วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 10:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มี.ค. 2012, 00:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

(ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากต้นฉบับเรื่องประสบการณ์ภาวนา
ซึ่งเคยส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือโลกทิพย์ ในนามสันตินันทอุบาสก)

ผมลังเลใจอยู่นานที่จะเล่าถึงการปฏิบัติธรรมของตนเอง
เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าใครตั้งใจปฏิบัติก็ทำกันได้
แต่ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์รูปหนึ่งคือหลวงพ่อพุธ
ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน ที่ท่านสั่งให้เขียนเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ผมจึง
ต้องปฏิบัติตาม โดยเขียนเรื่องนี้ให้ท่านอ่าน
ผมเป็นคนวาสนาน้อย ไม่เคยรู้เรื่องพระธุดงคกรรมฐานอย่าง
จริงจังมาก่อน จนแทบจะละทิ้งพระพุทธศาสนาไปแล้ว เพราะเกิดตื่นเต้น
กับลัทธิวัตถุนิยม แต่แล้ววันหนึ่ง ผมได้พบข้อธรรมสั้นๆ บทหนึ่งของ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีสาระสำคัญว่า
"จิตส่งออกนอกคือสมุทัย มีผลเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ"
ผมเกิดความซาบซึ้งจับจิตจับใจ และเห็นจริงตามว่า ถ้าจิต
ไม่ออกไปรับความทุกข์แล้ว ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้ทุกข์ จิตใจของผมมัน
ยอมรับนับถือหลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ตั้งแต่นั้น
ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2525 ผมมีโอกาสด้นดั้นไปนมัสการ
หลวงปู่ดูลย์ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อไปถึงวัดของท่านแล้ว เกิดความรู้สึก
กลัวเกรงเป็นที่สุด เพราะท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่และไม่เคยรู้จักอัธยาศัย
ของท่านมาก่อน ประกอบกับผมไม่คุ้นเคยที่จะพบปะพูดจากับพระ
ผู้ใหญ่มาก่อนด้วย จึงรีรออยู่ห่างๆ นอกกุฏิของท่าน
ขณะที่รีรออยู่ครู่หนึ่งนั้น หลวงปู่ดูลย์เดินออกมาจากกุฏิ
ของท่าน มาชะโงกมองดูผม ผมจึงรวบรวมความกล้าเข้าไปกราบท่าน
ซึ่งถอยกลับไปนั่งเก้าอี้โยกที่หน้าประตูกุฏิ แล้วเรียนท่านว่า "ผมอยาก
ภาวนาครับหลวงปู่"
หลวงปู่หลับตานิ่งเงียบไปเกือบครึ่งชั่วโมง พอลืมตาท่าน
ก็แสดงธรรมทันทีว่า การภาวนานั้นไม่ยาก แต่มันก็ยากสำหรับผู้ไม่ภาวนา
ขั้นแรกให้ภาวนา "พุทโธ" จนจิตวูบลงไป แล้วตามดูจิตผู้รู้ไป จะรู้
อริยสัจจ์ 4 เอง (หลวงปู่ท่านสอนศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างกันตาม
จริตนิสัย นับว่าท่านมีอนุสาสนีปาฏิหารย์อย่างสูง) แล้วท่านถามว่าเข้าใจไหม
ก็กราบเรียนว่าเข้าใจ ท่านก็บอกให้กลับไปทำเอา
พอขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพเกิดเฉลียวใจขึ้นว่า ท่านให้เราดูจิต
นั้นจะดูอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนและจะเอาอะไรไปดู ตอนนั้นชัก
จะกลุ้มใจไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ จนจิตสงบลง
แล้วพิจารณาว่าจิตจะต้องอยู่ในกายนี้แน่ หาก
แยกแยะเข้าไปในขันธ์ 5 ถึงอย่างไรก็ต้องเจอจิต จึงพิจารณาเข้าไปที่รูป
ว่าไม่ใช่จิตรูปก็แยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น หันมามองเวทนาแล้วแยกออก
เป็นอีกส่วนหนึ่ง ตัวสัญญาก็แยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นมาแยกตัวสังขาร
คือความคิดนึกปรุงแต่ง โดยนึกถึงบทสวดมนต์ เห็นความคิดบทสวดมนต์
ผุดขึ้น และเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถึงตอนนี้ก็เลยจับเอาตัวจิตผู้รู้ขึ้นมาได้
หลังจากนั้น ผมได้ตามดูจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถรู้ว่า ขณะนั้น
เกิดกิเลสขึ้นกับจิตหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นและรู้ทัน กิเลสมันก็ดับไปเอง เหลือแต่
จิตผู้รู้ ซึ่งรู้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆ อย่างเป็นอิสระจากกิเลส
และอารมณ์ต่างๆ ต่อมาภายหลังผมได้หาหนังสือธรรมะมาอ่าน จึงรู้ว่าใน
ทางปริยัติธรรมจัดเป็นการจำแนกรูปนาม จัดเป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว
แต่ในเวลาปฏิบัตินั้น จิตไม่ได้กังวลสนใจว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นใด
ปฏิบัติอยู่ 3 เดือน จึงไปรายงานผลกับหลวงปู่ดูลย์ว่า
"ผมหาจิตเจอแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป"
คราวนี้ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งมากมาย เกี่ยวกับ
การถอดถอนทำลายอุปาทานในขันธ์ 5 ท่านสอนถึงกำเนิดและการทำงาน
ของจิตวิญญาณ จนถึงการเจริญอริยมรรค จนมีญาณเห็นจิตเหมือนมี
ตาเห็นรูป
ท่านสอนอีกว่า เมื่อเราดูจิต คือตามรู้จิตเรื่อยๆ ไปนั้น สิ่ง
ปรุงแต่งจะดับไปตามลำดับ จนถึงความว่าง
แต่ในความว่างนั้นยังไม่ว่างจริง มันมีสิ่งละเอียดเหลืออยู่คือ
วิญญาณ ให้ตามรู้จิตเรื่อยๆ ไป ความยึดในวิญญาณจะถูกทำลายออกไปอีก
แล้วจิตจริงแท้หรือพุทธะ(หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ) จึงปรากฎออกมา
คำสอนครั้งนี้ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนฝนตกทั่วฟ้า แต่ภูมิปัญญา
ของผมมีจำกัด จึงรองน้ำฝนไว้ได้เพียงถ้วยเดียว คือได้เรียนถามท่านมา
"ที่หลวงปู่สอนมาทั้งหมดนี้ หากผมจะปฏิบัติด้วยการดูจิตไปเรื่อยๆ
จะพอไหม"
หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า "การปฏิบัติก็มีอยู่เท่านั้นแหละ แม้จะ
พิจารณากายหรือกำหนดนิมิตหมายใดๆ ก็เพื่อให้ถึงจิตถึงใจตนเองเท่านั้น
นอกจากจิตแล้วไม่มีสิ่งใดอีก พระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ก็รวมลงที่
จิตตัวเดียวนี้เอง
หลังจากนั้นผมก็เพียรดูจิตเรื่อยๆ มา มีสติเมื่อใดดูเมื่อนั้น
ขาดสติแล้วก็แล้วกันไป นึกขึ้นได้ก็ดูใหม่ เวลาทำงานก็ทำไป พอเหนื่อยหรือ
เครียดก็ย้อนดูจิต เลิกงานแล้วแม้มีเวลาเล็กน้อยก็ดูจิต ดูอยู่นั่นแหละ ไม่นาน
ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
วันหนึ่งของอีก 4 เดือนต่อมา ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นปลายเดือน
กันยายน 2525 ได้เกิดพายุพัดหนัก ผมออกจากที่ทำงานเปียกฝนไปทั้งตัว
และได้เข้าไปหลบฝนอยู่ในกุฏิพระหลังหนึ่งในวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ได้นั่งกอด
เข่ากับพื้นห้องเพราะไม่กล้านั่งตามสบายเนื่องจากตัวเราเปียกมากกลัวกุฏิ
พระจะเลอะมาก พอนั่งลงก็เกิดเป็นห่วงร่างกายว่า ร่างกายเราไม่แข็งแรง
คราวนี้คงไม่สบายแน่
สักครู่ก็ตัดใจว่า ถ้าจะป่วยมันก็ต้องป่วย นี่กายยังไม่ทันป่วยใจ
กลับป่วยเสียก่อนแล้วด้วยความกังวล พอรู้ตัวว่าจิตกังวลผมก็ดูจิตทันที
เพราะเคยฝึกดูจนเป็นนิสัยแล้ว
ขณะนั้นนั่งกอดเข่าลืมตาอยู่แท้ๆ แต่ประสาทสัมผัสทางกายดับ
หายไปหมด โลกทั้งโลก เสียงฝน เสียงพายุหายไปหมด เหลือแต่สติที่ละเอียด
อ่อนประคองรู้อยู่เท่านั้น (ไม่รู้ว่ารู้อะไรเพราะไม่มีสัญญา)
ต่อมามันมีสิ่งละเอียดๆ ผ่านมาสู่ความรับรู้ของจิตเป็นระยะๆ
แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายใดๆ
ต่อมาจิตมีอาการไหวดับวูบลง สิ่งที่ผ่านมาให้รู้ดับไปหมดแล้ว
แล้วก็รู้ชัดเหมือนตาเห็นว่า ความว่างที่เหลืออยู่นั้น ถูกแหวกพรวดอย่างรวด
เร็วและนุ่มนวลออกไปอีก กลายเป็นความว่างที่บริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง
ในความว่างนั้น จิตซึ่งเป็นอิสระแล้วได้อุทานขึ้นว่า "เอ๊ะ จิต
ไม่ใช่เรานี่"
จากนั้นจิตได้มีอาการปิติยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น พร้อมๆ กับ
เกิดแสงสว่างโพลงขึ้นรอบทิศทาง จากนั้นจิตจึงรวมสงบลงอีกครั้งหนึ่ง
แล้วถอนออกจากสมาธิ เมื่อความรับรู้ต่างๆ กลับมาสู่ตัวแล้ว ถึงกับอุทาน
ในใจ(จิตไม่ได้อุทานอย่างทีแรก)ว่า "อ้อ ธรรมะเป็นอย่างนี้เอง เมื่อจิตไม่ใช่
ตัวเราเสียแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เป็นตัวเราอีกต่อไป"
เมื่อผมไปกราบหลวงปู่ดูลย์ และเล่าเรื่องนี้ให้ท่านทราบ พอเล่า
ว่าสติละเอียดเหมือนเคลิ้มๆ ไป ท่านก็อธิบายว่า จิตผ่านฌานทั้ง 8
ผมได้แย้งท่านตามประสาคนโง่ว่า ผมไม่ได้หัดเข้าฌาน และไม่ได้
ตั้งใจจะเข้าฌานด้วย
หลวงปู่ดูลย์อธิบายว่า ถ้าตั้งใจก็ไม่ใช่ฌาน และขณะที่จิตผ่าน
ฌานอย่างรวดเร็วนั้น จิตจะไม่มานั่งนับว่ากำลังผ่านฌานอะไรอยู่ การดูจิต
นั้นจะได้ฌานโดยอัตโนมัติ (หลวงปู่ไม่ชอบสอนเรื่องฌาน เพราะเห็นเป็น
ของธรรมดาที่จะต้องผ่านไปเอง หากสอนเรื่องนี้ ศิษย์จะมัวสนใจฌาน
ทำให้เสียเวลาปฏิบัติ)
พอผมเล่าว่าจิตอุทานได้เอง หลวงปู่ก็บอกอาการต่างๆ ที่ผม
ยังเล่าไม่ถึงออกมาตรงกับที่ผมผ่านมาแล้วทุกอย่าง แล้วท่านก็สรุปยิ้มๆ
ว่า จิตยิ้มแล้ว พึ่งตัวเองได้แล้ว ถึงพระรัตนตรัยแล้ว ต่อไปนี้ไม่จำเป็น
ต้องมาหาอาตมาอีก
แล้วท่านแสดงธรรมเรื่อง จิตเหนือเหตุ หรือ อเหตุกจิต ให้ฟัง
มีใจความว่า อเหตุกจิต มี 3 ประการคือ
1. ปัญจทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของจิตขึ้นรับรู้อารมณ์
ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
2. มโนทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของใจขึ้นรับรู้อารมณ์ทางใจ
3. หสิตุปปาท หรือจิตยิ้ม เป็นการแสดงความเบิกบานของจิตที่
ปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง เพื่อแสดงความมีอยู่ของจิตซึ่งไม่มี
ตัวตนให้ปรากฏออกมาสู่ความรับรู้
อเหตุกจิต 2 อย่างแรกเป็นของสาธารณะ มีทั้งในปุถุชนและ
พระอริยเจ้าแต่จิตยิ้มเป็นโลกุตรจิต เป็นจิตสูงสุด เกิดขึ้นเพียง 3 - 4 ครั้ง
ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์
หลังจากนั้นผมก็ปฏิบัติด้วยการดูจิตเรื่อยมา และเห็นว่าเวลามีการ
กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จะมีคลื่นวิ่งเข้าสู่ใจ หรือบางครั้งก็มี
ธรรมารมณ์เป็นคลื่นเข้าสู่ใจ
หากขณะนั้นขาดสติ จิตจะส่งกระแสไปยึดอารมณ์นั้น ตอนนั้น
จิตยังไม่ละเอียดพอ ผมเข้าใจว่าจิตวิ่งไปยึดอารมณ์แล้วขยับๆ ตัวเสวย
อารมณ์อยู่จึงไปเรียนให้หลวงปู่ดูลย์ทราบ
ท่านกลับตอบว่า จิตจริงแท้ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ผมได้มาดูจิตต่ออีกสักครึ่งปีต่อมา วันหนึ่งจิตผ่านเข้าสู่
อัปปนาสมาธิและเดินวิปัสสนาคือมีสิ่งให้รู้ผ่านมาสู่จิต แต่จิตไม่มีความสำคัญ
มั่นหมายว่าคือสิ่งใด จากนั้นเกิดอาการแยกความว่างขึ้นแบบเดียวกับเมื่อ
จิตยิ้ม คราวนี้จิตพูดขึ้นเบาๆ ว่า จิตไม่ใช่เรา แต่ต่อจากนั้นแทนที่จิตจะยิ้ม
จิตกลับพลิกไปสู่ภูมิของสมถะ ปรากฏนิมิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์โผล่ผุด
ขึ้นจากสิ่งห่อหุ้ม แต่โผล่ไม่หมดดวง เป็นสิ่งแสดงให้รู้ว่ายังไม่ถึงที่สุดของ
การปฏิบัติ
ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การดำเนินของจิตในขั้น
วิปัสสนานั้นหากสติอ่อนลง จิตจะวกกลับมาสู่ภูมิของสมถะ และวิปัสสนูปกิเลส
จะแทรกเข้ามาตรงนี้ถ้าไม่กำหนดรู้ให้ชัดเจนว่า วิปัสสนาพลิกกลับเป็นสมถะไป
แล้ว นักปฏิบัติจึงต้องระวังให้มากโดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยพบกับจิตยิ้ม
(สำนวนของหลวงปู่ดูลย์) หรือใจ (สำนวนของหลวงปู่เทสก์) หรือจิตรวมใหญ่
(สำนวนของท่านอาจารย์สิงห์)
เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ว่า ดีแล้ว ให้ดูจิตต่อไป
ผมก็ทำเรื่อยๆ มา ส่วนมากเป็นการดูจิตในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยได้
นั่งสมาธิแบบเป็นพิธีการ ต่อมาอีก 1 เดือน วันหนึ่งขณะนั่งสนทนาธรรมอยู่กับ
น้องชาย จิตเกิดรวมวูบลงไป มีการแยกความว่างซึ่งมีขันธ์ละเอียด(วิญญาณขันธ์)
ออกอีกทีหนึ่ง แล้วจิตก็หัวเราะออกมาเองโดยปราศจากอารมณ์ (ร่างกายไม่ได้
หัวเราะ) มันเป็นการหัวเราะเยาะกิเลสว่า มันผูกมัดมานาน ต่อๆ ไป จิตจะเป็นอิสระ
ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
เหตุการณ์นี้ทำให้ได้ความรู้ชัดว่า ทำไมเมื่อครั้งพุทธกาล จึงมีผู้รู้
ธรรมในขณะฟังธรรมเกิดขึ้นได้เป็นจำนวนมาก
ผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ คราวนี้ท่านไม่ได้สอนอะไรอีก
เพียงแต่ให้กำลังใจว่า ให้พยายามทำให้จบเสียแต่ในชาตินี้ หลังจากนั้นไม่นาน
ท่านก็มรณภาพ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่ง เคยสั่งให้ผม
เขียนเรื่องการปฏิบัติของตนเองออกเผยแพร่ เพราะอาจมีผู้ที่มีจริตคล้ายๆ กัน
ได้ประโยชน์บ้าง ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อสนองคำสั่งครูบาอาจารย์ และเพื่อ
รำลึกถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ผู้เปี่ยมด้วยอนุสาสนีปาฏิหารย์ รวมทั้งหวังว่าจะเป็น
ประโยชน์สักเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังแสวงหาหนทางปฏิบัติอยู่

ที่มา http://www.champa.kku.ac.th/katekaew/tr ... 1%E0%B9%88)%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1.htm


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร