วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ธ.ค. 2010, 16:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:11
โพสต์: 240

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลวงพ่อพุทธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรม ดีมากๆครับ

* การนึกว่านี้รูปนี้นามโดยความตั้งใจ โดยเจตนา อันนี้เป็นขั้นปฏิบัติภาคปรุงแต่งปฏิปทา แต่นักปฏิบัติจำเป็นจะต้องพิจารณารูปนามด้วยความตั้งใจ ที่จะคิดพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางให้จิตสงบเป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตนั้นจะพิจารณารูปนามไปเองโดยอัตโนมัติ

* เมื่อเวลาทำงานเอาจิตไปจดจ่ออยู่ที่งาน จะเป็นงานอะไรก็ได้ เอาจิตไปรู้อยู่ที่งานที่ทำ ด้วยความจดจ่อ ด้วยความตั้งใจ จิตกับสติอย่าให้พรากจากกัน ให้จดจ่ออยู่กับงานที่ทำ แล้วงานจะกลายเป็นอารมณ์ของจิต เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นฐานสร้างสติ ให้เป็นมหาสติปัฏฐานได้ สามารถที่จะยังให้มีปิติ สุขและเอกัคคตา ความสงบละเอียดไปตามขั้นตอนของสมาธิได้

* มีสติตามรู้ ตามเห็น ตามทัน ความเคลื่อนไหว กาย วาจา ใจ ได้โดยตลอดเวลา อันนี้ต่างหากเป็นจุดต้องการในการปฏิบัติ

ถามคนไข้อาการหนักควรทำจิตอย่างไร ? ให้ระงับความทุกข์ทุรนทุราย
ตอบถ้าคนไข้ที่เคยบำเพ็ญเพียรภาวนา ก็สามารถที่จะระงับจิตคือทำสติรู้อยู่ที่ความทุรนทุรายหรือความทุกข์ แต่คนไข้ที่ไม่ได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ได้ฝึกหัดจิตแม้จะแนะนำอย่างไรก็ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะตายเราควรที่จะได้ฝึกหัดซะให้มันคล่องตัว ถ้าใครหัดตายเล่น ๆ ก่อนที่จะตายจริง อันนี้ยิ่งดี เราจะได้รู้ว่าการตายนั้นคืออะไร เมื่อเกิดตายจริงขึ้นมาเราจะได้ไม่ต้องกลัว

ถามการเปิดเทปธรรมะให้ฟังเมื่อจิตสงบนั้นจะช่วยให้ได้สุคติหรือไม่ ?
ตอบการเปิดเทปให้ฟังบางทีคนไข้ถ้าตั้งใจจดจ่อฟังก็มีอานิสงส์ให้สุคติได้ แม้ว่าคำเตือนเพียงคำเดียวว่า จงทำสติระลึกถึงคุณพระคุณเจ้านะ เพียงแค่นี้เขาระลึกพระพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในขณะนั้นก็สามารถที่จะไปสุคติได้ เช่น มัฏฐกุณฑลี ซึ่งเจ็บป่วยหนัก บิดาเป็นคนขี้เหนียว ไม่หายามารักษา พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นแล้วว่า เด็กคนนี้ในวันพรุ่งนี้จะตาย เมื่อตายลงไปแล้วจะตกนรก พระองค์ก็เสด็จไปโปรด พระองค์ทรงเปล่งรัศมีไปเตือนให้รู้ว่าพระองค์เสด็จมาโปรด นายมัฏฐกุณฑลีหันกลับมามองดูพระพุทธเจ้าเพียงแว๊บเดียว แล้วก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นมา "โอ้โฮ้ ! พระพุทธเจ้าอัศจรรย์หนอ" แล้วก็ตาย ตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร อันนี้เป็นตัวอย่าง



ถามการพิจารณาเกสาจะทำอย่างไร ?
ตอบการพิจารณาเกสาก็เพ่งไปที่ผม เกสาคือผมเกิดอยู่บนศรีษะเป็นเส้น ๆ ข้างหน้ากำหนดหมายจากหน้าผาก เบื้องหลังกำหนดหมายท้ายทอย กำหนดหมายหมวกหูทั้งสองข้าง เมื่อน้อยก็ยังมีสีดำ เมื่อแก่ไปก็มีสีขาว เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพราะเกิดอยู่ในที่ปฏิกูล ชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิต มีอยู่ในกายนี้ เป็นของปฏิกูล เมื่อเหงื่อไคลไหลออกมาเราก็ต้องทำความสะอาดต้องตกแต่งต้องประดับอยู่เสมอ ถ้าหากว่าของนี้ไม่เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดแล้วจะไปตกแต่งทำไม ? พิจารณาไปอย่างนี้ก็ได้ ซึ่งสุดแท้แต่สติปัญญาของเราจะพิจารณาได้ เพียงใดแค่ไหน หรือเราอาจจะพิจารณาว่าผมของเราตกแต่งแล้ว สวยงามจริงหนอ อะไรทำนองนี้ ทำสติรู้อยู่กับสิ่งนั้น ก็เป็นอุบายพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนกัน

ถามพิจารณากายแล้วมีอาการเหมือนโลหิตไหลในคอ ทำให้ไอ จาม บางครั้งต้องลืมตาขึ้นไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบในเมื่อพิจารณากายแล้วมีอาการอะไรเกิดขึ้น พยายามทำสติตามรู้สิ่งนั้น ๆ ถ้าหากว่ามันจะไอ จะจามจริง ๆ แล้วก็จามออกมาซะ ไอออกมาซะ ให้มันสิ้นแล้วก็กำหนดสติ
พิจารณาไปให้จนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ การไอจามก็จะหายไปเอง

ถามจริงหรือไม่ที่ว่าผู้ที่จะนั่งสมาธิได้ผลเร็วนั้นจะต้องสะสมบารมีมาตั้งแต่ชาติก่อน ?
ตอบอันนี้ทั้งจริงทั้งไม่จริง ผู้มีบารมีมาแต่ชาติก่อนแต่ว่าไม่ทำจริงมันก็ไม่ได้ผล ผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่มีบารมีแต่ว่าทำจริงมันก็ได้ผลเร็วเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่าเรามีบารมีมาก่อนหรือไม่มีมาก่อน ถ้าใครไม่มีบารมีมาก่อน พอได้ยินเขาว่าสมาธิ เหม็นเบื่ออย่างกะอะไรไม่อยากจะทำ แต่พอได้ยินแล้วเกิดความเลื่อมใสอยากทำ ผู้นั้นแหละมีบารมีมาก่อนจึงอยากทำ

ถามบางครั้งเคยเห็นสำนักที่สอนนั่งสมาธิ มีการเชิญวิญญาณเข้ามาทรงอย่างนี้ถือว่าผิดแบบแผนทางพระพุทธศาสนาหรือไม่ ?
ตอบการฝึกสมาธิเราพยายามที่จะสร้างจิตของเราให้เป็นอิสระแก่ตัว โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด แม้แต่กิเลสเราก็ไม่อยากจะให้เป็นนายเหนือหัวใจเรา การที่จะเชิญวิญญาณเข้ามาประทับทรงนั้นไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติที่ถูกต้องจะพึงทำ

ถามวิปัสสนูปกิเลสคืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบวิปัสสนูปกิเลสคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไปหลงยึดถือ เช่น อย่างพวกที่ภาวนาแล้วเห็นนิมิต รูปภาพต่าง ๆ แล้วก็ไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของวิเศษ เกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็ไปยึดสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นเป็นเรื่องสำคัญไปกำหนดหมายเอาว่าจิตต้องอยู่ในณานขั้นนั้น ต้องได้ณานขั้นนี้อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่าเราทำไม่ได้มันก็จะทำให้เกิดท้อถอย สิ่งใดที่เกิดเป็นผลงานขึ้นมาแล้วเราไปยึดสิ่งนั้นจนเหนียวแน่นแล้วก็ติดกับสิ่งนั้นด้วย สิ่งนั้นคือวิปัสสนูปกิเลส แต่ในแบบฉบับท่านว่าอุปกิเลส ๑๖ ประการ ขอให้คำจำกัดความหมายสั้น ๆ ว่า จิตของเรารู้เห็นสิ่งใดขึ้นมาแล้วยึดสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีวิเศษถ้าไม่รู้อย่างนั้นเป็นอันว่าเป็นความรู้ที่ไม่ถูกทางอะไรทำนองนี้ แล้วก็ยึดสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น ถ้าไปยึดว่าเราต้องนั่งสมาธิให้ได้ ๔-๕ ชั่วโมง. ให้ได้มาก ๆ ถ้าไม่ได้อย่างนั้นเป็นอันว่าปฏิบัติไม่ได้ผล หรือเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้วยึดติดสิ่งนั้น ๆ เป็นวิปัสสนูปกิเลสรักษาศีลติดศีลก็เป็นวิปัสนูปกิเลส ทำสมาธิเกิดติดสมาธิก็เป็นวิปัสนูปกิเลส เกิดปัญญาความรู้อะไรต่าง ๆ ขึ้นมาแล้วไปหลงปัญญาความรู้ของตนเอง ขาดวิชชาสติปัญญาความรู้เท่าเอาทันเป็นวิปัสนูปกิเลสทั้งนั้น


ถามทำไมถึงว่าสมาธิเกิดในเวลานอนดีที่สุด ?
ตอบก็เพราะเหตุว่า แทนที่เราจะนอนหลับทิ้งเปล่า ๆ สมาธิเกิดขึ้นในขณะนั้นมันเป็นผลดีในการพักผ่อน เพราะเราพักผ่อนในสมาธิ ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวกและจิตที่เป็นสมาธิในเวลานอนนั้นก็ได้ผลดีไม่แพ้การนั่งสมาธิ ที่ว่าสมาธิเกิดขึ้นในเวลานอนดีที่สุดก็เพราะว่าการมีสมาธิในท่านั่งบางทีมันอาจจะมีไม่นานนัก มีซัก ๕ นาที ๑๐ นาที มันก็ถอน ที่เรามีสมาธิในเวลานอนนี้เราอาจจะมีสมาธิตลอดคืนย่ำรุ่งก็ได้


ถามถ้าเป็นสมาธิเกิดขึ้นในขณะนั่งจะมีคุณค่าน้อยกว่าหรือไม่ ?
ตอบก็มีคุณค่าพอ ๆ กัน ถ้าจิตอยู่ในสมาธิได้นาน ๆ รู้ธรรมเห็นธรรมก็มีค่าเท่ากัน ที่ว่าถ้าทำสมาธิให้เกิดขึ้นในเวลานอนได้ดีที่สุดนั้น ก็เพราะว่าเป็นการฝึกทำสมาธิให้ได้ทั้งในท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน อะไรทำนองนี้ ถ้าทำจนคล่องตัวได้ทุกอิริยาบถยิ่งเป็นการดี เวลาเกิดขึ้นในเวลานั่งมีค่าเท่ากัน


ถามพระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลานั่งหรือเวลานอน ?
ตอบพระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลานั่ง แต่ว่าเวลาท่านนอนท่านก็ทำสมาธิ พระพุทธเจ้านอนตั้งแต่ ๔ ทุ่ม แล้วไปตื่นเอาตี ๓ ชั่วขณะตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ตี ๓ ท่านก็ทำสมาธิ ท่านแก้ไขปัญหาเทวดา การแก้ไขปัญหาเทวดาต้องพูดกันทางสมาธิไม่ได้พูดด้วยปาก เอาใจพูดกันถ้าหากใจพระพุทธเจ้าไม่มีสมาธิ ในขณะนั้นสัมผัสรู้เทวดาได้อย่างไร


ถามความปิติที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรจึงจะให้สงบลง ?
ตอบเมื่อปิติมันเกิดขึ้นไม่ต้องไปทำให้มันสงบลง กำหนดจิตรู้มันอยู่เฉย ๆ บางทีมันอาจจะกระโดดโลดเต้น หัวเราะ ร้องไห้ขึ้นมาก็ตาม ทำสติตามรู้มันตลอด ในเมื่อมันไปจนหมดฤทธิ์มันแล้วมันสงบลงเอง ถ้าเราไปบังคับให้มันสงบลง ทีหลังปิติมันจะไม่เกิด เมื่อปิติไม่เกิดการปฏิบัติมันก็ท้อถอย อย่างปัญหาที่ว่า ภาวนาเมื่อก่อนนี้ทำไมมันสงบสบายดี แต่เวลานี้มันขี้เกียจเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายเพราะไม่มีปิติ


ถามแต่บางครั้งรู้สึกว่าคล้ายจะสำลัก มีความรู้สึกอิ่ม ?
ตอบเมื่อปิติเกิดขึ้นแล้ว สารพัดที่มันจะแสดงอาการออกมา บางทีก็ทำให้รู้สึกจะสำลัก บางทีทำให้ร้องไห้ หรือหัวเราะ บางทีทำให้ตัวสั่น บางคนปีติเกิดวางมือจากประสานกันมาตบหัวเข่าตัวเองก็ดี อันนี้เป็นอาการของปีติ ซึ่งสุดแท้แต่นิสัยของใครจะแสดงออกมาอย่างไร


ถามการทำสมาธิเวลานอนหมายถึงการท่องพุทโธไปจนหลับใช่หรือไม่ ?
ตอบใช่ การทำสมาธิโดยการท่องภาวนาพุทโธ เราท่อง ๆ ไปจนกระทั่งใจมันท่องพุทโธเองได้ยิ่งดี นอนหลับมันก็ท่องอยู่ ตื่นมันก็ท่องอยู่ยิ่งดี


ถามการปฏิบัติเสร็จแล้วได้นอน ขณะที่นอนก็ภาวนาพุทโธต่อไป มีอาการจิตดิ่งลงก็ได้ตามรู้อารมณ์จิตสักครู่รู้สึกว่าเหมือนกับตัวหมุนไปรอบห้อง บางครั้งรู้สึกว่าตัวพอง ลมจะระเบิดหลังจากนั้นก็ไม่ค่อยสงบ ?
ตอบอาการอย่างนี้เป็นอาการที่จิตจะเตรียมเข้าไปสู่ความสงบเมื่อมีอาการอย่างนั้นเกิดขึ้นผู้ปฏิบัติก็มาเอะใจตกใจกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่าง ๆ จิตไปยึดอยู่ที่นั่น บางทีมันก็พยายามที่จะระงับไม่ให้เป็นอย่างนั้น บางทีมันระงับได้บางทีจิตมันดิ่งลงไปแล้วมันระงับไม่ได้รู้สึกว่าทำให้เกิดมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นอันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาแต่เราควรจะทำสติรู้อยู่เฉย ๆ จนกว่ามันจะเกิดความสงบลงไปได้จริง ๆ

ถามในการสวดคาถาพระกัณฑ์ไตรปิฎก ได้อานิสงส์อย่างไร ?
ตอบพระกัณฑ์ไตรปิฎกก็เป็นบทสวดมนต์บทหนึ่ง อานิสงส์ ก็คือเป็นการอบรมจิตและเป็นการทรงจำพุทธพจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้า บางทีผู้ตั้งใจสวดด้วยความมีสติสัมปัชัญญะแล้ว อานิสงส์ของการสวดนั้น จะทำให้จิตมีสมาธิ มีปิติ มีความสุข ตามหลักการทำสมาธิเป็นการอบรมจิต พระกัณฑ์ไตรนี้ก็หมายถึงยอดพระไตรปิฎกอักขระทุกบททุกตัวที่ท่านเอามารวมกันไว้เป็นหัวใจพระไตรปิฎก ถ้าใครจำหัวใจพระไตรปิฎกได้ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีอานิสงส์อย่างมากมาย


ถามคฤหัสถ์ต้องทำธุรกิจการค้า วิธีจะรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร ?
ตอบมีวิธีอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าเราไปซื้อของมาขาย เราขายของให้ลูกค้า ถ้าลูกค้าว่า "ทำไมขายแพง" "ต้นทุนมันสูง" "ต้นทุนมันเท่าไหร่" คิดค่าเสียเวลา ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าเสียภาษี ดอกเบี้ย บวกเข้าไป ค่าของที่มาตกค้างอยู่ในร้านค้า ทุนมันก็เพิ่มขึ้น ๆ ยิ่งค้างอยู่นานเท่าไหร่มันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ๆ ซื้อมาทุน ๑๐ บาท ก็ตีราคาทุนมัน ๑๒ บาทก็ได้ ไม่ใช่โกหก เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราเดินทางจากโคราชไปเอาที่กรุงเทพฯไปก็ต้องเสียค่ารถ เอารถไปเองก็ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอรถ ค่าอาหารการกินของผู้ที่ไป พอได้แล้วก็ต้องเสียค่าขนส่ง มาแล้วก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย เราก็คิดรวมเข้าไปซิ นัก
การค้าต้องเป็นคนฉลาดคนรักษาศีลก็ต้องเป็นคนฉลาด แต่ว่าเรามีเจตนาโกหกเขามันก็ผิดศีลข้อมุสาวาท มันจะไปยากอะไรการรักษาศีลข้อมุสาวาท


ถามปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้า เกิดความท้อแท้จะมีวิธีแก้อย่างไร ?
ตอบปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้าท้อแท้ ปฏิบัติไม่ถึง ไม่ถึงขั้นสละชีวิตเพื่อข้อวัตรปฏิบัติ พอปฏิบัติไปนิดหน่อยเมื่อยก็รำคาญหยุดซะ ขาดความอดทน ถ้าจะให้ก้าวหน้าต้องให้จับหลักการปฎิบัติให้มั่นคง อย่าเหลาะแหละเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ จะบริกรรมภาวนาพุทโธ เอ้า! ฉันจะภาวนาพุทโธอยู่อย่างนี้จนจิตมันจะสงบ ตั้งนาฬิกาเอาไว้วันนี้จะนั่งสมาธิ ๑ ชม. ๒ ชม. แล้วปฏิบัติให้มันได้ วันหนึ่งจะนั่งสมาธิวันละกี่เวลาก็ปฏิบัติให้มันได้ จะเดินจงกรมวันละกี่เวลา เวลาออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิตให้มีสติอยู่ตลอดเวลา แม้ว่านอนหลับลงไปแล้วจิตมันคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไป ให้มีสติกำหนดตามรู้ไป ในเมื่อมันไปสุดช่วงมัน แล้วมันจะเกิดความสงบเองแล้วจะก้าวหน้าเอง อันนี้ที่เราปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะว่าเราขาดความอดทน ทำไม่ถึง แล้วก็ทำไม่ถูกต้อง พอปฏิบัติพุทโธ ๆ ก็ไปข่มจิตจะให้มันสงบ ทีนี้พอไปข่มมันก็ปวดหัวปวดเกล้าปวดต้นคอขึ้นมาก็ทนไม่ไหววิธีการที่จะท่องพุทโธ ก็ท่องพุทโธ ๆ ๆ อยู่เฉย ๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ ท่องมันไว้ตลอดเวลา เวลาออกจากที่นั่งสมาธิแล้ว เราไม่มีการสำรวม ไม่มีการฝึกสติ วันหนึ่งเรานั่งสมาธิไม่ได้ถึง ๔ ชม. แต่เวลาที่เราปล่อยให้มันไปตามอำเภอใจ ๒๐ ชม. มันไปสกัดกั้นกันได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้นต้องทำให้มาก ๆ อบรมให้มาก ๆ มันถึงจะก้าวหน้า


ถามการปฏิบัติที่ก้าวหน้าจะมีวิธีอย่างไร สังเกตได้อย่างไร ?
ตอบการปฏิบัติเพื่อก้าวหน้าก็ดังที่กล่าวแล้ว สังเกตว่าเราปฏิบัติแล้วได้อะไร เอาศีล ๕ เป็นข้อวัด เมื่อเรามีเจตนาละเว้นโทษตามศีล ๕ ถ้าเราละได้โดยเด็ดขาด นั่นแหละเป็นผลได้ของเรา ถ้ายิ่งจิตใจไม่ต้องอดต้องทนต่อการที่จะทำบาปความชั่ว เจตนาที่คิดจะทำความชั่วผิดบาป ๕ ข้อ นั้น ไม่มีเลย แม้ว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิก็ตามก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติได้ผล


ถามทำอย่างไรคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจึงจะอยู่อย่างมีความสุข ?
ตอบสุขเกิดจากความไม่มีหนี้ ถ้าทรัพย์ไม่มีหาความสุขไม่ได้หนี้สินถมหัวก็ยิ่งทุกข์หนัก นี่ปฏิบัติ ๒ ข้อนี้พอ แล้วจะมีความสุข สุขอย่างคฤหัสถ์นี่มันสุขเพราะมีที่ดินอยู่ มีเรือนอยู่ มีเงินใช้ ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร แม้ว่าใจมันจะทุกข์เพราะเหตุอื่นก็ยังได้ชื่อว่าเป็น
ความสุข ถ้าคฤหัสถ์มีศีล ๕ นั่งสมาธิภาวนาแถมมีเงินมีทองใช้ มีบ้านอยู่ยิ่งสุขใหญ่อันนี้คือสุขคฤหัสถ์ สุขเพราะความไม่มีโรคนั่นก็เป็นสุขอันหนึ่ง


ถามเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นจะมีอุบายในการระงับความโกรธได้อย่างไร ?
ตอบประการแรก อดทน อย่าให้ความโกรธมันใช้มือไปทุบคนโน้นคนนี้ อย่าให้ความโกรธใช้ปากไปด่าคนโน้นคนนี้ ใช้ความอดทนในเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ทีนี้อุบายถ้าเราจะใช้ก็พิจารณาถึงอกเขาอกเรา โกรธแล้วเราไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก แม้ในใจมันโกรธอยู่แต่ไม่ทำสิ่งนั้นลงไป มันก็ไม่มีบาปมีกรรมอะไร ในเมื่อโกรธมันไปจนสุดฤทธิ์แล้วมันก็หมดไปเองเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ถ้าเรามีอุบายพิจารณาว่าความโกรธมันเป็นทุกข์อย่างนี้ ๆ เราไม่ควรโกรธเลย ๆ เอาแค่นี้ก็ได้ แต่ประการสำคัญที่สุดโกรธแล้วต้องระวังอดกลั้นอย่าเผลอไปทำความผิดพลาดอย่างรุนแรงขึ้นมา เมื่อทำผิดพลาดลงไปแล้วมันจะเสียใจภายหลัง เช่นพ่อแม่โกรธลูกคว้าไม้เรียวมาเฆี่ยนมันอย่างไม่นับ จนหนังมันแตกเป็นริ้วเป็นรอยเลือดสาด ในขณะที่เราทำอยู่นั้นเราอาจจะคิดว่าเราได้ทำอะไรสมที่โกรธแล้ว แต่เมื่อโกรธมันหายไปแล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้น ความเสียใจภายหลังเดี๋ยวก็นั่งร้องไห้กอดเขา "เราไม่น่าทำเลย"


ถามการฆ่าเพื่อป้องกันตัว บาปหรือไม่ ?
ตอบการฆ่าเพื่อป้องกันตัวนี่ก็บาป ฆ่าป้องกันตัวนี่ก็บาป ฆ่าเพื่อสนุกก็บาป ขึ้นชื่อว่าการฆ่าบาปทั้งนั้น แต่ว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนัก ฆ่าบุคคลผู้มีคุณธรรมไม่เบียดเบียนใครก็เป็นบาปหนัก ฆ่าคนที่มีจิตใจโหดร้าย ฆ่าข้าศึกก็บาป แต่ว่าบาปน้อยกว่าผู้มีคุณมีบุญ จะไม่บาปเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ทีนี้อย่างตำรวจไปฆ่าโจรผู้ร้าย โจรผู้ร้ายมันก่อความเดือดร้อนให้แก่บ้านแก่เมือง ฆ่าคนวันละ ๑๐ - ๒๐ คน ตำรวจไปฆ่ามันตายเสียได้ทั้งบาปได้ทั้งบุญ ได้บาปเพราะการฆ่า ฆ่าคนที่มีจิตใจโหดร้าย ไม่มีศีลธรรม ไม่มีกฏหมาย มีค่าเท่ากันกับสัตว์เดรัจฉานที่ดุ ๆ เช่น ฆ่างูพิษ เป็นต้น เพราะว่าจิตใจมันโหดร้าย มีค่าเท่ากันกับสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าจะไม่บาปเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าบุญก็ได้ บุญก็หาบบาปก็หิ้ว ในกรณีที่กล่าวนี้บุญมันได้มากกว่าบาป เพราะคนที่รอวันตายวันละ ๑๐ - ๒๐ คน นั้นก็พ้นอันตรายไป

ถามเมื่อมีกามตัณหาเกิดขึ้นเราควรจะระงับอย่างไร ?
ตอบระงับด้วยความอดทนอดกลั้น ระวังอย่าทำผิดวินัย ถ้าเป็นพระเป็นสงฆ์ ราคะความกำหนัดยินดีเกิดขึ้นเราก็อดทนอดกลั้น อุบายวิธีถ้าเมื่อมันเกิดขึ้นระงับไม่ไหว ก็ลุกไปเดินจงกรมบ้าง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิบ้าง พิจารณาอสุภกรรมฐานบ้าง ตัณหาโดยทั่ว ๆ ไป ตัณหาความทะเยอทะยานอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็นเกิดขึ้น ซึ่งยังเป็นวิสัยของผู้ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ท่านก็ให้ระมัดระวังการแสวงหาผลประโยชน์อย่าให้ผิดศีลข้ออทินนาทาน ในเมื่อเราไม่ผิดศีลข้ออทินนาทาน ก็เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในขอบเขต ปุถุชนจะไม่ทะเยอทะยานนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อความทะเยอทะยานตัณหาเกิดขึ้นให้นึกถึงศีลธรรมและกฏหมายปกครองบ้านเมือง ถ้าหากว่าตัณหาเกี่ยวกับเพศตรงข้าม พระภิกษุสงฆ์ให้พิจารณาอสุภกรรมฐานให้มาก ๆ


ถามเวลาเราประสบกับเหตุร้าย ๆ เกิดความทุกข์ใจจะมีวิธีหรืออุบายทำใจให้ไม่เป็นทุกข์ได้อย่างไร ?
ตอบปุถุชนไม่มีทาง อดทนทุกข์ไปจนกว่าทุกข์มันจะสร่างไปเอง หรือหากว่าใครสามารถนั่งสมาธิเข้าสมาธิได้เร็ว ถ้าจิตเข้า สมาธิมีปิติความสุขได้ ทุกข์มันก็หายไป สำหรับปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่นี่จะไปละทุกข์มันไม่ได้ แล้วตามหลักการพระพุทธเจ้าว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ "ตังโข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว" ทุกข์เป็นธรรมชาติที่พึงกำหนดรู้ ไม่ใช่เรื่องละ เราก็กำหนดว่าทุกข์เราได้กำหนดรู้แล้ว ถ้าทุกข์ใจมันมีอยู่แนวทางปฏิบัติสมาธิภาวนา กำหนดเอาทุกข์เป็นอารมณ์ เราอาจจะท่องในใจว่า ทุกข์หนอ ๆ ๆ ก็ได้ ในเมื่อท่องทุกข์หนอ จิตมันสงบเป็นสมาธิลงไปแล้ว ทุกข์มันก็หายไป ในเมื่อออกจากสมาธิมาแล้วมันทุกข์อีกภาวนามันต่อไป หลักแก้มันก็อยู่ที่ตรงนี


ถามนิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา ?
ตอบนิพพานเป็นธรรมใช่มั๊ย นิพพานเป็นธรรม "สัพเพ ธัมมา อะนัตตา" ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา พระนิพพานก็ต้องเป็นอนัตตา เพราะผู้ที่บรรลุพระนิพพานแล้วไม่มีอัตตาตัวตน ไม่มีสมมติบัญญัติ เป็นสภาวจิตที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ เหนือกิเลสเพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงเป็นอนัตตา


ถามการอโหสิกรรม เมื่อเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้แล้ว ผู้นั้นยังจะต้องรับกรรมอีกหรือไม่ ?
ตอบอันนี้ต้องทำความเข้าใจ กรรมที่เราทำโดยมีคู่กรณี เช่น ชกต่อยตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันในเมื่อทำลงไปแล้วต่างคนต่างเจ็บแค้นใจ มันผูกกรรมจองเวรกัน คือคอยที่จะล้างผลาญกัน แก้แค้นกันอยู่เสมอ ทีนี้ในเมื่อปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ต่างคนต่างก็ยก
โทษให้กัน อโหสิกรรมให้กัน การผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรมันก็หมดไป เพราะเราไม่คิดที่จะทำร้ายกันต่อไปอีก แต่บาปกรรมที่ไปตีหัวเขานั้นมันอโหสิไม่ได้ เพราะมันเป็นกฎแห่งธรรมชาติ เราไปด่าเขามันก็เป็นบาป มันผิดศีลข้อมุสาวาท ตีเขาฆ่าเขามันก็เป็นฉายาแห่งปาณาติบาตถึงเขาไม่ตายก็ตาม ถ้าเขาตายก็เป็นปาณาติบาต แม้ว่าผู้ที่ถูกทำร้ายจะอโหสิกรรมให้คือไม่จองเวรกันต่อไป กรรมที่ผู้นั้นกระทำลงไปแล้วย่อมแก้ไม่ตก นี่ต้องเข้าใจกันอย่างนี้ ทีนี้เราทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขาได้รับส่วนกุศลของเรา เขาได้เกิดดีถึงสุขพ้นจากที่ที่เขาอยู่ ซึ่งมันเป็นที่ทุกข์ทรมาน เขาดีอกดีใจเขานึกถึงบุญถึงคุณเราเขาก็อโหสิกรรมให้เราได้ แต่กรรมที่เราฆ่าเขานั้นมันก็ยังเป็นผลกรรมที่เราจะต้องสนองอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ใดต้องการตัดกรรมตัดเวรก็ต้องให้มีศีล ๕ ข้อ จึงจะตัดเวรตัดกรรมได


ถามภิกษุฉันคอฟฟี่เมตในตอนเย็นได้หรือไม่ เพราะอะไร ?
ตอบอันนี้ผู้ที่ท่านอยาก ท่านก็ฉันได้ ผู้ที่ท่านไม่อยากท่านก็ไม่ฉัน ผู้ที่ท่านสงสัยข้องใจว่าคอฟฟี่เมตนั่นมันเป็นวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นพวกประเภทอาหารเป็นแป้ง แป้งนั้นจะทำจากอะไรก็ได้ ในเมื่อมันเป็นแป้งถ้าท่านรังเกียจท่านก็ไม่ฉัน แต่หลาย ๆ ท่านก็ยังฉันอยู่เพราะท่านว่ามันไม่ผิด แต่สำหรับพวกเรานี่ควรจะถือว่ามันผิดวินัย เพราะมันเป็นพวกประเภทใช้แทนอาหารได้ แต่ว่าผู้ที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ปากแก่ท้อง ก็ไปเกณฑ์เอาว่ามันไม่ผิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเคร่งในพระวินัย ก็ไม่ควรฉัน เช่น ยาคูลท์ ตอนเย็นเป็นต้น อย่าไปฉัน


ถามพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะดูได้จากอะไร ?
ตอบอันนี้ธุระไม่ใช่ ไม่ควรไปดูคนอื่น ควรจะดูเราเองว่าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทุกคนก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปหมด เพราะว่าอันนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัว เราจะดูแต่ภายนอกไม่ได้มันดูยากว่าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมัยทุกวันนี้เขาเล่นลิเกเก่ง เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ดูยาก ถ้าหากเราจะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบจริง ๆ เราก็ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตัวของเราให้ดี เราไม่ควรไปกลัวคนอื่นจะลงนรก เราควรกลัวเราลงนรกมากกว่า สำหรับสหธรรมิกที่อยู่ด้วยกัน เราก็รู้ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามองเห็นว่าข้อปฏิบัติข้างนอกนี่มันดีงามสมกับสมณสารูป เราก็รู้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ "สังวาเสนะ สีลัง เวทิตัพพัง" ศีลเราจะรู้ได้ว่าใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพราะการอยู่ร่วมกัน เราอยากจะรู้ได้เราก็อยู่ร่วมกันนาน ๆ ดูความประพฤติปฏิบัติของกันและกันไป ดังนั้นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ในเมื่อไปสู่สำนักของพระเถระท่านใดท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นหัวหน้า ท่านให้ดูอยู่ ๓ วัน ถ้าแน่ใจว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้ให้ขอนิสัยถ้าหากเราไม่แน่ใจสมัครใจจะอยู่ที่นั่น ก็ดูต่อไปอีก ถ้าไม่เห็นความดีความชอบของท่าน เราไม่สมัครใจก็ลาท่านหนีไปเสีย ถ้าขืนอยู่ต่อไปเป็นอาบัติทุกกฎ

ถามโยมแม่นับถือศาสนาอื่น เราจะทำอย่างไรให้โยมแม่มานับถือศาสนาพุทธ ?
ตอบอันนี้อย่าไปกังวล คุณแม่นับถือคริสต์ อิสลาม ก็ปล่อยให้ท่านนับถือไป เรานับถือศาสนาพุทธ ก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ท่านมองเห็นคุณธรรมของเรา ถ้าเรายังเป็นคนที่หัวดื้อหัวรั้นต่อท่านอยู่ แม้เราจะชวนให้ท่านมานับถือศาสนาพุทธท่านก็ไม่มาประเดี๋ยวท่านจะย้อนว่าคนศาสนาพุทธปฏิบัติอย่างนี้หรือ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ถ้าเราอยากให้ท่านมานับถือศาสนากับเรานี้ เราต้องประพฤติดีเอาอกเอาใจ แล้วเวลาว่างก็คุย ๆ กันเล่นและอย่าไปด่าศาสนาท่าน ศาสนาของแม่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าหากว่าแม่มาปฏิบัตินั่งสมาธิภาวนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้มันก็จะดี แล้วปฏิบัติแสดงความดีให้ท่านเห็นว่าเรานับถือศาสนาพุทธนี่ดีจริง ๆ น้อ ! มันว่านอนสอนง่ายมันซักกางเกงในให้แม่ ซักผ้าถุงให้แม่ ล้างเท้าให้แม่ ตักข้าวให้แม่กิน ตักน้ำให้แม่ดื่ม ท่านก็เห็นความดีของเราไม่ต้องไปชักชวนท่านเดี๋ยวท่าน อืม ! ไอ้นี่มันดี เดี๋ยวท่านก็กลับมานับถือศาสนาเรา


ถามสมมติว่าคนถือศีลกันหมดแล้ว ถ้ามีศัตรูต่างชาติเข้ามาเบียดเบียนเราจะไม่เป็นอันตรายหรือ ?
ตอบอันนี้มันเป็นไปไม่ได้ คือว่าแต่ไหนแต่ไรมาแล้วคนที่จะไปถือศีลหมดทุกคนนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ต้องวิตกกังวลหรือถ้าหากใครว่า ถ้างดเว้นการฆ่าสัตว์แล้วจะได้กินอะไร ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวล เพราะเขาฆ่ากันกิน รบกัน ฆ่ากันมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด ทีนี้ถ้าหากว่าถือศีลกันหมดทุกคน ข้าศึกมารุก เช่น พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพไปปราบพวกศากยะ พวกศากยะนี้ถือศีลกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ฆ่าสัตว์เลย พอพระเจ้าวิฑูฑภะมาก็ไม่ยอมต่อสู้ จะทำอย่างไรก็ตาม จะฆ่าจะแกงฉันก็ไม่สนใจทั้งนั้น จนกระทั่งพระเจ้าวิฑูฑภะล้างโคตรของศากยะไปหมดสิ้นจากโลกนั่นคือท่านผู้เคร่งในศีลในธรรม ทีนี้ในศีลในธรรมอย่างนั้น คนอื่นเขาฆ่าท่าน ท่านไม่ยอมฆ่าตอบ ท่านก็เป็นผู้เคร่งในศีล
เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน พระโสดาบันย่อมไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแกใคร จะฆ่าก็ยอมตาย อันนั้นแสดงคุณธรรมอย่างสูงส่ง โดยสามัญทั่วไปผู้ที่ถือศีลถือไป ผู้ที่ทำหน้าที่รบก็รบไป ผู้มีศีลนึกสนุกมาก็เอาพระเอาเหรียญมาปลุกเสกไปแจกเขาด้วยก็ยิ่งดี


ถามผู้ที่บวชเป็นพระแล้ว ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ จะบาปหรือไม่อย่างไร ?
วอย่าง มีอยู่หลาย ๆ คน ในปัจจุบันนี้ก็มี ตอบถ้าหากว่าบวชเป็นพระแล้ว ไม่ได้ปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งสมาธิ แต่รักษาศีลให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ละเมิดสิกขาบทน้อยใหญ่ ถึงแม้ว่าคุณธรรมอื่นไม่เกิด ไม่ได้ปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แต่ว่าศีลบริสุทธิ์หมดจด ศีล ๕ ก็บริสุทธิ์ ศีลอื่นก็บริสุทธิ์ ศีล ๒๒๗ ก็บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์สะอาดแล้ว ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ สมาธิมันก็เกิดขึ้นมาเอง ถ้าศีลบริสุทธิ์ การภาวนาก็คือมีสติรู้อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ต้องมีสติสังวรระวังอยู่ทุกลมหายใจ การที่มีสติสังวรระวังอยู่ทุกลมหายใจนั่นแหละคือการฝึกสมาธิ เพราะสิ่งที่เราระวัง ๆ อยู่นั่น ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นอารมณ์จิต รูปผ่านเข้ามาเรามีสติ และเราก็ไม่ได้ละเมิดสิกขาบทวินัยของเรา ไม่ได้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เมื่อเราฝึกสติตลอดเวลามันก็เป็นสมาธิได้ ไม่เฉพาะแต่มานั่งหลับตาภาวนาพุทโธ ๆ ๆ คนที่เขาปฏิบัติโดยไม่เคยนั่งสมาธิเลย เวลาเขานั่งทำงาน เขานึกว่าเขานั่งสมาธิ มีสติรู้พร้อมเดินไป ทำงานมีสติรู้พร้อม เขาเดินจงกรม เขาคิดงานของเขา เขาพิจารณาธรรมแล้วจิตก็มีสมาธิ มีสติปัญญารู้ธรรมเห็นธรรมได้


ถามผู้ที่ประสบอุบัติเหตุแล้วกล่าวว่า รูปเหรียญมงคลช่วยให้เขารอดจากอุบัติเหตุนั้น ๆ จริงหรือไม่ หรือเพราะเหตุใด ?
ตอบมีทั้งจริงทั้งไม่จริง ที่จริงก็คือว่าคนที่ยังไม่ถึงที่ตาย รูปเหรียญพระนั้น ๆ ก็ช่วยได้ แต่ถ้าจะถึงที่ตายแล้ว อะไรก็ป้องไม่ได้ แต่ว่ารูปเหรียญนั้น รูปพระก็ดี วัตถุมงคลก็ดี ที่เราถือไว้ห้อยคอเอาไว้ เตือนใจเมื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุจะได้นึกถึงพระถึงเจ้า บางทีเรานึกถึงพระถึงเจ้ามันก็อาจจะรอดพ้นอันตรายไปเพราะบุญกุศลมันยังช่วยต่อชีวิตให้ เพียงแต่ว่านึกพุทโธ ๆ มันก็เป็นบุญอยู่แล้ว สมมติว่าชีวิตของเราจะสิ้นลงในวันนี้ พอพุทโธ ๆ ๆ ใจแน่วแน่ขึ้นมา มันก็ต่ออายุไปได้ เพราะบุญกุศลนั้นมันส่ง แต่ผู้ที่จะถึงวาระที่จะต้องตายแล้วต่อให้พระพรหมมาป้องกันก็ไม่เหลือ


ถามทำอย่างไรจึงจะสมกับคำว่า เร่งความเพียร ?
ตอบถ้าอยากจะให้สมกับคำว่า เร่งความเพียร ก็อย่าหยุดนิ่งสวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็นเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทำติดต่อกัน ทำด้วยความมีสติปัญญา อย่าทำอย่างงมงาย ได้ชื่อว่าเป็นการเร่งความเพียร คือทำไม่หยุด เพียรเดิน ก็คือเดินไม่หยุด เพียรวิ่งก็คือวิ่งไม่หยุด เพียรฝึกการเล่นกีฬาก็คือการเล่นไม่หยุด เดินจงกรมนั่งสมาธิไม่หยุด เวลานอนลงไปก็กำหนดจิตบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาธรรมอยู่ก็ได้ชื่อว่าเร่งความเพียรคือไม่ประมาท ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง

ถามที่ว่า "นิพพานัง ปะระมัง สุขัง" พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น [B]ถามว่า นิพพานยังมีสุขอีกหรือ ?
ตอบคำว่า "นิพพานัง ปะระมัง สุขัง" พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คือมันยิ่งกว่าสุขธรรมดา ยิ่งกว่าสุขจนไม่รู้สึก ว่ามีสุข มีทุกข์ แต่โวหารสมมติว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าใครมาเทศน์ว่า "พระนิพพานมันไม่มีความสุขหรอกมีแต่ความเฉย ๆ " คนมันก็จะขี้เกียจปฏิบัติเฉย ๆ นี่จะเอาไปทำไม ? นั่งมันอยู่ซื่อ ๆ มันก็ได้ซิ ! ที่ว่านิพพานสุขนั่นเป็นการจูงใจ สุขอันเป็นบรมสุข สุขอันเป็นปรมัตถสุข เป็นสุขที่เหนือสมมติบัญญัติ เป็นสุขที่อยู่เหนือสุขอย่างสามัญธรรมดา ที่ว่าสุขก็เพราะว่าไม่มาเกิดอีกนั่นเป็นข้อสำคัญ


ถามการปฏิบัติที่ได้ชื่อว่าถูกต้อง มีอะไรเป็นเครื่องวัด ?
ตอบมีศีล ๕ ข้อเป็นเครื่องวัดปฏิบัติอันใดไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่งนั่นแหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทีนี้สำหรับความรู้ความเห็น ความรู้อันใดเกิดขึ้น ยึดมั่นถือมั่นมีอุปาทานทำให้เกิดปัญหาว่านี่คืออะไร นี่คือตัวนิวรณ์เป็นมิจฉาทิฎฐิ ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้วจิตไม่ยึดไว้ สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน เพราะรู้แจ้งเห็นจริงแต่ปล่อยวางความรู้อันนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ


ถามการพูดเพ้อเจ้อเป็นบาปกรรมอย่างไร ขอได้โปรดเมตตาอธิบาย ?
ตอบการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล หาสาระไม่ได้ บาปก็คือว่าไม่มีคนเชื่อถือ พูดเรื่อยเปื่อยไปไม่มีหลักมีฐาน ก็ไม่มีคนเชื่อถือ พูดตลกเฮฮา เสียเวลาปฏิบัติธรรมเสียเวลาทำงานสงเคราะห์เข้าในเป็นฉายาของมุสาวาท ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน ต้องสำรวมวาจาประหยัดคำพูด เพราะฉะนั้น บาปกรรมก็คือมันเสียเวลาภาวนาเสียเวลาที่จะพิจารณา แล้วทำให้จิตใจเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นที่หวังนั่นคือตัวบาป


ถามที่ว่า ทุกข์เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ดับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ตามหลักปฏิจจสมุปบาท ทุกข์เกิดจากอวิชชา ทุกข์จะดับต้องดับอวิชชา เพราะเหตุใดจึงมี ๒ นัย
ตอบนัยหนึ่งนัยหยาบ นัยหนึ่งนัยละเอียด ต้นเหตุของทุกข์อยู่ที่อวิชชา เพราะความรู้ไม่จริง เพราะความรู้ไม่จริงมาครอบงำ ทำให้เราขาดสติสัมปชัญญะ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเป็นอายตนะภายใน ที่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพราะมันเป็นทางเข้าแห่งอารมณ์ ในเมื่อตนเห็นรูป รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงสมมติบัญญัติว่า รูปนี้สวย รูปนี้งาม เพราะอวิชชาเป็นเจ้าการ เป็นตัวตั้งตัวตี สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ แต่ต้นแห่งทุกข์อยู่ที่อวิชชา มันเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน อวิชชามันแสดงออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในปฏิจจสมุปบาท ท่านกล่าวไว้ เพราะมันเป็นพื้นฐาน อวิชชาก็คือตัวโมหะ มันเป็นอกุศลมูล เมื่อรู้ไม่จริงมันก็หลงในสิ่งนั้น ๆ ทำให้เราเผลอไป ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ทำบุญบ้าง ทีนี้อย่างบางทีก็ไปหลงทำบาปหนัก ๆ เข้าไปก็เพราะอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัย อาศัยวิชชาเป็นเค้าเป็นมูล นี่มีนัยต่างกันอย่างนี้


ถามเวลานั่งสมาธิหรือเดินจงกรม หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม มีความรู้สึกมึนชาที่สันจมูกและบริเวณหน้าผาก ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับสมถะหรือไม่
ตอบอันนั้นมันไม่เกี่ยวกับสมถะ เพราะเราข่มจิตมากเกินไปข่มอารมณ์มากเกินไปในเมื่อจิตทำท่าจะรวม ๆ เข้านิดหน่อย พลังของจิตมันก็ข่มเอาประสาทส่วนนั้น แต่ถ้าเราอดทนต่อไป ปวดก็ปวด ตายก็ตาย ถ้ามันผ่านไปได้แล้วจิตก็สงบเป็นสมาธิอดทนลูกเดียว อย่างบางทีเวลาจิตมันจะสงบเป็นสมาธินี่เหมือนใจจะขาดก็มี ถ้ามีสติสัมปัชญญะอดทนต่อไป ผ่านไปแล้วมันก็จะเกิดความสงบขึ้นมาได้ อดทนลูกเดียวไม่มีทางปฏิบัติอย่างอื่น


ถามการตั้งสัจจะปฏิบัติเข้ากรรมฐาน ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ส่วนใหญ่ควรจะปฏิบัติอะไรบ้างเป็นส่วนมาก ?
ตอบปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริสุทธิ์สะอาด


ถามและเมื่อปฏิบัติแล้วจะบังเกิดอานิสงส์อย่างไร ?
ตอบถ้าปฏิบัติจริงก็ทำให้เกิดสมาธิ มีปีติ มีความสุข แล้วก็มีจิตเป็นหนึ่งได้ สมาธิขั้นสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้เกิดปัญญาสมาธิขั้นสมถะ จิตสงบนิ่ง... สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน นี่ถ้านักปฏิบัติท่านใดพยายามปฏิบัติเอาให้ได้ นักปฏิบัติท่านนั้นจะมีสมาธิเป็นพื้นฐานของจิตใจในเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วจะไม่หลงความรู้ของตนเอง

ถามประกอบอาชีพอะไรในทางฆราวาสที่หลวงพ่อคิดว่ามีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ?
ตอบอะไรก็ได้ ใครคล่องตัวในการทำนาก็ไปทำนา ใครคล่องตัวในการทำไร่ก็ไปทำไร่ ใครคล่องในการก่อสร้างไปก่อสร้าง ใครคล่องในการทำมาค้าขาย ไปทำมาค้าขาย อาศัยความพากเพียรพยายาม ล้มลุกคลุกคลาน อดทน อย่าท้อถอย ในที่สุดแล้วเราจะประสบผลสำเร็จ


ถามเราเป็นฆราวาสทำผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าทำการล้างบาปจะหมดกรรมหรือไม่ ?
ตอบไม่มีทาง พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ ศีล ๕ นั่นแหละเป็นการทำผิดบาปโดยกฎของธรรมชาติ ถ้าหากเราปฏิบัติผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง แล้วมาทำพิธีล้างกรรมล้างเวร นั่น จะเปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาคริสต์ สิ่งที่เราทำลงไปนั้น มันล้างกรรมไม่ได้แล้วมันจะหมดบาปไปเพราะการอาบน้ำการล้าง หรือการเสกมนต์อะไรไม่ได้ทั้งนั้น เช่น อย่างเขาทำพิธีตัดกรรมตัดเวร แต่งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขึ้นมาแล้ว เขาก็นำสวดว่า "ยัง กัมมัง กะริสสามิ" "กัลยานัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาโน ภะวิสสามิ" แล้วก็ว่ามันตัดได้ หมดกรรมหมดเวร อันนี้เขาหลอกลวงอย่าไปเชื่อถ้าใครอยากจะตัดกรรมตัดเวรก็ให้มีศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปก็ได้ชื่อว่าตัดกรรมตัดเวร


ถามผู้ที่แต่งงานแล้ว ไม่สามารถมีบุตรได้ เป็นเพราะการผิดปกติทางด้านสรีระภายในที่แพทย์พิสูจน์แล้ว จะมีกรรมอันใดที่เคยทำมา ?
ตอบในสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเทศน์เรื่องโพธิราชกุมาร โพธิราชกุมารเกิดมาแล้วเป็นเศรษฐีแล้วไม่มีบุตรสืบสกุล วันหนึ่งท่านก็อธิษฐานบารมีว่า "ถ้าหากว่าเราจะมีบุตร เราจะปูผ้าขาวเอาไว้ ขอให้พระพุทธเจ้าเหยียบผ้าขาวของเรา" พระพุทธเจ้าก็รู้ล่วงหน้าว่าเศรษฐีคนนี้จะไม่มีบุตรตลอดชาติ อ่านก็ไม่ทรงเหยียบ พระสงฆ์ทั้งหลายก็ไม่ทรงเหยียบเป็นเพราะบุพกรรมอันใด ? เศรษฐีคนนี้ได้ไปพรากลูกพรากเต้าเขาในสมัยก่อนมีพวกพ่อค้าล่องเรือสำเภาไปค้าขายในทะเล พอดีลมพายุมันมาพัดเรือจะจมมิจมแหล่ พวกชาวเรือทั้งหลายก็มาปรึกษากันว่า ? ชะรอยจะมีคนกาลกิณีติมาด้วย เขาทั้งหลายก็พากันให้จับฉลาก พอจับฉลากแล้วบุรุษกาลกิณีผัวเมียคู่หนึ่งเป็นกาลกิณีก็จับฉลากได้แต่กาลกิณีถึง ๓ ครั้ง ๓ หน ชาวเรือทั้งหลายเขาก็สละไม้กระดานแผ่นหนึ่งผูกคนทั้งสองติดไม่กระดานแล้วปล่อยลงไปในทะเลคลื่นทะเลก็ซัดไปตามบุญตามกรรม ไปติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลซึ่งไม่มีผู้มีคนแต่ว่าในเกาะนั้นนกทั้งหลายพากันไป
ทำรังออกลูกออกไข่อยู่ที่นั่น ผัวเมียคู่นี้ไม่มีอะไรจะกิน ไปเห็นลูกนกทั้งหลายก็เอาไม่ไผ่ไปสีให้เกิดไฟขึ้นแล้วไปเก็บไข่นกมาเผาไฟกิน เมื่อกินไข่หมดแล้วเอาลูกมันมาเผากิน เมื่อกินลูกหมดแล้วก็เอาไม้ไล่ตีแม่มันมาเผากิน จนกระทั่งนกในเกาะนั้นหมดที่เหลือก็พากันบินหนีข้ามทะเลไป เพราะบาปกรรมอันนี้เอง สองผัวเมียก็พากันตกนรก เวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ เมื่อเกิดมาในสมัยโพธิราชกุมาร เพราะบาปกรรมอันนั้นเองจึงบันดาลให้ผัวเมียคู่นี้ไม่มีบุตร เพราะฉะนั้นคนแต่งงานแล้วไม่มีบุตร บาปกรรมที่ทำให้อวัยวะที่เป็นกำเนิดของทารกนั้นพิการไป หรือมีอุปสรรคถึงกับไม่มีบุตร ก็เพราะบาปกรรมอันนี


ถามการจุดยากันยุงถือว่าเป็นบาปหรือไม่ ?
ตอบการจุดยากันยุง ถ้ายุงไม่ตายมันได้กลิ่นแล้วก็บินหนีไปถือว่า "ไม่บาป"


ถามถ้าฉีดยากันยุงชนิดสเปรย์ โดยนึกโดยตรงจะบาปหรือไม่ ?
ตอบหากสมมติว่าเราเปิดประตูหน้าต่างไว้ เรามองไม่เห็นตัวสัตว์แล้วก็ฉีด ๆ ๆ ให้กลิ่นมันอบอยู่ในนั้น ป้องกันไม่ให้มันบินเข้ามาถ้ายุงไม่ตายก็ไม่เป็นบาป แต่ถ้าเรารู้ว่ามียุงอยู่ในนั้นไปฉีดยากันยุงมันไปถูกยุงตายมันก็บาป ฆ่าสัตว์โดยเจตนา

ถามเวลาภาวนา น้ำตามันคอยแต่จะออกมา ?
ตอบนั่นแหละอาการของปิติ ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันผ่านไปเองถ้ามันขึ้นมาอีกก็นั่งอยู่เฉย ๆ อย่านึกอะไรทั้งสิ้น ที่นี้ถ้ามันจะขึ้นแรงเกินไปก็ถอนหายใจยาวซะเดี๋ยวมันก็หายไป ค่อยแก้ไขไปเดี๋ยวมันก็ดีเอง ดี! ภาวนามีปิตินั่นแหละดี ถ้าปิติไม่เกิดภาวนาก็จะไม่ได้ผลหรอก อาการของปิติเป็นอาการของจิตดื่มรสพระสัทธรรมมีอุปนิสัย ภาวนาเกิดปิติมีอุปนิสัยให้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามาก ๆ เพราะเดี๋ยวมันเลยขั้นปิติไปแล้วก็สบายหรอก อาจารย์บางองค์อย่างหลวงปู่แว่นปิติท่านก็แรงเหลือเกิน สังเกตดูเวลาท่านเทศน์ทีแรกก็สำเนียงธรรมดาพอเทศน์ไปเรื่อยเกิดปิติขึ้นเสียงจะก้องขึ้น บางทีท่านอธิบายธรรมะจุดไหนท่านพิจารณาอย่างแนบเนียนปิติก็จะเกิดแรงขึ้น ท่านตื่นอกตื่นใจท่านปี๊ด... ท่านปี๊ด... ออกมาเลย แรงของปิติและก็อาจารย์มหาอีกองค์หนึ่งพอพูดถึงธรรมะตัวสั่นขึ้นมาเลย ปิติมันเกิดคนภาวนา มีปิตินี่ได้ผลเร็ว


ถามเวลาภาวนาเมื่อเกิดปิติแล้วหลวงพ่อเคยถึงน้ำตาไหลไหม?
ตอบผมไม่เป็นแรงอย่างนั้น บางทีเวลามันเป็นพอเริ่มมีปิตินิดหน่อยแล้วจิตจะสว่าง สงบละเอียด ๆ ๆ ลงไปจนกระทั่งตัวหายไปหมด บางช่วงพอสงบละเอียดตัวหาย มันไปนิ่ง
ว่าง สว่างอยู่เฉย ๆ แล้วมันก็ออกมาพอมันออกมาก็เกิดมีความคิดขึ้นมาปุ๊ด ๆ ๆ ก็ตามรู้มันไปจนสุดช่วงมัน จนกว่าถึงเวลากันสมควรแล้วก็เลิก พอเลิกแล้วก็มาทำสติอยู่กับปัจจุบันนี่ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรากำหนดสติรู้อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เราก็รู้ความจริง สิ่งที่เราประสบในปัจจุบันนี่แหละที่มายุให้เราเกิดอารมณ์ดีใจ เสียใจ เกิดสุข เกิดทุกข์ ตาเห็นรูปไม่ดี รูปน่าเกลียดมันก็เกิดทุกข์ ได้ยินเสียงไม่ดีก็เกิดทุกข์ เพราะมันเกิดไม่พอใจ อะไรมันเกิดพอใจมันก็จะเกิดความสุขใจแต่มันเป็นกิเลสก็รู้ความจริงของมันอยู่ในปัจจุบันนี่ ทีนี้เลยขั้นเจตนาตั้งใจ พอเรารู้ว่ามันไม่ดี เอ้า ! เราไม่ทำสิ่งนี้ดีเป็นบุญเป็นกุศลเราทำ จุดที่เราแต่งอยู่ตรงนี้ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนามันขี้เกียจ เราก็ปรุงแต่งให้มันขยันขึ้น ส่วนในทางจิตทางใจ มันจะเป็นหรือไม่เป็นนั้นไม่สำคัญ อย่าไปสนใจกับมันมาก นักการปฏิบัตินี่เองมันเหตุให้เกิดผลอย่างนั้นเมื่อเราปฏิบัติถูกต้อง ศีลบริสุทธิ์ดี จิตบริสุทธิ์ คือ มุ่งต่อสมาธิเพื่อความบริสุทธิ์ ปัญญาความรู้ ความเข้าใจความเห็นมุ่งต่อความบริสุทธิ์ มุ่งต่อความรู้แจ้งเห็นจริง มันก็เป็นความบริสุทธิ์ทั้ง กาย วาจา ใจ เราปฏิบัติ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อแลกกับอามิสสินจ้างรางวัลอะไร เราปฏิบัติเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์ มันก็เป็นความเป็นบริสุทธิ์ ถ้าปฏิบัติอยากให้คนเคารพนับถือ อยากจะดีเหนือกว่าคนอื่น ใจมันไม่บริสุทธิ์ ปฏิบัติไป ใครจะไหว้ก็ช่าง ไม่ไหว้ก็ช่างใคร ใครจะนับถือก็ช่าง ไม่นับถือก็ช่าง เราปฏิบัติเพื่อดีของเราคนเดียว นี่ถ้าตั้งใจไว้อย่างนี้ ก็จะเป็นความบริสุทธิ์ถึงกิเลสมีอยู่มันก็บริสุทธิ์ เพราะเจตนามันบริสุทธ


ถามภาวนาบางทีตัวมันใหญ่ ๆ จะทำอย่างไร ?
ตอบตัวใหญ่ ๆ นั่นปิติมันเกิด บางทีมันตัวเล็กนิดเดียวบางทีมันคล้าย ๆ กับว่าลอยอยู่บนอากาศ บางทีตัวมันหายไปหมด ให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ อย่าไปรบกวนมัน มันจะเป็นไงก็ช่างมัน ปล่อยในขณะที่มันเป็น ปล่อยมันไปเลย ทีนี้สิ่งที่มันเป็นตัวใหญ่ก็ดี ตัวเล็กก็ดี ตัวเบาก็ดี ตัวหนักก็ดี ตัวลอยก็ดี มันเป็นอาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้อยู่ สติสัมปัชญญะดีขึ้นมันจะกำหนดหมายรู้ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ต้องไปกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ของเรามีสติกำหนดรู้อย่างเดียว ในตอนแรก ๆ ถ้าภาวนาแล้วจิตมันไม่อยู่มันมีแต่ความคิดฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา ปล่อยให้มันคิดไปเลยจนปล่อยให้มันคิดไปสุดช่วงแล้วมันหยุดเองอย่าไปบังคับมัน อย่างภาวนาพุทโธ ๆ ๆ เพียงแต่นึกพุทโธ ๆ อย่าไปบังคับจิตให้มันสงบ แต่ว่านึกพุทโธไม่หยุด


ถามเดี๋ยวนี้ปฏิบัติได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อนเลยเป็นเพราะอะไร ?
ตอบบางทีเราอาจเอาใจใส่เฉพาะเวลานั่งอย่างเดียว เวลาออกมาจากสมาธิแล้วเราไม่สนใจออกมาแล้วต้องทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ นี่คือแผนการปฏิบัติที่จะได้ผลแน่นอนที่สุด พวกฤาษีทั้งหลายนี่เขาภาวนาแล้วจิตเขาเข้าสมาธิ เขาภูมิใจในความมีสมาธิของเขาแต่ออกมาแล้วยังมาแช่งชักหักกระดูกนี่ยังมี เพราะขาดการเอาใจใส่ในการปฏิบัติภายนอก เพราะฉะนั้น ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด นี่เป็นอารมณ์จิต ต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาที่ท่านอาจารย์ฝั้นท่านว่า "อย่าให้จิตมันว่าง" หมายความว่า อย่าให้ว่างจากความตั้งใจ อย่าให้ว่างจากการฝึกสติ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอารมณ์จิต ให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา


ถามบางคนปฏิบัติในช่วงแรกยากลำบาก แต่เมื่อปฏิบัติได้ถึงช่วงของเก่ามีอยู่จะภาวนาไปได้เร็ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ ?
ตอบมันเป็นไปตามอุปนิสัย บางคนปฏิบัติง่ายสำเร็จยาก บางคนปฏิบัติยากสำเร็จง่าย บางคนปฏิบัติง่ายสำเร็จง่าย บางคนปฏิบัติยากสำเร็จยาก อุปนิสัยพื้นเพเดิม


ถามที่จริงดูแล้ว คนที่มีของเก่าน่าจะปฏิบัติได้ง่าย ?
ตอบมันยังไม่ถึงขั้นนั้น


ถามอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นชาย เป็นหญิงครับ ?
ตอบความข้อง ความรัก ความคิด ติดข้องในนิสัยผู้หญิงติดข้องในเพศหญิง เช่น อย่างคนเป็นผู้ชายไปแต่งตัวเป็นผู้หญิง ทีนี้จิตมันก็ข้องเพราะความอยากเป็น มันถึงได้เป็นเช่นตัวอย่างคนใช้ของเศรษฐี เขาใช้ให้ขุนหมาทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งแกก็คิดขึ้นมาว่า "ขนาดหมาเศรษฐียังได้กินดีกว่าเราเลย!" "เราน่าจะเป็นหมาเศรษฐีดีกว่า" อยู่มาภายหลังเศรษฐีจัดงานเลี้ยง อาหารที่เหลือจากงานเลี้ยงเขาก็ให้แกกิน เพราะเขาทำมาก พอเสร็จแล้วแกก็กินไป ๆ "เอ้อ ! อร่อยนี่ เสร็จเราล่ะ จะกินเหมือนหมาเศรษฐี" กินซะจนพุงฉีกเสร็จแล้วตาย พอตายไปแล้วเกิดเป็นลูกหมาเศรษฐี เพราะจิตมันไปข้อง จิตมันไปข้องอยู่ที่ตรงไหนมันก็ไปติดอยู่ที่ตรงนั้น

ถามเรื่องการปฏิบัติยากสำเร็จง่าย ปฏิบัติง่ายสำเร็จยาก ในครั้งพุทธกาลนี่มีไหมครับ ?
ตอบมี พระอานนท์ เดินจงกรมจนเท้าแตก เวลาจะสำเร็จ สำเร็จในเวลาที่คิดจะพักผ่อนตั้งใจจะพักผ่อน พอเอนกายลงอยู่ในขณะครึ่งนอนครึ่งนั่ง ไม่ได้ตั้งใจเลยว่าจะให้สำเร็จ
พอเสร็จแล้วจิตก็แว๊บเข้าที่ สำเร็จอรหันต์ไปเลย


ถามหลวงพ่อครับ บางคนภาวนาได้ฌาน ๔ ถ้าจิตจะพัฒนาขึ้นไปก็เป็นอรูปฌาน ๑ กับโคตรภูญานใช่ไหมครับ ?
ตอบใช่ ถ้ามันไปสายวิปัสสนาก็เป็นโคตรภูญาน ถ้าไปสายสมถะก็เป็นฌาน โคตรภูญานก็เป็นฌานเหมือนกัน แต่ว่าฌานที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ฝ่ายฌานสมาบัติมันสงบนิ่งเงียบไปเฉย ๆ แต่ว่าโคตรภูญานมันจะปรากฏเหตุการณ์สิ่งรู้ทั้งหลายขึ้น ทำให้จิตรู้แจ้งเห็นจริง รู้เค้ารู้เงื่อนของอวิชชา รู้ว่าสัตว์ตาย เกิดเพราะอะไร ทำไมสัตว์จึงเป็นไปต่าง ๆ กัน บ้างก็เกิดเป็นสัตว์ บ้างก็เกิดเป็นมนุษย์ บ้างก็เกิดเป็นเทวดา เพราะอะไร มันจะค้นคว้าของมันเรื่อยไป


ถามเมื่ออยู่ในสมาธิขั้นนั้นแล้ว เราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ใช่ไหมครับ ?
ตอบเราทำอะไรไม่ได้นอกจากภูมิจิตมันจะเป็นไปเอง ส่วนภาคปฏิบัติเรากำหนดหมายการพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อจิตยังไม่สงบ ทีนี้เมื่อสงบไปแล้วสิ่งที่เรากำหนดพิจารณานั่นแหละ มันจะเป็นพลังงานหนุนส่งให้จิตไปเกิดภูมิความรู้ขั้นโคตรภูญาน


ถามต้องอาศัยการพิจารณาเอาใช่ไหมครับ ?
ตอบใช่ พิจารณาโดยสติปัญญาของเรานี่แหละ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้วมันจะเป็นพลังหนุนให้เราไปรู้ของจริงในขั้นโคตรภูญาน


ถามโคตรภูญานนี่เป็นจุดที่พระพุทธองค์ทรงสำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาน ใช่หรือเปล่าครับ ?
ตอบใช่ เป็นจุดให้เกิดญานต่าง ๆ


ถามแล้วก็จะเกิด จุตูปปาตญาน อาสวักขยญาน ตามลำดับใช่ไหมครับ ?
ตอบใช่


ถามมันจะเป็นไปของมันไปเอง ?
ตอบใช่


ถามอย่างรู้อาสวักขยญาน นี่รู้อย่างไรครับ ?
ตอบรู้จักอุบายวิธีทำอาสวะให้สิ้นไป ซึ่งมันจะเป็นไปเองของมันรู้ว่านี่คือกิเลสอาสวะ รู้ว่ากิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งมันจะเป็นไปของมันเองโดยอัตโนมัติ


ถามในเมื่อชาตินี้เรามีสมาธิดีแล้ว ถ้าเรายังไม่สำเร็จพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง เรามีโอกาสตกไปในทางที่ชั่วได้ไหมครับ ?
ตอบถ้าหากว่าเราไม่ได้บรรลุโสดาบันแล้ว มันก็มีโอกาสตกไปในที่ชั่วได้ ถ้าบรรลุพระโสดาบันก็แน่นอนเที่ยงตรงต่อพระนิพพานไม่เปลี่ยนแปลง


ถามในชาตินี้เราเป็นสัมมาทิฏฐิในชาติหน้าเราอาจเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ใช่ไหมครับ ?
ตอบอาจเป็นมิจฉาได้ เพราะอาเสวนปัจจัย การคบค้าสมาคม ถ้าบรรลุพระโสดาบันแล้วใครจะจูงยังไงก็ไม่ไป


Aถามในชาติที่แล้วได้บรรลุพระโสดาบัน ในชาตินี้ภูมิพระโสดาบัน จะติดตัวผู้นั้นมาตั้งแต่เกิดหรือต้องปฏิบัติจนถึงภูมิขั้นนั้นครับ ?
ตอบติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่จะรู้ว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่ออายุครบ ๗ ขวบภูมินั้นจึงแสดงออกมาแต่สิ่งที่เป็นนิสัยนั่นจะเป็นนิสัยประจำสันดาน แม้ความคิดที่จะทำบาปทำกรรมอะไรไม่มี แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เมื่ออายุครบ ๗ ขวบแล้วถึงจะรู้ รู้ว่าเป็นพระโสดาบัน


ถามพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายที่เข้านิพพานแล้ว ยังมาโปรดสัตว์โลกอยู่หรือเปล่าครับ ?
ตอบท่านไม่เกี่ยวข้องแล้ว ที่ว่าโปรดสัตว์โลกนั้น เป็นแต่เพียงจิตสำนึกของผู้ที่เลื่อมใสบางทีเราระลึกถึง เราภาวนาเห็นพระพุทธเจ้า มันเป็นมโนภาพที่จิตของเราแสดงขึ้นมาเอง ลมหายใจเข้า หายใจออก เป็นธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งมันเป็นของมีอยู่แล้ว เราเพียงแต่มีสติกำหนดรู้ เมื่อจิตของเรายังหยาบอยู่ มันจะกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อจิตละเอียดเข้าไปลมหายใจก็หายไป ยังเหลือแต่อารมณ์จิตภายในซึ่งมีเกิดดับ ๆ ตลอดเวลา เราก็กำหนดหมายรู้สิ่งนั้น ถ้าความคิดมันมีเกิดดับ ๆ อยู่ เราไม่ต้องไปกังวลในการที่จะหาเรื่องอะไรมาพิจารณาเป็นแต่เพียงให้สติกำหนดรู้อยู่ในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ขอให้มันมีสิ่งรู้แล้วเราจะรู้อะไรดี ๆ ในท่านกลางความคิดที่เกิดดับนั่นแหละ ความคิดที่เกิดดับ ๆ เป็นอยู่อารมณ์สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อเรากำหนดดูในสิ่งนี้ เมื่อสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้น มันจะเป็นปัญญา แล้วมันจะกำหนดหมายรู้ความเกิดดับว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเอง อย่าใจร้อนภาวนา


ถามให้กำหนดรู้ว่าร่างกายตอนนี้เป็นอย่างไร ใช่ไหมครับ ?
ตอบในขณะที่จิตของเรายังคิดไม่เป็น ก็กำหนดรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างไร การกำหนดดูกายก็คือการกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั่นเอง เพราะการหายใจเข้า หายใจออกเป็นธรรมชาติของร่างกาย มันเป็นสิ่งที่เป็นเองอยู่โดยธรรมชาติ นอนหลับปอดก็ยังหายใจ นอนหลับหัวใจ ใจก็ยังเต้น นั่นคือธรรมชาติของร่างกายเรากำหนดดูสิ่งที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ อย่าไปแต่งมัน แม้แต่จิตของเราก็ไม่สมควรจะไปแต่งให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนี้ให้มันเป็นไปเอง หน้าที่ของเราเพียงแต่กำหนดรู้อย่างเดียว รู้อย่างเดียว อย่างเราอยู่ในเวลานี้เรากำหนดรู้ที่จิตของเรา ดูที่จิตของเรา ในเมื่อเรารู้อยู่ที่จิต ขณะที่จิตกับกายมันยังสัมพันธ์กันอยู่ลมหายใจก็ปรากฏอยู่ สุขทุกข์ เกิดที่กายเราก็รู้อยู่ เพราะกายกับจิตยังสัมพันธ์กันอยู่ ดูมันไปเรื่อย ๆ เมื่อภูมิจิตละเอียดเข้า ๆ มันสงบไป ๆ จนกระทั่งตัวหาย มันก็เหลือจิตที่รู้ตื่น เบิกบานแจ่มใส อยู่พอมันถอน ออกมาแล้ว มันก็กำหนดดูความเป็นไปของร่างกายเองอย่าไปเที่ยวเชื่อคนภาวนาไม่เป็น บางท่านก็ว่า พุทโธ จิตมันได้แต่สมถะไม่ถึงวิปัสสนา ต้องอย่างนี้ถึงจะถึงวิปัสสนาอะไรทำนองนี้ อย่าไปเชื่อ ยุบหนอ พองหนอก็เป็นอารมณ์จิต พุทโธ ก็เป็นอารมณ์จิต สัมมาอะระหัง ก็เป็นอารมณ์จิต กำหนดรู้จิตอยู่เฉย ๆ ก็เป็นอารมณ์จิต ลมหายใจเข้า หายใจออก ก็เป็นอารมณ์จิต ในเมื่อจิตมีอารมณ์สิ่งรู้ ผู้ปฏิบัติทำสติกำหนดรู้สิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน นั่นเป็นการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องวินัย รักษาวินัยให้มันบริสุทธิ์สะอาด ศีลนี่ต้องบริสุทธิ์

ถามการสวดมนต์ บทไหนที่ดีที่สุด ?
ตอบสวดมนต์นี่ดีทุกบท อย่าไปเชื่อว่าบทนั้นดี บทนี้ไม่ดี มนต์ต่าง ๆ นั่นมันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการเล่านิยายเรื่องพระพุทธเจ้าที่ท่านทำงานของท่านมาเป็นบันทึกผลงานของพระพุทธเจ้า เช่นอย่าง มงคลสูตร ปรารภอะไรและทรงแสดงธรรมว่าอย่างไร กรณียเมตตสูตร ปรารภอะไร แสดงธรรมว่าอย่างไร มันเป็นบทบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นอย่าง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็เป็นบันทึกที่พระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา เป็นกัณฑ์แรก โปรดใคร ที่เขาไปกำหนดหมายว่า สวดนั้นถึงจะดี สวดนี้ถึงจะดี อันนั้นเขาสอนกันมีแนวโน้มไปในทางไสยศาตร์ พวกไสยศาตร์นี่อย่าไปสนใจ ขืนเรียนไสยาศาตร์ไปกลายเป็นผีใหญ่หมด สวดมนต์ที่พระพุทธเจ้าเทศน์เอาไว้ เป็นการทรงจำคำสอนสวดมนต์ หลักก็คือสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเป็นการไหว้ครู คือไหว้พระพุทธเจ้าและคุณธรรมของพระพุทธเจ้า สาวก ของพระพุทธเจ้าผู้นำศาสนามา การสวดมนต์นี่ เช่นเราสมมติว่า สวด "อิติปิโส ภะคะวาอะระหัง สัมมาสัมพุทโธ" ทำสติให้มันรู้ชัด ๆ มันก็เป็นภาวนาไปในตัว อะไรก็ตามที่เรารู้ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเป็นสื่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ตาเห็นรูปมีสติ ถ้ามันเกิดรักเกิดชอบพิจารณา ถ้ามันเกลียดพิจารณาให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา อย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่น เรามั่นคงใน พระธรรม พระวินัย ในข้อวัตรปฏิบัติของเรา รักษาศีลวินัยให้ดี เอาใจใส่การปฏิบัติให้ดี เราไปอยู่ในสำนักไหน พักในสำนักไหน กิจวัตรของวัดนั้นเขามีอะไร ให้อนุโลมปฏิบัติตามเขา ถ้าเราไม่ชอบอย่าไปขวางเขา ถ้าไม่ชอบระเบียบวิธีการของวัดนี้ เราก็ไม่ต้องอยู่ ก็ต้องไปแสวงหาที่อื่น อย่าเอามติของเราไปขัดเขา ถ้าเรายังไม่พ้นนิสัยมุตก์หรือพ้นแล้ว ถ้าหากเราจะไปศึกษาปฏิบัติในสำนักไหน แม้ว่าเราอายุพรรษาพ้น ๕ แล้วต้องรู้จักพระธรรมวินัย อุบายวิธีแก้ไขปัญหาตัวเอง ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ๑๐๐ พรรษาก็ยังไม่พ้น ทีนี้เรายังแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อการปฏิบัติอยู่ ก็แสดงว่าเรายังไม่พ้นนิสัยมุตก์ เพราะเรายังไม่เข้าใจหลักการปฏิบัติ


ถามการนั่งสมาธิเดี๋ยวนี้มันไม่ได้เหมือนอย่างแต่ก่อน จะทำยังไงดีครับ ?
ตอบที่ว่ามันไม่ได้ มันเป็นยังไง


ถามเมื่อก่อนนั่งมันสงบ สว่าง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เคยเห็นเหมือนอย่างแต่ก่อน ?
ตอบตอนแรกจิตสงบ สว่าง มีปิติ มีความสุขดี แต่เมื่อจิตมีพลังงานแล้วมันมีความคิด พอกำหนดลงไปนี่มันจะมีความคิดผุดขึ้นมาปุ๊ด ๆ ๆ อันนี่ก็ว่าเรานั่งไม่ได้ผลอย่างเก่า ถ้ามันมีแต่ความสงบนิ่งอย่างเดียว มันก็ไม่ก้าวหน้า


ถามต้องทำให้จิตมีความคิด ?
ตอบเมื่อมันคิดเองปล่อยให้มันคิดไป แล้วก็ตามรู้ ๆ ๆ มันไป มันจะตามรู้อารมณ์อย่างนั้นเป็นปี ๆ แล้วก็ไม่สงบอย่างที่เคยสงบมาแล้ว เราก็กำหนดสติรู้อยู่อย่างนั้นแหละเมื่อเรามีสติกำหนดรู้อยู่ สภาพของจิตมันจะค่อยมีกำลังแก่กล้าขึ้นมีปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น ท่านอาจารย์เสาร์ท่านว่า "เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ" "จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด" อันนั้นหมายถึงว่าจิตกำลังต้องการทำงาน ถ้ามันไปสงบนิ่งอยู่เฉย ๆ มันไม่ทำงาน มันก็ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ช่วงใดที่มันนิ่งปล่อยให้มันนิ่ง ช่วงใดที่มันคิดปล่อยให้มันคิด แต่เราต้องมีสติ ถ้ายิ่งสติมีพลังแก่กล้าขึ้น ความสงบนิ่งเงียบอย่างก่อนนั้นมันจะไม่มี


ถามทำสมาธิแล้วเกิดความตกใจ จะทำยังไงดี ?
ตอบให้ทำไปเรื่อย ๆ เมื่อมันคล่องตัวแล้วมันจะไปของมันเองมันจะไปจนถึงขนาดที่ว่าพอมันไปถึงที่สุดของมันนี่ เราจะรู้สึกว่ากายของเราหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวสว่างไสวอยู่ เมื่อจิตไปสู่แดนที่สว่างไสว แดนว่าง ในขณะแรกนี่มันจะว่างของมันอยู่เฉย ๆ ทีนี้เมื่อต่อไปมันมีพลังงานมากขึ้น ๆ มันจะมองลงมาดูโลกทั้งหลายมองเห็นคล้าย ๆกับว่าแสงสว่างของเรานี่คลุมโลกอยู่แล้วมันจะมองเห็นหมด ต้นไม้ ภูเขา อะไรต่าง ๆ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ภูติผีปีศาจ มันจะมองเห็นอยู่อย่างนั้น มันก็จะรู้... อยู่ของมันหนัก ๆ มันจะรวมเข้ามาจริง ๆ มันจะมองเห็นร่างกายตัวเองนอนตายอยู่ แล้วก็ขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว เมื่อมันไปอยู่ของมันพอสมควรแล้ว มันจะออกมาของมันเอง อย่าไปกลัวมัน


ถามมันกลัวค่ะหลวงพ่อ ?
ตอบเพราะความกลัวนั่นแหละมันถึงไปไม่ได้ ทีหลังอย่าไปกลัวมัน ปล่อยมันเลย เอ้า! มันจะเป็นยังไงก็เป็นกัน พี่เขยของหมอวิยะดาไปอยู่อเมริกา ไปป่วยจนอาการหนักจนหมอเขาไม่รับรอง เขาบอกว่ามีแต่ตายลูกเดียว พอแกรู้ว่าหมอบอกว่าไม่มีทางรอด แกก็ปล่อยวางหมดเป็นไงเป็นกัน พอเสร็จแล้วจิตมันก็วิ่งออกไปลอยอยู่เหนือร่างกาย มองเห็นกายตัวเองขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ พอฟื้นขึ้นมาโรคที่เป็นอยู่นั้นมันหาย เมื่อก่อนนี้เขาเป็นมะเร็งในลำไส้ ให้เลือดเท่าไหร่ก็ไหลผ่าน ๆ ไม่หยุด พอแกฟื้นขึ้นมาแล้วเลือดที่ไหลมันก็หยุด ภายหลังก็ค่อย ๆ เบาขึ้น ๆ ดีขึ้น ๆ จนกระทั่งกลับมาเมืองไทยได้เมื่อเขามาแล้วก็มาถามน้องสาวว่า "มีพระที่ไหนพอจะแก้ปัญหาทางจิตได้บ้าง" หมอวิยะดาก็พามาหาหลวงพ่อที่นี่ หลวงพ่อก็มีภาพนิมิตที่ให้พระเขียนเอาไว้มีอยู่ชุดหนึ่ง เอามาให้ดู พอเขาพลิกดูก็บอกว่า"ผมเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ผมไม่ได้ภาวนาทำไมมันเป็นไปได้" ก็เลยบอกว่า "สัญชาตญาณของจิตมันเป็นอย่างนั้น อาศัยที่ว่าคุณเคยภาวนาในชาติก่อน ในภพก่อน คนที่อยากจะทำสมาธิภาวนานี่ต้องมั่นใจว่าเรามีอุปนิสัยเคยภาวนามาแล้ว"
ถาม อ่านหนังสือก็ว่าปฏิบัติอันนั้นปฏิบัติอันนี้ดี เลยสับสนไม่รู้ว่าจะเอาอันไหนดี ?
ตอบการปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานต้องยึดอันนี้ให้เหนียวแน่น ฝึกสติรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ฝึกอยู่ที่ตรงนี้ พอเดินรู้ ยืนรู้ นั่งรู้ นอนรู้ รับประทานรู้ ดื่มรู้ พูดรู้ คิดรู้ มีสติตามรู้อยู่ตลอดเวลา เวลาทำงานมีสติรู้อยู่กับการทำงาน เวลามีความคิดมีสติรู้อยู่กับความคิด เวลาพูด มีสติรู้อยู่กับคำพูด แม้แต่รับประทานก็มีสติรู้อยู่กับการรับประทาน จะเอาในขณะที่เรารับประทานแล้วเราใช้ความคิดว่าเรารับประทานอาหารเพื่ออะไร เราก็จะตอบปัญหาของเราเรื่อยไป ๆ ธรรมชาติของสังคม สังคมทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม ความมีลาภ เสื่อมลาภ ความมียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ สรรเสริญ นินทา สิ่งเหล่านี้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหา

ในการแสวงหาเราจะแสวงหาอย่างไร ? ในฐานะที่เราเป็นนักปฏิบัติ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระองค์ให้เรามั่นคงในศีล ๕ ข้อ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอยู่ เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกของเราให้มีความทะเยอทะยานในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น แต่ความทะเยอทะยานนั้นต้องมีขอบเขต

ขอบเขตคืออะไร ? ขอบเขตก็คือ ศีล ๕ ข้อนั่นเอง เพราะฉะนั้นศีล ๕ ข้อ เป็นศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นตามกฎของธรรมชาติ เรามีกายกับใจ ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นผู้บงการให้กายทำทุกสิ่งทุกอย่าง ให้วาจาพูดทุกสิ่งทุกอย่าง ในเมื่อใจเป็นผู้บงการแล้ว กาย วาจา ทำอะไรลงไป พูดอะไรลงไป ใจนี่เขาจะเก็บเอาไว้โดยอัตโนมัติ เขาจะเก็บผลงานของเขาบันทึกเอาไว้ การทำบาป ทำกรรมต่าง ๆ นี่ที่ว่าเป็นบาป เป็นกรรม ควรสังวรระวัง ควรงดเว้นควรระวังรักษา มีแต่ละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น ศีล ๕ ข้อมันเป็นกฎธรรมชาติคนศาสนาพุทธทำก็บาป ศาสนาคริสต์ทำก็บาป บาปตัวนี้ใครเป็นผู้แต่ง

ใครเป็นผู้สร้างมันขึ้น ? ไม่มีใครแต่ง ไม่มีใครสร้าง เป็นสิทธิหน้าที่ของแต่ละบุคคลสร้างขึ้นมาเอง เพราะมันเป็นผลงานของตัวเองที่ทำลงไป ในเมื่อเป็นผลงานที่ทำลงไปโดยใจเป็นผู้สั่ง ใจเขาจะต้องเก็บผลงานนั้นไว้โดยกฎธรรมชาติของเขา อย่างสมมติว่าเราไปฆ่าใครตายซักคนหนึ่ง เรานึกว่าเราทำเล่น ๆ เราไม่ต้องการผลงานมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจะต้องวิ่งเข้ามาเป็นผลงานที่เก็บเอาไว้ภายในใจ ถ้าเราจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศีล ๕ ข้อนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

คฤหัสถ์รับประทานข้าวเย็นไม่มีในคัมภีร์ใดที่พระพุทธเจ้าเทศน์เอาไว้ว่าตกนรก ถ้าหากละเมิดศีล ๕ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่งละ ตกนรกทันที ทำไมพระพุทธเจ้าถึงสอนให้รักษาศีล ๕ โดยวิสัยของพระพุทธเจ้า ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ทรงปรารถนาให้ มนุษย์มีความรักกัน นี่คือคำตอบ รักษาศีลลงไปทำไม ? ต้องการความรัก ความรักที่เกิดขึ้นจากคุณธรรมเป็นความรักที่ประกอบไปด้วยความเมตตาปราณี รักได้ทุกคนเมื่อเรามีศีล ๕ ศีล ๕ ก็เป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม การไม่ฆ่าเป็นการเคารพในสิทธิของคนอื่น กาเมสุมิสฉาจาร มุสาวาทก็เคารพในสิทธิของผู้อื่น สุราไม่มัวเมาเคารพในสิทธิของตัวเองและผู้อื่นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นมูลฐานให้เกิดระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ในเมื่อมีศีล ๕ แล้วก็ไม่ต้องกังวลเป็นการตัดกรรมตัดเวร เมื่อเราไม่ฆ่า ใครหนอจะมาคิดฆ่าเรา เมื่อเราไม่เบียดเบียนข่มเหงรังแก ใครหนอจะมาคิดร้ายต่อเรา เราก็อยู่สบาย อยู่ในป่าก็สบาย คนมีศีลบริสุทธิ์นี่ แม้แต่เสือมันก็ไม่กัด

หลวงตาสน อยู่เมืองอุบล เมื่อก่อนนี่ เดิมทีเดียวท่านเป็นนักเลงโต ขนาดจี้ปล้นชั้นเสือ ภายหลังมากลับอกกลับใจ นึกถึงบุญคุณโทษเพราะไปติดคุกอยู่ ๑๔ ปี พอออกจากตะรางไปยกมือไหว้ขอบริขารเขา บอกว่า "โอ๊ย พึ่งออกจากคุกมาเดี๋ยวนี้อยากจะบวชไม่มีบริขารจะบวช ขอบริขารไปบวชหน่อย" คนขายบริขารก็จัดให้ ถ้าไม่ให้ก็กลัวมันจะทำร้ายเอา พอได้แล้วแกก็ไปหาพระอุปัชณาย์ พระอุปัชณาย์ก็บวชให้ด้วยความจำใจเหมือนกัน พอบวชแล้วท่านก็ศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ พอมีความรู้ความเข้าใจพอสมควรแล้วไปธุดงค์อยู่ในดงบั๊กอี่ ดงบั๊กอี่มีอาณาเขตตั้งแต่อำเภออำนาจเจริญไปถึงอำเภอมุกดาหาร เมื่อก่อนทางรถยนต์ก็ไม่มี มีแต่ทางเดินเท้า มีคนเข้าไปสร้างกรงเอาไว้ เอาไม้เป็นท่อน ๆ ไปฝังเรียงกัน จนสัตว์ใหญ่ ๆ เข้าไม่ได้ ใครเดินทางมาจะต้องรีบเร่งมาให้ถึงที่ตรงนั้น มานอนอยู่ในกรงนั่น ไม่งั้นเสือมันเอาไปกินหมด

ทีนี้หลวงตาสนแกไป แกก็ไปนอนอยู่บนก้อนหิน กลดไม่กาง เดือนหงาย ๆ ตกกลางคืนเสือมันออกมาเป็นฝูง ท่านก็บอกว่า "เสือเอ๊ย ! มากินมันซะบักอันนี้มันเป็นโจรฆ่าผู้คนมามากแล้ว มากินซะให้มันหมดกรรมหมดเวรไปหน่อย" เสือมันก็ไม่กิน ท่านบอกว่า ธรรมดาเสือเมื่อมันเห็นคนเห็นสัตว์ มันจะหมอบทำท่าขู่ แต่นี่มันมาแล้วมันมานั่งเหมือนหมาเฝ้าบ้าน นั่งยอง ๆ เหมือนหมานั่งเฝ้าบ้าน บางตัวเดินไปหัวมันสูงกว่าหัวเรา เวลามันนั่งอยู่ ท่านเดินเข้าไปหามันจะเอามือไปตบหัวมัน มันก็กระโดดเข้าป่าไปแทนที่จะกัดท่านมันไม่กัด ท่านจึงมาพูดเล่น ๆ ตลก ๆ ว่า "เออ! ไอ้ของที่เราสละทิ้งแล้วเนี่ย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่เอาของทิ้งแล้ว"

เพราะฉะนั้น ศีลนี่เป็นหลักธรรมประกันความปลอดภัย ตัดเวรตัดกรรม ตัดผลเพิ่มของบาปกรรม ทอนกำลังกิเลส กิเลสแม้ว่ายังไม่หมด โลภ โกรธ หลง ยังมีอยู่ ผู้มีศีลจะใช้กิเลสให้มันถูกทาง พอจิตคิดจะทำผิดขึ้นมาพั๊บ! มันจะได้สติระลึกว่า สิ่งนี้ไม่ควรแก่เราแล้วมันจะหยุดทันที เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ต้องให้จิตมันเป็นเองโดยอัตโนมัติ อย่าไปแต่ง แต่ว่าให้มั่นคงในการฝึกสติ สติรู้ ๆ ๆ จิตมันจะระลึกในสิ่งใดให้มีสติอยู่กับสิ่งนั้นตลอดเวลา แล้วเราจะได้หลักปฏิบัติซึ่งไม่ขัดต่อการทำงาน

ในเมืองไทยเขาสอนกันว่า ผู้ภาวนาต้องสละกิจการงานหมดทุกสิ่งทุกอย่างภาวนานี่ทำได้แต่ในวัดอย่างเดียวเท่านั้น ไปสอนคนให้เข้าใจผิดหมดคนที่เรียนหนังสือสูง ๆ เรียนจบปริญญามา ทุกคนฝึกสมาธิมาแล้วทั้งนั้นแหละ ไม่มีสมาธิเรียนจบปริญญามาได้อย่างไร ? ไม่มีสมาธิทำงานใหญ่โตได้อย่างไร ? สมาธิเป็นหลักธรรมสาธารณะทั่วไปไม่สังกัดศาสนาและลัทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ไม่มีศาสนาก็ทำสมาธิได้แต่ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ว่าศีลเท่านั้นแหละ

ในศาสนาคริสต์เขาก็มีศีลของเขา ๑๐ ข้อ ในศาสนาพุทธมีศีลเบื้องต้น ๕ ข้อ ศีลข้อปาณาติบาตของศาสนาพุทธ ฆ่าคน ฆ่าสัตว์ บาปทั้งนั้น แต่ศาสนาคริสต์ฆ่าสัตว์เป็นอาหารไม่บาป เพราะพวกนี้มันเกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ เขาว่ายังงี้ อันนั้นเป็นความเข้าใจของเขา แต่แท้ที่จริงขึ้นชื่อว่าการฆ่า ไม่ว่าสัตว์ มนุษย์ บาปด้วยกันทั้งนั้น อย่างศาสนาคริสต์ว่า ล้างบาป ล้างบาปเราไปทำตำหนิเขาว่าบาปที่ทำแล้วจะล้างได้อย่างไร ? เราไม่เข้าใจในความหมายของเขา ล้างบาปนี่เหมือนกับพระแสดงอาบัติ เป็นการสารภาพบาป เมื่อเราได้ทำผิดอย่างนั้น ๆ ต่อไปนี้เราจะสำรวมไม่ทำอีกแล้ว มันผิดเพียงแค่นี้เองเราในฐานะคนต่างศาสนาก็ไปหาจุดด้อยของเขายกเป็นปัญหาขึ้นมาโจมตี อย่างของเขาก็หาจุดด้อยของเราเป็นจุดโจมตีอีกเหมือนกัน เขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เขาก็มาพูดว่าพระพุทธเจ้าของเราเป็นแต่เพียงอุบาสกผู้มาประกาศธรรมะเท่านั้นเอง มิใช่ผู้วิเศษอะไร และก็ไม่สามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้ในโลกนี้ เขาว่าอย่างนั้น มันก็ถูกอย่างที่เขาว่า เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยประกาศว่าท่านสร้างอะไร แต่ประกาศและยืนยันว่าเราสามารถรู้ความจริงของธรรมชาติและกฏของธรรมชาติ กายกับใจเป็นสภาวธรรม สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมเป็นสภาวธรรม สิ่งนี้คือธรรมชาติ ธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีกฎประจำกฎธรรมชาติ สิ่งที่ว่านี้ก็คือเกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว ภาษาทางแขกเรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถามเวลานั่งสมาธิน้ำลายไหลออกมาก ต้องกลืนเป็นระยะจะมีผลเสียหรือเป็นอุปสรรคต่อสมาธิหรือไม่ ? จะแก้ไขอย่างไร ? เวลานั่งสมาธินาน ๆ จะปวดเข่าและต้นขาได้ยินว่าถ้าทนไปเรื่อย ๆ จะหายเอง ?
ตอบธรรมชาติของร่างกายไม่มีทางแก้ไข และถ้าสติกำหนดตามรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในขณะที่นั่งสมาธิ เราถือเป็นอารมณ์จิต เราเอาสติตัวเดียวเป็นผู้กำหนดรู้ แล้วหนัก ๆ เข้าเราฝึกสมาธิจนคล่องตัวชำนิชำนาญ อาการทั้งหลายเหล่านี้จะหายไปเอง เวลานั่งสมาธินาน ๆ จะปวดเข่าและต้นขา เป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย เมื่อนั่งนาน ๆ ก็ย่อมเจ็บปวดทุกขเวทนาบังเกิดขึ้น บางทีก็เกิดชา ซึ่งเรียกว่า "เหน็บจับ" อันนี้เป็นธรรมชาติของร่างกาย นักปฏิบัติไม่ควรฝืน เมื่อรู้สึกว่าจะทนไม่ไหว พลิกหรือเปลี่ยนอิริยาบถนั่งพลิกไปข้างอื่นก็ได้ แต่ให้มีสติ ได้ยินว่า ถ้าทนไปเรื่อย ๆ จะหายเอง แต่ถ้าหากว่าทนไปแล้ว จิตเข้าสมาธิกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ก็ผ่านเวทนาดังที่กล่าวนี้ไปได้ ถ้าสังเกตตัวเองว่าพอจะทนได้แล้วจิตจะเข้าสมาธิก็ทน ถ้าทนไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ถ้าการอดทนนั้นอดทนไปสักพักหนึ่งแล้วจิตเข้าสมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิจริง ๆ แล้วจะทำให้กายเบา กายสงบ จิตสงบ ทุกขเวทนาก็หมดไปเอง แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่ได้นั่งกับพื้น เหมือนตัวลอยอยู่บนอากาศ หรือถ้ารู้สึกว่านั่งอยู่กับพื้นก็รู้สึกว่าตัวเองนี้เบาสบาย อันนี้ขอเตือนไว้หน่อยว่า อย่าไปทน ถ้าทนไปนาน ๆ แล้วเหน็บมันกิน บางทีเส้นประสาท ที่ถูกนั่งทับนั้นลมเดินไม่สะดวก ประเดี๋ยวจะกลายเป็นอันพาตไป

ถามการนั่งสมาธิรักษาโรคหัวใจได้หรือไม่ ?
ตอบถ้าทำสมาธิได้จริง ๆ ก็สามารถที่จะรักษาได้เป็นบางขณะหรือบางช่วง ถ้าโรคหัวใจไม่เป็นแรง ก็สามารถจะหายเพราะพลังของสมาธิได้ อันนี้ยืนยันเด็ดขาดไม่ได้ว่ามีสมาธิแล้วรักษาโรคหัวใจหาย โรคบางสิ่งบางอย่างอาจจะหายไปได้เพราะพลังสมาธิอันนี้หมายถึงว่าเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมเก่า เช่นโรคปวดศรีษะบางอย่าง ทำสมาธิก็หายได้ โรคกระเพาะลำไส้ เมื่อทำสมาธิจิตสงบละเอียดแล้วสามารถเอาลมละเอียดไปรักษาภายในกระเพาะและลำไส้ก็หายได้ ถ้าหากว่านักสมาธิทำจิตกำหนดรู้หัวใจ สามารถแต่งน้ำเลี้ยงหัวใจได้โดยถูกต้อง ตามลักษณะความเป็นอยู่ของหัวใจก็อาจจะหายได้ แต่ถ้าหากเป็นโรคกรรมโรคเวร ทำอย่างไรก็ไม่หาย

ถามผู้ที่ฝึกสมาธิแล้ว ใช้พลังสมาธิรักษาโรคให้หายได้อย่างไร ? และวิธีที่รักษาโรคด้วยกำลังของสมาธินั้นทำอย่างไร ?
ตอบอันนี้คนโบราณเขารักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยพลังของสมาธิ เช่น อย่างเด็กน้อยเป็นตาแดงก็ไปเป่า เขาสำรวมจิตท่องมนต์ของเขา อาศัยความเชื่อมั่นในมนต์นั้นแล้วก็เป่าลงไป เด็กเป็นโรคตาแดงหายได้ อันนี้ก็คือการรักษาโรคด้วยพลังจิต คนที่เป็นโรคภายในหรือกระดูกแตก กระดูกหักอะไรทำนองนี้ เสกเป่ามนต์ก็เป็นการรักษาโรคด้วยพลังจิต ผู้ที่ทำสมาธิจิตให้มีความสงบสว่าง ซึ่งอยู่ในระดับอุปจารสมาธิที่มั่นคง เมื่อทำสมาธิมีอุปจารที่มั่นคงแล้ว สามารถน้อมจิตไปดูโน่นดูนี่หรือน้อมจิตเพ่งเข้าไปในกายของคนไข้ ถ้าหากการน้อมสมาธิไม่ถอนทำสมาธิจิตสว่างลงไป ถ้าจิตสมาธิไม่ถอนเราน้อมเข้าไปดูในกายของคน คนหมายถึงคนไข้ ความสว่างของจิตจะวิ่งเข้าไปอยู่ในร่างกายของคนไข้ คนไข้เป็นโรคอะไรที่ไหน กระเพาะ ลำไส้ หัวใจ ปอดและตับ จะมองเห็นจุดที่มันเกิดเป็นโรค เช่น ปอดเป็นแผล ตับเป็นแผล อะไรทำนองนี้จะมองเห็น เมื่อมองเห็นแล้วเราจะช่วยรักษา เราจะทำอย่างไร ในเมื่อเพ่งมองเห็นแล้วน้อมจิตน้อมใจไปสู่จุดนั้น แผ่เมตตาให้คน คนนั้น อันนี้คือวิธีรักษาโรคด้วยพลังจิต สำหรับวิธีการนี้ไม่ต้องเอามือไปประสานกับใครก็ได้ ทีนี้การใช้พลังจิตซึ่งเกิดจากสมาธินี้ ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งเบ่งพลังจนเหงื่อแตก อาศัยสมาธิที่ทำกันอยู่ทุก ๆ วัน เขาจะสะสมพลังงานเอาไว้ ในเมื่อต้องการจะทำอะไร หรือมีเหตุอะไรจะเกิดขึ้น พลังงานอันนั้นจะแสดงตนออกมา เช่น อย่างบางทีเมื่อเราทำสมาธิอัปปนาสมาธิได้แทบทุกวัน ๆ เมื่อเราต้องการอยากจะให้กิ่งไม้มันหักอย่างดีก็ชี้มือแล้วก็บอกให้มันหักลงไปแล้วมันจะหัก ไม่ได้ไปกำหนดจิตเข้าสมาธิแล้วก็เพ่งไปหมายถึงสมาธิที่อบรมเป็นนิจ แล้วมันจะสะสมพลังงานไว้ที่จิต เวลาจะใช้สำรวมจิตนิดหน่อย ไม่ถึงกับเป็นสมาธิวูบวาบอะไร ลงไปเป็นสมาธิอ่อน ๆ ซึ่งเรียกว่าขณิกสมาธิ แล้วก็ปากพูดไปพูดเบา ๆ พอตัวเองได้ยิน บอกให้กิ่งไม้มันหักมันก็หัก บอกให้ต้นมะพร้าวมันโค่นล้มลง มันก็ล้ม บอกให้รถมันคว่ำ มันก็จะคว่ำ อันนี้วิธีการใช้พลังจิต ในตอนต้น ๆ ถ้าหากผู้ใช้พลังจิต ใช้หนัก ๆ เข้ามันก็แพ้ตัวเอง ถ้าบำเพ็ญสมาธิให้จิตมันสงบสม่ำเสมอเวลาที่จะใช้พลังจิตเป็นแต่เพียงใช้คำพูดว่าฉันจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคุณให้หาย แล้วก็อธิษฐานถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ จงส่งเสริมพลังจิตของข้าพเจ้าให้มีฤทธิ์ รักษาโรคภัยไข้เจ็บของคน คนนี้ให้หาย พอบ่อย ๆ แล้วคนไข้เขาจะเกิดเชื่อเพราะความแน่ใจของเราและความเชื่อของคนไข้ มันมาบวกกันเข้าเป็นพลัง ๒ สามารถที่จะช่วยให้โรคภัยไข้เจ็บหายได้
ถามการนั่งสมาธิ ถ้าใช้ขาซ้ายทับขาขวา มือซ้ายทับมือขวา จะมีผลอย่างไรหรือไม่ ?
ตอบถ้าทำจริงก็มีผล คือเกิดสมาธิ ได้บอกแล้วว่าสมาธิเป็นกิริยาของจิต เราจะทำสมาธิในท่านั่งแบบไหน อย่างไร ก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อเรามีการกำหนดรู้จิตหรือบริกรรมภาวนา กำหนดรู้อารมณ์จิต หรือกำหนดรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดเวลา ได้ชื่อว่าเราฝึกสมาธิหรือทำสมาธิจะนั่งทับซ้ายทับขวาอันนั้นมันเป็นวิธีการ วิธีการที่นิยม ๆ กันมา พวกลัทธิโยคีเขานั่งสมาธิเขาเอาศรีษะนั่ง เขาฝึกขัดสมาธิแล้วเอาศรีษะตั้งลง เอาทางก้นชี้ขึ้นฟ้า บางทีก็เหยียดยาวเขาก็ทำสมาธิเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะทับขวาทับซ้ายได้ทั้งนั้น แล้วแต่ถนัด แล้วแต่ความแน่ใจ ทำไปแล้วอย่าข้องใจสงสัยเป็นการใช้ได้


ถามเวลานั่งสมาธิแล้ว มีอาการคล้ายกับจะหลับหรือหลับ ?
ตอบพึงทำความเข้าใจว่า การทำสมาธิคือการนอนหลับ เมื่อเราภาวนาแล้วจิตมันเคลิ้ม ๆ ลงไป บางทีใจลอย ๆ นั่นคืออาการที่มันจะเกิดความหลับ เมื่อมันวูบ วูบ ลงไป อาการหลับวูบลงไปเป็นอาการที่จิตก้าวเข้าสู่ภวังค์ เมื่อจิตถึงที่สุดของภวังค์แล้ว จิตหยุดนิ่ง ถ้าพลังสมาธิยังไม่เพียงพอก็นอนหลับอย่างธรรมดาแต่ถ้าพลังของสมาธิเพียงพอสติพร้อมจิตวูบลงไปนิ่งปั๊บ สว่างโพลงขึ้นมา กลายเป็นสมาธิ [B]ถามฝันว่าญาติกำลังเก็บของส่งวัด หลังจากงานทั้ง ๆ ที่เวลานอนหลับไม่ค่อยจะฝัน ? ตอบอันนี้ ในลักษณะอย่างนี้ถ้าหากว่าเกิดในขณะที่เรานั่งสมาธิพอจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไปแล้วก็อยู่ในลักษณะครึ่งหลับ ครึ่งตื่น สะลึมสะลือ จิตสว่างเรื่อ ๆ เมื่อจิตส่งกระแสออกไปข้างนอกย่อมเกิดมีนิมิตต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วแต่จะปรุงแต่งขึ้นมา บางที่เห็นคน เห็นสัตว์ บางทีฝันไปว่าได้ทำงาน อันนี้มันเกิดจากสมาธิอ่อน ๆ ฝันก็คือนิมิต นิมิตก็คือฝัน แต่ถ้านอนหลับแล้วฝันไป เรียกว่าฝัน นั่งอยู่เกิดสมาธิอ่อน ๆ เห็นโน่นเห็นนี่ เรียกว่านิมิต อันเดียวกัน


ถามเวลายืนสมาธิ ยืนไปสักพักความรู้สึกเอียง หงายไป ?
ตอบเป็นเรื่องของธรรมดา ถ้าเรายืนหลับตา ไม่ได้ยืนสมาธิ ถ้าเราหลับตาแล้วเราจะรู้สึกว่าร่างกายมันเอียงหรือบางทีอาจจะล้มทั้งยืนก็ได้ ถ้าจะยืนกำหนดจิตแล้วมีอาการอย่างนั้นก็อย่าไปหลับตา หากจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะหลับ ถ้าเราเผลอไปไม่ได้ตั้งใจที่จะประคองตัวให้อยู่ในสภาพเดิมแล้ว ร่างกายมันก็โงนเงนไป อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดา ถ้ามีอาการอย่างนั้นก็เป็นธรรมดาที่จิตจะถอนจากสมาธิ เป็นเพราะเหตุ ? เป็นเพราะจิตกำลังจะปล่อยวางอารมณ์แล้วเข้าไปสู่ความสงบ เมื่อมีอาการปล่อยวางอารมณ์แล้วก็ปล่อยความรู้สึกที่จะพยุงกายให้ยืนอยู่อย่างเดิมได้ แล้วก็มีอาการเอนเอียงไปเหมือน ๆ จะล้มลงไป อันนี้เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา การฝึกจิตกำหนดทำสมาธิจิตในท่ายืน อาจจะยังไม่คล่องตัวชำนิชำนาญเช่นเดียวกันกับเวลานั่ง ผู้ที่นั่งยังไม่ชำนิชำนาญ เวลาจิตสงบลงไป หรือเกิดมีอาการเคลิ้ม ๆ ร่างกายโน้มลงไปเหมือนง่วงนอน อันนั้นเป็นเรื่องของธรรมดา


ถามอยากให้หลวงพ่อเล่าวิธีการรักษาวัณโรคด้วยการปฏิบัติ ?
ตอบการปฏิบัตินี่แม้ว่าเราจะมีความตั้งใจจะรักษาโรค หรือไม่รักษาโรคก็ตาม แต่เมื่อมีการปฏิบัติจิต มีสมาธิ มีสติปัญญา มีความสงบสว่าง รู้ตื่น เบิกบาน มันก็กลายเป็นยารักษาโรคจิต ทำให้จิตมีความเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ทำให้จิตมีพลังงานด้วยอำนาจ แห่งความสว่างไสวของจิตถ้าจิตดวงนี้วิ่งเข้ามาอยู่ภายในกายมาสว่างไสว อยู่ในท่ามกลางของกายสามารถที่จะแผ่กระแสแห่งความสว่างไสวไปทั่วหมดทั้งกาย ความเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือความติดขัดในประสาทส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นท่อทางเดินของลมและโลหิตพลังจิตอันนี้จะไปช่วยหมุนให้กระแสความหมุนเวียนของโลหิตและลมเดินได้คล่องตัวเพราะว่าลม ละเอียดสามารถที่จะปรุงกายให้เบา ลมละเอียดสามารถที่จะปรุงโลหิตให้เดินไปอย่างคล่องตัวโดยไม่มีอุปสรรคอันใดติดขัด ถ้าผู้ที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างเช่น อย่างวัณโรค เป็นต้น

เมื่อทำได้บ่อย ๆ จิตสงบสว่างบ่อย ๆ แม้ว่าจิตจะยังไม่วิ่งเข้ามาสว่างรู้อยู่ภายในตัวก็ตาม พลังของจิตนั้นจะช่วยบรรเทาอาการของโรคให้เบาลงหรือหายขาด ถ้าหากว่าผู้ที่สามารถที่จะจิตให้สงบนิ่ง สว่างสามารถส่งกระแสจิตเข้าไปตรวจโรคในร่างกายคนได้ ในเมื่อรู้แล้วจะช่วยเขารักษา ก็แผ่เมตตาเพ่งไปที่จุดที่เรามองเห็น แล้วก็แผ่เมตตาให้ ทำบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งแล้วไข้อาจจะหายไป

สำหรับของหลวงพ่อเอง เข้าใจว่าผู้ถามอยากจะรู้ความเป็นมาของหลวงพ่อมากกว่า ของหลวงพ่อนี่จะว่าตั้งใจทำสมาธิเพื่อรักษาโรคก็ถูก หรือไม่ตั้งใจก็ถูก เพราะในขณะปฏิบัติอยู่นั้นก็อยากให้โรคหาย อยู่มาวันหนึ่งมีความคิดเกิดขึ้นว่า ก่อนที่เราจะตายควรจะได้รู้ว่าความตายคืออะไร วันนั้นก็ตั้งใจนั่งสมาธิตั้งแต่ ๓ ทุ่ม จนกระทั่งถึงตี ๓ ในช่วงที่นั่งสมาธิอยู่นั้นจิตสงบเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่สงบ แล้วก็มีความเดือดร้อนทนทุกขเวทนา แต่ก็อดทนเอาเพราะอยากรู้อยากเห็น ทนไปได้ถึงตี ๓ จาก ๓ ทุ่มทนไปได้ถึงตี ๓ พอถึงตี ๓ แล้วเวทนาความเมื่อย ทั้งเมื่อยทั้งหิวตามประสาของคนไข้ ทีนี้จิตมันก็คิดขึ้นมาว่าวันนี้ไม่สำเร็จเราควรจะพักผ่อน พอคิดว่าเราจะพักผ่อน พอตั้งใจจะหยุดนั่งสมาธิเท่านั้น เจ้าจิตภายในมันก็บอกว่า "คนทั้งหลายเขานอนตายกันทั้งโลก ท่านจะมานั่งตาย มันจะตายได้อย่างไร ?"

พอความรู้มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก็เลยมานึกเสริมเอาว่า ถ้างั้นก็นอนตายซิ แล้วก็นอนลงทั้ง ๆ ยังขัดสมาธิอยู่ พอนอนลงไปแล้วมันก็ทอดอาลัยตายอยาก กำหนดรู้แต่ลมหายใจเพียงอย่างเดียว พอปรากฏว่าลมหายใจมันค่อยละเอียด ๆ ๆ เข้า ความสว่างของจิตก็บังเกิดขึ้น ในตอนแรก ๆ มันก็มีความสว่างแผ่ซ่านไปรอบตัว เมื่อหนัก ๆ เข้ามันก็รวมจุดอยู่ที่กลางตัวระหว่างราวนมทั้งสองข้าง ตรงที่เรานึกว่ามีหัวใจ ภายหลังความสว่างอันเป็นดวงนั้นมันก็วิ่งขึ้นวิ่งลงตามระยะจังหวะของการหายใจ ในที่สุดเวลาของการหายใจออก ดวงอันนั้นมันก็วิ่งออกมาตามลมหายใจ แล้วก็ลอยขึ้นไปเบื้องบนแล้วก็ลอยย้อนกลับไปกลับมา ๆ อยู่ ในที่สุดมันก็ตัดขาดจากกายแล้วก็ลอยไปแต่ดวงสว่างอันเดียวเท่านั้น ในขณะนั้น ร่างกายตนหายไปหมด คล้าย ๆ กับจิตดวงนี้ไปลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง โลกคือผืนแผ่นดินก็หายไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปหมด ยังเหลือแต่อากาศคือความว่าง พอจิตดวงนี้มันเกิดรวมมาสู่วิญญาณคือตัวรู้แล้วมันก็รวมพลังขึ้นมาเกิดความสว่างใหญ่โตมโหฬารแล้วโลกก็ปรากฏขึ้น ผืนแผ่นดินก็ปรากฏขึ้นในช่วงนั้น คล้าย ๆ กับว่าความสว่างแห่งดวงจิตนั้นมันแผ่คลุมโลกไปทั้งหมด

มันสามารถที่จะมองเห็นต้นไม้ ภูเขาเลากาเห็นบ้านเห็นเมือง เห็นผู้เห็นคน เห็นจนกระทั่ง ภูติผีปีศาจ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ในขณะที่มองเห็นอยู่นั้น จิตมันก็อยู่เฉย ๆ มันไม่บอกว่าอะไรเป็นอะไร แล้วภายหลังมันก็ละทิ้งการรู้การเห็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างหายไป ยังเหลือแต่แผ่นดิน แล้วก็ปรากฏว่าร่างกายมานอนอยู่ภายใต้ความสว่าง เมื่อเป็นเช่นนั้นร่างกายมันก็ขึ้นอืด ตอนแรกมองเห็นสบงจีวรห่มคลุมอยู่ ในระยะที่ ๒ ร่างกายเปลือยเปล่า ไม่มีอะไรปกปิด ในระยะที่ ๓ ปรากฏว่าขึ้นอืด ระยะที่ ๔ มีน้ำเหลืองไหล ระยะที่ ๕ กระดูกผุพังสลายตัวไปหมด ระยะที่ ๖ มองเห็นแต่โครงกระดูก ระยะที่ ๗ โครงกระดูกก็ทรุดฮวบลงไปแหลกละเอียด แล้วก็หายสาบสูญไปในผืนแผ่นดิน อีกสักพักหนึ่งก็โผล่ขึ้นมาเป็นผงแล้วก็เกาะกันเป็นก้อน เป็นท่อนเล็ก ท่อนน้อย แล้วก็ประสานตัวเป็นชิ้นกระดูกโดยสมบูรณ์ แล้วก็มาสร้างเป็นโครงสร้างขึ้นมา ศรีษะกระโดดมา กระดูกคอ กระดูกสันหลังกระโดดต่อกันตามตำแหน่งของตัวเอง กระดูกส่วนอื่น ๆ ก็กระโดดเข้ามาประจำตำแหน่งของตัวเองกลายเป็นโครงสร้างเป็นโครงกระดูกอีกตามเดิมแล้วเนื้อหนังก็ค่อยงอกขึ้นมาจนสมบูรณ์เต็มที่แล้วก็สลายตัวเน่าเปื่อยผุพังต่อไปอีกกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นไม่ทราบว่ามันเป็นกันอยู่กี่ครั้ง กี่หน บางครั้งก็มองเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ปรากฏขึ้น เสร็จแล้วจิตมันก็ได้แต่มองดูอยู่เฉย ๆ คล้าย ๆ กับว่ามันไม่ร้อนใจอะไร มันเฉย ๆ อยู่ สักแต่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่มีอยู่เป็นอยู่ แต่วาระสุดท้ายเมื่อมันจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา หลังจากที่มันมาประสานกันเป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้ว เจ้าตัวจิตวิญญาณที่ลอยอยู่นั่นมันไหวตัวนิดหนึ่ง แล้วก็ทรุดฮวบลงมาปะทะกับหน้าอกแผ่ว ๆ หลังจากนั้นความสว่างของดวงจิตนั้นมันก็หายไป ร่างกายก็ค่อยรู้สึกตัวขึ้นมาที
ละน้อย ๆ เวลามันรู้สึกตัวขึ้นมานั้น มันก็มีอาการคล้าย ๆ กับว่ามีอะไรวิ่งซู่ซ่าไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วค่อยรู้สึกตัวขึ้น

จนกระทั่งรู้สึกว่าความรู้สึกมันเป็นปกติ ทีนี้มากำหนดดูตอนนี้ร่างกายปรากฏขึ้นมาแล้ว ความตั้งใจที่จะกำหนดอะไรมันเกิดขึ้นมา พอมันรู้สึกตัวอย่างเต็มที่เจ้าจิตนี่มันก็เทศน์ให้กับตัวเองฟังฉอด ๆ "นี่หรือคือการตาย" คำตอบก็บอกว่า "ใช่แล้ว" ตายแล้วมันต้องเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป มันเกิดเน่าเปื่อยแล้วก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เมื่อมันสลายตัวไปก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไหนเล่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน มันก็บอกให้รู้อย่างนี้ พอมันจบกลอนเทศน์ของมันแล้ว จิตก็มานิ่งว่างอยู่เฉย ๆ ความคิดมันเกิดสงสัยขึ้นมาว่า เราตายจริงหรือเปล่า แล้วก็ยก ๒ มือขึ้นมาคลำดูหน้าอก "อ้อ ยังไม่ตาย" แล้วก็ลืมตาดูนาฬิกา ๒ โมงเช้า พอลืมตาขึ้นมาดูก็มองเห็นโยมอุปัฎฐากมาทำอะไรก๊อกแก๊ก ๆ อยู่ที่นั่น พอเขาเห็นลุกออกมาจากที่นอน เขาก็ทักว่า "เข้าใจว่าไปซะแล้ว!" "กำลังจะไปปลุกอยู่เหมือนกัน ถ้า ๒ โมงไม่ตื่นละก้อ ทนไม่ไหวแน่ ต้องไปดึงขาแน่! " ทีนี้หลังจากนั้น ความเจ็บป่วยก็ค่อยเบาขึ้น ๆ แล้วก็สบายเรื่อย ๆ มา เลือดที่ออกอยู่มันก็หยุดไป แล้วก็หายไปจนกระทั่งบัดนี้ โรคอันนี้ไม่เคยกำเริบอีกซักที จะว่าสมาธิรักษาวัณโรคก็ถูก หรือวัณโรครักษาสมาธิก็ถูก

ถามการรักษาโรคด้วยกำลังกายแบบจีน เหมือนกับการรักษาโรคด้วยพลังจากสมาธิหรือเปล่า!
ตอบการรักษาโรคด้วยพลังกายนี้ หมายถึงการออกกำลังกายให้ถูกสัดส่วน เป็นสิ่งจำเป็น อันนี้ยืนยันได้ เพราะว่าการออกกำลังกายนี้ สามารถทำให้โรคบางอย่างหาย เช่น อย่างโรคเหน็บชาให้หายได้ การออกกำลังกายหรือการบริหารกายให้สม่ำเสมอ สามารถที่จะรักษาโรคให้หายได้ อันนี้โลกเขายอมรับ หมอทั้งหลายนี้เมื่อรักษาคนไข้เขาก็แนะนำให้ออกกำลังกายแต่ว่าทางใจนี่ วงการแพทย์เขายังไม่ยอมรับ การฝึกออกกำลังกาย เช่น อย่างเราฝึกกีฬาอะไรต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง เช่นกระโดดบนท่อนไม้ ตีลังกาบนท่อนไม้ หรืออะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องพลังของสมาธินั้น สิ่งใดที่ตั้งใจฝึกด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความมีสติ อันนั้นคือการฝึกสมาธิ


ถามกรุณาอธิบายคำว่า"กำหนดจิต" ?
ตอบการกำหนดจิต คือการตั้งใจรู้ หมายถึงการตั้งใจรู้ความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกอยู่ที่ตรงไหน จิตอยู่ที่ตรงนั่นเรียกว่าการกำหนดจิต ทีนี้การทำสติก็คือ การตั้งใจกำหนดรู้จุดที่มีความรู้สึกอยู่ที่ตรงนั้น ส่วนใหญ่ความรู้สึกของเราจะปรากฏที่ลมหายใจ เมื่อความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจก็กำหนดที่ลมหายใจ ก็เรียกว่าการกำหนดจิตไว้ที่ตรงนั้น จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ ถ้าหากสมมติว่าเราตั้งใจว่าจะเดินไปที่ตรงนี้ ก้าวที่ ๑ ก็รู้ ก้าวที่ ๒ ก็รู้ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็รู้ อันนี้เรียกว่ากำหนดจิตตามรู้ การเดินเรานั่งอยู่ที่ตรงนี้ เราตั้งใจจะกำหนดรู้ รู้เรื่องกายของเราว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรหรือไม่ เช่น เวทนา เป็นต้น เราตั้งใจจะกำหนดรู้ รู้เรื่องกายของเราว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรหรือไม่ เช่น เวทนา เป็นต้น การตั้งใจกำหนดรู้เวทนา ก็เรียกว่าการกำหนดจิต การกำหนดรู้ความคิด ก็เรียกว่าการกำหนดจิต การพิจารณาธรรมหรือตั้งใจคิดอะไรต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ ได้ชื่อว่าเป็นการกำหนดจิตทั้งนั้น เพราะเราอาศัยจิตเป็นตัวรู้


ถามควรตั้งจุดมุ่งหมายไว้อย่างไรในใจ ? เมื่อทำสมาธิในขั้นต้นต้องให้รู้เห็นอะไรหรือไม่ ?
ตอบการทำสมาธิไม่ต้องไปตั้งจุดมุ่งหมาย เพื่ออะไรทั้งนั้น แต่เราจำเป็นจะต้องกำหนดตั้งใจบริกรรมภาวนาเรื่อยไป ถ้าอย่างสมมุติว่าภาวนาพุทโธ ๆ หรือภาวนาเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เป็นต้น ในขณะที่เรากำหนดภาวนาอยู่นั้น หน้าที่ของเรามีเพียงแต่ท่อง

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ,
ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา

ท่องด้วยความรู้สึกเบา ๆ อย่าไปข่มจิต อย่าไปบังคับจิต เรื่องความคิดว่าเมื่อไรสมาธิจะเกิดเมื่อไรจะรู้จะเห็น ไม่ต้องไปคิด หน้าที่ของเรามีแต่ท่องบริกรรมภาวนาอย่างเดียว ทำเหมือนท่องเล่น ๆ ท่องเล่น ๆ โดยไม่ต้องการผลตอบแทนใด ๆ อันนี้เป็นการทำสมาธิด้วยการบริกรรมภาวนา การทำสมาธิในขั้นต้น ต้องการให้รู้เห็นอะไรหรือไม่ ? ตามแบบอานาปานสติ เราไม่ต้องการให้รู้ให้เห็นอะไรทั้งนั้น แต่เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิลงแล้วจิตจะเกิดความรู้ความเห็นเอง ทีนี้ยังแถมว่าเพราะได้ยินมาว่าฝึกแบบกสิณต้องให้เห็นนิมิตที่กำหนด อันนี้ถูกต้องการเพ่งจนกระทั่งตามองเห็นเทียนแล้วก็เข้าไปอยู่ที่ใจ ความสว่างไสวก็ไปอยู่ที่ใจ หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น วิธีการเพ่งกสิณเป็นแบบนั้น

อย่างบางสำนักเวลาท่านสอนลูกศิษย์ ท่านให้เอาดวงแก้วมาวางไว้ที่ตรงหน้าแล้วก็บอกให้ลูกศิษย์เพ่งสายตาไปที่ดวงแก้ว แล้วก็บริกรรมภาวนาสัมมาอะระหังจนกระทั่งจิตสงบไปจดจ่ออยู่ที่ดวงแก้วแล้วถ้าเกิดนิมิตเป็น ดวงแก้วขึ้นมาให้น้อมเอาดวงแก้วมาไว้ที่กลางตัว เมื่อสามารถเอาดวงแก้วมาไว้ที่กลางตัวได้ก็กำหนดดูดวงแก้วให้ใสสะอาดจนไม่มีอะไรเปรียบเทียบท่านก็ได้ชื่อว่าได้ดวงธรรมคือธรรมกาย

การเพ่งกสิณนี้ ผู้เพ่งกสิณก็เพื่อสร้างนิมิตให้เกิดขึ้นที่จิต เมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้วหลับตาเห็น ลืมตาก็เห็น แต่ว่าท่านผู้ใดจะเพ่งกสิณ ไม่ควรเพ่งให้เกิน ๒ นาที เพื่อนของหลวงพ่อเมื่อก่อนนี้ชื่อมหาสม ทำสมาธิภาวนาแล้วท่านเล่นกสิณ ตอนแรกก็เพ่งเทียนดวงเล็ก ๆ ครั้นต่อมาก็เพ่งตะเกียงเจ้าพายุ ต่อมาก็นั่งเพ่งดวงอาทิตย์มันซะเลย พอตื่นเช้ามา ตอนแรกก็เพ่งดวงอาทิตย์อ่อน ๆ พอสายหน่อยแกก็หยุด พอตอนค่ำ แสงแดดมันอ่อน ๆ แกก็นั่งเพ่งดวงอาทิตย์ ทีนี้หนัก ๆ เข้าในเมื่อได้กสิณคือได้อุคหนิมิตแล้ว พระอาทิตย์มันก็มาติดตา ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็น จิตมันก็ไปติดอยู่ที่ดวงนิมิตอันนั้น พอตื่นเช้ามาพอเห็นพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาแดง ๆ ท่านก็เดินเข้าไปหาดวงอาทิตย์ เดินไม่หยุด พอพระอาทิตย์ขึ้นตรงศรีษะ ก็ยืนแหงนหน้าดูพระอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงไปก็เดินตามพระอาทิตย์ไป เมื่อพระอาทิตย์ลับสายตาเมื่อไร ก็ล้มลงนอนที่ตรงนั้น ตื่นเช้ามาก็เพ่งดวงอาทิตย์ เดินตามดวงอาทิตย์อีก เดินอยู่อย่างนั้น ข้าวน้ำไม่ฉัน ลงผลสุดท้ายหมดแรงตาย อันนี้เรียกว่าไปหลงกสิณ จิตมันไปติดกสิณเพราะเพ่งมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะหัดเพ่งกสิณ อย่าไปเพ่งให้มาก การเพ่งกสิณนี้เพื่อประโยชน์ให้เกิดอิทธิฤทธิ์เกิดพลังใจ ถ้าใครปฏิบัติได้ก็ดี แต่ว่ามันเสี่ยง เสี่ยงต่ออันตราย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเพ่งกสิณให้หลับตาเพ่งผมขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ในกายของเรานี้ก็ดี กว่าไม่อันตราย

ถามเมื่อตอนที่เรียน เคยกล่าวล่วงเกินพระอริยสงฆ์องค์หนึ่งท่านมรณภาพไปแล้วด้วยความคะนองปาก ปัจจุบันเวลานั่งสมาธิจะขออโหสิกรรมจากท่านทุกครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีบาปกรรมถึงขนาดไม่มีโอกาสมองเห็นธรรมหรือไม่ ?
ตอบอันนี้ไม่เป็นอุปสรรคขนาดนั้น วิธีการขอขมาโทษ ขอขมาโทษลับหลังก็ได้ ต่อหน้าก็ได้ บางทีถ้าเราสำนึกถึงโทษ เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วก็เขียนชื่อท่านแล้วก็ขอขมาโทษท่าน ถ้ามีรูปท่านก็ขอขมาต่อรูปท่าน ก็ถือว่าเป็นการหมดบาปหมดกรรม ถ้าท่านเป็นอริยสงฆ์จริง ๆ ท่านก็ไม่ผูกกรรมทำเวรกับใคร

ถามขณะที่เรารักษาศีล แต่ไม่สามารถทำได้โดยการไม่เจตนาจะผิดศีลหรือไม่ ? เราควรทำอย่างไรดี ?
ตอบสิ่งที่เราทำแล้วขึ้นชื่อว่าผิดศีล ต้องพร้อมด้วยเจตนาคือ ความตั้งใจโดยสมบูรณ์ เช่น อย่างศีลข้อปาณาติบาตประกอบด้วยองค์ ๕ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒.รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. เจตนา คือความตั้งใจฆ่า ๔. ความพยายามฆ่า ๕.สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ศีลจึงจะขาด ทีนี้เราควรทำอย่างไร ? ถ้าเราสงสัยข้องใจว่าศีลเราจะขาด ก็ตั้งใจสมาทานเอาด้วยตนเอง โดยตั้งใจว่าเราจะสำรวมต่อไป ไม่ละเมิดศีลอีก

ถามมโนมยิทธิ คืออะไรครับ ?
ตอบมโนมยิทธิก็คือการฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิอย่างที่เราฝึกอยู่นี่ ก็คือการฝึกมโนมยิทธิ แต่มโนมยิทธิเขามีวิธีการถ้าใครท่อง นะ มะ พะ ธะ แล้วตัวมันสั่น ๆ นั่นคือมโนมยิทธิ ที่พวกปลุกพระนั้น เมื่อปลุกพระแล้วตัวสั่นขึ้นมานี่ไม่ให้เห็นนรก ไม่ให้เห็นสวรรค์ เพราะไม่มีผู้นำคือไม่มีผู้บอก มโนมยิทธินี่ใครคนหนึ่งมาภาวนา นะ มะ พะ ธะ พอรู้สึกว่า สั่น ๆ ขึ้นนี่ เขาก็สังเกตุรู้แล้วว่า จิตกำลังเริ่มสงบสว่าง มีปิติเกิดขึ้นในช่วงนั้นเขาจะกรอกคำพูดคือคำสั่งเข้าไป เขาจะบอกว่า " ทำตาให้สว่างมองไปไกล ๆ แล้วจะเห็นโน่นเห็นนี่ " แล้วเขาจะบอก ทีนี้พอบอกไปแล้ว ในขณะนั้นจิตของผู้ภาวนามันจะสะลึมสะลือครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ลอยเคว้งคว้างอยู่ในเมื่อได้ยินคำสั่งแล้วจิตมันจะยึดคำพูดทันที พอจิตมายึดคำพูด ต่อไปผู้กำกับการแสดงสั่งไปอย่างไร จิตดวงนี้จะปฏิบัติตาม บอกว่าให้ไปข้างหน้าไปดูนรก หรือไปดูสวรรค์ แล้วผู้ภานาจะรู้สึกว่าเขามีกายเดินออกไปจากร่างของเขา แม้ว่าร่างนี้จะสั่นอยู่อย่างนี้ แต่ความรู้สึกในทางจิตของเขาเหมือนกับเขาเดินเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ไปดูนรกก็รู้สึกว่าไปเดินอยู่ที่ขอบปากหม้อนรกโน่นแหละ ไปดูสวรรค์ไปย่ำอยู่ที่ปราสาทวิมานของเทวดา ความรู้สึกของเขาจะเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นแบบฝึกสมาธิกับการสะกดจิต อย่างเรา ๆ นั่งสมาธิกันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าภาวนาพุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น แล้วก็มีผู้คอยกล่าวนำ ให้ทำจิตให้สงบ ให้ทำจิตให้สว่าง กล่อมกันอยู่อย่างนี้ ในเมื่อจิตสงบสว่างแล้วจะเห็นโน่นเห็นนี่ แล้วกระแสจิตส่งออกไปข้างนอกจะเกิดภาพนิมิตขึ้นมาทันที ต่อไปถ้าหากสมมติว่าผู้ภาวนามีอาการสั่น ปิติกำลังเกิด ยิ่งสั่งให้ไปที่ไหนก็ไปได้ ไปดูอะไรที่ไหนได้ทั้งนั้น อันนี้คือมโนมยิทธิ มโนมยิทธิกับการฝึกสมาธิอย่างเดียวกัน อย่าว่าแต่มโนมยิทธิกับสมาธิก็ฝึกอย่างเดียวกัน แม้แต่พิธิเชิญวิญญาณเข้าประทับทรง ก็ฝึกอย่างเดียวกัน ผู้ที่เชิญวิญญาณเข้ามาทรง อย่างสมมติว่าจะทรงวิญญาณพระศิวะ เขาก็ให้นึกในใจว่า ศิวะ ๆ ๆ จนจิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วก็มีปิติ มีความสุขสบายเหมือนกัน กับเราทำสมาธิธรรมดา ๆ เพราะความคิดและความตั้งใจจะเชิญวิญญาณมาประทับทรง จิตมันก็ส่งกระแสออกไปข้างนอก หลังจากที่เกิดความสงบแล้วก็มองหาตัววิญญาณประเดี๋ยวร่างของวิญญาณที่เราเรียกหานั้นจะปรากฏรูปร่างมายืนอยู่ต่อหน้า แล้วผู้ทำพิธีการเชิญนั้นก็จะน้อมจิตน้อมใจให้วิญญาณเข้ามาประทับทรง เมื่อวิญญาณเข้ามาถึงตัว นิมิตที่มองเห็นด้วยตาหายไป แต่ความรู้สึกภายในตัวจะมีความรู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบหน่วงไปทั้งตัว ปิติและความสุขซึ่งมีอยู่ก่อนนี้หายไปหมดสิ้น ความรู้สึกอันเป็นส่วนตัวนั้นก็หายไป จิตตกอยู่ในอำนาจของวิญญาณที่มาประทับทรงต่อไปนั้นแล้วแต่วิญญาณจะพาไป ให้สมาธิเหมือนกันหมด


ถามที่มองเห็นเป็นพระศิวะนั้น จะใช่วิญญาณของพระศิวะจริง ๆ หรือไม่ ?
ตอบมันเป็นจิตสำนึกของผู้ทำพิธีเชิญ ถ้าหากว่าอยู่ ๆ แล้ววิญญาณก็เข้ามาประทับทรงอันนั้นเรียกว่าผีสิง ผีสิงกับผีทรงนี้มันต่างกันถ้าหากไม่มีพิธีอัญเชิญแล้วมีวิญญาณมาทรงอันนั้นเขาเรียกว่าผีสิง แต่ทำพิธีอันเชิญเขาเรียกว่าเชิญวิญญาณ เชิญวิญญาณที่เข้ามาทรงส่วนใหญ่มันจะไม่เป็นความจริง แต่วิญญาณที่จะเข้ามาทรงนั่นมีจริง ๆ แต่ไม่ใช่วิญญาณของผู้นั้นมาทรง ยกตัวอย่าง เช่น มีพระองค์หนึ่งไปเห็นนายสิบตำรวจ ทำพิธีเชิญวิญญาณหลวงพ่อพระชัยมงคล จ. สมุทรปราการ ก่อนนี้เคยไปดูไปเห็นเขาทำพิธีทรงแล้ว เขาเกิดลาภผลขึ้นมา มีคนไปหาเขาไม่ขาด วันหนึ่งหลายร้อยทีเดียว พระองค์นี้ไปเห็นแล้วไปเลียนแบบเขาเอาเณรองค์หนึ่งมาทำพิธีเชิญวิญญาณท่านพ่อลีเข้ามาทรงแล้วก็เชิญแสดงธรรมอะไรต่ออะไร เพื่อโปรดญาติโยมทั้งหลาย เล่นเอาครูบาอาจารย์หรือญาติโยมเชื่อกันเป็นแถบ ๆ ไปเลย พอเสร็จแล้วหนัก ๆ เข้าก็รู้สึกว่าสุภาพดี แต่ภายหลังเมื่อวิญญาณนี้แก่เข้า ก็แสดงอาการเหมือน ๆ กับว่าไม่ใช่พระ เคี้ยวหมากก็เคี้ยว ๆ ๆ เข้าไปสูบบุหรี่ก็คีบบุหรี่ทุกง่ามมือ ทำ ๆ เหมือนอาการของผียังงั้น ภายหลังมาหลวงพ่อลองถามท่านอาจารย์ฝั้นดู "เป็นวิญญาณของท่านพ่อลีมาทรงจริง ๆ หรือ ถ้าหากวิญญาณท่านพ่อลีมาทรงจริง ๆ ผมจะหยุดภาวนาไปตายแล้วไปเกิดเป็นผี ผมไม่เอาแล้ว ผมไม่เล่นด้วย" ท่านอาจารย์ฝั้นก็บอกว่า "อื้อ! มันจะแม่นอีหยังหนอวิธีการหากินเขามันไปเลียนแบบเขามา ท่านลีจะมาทรงมาเทริงอะไร มันเป็นวิธีการหากินของเขาเท่านั้น" นี่ท่านอาจารย์ฝั้นท่านว่าอย่างนี้


ถามปฏิบัติสมาธิด้วยการนับเม็ดมะขามและลูกประคำ จะทำให้เกิดสมาธิเร็วขึ้นหรือไม่ ? เพราะถ้ากำหนดจิตอยู่กับลมหายใจก็ยาก
ตอบการภาวนากำหนดนับลูกประคำ ก็เป็นอุบายวิธีหนึ่งที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ ถ้าใครพอใจก็ทำได้ไม่ผิด ! สมมติว่าเราจะสวดพุทธคุณ ๑๐๘ จบหนึ่งเราก็เลื่อนไปหนึ่ง
เราตั้งใจสวด สวดเมื่อฝึกจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญสมาธิมันจะเกิดขึ้นในระหว่างได้ เช่น อย่างเวลาเราสวดมนต์ เราตั้งใจสวด กำหนดจิตให้มันชัด ๆ ในบทสวด อย่าสักแต่ว่ารีบสวด ๆ ให้มันจบ สวดไปตัวหนึ่ง อิ ติ ปิ โส ภะคะว่า อะ ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ กำหนดให้มันชัด ๆ แล้วบางทีสวดไปสมาธิมันจะเกิดขึ้นในขณะที่กำลังสวดมนต์ คือจิตมันจะหยุดสวดมนต์แล้วนิ่ง มันทำได้ทั้งนั้นแหละ เป็นอุบายวิธี อย่างภาวนาพุทโธ ๆ ๆ นับลูกประคำไปด้วยก็ได้อันนั้นมันเป็นอุบาย บางท่านท่องบริกรรมภาวนาแทบเป็น แทบตาย จิตมันไม่สงบบางทีอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะภาวนาจิตสงบเป็นสมาธิได้ก็มีถมไป
เพราะฉะนั้น การภาวนาคือการทำจิตให้มีสิ่งรู้ทำสติให้มีสิ่งระลึกการนับลูกประคำท่องบทสวดมนต์ไปพร้อม ก็ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึกเป็นอุบายวิธีทำสมาธิเหมือนกัน นอกจากนั้นเราทำอะไร ๆ ก็ตาม เช่น อย่างเคยสังเกตไหม สมัยที่เรียนปริญญา ทำวิทยานิพนธ์ คิดไปเขียนไป ๆ พอจิตมันเกิดแน่วแน่ขึ้นมา ความคิดมันจะไหลออกมาปุ๊ด ๆ ๆ เขียนไม่ทัน นั่นแหละ คือจิตมันมีสมาธิแล้ว มันมีพลังงานให้เกิดความรู้ นักพูดนักปาฐกถาทั้งหลายพอไปยืนปั๊บ! "ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย เอ้อ... ผมรู้สึกมีเกียรติที่ได้รับเชิญมาปาฐกถา เอ้อ..." พูดไปแต่ละประโยค พอจบประโยคแล้วก็เอ้อ ! แล้วก็เอ้อ ! นั่นชะลอความคิด เมื่อจิตมันเกิดแน่วแน่ขึ้นมาแล้ว พูดฉอด ๆ ๆ ฟังตามไม่ทัน นั่นคือสมาธิมันเกิดขึ้นแล้ว

ที่มาไฟล์นะครับ ผมไม่ได้พิมพ์เองครับก็อบมาเฉยๆเหมือนกัน
ผมชอบฟังธรรมที่ท่านบรรยายครับ เข้าใจง่าย ปฏิบัติง่าย
และเห็นว่าตอบหลายๆคำถามที่ถามกันช่วงนี้ได้เป็นอย่างดีเลยเอามาโพสไว้ครับ

http://www.fungdham.com/book/put.html

สาธุ...ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมครับ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร