วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 15:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2011, 07:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รำลึกถึงอุปลมณี แก้วมณีแห่งเมืองอุบล
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ทุกข์มี เพราะยึด
ทุกข์ยืด เพราะอยาก
ทุกข์มาก เพราะพลอย
ทุกข์น้อย เพราะหยุด
ทุกข์หลุด เพราะปล่อย


ข้อความข้างต้นนั้นเป็นคติพจน์สำคัญบทหนึ่ง ของพระเถระผู้เป็นอาจารย์วิปัสสนาชื่อก้อง เป็นที่เคารพยกย่องขอประชาชนทั่วประเทศ ตลอดถึงนานาประเทศด้วย พระคุณเจ้าที่ว่านี้คือ พระโพธิญาณเถร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อชา สุภัทโท”

หลวงพ่อชา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่าน ในวันเสาร์ที่ 16 มกราคม ในปีถัดมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้า ล้นกระหม่อม เหล่าศิษยานุศิษย์ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงพ่อทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็หลั่งไหลไปยังจังหวัดอุบลราชธานี จุดหมายปลายทางคือวัดหนองป่าพง เพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน

ว่ากันว่า รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน ถูกจองที่นั่งกันเต็มเอี้ยด ผู้คนหลั่งไหลไปมืดฟ้ามัวดิน จนบริเวณวัดหนองป่าพงแทบไม่มีที่ให้ยืน วันนั้นโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ได้ถ่ายทอดสด ให้ผู้ชมได้ชมบรรยากาศของงานทั่วประเทศ ผมได้รับเกียรติเป็นพิธีกรบรรยายออกอากาศคนหนึ่งร่วมกับพิธีกรของโทรทัศน์ช่อง 11 คือคุณรวงทอง ยศธำรง นับเป็นบุญของผมที่ได้มีโอกาสร่วมงานบุญกุศลครั้งนี้ โดยไม่คาดคิดมาก่อน

และยังจำควันหลงจากงานนี้ดี เมื่อคุณรวงทองถามผมว่า พระราชทินนามของ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” อ่านว่าอย่างไร ผมบอกให้เธออ่านว่า “พระ-โพ-ทิ-ยาน-เถน” เธออ่านตามผมบอกมีท่านผู้รู้บางท่านติงว่า อ่านผิด ต้องอ่านว่า “เถ-ระ” ส่วน “เถน” นั้นหมายถึง “มหาโจร” ไม่เชื่อขอให้เปิดพจนานุกรมดูได้

ผมต้องชี้แจงว่า เถน ถ้าเป็นศัพท์เขียนอย่างนี้แปลว่าขโมย นั้นใช่แล้ว แต่ “เถน” ที่เป็นคำอ่านของ “โพธิญาณเถร” ถึงจะอ่านออกเสียงว่า “เถน” มิได้แปลว่า ขโมย

สมณศักดิ์ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “เถน” เป็นสมณศักดิ์ที่พระราชทานแก่พระวิปัสสนาจารย์ เช่น พระอุดมวิชาญาณเถร, พระวิสุทธิสารเถร, พระพรหมยานเถร คำอ่านที่ถูกท่านอ่าน “เถน” ทั้งนั้น ถ้าต้องการให้อ่าน “เถระ” จะต้องประวิสรรชนีย์ว่า “เถระ” ครับ

ขอนั่งยันนอนยันว่า พระโพธิญาณเถร อ่านว่า “พระ-โพ-ทิ-ยาน-เถน” ถูกต้องแล้ว ท่านลุง “ประสก” ผู้ล่วงลับก็คงได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เขียนบทความยืนยันเช่นเดียวกับผมว่า คำนี้อ่านว่า “พระ-โพ-ทิ-ยาน-เถน” แล้วหยอดท้ายด้วยสำนวนเฉพาะตัวว่า อ่านอย่างนี้ “ถูกที่สุดในโลก” !


ภูมิทางปริยัติของหลวงพ่อจบแค่นักธรรมเอก แต่ท่านคิดว่าพื้นความรู้แค่นี้เพียงพอแล้ว จึงแสวงหาอาจารย์วิปัสสนาผู้จะช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติ รู้ว่ามีอาจารย์ดีที่ไหนก็ดั้นดันไปหา เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น

น่าสังเกตว่า หลวงปู่มั่นเป็นธรรมยุต หลวงพ่อชาเป็นมหานิกาย กระนั้นหลวงปู่มั่นก็ยินดีถ่ายทอดเทคนิควิธีการปฏิบัติให้ และไม่ชวนให้บวชแปลงเป็นธรรมยุตดังเคยชวนอาจารย์รูปอื่น ท่านกลับเทศน์สอนหลวงพ่อชาว่า “ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” นิกายนั้นนิกายนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่ผู้หนาด้วยกิเลสหลงยึดติด และคนเขลาเท่านั้นหลงบูชา

หลวงพ่อชาตระหนักว่าการปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้าถ้าหากรักษาศีลไม่บริสุทธิ์ จึงพยายามรักษาศีลและวัตรอย่างเคร่งครัด ฉันอาหารมื้อเดียว ไม่จับต้องเงินทอง และไม่มีไว้ครอบครองจวบจนอายุขัย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ทำทีเคร่งต่อหน้าคน พอโยมคล้อยหลังก็งัด “ปัจจัย” ออกมานับ เอาก้านธูปเขี่ยหนึ่งร้อย...สองร้อย...ห้าร้อย...พันหนึ่ง...จนคนเขาแอบตั้งฉายาว่า “หลวงเขี่ย”

ความเคร่งครัดเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ ทำให้มีผู้ศรัทธามามอบตัวเป็นศิษย์ รับการอบรมจากท่านมากขึ้นตามลำดับ รวมถึง ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ศิษย์เหล่านี้แยกย้ายกันไปตั้งสาขา ขึ้นทั้งในและต่างประเทศจำนวนร้อยกว่าแห่ง

สาขาหนึ่งมีพระฝรั่งล้วนชื่อ วัดป่านานาชาติแห่งหนึ่ง อยู่ประเทศออสเตรเลียแห่งหนึ่ง อยู่ที่ประเทศอิตาลีห่างจากสำนักวาติกันไม่กี่ก้าว อีกสามแห่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

รูปภาพ
รอยมือ-รอยเท้าพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
ณ เจดีย์วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี



น่าอัศจรรย์ก็คือ หลวงพ่อพูดภาษาฝรั่งไม่ได้ ศิษย์พูดไทยไม่ได้ แต่อาจารย์ก็ถ่ายทอดธรรมแก่ศิษย์ได้ นี่กระมั่งที่ท่านว่า “ถ่ายทอดจากใจถึงใจ” สัจธรรมไม่จำเป็นต้องสื่อผ่านภาษา ย่อมเป็นที่รับรู้กันได้กระจ่างยิ่งกว่าใช้ภาษาถ่ายทอดเสียอีก

ท่านเขมธัมโม ศิษย์เอกรูปหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งมีขอนไม้ขวางทางเดิน หลวงพ่อบอกให้ศิษย์ช่วยกันหามออกโดยหลวงพ่อยกปลายข้างหนึ่ง ศิษย์ยกอีกข้างหนึ่ง ขณะยกหลวงพ่อพูดว่า “หนักไหมๆ” หลังจากโยนขอนไม้ลงข้างทางแล้ว หลวงพ่อถามว่า “เบาไหมๆ” ศิษย์ก็ได้แต่ตอบว่า “ครับๆ” หลวงพ่อแบมือทั้งสองข้าง พูดดังๆ ว่า “เบา สบาย” ต่อมาจึงรู้ว่า หลวงพ่อท่านกำลังสอนธรรมให้

เมื่อไปอังกฤษ หลวงพ่อพาศิษย์ออกบิณฑบาตสร้างความฮือฮาไปทั่ว ร่ำๆ จะถูกตำรวจจับข้อหาว่า ทำผิดกฎหมาย เพราะออกขอทาน (ฝรั่งไม่รู้ว่าบิณฑบาตกับขอทานไม่เหมือนกัน) ร้อนถึงทนายคนหนึ่งช่วยชี้แจงว่านี้เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงรอดตัวไป

เมื่อศิษย์ถามว่าท้วงว่า “ถึงออกบิณฑบาตก็ไม่มีคนใส่”

หลวงพ่อตอบอย่างเฉียบคมว่า “เราบิณฑบาตเอาคน ไม่ได้หวังเอาข้าว”

และการ “บิณฑบาตเอาคน” ของหลวงพ่อก็ได้ผล หลังจากวันนั้น ฝรั่งมายืนรอใส่บาตรกันมาก หน้าหลายตา และหันมาสนใจในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะได้ศิษย์ฝรั่งกลับไปตั้งวัดสอนฝรั่งด้วยกัน ย่อมจะได้ผลกว่าส่งพระไทยไปตั้งวัดสอนฝรั่งเพราะธรรมทูตไท ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดนกี่ชุดๆ ทำได้แค่สนองความต้องการของชาวพุทธไทย ด้านพิธีกรรมเท่านั้นเอง

จำได้ว่า คืนก่อนวันพระราชทานเพลิงศพ รายการทีวียกกองไปถ่ายทอดสดที่วัดหนองป่าพง พิธีกรถามพระลูกศิษย์หลวงพ่อชาว่า

“หลวงพ่อชามีดีอะไร พระฝรั่งจึงเคารพนับถือท่านเหลือเกิน”

น่าแปลก ที่คำตอบแทนที่จะเป็นเรื่องมหัศจรรย์อื่นๆ กลับเป็นเรื่องธรรมดาๆ พื้นๆ คือ

หลวงพ่อชาเป็นพระมีเมตตา


ศิษย์ฝรั่งอีกรูปหนึ่งอุปมาว่า “หลวงพ่อเหมือนกับพระที่มีความสุขนั่งอยู่บนใบบัว” ทำให้มองเห็นภาพ ใบหน้ากลมๆ ยิ้มละไมอยู่เสมอ

ใช่แล้ว กบอ้วนนี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน !

เมตตากรุณาที่ฉายออกทางใบหน้าท่าทาง เป็นผลสัมฤทธิ์แห่งการปฏิบัติ

คนเรานั้นอาจแสดงเมตตากรุณาผ่านคำพูดคำสอนอันไพเราะเพราะพริ้งได้ แต่คนที่ได้เรียนรู้และปฏิบัติจนได้สัมผัสผลแห่งการปฏิบัตินั้น ทั้งเนื้อทั้งตัวของเขา “เป็นเมตตากรุณา”

หลวงพ่อชาเป็นพระจัดอยู่ในประเภทหลังนี้ ไม่ว่าพระจีน พระไทย คงได้มีเมตตากรุณาแล้ว ย่อมเป็นที่รักเคารพของคนทั้งหลาย

เมื่อถามถึงเทคนิคการสอนของหลวงพ่อชา ศิษย์ทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หลวงพ่อสอนธรรมใช้ภาษาง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง เช่นสอนว่า

สุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก มันหิว มันก็กระโจนออกจากกองข้างเปลือก วิ่งหาเศษอาหารกิน ทั้งๆ ที่มันนอนทับอาหารอยู่ แต่มันไม่รู้จัก อาหารมันมีอยู่แต่มันกินไม่ได้ เหมือนกับคนที่เรียนรู้ปริยัติมากๆ แต่ไม่รู้จักเอาความรู้นั้นมาปฏิบัติให้เกิดผล โง่ไม่ต่างจากสุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกดอก ท่านว่าอย่างนั้น

คำสอนง่ายๆ แต่ยิ่งคิดตามก็ยิ่งลึกล้ำคัมภีร์ภาพเช่นที่ว่านี้ ศิษยานุศิษย์ได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ อุปลมณี หนาถึง 584 แจกเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ถามว่า จะหาอ่านได้ที่ไหน ผมก็ได้แต่บอกไปว่า ไม่ทราบ ผมก็มีอยู่เล่มเดียว ใครอยากดู ให้ดูได้ แต่ห้ามยืม เพราะผมหวงมากเปิดอ่านอยู่เสมอ

ได้เอ่ยถึงศิษย์รุ่นแรกรูปหนึ่งชื่อ ท่านเขมธัมโม ท่านรูปนี้ได้ไปเปิดสำนัก “วัดป่าสันติธรรม” อยู่ที่เมืองวอริค ประเทศอังกฤษ ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะสอนกรรมฐานแก่นักโทษ ไม่เลือกศาสนาใด ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และรัฐบาลเป็นอย่างดี สามารถสร้าง “คุกเปิด” แห่งแรกขึ้นในสหราชอาณาจักร เอานักโทษมาสวดมนต์ฝึกกรรมฐาน จัดตั้ง “องค์การองคุลิมาล” ขึ้นช่วยเหลือนักโทษให้กลับเนื้อกลับตัว งานของท่านได้รับการยอมรับทั่วไป จนสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น O.B.E. นับเป็นพระในพระพุทธศาสนารูปแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ทางคณะสงฆ์ไทยได้ขอพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นพระราชาคณะที่ พระภาวนาวิเทศ เมื่อปีที่ พ.ศ. 2547 ให้กับท่าน

รูปภาพ
ท่านเขมธัมโม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น O.B.E.
จากสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546


รูปภาพ
ท่านเขมธัมโม กับ ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รูปภาพ
ท่านเขมธัมโม ขณะบวชให้กับกุลบุตรชาวต่างชาติ


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10179


รูปภาพ

อุปลมณี
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะนำเสนอชีวประวัติของ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) ในหลากหลายแง่มุมแล้ว
คณะผู้จัดทำยังได้เน้นถึงแนวการสอน และการปกครองของหลวงพ่อด้วย

สำหรับชื่อและปกของหนังสืออุปลมณีนั้น
พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ ได้ขยายความว่า


“อุบล เป็นคำภาษาบาลีที่แปลงมาเป็นภาษาไทย
คำว่า อุบล มาจากคำว่า อุปล
หากเคยศึกษาพุทธศาสนาทางทิเบต
จะมีคาถาบทหนึ่งที่พระธิเบตเวลานับลูกประคำจะสวดว่า
“...โอม มณี ปัทเม หุม...”

นักวิชาการเขียนตำราอธิบาย ๔ คำนี้หลายระดับ
เช่น มณี ก็เป็นแก้ว ปัทเม ก็เป็นดอกบัว
เขาจะให้ความหมายทางนามธรรม

สรุปแล้ว มณีคือจิตซึ่งเข้าถึงธรรมะแล้วจะเกิดปัญญา
อุบลก็คือดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
คือปัญญาอันเกิดจากความบริสุทธิ์


วันหนึ่งก็สว่างขึ้นมาว่า ความหมายคล้ายคำว่า โพธิญาณ
จึงได้ข้อคิดว่า ถ้าเป็นคำบาลีจะเป็นอย่างไร ก็เอาคำว่า อุปลมณี
ส่วนปก ต้องการปกที่เรียบง่ายและเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวัดป่า
เห็นขนาดของผ้าจีวรเป็นสี่เหลี่ยม จึงเกิดความคิดนำมาเป็นปก”



:b8: จากหนังสือ ทำให้สุด ขุดให้ถึง หน้า ๕๒, ๕๔

:b44: :b47: :b44:

รวมคำสอน “หลวงพ่อชา สุภัทโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38519

“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” กับ “หลวงพ่อชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=58059

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2011, 23:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 01:02
โพสต์: 337


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

เจริญในธรรมครับ
smiley

.....................................................
ราตรีของผู้ตื่นอยู่นาน...โยชน์ของผู้ล้าแล้วไกล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2011, 01:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 02:41
โพสต์: 5636

แนวปฏิบัติ: พอง ยุบ
ชื่อเล่น: เจ
อายุ: 0
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว www


อนุโมทนาค่ะ :b8:

.....................................................
"มิควรหวังร่มเงาจากก้อนเมฆ"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 36 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร