ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ธรรมสำหรับพุทธมามกะ (สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=37739
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 11 เม.ย. 2011, 22:03 ]
หัวข้อกระทู้:  ธรรมสำหรับพุทธมามกะ (สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)

รูปภาพ

หัวข้อแห่งพระพุทธศาสนา
สำหรับพุทธมามกะ


พระนิพนธ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)


คัดลอกจาก...หนังสือคู่มือบัณฑิต จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ
โดยสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. ๒๕๔๐ หน้า ๔๑-๔๕


:b42: :b42: :b42: :b42:

:b51: พึงเป็นผู้ประพฤติสุจริต คือ ประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ
อย่างนี้เรียกว่า ธรรมจารี

พึงเป็นผู้มีละอายแก่ใจของตน รู้ว่าการอย่างใดไม่เป็นธรรม
อย่าทำการอย่างนั้น ฝืนความรู้สึก อย่างนี้เรียกว่า มีหิริ

:b51: พึงเป็นผู้รู้จักเกรงกลัวต่อการทำผิด พึงทำความชอบใจในการทำถูก
อย่างนี้เรียกว่า มีโอตตัปปะ

พึงเป็นผู้ระมัดระวังในเมื่อจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่าให้เชือนไปเป็นบาป อย่างนี้เรียกว่า ผู้สำรวม

:b51: พึงรู้จักข่มใจของตนไว้ให้อยู่ในเมื่อความปรารถนาจะทำบาปเกิดขึ้น
อย่างนี้เรียกว่า ผู้ฝึกตัวแล้ว

พึงเป็นผู้มีความเพียร ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ยากสักปานไร
พึงตั้งอุตสาหะเพื่อทำให้สำเร็จ อย่าท้อถอยเสียง่ายๆ อย่างนี้เรียกว่า ผู้บากบั่น

:b51: พึงเป็นผู้แกล้วกล้าในการงานทั้งปวง อย่าครั่นคร้ามต่อภัย
อย่างนี้เรียกว่า ผู้องอาจ

พึงเป็นผู้อดทนต่อความลำบาก และการหรือสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาถึงเข้า
อย่าแสดงวิการง่ายๆ อย่างนี้เรียกว่า มีขันติ

:b51: พึงเป็นผู้มีสติในเมื่อจะทำ ในเมื่อจะพูด พึงนึกให้รอบคอบก่อนแล้ว
จึงทำแล้วจึงพูด อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีสติ

พึงเป็นผู้ไม่เผลอตัวในเมื่อทำอยู่ ในเมื่อพูดอยู่
พึงรู้รอบคอบถึงการทำ ถึงคำพูด อย่างนี้เรียกว่า มีสัมปชัญญะ

:b51: พึงเป็นผู้ไม่เลินเล่อในการงาน ในความประพฤติ และในความเป็นไปของตน
พึงระวังความเสื่อมเสียอันหากจะมีขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ผู้ไม่ประมาท

พึงเป็นผู้ซื่อตรงในท่านผู้ที่ตนภักดี และในผู้ที่ตนคบด้วย
ในการงานอันเกี่ยวกับผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีสัตย์

:b51: พึงเป็นผู้สนใจการเรียน มุ่งจะรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ จะเข้าใจสิ่งที่รู้บ้างแล้วให้ปรุโปร่ง
อย่างนี้เรียกว่า ผู้ใคร่ศึกษา

พึงเป็นผู้หมั่นสังเกต เทียบเคียง ใช้ความคิดถึงการหรือสิ่งอันตนได้พบเห็น
หรือได้เรียนมาเพื่อเกิดปัญญา อย่างนี้เรียกว่า ผู้ใช้ปัญญา

:b51: พึงเป็นผู้ปรารถนาดีในผู้อื่น อย่าเป็นผู้ผูกพยาบาท
อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีเมตตา

พึงเป็นผู้เอาใจช่วยเขา ในเมื่อเขาได้ทุกข์ตกยากหรือถึงความวิบัติ
อย่าแส่หาความลำบากทับถมเขา อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีกรุณา

:b51: พึงเป็นผู้พลอยยินดีด้วยเขา ในเมื่อเขาได้สุขหรือถึงความเจริญ
อย่าริษยาเขา อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีมุทิตา

พึงทำใจเป็นกลาง ในเมื่อสมบัติและวิบัติของคนสองฝ่าย
ผู้ควรได้รับมุทิตาเสมอกันแย้งกันอยู่ อย่างนี้เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอุเบกขา

:b51: พึงเป็นผู้มีใจเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัวโดยส่วนเดียว ไม่ตระหนี่เหนียวแน่น
อย่างนี้เรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละให้

พึงเป็นผู้มีแก่ใจทำการอุปการแก่เขาก่อนเมื่อถึงคราว
อย่างนี้ที่อย่างสูงเรียกว่าเป็น บุพพการี
คือ เจ้าบุญนายคุณของเขา อย่างนี้ที่อย่างเพลาเรียกว่าเป็น ผู้เกื้อกูล

:b51: พึงเป็นผู้รู้อุปการอันท่านทำแล้วแก่ตน อย่างนี้เรียกว่า ผู้กตัญญู
และพึงเป็นผู้ตอบแทนอุปการแก่ท่านเมื่อถึงคราว อย่างนี้เรียกว่า ผู้กตเวที

พึงนับถือท่านผู้ใหญ่ในสกุล ครูอาจารย์ ท่านผู้ปกครองตน
ท่านผู้อำนวยการพระศาสนาที่ตนนับถือ อย่างนี้เรียกว่า ผู้รู้จักเคารพ

:b51: พึงเป็น ผู้เที่ยงธรรม ในบุคคลผู้ควรได้รับความเสมอภาคกัน
ไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะเขลา

พึงเป็นผู้มุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่พึงแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
โดยอาการไม่เป็นธรรม อย่างนี้เรียกว่า ผู้ใคร่ธรรม

:b51: พึงเป็นผู้เชื่อฟังตามพระพุทธเจ้าสั่งสอนว่า สิ่งทั้งปวงเป็นเหตุและผลเกิดเนื่องกันมา
อย่าเชื่องมงาย อย่างนี้เรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

พึงเชื่อกรรม คือ การที่ทำว่าอาจอำนวยผลให้ผู้ทำ ไม่ถือร่อนๆ ว่า
ทำชั่วจับไม่ได้ ไม่ถูกลงโทษ ทำดี ไม่มีผู้รู้ ไม่ได้รับการยกย่อง หาเป็นอันทำไม่
ไม่เสี่ยงเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ไม่ถือมงคลตื่นข่าวอันไร้จากเหตุ
ไม่ถือนอกคอกว่า บาปบุญไม่มี มารดาบิดาไม่มี เป็นแค่สมมติทั้งนั้น
เชื่อกรรม เชื่อเหตุ ยอมรับสมมติ อย่างนี้เรียกว่า มีสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ

:b51: พึงเป็นผู้มุ่งความผ่องแพ้วแห่งใจ เมื่ออารมณ์เศร้าหมองที่เรียกว่า กิเลสเกิดขึ้น
พึงข่มไว้จนระงับเสียได้ อย่างนี้เรียกว่า ผู้ใคร่ความบริสุทธิ์

พึงเป็น ผู้มุ่งความสงบใจ อันเป็นผลอย่างสุขุม
พึงระวังระงับเหตุอันจะยังใจให้ป่วนปั่นเสีย

:b51: พุทธมามกะผู้มีศีลธรรมอย่างนี้ ชื่อว่า สักการบูชาพระศาสดา
ด้วยปฏิบัติอันเป็นบูชาอย่างยิ่ง เป็นผู้นับถือพระองค์อย่างสมควร
เป็นผู้นับถือในพระองค์อย่างสมควรแท้ จักถึงความเจริญสถาพรในพระพุทธศาสนา



:b44: อ่านต้นฉบับแบบไฟล์ PDF :b44:
http://www.homebankstore.com/dl/ebookthbl/139.pdf

เจ้าของ:  O.wan [ 12 เม.ย. 2011, 14:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธรรมของพุทธมามกะ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโร

:b53: :b53: :b8: :b8: :b8: :b53: :b53:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/