วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2010, 14:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นที่
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงฉายในงานฉลองพระชนมายุ ๙๐ พรรษา วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๑
............................................................................



เจริญอายุ

ธมฺโมสถ รักษานามธรรม
พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)



การที่บุคคลมีอายุยืนยาวนั้น ถ้ายืนยาวอยู่ด้วยความหลงใหล
กินแล้วก็ว่าไม่ได้กิน นอนแล้วก็ว่าไม่ได้นอน เป็นต้น
ย่อมชวนให้เห็นว่าเป็นชีวิตทรมาน
ไม่ได้รับผลเป็นความผาสุกเพราะอายุยืนเลย
กลับจะเป็นการทนทุกข์ทรมานแก่ตนเอง
และเป็นที่อิดหนาระอาใจของลูกหลานผู้ปฏิบัติ
กลับเป็นเช่นเด็กไร้เดียงสาลำบากแก่ผู้เลี้ยงดูยิ่งเสียกว่าเด็กเล็กๆ เป็นไหนๆ
เด็กซุกซนดื้อดึงผู้เลี้ยงอาจจะว่ากล่าวเฆี่ยนตีได้
ส่วนคนแก่ที่เป็นปู่ย่าตายาย ผู้เลี้ยงจะทำเช่นนั้นไม่ได้
ฉะนั้น การที่มีอายุยืนยาวและมีสติดีไม่หลงใหลเลอะเลือน
จึงนับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ
ท่านแสดงว่าเป็นผลานิสงส์ของเมตตาจิต
ไม่คิดประทุษร้ายฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่นโดยแท้
สมตามกระแสพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ ใจความว่า


"บุคคลเป็นผู้ละเว้นจากปาณาติบาต
มีความละอาย มีความเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง
ครั้นตายไปแล้ว ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ถ้ามาเกิดในโลกมนุษย์ในที่ใดๆ จักเป็นผู้มีอายุยืนยาว
และเพราะไม่ดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ย่อมเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงไม่หลงลืม ดังนี้"


การที่มีอายุยืนยาวและไม่มีการหลงลืม
นับเป็นผลแห่งกุศลกรรมที่บำเพ็ญมาแล้วในอดีตชาติ
มาส่งผลตามนัยแห่งจูฬกรรมวิภังคสูตรแล้ว
จึงเป็นเหตุก่อให้เกิดปิติยินดีในความผาสุกยืนยาวมา
ทำให้ปรารภการฉลองสมโภชในคราวครบรอบปีบ้าง ครบ 50-60 ปีบ้าง
เหมือนเป็นการเพิ่มพูนกุศลสัมมาปฏิบัติให้ภิญโญยิ่งขึ้น
ทั้งส่วนตนเองและลูกหลาน นับเป็นการสมควรโดยแท้
แต่การบำเพ็ญกุศลฉลองนี้
ควรสันนิษฐานว่า
เป็นการสมโภชฉลองเพื่อต้อนรับอายุที่ยืนยาวต่อไปข้างหน้า
เพราะอายุที่ล่วงมาได้
นับว่าเป็นส่วนเสียที่ล่วงพ้นผ่านไปแล้วเรียกกลับคืนมาอีกไม่ได้
ท่านจึงเรียกว่า "วัย คือ ความเสื่อม"
ท่านปันระยะชีวิตของบุคคลที่สามารถเจริญล่วงพ้นผ่านวัย
คือ ความเสื่อมไว้อย่างมากคนละ 3 วัย ไม่เกินกว่านี้


ความเสื่อมตอนต้น เรียกว่า ปฐมวัย
ความเสื่อมตอนกลาง เรียกว่า มัชฌิมวัย
ความเสื่อมตอนสุด เรียกว่า ปัจฉิมวัย


ฉะนั้น อายุที่ล่วงไปแล้วจึงเป็นส่วนเสื่อม ไม่ใช่ส่วนเจริญ
ส่วนที่จะได้ต่อไปนับว่าเป็นส่วนเจริญ ส่วนเสื่อมในเรื่องอายุยิ่งมาเท่าใด
ดูเป็นที่พอใจว่าเป็นผู้มีอายุยืนนิยมชมชื่นกันเท่านั้น
ในทางธรรมท่านไม่นิยม
เพราะเป็นส่วนที่ล่วงพ้นไปแล้ว ไม่ย้อนกลับมาอีก
แต่ก็ให้ถือเป็นเครื่องเตือนใจกันความประมาทได้ประการหนึ่งเหมือนกันว่า
มีอายุเข้าขีดปัจฉิมวัย คือ ถึงความเสื่อมสุดแล้ว
ไม่ควรจะหลงมัวเมาประมาทปล่อยชีวิตให้เกลือกกลั้วอยู่กับอกุศลทุจริต
อบายมุขต่างๆ อยู่อีกเป็นวัยสุดท้าย ไม่มีวัยจะเจริญแก้ตัวอีกแล้ว
ซึ่งมักจะพูดกันติดปากว่าไม้ใกล้ฝั่ง
ถ้าเป็นผู้มีชีวิตมืดมนอยู่ด้วยบาปอกุศลกรรม
ก็ควรจักได้กลับตัวแก้ไขชีวิตนั้น ให้สว่างด้วยบุญทานเป็นอย่างน้อย
จะได้ชื่อว่า มืดมาแล้วแต่สว่างกลับไป
ถ้าเจริญอายุเข้าปัจฉิมวัยแล้วยังหมกมุ่นด้วยบาปทุจริตกลับแก้ตัวไม่ได้
ก็เที่ยงแท้ที่จะต้องเป็นผู้ถูกตำหนิว่า มืดมาแล้วกลับมืดไปอีก
เสียเวลาที่มีชีวิตอยู่ที่รกโลก ทำลายชีวิตตนเองให้ตกต่ำ
ซ้ำยังชื่อว่า ทิ้งรอยความเสียหายให้แก่อนุชนของตนอีกด้วย


การที่บุคคลได้อัตภาพเป็นมนุษย์ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญว่า
ได้ข้ามพ้นความยากขั้นต้นมาแล้ว
ด้วยพระองค์ตรัสว่า การให้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก
ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมความดีได้อบรมมาเพียงพอแล้ว
หาไม่ก็จะมีอัตภาพเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ซึ่งมีจำนวนและชนิดแต่ละอย่างเหลือคณนา
และเมื่อได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว
ยังดำรงชีวิตผ่านพ้นอุปสรรคนานาประการยืนยาวมาได้
ก็นับว่าพ้นความยาก
ข้อว่าความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายเป็นของบาปอีกประการหนึ่ง
และยิ่งได้ความเลื่อมใสเชื่อมั่นต่อสาวก
ตามธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา
จนได้ประพฤติปฏิบัติตนตามควรแก่การปฏิบัติของตน
ก็นับว่า ได้ข้ามพ้นความยากข้อว่า การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก
และความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก


บุคคลผู้ที่ได้ข้ามพ้นความยากทุกประการ
ที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้เช่นนี้แล้ว
นับว่าเป็นโชคลาภอันประเสริฐ สมควรที่จะอบรมกายใจของตน
ให้ดำรงอยู่แต่ในทางกุศลกรรมบถตราบเท่าสิ้นชีวิต
จึงจะเป็นทางนำคติของตนในภายหน้าให้สว่างใสวตลอดไป
ตรงกับพระพุทธภาษิตที่ตรัสเทียบเคียงว่า
บุคคลที่มีชีวิตมืดมาแล้วหรือสว่างมาแล้วก็ตาม
ก็ควรปฏิบัติดำรงตนให้เป็นผู้มีชีวิตสว่างกลับไปเถิด
จึงจะสมกับได้อัตภาพเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง


บุคคลบางคนได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว กลับดำรงชีวิตอยู่ในทางแห่งอกุศล
ด้วยเข้าใจเอาเองว่าเมื่อยังเป็นอยู่ ก็ควรหาความสำราญให้แก่ชีวิตจนสุดกำลัง
จึงตามใจปล่อยชีวิตให้หมกมุ่นอยู่ในวงแห่งความเสื่อม
มีอบายมุขแทบทุกอย่างเป็นที่ชื่นชอบของอารมณ์
หลงใหลใฝ่ฝันอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ผู้เช่นนี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาทั้งฝ่ายคดีโลกและคดีธรรม
เป็นเหมือนดำรงชีวิตอยู่ในความมืด
เป็นหลักตอกีดขวางช่วงชิงประโยชน์ของผู้อื่น
นึกถึงตัวเวลาไร ย่อมติตัวเองได้
เพราะไม่มีคุณธรรมอย่างไร ซึ่งจะเป็นเครื่องเชิดชูกำลังน้ำใจของตนเลย


ผู้รู้ก็ย่อมติเตียนเป็นการทำตัวอย่างที่เลวทรามให้แก่อนุชนของตน
ทั้งที่ปรารถนาให้อนุชนมีลูกหลานของตนเป็นคนดี
ไม่เชื่อว่าเป็นศรีสง่าของตระกูล ไม่เป็นมิ่งขวัญของครอบครัว
ย่อมดำรงชีวิตอยู่เพียงลมหายใจเข้าออก ท่านเปรียบเหมือนคนที่ตายแล้ว
ผู้เช่นนี้ ตราบใดที่ผลความชั่วต่างๆ ที่นิยมประพฤติอยู่นั้น
ยังไม่ให้ผลเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างชัดเจน
ก็ยังยินดีหลงใหลใฝ่ฝันนิยมประพฤติเช่นนั้นตลอดไปตราบนั้น
ครั้นได้รับผลของความชั่วเผาผลาญ จึงจะฉุกใจคิดได้
แต่ก็มักสายเกินไปที่จะกลับตัวเสียแล้ว
ย่อมจะต้องเสวยผลของความชั่วของตนด้วยตนเอง
ไม่มีใครช่วยเหลือแบ่งมาได้


ส่วนบุคคลผู้มีสำนึกรู้สึกตนว่า
การที่ได้รับอัตภาพเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาและกำลังดำรงชีวิตเป็นอยู่บัดนี้
เพราะกุศลกรรมความดีอำนวยผล ไม่ประมาททะนงตน
กลับขวนขวายพยายามปฏิบัติบำเพ็ญตนให้อยู่ในครรลองแห่งกุศลยิ่งขึ้นตามลำดับ
เพื่อจะได้เป็นเหตุอุดหนุนส่งเสริมให้เจริญสุขยิ่งขึ้น
พิจารณากาย วาจา ใจของตนตามแนวแห่งธรรมะ
ส่วนใดที่ผิดแผกจากแนวธรรมะ หรือยังไม่ละเอียดถี่ถ้วนถูกต้องตามคลองธรรม
ก็พยายามฝึกหัดอบรมตนตามวิธีเตือนตนเอง สอนตนเองตลอดไป
มีกิจการหน้าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเช่นไร
ก็ปฏิบัติตนสมกับหน้าที่ของบุคคลนั้นๆ ตามฐานะและหน้าที่
ในหน้าที่หัวหน้าครอบครัว ก็มีความขยันหมั่นเพียร
ตั้งตนเป็นหลักฐาน เป็นที่อบอุ่นของครอบครัว


ในหน้าที่เป็นเชษฐบุรุษ บุคคลผู้เป็นผู้ใหญ่ของตระกูล
ก็ตั้งตนให้มีคุณธรรมสมกับที่อนุชนจะเคารพนับถือบูชาด้วยความสนิทใจ
แนะนำชักจูงอนุชนให้เป็นสัมมาจารี ตั้งตนให้เป็นตัวอย่างอันดีงาม
ไม่ทำตนให้เป็นที่อิดหนาระอาใจแก่ใครๆ
ไม่ถืออำนาจบาทใหญ่ว่าเป็นชนชั้น ปู่ ย่า ตา ยายแล้ว
ใครจะตักเตือนห้ามปรามอะไรมิได้
การทำอะไรมักมีการผิดพลาดย่อมเป็นสิ่งธรรมดามีอยู่ในบุคคลทั่วไป
ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง วิสัยคนดีมีศีลธรรมประจำใจ
ย่อมรับฟังในคำตักเตือนที่ถูกต้องแม้จะเป็นของผู้น้อย ก็มิได้รังเกียจ
เพราะยิ่งมีผู้คอยตักเตือนห้ามปรามมากเท่าใด
ก็เหมือนมีรั้วคอยกีดกั้นไม่ให้หลงเดินออกนอกทาง
เป็นการผิดการเสียมากขึ้นเท่านั้น ผู้ที่ถูกเขาคอยตักเตือนห้ามปรามนั้น
เหมือนเขามาบอกขุมทรัพย์ให้
จึงควรยินดีรับฟังคำเตือนให้มากกว่าจะขัดเคืองหาว่าดูหมิ่น


ความเป็นผู้มีอายุยืนนาน อาจชวนให้เห็นเป็นการทรมานทรกรรม
ของผู้ขาดการพิจารณาใคร่ครวญอีกบ้างก็ได้
เพราะวิสัยของคนแก่ อาหารการบริโภคมักไม่สะดวกสบายเหมือนเขาอื่น
ยามนอนก็มักตื่นในเมื่อคนอื่นเขาหลับ ชวนให้รำคาญคิดเร่งเวลาสว่างอยู่ร่ำไป
จะผลัดเปลี่ยนอิริยาบทก็ไม่คล่องแคล่วสะดวกสบายเหมือนคนหนุ่มสาว
จึงเห็นเป็นว่า จะอยู่ไปทำไม ตายเสียก็จะดีกว่า
ความคิดเช่นนี้ ตามหลักธรรมตำหนิว่า
เป็นวิภวตัณหาอยากเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ด้วยเห็นว่าแก่แล้ว ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ รังแต่จะเป็นกังวลของผู้อื่น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2010, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความจริงถ้าตั้งเค้าของจิตใจให้ถูกต้องกับแนวธรรมะแล้ว
ย่อมถือเอาอาการของชราในตนเองเป็นบทเรียน
พิจารณาหาความจริงของสภาวะธรรมได้เป็นอย่างดี
และควรเห็นว่าการมีชีวิตอยู่ยังไม่ถึงมรณกรรมเสียโดยเร็วนั้น
เท่ากับให้มีเวลาที่จะแสวงบุญกุศลอบรมบารมีแก่ตนเองมากมายทีเดียว
โดยมีเวลาว่างอยู่มาก ไม่ต้องกังวลด้วยการหาเลี้ยงชีพ
ไม่ต้องกังวลด้วยอาหารการบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
ตลอดจนความป่วยไข้ เพราะย่อมมีลูกหลานจัดทำสนองคุณพร้อมมูลอยู่แล้ว
การถือโอกาสในยามว่างนั้นเอง ทำบุญกุศลให้เกิดทวีขึ้นได้อย่างสะดวกใจ


การบำเพ็ญบุญกุศลที่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับผู้อื่น
เช่น สร้างศาลา กุฏิ วิหาร โบสถ์ บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น
รวมเรียกว่า กุศลภายนอก ก็ได้เคยปฏิบัติบำเพ็ญตามกำลังสามารถมาบ้างแล้ว
บัดนี้เวลาที่จะกระทำเช่นนั้นผ่านพ้นไป
ก็ควรบำเพ็ญกุศลภายในของตนเองในยามว่างนี้ได้โดยแท้
อย่ามัวนั่งบ่นนอนบ่นปล่อยเวลาล่วงเลยไปเสียเปล่าๆ บุญกุศลอะไรก็ไม่ได้
มิหนำซ้ำจะกลับก่อบาปอกุศลขึ้นเสียอีกได้
หลักของการบำเพ็ญกุศลภายในก็อยู่ที่กายใจของตนนี่เอง
ไม่ต้องออกแรงลงทุนอะไรนัก
วิธีที่จะกระทำตามนัยแห่งอปัณณกสูตร พระสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติไม่ผิด


ในขั้นต้นก็หัดให้มีสติสัมปชัญญะคอยสำรวมระวังตรวจตรา
ส่วนตาจะเห็นรูป หูที่จะฟังเสียง จมูกที่จะดมกลิ่น
ลิ้นที่จะรู้รส กายที่จะถูกต้อง ใจที่จะรู้อารมณ์
อย่าเผลอให้ไปหลงรัก หลงชัง หลงติ หลงบ่น เพราะถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง
จนติดอกติดใจในอารมณ์ที่มากระทบนั้นๆ
เพราะถ้าไปรักไปชอบติดอกติดใจแล้ว
จะทำให้กระวนกระวายกระตือรือร้นอยากได้สิ่งที่ชอบนั้นมาเป็นของตน
ต้องคิดต้องนึกหาอุบายต่างๆนานา เพื่อให้สมอยาก
นี้ย่อมทำให้ไม่สบายใจส่วนหนึ่งแล้ว
ถ้าได้มาสมปรารถนา แม้จะทำให้ร่าเริงยินดีไปพักหนึ่ง
แต่ก็ชวนให้เป็นกังวลที่จะต้องถนอมรักษา


เพราะเป็นของรักของชอบใจ บางทีต้องอาศัยกำลังคนอื่นช่วยถนอมรักษา
เขาทำให้ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง นี้ก็ทำให้ก่อเรื่องเดือดร้อนอีก
ยิ่งไม่สมปรารถนา กลับซ้ำร้ายจะชวนให้ขัดแค้นขุ่นเคือง
โทษสิ่งนั้นบ้าง ซัดคนนี้บ้าง คุกรุ่นอยู่ในใจบางทีก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี
นี้ก็ทำใจให้เดือดร้อนอีกด้านหนึ่ง
รวมความว่า ถ้าไม่คอยมีสติยับยั้งห้ามตาห้ามหูเป็นต้นไว้บ้างแล้ว
ตา หู นี่เองเป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสตัณหาทำความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างสำคัญที่สุด
ท่านจัดว่าเป็นบาปอกุศลอย่างละเอียด ซึ่งสามารถเผาผลาญตนเอง
เพราะความยึดถือของตน ตนนั่งคิดนอนตรองให้แก่ตนเอง


ถ้ามีสติคอยควบคุมไม่ให้หลงยินดียินร้ายในรูป เสียงที่มากระทบ เป็นต้น
หัดวางใจเฉยเป็นกลาง รู้สึกแต่เพียงสำเร็จเป็นการเห็นการฟัง
ระวังใจไม่ให้เลยไปหลงยึดถือเป็นเราเป็นเขาจริงจังขึ้น
รู้เท่าทันอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไปไม่เที่ยงถาวรคงอยู่ตามปรารถนาได้
ใจก็จะค่อยคลายความหลงรัก หลงชัง กลับเป็นใจที่ปลอดโปร่ง
ทั้งคราวเสื่อมและคราวเจริญของสิ่งนั้นๆ อารมณ์นั้นๆ
รักษาใจให้มีความปลอดโปร่งได้เช่นนี้แล้ว
ควรที่จะระวังในการบริโภคอาหารอีกคือให้นึกพิจารณาก่อนว่า
เราจะบริโภคอาหารเพียงพอให้การดำรงชีวิตเป็นไป
อย่าให้นึกบริโภคเพื่อบำรุงกำลังร่างกายให้สดสวยงดงาม
จะกลับก่อความดิ้นรนยื่งขึ้นเพราะติดรส


ยามนอนก็ให้นึกว่านอนพอพักผ่อนระงับความอ่อนเปลี้ยของร่างกาย
มิใช่นอนอย่างคนเกียจคร้าน เมื่อนอนไม่หลับหรือหลับเต็มตาแล้ว
ก็ควรใช้เวลาตื่นอยู่นั้น ตรวจตราอารมณ์ที่ผ่านมากระทบทางตาทางหู
เป็นต้นนั้นต่อไป ส่วนไหนที่ยังเห็นผิดพลาดก็ควรตั้งใจสำรวมระวังต่อไปใหม่
ส่วนไหนที่เจริญดีแล้ว ก็ควรให้เจริญดียิ่งขึ้น่จนถึงชำนาญไม่กลับกลาย
ใช้เวลาที่ว่างอยู่ให้คอยระมัดระวังใจใน 3 ระยะกาล
คือ ยามตื่น ยามกิน ยามนอน ไม่ให้แชเชือนไปในอารมณ์ทั้งหลายอื่นแล้ว
ใจจะปลอดโปร่งเกิดความเยือกเย็นปรากฏแก่ตนเองอย่างนี้แล
ท่านเรียกว่า ผู้บำเพ็ญบุญด้วยลักษณะของภาวนา จะมีบุญติดตัวอยู่เสมอ


เมื่อสามารถอบรมกายวาจาใจให้ผ่องใสเป็นบุญกุศลอยู่กับตนได้เพียงไร
ก็ได้ชื่อว่าผู้มีมงคลคุ้มตัว ผู้มีบุญได้กระทำมาแล้ว
ลูกหลานทีอุปการะปฏิบัติเลี้ยงดู ย่อมพลอยได้บุญมาก
เพราะบูชาท่านผู้มีบุญ จะติดต่อคบหากับผู้อื่น
ก็ชื่อว่า นำเอาบุญไปติดต่อคบหากับเขาเป็นความสวัสดีศรีสุข
ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนระแวงภัยอย่างไรเลย
บาปอกุศลอาจเกิดเพราะตนนั่งคิดนอนตรองขึ้นเองฉันใด
บุญกุศลก็สามารถอบรมฝึกฝนตนเองให้เกิดขึ้นได้ฉันนั้นเหมือนกัน
บุญจึงเป็นที่ปรารถนาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
สมเด็จพระบรมศาสดาก็ตรัสแนะนำชักจูงให้พุทธเวไนย
ยินดีในการบำเพ็ญบุญกุศลเป็นเอนกนัย ดังคำว่า


ถ้าบุคคลจะทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้นสั่งสมบุญเป็นความสุข ดังนี้



คำว่า "บุญ" เมื่อถือเอาเนื้อความ ก็ถือความดีมีผลเป็นสุขกายสบายใจ
ผู้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็คือกำลังบำเพ็ญความดี
เพื่อบรรลุผลเป็นความสุขกายสบายใจ
แต่ความสุขเหล่านี้ยังไม่เกิดได้ในทันที กิริยาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
เพียงเป็นแนวทางของความดีให้ได้บุญ
ย่อมสำเร็จมาจากการปฏิบัติตนตามหลักของทาน ศีล ภาวนานั้น
ไม่เกิดจากทางอื่น การบำเพ็ญให้เป็นบุญกุศล
บางอย่างต้องอาศัยเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เช่นการบริจาคทานช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
บางอย่างสามารถอบรมขึ้นได้ในตนเอง
เช่น ตั้งใจวิรัติงดเว้นไม่ละเมิดองค์ศีลทั้ง 5
แล้วบำเพ็ญกัลยาณธรรมให้เจริญประจำอัธยาศัย เป็นต้น


ปฏิบัติตามหลักทาน ศีล ภาวนา ให้ละเอียดมั่นคงเพียงไร
ความสุขกายสบายใจที่เกิดเพราะการบำเพ็ญนั้นแลเป็นตัวบุญ
ผู้มีบุญได้กระทำแล้วเช่นนี้
ท่านกล่าวว่าเป็นผู้รื่นเริงบันเทิงใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะไม่มีความเสียหายที่จะพึงครหาจากผู้รู้
วันเวลาที่ผ่านมาจึงนับว่าเต็มด้วยบุญกุศล แม้จะมีชีวิตอยู่น้อยเพียงวันเดียว
ท่านก็สรรเสริญว่าประเสริฐกว่าคนทำบาปที่มีอายุยืนตั้งร้อยปี
จะป่วยกล่าวไปใยถึงท่านผู้มีอายุยืนนานมีอัธยาศัยสันดานมั่นคงด้วยบุญกุศล
ท่านย่อมสรรเสริญยิ่งนักโดยแท้


เหตุนี้ความที่ผู้ปรารถนาบุญกุศลแก่ตน
จะพึงหาโอกาสพยายามอบรมตนให้อยู่ในแนวของทาน ศีล ภาวนาเสมอไป
มีชีวิตยืนยาวมาได้เพียงไร ก็ชื่อว่ามีโอกาสได้บำเพ็ญบุญมากขึ้นเพียงนั้น
อย่ารังเกียจท้อถอยในความเป็นอยู่ของตน
เพราะตนเองก็จะได้ชื่อว่า มีเวลาอบรมบำเพ็ญบุญได้นาน
จนนิสัยสันดานเต็มเปี่ยมด้วยบุญ
ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานปฏิบัติบำรุงบูชาท่าน
ผู้เป็นเครื่องอุ่นใจของครอบครัว ผู้ประดุจแสงสว่างประจำเคหสถาน
ยังรุ่งเรืองสุกใสอยู่ย่อมเป็นที่อุ่นหนาฝาคั่ง
ถ้าดับมืดเสียแล้วย่อมว้าเหว่เปลี่ยวใจแก่ผู้อาศัยต่อไป


ฉะนั้นจึงควรจะได้ปิติยินดีในความมีอายุยืนของตน
เพราะเป็นผลสืบมาแต่ความดีในปางก่อนอำนวยผล
ให้นับเป็นต้นทุนของชีวิตส่วนหนึ่งแล้ว
ควรอบรมใจให้ผ่องแผ้วด้วยการคอยมีสติ
ระวังพิจารณา การดู การฟัง การลิ้ม การถูกต้อง และการนึกคิด
อย่าปล่อยใจให้เกาะเกี่ยวยึดถือว่าเป็นเราเป็นเขาจริงจัง
ใคร่ครวญให้เห็นตามเป็นจริงของอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น
ว่าไม่เที่ยงแท้ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
จะให้คงทนอยู่ตามปรารถนาของเรามิได้สักสิ่งเดียว
จึงไม่ควรยึดถือเป็นจริงจัง เพราะถ้ายึดถือก็เหมือนยึดถือของลวง
ควรยึดถือของจริง ควรปล่อยวางให้เป็นไปตามสภาวะของอารมณ์นั้น
จึงจะประสบความจริงอันเป็นบุญอย่างสูง


นับว่าเป็นกำไรของชีวิตส่วนหนึ่ง บำเพ็ญให้ได้เช่นนี้ทุกอิริยาบถ
ก็นับว่าเป็นการสั่งสมบุญกุศลให้เกิดกับตนเสมอไป
แม้ในขั้นต้นจะได้บ้างเสียบ้าง ก็อย่าเพิ่งท้อถอย
เพราะท่านได้เตือนไว้แล้วว่า
อย่าดูหมิ่นว่าบุญกระทำได้ทีละเล็กคราวละน้อย จะไม่ได้ผลอะไร
หมั่นสะสมอบรมไปตามลำดับ ย่อมเป็นกองบุญใหญ่โตเต็มที่ได้
เหมือนน้ำฝนตกลงตุ่มทีละหยด บ่อยๆ เข้าอาจเต็มตุ่มได้ฉะนั้น.



พระธรรมเทศนาของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


คัดลอกจาก... http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3403

:b48: :b8: :b48:

:b44: พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20005

:b44: ประมวลภาพ...พระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49647


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2019, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2019, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 26 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร