมนั้นให้เขาสบายเหมือนเราบ้าง เราจะเอาอะไร กลับคืนให้เขาได้บ้าง ในเมื่อเรามาอาศัยอยู่กับท่าน ท่านต้องรับภาระอะไร ท่านต้องกวาดวัด ท่านต้องทำความสะอาด ท่านต้องบิณฑบาตทำโน้นทำนี่ นี่เป็นภาระของสังคม เราก็จะต้องย้อนกลับไปทำอะไรให้ท่านบ้าง ท่านแบกภาระเราแล้วก็ไม่ได้แบกเราคนเดียว พระ ๑๐ องค์ท่านก็แบกภาระ ๑๐ องค์ เมื่อพวกเราไปอยู่กับท่าน เราต้องเสียสละ อะไรที่ท่านเดือดร้อน เราก็พยายามช่วยให้ท่านสบายให้ท่านเป็นสุขบ้าง ตอบแทนบุญคุณตรงนี้


:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล
facebook Watsanghathan วัดสังฆทาน

http://www.facebook.com/sanghathan


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20372

:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44299

:b44: หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ วัดสังฆทาน ละสังขารแล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=43080

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2019, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร