วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2011, 15:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


กายป่วยมิใช่อุปสรรค จิตป่วยตามกายคืออุปสรรค

พระพุทธเจ้าองค์ปฐม
................................
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พศ ๒๕๔๒ ตอนหนึ่ง
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

..................................

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอน ไว้ดังนี้

๑. กายป่วยมิใช่อุปสรรค จิตป่วยตามกายคืออุปสรรค เจ้าไปพิจารณาว่า บุคคลส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติธรรมมีร่างกายป่วย แล้วเป็นอุปสรรคใหญ่ของการปฏิบัติธรรม ซึ่งก็เป็นการเข้าใจถูกแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น จักกล่าวสรุปโดยความนัยแล้ว ผู้ที่เห็นร่างกายป่วยเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจถึงความเป็นจริงของร่างกาย จิตต่างหากที่สร้างอุปสรรคให้เกิดขึ้นมาเป็นเวทนา ยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายป่วยเป็นอุปสรรค ซึ่งที่แท้จริงแล้วกรรมเป็นผู้บ่งชี้วิถีของร่างกายของแต่ละบุคคล ทุกชีวิตของร่างกายย่อมเป็นไปตามอำนาจกฎของกรรม ทุกชีวิตที่อุบัติขึ้นในไตรภพนี้ ย่อมมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรม แปลว่าการกระทำ สรรพสัตว์ที่ไม่รักษาศีลปาณาติบาต ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ยิ่งมีร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มีความพร่องอยู่เป็นนิจ เป็นปกติธรรมของร่างกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมดาทั้งสิ้น

จิตที่ไม่รู้เท่าทันไปฝืนสภาวธรรมที่เป็นปกติต่างหาก ที่สร้างความทุกข์ให้เกิดกับจิต ถ้าหากจิตผู้ปฏิบัติธรรมรู้อย่างนี้ยังจักคิดว่าร่างกายป่วย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมหรือไม่ (ก็รับว่าเป็นอุปสรรค) แต่เรื่องเหล่านี้จักพูดได้แต่กับผู้ที่เป็นบัณฑิตเท่านั้น อย่าไปพูดกับคนพาล เนื่องจากเขาจักพาลเอาว่า ลองมาป่วยเองบ้างซิ ถึงจักรู้ว่าอาการเวทนานั้นเป็นอย่างไร พูดแล้วให้ได้ประโยชน์ เรื่องของพุทธศาสนามีเหตุมีผลก็จริงอยู่ แต่ตถาคตก็หลีกเลี่ยงที่จักสอนคนพาล หรือบุคคลที่ไม่เข้าถึงธรรม การรู้เรื่องขันธ์ ๕ ให้ครบทั้ง ๕ ตัว แล้ววางว่าไม่ใช่เรา มิใช่ของง่าย แต่ถ้าหากสนใจศึกษาปฏิบัติจริงก็ย่อมทำได้ ทรงอารมณ์ให้รู้ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นผู้อาศัย ไม่ติดอยู่ด้วย หมั่นชำระล้างจิตออกจากกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม การทรงอารมณ์นี้ก็จักเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ และถ้าหากไม่ละความเพียร การตัดขันธ์ ๕ ก็เป็นของไม่ยาก

๒. ฟังเทศน์แล้วจำไม่ได้ นึกไม่ออก จึงต้องขอขมาพระรัตนตรัย เพื่อนผมฟังเทศน์เสียงตามสายตอนตี ๔ ซึ่งเป็นเสียงของหลวงพ่อฤๅษีท่านสอนทุกวันตอนตี ๔ ตอนเช้าหลวงพ่อท่านถามว่า ท่านเทศน์เรื่องอะไร เพื่อนผมท่านตอบว่าจำไม่ได้แล้วค่ะ หลวงพ่อทานก็หัวเราะเปรยว่า “แหม! นี่ถ้าคนเขาด่ามา นินทามา ถ้าเอ็งลืมได้อย่างนี้ก็ดีซินะ ไอ้ขี้หมา ทีคำสอนกลับลืมได้ลืมดี แต่ความไม่ดีกลับจำได้ขึ้นใจ” ทรงตรัสว่า “นั่นแหละเป็นปกติจิตของปุถุชนที่มักจักตกอยู่ในห้วงแห่งอกุศลกรรมบังคับ จิตไหลลงสู่เบื้องต่ำอยู่เสมอ การละกิเลสจักต้องฝืนจิตเดิม อันซึ่งเคยจำแต่ในสิ่งที่ไม่ดี ให้กลับมาจำในสิ่งที่ดี อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องผิดธรรมดา อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องธรรมดา จิตเดิมเคยจำ แต่ในสิ่งที่ไม่ดีมานับอเนกชาติไม่ถ้วน จึงเป็นของไม่ง่ายนัก ที่จักละซึ่งนิสัยเดิมเหล่านี้ ให้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาย้อนรอยถอยหลังไป ความจำในสิ่งที่ไม่ดีสร้างความเดือดร้อนให้กับจิตมากขนาดไหน ไม่ว่าจักจำอยู่ในความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็ทำให้จิตเดือดร้อนมาโดยตลอด แล้วให้หาเหตุของความโกรธ ความโลภ ความหลง มาจากไหน ล้วนแล้วมาแต่ขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น

ใครด่า ใครนินทา ใครทำร้าย ก็เนื่องด้วยขันธ์ ๕ เป็นเหตุ จิตไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราเป็นของเรา จึงจำอยู่ในความโกรธ พยาบาทข้ามภพข้ามชาติแล้ว ความจำเลวอย่างนี้ยังไม่ยุติ ยุติได้ยากถ้าหากไม่ชำระจิตให้ละทิ้งในอุปาทานขันธ์ ๕ ความโลภก็เหมือนกัน การรักขันธ์ ๕ ของตนก็ดี การรักขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่นก็ดี ให้พิจารณาดูเหตุที่แท้จริง คือ โลภอยากให้ขันธ์ ๕ นั้นๆ ทรงอยู่ พิจารณาให้ครบรอบทั้ง ๕ ตัว มิใช่รูปแต่เพียงอย่างเดียว รูปที่ปราศจากวิญญาณก็ไม่มีใครต้องการ หรือรูปที่มีวิญญาณปราศจากสังขาร ก็ไม่มีใครต้องการ หรือรูปที่ปราศจากเวทนาก็ไม่มีใครต้องการ มิใช่ตรัสให้งง คนพิการทางประสาทใครอยากจักได้มาครอบครองไหม คนตายใครต้องการไหม คนป่วยเป็นเจ้าหญิง เจ้าชายนิทรา ใครต้องการไหม ลงท้ายสรุปว่าคนเหล่านี้มีให้เราเห็นได้ทุกยุคทุกสมัย แต่จิตโลภต้องการแต่ขันธ์ ๕ ที่ดีๆ แล้วขันธ์ ๕ ดีไม่จริง กฎของกรรมบังคับให้แปรปรวนไปตามกฎไตรลักษณ์ จิตโลภ ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง อยากรัก อยากได้ขันธ์ ๕ ข้ามภพข้ามชาติ ด้วยความจำในความทะยานอยากในความโลภนั้น นี่เป็นความจำในสิ่งที่เลวมาทุกๆ ชาติ

ความหลงก็เช่นกัน เป็นความจำเลวของจิตเดิมที่มีมาอย่างเหนียวแน่นทุกชาติ ให้เห็นสัญญาตามความเป็นจริงอย่างนี้ แล้วให้เจริญสติ สัมปชัญญะ เพื่อจักละซึ่งสัญญาที่จำเลวออกไปเสียจากจิต การสร้างปัญญามีความจำเป็นที่จักต้องพิจารณาย้ำแล้วย้ำอีก เพื่อละให้ได้ซึ่งสัญญาเดิม ก่อนเก่าเคยจำแต่เกาะขันธ์ ๕ มาเริ่มต้นเบื่อเพื่อจักถอนความทรงจำ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครทั้งหมด หมั่นพิจารณาให้บ่อยๆ เพื่อละขันธ์ ๕ให้ได้ แล้วมรรคผลนิพพานก็จักได้ในปัจจุบัน

๓. เรื่องคิดถูกแล้วที่เป็นมะเร็ง แล้วไม่ยอมผ่าตัด เรื่องโดยย่อมีดังนี้ เพื่อนผมไปเอกซเรย์ปอด พบจุดเล็ก ๆ เป็นก้อนอยู่ที่ปอดข้างขวา หมอนัดอีก ๒ เดือนให้มาเอกซเรย์ปอดใหม่ หากก้อนโตขึ้นก็เป็นมะเร็งปอด ก็คิดในใจว่า หากมันเป็นมะเร็งจริง ก็จะไม่รับการผ่าตัด โดยมีเหตุผลว่าตนเองเป็นคนตัวคนเดียว ไม่มีเงินทองหรือรายได้อะไร ไม่อยากรบกวนปัจจัยของใคร และมะเร็งบางชนิดผ่าแล้วก็แค่ระงับอาการได้ชั่วคราว บางชนิดกลับแพร่เชื้อมะเร็งให้กระจายไปงอกที่อื่น ต้องใช้ยาเคโมช่วย แต่ไม่ใช่รักษา แต่ประวิงเวลาให้ตายช้าลงเท่านั้น

พระองค์ก็ทรงตรัสว่าเจ้าคิดถูกที่ไม่มุ่งหวังที่จักได้รับการผ่าตัด ถ้าหากผลออกมาภายใน ๒ เดือนว่าเป็นมะเร็ง ประการแรกเจ้าไม่อยากรบกวนปัจจัยของใคร ประการที่ ๒ เจ้ามองผลหลังการผ่าตัดไม่ใช่เป็นแง่บวกอย่างเดียว มะเร็งบางชนิด ผ่าไปแล้วทำให้เชื้อแพร่เร็วยิ่งขึ้น ยิ่งเจ้าคิดถึงหลวงปู่วัย ซึ่งเป็นเพียงลำไส้อักเสบเขาผ่าตัดท่าน ซ้ำให้ยาเคโม เพียงแค่ในระยะ ๖ เดือนท่านก็มรณภาพ การให้ยาเคโมนั้น เป็นปกติของหมอที่จักให้แก่คนไข้หลังรับการผ่าตัดแล้ว เป็นการเข้าใจว่าจักสกัดกั้นทำลายเชื้อมะเร็งที่หลงเหลืออยู่ แต่ในคนไข้ส่วนใหญ่แพ้ยาเคโม ทำให้มีอาการทรุดและตายไปหลายรายแล้ว กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นแต่หมอไม่คิดหรือหาทางแก้ไขเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ยังคงทำตามทฤษฎีที่ตนเองได้ศึกษาและเล่าเรียนมา เรื่องนี้ตถาคตเห็นด้วยที่เจ้าตัดสินใจไม่เข้ารับการผ่าตัด แม้ผลจักออกมาว่าเป็นมะเร็งก็ตาม พึงรักษาไปตามสภาพ จงอย่ากังวลใจ อยู่ได้แค่ไหนก็เป็นเรื่องของพระนะ เอาจิตอยู่กับพระนิพพานเข้าไว้เสมอ ไม่ต้องไปวางแผนรักษาโรคล่วงหน้า ให้กินยาไปตามปกติเท่าที่เป็นอยู่

๔. อย่าวิตก อย่ากังวล ไม่ว่าอะไรจักเกิดขึ้นก็ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา คนในโลกนี้มักจักถูกอกุศลกรรมครอบงำจิตมากกว่ากุศลกรรม แม้แต่เจ้าเองก็ยังตัดนิวรณ์ไม่ได้หมดทั้ง ๕ ประการ ก็จักรู้สึกได้ว่าบางขณะหรือบ่อยครั้ง กรรมที่เป็นอกุศลเข้ามาครอบงำจิต จุดนี้พึงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็จักต้องหาทางแก้ไข เอาตามจริตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ การแก้จริตก็คือหากรรมฐานแก้จริตที่เกิดอารมณ์กำเริบในขณะนั้นๆ อาทิเช่น ราคะเกิดก็หันมาหาอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ ในขณะพิจารณาถ้าหากสติ-ปัญญาน้อยกว่ากำลังของกิเลสลงการอารมณ์ ให้จิตเห็นผิดเป็นชอบไปได้โดยง่าย จุดนี้จักต้องหันกลับมาใช้บารมี ๑๐ เป็น ๓๐ ทัศ เข้ามาควบคุมจิตใจ นี่หมายความว่ากำลังจักแพ้ ก็หันมาหาบารมี ๑๐ เป็น ๓๐ ทัศแทน มิใช่รู้ว่าจักแพ้ก็ยังคงพิจารณาอสุภกับกายคตาอยู่นั่นแหละ รับรองว่าแพ้มันแน่นอน ถ้าหากไม่รู้จักพลิกเพลงสถานการณ์

การจับบารมี ๓๐ ทัศ คือ ชั้นศีลประการหนึ่ง ชั้นสมาธิประการหนึ่ง ชั้นปัญญาประการหนึ่ง จิตมีอารมณ์กำเริบด้วยความโกรธก็ดี ความโลภหรือราคะเป็นประการเดียวกันก็ดี ความหลงก็ดี เมื่อใช้กรรมฐานไม่เป็นผล ก็หวนมาอนุโลม - ปฏิโลมในศีล - สมาธิ - ปัญญาให้รู้แจ้งว่า การสำรวมกาย - วาจา - ใจให้เรียบร้อย คือศีล การรักษาใจให้มั่นคงคือสมาธิ การรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่าปัญญา เมื่อตีกลับมาพิจารณาบารมี ๓๐ ทัศจนกำลังใจเต็ม อารมณ์กิเลสที่กำเริบก็จักถูกกำราบ หรือระงับลงไปได้อีกขณะหนึ่ง ให้หมั่นทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วจิตจักมีกำลังต่อสู้กับกิเลสได้

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

....................................

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๒เดือนพฤศจิกายน พศ ๒๕๔๒ตอนหนึ่ง
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......
http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อหรือพระอริยเจ้าทั้งหลายในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ

…………………………………


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร