วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 29 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 12:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ไม่ฉลาดรักษาใจ จึงกวัดแกว่งไปตามอารมณ์
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เปรียบน้ำฝน มันเป็นน้ำที่สะอาด มันจะมีความใสที่สะอาดปกติดี
ถ้าหากเราเอาสีเขียว สีเหลืองใส่เข้าไป น้ำมันก็เป็นสีเหลือง สีเขียว

จิตใจเรานี้เช่นกัน ฉันนั้น
เมื่อมันถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจมันก็สบาย
ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็ไม่สบาย


เหมือนกับใบไม้ ที่มันถูกลม มันก็กวัดแกว่ง เอาแน่นอนไม่ได้
ดอกไม้ ผลไม้ มันก็ถูกลมเหมือนกัน ถูกลมมาพัดมันก็ตกไปเลย ไม่มีสุก

จิตใจมนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ถูกอารมณ์มาพัดไป
ถูกอารมณ์มาฉุดไป มาดึงไป ตกไป ก็เหมือนกันกับผลไม้



• ผิดในถูก
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เราเห็นแล้วว่า ถ้วยใบนี้ เอาไว้ที่ไหน...มันก็ต้องแตก
จานนี่ เอาไว้ที่ไหน...ก็ต้องแตก
แต่เราก็ต้องสอนเด็กว่า ล้างให้มันสะอาด เก็บไว้ให้ดี
เราก็ต้องสอนเด็กอย่างนี้ ตามสมมุติอย่างนี้ เพื่อเราจะใช้ถ้วยนี้นานๆ
อันนี้เรารู้จักธรรมะ เอาธรรมะมาปฏิบัติ

ถ้าเห็นว่า อันนี้มันจะแตกอยู่แล้ว
เราบอก เออ ! ช่างมันเถอะลูก กินแล้วก็ไม่ต้องล้างมันหรอก
จะตกก็ช่างมันเถอะ ไม่ใช่ของเราหรอก
เอาทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ มันจะแตกอยู่แล้ว อย่างนี้ก็เป็นคนโง่ไป

ถ้าเราเป็น “ผู้รู้สมมุติ” อันนี้
เมื่อมันเจ็บไข้...ก็หาหยูกยาให้มันกิน
เมื่อมันร้อน...ก็อาบน้ำให้มัน
เมื่อมันเย็น...ก็หาความอบอุ่นให้มัน
เมื่อมันหิว...ก็หาข้าวให้มันกิน

แต่ให้เรารู้ว่า ให้ข้าวมันกิน...มันก็จะตายอยู่
แต่ในเวลานี้ ยังไม่ถึงคราวจะตาย
เหมือนถ้วยใบนี้...ยังไม่แตก
ก็รักษาถ้วยใบนี้...ให้มัน “เกิดประโยชน์” เสียก่อน


• พูดดีเข้าใจง่าย พูดร้ายเข้าใจยาก
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


คนที่ฉลาดแล้ว สอนไม่มากหรอก
ถ้าคนไม่ฉลาด สอนมากแค่ไหน...ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง
แต่มันเกี่ยวกับคนสอนด้วยนะ

โดยมาก...คนเราเวลาไม่สบายใจ จึงสอน
อย่างเราจะสอนลูกเรา เราโกรธแล้วจึงสอน มันก็ด่ากันเท่านั้นหล่ะ
ไม่ยอมสอนกันดีๆ หรอก ก็คนใจไม่ดี ไปสอนกันทำไม
อาตมาว่า อย่าไปสอนในเวลานั้น ให้ใจมันสบายก่อน
มันจะผิดอย่างไรก็เอาไว้ก่อน ให้มันใจดีๆ ซะก่อน


นี่โยมจำไว้นะ อาตมาสังเกตโยมสอนลูกแต่เวลาโมโหเท่านั้นละ
มันก็เจ็บใจละซิ เอาของไม่ดีให้เขา เขาจะเอาทำไม
ตัวเราก็เป็นทุกข์ ลูกเราก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นอย่างนี้

คนเรามันชอบดีๆ ทั้งนั้นละ
แต่ความดีเราไม่พอ ให้ความดีมันไม่เป็นเวลา
ไม่รู้จักบทบาท ไม่รู้จักกาลเวลา มันก็เป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น


อาหารที่มันอร่อย เราต้องทานทางปาก มันจะเกิดประโยชน์
ลองเอาเข้าทางหูซิ มันจะเกิดประโยชน์ไหม อาหารอร่อยๆ จะมีประโยชน์ไหม
คนเรามันมีประตูเหมือนกันละ ต้องเข้าหาประตู ทุกคนก็เป็นอย่างนั้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 12:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• แยกแล้วยุ่ง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


“ตัวปัญญา” กับ “ตัวสมาธิ” นี้
เมื่อเราพูดแยกกันออก คล้ายๆ กับคนละตัว
จริงๆ มันตัวเดียวกันนั่นเองแหละ
ตัวปัญญา มันเป็นเครื่องเคลื่อนไหวของสมาธิเท่านั้น
อือ มันออกจากจิตนี้แหละ
แต่มันแยกกันออกไป มันเป็นคนละลักษณะ

เหมือนมะม่วงใบนี้
ลูกมะม่วงใบนี้มันเล็กๆ แล้วมันก็โตขึ้นมาอีก
แล้วก็มันสุก แล้วมันจะเน่า
มะม่วงใบนี้ ก็คือ มะม่วงใบเดียวกัน

มันเล็ก...ก็ใบนี้
มันโตขึ้นมา...ก็ใบนี้
มันสุก...ก็ใบนี้
แต่มันเปลี่ยนลักษณะ

อาการอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า...สมาธิ
อาการอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า...ปัญญา
ความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา
นี่คือของอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอย่าง

เหมือนมะม่วงใบนี้...ใบเดียวกัน


• กะละมังรั่ว
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


การทำบาป แล้วบำเพ็ญบุญปิดช่องมันเสีย
ก็เหมือนกับหม้อมันรั่ว ปิดช่องมันรั่ว
แล้วเทน้ำใส่กะละมังรั่ว ก็อุดรูรั่วมัน แล้วเทน้ำใส่
เรียกว่า ก้นกะทะไม่ดี ก้นหม้อไม่ดี

การละบาปของเรายังไม่ดี ทำบุญลงไป มันก็ยังรั่ว
เทน้ำใส่ลงไปมันก็ยังรั่วออกไปหมด จะเทใส่ลงไปทั้งวัน
มันก็ยังซึมรั่วออกไปทีละนอย น้ำก็เหือดแห้งไปหมด
ไม่สำเร็จประโยชน์ สมความต้องการของเราได้


• กะละมังคว่ำ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เมื่อเราละบาปแล้ว บำเพ็ญบุญเพิ่มเข้ามาทีละน้อย
ก็มีหวังที่บารมีจะเต็มได้
เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง
แม้ฝนจะตกมาใส่ทีละหยอดๆ มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้

เมื่อเราทำบุญ แต่ยังไม่ละบาป
ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้ง
ฝนตกลงมาถูก้นกะละมังเหมือนกัน
แต่มันถูกข้างนอก ไม่ถูกข้างใน
น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังได้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 12:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ผู้มีสติ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เรื่องของศาสนานี้ก็คือ
เรื่องให้ปล่อยวางตัวออกจากกรงนั่นเอง
ที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพื่อแก้ปัญหา


หัวใจพระพุทธศาสนาสอนว่า
ไม่ให้ทำความผิด แล้วก็ทำจิตให้เป็นกุศล แล้วก็จะเกิดปัญญา
แต่ทุกวันนี้ทำบุญกันมาก แต่การละบาปนั้นไม่มีใครทำ
ความจริงต้องละบาปก่อนจึงจะบำเพ็ญบุญ
ถ้าบาปไม่ละจะเอาบุญไปไว้ที่ไหน ไม่มีที่จะอยู่หรอกบุญนั้น


ทุกวันนี้พวกเราขาดการภาวนา
ขาดการพิจารณาจึงไม่ได้ข้อประพฤติปฏิบัติ
เมื่อไม่ได้ปฏิบัติมันจึงแก้ปัญหาไม่ได้
ที่พระพุทธศาสนาจะมีอำนาจช่วยได้
นั่นก็เพราะเราเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลา
ผู้นั้นก็ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

เพราะว่าเมื่อตามองเห็นรูป ก็เป็นธรรมะ หูได้ฟังเสียง ก็เป็นธรรมะ
จมูกได้กลิ่น ก็เป็นธรรมะ ลิ้นได้รส ก็เป็นธรรมะ
ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ นึกขึ้นได้เมื่อใดเป็นธรรมะเมื่อนั้น


ฉะนั้น ผู้มีสติจึงได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน มันมีอยู่ทุกเวลา
เพราะอะไร ? เพราะเรามีความรู้อยู่

ในเวลานี้ เราจึงเรียนอยู่กลางธรรมะ
จะเดินไปข้างหน้า...ก็ถูกธรรมะ
จะถอยไปข้างหลัง...ก็ถูกธรรมะ

ท่านจึงให้มี “สติ”
ถ้ามีสติแล้ว มันจะเห็นกำลังใจของตน เห็นจิตของตน
ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้
รู้ถึงที่แล้ว ก็รู้แจ้งแทงตลอด

...เมื่อมันรอบรู้อยู่เช่นนี้
การประพฤติปฏิบัติมันก็ถูกต้องดีงามเท่านั้นแหละ


• เดินสายกลาง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้น
จะเป็นความอยากที่ขวางกั้นการหลุดพ้น
พยายามมากเกินไป
แต่ขาดปัญญา..เป็นการเคี่ยวเข็ญตนเอง
ไปสู่ความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น
เดินสายกลาง..คือ สงบ..วางสุข..วางทุกข์



• กราบเพื่อฝึกฝนตนเอง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


การกราบนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
เป็นรูปแบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ
การกราบนี้ต้องทำให้ถูกต้อง ก้มลงจนหน้าผากจรดพื้น
วางศอกให้ชิดกับเข่าฝ่ามือทั้งสอง กราบอยู่ที่พื้นห่างประมาณสามนิ้ว
กราบลงช้าๆ มีสติรู้อาการของกาย
การกราบช่วยแก้การถือตัวของเราได้เป็นอย่างดี เราควรกราบบ่อยๆ

เมื่อท่านกราบสามหน ท่านควรตั้งจิตระลึกถึง
พระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
นั่นคือคุณลักษณะแห่งจิตอันสะอาด สว่าง และสงบ
ดังนั้น เราจึงอาศัยรูปแบบนี้ฝึกฝนตนเอง
กายและจิตจะประสานกลมกลืนกัน


อย่าได้หลงผิดไปจับตาดูว่าผู้อื่นกราบอย่างไร
ถ้าสามเณรน้อยดูไม่ใส่ใจ และพระผู้เฒ่าดูขาดสติ
ก็ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะตัดสินใจ
บางคนอาจจะสอนยาก บางคนเรียนได้เร็ว บางคนเรียนได้ช้า
การพิจารณาตัดสินผู้อื่นมีแต่จะเพิ่มความหยิ่งทนงตน

จงเฝ้าดูตัวเองกราบบ่อยๆ ขจัดความหยิ่งทะนงตนออกไป
ผู้ที่เข้าถึงธรรมะได้อย่างแท้จริงแล้ว
ท่านจะอยู่เหนือรูปแบบทุกๆ อย่างที่ท่านทำ
ก็มีแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน เดินก็ถ่อม ฉันก็ถ่อม ขับถ่ายก็ถ่อม
ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านพ้นจากความเห็นแก่ตัวเสียแล้ว

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• การปล่อยวาง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


โยม ไม้อันที่อาตมาถืออยู่นี่นะ มันสั้น หรือว่ามันยาว ?

โยม ไม้อันนี้ธรรมชาติแท้ๆ ของมันมีแค่นี้ เท่านี้...มันไม่สั้น และก็ไม่ยาว

โยม ความต้องการที่จะให้ไม้นี้มันสั้นเข้า หรือยาวออก นั่นแหละ “ทุกข์”
ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเรายอมตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ยอมที่ไหน ทุกข์ก็ไม่เกิดที่นั่น

สมมุติว่าวันนี้ โยมหาเงินได้ ๑๐๐ บาท ธรรมชาติของมันแค่ ๑๐๐ บาท
จะอยากให้ได้มากกว่านั้น...ก็ไม่ได้
จะอยากให้ได้น้อยกว่านั้น...ก็ไม่ได้
หาได้ ๕๐ บาท ธรรมชาติของเขาก็แค่นั้น
หาไม่ได้เลย ธรรมชาติของมันก็เท่ากับหาไม่ได้เลย
ยอมตามธรรมชาติที่มันเป็นทุกอย่าง ทุกแห่ง ทุกข์ก็ไม่เกิด

ธรรมะอย่างนี้ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้
ใครๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติเมื่อไหร่ ที่ไหน...ทุกข์ก็ไม่เกิดเมื่อนั้น ที่นั่น


โยม อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่าถ้าเราจะปลูกต้นไม้
อันดับแรก เราต้องเตรียมดินให้ดี ขุดหลุมกว้างเมตร ลึกเมตร
คลุกดินด้วยปุ๋ยคอกอย่างดี แล้วจึงปลูกต้นไม้ลงไป
เมื่อปลูกแล้ว เราต้องคอยดูแล โดยหมั่นรดน้ำ
พรวนดิน ดายหญ้า และล้อมรั้วกันอันตรายให้

หน้าที่ของเรามีเพียงแค่นี้ ทำให้ครบ ทำให้ดีที่สุด
ส่วนผลที่ต้นไม้จะให้นั้น บางชนิด ๑ ปีให้ผล บางชนิด ๓ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี
นั่นเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของต้นไม้เขาเอง

โยม อย่าลืมนะ หน้าที่ของเรานั้น
ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขา
ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา

ธรรมะอย่างนี้...ใครๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้



• เถาวัลย์
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เด็กๆ ก็เหมือนกับเถาวัลย์นั่นแหละ
เมื่อเถาวัลย์เกิดขึ้น ณ ที่ใด มันจะต้องหาต้นไม้ที่จะเลื้อยขึ้นไปเสมอ
ในเมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ ๑๕ เซ็นติเมตร
ถ้าอีกต้นหนึ่งอยู่ห่าง ๑๐ เมตร คุณว่ามันจะเลื้อยขึ้นต้นไหน ?

มันก็จะเลื้อยขึ้นต้นที่อยู่ใกล้ที่สุดนั่นแหละ
ต้นที่อยู่ห่าง ๑๐ เมตรโน่นมันคงไม่เลื้อยไปหรอก เพราะมันไกลเกินไป

ฉะนั้น ครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดของเด็กๆ ทั้งหลายนั่นเองแหละ
เป็นผู้ที่เด็กๆ ทั้งหลายจะถือเอาเป็นแบบอย่าง
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการประพฤติจรรยามารยาท
เครื่องละเว้น เครื่องบำเพ็ญให้เด็กดู
อย่าสอนเขาแต่ปาก การยืน การเดิน การนั่ง การเคลื่อนไหว
การพูดจา อะไรทุกอย่าง เราต้องทำให้เป็นการสอนเขาทั้งนั้น
เด็กๆ เขาจะทำตามเพราะเด็กนั้นไว เขาไวกว่าผู้ใหญ่



• ธรรมะคือความพอดี
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ความดีความชั่วทั้งหลาย
มันล้วนแต่เกิดในหน้าที่การงานทั้งหลายของเรานั่นเอง
ดีก็เกิดที่ทำดีนั้นเอง ชั่วก็เกิดที่ทำชั่วนั่นเอง
ฉะนั้น อย่าไปอิจฉาพยาบาทกัน
ข้อสำคัญ ให้ทำใจให้เกิด “ตัวพอ” ขึ้นมา
ธรรมะคือความพอดี



• สุขและทุกข์เปรียบเหมือนงู
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข
ความจริงสุขนั้น ก็คือทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง
ส่วนทุกข์ ก็คือทุกข์อย่างหยาบ


พูดอย่างง่ายๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง
ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข
เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ
ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข
แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน
เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน
คือ ตัณหา ความลุ่มหลงนั่นเอง

ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ
ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ
ได้มาแล้วก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆ
เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจว่ามันจะสูญเสียไป
กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ
บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก
นี่หมายความว่า ถึงจะสุขก็จริงแต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย
แต่เราไม่รู้จัก เหมือนกันกับว่าเราจับงู

ถึงแม้ว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลับมากัดได้
ฉะนั้น หัวงูก็ดี หางงูก็ดี บาปก็ดี บุญก็ดี
อันนี้อยู่ในวงวัฏฏะ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ก็ไม่ใช่หนทาง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ยกแล้วหนัก
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เมื่อ “ทุกข์” เกิดขึ้นมา ก็รู้จักว่ามันทุกข์
ทุกข์นี่มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร มันจะเห็นอะไรไหม
ถ้าเราเห็นตามธรรมดา มันก็ไม่ทุกข์
เช่นว่าเราอยู่อย่างนี้ เราก็สบาย
อีกวาระหนึ่ง เราอยากได้กระโถนใบนี้
เรายกมันขึ้นมา ต่างแล้ว
ต่างกว่าแต่ก่อนที่ยังไม่ได้ยกกระโถน
ถ้ายกกระโถนขึ้นมา มีความรู้สึกว่ามันหนักเพิ่มขึ้นมา มันมีเหตุ
หนักมันจะเกิดเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเราไปยกมัน
ถ้าเราไม่ยกมัน มันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่ยก มันก็เบา
อะไรเป็นเหตุผล ดูเท่านี้ก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน
ถ้าเราไปยึดอะไร อันนั้นแหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
ถ้าเรา “ปล่อย” มันก็ไม่มีทุกข์



• เธอจงระวัง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เธอจงระวังความคิดของเธอ
เพราะความคิดของเธอ
จะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวังความประพฤติของเธอ
เพราะความประพฤติของเธอ
จะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความเคยชินของเธอ
เพราะความเคยชินของเธอ
จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ
เพราะอุปนิสัยของเธอ
จะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• หยุดแล้ว
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้ว ธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วย
อย่างเลื่อยคันนี้ เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว
อะไรก็หมดแล้ว เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก

เลื่อยคือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล
ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่อยู่ก็วางไว้
เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด
ตัดเสร็จแล้ว ก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้นเลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อย ไม้ก็ต้องเป็นไม้

นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้ว ถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว
สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้


• ให้ถูกกับจริต
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


อารมณ์ของสมถกรรมฐานนี้
ถ้าไม่ถูกจริตของเรา มันก็ไม่สลด ไม่สังเวช
อันใดที่ถูกกับจริต อันนั้นก็จะประสบบ่อยๆ
มีความรู้สึกนึกคิดในอาการนั้นบ่อยๆ
แต่เราไม่ค่อยจะได้สังเกต
จึงควรสังเกตเพื่อให้ได้ประโยชน์
เปรียบเหมือนกับอาหารที่เขาจัดมาให้สำรับหนึ่ง
มันก็มีหลายอย่าง เราก็ชิมไปทุกถ้วยทุกอย่าง

นั่นแหละ แล้วก็จะรู้เองว่า
อาหารอย่างไหนที่เราชอบ อย่างไหนที่เราไม่ชอบ
อย่างไหนชอบก็ว่ามีรสชาติอร่อยกว่าอย่างอื่น
นี่พูดถึงอาหาร นี่ก็เทียบให้เห็นกับจริตของคนเรา
กรรมฐานที่ถูกกับจริต มันก็สบาย



• ทุกข์เพราะคิดผิด
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


จิตใจนี้มันปล่อยวางได้ยากเหลือเกิน
มันยึดติด แน่นเหนียว
เลยได้หลักในการพิจารณา
ทำอะไร ก็ไม่รีบทำให้เสร็จ
ทำไปสักหน่อยก็วางไว้ ดูจิตตัวเอง
ไปนั่งสมาธิ มันก็วนเวียนอยู่กับงานที่ค้างไว้น่ะแหละ
ก็ดูมันไป สนุกละทีนี้ สู้กับมันอยู่นั่นแล้ว

คิดว่า จะลองฝึกให้ได้ว่า
เมื่อไปทำงาน ก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำ ก็ให้วาง
ให้มันเป็นคนละอย่าง ไม่ต่อกัน
ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน
ตัวอุปาทาน มั่นหมาย นี้ละยาก วางยาก


• การทำกรรมฐานเหมือนการปลูกต้นไม้
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


การทำกรรมฐานต้องกำหนดต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนปลูกต้นไม้
ถ้าเราเอาต้นไม้มาปลูกลงตรงนี้ ๓ วันแล้วถอนออกไปปลูกตรงนั้นอีก
ปลูกตรงนั้นได้ ๓ วันถอนไปปลูกโน้นอีก ตายเลย ไม่ได้กินหรอก ต้นไม้ก็ตาย

กรรมฐานก็หมดเหมือนกันอย่างนั้น เข้าใจด้วยนะ
มันเป็นอย่างนั้น ไปพิจารณานะ กลับไปนี่เอาต้นไม้ไปปลูกก็ได้
ปลูกตรงนี้ได้ ๓ วัน ถอนไปปลูกตรงนั้นได้ ๓ วันถอนอีก
อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ได้กินหรอก ตายหมด ไม่มีเหลือแล้ว

กรรมฐานก็เหมือนกัน ไปนั่งกรรมฐาน ๗ วัน
ออกมาเล่นตั้ง ๗ เดือน ปล่อยจิตไปทำสกปรกหมด
แล้วก็อีก ๗ วันก็มาทำกรรมฐานอีก ไม่พูด เฉย
แล้วก็เลิกอีกเหมือนกับต้นไม้แหละ
ตายหมดไม่มีเหลือเลยกรรมฐานไม่เกิดแล้ว
ต้นไม้ก็ไม่เกิด กรรมฐารก็เหมือนกัน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ปล่อยงูพิษไป
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


อารมณ์ทั้งหลาย เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้าย
ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน
แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา
ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน
งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น

ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด
สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป
สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป
เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น
ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป
มันก็เลื้อยไปทั้งที่มี “พิษ” อยู่ในตัวมันนั่นเอง



• อยู่กับงูเห่า
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม
อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก
ถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้

อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น
อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก
มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี
ทำให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า



• วัดกับทางมาวัด
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี
ทั้งสามประการนี้ ท่านเรียกว่า “มรรค”

มรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา
อีกทั้งยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาทรงต้องการอย่างแท้จริงเลย
แต่ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป


เหมือนกับท่านมหามาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง
ท่านมหาคงไม่ต้องการหนทาง ต้องการจะถึงวัดต่างหาก
แต่หนทางก็จำเป็นสำหรับท่านมหาที่จะต้องมา

ฉะนั้น ถนนที่ท่านมหามาก็ไม่ใช่วัด
มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น
แต่จำเป็นต้องมาตามถนน จึงจะถึงวัดได้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• เปรียบไปก็คล้ายน้ำ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ใจของเรามันเป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝน
เป็นน้ำที่ใสสะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ
ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป
น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป

จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน
เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี ใจก็สบาย
เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย

เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียว
ไปถูกสีเหลืองก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าถูกอารมณ์มาถูก
มันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์
ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว
ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ของเจ้าของเรื่อยไป

อารมณ์สุขก็ปล่อยไปตามไป วุ่นวายไปเรื่อยๆ
จนมนุษย์ทั้งหลายเป็นโรคประสาท


• ไฟไหม้น้ำท่วม
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


พระพุทธองค์ท่านก็ทรงสอนว่า
ร่างกายจิตใจนี้ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่น
คือเริ่มเกิดขึ้นมา แล้วก็แก่ แก่มาแล้วก็เจ็บ เจ็บมาแล้วก็ตาย
อันนี้เป็นความจริงเหลือเกินเป็นสัจธรรมอยู่แล้ว
ก็มองดูมันด้วยปัญญา ให้เห็นมันเสียเท่านั้น

ถึงแม้ว่าไฟมันจะมาไหม้บ้านของเราก็ตาม
ถึงแม้ว่าน้ำมันจะท่วมบ้านของเราก็ตาม
ก็ให้มันเป็นเฉพาะบ้านเฉพาะเรือน

ถ้าไฟมันไหม้ ก็อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา
ถ้าน้ำมันท่วม ก็อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา
ให้มันท่วมแต่บ้าน ให้มันไหม้แต่บ้าน
ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกกายของเรา
ส่วนจิตใจของเรานั้น ให้มันมีการปล่อยวาง
เพราะในเวลานี้มันสมควรแล้ว มันสมควรที่จะปล่อยแล้ว



• กายวิเวกสำคัญมาก
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เบื้องแรกกายวิเวกสำคัญนะ เมื่อเรามาอยู่กายวิเวกแล้ว
จะนึกถึงคำพระสารีบุตรเทศน์ไว้เกี่ยวกับกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก
(อุปธิวิเวก = สงัดจากกิเลส-นิพพาน)
กายวิเวกเป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก


แต่บางคนพูดว่าไม่สำคัญหรอก ถ้าใจเราสงบแล้วอยู่ที่ไหนก็ได้
จริงอยู่ แต่เบื้องแรกให้เห็นว่ากายวิเวกเป็นที่หนึ่ง ให้คิดอย่างนี้
วันนี้หรือวันไหนก็ตาม ท่านมหาเข้าไปนั่งอยู่ในป่าช้าไกลๆ บ้าน
ลองดู ให้อยู่คนเดียว หรือท่านมหาจะไปอยู่ยอดเขายอดหนึ่ง
ซึ่งเป็นที่หวาดสะดุ้ง ให้อยู่คนเดียวนะ เอาให้สนุกตลอดคืน
แล้วจึงจะรู้จักว่ามันเป็นอย่างไร เรื่องกายวิเวกนี่

แม้เมื่อก่อนอาตมาเองก็นึกว่าไม่สำคัญเท่าไร คิดเอา
แต่เวลาไปทำดูแล้ว จึงนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระองค์สอนให้ไปหากายวิเวกเป็นเบื้องแรก
เป็นเหตุให้จิตวิเวก ถ้าจิตวิเวกก็เป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• เรียนตามแบบ รบนอกแบบ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ตามที่ได้ทราบข่าวมีพระนักปริยัติบางรูป ท่านค้นคว้าตามตำรา
เพราะได้เรียนมามาก อาตมาว่าทดลองดูเถอะ
การกางแบบ กางตำราทำนี่ ถึงเวลาเรียน เรียนตามแบบ
แต่เวลารบ รบนอกแบบ ไปรบตามแบบมันสู้ข้าศึกไม่ไหว
ถ้าเอากันจริงจังแล้วต้องรบนอกแบบ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น

ตำรานั้น ท่านทำไว้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น บางทีอาจทำให้เสียสติก็ได้
เพราะพูดไปตามสัญญา สังขาร ท่านไม่เข้าใจว่าสังขารมันปรุงแต่งทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้ลงไปพื้นบาดาลโน่น ไปพบปะพญานาค
เวลาขึ้นมาก็พูดกับพญานาค พูดภาษาพญานาค
พวกเราไปฟังมันไม่ใช่ภาษาพวกเรา มันก็เป็นบ้าเท่านั้นเอง

ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้ทำอย่างนั้น เรานึกว่าจะดิบจะดี มันไม่ใช่อย่างนั้น
ที่ท่านพาทำนี้มีแต่ส่วนละส่วนถอนเรื่องทิฏฐิมานะ เรื่องเนื้อเรื่องตัวทั้งนั้น
อาตมาว่าการปฏิบัตินี้ก็ยากอยู่ ถึงอย่างไรก็อย่าทิ้งครูทิ้งอาจารย์
เรื่องจิตเรื่องสมาธินี่หลงมากจริงๆ เพราะสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นไปได้
แต่มันเป็นขึ้นมาได้ เราจะว่าอย่างไร อาตมาก็ระวังตัวเองเสมอ


• กล้วย-มะพร้าว
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เปรียบง่ายๆ ให้ฟัง
เราไปซื้อกล้วยหรือซื้อมะพร้าวใบหนึ่งจากตลาด แล้วก็เดินหิ้วมา

อีกคนหนึ่งก็ถาม “ท่านซื้อกล้วยมาทำไม ?”
“ซื้อไปรับประทาน”
“เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ ?”
“เปล่า”
“ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน ?”

หรือเอามะพร้าวใบหนึ่งมาก็เหมือนกัน
“เอามะพร้าวไปทำไม ?”
“จะเอาไปแกง”
“เปลือกมันแกงด้วยหรือ ?”
“เปล่า”
“จะเอาไปทำไมล่ะ ?”

เอ้า จะว่าอย่างไรล่ะ
จะตอบปัญหาเขาอย่างไรด้วยความอยาก
ถ้าไม่อยาก เราก็ไม่ได้ทำให้มันมีปัญญานะ

การทำความเพียรก็เป็นเช่นนั้น
คือทำด้วยการปล่อยวาง อย่างกล้วย อย่างมะพร้าว
เอาไปทำไมเปลือกมัน ? ก็เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาเอามันทิ้ง
มันก็ห่อเนื้อในมันไปอยู่นั้น ยังไม่ถึงเวลาจะทิ้ง ก็ถือมันไว้ก่อน


การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน
สมมติ วิมุตติ ก็ต้องปนกันอยู่อย่างนั้น
เหมือนมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือก
ทั้งกะลา ทั้งเนื้อ เราก็เอามาทั้งหมดแหละ
เขาจะหาว่าเรากินเปลือกมะพร้าว
อย่างไรก็ช่างเขา เรารู้จักของเราอยู่



• ภาวนาคือการคิดให้มันถูกต้อง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ท่านให้เรามาฟังธรรม แล้วให้ภาวนา
“ภาวนา” ก็คือพิจารณาดูนั่นแหละ
ทำไร่ทำนาก็เหมือนกัน
ถ้าขาดการภาวนา ก็ไม่เป็น คือมันไม่ดี

ภาวนา คือการคิดให้มันถูกต้อง คิดให้มันดีงาม
เรียกในทางธรรมะว่าการ “ภาวนา” เอาพุทโธ
ให้ภาวนา “พุทโธ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ถ้าใครภาวนาพุทโธแล้ว ไม่มีน้ำตาไหล
ใจไม่ขุ่นมัว ใจปราศจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง เป็นใจที่่สงบระงับ

ถ้าเรารู้เรื่องของมันเป็นอย่างนี้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
แต่เราไม่ค่อยได้พิจารณาอย่างนี้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ตัวหนังสือกับของจริง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


หยุด เอาความรู้ปริยัติใส่หีบใส่ห่อไว้เสีย
อย่าเอามาพูด ไม่ใช่ความรู้พวกนั้นจะเข้ามาอยู่นี่หรอก
มันพวกใหม่ เวลาเป็นขึ้นมามันไม่เป็นอย่างนั้น

เหมือนกับเราเขียนหนังสือว่า ความโลภ
เวลามันเกิดขึ้นในใจ ไม่เหมือนตัวหนังสือ
เวลาโกรธก็เหมือนกัน เขียนใส่กระดานดำก็เป็นอย่างหนึ่ง
มันเป็นตัวอักษร เวลามันเกิดในใจอ่านอะไรไม่ทันหรอก
มันเป็นขึ้นมาที่ใจเลย สำคัญนัก สำคัญมาก



• อาจารย์ใจ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เราทุกๆ คนนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นอย่างอื่นหรอก
ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์
เพราะจะตรัสรู้ธรรม ใจน่ะ มันต้องสอนตัวเอง
ถ้าไม่สอนตัวเอง ให้ผู้อื่นไปสอนปานใด
มันก็ไม่ฟัง มันไม่รู้จัก ถ้าใจไม่สอน
ใจนั่นแหละเป็นครู ใจนั่นแหละเป็นอาจารย์


คนเราไม่เห็นตัวเองง่ายๆ ไม่เห็น มันยาก
เห็นตัวเองเห็นยาก
ให้พากันคิดสักหน่อย
ทำมาแล้ว ทุกๆ คนเคยทำบาปมา
เมื่อแก่เฒ่ามาแล้วก็ควรพากันหยุด ให้มันเบาบางลงไป
ให้มันน้อยลงไป ถอยลงไป
มันไม่มีอะไรหรอก มีเท่านี้แหละ ให้เข้าหาศีลธรรม


• น้ำไหลนิ่ง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


“...โยมรู้จักน้ำที่มันไหลไหม เคยเห็นไหม
น้ำนิ่งโยมเคยเห็นไหม
ถ้าใจเราสงบแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆ กับ น้ำมันไหลนิ่ง

โยมเคยเห็น น้ำไหลนิ่ง ไหม
แน่ะ ก็โยมเคยเห็นแต่น้ำนิ่ง กับน้ำไหล
น้ำไหลนิ่ง โยมไม่เคยเห็น...

ตรงนั้นแหละ ตรงที่โยมคิดยังไม่ถึงหรอกว่า
มันเฉยมันก็เกิดปัญญาได้
เรียกว่าดูใจของโยมมันจะคล้ายน้ำไหล แต่ว่านิ่ง
ดูเหมือนนิ่ง ดูเหมือนไหล เลยเรียกว่า น้ำไหลนิ่ง
มันจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาเกิดได้...”

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• หนทางของการปฏิบัติ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ที่เราทำไปทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่สมควร
เพราะมันจะต้องเสียหลักในการปฏิบัติ เดินออกจากหนทาง
ถ้าได้มามากก็ทุกข์มาก ไม่เห็นใครเหลือสักคนเลย

เช่น อาจารย์ทองดีเป็นเพื่อนกับผม บวชได้แปดพรรษา
เรียนนักธรรมเอกยังไม่ได้
กลับมาสอบอีกเรียนอยู่สี่ปีจึงสอบนักธรรมเอกได้ ติดอยู่นั่นแหละ
เหมือนเขาทอดแหใส่กิ่งไม้ ลูกโซ่แหไม่ถึงดิน
ก็ติดค้างอยู่บนอากาศ อยู่ไม่ได้สึกออกไปมีครอบครัวแล้ว
ไปมีภรรยาได้ไม่นานภรรยาก็ตาย ก็หาภรรยาใหม่อีก แล้วก็ตายอีก
สุดท้ายก็หมดหนทาง เหมือนตากกบแห้งมันจะเกิดประโยชน์อะไรล่ะ

ทำอย่างนั้นถ้าออกไปพบกับความทุกข์ก็ไม่ต้องบ่น
เพราะความทุกข์มันอยู่ที่นั่น ถ้าความอยากเกิดขึ้นมันก็ทุกข์
ถ้ามีความทุกข์ก็ทนเอา
ไม่ต้องบ่นว่ามันเป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์ อย่าพูดเลย
มันต้องรู้จักวาง อย่างนั้นมันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า อัตตาหรืออนัตตา ถ้าเป็นอัตตาก็เป็นตัวตน
ถ้าเป็นอนัตตาไม่ได้อาศัยตัวตน อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน
ให้แก้ไขสิ่งที่พอจะแก้ไขได้
ถ้าสิ่งที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไป ไม่เคยสอนให้อยู่นอกข้อประพฤติปฏิบัติ


• เหนื่อยก็ไม่พัก หนักก็ไม่วาง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


โลกนี้มันก็สม่ำเสมอดีอยู่หรอก ที่มันไม่สม่ำเสมอนั้น
เพราะจิตของเราหลงไปอุปาทานมั่นหมายมันเสียแล้ว

เช่น ต้นไม้ในป่านี้แหละ ต้นนี้มันโตไป ต้นนี้มันเล็กไป
ต้นนี้มันสูงไป ต้นนี้มันเตี้ยไป นี่เราก็พูดแต่เรื่องของเรา
ต้นไม้มันก็ไม่ว่าของมันยาวหรือสั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

อารมณ์เกิดมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันก็เป็นอยู่ของมันอยู่อย่างนั้น

ถ้าจิตมันรู้เรื่องแล้วก็ปล่อยๆ มันไป ทางตาก็ดี
ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี
ถ้าเห็นสภาพมันเป็นอย่างนั้น มันก็ปล่อย รับรู้แล้วมันก็ปล่อย
อารมณ์ทั้งหลายนั้นมันก็เสมอกัน ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรชั่ว


มันจะดี หรือมันจะชั่ว ก็เพราะเราไปมีอุปาทานมั่นหมายมันเท่านั้น
ตัวอารมณ์มันเป็นอยู่อย่างนั้นของมัน ถูกสมมติขึ้นมาในจิตใจของเรา
เราก็ไปสำคัญมั่นหมายว่า มันเป็นที่จิตอย่างนั้น
จากนั้นเราไปแบกมัน มันก็หนัก ความหนักนั้นก็ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา
ทีนี้จะวางก็วางไม่ได้...ทำไมจึงวางไม่ได้ ?

ก็เพราะนึกว่าของหนักนั้นมันดี
คิดว่าวางแล้ว มันจะไม่ได้ดี จึงไม่ยอมวางมัน
อย่างบุรุษคนหนึ่งแบกต้นไม้มา ถามว่าหนักไหม ?
หนักก็วางมันเสียที่นี่ เขาไม่ยอมวางเพราะกลัวจะไม่ได้
สิ่งที่ได้จากการวางนั้นมีอยู่ แต่เขาไม่เห็น
...มันก็แบกไป ดันไป จนกว่าจะตายนั่นเอง



• มีด
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


การฝึกจิตให้มีกำลัง กับการฝึกกายให้มีกำลัง
มีลักษณะอันเดียวกัน แต่มีวิธีต่างกัน


การฝึกกายให้มีกำลัง เราต้องเคลื่อนไหวอวัยวะ
แต่การฝึกจิตให้มีกำลัง คือทำจิตให้ “หยุด” ให้พักผ่อน
เช่น ทำสมาธิ พยายามปล่อยวางสิ่งทั้งหลาย
ไม่ปล่อยจิตให้คิดอย่างนั้นอย่างนี้สารพัด
ให้มีอยู่อารมณ์เดียว จิตก็จะมีกำลัง ปัญญาก็จะเกิด


เช่นเดียวกับมีมีดเล่มหนึ่ง เราลับไว้ดีแล้ว มัวแต่ฟันหิน
ฟันอิฐ ฟันหญ้าทั่วไป ฟันไม่เลือก มีดก็จะหมดความคม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2011, 21:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ปัญญาทราม
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ถึงจะมีปัญญามากก็ตาม
ถ้าเอาตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่า คนมีปัญญา


ถ้าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า
คนอันธพาลถึงจะมีปัญญามากก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาทราม
ปัญญาดีไม่มีเลย
พวกโจรมันมีปัญญาในการปล้น
พวกนักรบมีปัญญามากมีไหวพริบดีในการสร้างศาตราอาวุธ
สร้างระเบิดสารพัดอย่างมีความเก่งกล้าสามารถ มีปัญญามากก็จริง
แต่เป็นปัญญาทราม ปัญญาดีไม่มี เหมือนมะม่วงเน่าให้ประโยชน์ไม่ได้

มีปัญญามากอยู่ แต่ตัวเองได้รับความทุกข์
ถึงมีมากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

มีปัญญาทางสร้างอาวุธมารบยิงฆ่าฟันกันอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์
เหมือนคนผู้มีปัญญาปรุงยาพิษมากิน คนกินก็ตาย ไก่หรือสุนัขกินก็ตาย

มันดีหรือปัญญาอย่างนั้น ปัญญาปรุงยาพิษให้คนกินแล้วตาย
ในใบสลากยาก็ว่ายาดี ดีอย่างนั้น
ดีที่เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตของคนและสัตว์ในโลก
ท่านเรียกปัญญาทราม



• ความพอใจทำให้หมดปัญหา
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เมื่อหากว่าเราพอแล้วสิ่งอื่นก็หมดราคา พูดง่ายๆ ว่าเรารับประทานอาหาร
แม้ว่าอาหารจะเอร็ดอร่อยอย่างไรก็ช่างมัน เมื่อมันมีเกินที่เราต้องการแล้ว
ถ้าหากว่าเราอิ่มอยู่ทุกอย่างแล้ว อาหารที่เหลือนั้นมันหมดราคาน้อยลง
ไม่เหมือนเรารับประทานครั้งแรก ทีแรกอันนั้นก็จะเอา
อันนี้ก็จะเอา มีราคาหมดทุกอย่าง
พออิ่มเข้าอิ่มเข้า อาหารที่อร่อยย่อมหมดราคาน้อยลง
เพราะเราอิ่ม มันเลยเป็นของหมดราคา
เมื่อความหิวมีอยู่ก็เอาหมด ผักน้ำพริกก็เอา
แก่เท่าไรก็ว่าอ่อน เพราะความหิวมีอยู่ ความอยากมีอยู่เป็นต้น
ความต้องการมีอยู่ เมื่อความเป็นเราเป็นเขามีอยู่เป็นต้น
มันก็มีปัญหาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาเสมอ



• ต้องรู้อยู่ตลอด
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ถ้าหากว่าเราเผลอไปนาทีหนึ่ง ก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง
เราไม่มีสติสองนาที เราก็เป็นบ้าสองนาที
ถ้าไม่มีสติครึ่งวัน เราก็เป็นบ้าอยู่ครึ่งว้น เป็นอย่างนี้

สตินี้คือความระลึกได้ เมื่อเราจะพูดอะไร ทำอะไร
ต้องรู้ตัวเราทำอยู่ เราก็รู้ตัวอยู่ ระลึกได้อยู่
อย่างนี้คล้ายๆ กับเราขายของอยู่ในบ้านเรา
เราก็ดูของของเราอยู่ คนจะเข้ามาซื้อของ หรือขโมยของของเรา
ถ้าเราสะกดรอยมันอยู่เสมอ เราก็รู้เรื่องว่าคนๆ นี้ มันมาทำไม
เราจับอาวุธของเราไว้อยู่อย่างนี้
คือ เรามองเห็น พอขโมยมันเห็นเรา มันก็ไม่กล้าจะทำเรา

อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติรู้อยู่ มันจะทำอะไรเราไม่ได้
อารมณ์มันจะทำให้เราดีใจอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้
มันไม่แน่นอนหรอก เดี๋ยวมันก็หายไป
จะไปยึดมั่นถือมั่นทำไม อันนี้ฉันไม่ชอบ อันนี้ก็ไม่แน่นอนหรอก


ถ้าอย่างนี้ อารมณ์นั้นก็เป็นโมฆะเท่านั้น
เราสอนตัวของเราอยู่ เรามีสติอย่างนี้เราก็รักษาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป
ตอนกลางวัน ตอนกลางคืน ตอนไหนๆ ก็ตาม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2011, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• เมื่อมองเห็นโทษก็เห็นประโยชน์
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


พวกเราก็เหมือนกัน จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม
ถ้าไม่มีปัญญาเอาตัวไม่รอด อยู่ที่นี้ก็เหมือนกัน
ถ้าสิ่งใดที่เรามองไม่เห็นโทษของมันอย่างชัดเจน
ก็จะเลิกได้ยาก อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้

ถ้าเรามองเห็นโทษก็จะมองเห็นประโยชน์ขึ้นมาพร้อมกัน

มันก็เลิกได้ถึงจะจมอยู่ในน้ำ หรืออยู่บนพื้นดิน
มันก็จะผุดขึ้นมาจนได้ จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นหาได้ยาก
จะมีแต่คำพูดออกมาหลายๆ อย่าง แต่ความคิดเห็นจริงๆ นั้นจะไม่มี
สิ่งใดที่มาผ่านจะเอาให้หมด ตั้งไว้ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน
ไปที่ไหนท่านก็ไปให้ความรู้ความเห็นสารพัดอย่าง จะรวมลงคือ “ทุกข์”


• จิตที่ฝึกดีแล้วมีคุณค่ามากมาย
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว
จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีคุณค่ามากมายกว่ากันหลายเท่า
ดูแต่พระพุทธองค์และพระอริยสาวก
ได้เปลี่ยนภาวะจากปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล

จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป
และท่านยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง
เหลือประมาณที่เราๆ จะกำหนด
ก็เพราะพระองค์และสาวกได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น

จิตที่เราฝึกดีแล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพทุกอย่าง
ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ
ไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่น
ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะ



• การทำจิตให้มีพลัง
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


คำว่า “จิตสงบ” นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันต้องมี มีความสงบครอบอยู่
การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากก็เลยไป
ปล่อยเกินไปก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี
ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยา ไหวตัวอยู่เรื่อย
ฉะนั้น จิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง


การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง
กับการทำกายของเราให้มีกำลัง มันต่างกัน

การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลัง ทำกายบริหาร
มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง
การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ
ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ
ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2011, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• อย่ามัวอ่านสรรพคุณยาจนลืมกินยา
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอยายื่นขวดยาให้คนไข้
ข้างนอกขวดเขาเขียนบอกสรรพคุณของยาไว้ว่า แก้โรคชนิดนั้นๆ
ส่วนตัวยาแก้โรคนั้นอยู่ข้างในขวด
ที่คนไข้มัวอ่านสรรพคุณของยาที่ติดไว้ข้างนอกขวด
อ่านไปตั้งร้อยครั้งพันครั้ง คนไข้ผู้นั้นจะต้องตายเปล่า
โดยไม่ได้รับประโยชน์จากตัวยานั้นเลย
และเขาจะมาร้องตีโพยตีพายว่าหมอไม่ดี
ยาไม่มีสรรพคุณ แก้โรคอะไรไม่ได้
เขาจึงเห็นว่ายาที่หมอให้ไว้ไม่มีประโยชน์อะไร
ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยเปิดจุกขวดรินยาออกกินเลย
เพราะมัวแต่ไปติดใจอ่านฉลากยาซึ่งติดอยู่ข้างขวดเสียจนเพลิน


แต่ถ้าหากเขาเชื่อหมอ จะอ่านฉลากครั้งเดียวหรือไม่อ่านก็ได้
แต่ลงมือกินยาตามคำสั่งของหมอ
ถ้าคนไข้เป็นน้อย เขาก็หายจากโรค
แต่ถ้าหากเป็นมาก อาการของโรคก็จะทุเลาลง
และถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไปเอง
ที่ต้องกินยามากและบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคเรามันมาก
เรื่องนี้เป็นธรรมดาเหลือเกิน
ดังนั้น ท่านผู้อ่านจงใช้สติปัญญาพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ จึงจะเข้าใจดี


• สรีระโอสถและธรรมโอสถ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


พวกแพทย์พวกหมอเขาปรุงยาปราบโรคทางกาย
จะเรียกว่า สรีระโอสถ ก็ได้
ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้านั้นใช้ปราบโรคทางใจ
เรียกว่า ธรรมโอสถ
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงเป็นแพทย์
ผู้ปราบโรคทางใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
โรคทางใจเป็นได้ไวและเป็นได้ทุกคน ไม่เว้นเลย
เมื่อท่านรู้ว่าท่านเป็นไข้ใจ จะไม่ใช้ธรรมโอสถรักษาบ้างดอกหรือ


• ข้าวไม่กินจะกินแต่รำ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


กระเทาะเอาเปลือกเอารำมันออกหมด
ไม่ค่อยอยากจะได้ มันไม่รู้จักของกินหรือนี่
ทีเอาข้าวสารให้ไม่ค่อยอยากจะกิน
แต่ถ้าเลียแกลบเลียรำนั้นเร็วมาก ชอบมาก


• ความสงบคือความพอดี
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


จะให้ความพอดีของกิเลสตัณหานั้นไม่มีหรอก
ผมว่าตัดสินใจลงไปตรงนี้แหละ อายุคงไม่ถึงร้อยปีหรอกนะ
ถ้าพวกเราทำให้ถูกต้อง ก็จะมีความสงบระงับเท่านั้นเอง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2011, 13:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ความยึดมั่นถือมั่น
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


เมื่อมีเรา ก็มีของเรามาหมายมั่น
เหมือนกันกับฝาผนัง ถ้าไม่มีหัวตะปูแล้วห้อยเสื้อไม่ได้
ห้อยกางเกงไม่ได้ ไม่มีที่เกาะฉันใด
ถ้าภาวนาถึงที่แล้วมันก็ “ไม่ใช่เรา” “ไม่ใช่ของเรา” เป็นต้น
พระอรหันต์ท่านจึงหลุดพ้นจาก “เรา” หลุดพ้นจาก “เขา”
อาสวะทั้งหลายไม่มีที่เกาะ
อาสวะทั้งหลายไม่มีที่แอบอิง ไม่มีที่พึ่ง ถ้ามันหมดตัวเรา


การกระทำทุกวัน การประพฤติทุกวัน การพิจารณาทุกเวลา
จึงเป็นปัญหาที่จะแก้ปัญหาให้รู้จักตัวว่า เราหรือไม่ใช่ของเราออก
ถ้ายังมีตัวเราอยู่อย่างอุปาทาน ก็มีของเราตลอดไป
เมื่อมีของเรา ก็มีของหาย มีของได้ เมื่อมีได้เมื่อมีเสีย ก็มีสุขก็มีทุกข์
เมื่อมีสุขเมื่อมีทุกข์ก็มีเหตุมีปัจจัยหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีที่สิ้นสุดที่จบลงได้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเน้น เน้นข้อประพฤติ
เน้นข้อปฏิบัติให้เห็นตามเป็นจริง
เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วก็สบาย แต่เราไม่ค่อยเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย

สมัยก่อนศีล สมาธิ ปัญญาไม่ค่อยมี
มีแต่ว่าบรรลุธรรมะไปฟังธรรมก็ภาวนาไปด้วย
เมื่อรู้จักธรรมความละอายก็เกิดขึ้นมา
ไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดทางกาย วาจา ใจ เพราะได้ฟังธรรมะ
รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วจึงมีความละอาย
ความละอายท่านเรียกว่า “ศีล”
จิตที่่มั่นอยู่กับความละอายว่าจะเป็นบาปอยู่นั้น
ความมั่นในอารมณ์ที่ว่ามันเป็นบาปอันเดียวนั้นเรียกว่า “สมาธิ” ก็ได้
เมื่อสมาธิความมั่นอยู่ในอารมณ์ ไม่กระทำบาป ทำใจให้สุขุม
“ปัญญา” ความรู้เท่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นมา บรรลุถึง “สันติธรรม”
เห็นตัวเราของเราตามความเป็นจริงว่า มิใช่เราขึ้นมา
เป็นตัวปัญญาเกิดขึ้นมาพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้
ฉะนั้น ในครั้งพุทธกาลท่านว่า เมื่อมีการฟังธรรมก็บรรลุธรรมเท่านั้นเอง
เมื่อมีศีล สมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นมา


• รู้แจ้งโลก
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


ท่านจึงให้พิจารณาโลก ปัญญารู้เท่าตามความเป็นจริงของโลก
โลกเป็นอย่างใด ก็ให้รู้เท่าตามเป็นจริงมันซะ
ถ้าเรารู้จักปัญหาของโลกแล้ว ก็เหมือนกันกับเรารู้จักธรรมะ
เมื่อรู้จักธรรมะแล้วมันก็รู้แจ้งโลก
เมื่อรู้แจ้งโลกก็ไม่ติดในโลกเป็น “โลกวิทู รู้แจ้งโลก”


ฉะนั้น ธรรมะนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านว่าฟังธรรมะมีอานิสงส์มาก
การให้ธรรมเป็นทานได้บุญมากกว่าสิ่งทั้งหลายปวง มันก็ถูกอยู่
่การฟังธรรมก็ได้บุญ คนฟังธรรมเอาบุญเกิดจากการฟังไม่ค่อยมี
ทุกวันนี้ฟังแล้วหมดไป หมดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักอะไรการฟังธรรม การรักษาศีล
ปีนี้ชาวพิบูลฯ เขามารดน้ำ เขามาขอศีล ขอก็ให้นั่งดีๆ อาราธนาแล้ว

ข้อ ๑. อย่าฆ่าสัตว์ ข้อ ๒. อย่าลักขโมยของเขา
ข้อ ๓. อย่าไปนอกใจลูก ใจผัว ใจเมีย
ข้อ ๔. อย่าโกหกกัน ข้อ ๕. อย่ากินสุรา


เอาแหละใครจะเอาก็เอา ถ้าจะเอา เอาไหมล่ะ ?
พูดอย่างนี้ ทำไมให้ศีลง่ายจัง นั่นแหละให้ง่ายๆ อย่างนี้แหละ
มันจะยากอะไรถ้าจะเอา เอาไหมล่ะเรื่องเท่านี้ เรื่องไม่มากหรอก
เขาไม่ค่อยได้ยิน เขาอาราธนาขอศีลก็ว่าไป
มันไม่ค่อยได้เรื่องแบบนั้น มันตรงเกินไป


• โลกเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท


โลกนี้เป็นของพอดี แต่เรามีความโลภทะเยอทะยานไปเอง
ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักภาษาของโลก ไม่รู้จักความหมายของโลกว่า
มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติของมันอยู่ทุกวินาที
ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เมื่อเจ็บแล้วมันก็ตาย


คนทั้งหลายเกิดแล้วก็ไม่อยากแก่
แก่แล้วไม่อยากไปทางไหน อยากอยู่อย่างนี้
ให้มั่นคงให้ยั่งยืนอยู่นี่ อยู่กับลูกกับหลานนี่
“ลูกไปไร่ไปนา ลูกไปสวนมาบ้าน
คนขี้คร้านให้นอนอยู่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปที่ไหนอีก”
อยากอยู่นี่ไม่อยากไปทางไหน ไม่อยากให้เฒ่า
ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้วุ่นวาย ไปกั้นแม่น้ำทะเลเอาไว้
ถ้ากั้นไม่อยู่ก็ท่วมบ้านท่วมเรือนเหมือนเก่านั้นแหละ
ตายหมดเหมือนเก่านั่นแหละ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 29 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron