วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 11:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2011, 16:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 13:16
โพสต์: 279

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




EFCBC94AC1F04785BCA06DEBADD84B7E.jpg
EFCBC94AC1F04785BCA06DEBADD84B7E.jpg [ 16.79 KiB | เปิดดู 1523 ครั้ง ]
ไม่มาเกิดไม่มาตายเรียกว่าชาติสุดท้าย หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
ครูบาอาจารย์ใหญ่มั่นท่านพูดเป็นปัญหาว่า “กล้วย 4 หวี สำรับอาหาร 4 สำรับ สามเณรนั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน” ท่านว่าอย่างนี้...

...พระผู้ที่ท่านผ่านการอบรมธรรมปฏิบัติมาแล้ว คำพูดของท่านแต่ละคำพูดไม่มากมาย แต่ถ้าเรานำมาตีความหมายแล้วจะมากไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและน่าฟังมาก เราอย่าประมาทในคำพูดแต่ละคำของครูบาอาจารย์ จะทำให้พลาดจากของดีที่ท่านให้ไว้ และเป็นสำนวนโวหารที่เราจะไม่ค่อยได้ฟังพร่ำเพรื่อจนเกินไป แต่ถ้าเราได้ฟังแล้ว ขอให้จดจำในข้ออรรถ ข้อธรรมะที่ท่านให้ไว้แล้วนำไปตีความหมายให้ละเอียดลงไปว่า กล้วย 4 หวี ได้แก่ ธาตุ 4 เณรน้อยนั่งเฝ้า ได้แก่คนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทันตามหลักของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ว่าในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน เลี้ยงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่ได้ทำอะไรที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย อันนี้แหละชื่อว่าโง่เขลาเบาปัญญา ได้แต่นั่งเฝ้าตัวเองอยู่

สามเณรนั่งเฝ้าสำรับที่มีอยู่แล้วโดยไม่ฉัน ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่รู้ธาตุ 4 ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างไร ไม่ยอมกำหนดรู้แบบชนิดที่ให้เกิดปัญญา

พระเจ้านั่งฉัน หมายความว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ


เมื่อภาวนาได้ที่แล้วก็ยกธาตุ 4 เปรียบด้วยกล้วย 4 หวี มาพิจารณาตามหลักแห่งความจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านเป็นผู้ฉลาดในอรรถและพยัญชนะจึงไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ ธาตุ 4 ก็อยู่ที่ตัวของเรา ขันธ์ 5 ก็อยู่ที่ตัวของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่คนที่ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ก็เลยต้องนั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ เหมือนลิงนั่งเฝ้าเม็ดทองคำ ไม่รู้ค่าของทองคำว่าเป็นของดี คนที่โง่เขลา เบาปัญญาก็ได้แต่นั่งเฝ้ารูปธรรมนามธรรมที่มันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ แต่พระอริยเจ้าหมายถึงผู้ฉลาด มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ท่านฉลาด ท่านไม่ได้นั่งเฝ้าอยู่อย่างธรรมดา

ท่านหยิบยกเอาธาตุ 4 ขันธ์ 5 มาสับมาโขกให้ละเอียดจนท่านรู้แจ้งเห็นจริงในอัตภาพร่างกายของท่านเองและอัตภาพร่างกายของบุคคลอื่น คือมีอยู่ในตัวของท่านแล้วท่านไม่ได้นั่งหลับหูหลับตาอยู่เฉยๆ นั่งฉันเลยทีเดียว

นั่งฉัน คือ นั่งพิจารณาอัตภาพร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อัตภาพ คือ ธาตุ 4 ขันธ์ 5 เกิดมาแล้วมันเป็นไปอย่างไร ชาติปิ ทุกขา กายของเราเกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ ที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เบื้องต้นเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเด็กทารก แทนที่จะคงเป็นเด็กอย่างนั้นร่ำไปก็หาไม่ จำต้องเปลี่ยนจากเด็กอ่อนขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว ในขณะที่เจริญวัยขึ้นตามลำดับนั้น ความคิดมันสมองก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัยของคน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงแก่เฒ่าชรากาลนานๆ เข้า ทนอยู่ไม่ได้ก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ทุกรูปทุกนาม ไม่มีข้อยกเว้น พวกท่านทั้งหลายอย่าได้นั่งเฝ้าร่างกายอยู่เฉยๆ มันไม่เกิดปัญญา

ปัญญามันเกิดจากการภาวนา คือ การอบรมจิต เพื่อจะทำลายกิเลสจริงๆ จังๆ นั้นจะต้องดำเนินตามหลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนพวกเราเอาไว้ เพื่อให้ดำเนินตาม ไม่มีหลักอันใดจะวิเศษเหมาะสมยิ่งไปกว่าหลักโอวาทของพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนไว้แล้ว ไม่ว่าพระ ไม่ว่าฆราวาส ท่านสอนให้รู้บ้างแล้ว ลงมือประพฤติปฏิบัติตามทันที และอุบายวิธีที่พระองค์สอนไว้นั้นล้วนแต่เป็นอุบายวิธี เพื่อที่จะถอดถอนกิเลสให้หลุดหายไปทั้งนั้น แต่เราไม่ค่อยจะศึกษาสำเหนียกกันเท่านั้นเอง

ยกอัตภาพร่างกายของเราขึ้นมาบ้างสิ อย่ากอดขี้กอดเยี่ยวเอาไว้เฉยๆ การปฏิบัติธรรมอยู่ในที่สงบๆ

พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญไว้หลายแห่ง เช่น ท่านตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ คือ ยินดีในเสนาสนะที่สงัด ทีแรกต้องให้กายของเรานี้สงบราบคาบจากการคลุกคลีด้วยหมู่คณะเสียก่อน ที่ท่านกล่าวว่า กายวิเวกคือความสงัดของกาย เมื่อกายมันสงบลงไปแล้ว จิตใจซึ่งเป็นนามธรรมเป็นของละเอียด มันก็จะพลอยสงบไปในที่สุด

เมื่อจิตใจมันได้ที่หรือที่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิเมื่อไร เราจะยกจิตที่ละเอียดนี้พิจารณาข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างมีความสุขที่สุดในโลก แต่ถ้าการอยู่ในสถานที่ที่สงบหรืออยู่ในป่า ถ้าจิตของเราไปคิดแต่เรื่องโลกๆ เรื่องไม่เป็นเรื่องซึ่งมีอยู่มากมาย มีแต่เรื่องวุ่นวายใจ ก็เท่ากับว่าไม่ได้อยู่ในที่อันสงัด อยู่ในป่าก็เหมือนอยู่บ้าน ไม่มีประโยชน์ขึ้นมาเลย แย่กว่าคนที่เขาอยู่ในบ้านเสียอีกก็มี อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราควรนำไปคิดไปพิจารณาตัวเองให้มากๆ เราจะรู้ว่าอะไรมาเกี่ยวข้องอยู่กับจิตของเราบ้าง

หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี้แหละสำคัญมาก กายก็คือขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้อยู่กับตัวเรา คือ จิต ตกลงว่าขันธ์ 5 กับจิตนี้อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก แต่ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็นเวทนา และส่วนไหนเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ยุ่งเหยิงกันไปหมด นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง 5 คือ

รูป ได้แก่ สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ คือ ปรากฏว่าเป็นรูปอยู่ที่ตา ถ้าตาบอดก็ไม่เห็นรูป แต่เราจะเห็นหรือไม่เห็นรูปมันก็คงเป็นรูปอยู่อย่างนั้น เราในฐานะเป็นศิษย์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องให้เป็นผู้รู้จักรูปในขันธ์ทั้ง 5 ให้ละเอียดพอสมควร จึงได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง รูปนี่แหละเป็นนิมิตหมายอันหนึ่งที่เราจะต้องนำมาสับมาโขกให้ละเอียดว่ามันเป็นอย่างไร
ปรากฏขึ้นมาแล้ว รูปคงอยู่เป็นรูปตลอดไปไหม

สิ่งที่มีวิญญาณเมื่อปรากฏขึ้นมาแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไหม

คงทนอยู่ได้ไหม

ทำไมเราไปติดอยู่ในรูปที่ไม่มั่นคงอย่างนั้น

เราเป็นคนโง่หรือเปล่า

รูปสวย รูปขี้เหร่ อัปลักษณ์อย่างไร มันก็ไม่อยู่กับเราตลอดไป เราไปติดมันทำไม มันไม่ได้ให้อะไรเลย ถ้าติดในรูปมันก็หยิบยื่นแต่ภพแต่ชาติให้เราเท่านั้นเอง

ส่วนขันธ์ข้อที่ 2 คือ เวทนา อันเวทนานี้ก็เป็นข้าศึกแก่เรามันไม่มีอะไร ประเดี๋ยวก็ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา ประเดี๋ยวก็สุข เรียกว่า สุขเวทนา มันเป็นมันเกิดขึ้นภายในจิต โดยลำพัง โดยร้องเรียกหามันบ้าง เราต้องพิจารณาดูเวทนา คือการเสวยอารมณ์ให้ละเอียด อารมณ์สุขก็อย่าดีใจตามมัน ถ้าเกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ก็อย่าทุกข์ใจไปกับมัน ทำใจให้เป็นกลางๆ จนจิตของเราเป็นอุเบกขาเวทนา คือวางเฉยในอารมณ์ที่เป็นสุขและเป็นทุกข์


สัญญา ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็สำคัญ แต่ทุกข์ไม่ได้เกิดอยู่ทุกเวลา ส่วนสัญญาเป็นผู้สำคัญมาก ละเอียดมาก

สังขาร เป็นผู้ยื่นให้สัญญา จนไม่มีที่สิ้นสุด และหัวข้อที่จะยุติได้ยาก

วิญญาณ ก็สำหรับรับทราบ สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้สัญญานี้เอง เป็นเครื่องปิดบังใจให้หลงใหลไปตามสัญญา ฉะนั้นจึงต้องบังคับจิต บังคับใจของตัวเอง

การที่พวกเราทั้งหลายรู้เท่าไม่ทันสิ่งเหล่านี้เพราะว่าไม่ได้กำหนดในสิ่งทั้ง 5 นี้ จึงไม่รู้ว่าการเกิดดับของคนเรานั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นของที่ละเอียดมาก ยากที่จะกำหนดจิตให้ดิ่งลงไปได้ การสู้รบตบมือกับกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดและทำได้ยาก แต่ถ้าไม่มีการต่อสู้กิเลสที่มันย่ำยีตัวเราอยู่นั้น ก็เท่ากับว่าพวกเราไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถึงแม้พวกเราจะบวชเข้ามาอยู่ใกล้พระพุทธองค์ ก็จะไม่มีความหมาย นักบวชที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือปราบปรามกับกิเลส ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมัน ปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราเองจะย่ำแย่ลงไปทุกที ผลสุดท้ายเราก็เป็นผู้แพ้ ยอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลส ใช้การไม่ได้

สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจเราจะรู้สึกว่า มีความทุกข์ยากลำบาก เป็นกำลังอยู่มากทีเดียว แต่ขอให้พวกเราทำต่อและยอมรับความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น ยิ้มรับกับความลำบาก เพราะความเพียรพยายามของเรา เมื่อเรามีความท้อถอย อิดหนาระอาใจต่อความเพียรของตนนั้นให้พึงระลึกถึงพระพุทธองค์ ผู้เป็นบรมครูของพวกเรา พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆจาติ นานาโหนฺ ตมฺปิ วตฺถุโต คือให้ยึด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังของกิเลสลงได้อย่างราบคาบ พระองค์ก็ใช้อาวุธหลายอย่างหลายชนิดเข้าประหัตประหาร จนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระองค์โขกสับได้อย่างสบาย

ขันติพระองค์ก็นำมาใช้ เช่น พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา คือ การกระทำที่บุคคลทั้งหลายในโลกทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง จนเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ พวกท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ป่าแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่นิยมอยู่บ้าน คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่จิตใจของเราก็จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน

พระพุทธองค์เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พวกท่านปัญจวัคคีย์ 5 รูปไปเฝ้าปฏิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตั้งใจว่าเมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจักบอกแก่เราก่อน เมื่อเรามาสันนิษฐานดูแล้วจะเห็นได้ว่าการคลุกคลี หรือการอยู่ร่วมกันหลายคนนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ พระองค์ก็เลยต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่งให้พวกปัญจวัคคีย์เกิดความเบื่อหน่ายแล้วจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่น พระองค์ต้องกลับมาเสวยพระกระยาหารอีก ทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในการกระทำความเพียรเลยต้องหลีกหนีไปอยู่อิสิปตนมฤคทายวัน

เมื่อท่านปัญจวัคคีย์หนีจากท่านไปแล้ว พระองค์ก็ได้ทำความเพียรทางใจให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกาลไม่นาน อันนี้จะเห็นได้ว่าพระองค์ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว เราผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ท่านก็ควรจะสำเหนียกและดำเนินตาม
การทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลสมันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อก็ต้องยอมอด อดมันทำไม อดเพื่อปราบกิเลส กิเลสมันก่อตัวมานานแสนนาน หลายกัปหลายกัลป์มาแล้ว จนเราสาวหาตัว ต้นตอ โคตรเหง้า ของมันไม่พบ

นี่แหละท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัด แม้แต่ในครั้งพุทธกาล มีท่านพระเถระหลายท่านที่มุ่งหมายต่อแดนพ้นทุกข์ได้ออกปฏิบัติตนทรมานอยู่ในป่าในเขา และก็ได้บรรลุมรรคเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่เหตุในการบำเพ็ญของท่านเหล่านั้น ท่านทำกันจริงจัง หวังผลคือการหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นสละตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบาก ทุกข์มากทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติ
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร