วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 15:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2011, 02:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 13:16
โพสต์: 279

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การทนต่อความลำบาก
โดย อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ



“บางคนเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนให้อ่อนแอเกียจคร้าน แต่เรื่องนี้กลับแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาสอนให้เข้มแข็งอดทนไม่เป็นคนอ่อนแอ ถ้าปฏิบัติตามได้จะเกิดประโยชน์อย่างไร?

มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผู้ใดในยามลำบาก อดทนต่อความลำบากได้ ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมได้รับความสุขอันเกิดแต่การประกอบ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก” ดังนี้

ใจความในพระพุทธภาษิตนี้ แบ่งออกเป็น ส่วนเหตุ กับ ส่วนผล ข้อที่สอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบาก และรู้จักแก้ไขฝ่าฟันความลำบากนั้น ๆ ไม่หลีกเลี่ยง จัดเป็นส่วนเหตุ ข้อที่แสดงว่าเมื่อทำได้เช่นนั้นแล้ว ย่อมได้รับความสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก จัดเป็นส่วนผล

มีคนเป็นอันมาก อยากประสบผลโดยไม่ใส่ใจประกอบเหตุ เช่นอยากพ้นความลำบากด้วยการบ่น หรือนั่งนอนคอยให้ความลำบากนั้น ๆ หมดไปเองไม่คิดแก้ไขบ้าง หรือบางคนคิดแก้ไข แต่พอใจจะแก้ด้วยวิธีที่ง่าย และสะดวกสบายเช่น บนบานอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปัดเป่าให้พ้นความลำบากนั้นเป็นต้นบ้างการไม่คิดแก้ไขเฝ้าแต่บ่นจะให้ความลำบากสิ้นไปเอง หรือการคิดแก้ไข แต่แก้ไม่ถูกแก่เหตุดังกล่าวมานี้ หาได้สำเร็จประโยชน์ไม่ พระพุทธศาสนาถือเหตุผลเป็นสำคัญเมื่อวางหลักธรรมสำหรับประชุมชนจะฟังทำความเข้าใจ และปฏิบัติ จึงสั่งสอนไปในเหตุผลให้บุคคลละทิ้งนิสัยมักง่าย และงมงาย ความต้องการให้ความลำบาก หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์นั้น ๆ สิ้นไปโดยอยู่เฉย ๆ ไม่แกไข หรือแก้ไขด้วยการอ้อนวอนบ่นว่าเป็นต้น จัดเข้าในลักษณะงมงายเห็นแก่ง่ายเป็นประมาณ

ความลำบากนั้น บางทีถ้ารู้จักแก้ไขก็แก้ได้โดยง่าย ข้อสำคัญอยู่ที่แก้ให้ถูกเหตุ คนบางคนไม่เพ่งเล็งเหตุผล เกรงแต่จะเสียในทางมักง่าย ถ้าต้องการพ้นจากความลำบาก หรือ ทำความลำบากให้สิ้นไป ก็ลงมือแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้ เช่นทรมานตน มีอดอาหาร ย่างตัวเองที่หลุมถ่านเพลิงเป็นต้น ด้วยคิดว่า เพราะการทำตนให้ลำบากนี้ เทวดาจะประทานพรให้พ้นความลำบากบ้าง เดชแห่งตบะจะช่วยได้บ้าง ความสนใจแต่จะแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้โดยไม่พิจารณาแก้ให้ถูกเหตุเช่นนี้ จัดเข้าในลักษณะงมงาย

ความมักง่าย และงมงายดังกล่าวมานี้ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ดำเนินชีวิตในโลก ทั้งไม่ใช่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จึงควรพิจารณาในลำดับต่อไปว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น วางแนวคิดและแนวปฏิบัติไว้อย่างไร

พระอัสสชิเถระเจ้าเมื่อแสดงธรรมแก่พระสารีบุตร ได้ประมวลหัวใจของพุทธศาสนามาแสดงโดยย่อว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นกับทั้งความดับแห่งธรรมนั้น” ซึ่งถอดใจความได้ว่า พระศาสดาตรัสสอนให้รู้จักเหตุและผล เมื่อเห็นผลแล้วให้รู้จักค้นหาต้นเหตุ และถ้าจะแก้ไขมิให้เกิดผลหรือให้ผลทวีขึ้น จะต้องประกอบเหตุให้ถูกทาง เหมือนแก้เชือกก็ต้องแก้ให้ถูกปม ถ้าไปหลงแก้ที่อื่น หรือขมวดให้เกิดปมยิ่งขึ้น ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ฉะนั้น

ตามหัวข้อที่ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นนี้ ท่านแสดงเหตุคือความรู้จักอดทนต่อความลำบาก และรู้จักแก้ไข ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากนั้นว่า ทำให้ได้รับผลคือความสุขเกิดแต่การประกอบ อันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก

เฉพาะคำว่า สุข อันเป็นผลที่พึงได้จากเหตุข้างต้น ท่านจำกัดความว่าหมายถึงสุขเกิดแต่การประกอบ ที่เรียกว่า โยคสุข ดังนี้ จึงเป็นอันแน่ใจได้อย่างหนึ่งว่า ความนั้นบุคคลอาจประกอบกระทำให้เกิดมีขึ้นได้ตามต้องการ ข้อสำคัญ อยู่ที่การประกอบเหตุสุขให้ถูกเท่นั้น เมื่อเทียบดูถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าต่างกันมาก ข้อนี้มีทางเทียบให้เห็นโดยอเนกประการ เช่น ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสร้างบ้านเรือน เครื่องนุ่งห่มขึ้นเลย คอยแต่จะอาศัยสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมนุษย์ก็ต้องอยู่ตามถ้ำ ตามโคนไม้ และมีใบไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในที่สุดถ้ำหรือโคนต้นไม้ก็จะไม่พอให้อาศัย และถึงจะเป็นที่อาศัยได้บ้างก็ไม่สะดวก หรือผาสุก เหมือนบ้านเรือนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ตามความต้องการนั้น ข้าว และพืชผลทุกชนิดที่ใช้เป็นเครื่องบริโภค ถ้ามนุษย์จะรอให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่มีการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวเลย ก็คงไม่พอที่จะให้มนุษย์บริโภค และไม่รู้ว่าจะหาของที่เกิดขึ้นเองเหล่านั้นได้ที่ไหนบ้าง ความรู้ ความฉลาด ถ้าจะรอให้เกิดเองโดยไม่ต้องเล่าเรียนศึกษา ก็คะเนไม่ถูกว่าเมื่อไรจึงจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้ ทรัพย์สินเงินทองที่ชาวโลกพึงแสวงหาเป็นเครื่องเลี้ยงตน และครอบครัว ถ้าบุคคลพากันนั่งนอนคอยให้เกิดเองโดยไม่ต้องทำการงาน หรือประกอบอาชีพอะไร ก็ยากจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันดีคืนดี ซึ่งทรัพย์นั้นจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้ แต่ในขณะที่นั่งนอนคอยให้สิ่งทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับชีวิตเกิดขึ้นเองนั้น ความทุกข์ยากภัยพิบัติก็จะเข้ามาประจำแทนที่จนเหลือที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว เพราะฉะนั้น การหวังพึ่งสิ่งที่ต้องการซึ่งเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ หรือโดยธรรมชาตินั้นจึงไม่ดีแน่ เรื่องความสุขก็เช่นเดียวกัน ท่านจำกัดความว่า โยคสุข สุขเกิดแต่การประกอบกระทำ ก็เพื่อให้เป็นที่ตระหนักว่า เมื่อต้องการสุขก็ต้องประกอบเหตุให้ถูก จะมัวรอให้เกิดเองโดยธรรมชาติ ก็น่าจะต้องรอเปล่าโดยแท้ ยิ่งในทางธรรมปฏิบัติ ตามปกติภูมิแห่งจิตใจของคนต่ำอยู่แล้วเพราะเครื่องเหนี่ยวรั้งชักจูงในทางต่ำมีอยู่มาก ถ้าไม่อบรมจิตใจให้นิยมในความดีให้สูงขึ้นจากพื้นเดิมบ้างเลย ก็จะเปรียบเหมือนคนจมอยู่ในหลุมโสโครก ไม่พยุงตนหรือตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุมนั้น มัวรอให้เหตุบังเอิญดลบันดาลให้ขึ้นไปได้เองก็คงรอเปล่า และต้องจมอยู่อย่างนั้นตลอดไป

เมื่อได้พิจารณาถึงผล คือความสุขชนิดที่บุคคลอาจควบคุมทำให้เกิดมีขึ้นได้เองฉะนี้แล้ว ก็ควรย้อนไปพิจารณาถึงเหตุที่พึงประกอบต่อไป

ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ท่านที่อดทนต่อความยากลำบาก ในยามลำบากและความรู้จักแก้ไข ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากเป็นธรรมะส่วนเหตุที่เกิดสุขเช่นนั้น

ข้อที่ท่านสอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบากในยามลำบากนี้ ก็ด้วยมุ่งหมายที่จะให้บุคคลเป็นผู้มีน้ำใจเข้มแข็ง ในการเผชิญความทุกข์ยากลำบากในโลกทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบาก และอุปสรรคทั้งหลายเป็นของประจำโลก ซึ่งผู้เกิดมาทุกคนจะต้องประสบ แม้ใคร ๆ จะไม่ชอบความทุกข์ยากลำบาก ความไม่ชอบนั้นจะช่วยให้ความทุกข์ยากลำบาก เกรงกลัวหลบหนีไปก็หาไม่ ทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบากนั้น ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุหลายประการ บางอย่างเกิดขึ้นตามเหตุการณ์ของโลก เช่นทุพภิกขภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยสงคราม บางอย่างเกิดเพราะการกระทำของตนเอง เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับโทษเพราะความผิด บางอย่างเกิดจากการไม่ทำ เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับความลำบางเพราะเกียจคร้านไม่ทำการงานเลี้ยงชีวิต บางอย่างเกิดเนื่องจากความเกิดของคน เช่นโรคภัยไข้เจ็บความแก่เฒ่าทุพพลภาพพิกลพิการ ความลำบากทุกข์ยากดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่บุคคลอื่น และตัวเราเอง ถ้าบุคคลไม่มีใจเข้มแข็งอดทนก็จะรู้สึกอึดอัดมองดูสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนมีใจห่อเหี่ยวเศร้าสลดไม่เป็นอันประกอบการงาน ถ้าทนไม่ไหวก็ถึงกับบ่นคร่ำครวญถ้ายิ่งไปกว่านั้นก็จะถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นอันว่าความลำบากนั้นเกิดขึ้นชั้นหนึ่งแล้ว บุคคลยังเที่ยวเก็บมาประมวลสุมไว้ในใจและระทมทุกข์อีกชั้นหนึ่ง จึงกลายเป็นความทุกข์ยากลำบากถึงสองชั้น ทางพระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความอดทนต่อความลำบากนั้น ๆ โดยใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล เพราะถ้าไม่พิจารณา สักแต่ว่าทนไม่เฉย ๆ ก็ดูไม่มีความหมายอะไร และทนไม่ได้จริงจัง สัตว์ต่างๆ เมื่อประสบความทุกข์ยาก แม้จะไม่สามารถเยี่ยงมนุษย์ก็พยายามตะเกียกตะกายช่วยตัวเอง เมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องทนไปอย่างไม่รู้ว่าจะใช้ปัญญาสอนตนอย่างไร เพราะมีความเจริญทางจิตใจน้อยกว่ามนุษย์ฉะนั้น มนุษย์จึงควรอดทนโดยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล เพื่อจะได้รู้จักอดทนอย่างมีความหมาย ในขณะเดียวกัน ก็จะได้ค้นหาต้นเหตุของความลำบากนั้น ๆ แล้วคิดแก้ไขต่อไปด้วย

ถ้าบุคคลหัดอบรมใจให้มีความเข้มแข็งอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากด้วยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลแล้ว ก็จะรู้จักพึ่งตัวเอง ไม่เป็นคนอ่อนแอคอยแต่จะเหลียวหาผู้ช่วยเหลืออยู่รอบด้าน เมื่อรู้จักพึ่งตัวเองก็จะรู้จักค้นหาต้นเหตุแห่งความลำบาก แล้วแก้ไขให้ถูกทาง เช่นถ้าประสบความลำบากเพราะไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็จะได้คิดอ่านแก้ไข ด้วยการลงมือทำการงานอาชีพอย่างจริงจัง ถ้าประสบความลำบากเพราะประพฤติชั่ว ก็จะได้คิดกลับตัวทำความดีต่อไปใหม่ ถ้าประสบความลำบากเพราะขาดแคลน หรือภัยต่าง ๆ ก็จะได้รู้จักประหยัด และคิดทำขึ้นเอง หรือแก้ไขด้วยอุบายอย่างอื่นเป็นต้น ก็จะได้ชื่อว่ารู้จักอดทนอย่างมีเหตุผล และหาทางแก้ไขไปในตัวด้วย

ข้อที่ว่า “ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก” มิได้หมายความว่า ให้ยอมจมอยู่ในความลำบากนั้นโดยไม่คิดแก้ไข แท้จริงความลำบากบางอย่างต้องแก้ด้วยความลำบากก็มีอย่างที่เรียกหนามยอกต้องใช้หนามบ่ง เช่นการเล่าเรียนศึกษา ผู้เล่าเรียนจะต้องทนความลำบากเพื่อจะกันและแก้ความลำบาก อันเกิดจากความโง่เขลา เป็นเหตุกดตัวเองให้ตกต่ำในการดำรงชีวิต อนึ่ง การที่จะแก้ความลำบากเพราะยากจนข้นแค้นเล่าก็จะต้องแก้ด้วยความหมั่นขยันทำการงาน อันเป็นความลำบากเหมือนกัน ยิ่งในการประพฤติธรรม ก็จะต้องทนลำบากในการฝึกหัดอบรมกาย วาจา ใจ ให้ห่างไกลจากความประพฤติชั่ว และอาสวกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง แต่ความลำบากที่ต้องทนไปก่อนเพื่อให้พ้นความลำบาก และประสบสุขภายหลังนี้ ย่อมเปรียบเหมือนยาขมซึ่งใช้บำบัดโรค และทำความผาสุกให้เกิดขึ้นแก่ผู้มีโรคที่ทนขมในเวลากินได้ สาธุชนจึงไม่ควรเลี่ยงหนีความลำบากซึ่งจำเป็นต้องอดทนเพื่อใช้แก้ความลำบาก เหมือนไม่กลัวยาขมซึ่งต้องกินเพื่อแก้โรคฉะนั้นผู้ที่เลี่ยงหนีความลำบากในการเล่าเรียนศึกษา การประกอบอาชีพ หรือการประพฤติธรรมนั้น มีแต่จะตกต่ำเสื่อมทราม หาความเจริญมิได้ ชื่อว่าทอดตนให้ต้องจมอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก อันจะเกิดแต่ความยากจน และความชั่วเป็นต้น ตลอดไป แต่ถ้าผู้ใดอดทนต่อความลำบากที่เกิดขึ้นเพราะเหตุต่างๆ แล้วคิดแก้ไขแม้จะต้องใช้ความลำบากแก้ความลำบากบ้าง ก็ไม่เลี่ยงหนีเช่นนี้ ย่อมจะได้รับความสุขเกิดแต่การประกอบ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก ชื่อว่าทำชีวิตของตนให้มีประโยชน์ ไม่เป็นคนมักง่าย และงมงาย สามารถใช้พิจารณาเหตุผลแล้วช่วยเหลือตนเองให้พ้นความลำบากนั้นๆได้ ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา จัดเป็นกัลยาณชนผู้ควรเป็นเนติแบบแผนที่ท่านทั้งหลายจะพึงเจริญรอยตาม เพื่อให้ได้รับความสุขสวัสดีสิ้นกาลนาน


จากหนังสือ อริยธรรม ๑๐
กลุ่มศรัทธาธรรม (เชียงใหม่)
พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์


:b44: รวมคำสอน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49286


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2011, 04:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ธ.ค. 2010, 08:25
โพสต์: 326


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: ค่ะ
:b44: :b44: :b44: :b44: :b44:

.....................................................
สุดปลายฟ้า... เชื่อมั่นและสัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ผู้รู้แจ้ง เห็นจริง ยึดถือพระองค์เป็นสรณะ อย่างไม่มีสิ่งใดเหนือกว่า


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron