วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 08:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2012, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มี.ค. 2007, 05:14
โพสต์: 377

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปฐมมรณัสสติสูตร ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๒๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่พักสร้างด้วยอิฐ
ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วว่า พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
มรณสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมเจริญมรณสติหรือ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวสี่คำกลืนกิน
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวคำหนึ่งกลืนกิน
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กรรบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

ภ. ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล.

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ก็ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ก็ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
และภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวสี่ห้าคำกลืนกิน
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ประมาท
เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า

ส่วนภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวคำหนึ่งกลืนกิน
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
และภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
ย่อมเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแรงกล้า
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาท
จักเจริญมรณสติอย่างแรงกล้า เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

ปฐมมรณัสสติสูตร จบ


(ปฐมมรณัสสติสูตร สาราณียาทิวรรค
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๖)


ทุติยมรณัสสติสูตร ว่าด้วยวิธีเจริญมรณสติให้มีผลมาก


[๒๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่พักสร้างด้วยอิฐ
ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ก็มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ
คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา
เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้ว พึงเป็นโทษ ดีของเราพึงกำเริบ
เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบ
เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนยังมีอยู่
ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้
พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ผ้าโพกศีรษะ หรือไฟที่ศีรษะนั้น ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ
คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา
เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้ว พึงเป็นโทษ ดีของเราพึงกำเริบ
เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบ
เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอ
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวันยังมีอยู่
ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้
พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ผ้าโพกศีรษะ หรือไฟที่ศีรษะนั้น ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

ทุติยมรณัสสติสูตร จบ

(ทุติยมรณัสสติสูตร สาราณียาทิวรรค
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๖)
:b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8:
:b45: :b45: :b45: :b45: :b45: :b45: :b45: :b45: :b45:

.....................................................
ความพอดีในการพูดก็คือ พูดเมื่อจำเป็นต้องพูดและพูดแต่พอประมาณ หยุดพูดเมื่อหมดเรื่องที่จะพูดแล้ว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 73 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร