ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อารมณ์พระอนาคามี ท้าวสหัมบดีพรหม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=39670
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สัจจานุรักษ์ [ 26 ก.ย. 2011, 01:06 ]
หัวข้อกระทู้:  อารมณ์พระอนาคามี ท้าวสหัมบดีพรหม

อารมณ์พระอนาคามี

ท้าวสหัมบดีพรหม

..................................

ข้อมูลในเรื่องนี้นำมาจาก หนังสือ ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๓
พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ


........................................

อารมณ์พระอนาคามี

โดยท้าวสหัมบดีพรหม




ท้าวสหัมบดีพรหม เป็นหัวหน้าของพรหมทั้งหมด ท่านเคยเป็นพ่อของหลวงพ่อฤๅษี ดังนั้น พวกเราซึ่งเป็นลูก-หลานหลวงพ่อมาก่อน ก็ควรจะเรียกท่านว่า ท่านปู่ จุดนี้คือต้นเหตุแห่งกรรมผูกพันกันมาก่อนในอดีต ท่านจึงเมตตามาแนะนำสั่งสอนพวกเราให้ได้ดี พระธรรมคำสอนนี้ท่านเมตตาสอนไว้หลังจากที่หลวงพ่อท่านทิ้งขันธ์ ๕ ไปสู่พระนิพพานเมื่อ ๓๐ ต.ค. ๒๕๓๕ ผมขอเล่าที่มาของพระธรรมนี้ย่อเพียงแค่นี้ ขอเน้นเอาแต่ความสำคัญของพระธรรมเป็นหลักใหญ่ โดยย่อดังนี้

๑. “ท่านว่าไม่ยาก แค่กำหนดรู้อารมณ์ต่างๆที่มากระทบ อย่างราคะเกิดก็รู้ โทสะเกิดก็รู้ โมหะเกิดก็รู้ รู้ตามจริตหก แล้วก็ยกเอากรรมฐานแก้จริตมาใช้ แรกๆก็อาจจะอืดอาดอยู่บ้าง กว่าจะนึกได้กิเลสมันก็จูงจิตไปไกลลิบแล้ว แต่ใหม่ๆมันก็ต้องเผลอเป็นธรรมดา จงอย่าท้อถอย ค่อยเอากรรมฐานแก้ แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็เป็นธรรมดา เพราะเรายังมีอารมณ์เผลอ ถ้าหากเสียท่ากิเลสก็จงอย่าไปเจ็บใจ บอกกับจิตว่าไม่เป็นไร คราวหน้าเอาใหม่ ที่แล้วมามันเป็นอดีตไปแล้ว”

๒. “ให้เอาอดีตที่แพ้ต่อกิเลสเป็นครู แต่อย่านำมาย้อนคิดให้เจ็บใจ เกิดความเศร้าหมองขึ้นในจิต เราไม่ควรทำ แต่จำไว้ว่า จะพยายามไม่เผลออีกเหมือนในอดีต”

๓. “ธรรมอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อย่านำมาพึงคิดปรุงแต่ง ให้เกิดอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะอารมณ์จิตจริงๆแล้ว กระทบอยู่รู้อยู่แต่ในธรรมปัจจุบันก็พอ จึงจัดว่าเป็นของแท้ การอยู่ในธรรมปัจจุบัน เราเป็นผู้กำหนดสิ่งกระทบต่างๆ จะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็รู้แต่ในธรรมปัจจุบัน วางอารมณ์จิตให้เข้าถึงกฎไตรลักษณ์ ไม่ยอมให้อารมณ์ชอบใจไม่ชอบใจเข้ามาครอบงำจิต จิตเราจะอยู่แต่ในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น โดยอาศัยปัญญาเป็นตัวคิดพิจารณา”

๔. “ธรรมะของพระพุทธเจ้า ทรงมีทั้งเหตุและผล รองรับอยู่ในธรรมแต่ละหมวดแต่ละข้อเสร็จสรรพ ขอให้จิตเข้าถึงธรรมจริงก็แล้วกัน เข้าถึงธรรมได้เมื่อไร จิตเราก็จะเป็นสุขเพราะวางอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจลงได้ ไม่มีอะไรยากหากตั้งใจทำกันจริงๆ อย่าท้อถอยเสียก่อนก็แล้วกัน

๕. “อย่าไปสงสัยธรรมพ้นโลกที่ยังมาไม่ถึง ให้เอาจิตมาสงสัยในปริศนาธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า มรรคนี้เดินอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างนั้นดีกว่า ค้นคว้าในสิ่งที่เป็นสาระธรรม หาความจริงในธรรมคำตรัสสอนให้ประจักษ์ ดีกว่าจะมานั่งคิดถึงอนาคตธรรมที่ยังมาไม่ถึงให้ปวดหัวเล่นๆ อารมณ์วิตกจริตจะเล่นงานหนัก จงอย่าทำอย่างนั้นอีก ธรรมใดที่ยังมาไม่ถึงก็จงละปล่อย-วาง มาสงสัยศึกษาในธรรมปัจจุบัน หาเหตุหาผลแห่งการเกิดอารมณ์จริตต่างๆให้พบ เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ต้องรู้ต้องหาให้เจอต้นเหตุจึงจะแก้ได้ มาสงสัยอย่างนี้ดีกว่า ว่าทำไมจิตถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมอารมณ์ถึงเป็นอย่างนี้”

๖.“กิเลสมันเหมือนกับขโมยที่เล่นซ่อนหากับตำรวจ ตำรวจโง่ไม่สงสัยว่าขโมยมันมาได้อย่างไร ไปอย่างไร ซ่อนอยู่ตรงไหน จะเอาแต่ขี้เกียจนอนเนื่องอยู่ในสันดานเกิดใหม่แล้วตายอีกกี่แสนกัป ตำรวจก็จับขโมยไม่ได้ เพราะไม่ใช้ปัญญาตรวจสอบพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเกิดกิเลสนั่นเอง อันที่จริงตำรวจโง่ก็ชอบกินสินบน ไปเจอรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศเข้า ตำรวจชอบรับเละ ปล่อยให้สินบนมันจูงจมูกไปไม่ยอมทำหน้าที่จับขโมย อย่างนี้ก็มี”

๗. “ถ้าอยากเป็นตำรวจฉลาด ก็ต้องไม่เอียงซ้ายเอียงขวาไม่รับสินบนใดๆทั้งสิ้น ต้องมีคุณธรรมอยู่ประจำจิต มองเห็นกฎของความเป็นจริงอยู่ตรงหน้า เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ชอบใจ-ไม่ชอบใจเป็นทุกข์ ต้องยอมรับในกฎไตรลักษณ์อยู่อย่างนี้ อย่าให้กิเลสมันหลอก อะไรดีก็ว่าดี ไม่ใช่ให้มันหลอก ไม่ดีก็ว่าดี ดีแล้วกลับว่าไม่ดี ต้องวางใจเป็นกลางเสียให้ได้ นั่นแหละอารมณ์จิตจึงจะสงบ ค่อยๆทำ ค่อยๆพิจารณา อย่าใจร้อน คิดจะลุยลูกเดียว ไม่ดูกำลังใจของตน (บารมี ๑๐) เป็นคนประมาทไม่ทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ไว้เสมอๆ ของง่ายๆยังทำไม่ได้ ก็จะเริ่มทำของยากๆเลย เหมือนกับเด็กที่ยังเดินไม่คล่อง ก็จงอย่าเพิ่งไปวิ่ง ประเดี๋ยวจะไปสะดุดก้อนกิเลสเข้า หัวทิ่ม หน้าคะมำ แขนขาหัก หัวแตกเอาได้ง่ายๆเอาล่ะ ก็มาบอกเตือนเอาไว้แค่นี้ ขอให้โชคดีปฏิบัติธรรมให้ได้ผลนะลูก”


จากนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงเมตตาสอนเพิ่มเติมมีความสำคัญว่า

๑.“ฟุ้งดีควรฟุ้ง แต่ฟุ้งเลวสงสัยในธรรมนั้นหาควรไม่”

๒.“ที่ยังระงับฟุ้งเลวไม่อยู่ มีสาเหตุจากพวกเจ้าไม่ยอมรับนับถือความตายอย่างจริงใจ มักจักมีความประมาทปล่อยลมหายใจเข้า-ออกให้หลงลืมสติอยู่เนืองๆ”

๓.“ให้เริ่มต้นใหม่เสีย ตั้งอารมณ์ของจิตให้ดีๆ พยายามสงบอารมณ์ของจิต อย่าให้สงสัยในธรรม โดยการรับรู้ลมหายใจเข้า-ออกให้มากๆ คิดถึงความตายที่จักเข้ามาถึงเจ้าเดี๋ยวนี้ อย่าไปคิดอื่นไกล”

๔."เมื่อความฟุ้งซ่านเกิด ก็จงหมั่นระงับด้วยอารมณ์นึกถึงความตายนี่แหละ เห็นความตายที่จักเข้ามาตัดรอนชีวิต การปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงที่สุด มัวแต่ฟุ้งออกนอกลู่นอกทาง ตายแล้วเจ้าจักไปไหน ขอให้คิดดูให้ดีๆ จงยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้นแก่จิตเถิด ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ขอให้ใคร่ครวญกรณีนี้ให้มากๆ”

ขอสรุปต้นเหตุที่ยังเอาดีไม่ได้ โดยย่อๆดังนี้

๑.ชอบสงสัยธรรมที่ตนยังปฏิบัติไม่ถึง

๒.พวกขี้สงสัย เวลาตายก็ตายไปพร้อมกับความสงสัย มีจิตเศร้าหมองก็ต้องกลับมาเกิดแล้วสงสัยต่อไปไม่รู้จบ

๓.ธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัตตัง ถ้าธรรมพ้นโลกจิตเรายังปฏิบัติไม่ถึง สงสัยไปก็มีแต่ขาดทุน เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ธรรมใดที่เธอยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ก็ควรจะเชื่อท่านผู้รู้ผู้เห็นไปก่อน ต่อเมื่อเธอปฏิบัติจนเกิดผลแล้ว รู้เห็นได้ด้วยตนเองแล้ว เธอจักเชื่อหรือไม่เชื่อก็ย่อมได้”

หมายเหตุ ธรรมในข้อ ๓ นี้ พระองค์สอนเฉพาะพวกที่มีศรัทธาในพระองค์อย่างแท้จริง คือ มีพระรัตนตรัย หรือมีพระพุทธพระธรรมและพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่งประจำจิตตลอดชีวิต กำลังปฏิบัติบูชาอยู่ด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือทาน-ศีล-ภาวนา มิได้สอนพวกเดียรถีย์หรือพวกนอกศาสนาที่มาถามปัญหาพระองค์ พวกเหล่านั้นพระองค์จะสอนอีกแนวหนึ่ง คือ ใช้กาลามสูตร หรือเกสปุตตสูตร ที่เขียนเน้นจุดนี้ไว้ เพราะมีบุคคลที่ยังไม่รู้จริง รู้ไม่ถึงเอากาลามสูตรมาสอนชาวบ้านให้เข้าใจผิดๆ เพราะไม่รู้เจตนาของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระสัพพัญญูหรือมีพุทธญาณแต่ผู้เดียว ผู้อื่นไม่มี รายละเอียดมีอยู่มาก จึงขอเขียนไว้สั้นๆแค่นี้ก่อน

๔.สิ่งที่มีค่าสูงสุดในโลกทั้ง ๓ นี้ก็คือพระธรรม ในเมื่อพระองค์ทรงเมตตามาแนะนำพระธรรมให้ถึงตัวเราแล้ว เหตุใดเราจึงยังสงสัยในธรรมนั้นๆ เพราะความโง่หรือกฎของกรรมบังจิตเราไว้จึงยังมองไม่เห็นคุณค่าของธรรม

๕.ผู้ยังมีกิเลสมาก ก็เห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นของมีค่า แต่ผู้ปฏิบัติธรรมจนจิตถึงธรรมแล้วจะเห็นว่า สิ่งใดๆในโลกนี้จะมีค่ายิ่งกว่าพระธรรมนั้นไม่มีเลย ใครจะมีเงินทองทรัพย์สินจนมีค่านับไม่ถ้วน ตายแล้วเอาไปไม่ได้เลย ต่างกับพระธรรม ตายแล้วเอาไปได้ทุกคน

๖.จงหมั่นสงสารผู้ละเมิดพระธรรม เพราะเขาไม่มีโอกาสรู้ตัวว่าเขาเองก็อยู่ในพระธรรม แต่เป็นธรรมบทบัญญัติไหนล่ะ กุศลาธัมมา (ธรรมที่เป็นกุศล) อกุศลาธัมมา (ธรรมที่เป็นอกุศล) อัพยากตาธัมมา (ธรรมที่ไม่เป็นกุศลและอกุศล หรือธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ เพราะไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง หรือไม่มีอุปาทาน) ทุกชีวิตอยู่โดยพระธรรมทั้งสิ้น กรรมหรือธรรมเป็นกฎตายตัว ใครทำสิ่งใดก็ย่อมได้สิ่งนั้นตอบสนองแน่นอน

๗.เรื่องอภัยทาน เป็นทานภายในที่มีค่าสูงสุด ชนะทานทั้งปวง ความจริงอภัยทานก็คือธรรมทานขั้นสูงสุด จริงอยู่ พระองค์ทรงตรัสว่า “การให้ธรรมเป็นทานชนะทานทั้งปวง” แต่ทรงตรัสเสริมว่า “การให้อภัยทานเป็นบุญสุดยอดของธรรมทาน” ความสำคัญของอภัยทานอยู่ที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นกับจิตของเราก่อนจึงจะเป็นของจริง แล้วจึงนำของจริงนั้นไปให้ผู้อื่นได้ พระอริยเจ้าเบื้องสูงคือพระอนาคามีผลขึ้นไปถึงพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะมีของจริง

ธรรมเรื่องนี้ละเอียดมาก หากเขียนมากโอกาสผิดพลาดก็มีมากด้วย เพราะผู้เขียนเองก็ยังไม่มีของจริง ยังเป็นแค่สัญญา (ความจำ) เท่านั้น จึงขอจบไว้เพียงเท่านี้

พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

..........................................................

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๓
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ


…………………………………

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/