วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2011, 20:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


อารมณ์อัพยากฤตนั้น ไม่มีปรุงแต่ง จึงไม่มีอุปาทาน พ้นทุกข์ได้ก็ด้วยอารมณ์นี้
โดยปกติของผู้ที่มีศีลทรงตัวแล้ว พระท่านย่อมคุมจิตของผู้นั้นอยู่
คนมักสอบตกเมื่อได้ฌานที่ ๓
ธรรมะมีแต่ปัจจุบัน รักษาอารมณ์ปัจจุบันให้ดีๆ สุข-ทุกข์พ้นได้ที่ตรงนี้
บารมี ๑๐ เต็ม ก็ตัดสังโยชน์ ๑๐ ลงได้เด็ดขาด
อานาปาเป็นฐานใหญ่ในการทำจิตให้สงบเป็นสุข และระงับเวทนาของกายได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ ท่านก็ไม่ทิ้งอานาปา
มรณานุสสติจึงเป็นกรรมฐานที่ใช้ตัดกิเลสได้ฉับพลันทันใด


พระพุทธเจ้าองค์ปฐม
..............................

ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๖ เดือนกันยายน ๒๕๔๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


...............................

ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๖ เดือนกันยายน ๒๕๔๖

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ให้ยอมรับสัทธรรม คนเกิดมามีร่างกายแล้วไม่มีทุกข์ไม่มี ทุกคนเกิดมาก็ต้องแก่-ต้องป่วย-ต้องตายไปในที่สุด มองให้เห็นเป็นธรรมดา ทำใจให้สบาย แม้ร่างกายจักเหน็ดเหนื่อยก็จงทำใจให้สบาย ให้รู้ว่าการมีร่างกายก็ต้องทุกข์ เพราะการเหน็ดเหนื่อยในการทำงานอย่างนี้

๒. คนมักสอบตกเมื่อได้ฌานที่ ๓ ฌานเกิดจากอานาปานัสสติเมื่อเจริญฌานได้ตามลำดับ จากปฐมฌาน-ทุติยฌาน คำภาวนาหายไป พอเข้าฌานที่ ๓ จิตกับกายแยกออกจากกันมากขึ้น ตัวก็จะแข็ง-เกร็ง เคลื่อนไหวไม่ได้ แม้จิตจะพยายามให้กายเคลื่อนไหว มันก็ไม่ยอมรับคำสั่งของจิต พวกวิตกจริต-โมหะจริตสูง มีความกลัวตายมาก พอขยับตัวไม่ได้-ตัวแข็งทื่อก็พยายามดิ้นรนจนจิตหลุดจากฌาน สอบตกกันตรงจุดนี้แหละ ผู้ฉลาดเขาไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าเขาคือจิตเป็นอมตะไม่เคยตาย ผู้ตายคือร่างกาย จิตเขาสนใจแต่การทำจิตให้เป็นสุข ไม่สนใจเรื่องของกาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จิตก็ผ่านเข้าสู่ฌาน ๔ ได้ จิตสงบเป็นสุข ฌาน ๔ นี้ มี ๓ ระดับ หยาบ-กลาง-ละเอียด ปฏิบัติถึงแล้วก็จะรู้ได้ด้วยตนเองเฉพาะตน

๓. จงอย่าสงสัย หรือลังเลกับสิ่งที่รู้ได้โดยไม่ต้องกำหนดจิตทรงให้เชื่ออารมณ์แรกที่จิตสัมผัสรู้โดยมิได้ตั้งใจไว้ก่อน หากไปปรุงแต่งธรรมเข้าอุปาทานก็กินจิต เสียท่ากิเลสทุกครั้งที่ปรุงแต่งธรรม ความกังวล-สงสัย ถ้าไม่ตัด กรรมฐานไม่มีผล เพราะโดยปกติของผู้ที่มีศีลทรงตัวแล้ว พระท่านย่อมคุมจิตของผู้นั้นอยู่ จงอย่าลืมว่าอารมณ์อัพยากฤตนั้น ไม่มีปรุงแต่ง จึงไม่มีอุปาทาน พ้นทุกข์ได้ก็ด้วยอารมณ์นี้

๔. รักษากำลังใจให้ดี เรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ให้ลงธรรมดาเสียให้หมด ธรรมะมีแต่ปัจจุบัน รักษาอารมณ์ปัจจุบันให้ดีๆ สุข-ทุกข์พ้นได้ที่ตรงนี้ เพราะหากอยู่ในปัจจุบัน อดีต-อนาคตก็เกิดไม่ได้ แล้วตัวปัจจุบันอยู่ที่ไหน คำตอบก็คืออยู่ที่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก หรืออานาปานัสสตินั่นเอง ดังนั้น อยากรักษากำลังใจให้ดี ก็ต้องอยู่ในอานาปานัสสติ

๕. สติที่ไม่ดีขาดความแจ่มใส ก็เพราะขาดอานาปานัสสติ การรักษากำลังใจตั้งมั่น จึงต้องพยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกให้มากๆ สติจักได้ดี และแจ่มใส จักเป็นพระอริยเจ้าระดับไหนก็ตาม เขาไม่ทิ้งลมหายใจเข้าออกกัน

๖. พุทโธเข้าไว้ปลอดภัยทุกอย่าง จงทำใจให้สบาย ใครเขาจักเล่นคุณไสยอย่างไร ก็เรื่องของเขา จงทำใจเป็นผู้ไม่รับในสิ่งที่เขาให้ กรรมเหล่านี้ก็จักตกกับเขาเอง พุทโธเข้าไว้ปลอดภัยทุกอย่าง จงอาศัยอำนาจพุทธคุณ-ธัมมคุณ-สังฆคุณ รักษาตนให้พ้นภัยจากพาลทั้งปวง จงอย่าจำ-จงอย่างระลึก หรือไปนึกถึงเขาเหล่านั้น อย่าไปคิดว่าเขาเป็นอย่างไร-เขาทำอย่างไร ให้คิดแต่เพียงว่าทุกอย่างอนัตตาไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ ลบล้างสัญญาตอนนี้ไปให้หมดแล้วจิตจักสบาย กรรมทุกอย่างก็จักไปตกแก่ผู้กระทำเอง ให้ใช้คาถาของสมเด็จองค์ปฐม ที่ว่า "พุทโธ-ธัมโม-สังโฆ อัปมาโณ ปัด-ตัด ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา" แล้วภาวนาอนันตาๆ ไปก็ได้

๗. ท่านพระสมปองสร้างพระยันสงคราม ท่านสร้างพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือพระพุทธกกุสันโธ-พระพุทธโกนาคม-พระพุทธกัสสป-พระพุทธสมณโคดมณ์ และสมเด็จองค์ปฐม(สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพล) แล้วนำไปประดิษฐานไว้ตามภาคต่างๆ เพื่อยันสงคราม

๘. จงอย่ากังวลเรื่องรายรับ-รายจ่ายของการหล่อพระ ทุกอย่างตถาคตจักช่วยให้งานราบรื่นเป็นไปด้วยดี จงอย่ากังวลอันใดทั้งหมด อธิษฐานจิตให้ดีๆ แล้วทุกอย่างก็จักดีเอง

๙. พระวิสุทธิเทพองค์หลังที่จักประดิษฐานอยู่ตึกอำนวยการนั้น ก็มีอานุภาพยันสงคราม ทำให้วัดท่าซุงปลอดภัยจากสงครามเช่นกัน และถ้าอธิษฐานให้ดีๆ ก็จะทำให้สถานการณ์ในวัดท่าซุงดีขึ้นได้ รวมทั้งสามารถพิชิตมาร คือพวกทำคุณไสยเล่นอวิชชามนต์ดำได้เช่นกัน

๑๐. จิตคือตัวเรา จึงควรรักษาจิตให้มาก ทำใจให้สบาย จงอย่าไปคิดอะไรให้มากไปกว่าการทำจิตให้สบาย ร่างกายนี้อยู่ไม่นาน แต่จิตนั้นอยู่อีกนาน แม้จักไปอยู่ดินแดนที่พ้นทุกข์ก็จิตนั่นแหละเป็นผู้อยู่ ดังนั้นพึงรักษาจิตให้มาก คำนึงถึงการรักษาจิตให้มากด้วย

๑๑. จงทำปัจจุบันให้เป็นสุข ทำใจให้ดี จงอย่ากังวลกับสิ่งใดๆ ทั้งปวง ไม่ว่าเรื่องงานส่วนตัว-เรื่องงานของวัด ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกฎของกรรม ทำเท่าที่จักทำได้ จงอย่ากังวลกับการงานที่ยังไม่ได้ทำ จับตามองดูจิตของตนเอง จงอย่าให้มีความดิ้นรนไปด้วยกระแสของความหวั่นไหวทั้งปวง

๑๒. หากจิตไม่สงบ ปัญญาก็ไม่เกิด ทำใจให้สบาย ทำอะไรอย่ารีบร้อน จิตที่สงบย่อมมีปัญญาพิจารณาในธรรม ได้ดีกว่าจิตที่เร่าร้อนเร่งรีบ พยายามให้เยือกเย็นเข้าไว้ จิตจักได้มีความสุข ให้พยายามปล่อยวางจริยาของผู้อื่นด้วย

๑๓. ทำใจให้ดีเสียอย่างเดียว ทุกอย่างดีหมด ไม่มีอะไรเป็นโทษถ้าใจดีเสียแล้ว ภาระของร่างกายก็มีอยู่ ทำตามปกติแต่ให้มุ่งทำภาระของจิตใจให้มาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ต้องการไปพระนิพพานทุกคน

๑๔. โลกไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-เป็นอนัตตา ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ตามวาระของกฎของกรรม จงอย่าคิดว่าจักมีอะไรในโลกนี้ที่เที่ยงแท้แน่นอน จงเห็นความผันผวนปรวนแปรของปกติโลก มีแต่จิตของตนเท่านั้น ถ้าฝึกปรือให้เป็นโลกุตรแล้ว นั่นแหละจึงเป็นของเที่ยง พยายามไปให้ถึงที่สุดของทุกข์ ฝึกฝนจนจิตสำรอกกาม ไม่ว่าจักเป็นกามตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา ความปรารถนาใดๆ ไม่มีอยู่ในจิตแล้ว มีแต่ความสงบ คงที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของธรรมดา จิตไม่ติดอยู่ในธรรมดานั้นๆ ความผ่องใสเบาใจก็จักเกิด เมื่อเกิดแล้วจักต้องใช้ปัญญาพิจารณา ใช้ปัญญาประคองความผ่องใสเบาใจนั้น ให้มีอยู่ในจิตอย่างต่อเนื่องไปด้วย ไม่เสื่อมคลาย

๑๕. กำลังใจเท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม ความดีหรือความชั่ว จักปรากฎได้ก็เพราะกำลังใจ ให้มุ่งจุดนี้เป็นสำคัญ บารมี ๑๐ จึงทิ้งไม่ได้ ต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอ เพราะถ้าทานบารมีเต็ม ตัดโลภได้ ศีลบารมีเต็มตัดโกรธ เนกขัมมะเต็ม ตัดกามารมณ์ได้ ปัญญาเต็มตัดกิเลสได้ขาด วิริยะเต็ม ก็หมดขี้เกียจ ขันติเต็ม ก็ทนต่อความชั่วเข้ามากระทบได้ สัจจะเต็ม ก็ตัดความโลเลในการปฏิบัติธรรมได้ อธิษฐานเต็ม ก็ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว เมตตาเต็ม ก็พ้นภัยตนเอง คือภัยจากอารมณ์จิตตนเอง ทำร้ายจิตตนเอง อุเบกขาเต็ม ก็ตัดทุกข์ที่เกิดแก่กาย อะไรเกิดกับกาย ก็เป็นเรื่องของกาย และจิตได้มีอารมณ์วางเฉยได้ (สังขารุเบกขาญาณ) ดังนั้นหากบารมี ๑๐ เต็ม ก็ตัดสังโยชน์ ๑๐ ลงได้เด็ดขาด

๑๖. สังขารเป็นของไม่เที่ยง จงอย่าไปติดใจกับสังขาร เพราะถ้าคิดว่าเที่ยง จิตก็ทุกข์อยู่ เพราะความกังวลนั้น พิจารณาตามความเป็นจริงให้เห็นความจริง แล้วความสุขใจก็จักบังเกิดเบาใจได้เลยในการเห็นธรรมดานั้นๆ จิตผู้ฉลาดจะไม่ไหวไปกับอายตนะสัมผัสนั้นๆ อยู่ในอารมณ์สักแต่ว่า ไม่ปรุงแต่ง-ไม่เกาะติด เห็นสิ่งเหล่านั้นว่าไม่เที่ยง ยึดเข้าไปก็ทุกข์ทำใจให้สบาย อย่าไปหนักใจกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด ให้ถือเป็นเรื่องธรรมดา

๑๗. ให้ยอมรับกฎของกรรม จงอย่าวุ่นวาย มองทุกอย่างให้เห็นตามความเป็นจริง ทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมดา คนดีหรือไม่ดีธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้นเป็นปกติ จิตเราไปวุ่นวายกับเขาก็เป็นอันว่าเราเป็นผู้ไม่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ให้ทำใจเสียใหม่ ถ้าหากทำใจได้ อารมณ์ก็จักแจ่มใส เบาใจได้ตลอดเวลา อารมณ์สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น ต้องนำไปปฏิบัติให้ได้จริงจัง และให้กำหนดรู้อารมณ์นี้เสมอ จักเป็นที่ตั้งแห่งความสันโดษ ยังจิตให้สงบเป็นสุขอย่างแท้จริง

๑๘. หากเลิกกลัวตายได้แม้เพียงชั่วคราว กิเลสทุกตัวก็ถูกระงับได้ทันที คนที่ยังกลัวตายอยู่ ก็เพราะหลงคิดว่าขันธ์ ๕ หรือร่างกายเป็นเรา-เป็นของเรา ยังมีอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เต็มจิต บาลีว่าสักกายทิฏฐิ เราคือจิตซึ่งเป็นอมตะไม่เคยตาย มาอาศัยกายอยู่ชั่วคราว จัดว่าเป็นหลงตัวจริง จึงเกาะเปลือกตนเอง เกาะผู้อื่น เกาะญาติ เกาะเพื่อน แม้แต่วัตถุธาตุต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

๑๙. อานาปาเป็นฐานใหญ่ในการทำจิตให้สงบเป็นสุข และระงับเวทนาของกายได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ ท่านก็ไม่ทิ้งอานาปา เมื่อยังมีชีวิตอยู่จงอย่าทิ้งอานาปา อย่าทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน แต่ไม่หลงติดอยู่ อาศัยเพียงแค่ใช้ระงับเวทนาของกาย และใช้เป็นกำลังช่วยให้จิตพิจารณาตัดกิเลสให้หมดไป เพื่อเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้น หมดกายแล้วก็หมดความจำเป็นต้องใช้


๒๐. ให้หมั่นถามจิตบ่อยๆ ว่า หากกายตายแล้วจักไปไหน เพราะมรณานุสสติเป็นนิพพานสมบัติ ใครนึกถึงความตายบ่อยเท่าไหร่ ความประมาทก็น้อยลงเพียงนั้น ในบางครั้งจิตมันดื้อ ก็ให้ถามมันว่าหากกายตายขณะนี้ เจ้าจะไปไหน คนฉลาดรู้ทุกคนว่า หากตายในอารมณ์โกรธ จะลงนรกขุมใดขุมหนึ่ง หากตายในอารมณ์โลภ จะเป็นเปรตประเภทใดประเภทหนึ่ง และหากตายในอารมณ์หลงจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน มรณานุสสติจึงเป็นกรรมฐานที่ใช้ตัดกิเลสได้ฉับพลันทันใด ถามบ่อยๆ จิตจักคลาย ปล่อยวางปัญหาทางโลกไปได้ตามลำดับ


รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

.............................

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๖ เดือนกันยายน ๒๕๔๖
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อหรือพระอริยเจ้าทั้งหลายในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ


…………………………………


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2011, 21:38 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร