วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 03:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2011, 18:42 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


กฎของกรรม หรือของอริยสัจนั่นแหละตัวเดียวกัน

พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

.............................

ปกติผมไม่เข้าใจเรื่องกฎของกรรม หรือของอริยสัจนั่นแหละตัวเดียวกันนี้มาก่อนเลยจนมาได้อ่านพระพุทธธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง
พระธรรม ชุด “กฎของกรรม หรือของอริยสัจนั่นแหละตัวเดียวกัน” ในตอนนี้
มีข้อความประทับใจผมอีกมากเช่น บุคคลใดยังไม่รู้จักเหตุของกรรม ก็รังแต่จักโทษคนอื่นเขาอยู่ร่ำไป, อยากเรียนรู้อริยสัจ ก็จงศึกษากฎของกรรมเข้าไว้ กรรมเป็นของเที่ยง, ถ้าไม่ฝืนความจริงเสียอย่างเดียว จิตก็สงบ, พิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริงแล้ว จักได้ชื่อว่าเข้าถึงอริยสัจ สามารถตัดสังโยชน์ได้ง่าย,อย่าให้อารมณ์จิตของตนเองหลอกตนเองได้ เป็นต้น พระธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าองค์ปฐมท่านทรงพระเมตตาแสดงไว้น่าอ่าน เมื่ออ่านเข้าใจแล้ว ทุกถ้อยคำที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวควรแก่การพิจารณาและปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง แม้การปฏิบัติตามนั้นจะยากสักเพียงใด มันก็คุ้มค่าแก่การเพียรพยายาม......ผมนำพระธรรมชุดนี้มาจากหนังสือ ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ พฤษภาคมตอน ๕ ที่รวบรวมโดยคุณหมอสมศักดิ์ สืบสงวน....ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านนะครับ


..................................

ถ้าอยากพ้นทุกข์ ก็จงหมั่นปริปุจฉา


สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. อุเทศ แปลว่าเรื่อง ปริ แปลว่ารวม หรืออุปสรรค ปุจฉา แปลว่าคำถาม เหมือนกับที่คุณหมอเคยพูดว่า ให้ลองถามตนเองดูซิว่า
ก) กินอาหารทำไม ตอบ เพราะความหิวเป็นทุกข์
ข) กินเพื่ออะไร ตอบ เพื่อบรรเทาทุกข์ กันตาย
ค) กินแล้วเป็นอย่างไร ตอบ อิ่ม แต่อิ่มชั่วคราว หรือพ้นทุกข์ชั่วคราว เพราะความอิ่มไม่เที่ยง เหตุเพราะโลกไม่เที่ยง, ขันธโลกก็ไม่เที่ยง


๒. หากเข้าใจหลัก ก็ถามตนเองไปเรื่อยๆ ปัญญาเกิดจากการพิจารณา จากอายตนะสัมผัสทั้ง ๖ (นอก ๖ และใน ๖) กระทบกัน

๓. ผู้ฉลาดจึงมองทุกสิ่งในโลกเป็นธรรมได้หมด พิจารณาเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

๔. อารมณ์ใดเกิดขึ้นกับจิต จงหมั่นสอบจิต คือตั้งคำถามแก่จิต ให้ค้นคว้าหาคำตอบว่า อารมณ์นั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นธรรมในศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือธรรมในโลกธรรม หากพวกเจ้าเข้าใจปริปุจฉาจริงและทำให้ได้ตามนั้น ก็จักได้ประโยชน์มหาศาลจากหลักของธรรมปฏิบัตินี้ และจักสามารถแยกแยะสาระทางธรรมออกมาได้จากสาระทางโลก

๕. สาระทางธรรม คือ แก่นสารอันสามารถนำจิตของตนให้พ้นจากความทุกข์ได้ สาระทางโลก คือความไม่เที่ยงทั้งมวล ประโยชน์ทางโลกที่แท้จริงไม่มี (เพราะมันไม่เที่ยง) ยึดถืออันใดมาเป็นแก่นสารไม่ได้ แต่นั่นแหละจักพ้นโลกได้ก็จักต้องพิจารณาโลกให้เห็นตามความเป็นจริง จึงจักเข้าถึงธรรมได้

๖. โลกที่อยู่กับตัวเรา (เราคือจิต) คือ ขันธโลกนี่แหละ (คือ ร่างกาย หรือขันธ์ ๕) โลกภายในนี้ ถ้าหากศึกษาได้ถ่องแท้แล้ว จักเข้าใจโลกภายนอกได้เฉกเช่นเดียวกัน

ธรรมคืออารมณ์ที่เกิดแก่จิต จิตนั้นคือตัวเรา

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ต่อจากเรื่องปริปุจฉาไว้ ดังนี้

๑. ธรรมคืออารมณ์ที่เกิดแก่จิต จิตรู้จักโลกพอ ธรรมที่เป็นสาระย่อมเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง ธรรมที่เกิดจักไม่เจืออารมณ์ติดโลก ความหวั่นไหวในโลกธรรม ๘ ก็จักลดน้อยลงไปตามลำดับ จนในที่สุดหมดเชื้อ คือ ธรรมนั้นพ้นโลกไปได้อย่างถาวร เป็นโลกุตรธรรมเบื้องสูง คือ ถึงธรรมวิมุติอยู่ในจิต คือตัวเราที่แท้จริงนี่แหละ

๒. เปลือกของโลกที่ห่อหุ้มหมดไป เปลือกเทวดา เปลือกนางฟ้า เปลือกพรหมก็ไม่มี สำหรับจิตดวงนี้ เพราะอวิชชาหมด สักกายทิฏฐิหมด จิตนั้นคือตัวเรา ก็ถึงซึ่งความเป็นสุข คือ พระวิสุทธิเทพ ผู้พ้นวัฏฏะสงสารอย่างถาวร

๓. อนึ่งที่เจ้า (เพื่อนผม) ลังเล ไม่แน่ใจว่า ก่อนเกิดเจ้ามาจากไหนนั้น เมื่อคุณหมอถาม จิตแรกที่เจ้าตอบว่า ดุสิต ไฉนจึงไม่เชื่อตามนั้นเล่า (ตอบพระองค์ว่า ต้องกราบขอขมา เพราะไปจำสัญญาเก่าๆ จากครูฝึก มโนมยิทธิว่า ได้ไปเจอท่านปู่ ท่านย่าพระอินทร์ เลยเหมาคิดเอาเองว่าตนมาจากดาวดึงส์)

๔. เจ้าเป็นเทวดาอยู่ชั้นดุสิต หาใช่ดาวดึงส์ไม่ เทวดา - นางฟ้าทุกชั้นต่างมีสิทธิ์พบกับพระอินทร์ท่านได้ ทีหลังอย่าลังเลอย่างนี้อีกนะ (ก็นึกสงสัยต่อไปว่า เมื่อลงมาจากชั้นดุสิต ทำไมจึงเกิดมาเป็นผู้หญิง)

๕. นั่นเป็นกฎของกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นเกณฑ์บังคับอย่างหนึ่ง ถ้าเจ้าลงมาเป็นผู้ชายนิสัยเยี่ยงนี้นะหรือ จักมีโอกาสบำเพ็ญเพียรเข้าถึงพระนิพพานได้ อย่าว่าแต่สวรรค์เลย มุทะลุดุดันอย่างนี้ ถ้าเป็นผู้ชายก็ฆ่าคนตาย จักต้องลงนรกเสียมากกว่า

๖. เจ้าดูแต่พระสูตร มนุษย์ผู้หญิงยังขึ้นไปเป็นเทวดาชั้นดุสิตได้ (เปสการีธิดา) แล้วไฉนเทวดาชั้นดุสิตจักจุติลงมาเป็นมนุษย์ผู้หญิงไม่ได้ เทวดาชั้นดุสิตนั้นส่วนใหญ่บำเพ็ญเพียรเพื่อพระโพธิญาณ หรือเพื่อเป็นพระพุทธบิดา หรือพระพุทธมารดา หรือเพื่อต่อบารมีอันจักให้ถึงซึ่งความเป็น พระอริยเจ้าที่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด คือ พระอรหันต์ เทวดาชั้นนั้นจึงมีสิทธิ์เลือกเพศ เลือกสถานที่ลงมาจุติ เพื่อความเหมาะสมในการบำเพ็ญบุญบารมี ตามที่ตนตั้งจิตอธิษฐานไว้นั้นๆ ซึ่งก็ต่างกับมุมของความชั่ว คือ กฎของกรรมในด้านอกุศล ซึ่งบังคับให้สัตว์ผู้ทำชั่วละเมิดศีล ละเมิดธรรม ต้องไปจุติในอบายภูมิ ๔ ตามวาระกฎของกรรมนั้นๆ

กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ ใครทำเช่นใด ย่อมได้เช่นนั้น พวกเจ้าได้ศึกษาครบรอบวงจร เห็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมรู้ว่ากฎของกรรมทั้งดี - ทั้งเลว เกิดขึ้นแก่ชีวิตได้ เพราะการจุติมานับอเนกชาติที่นับไม่ถ้วน แล้วความมีอวิชชาเข้าครอบงำจิตให้มีความประพฤติผิด หลงผิดก่อกรรมทางด้านกาย - วาจา - ใจมานับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน

๒. โมหะ-โทสะ-ราคะครอบงำจิตอยู่ มันบงการอยู่อย่างนี้ จนมาถึงบัดนี้ยังหาที่สิ้นสุดแห่งการหมดกรรมมิได้ นี่เพราะอันใด จักโทษใครได้เล่า กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ บุคคลใดยังไม่รู้จักเหตุของกรรม ก็รังแต่จักโทษคนอื่นเขาอยู่ร่ำไป ลืมโทษจิตของตนเอง ที่สร้างกรรมทางกาย-วาจา-ใจมานับครั้งไม่ถ้วน อันผ่านมา (ในอดีต) นี่ช่างเป็นผู้โง่เสียนี่กระไร

๓. อยากเรียนรู้อริยสัจ ก็จงศึกษากฎของกรรมเข้าไว้ กรรมเป็นของเที่ยง ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ใครทำใครได้ทั้งนั้น ถ้าเข้าใจได้ จิตก็จักสงบได้ ไม่ฝืนกฎของกรรม และจักไม่เดือดร้อนกับกรรมของใคร หรือแม้กระทั่งกฎของกรรม ที่เข้ามาเล่นงานตนเองก็จักไม่เดือดร้อน

๔. ถ้าไม่ฝืนความจริงเสียอย่างเดียว จิตก็สงบ วางอารมณ์ยอมรับกฎของกรรมได้ หากทำได้ก็เรียกว่าเข้าถึงอริยสัจ จักพ้นทุกข์ได้ก็ที่ตรงนี้ ลองซ้อมๆ ดู ได้บ้างชั่วขณะก็ยังดี ดีกว่ามานั่งหนักใจในกรรมของชาวบ้าน และมานั่งหนักใจในกรรมของตนเอง

๕. กฎของกรรม หรือของอริยสัจนั่นแหละตัวเดียวกัน ให้รู้ว่าโลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้ไม่เที่ยงยึดถืออันใดมิได้ ให้รู้ว่ากฎของกรรมเกิดขึ้นมาได้ เพราะเรายึดถือทุกข์

๖. ไฟโมหะ - โทสะ - ราคะ มันแผดเผาจิตของเราให้เกิดทุกข์ เราติดอยู่ในทุกข์นั้นด้วยอวิชชา คือ ไม่รู้จริง ก็ทำกรรมให้เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ที่เกาะยึดนั้นๆ

๗. นั่นเพราะเหตุในอดีตไม่รู้จักปล่อยวาง จึงทำความเดือดร้อนให้กับตนเองและบุคคลอื่น ๆ ทั่วไปรอบด้าน จึงเป็นกรรมให้ตัวเราเองต้องชดใช้ในปัจจุบันนี้

๘. พวกเจ้าจักต้องใช้ปัญญา พิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริง จักได้เห็นอารมณ์ของการเกาะเกี่ยวสังโยชน์ทุกตัว เป็นเหตุให้เกิดกรรมทั้งกาย - วาจา - ใจ และเป็นเหตุนำมาแห่งความทุกข์

๙. บุคคลใดใช้ปัญญา พิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริงแล้ว จักได้ชื่อว่าเข้าถึงอริยสัจ สามารถตัดสังโยชน์ได้ง่าย ด้วยรู้เท่าทันความเป็นจริงแห่งทุกข์นั้นๆ

๑๐. มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม อันเกิดแต่การเกาะติดสังโยชน์นั้น ๆ ล้วนแต่สร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองทั้งสิ้น พิจารณาจุดนี้ให้ดี ๆ แล้วจักวางอารมณ์ให้ เป็น สังขารุเบกขาญาณได้

พ้นทุกข์ได้หรือไม่ อยู่ที่อารมณ์จิตของตนนี่แหละ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. อย่าสนใจในกรรมของบุคคลอื่น ให้มากไปกว่าการที่จักพยายามละกิเลสให้หมดไปจากจิตของตนเอง

๒. ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า การอยู่ในโลกนี้เป็นทุกข์ หาสุขจริง ๆ มิได้ ไม่ว่าชีวิตของเรา หรือชีวิตของใคร หากชีวิตนั้นทรงอยู่ในโลกทั้ง ๓ นี้ไซร้ หาสุขจริง ๆ ยังมิได้

๓. อย่าให้อารมณ์จิตของตนเองหลอกตนเองได้ เพราะการจักพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ให้ดูสังโยชน์เป็นเครื่องร้อยรัดดวงจิตเป็นสำคัญ อย่าปฏิบัติโดยไม่รู้จักเครื่องกำหนด

๔. ไม่ต้องไปติดสถานที่ - เวลา - บุคคลทั่วไป ให้กำหนดรู้อารมณ์ของจิตตนสถานเดียวเท่านั้นเป็นพอ เพราะธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ทุกสิ่งสำเร็จที่ใจ พ้นทุกข์ได้หรือไม่ ก็อยู่ที่รู้อารมณ์จิตของตนนี่แหละ

๕. อย่าไปตำหนิการปฏิบัติของใคร เพราะบำเพ็ญบารมีธรรมได้ถึงไหน ก็รู้ได้แค่นั้น ธรรมเป็น ปัจจัตตัง พวกเจ้าก็รู้อยู่แล้ว เพียงแค่อย่าเผลอใจเผลอปากไปตำหนิใครเท่านั้นเป็นพอ

๖. การติหลวงพี่ ว่าเลว เพราะท่านพูดว่า อยู่วัดใหญ่โต แต่ท่านไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อท่านให้พระธรรมวันละ ๔ เวลาทุกวัน ควรคิดในแง่ดีว่าท่านไม่หลงตนเอง เพราะท่านยังตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการยังไม่ได้หมด จะคิดว่าตนดีหรือได้ดีได้อย่างไร หากไปติท่านก็แสดงว่าเจ้าลืมตัว คิดว่าตนเองดีแล้ว ทางที่ดีเจ้าควรติตนเองที่ไปสนใจจริยาของผู้อื่น โดยลืมไปว่าตนเองก็ยังตัดสังโยชน์ได้ไม่หมด

๗. ท่านผู้รู้จักประมาณตน ย่อมมีความไม่ประมาทอยู่ในตัว ต่อไปถ้าท่านไม่ละความเพียรเสียอย่างเดียว ความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง ย่อมเป็นไปได้ไม่ยาก บุตรของตถาคตทุกคน พึงรู้จักประมาณตนเอาไว้เสมอ อย่าตั้งจิตอยู่ในความประมาท และอย่าพึงละความเพียร บุตรของตถาคตเหล่านั้น ก็พึงถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นทุกข์ได้ เข้าถึงพระนิพพานได้โดยไม่ยากเย็น เอาล่ะ อย่าตำหนิใครอีกนะ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
..............................

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ พฤษภาคมตอน ๕
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ


.....................................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 26 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron