วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 15:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2010, 16:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ธรรมะไม่ใช่ของยาก

พระไพศาล วิสาโล



ย้อนหลังไปเมื่อ ๔๐ ปีก่อน มีชาวอเมริกันน้อยคนมากที่รู้จักประเทศธิเบต
อย่าว่าแต่พุทธศาสนาแบบธิเบตเลย แต่ผ่านไปไม่ถึง ๒ ทศวรรษ
ศูนย์ภาวนาแบบธิเบตนับร้อยได้ผุดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
จนทุกวันนี้พุทธศาสนาแบบธิเบตกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในประเทศนี้
บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานของพุทธศาสนาแบบธิเบตในประเทศดังกล่าว
นอกจากเชอเกียม ตรุงปะ และท่านกรรมปะแล้ว อีกผู้หนึ่งย่อมได้แก่ ลามะเยเช่


สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ ๑๙๗๐ นั้น คนหนุ่มสาวจำนวนมากปฏิเสธศาสนา
และไม่ยอมรับนับถืออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พิธีกรรม
และระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งหลาย
แต่ท่านลามะเยเช่ สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่
ให้หันมาสนใจพุทธศาสนาแบบธิเบตหรือวัชรยานได้
จุดเด่นของท่านคือ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักธรรมของพุทธศาสนา
ท่านถามคนเหล่านั้นว่า คุณทำสองอย่างนี้ได้ไหม
๑) หายใจเข้าและออก ๒)มีเมตตากรุณา
ถ้าทำได้ทั้งสองประการก็เพียงพอแล้วสำหรับการปฏิบัติธรรม
หรืออย่างน้อยก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นการพัฒนาชีวิตด้านในให้โปร่งเบา



หากใครสงสัยว่าทั้งสองประการสำคัญอย่างไร
ท่านก็จะอธิบายว่าการมีสติกับลมหายใจเข้าและออกนั้น
สามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับร่างกายและชีวิตของเรา
ส่วนการบ่มเพาะเมตตากรุณานั้นจะช่วยเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกได้


วิธีการสอนของท่านไม่เรียกร้องให้ผู้เรียนต้องนับถือพระรัตนตรัย
เชื่อในพระนิพพาน เข้าใจอริยสัจสี่ หรือสมาทานศีลก่อน
หากเริ่มต้นจากจุดที่ทำได้ง่ายที่สุดหรือสามารถทำได้ทันที
โดยไม่ต้องถกเถียงกันในเรื่องปรัชญาหรือต้องผ่านพิธีรีตองก่อน


การชักชวนคนทำสิ่งดีงามนั้น ควรเริ่มต้นจากจุดที่เขาทำได้เลย
เขาสามารถ(หรือพร้อม)ทำได้แค่ไหนก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดคือผู้ที่สามารถทำให้ศิษย์(โดยเฉพาะผู้ใหม่)
เห็นว่าความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
กล่าวอีกนัยหนึ่งความสำเร็จของครูบาอาจารย์อยู่ที่การยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
มิใช่เรียกร้องให้เขาเป็นอย่างที่ครูอยากให้เป็นเสียก่อน


คราวหนึ่งมีศิษย์มากราบหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ (วัดสะแก อยุธยา)
ศิษย์ผู้นั้นมีนักเลงเหล้าตามมาด้วย เมื่อสนทนากันได้พักหนึ่ง
ศิษย์ผู้นั้นได้ชักชวนเพื่อนให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับทำสมาธิภาวนา
นักเลงเหล้าผู้นั้นแย้งต่อหน้าหลวงปู่ว่า
“จะให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง
ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ”
หลวงปู่ดู่แทนที่จะคาดคั้นหรือคะยั้นคะยอเขา กลับตอบว่า
“เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาทีก็พอ”
ชายผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาทีไม่ใช่เรื่องยาก จึงรับคำหลวงปู่


นับแต่วันนั้นเขาก็นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอตามที่รับปากเอาไว้ ไม่ขาดแม้แต่วันเดียว
บางวันถึงกับงดกินเหล้ากับเพื่อน ๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติพอดี
เมื่อได้สัมผัสกับความสงบจากสมาธิภาวนาเขาก็มีความสุข จึงโหยหาเหล้าน้อยลง
จนในที่สุดก็เลิกเหล้าไปโดยไม่รู้ตัว หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ละชีวิตทางโลก
อุปสมบทเป็นพระภิกษุและมุ่งมั่นกับการปฏิบัติธรรม


คงมีภิกษุเคร่งศีลน้อยรูปที่จะบอกฆราวาสว่า “เอ็งจะกิน(เหล้า)ก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า”
แต่หลวงปู่รู้ดีว่าการขอร้องให้เขาเลิกเหล้านั้นเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นแทนที่ท่านจะห้ามเขากินเหล้า
ท่านกลับขอให้เขาทำสิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือ นั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาที
ท่านรู้ดีว่าใครที่ทำสมาธิภาวนาทุกวันแม้จะไม่กี่นาที
ไม่นานก็จะเห็นอานิสงส์ของการปฏิบัติ และปฏิบัตินานขึ้นเอง จนเลิกเหล้าได้ในที่สุด


ทุกวันนี้เรามักได้ยินเสียงบ่นว่าคนทำชั่วมากขึ้น ทำดีน้อยลง
สาเหตุสำคัญนั้นไม่ใช่เป็นเพราะคนทุกวันนี้มีนิสัยเลวร้ายกว่าคนแต่ก่อน
แต่เป็นเพราะปัจจุบันการทำชั่วนั้นทำได้ง่าย ส่วนการทำดีกลับทำได้ยาก
เหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นมีมากมาย สภาพสังคมเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหนึ่ง
(เช่น สื่อที่กระตุ้นให้อยากมากกว่าส่งเสริมให้รู้จักพอ พื้นที่เสี่ยง
เช่น ผับ บาร์ ร้านเหล้า หาได้ง่ายกว่าพื้นที่ดี เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา
หรือสถานปฏิบัติธรรม การสอบเข้าโดยใช้เส้นสาย
ทำได้ง่ายกว่าการสอบเข้าด้วยความสามารถ)
อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยหนึ่ง แม้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด แต่ก็มีอิทธิพลไม่น้อย
นั่นคือ วิธีการสอนศีลธรรม ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะเยาวชนรู้สึกว่าการทำดีนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก
เช่น กว่าจะสมาทานศีลได้ก็ต้องผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย
อีกทั้งต้องกราบไหว้ให้ถูกต้องตามหลักเบญจางคประดิษฐ์
ที่สำคัญคือต้องมีพระเป็นผู้ให้ศีล หากไม่มีพระให้ศีล ก็สมาทานไม่ได้ เป็นต้น
ทั้ง ๆ ที่การสมาทานศีลนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา


พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าพิธีกรรมไม่มีประโยชน์
พิธีกรรมนั้นมีประโยชน์อย่างแน่นอน
อาทิ ช่วยเตรียมใจให้เกิดความพร้อมในการทำความดี
แต่ทุกวันนี้พิธีกรรมมักจะถูกยกให้มีความสำคัญ
จนกลายเป็นสิ่งกีดขวางการทำความดีไปโดยไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกเหินห่างกับพิธีกรรม
หลายคนจึงรู้สึกว่าการสมาทานศีลนั้น
เป็นเรื่องยุ่งยากกว่าการไปเที่ยวห้าง หรือการมั่วสุมกัน


การทำสมาธิภาวนาก็เช่นกัน มักถูกทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน
ต้องผ่านพิธีกรรมมากมาย หรือมีเงื่อนไขหลายประการ
ทั้ง ๆ ที่สมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
ขอเพียงแต่มีลมหายใจและความรู้สึกตัวก็พอแล้ว
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดสามารถทำให้สมาธิภาวนากลายเป็นของง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งนี้โดยเริ่มจากสิ่งที่เขามีอยู่ หรือเป็นอยู่
(แทนที่จะเริ่มจากจุดที่เขาควรจะเป็น
เช่น ต้องละเลิกสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือมีนั่นมีนี่เสียก่อนจึงจะปฏิบัติได้)



มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงปู่ขาว อนาลโยว่า
เช้าวันหนึ่งมีโยมพาหลานวัย ๓ ขวบมาถวายอาหารให้ท่าน
เด็กเห็นเงาะในฝาบาตรของหลวงปู่ ก็อยากกิน
หลวงปู่รู้ว่าเด็กคิดอะไรอยู่ จึงเรียกมานั่งใกล้ ๆ แล้วถามว่า อยากกินเงาะไหม
เด็กตอบว่า อยากกิน หลวงปู่จึงบอกว่า มาแลกกัน
ถ้าหนูนั่งสมาธิให้หลวงปู่เห็น หลวงปู่จะให้เงาะทั้งฝาบาตรเลย
เด็กถามว่า นั่งสมาธิทำอย่างไร หลวงปู่แนะนำว่า
ให้นั่งขัดสมาธิ ขวาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
พร้อมกับหลับตาและภาวนาไปด้วย เด็กถามต่อว่า ภาวนาทำอย่างไร
หลวงปู่แนะนำเป็นภาษาอีสานว่า “ให้ภาวนาว่า หมากเงาะ หมากเงาะ”


ด้วยความอยากกินเงาะ เด็กจึงนั่งสมาธิ และภาวนาว่า “หมากเงาะ ๆ ๆ”
ทีแรกเด็กภาวนาพลางเลียริมฝีปากไปพลางเพราะอยากกินเงาะมาก
แต่ไม่นานจิตก็เป็นสมาธิ รู้สึกสบาย สงบ เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง
มาลืมตาอีกทีก็เมื่อได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น
เห็นแต่หลวงปู่นั่งสมาธิอยู่ไม่มีใครในศาลาเลย ผู้คนหายไปหมด
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสามโมงแล้ว
เสียงระฆังดังขึ้นเพื่อเรียกพระเณรมากวาดลานวัด
แสดงว่าเด็กนั่งสมาธิเป็นเวลานานถึง ๘ ชั่วโมง


เด็กอยากกินเงาะก็จริง แต่หลวงปู่ก็รู้ว่าความอยากนั้น
สามารถส่งเสริมให้เกิดสมาธิได้หากใช้ให้เป็น
เด็กไม่จำเป็นต้องลดละความอยากเสียก่อนจึงจะภาวนาได้
ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องภาวนาว่า “พุท-โธ”อย่างที่นิยมทำกันก็ได้
ภาวนาว่า “หมากเงาะ”ก็ใช้ได้เช่นกัน



หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ก็มีประสบการณ์คล้ายกัน
มีพระบวชใหม่รูปหนึ่งทำสมาธิภาวนาไม่ได้เลย
หลับตาทีไรก็เห็นหน้าแฟนทุกที เมื่อหลวงพ่อทราบปัญหาของเขา
แทนที่จะแนะนำให้เขากดข่มหรือเลิกคิดถึงแฟน
ก็ให้เขาภาวนาโดยนึกถึงชื่อของแฟนอยู่ตลอดเวลา
หายใจเข้าก็บริกรรมชื่อแฟน หายใจออกก็บริกรรมชื่อแฟน
ในที่สุดจิตของเขาก็สงบ จิตเป็นสมาธิ


ตัณหานั้นถ้าใช้ให้เป็นก็มีประโยชน์
ในสมัยพุทธกาลมีหลายท่านที่บรรลุธรรม
ก็เพราะมีตัณหาเป็นแรงผลักดันให้เข้าหาธรรม
บางท่านมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์เพราะเห็นแก่ค่าจ้างจากพ่อ
(บุตรชายอนาถบิณฑิกเศรษฐี)
บางท่านบำเพ็ญสมณธรรม
เพราะอยากเห็นนางฟ้าที่งดงามยิ่งกว่าคู่หมั้นของตน (พระนันทะ)
บางท่านตัดสินใจบวชต่อเมื่อนึกถึงความยากลำบาก
หากสึกไปเป็นฆราวาส (พระนังคลกูฏะ)



แม้ไม่มีศรัทธาในศาสนา สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่
หรือถึงจะยังมีกิเลสมากมาย
สิ่งเหล่านี้หาได้เป็นสิ่งกีดขวางหนทางสู่การปฏิบัติธรรมหรือการทำความดีไม่
ใช่แต่เท่านั้น หากรู้จักใช้ มันกลับจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม
หรือส่งเสริมการทำความดีด้วยซ้ำ
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดย่อมไม่เกี่ยงงอนหรือเรียกร้องให้เขาละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเสียก่อน
ถึงค่อยแนะนำธรรมแก่เขา เพราะไม่ว่าเริ่มจากจุดไหน
ก็สามารถก้าวหน้าบนเส้นทางธรรมได้ทั้งนั้น


จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าอะไรที่เกิดกับเรา
ล้วนมีส่วนช่วยบ่มเพาะธรรมในใจเราให้งอกงามได้ทั้งสิ้น
ไม่เว้นแม้แต่ความทุกข์ ความเจ็บป่วยหรือเคราะห์กรรมทั้งปวง
ความทุกข์นั้นมีประโยชน์เสมออย่างน้อย ๓ประการคือ
๑. สอนใจเรา (เช่น สอนเรื่องความไม่เที่ยง ชี้ให้เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ
หรือสอนว่าสรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน)
๒. เตือนใจเรา (ให้ไม่ประมาท ไม่เพลินในโลกธรรม)
๓.ฝึกใจเรา (ให้มีความอดทน รู้จักปล่อยวาง รู้จักให้อภัย หรือมีสติอยู่เสมอ)



แม้แต่เมตตากรุณาก็สามารถบ่มเพาะให้งอกงามได้โดย
อาศัยความเจ็บป่วย วิธีการอย่างหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ธิเบตแนะนำแก่ผู้ป่วย
ก็คือ ให้ถือว่าตนกำลังรับเอาโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ของสรรพสัตว์มาไว้ที่ตัวเอง
เพื่อสรรพสัตว์จะได้บรรเทาจากความทุกข์
ขณะเดียวกันก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวในใจตน
การน้อมใจดังกล่าวทำให้จิตเกิดเมตตากรุณา
คิดถึงตนเองน้อยลง และนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น
อานิสงส์จากเมตตากรุณาดังกล่าวทำให้ความทุกข์ใจมีน้อยลง
ในหลายกรณียังสามารถเยียวยาร่างกายให้บรรเทาหรือหายเจ็บป่วยด้วยซ้ำ



ในการชักนำผู้คนสู่ธรรมหรือความดี สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
มิใช่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เขาควรเป็น แทนที่จะมองว่าเขายังขาดอะไรอยู่บ้าง
ควรมองว่าเขามีอะไรอยู่บ้าง หรือพร้อมจะทำอะไรได้บ้าง
แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นสื่อพาเขาเข้าหาธรรมหรือความดีที่สูงขึ้นไปเป็นลำดับ
โดยไม่ควรให้พิธีกรรมหรือสูตรสำเร็จของคนดีเป็นอุปสรรค


ความดีนั้นทำได้ง่าย แต่เป็นเพราะผู้สอนนั้นติดยึดในรูปแบบ หรือสูตรสำเร็จ
จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าความดีทำได้ยาก
จึงเบือนหน้าหนีจากความดีไปอย่างน่าเสียดาย


ที่มา... มติชนรายวัน วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
http://www.visalo.org/article/matichon255309.htm

ภาพประกอบจาก... http://mblog.manager.co.th/uploads/2235 ... %B8%A5.jpg

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2010, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1051

งานอดิเรก: อ่านหนังสือธรรมะ
อายุ: 0
ที่อยู่: Bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว




-.gif
-.gif [ 31.42 KiB | เปิดดู 4008 ครั้ง ]
:b8: :b8: สาธุ....สาธุ...สาธุ...ค่ะคุณลูกโป่ง :b8: :b8:

.....................................................
    มีสิ่งใด น่าโกรธ อย่าโทษเขา.... ต้องโทษเรา ที่ใจ ไม่เข้มแข็ง
    เรื่องน่าโกรธ แม้ว่า จะมาแรง ....ถ้าใจแข็ง เหนือกว่า ชนะมัน


แก้ไขล่าสุดโดย O.wan เมื่อ 21 ก.ย. 2010, 17:10, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 17:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




Lotus434.jpg
Lotus434.jpg [ 23.8 KiB | เปิดดู 3882 ครั้ง ]
:b44: เรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่เรียกว่า ธรรมะ อย่าทำให้เป็นของยาก :b44:

เป็นการยากที่เราจะเห็นได้ว่า
ธรรมะเป็นเรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด
เพราะภาพลักษณ์ของศาสนา หรือของธรรมะ ที่เรารู้จักนั้น
ดูอย่างไรก็ไม่ธรรมดาเลย
เริ่มตั้งแต่ภาษาที่ใช้ เต็มไปด้วยภาษาบาลี มีศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะมากมาย
แค่ทำความเข้าใจศัพท์ก็ยากนักหนาแล้ว

พอรู้ศัพท์แล้วลงมือศึกษาตำราจริงๆ
ก็พบความยากอีก คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มีมากเหลือเกิน
และตำราที่พระรุ่นหลังลงมาท่านเขียนไว้ ก็มีอีกมากมาย

บางท่านพอใจที่จะลงมือปฏิบัติ ก็มีปัญหาอีกว่า
สำนักปฏิบัติมีมากมาย ทุกสำนักบอกว่าแนวทางของตน
ถูกตรงที่สุดตามหลักมหาสติปัฏฐาน
บางทีก็ทับถมสำนักอื่นหน่อยๆ ว่า สอนไม่ตรงทาง

ความยากลำบากนี้ พบกันทุกคนครับ
ทำให้ผมต้องนั่งถามตนเองว่า เป็นไปได้หรือไม่
ที่เราจะศึกษาธรรมได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องรู้ศัพท์บาลี
หรือไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือเข้าสำนักปฏิบัติใดๆ เลย

*****************************************************

ความจริงธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดาๆ
ดังที่ผู้ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ มักจะอุทานว่า
"แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า ธรรมที่ทรงแสดงเหมือนดังเปิดของคว่ำให้หงาย"
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก ที่ผู้ฟังจะรู้สึกเช่นนั้น
ก็เพราะผู้ฟังเอง เกิดมากับธรรม อยู่กับธรรม จนตายไปกับธรรม
เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
เพียงแต่มองไม่เห็นว่า ธรรมได้แสดงตัวอยู่ที่ไหน
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะ ก็สามารถรู้เห็นตามได้โดยง่าย

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยความรอบรู้
สามารถอธิบายธรรมอันยุ่งยากซับซ้อนให้ย่นย่อเข้าใจง่าย
สามารถขยายความธรรมอันย่นย่อให้กว้างขวางพอเหมาะแก่ผู้ฟัง
ทรงปราศจากอุปสรรคทางภาษา
คือสามารถสื่อธรรมด้วยภาษาที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ

ไม่เหมือนผู้ศึกษาและสอนธรรมจำนวนมากในรุ่นหลัง
ที่ทำธรรมะซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและแสนธรรมดา
ให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน และไกลตัวเสียเหลือประมาณ
จนเกินความจำเป็นเพื่อความพ้นทุกข์
และสั่งสอนด้วยภาษา ที่ผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย

แท้จริงแล้ว ธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้จนถึงขนาดที่เรียกว่า
เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวเราเอง
และขอบเขตของธรรมะก็มีเพียงนิดเดียวคือ
ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์

ถ้าจะศึกษาธรรมะ ก็ศึกษาลงไปเลยว่า
"ความทุกข์อยู่ที่ไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร และดับไปได้อย่างไร"
และความสำเร็จของการศึกษาธรรมะ
อยู่ที่ปฏิบัติจนเข้าถึงความพ้นทุกข์
ไม่ใช่เพื่อความรอบรู้รกสมอง
หรือเพื่อความสามารถในการอธิบายแจกแจงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร

แท้จริงแล้ว ความทุกข์ของคนเราอยู่ในกายในจิตของตนนั่นเอง
สนามศึกษาธรรมะของเรา จึงอยู่ที่กายที่จิตนี้แหละ
แทนที่เราจะเที่ยวเรียนรู้ออกไปภายนอก
ก็ให้เราย้อนเข้ามาศึกษาอยู่ในกายในจิตของเรานี้แหละ

วิธีการก็ไม่มีอะไรมาก ขอเพียงให้หัดสังเกตกายและจิตของเราเองให้ดี
เริ่มต้นง่ายๆ จากการสังเกตร่างกายก่อนก็ได้

ขั้นแรก ทำใจให้สบายๆ อย่าเคร่งเครียด
อย่าไปคิดว่าเราจะปฏิบัติธรรม แต่ให้คิดเพียงว่า
เราจะสังเกตดูร่างกายของเราเองเท่านั้น
สังเกตแล้วจะรู้ได้แค่ไหนก็ไม่เป็นไร
เอาแค่ว่าจะเฝ้าสังเกตให้ได้เท่าที่ทำได้ก็พอ

เมื่อทำใจสบายๆ แล้ว ลองนึกถึงร่างกายของเรา
นึกถึงให้รู้พร้อมทั้งตัวเลยก็ได้
เหมือนเรากำลังดูหุ่นยนต์อยู่สักตัวหนึ่ง
ที่มันเดินได้ เคลื่อนไหวได้ ขยับปากได้
กลืนอาหารอันเป็นวัตถุเข้าไปในร่างกาย
ขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย

ถ้าเราเห็นหุ่นยนต์ที่ชื่อว่าตัวเรา มันทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ
เราเป็นคนดูเฉยๆ
ถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นแจ้งประจักษ์ใจเองว่า
ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุก้อนหนึ่งเท่านั้น
มีความไม่หยุดนิ่ง ไม่คงที่ แม้แต่วัตถุที่ประกอบเป็นเจ้าหุ่นตัวนี้
ก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา
เช่นหายใจเข้าแล้วก็หายใจออก กินอาหารและน้ำแล้วขับถ่ายออก
ไม่ใช่สิ่งที่เป็นก้อนธาตุที่คงที่ถาวร
ความยึดถือด้วยความหลงผิดว่า กายเป็นเรา ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้
แล้วก็จะเห็นอีกว่า
ยังมีธรรมชาติที่เป็นผู้รู้ร่างกาย อาศัยอยู่ในร่างกายนี้เอง

เมื่อเห็นชัดแล้วว่า กายนี้เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่คงที่ ไม่ใช่ตัวเรา
คราวนี้ก็ลองมาสังเกตสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายนี้ต่อไป
เป็นการเรียนรู้เรื่องของเราเองให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งที่แฝงอยู่ในร่างกายที่เห็นได้ง่ายๆ
คือความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง
เช่นเมื่อเราเห็นหุ่นยนต์ตัวนี้เคลื่อนไหวไปมา
ไม่นานก็จะเห็นความเมื่อยปวด ความหิวกระหาย
หรือความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ
พอความทุกข์นั้นผ่านไปทีหนึ่ง
ก็จะรู้สึกสบายไปอีกช่วงหนึ่ง(รู้สึกเป็นสุข)
เช่นกระหายน้ำ เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น
พอได้ดื่มน้ำ ความทุกข์เพราะความกระหายน้ำก็ดับไป
หรือนั่งนานๆ เกิดความปวดเมื่อย รู้สึกเป็นทุกข์
พอขยับตัวเสีย ก็หายปวดเมื่อย รู้สึกว่าทุกข์หายไป(รู้สึกเป็นสุข)

บางคราวมีความเจ็บไข้ได้ป่วย
ก็จะรู้ความทุกข์ทางกายได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น
เช่นเกิดปวดฟันติดต่อกันนานๆ เป็นวันๆ
ถ้าคอยสังเกตรู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น
ก็จะเห็นชัดว่า ความปวดนั้นเป็น สิ่งที่แทรก อยู่กับเหงือกและฟัน
แต่ตัวเหงือกและฟัน มันไม่ได้เจ็บปวดด้วยเลย
กายเหมือนหุ่นยนต์ที่ไม่มีความเจ็บปวด
เพียงแต่มีความเจ็บปวด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในกาย

เราก็จะรู้ชัดว่า ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ
ไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นสิ่งอีกสิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่ในร่างกาย
และที่สำคัญ เจ้าความรู้สึกเหล่านั้น
ก็เป็นสิ่งที่กำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่ เช่นเดียวกับร่างกายนั้นเอง

ถัดจากนั้น เรามาเรียนรู้เรื่องราวของตัวเองให้ละเอียดมากขึ้น
คือคอยสังเกตให้ดีว่า เวลาที่เกิดความทุกข์ขึ้นนั้น
จิตใจของเรามันจะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจตามมาด้วย
เช่นหิวข้าวแล้วจะโมโหง่าย เหนื่อยก็โมโหง่าย
เจ็บไข้ก็โมโหง่าย เกิดความใคร่แล้วไม่ได้รับการตอบสนองก็โมโหง่าย
ให้เราหัดรู้ให้เท่าทันความโกรธที่เกิดขึ้น ในเวลาที่เผชิญกับความทุกข์

ในทางกลับกัน เมื่อเราได้เห็นของสวยงาม ได้ยินเสียงที่ถูกใจ
ได้กลิ่นหอมถูกใจ ได้ลิ้มรสที่อร่อย
ได้รับสิ่งสัมผัสร่างกายที่นุ่มนวล
มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
ได้คิดถึงสิ่งที่พอใจ
เราจะเกิดความรักใคร่พึงพอใจในสิ่งที่
ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส และได้คิดนึกนั้น
ก็ให้เรารู้เท่าทันความรักใคร่พอใจที่เกิดขึ้นนั้น

พอเรารู้จักความโกรธ หรือความรักใคร่พอใจแล้ว
เราก็สามารถรู้จักกับอารมณ์อย่างอื่นๆ ได้ด้วย
เช่นความลังเลสงสัย ความอาฆาตพยาบาท ความหดหู่ใจ
ความอิจฉาริษยา ความคิดลบหลู่ผู้อื่น
ความผ่องใสอิ่มเอิบของจิตใจ ความสงบในจิตใจ ฯลฯ

เมื่อเราเรียนรู้อารมณ์หรือความรู้สึกเหล่านี้มากขึ้นๆ
เราก็จะเริ่มรู้ว่า ความจริงแล้วอารมณ์ทุกอย่างนั้นไม่คงที่
เช่นเมื่อโกรธ และเราก็รู้อยู่ที่ความโกรธนั้น
ก็จะเห็นระดับของความโกรธเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อยู่ไปๆ ความโกรธก็ดับไปเอง
และไม่ว่าความโกรธจะดับหรือไม่ก็ตาม
ความโกรธก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีเราอยู่ในความโกรธ
แม้อารมณ์อื่นๆ ก็จะเห็นในลักษณะเดียวกับความโกรธนี้ด้วย

ถึงตอนนี้ เราจะรู้ชัดว่า ร่างกายก็เป็นแค่หุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
ความรู้สึกสุขทุกข์ และอารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา
เมื่อหัดสังเกตเรียนรู้จิตใจตนเองมากขึ้น
คราวนี้ก็จะเห็นการทำงานของจิตใจได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
จนรู้ความจริงว่า ความทุกข์เป็นเพียงสิ่งที่มีเหตุทำให้เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เท่านั้น

เราจะพบพลังงานหรือแรงผลักดันบางอย่างในจิตใจของเรา
เช่นพอเห็นผู้หญิงสวยถูกใจ
พอจิตใจเกิดความรู้สึกรักใคร่พอใจแล้ว
มันจะเกิดแรงผลักดันจิตใจของเรา
ให้เคลื่อนออกไปยึดเกาะที่ผู้หญิงคนนั้น
ทำให้เราลืมดูตัวเอง เห็นแต่ผู้หญิงคนนั้นเท่านั้น

(เรื่องจิตเคลื่อนไปได้นี่ ถ้าเป็นคนที่เรียนตำราอาจจะงงๆ
แต่ถ้าลงมือปฏิบัติจริง จะเห็นว่า ความรับรู้มันเคลื่อนไปได้จริงๆ
ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องจิตเที่ยวไปได้ไกล
ไม่มีคลาดเคลื่อนแม้แต่คำเดียว)

หรือเมื่อเราเกิดความสงสัยในธรรม ว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร
ก็จะเห็นแรงผลักดันที่บังคับให้เราคิดหาคำตอบ
จิตใจของเราเคลื่อนเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
ตอนนั้น เราลืมดูตัวเราเอง
เจ้าหุ่นยนต์นั้นก็ยังอยู่ แต่เราลืมนึกถึงมันก็เหมือนกับว่ามันหายไปจากโลก
ความรู้สึกต่างๆ ในจิตใจเราเป็นอย่างไร เราก็ไม่รู้
เพราะมัวแต่คิดหาคำตอบในเรื่องที่สงสัยอยู่นั่นเอง

หัดรู้ทันจิตใจตนเองมากเข้า ไม่นานก็จะทราบด้วยตนเองว่า
ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ความพ้นทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
สภาพที่ไม่ทุกข์ เป็นอย่างไร
สภาพจิตใจมันจะพัฒนาของมันไปเองทุกอย่าง
ไม่ต้องไปคิดเรื่องฌาน เรื่องญาณ หรือเรื่องมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น

ถึงตรงนี้ อาจจะพูดธรรมะไม่ได้สักคำ แปลศัพท์บาลีไม่ได้สักตัว
แต่จิตใจพ้นจากความทุกข์ หรือมีความทุกข์ ก็ทุกข์ไม่มากและไม่นาน

กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ tongue tongue tongue

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 01:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 00:17
โพสต์: 255

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: เรื่องอย่างนี้แหละที่เราอยากให้พูด เรื่องที่มันตรงๆไม่อ้อมค้อม ไม่ยึดติดนั่นติดนี่ ไม่มีสูงมีต่ำ ไม่มีดำมีขาว เหมือนเขาบอก(หลวงพ่อชา)ให้มองทุกสิ่งอย่างเป็นความว่าง(อนัตตา)ไม่มีตัวตน เราก็ยังมองไม่เห็น มองไปเห็นขวดวางอยู่ ก็มันเป็นขวดมันจะว่างได้อย่างไร ความจริงแล้วความว่างกับขวดมันก็ซ้อนกันอยู่ หรือเรียกว่าอยู่ที่เดียวกัน ถ้าเอาขวดออก ความว่างรูปขวดมันก็อยู่ตรงนั้น

....ที่เราเข้าไม่ถึงกันอยู่ทุกวันนี้ก็ไปติดเอาที่เปลือกนี่แหละ ไปติดที่รูปแบบ พิธีกรรม สถานที่ ครูบาอาจารย์ มันทำให้เราติดเรายึด แต่เราไม่รู้ตัว เห็นเขาทำก็ทำตาม แต่มันไม่ใช่ ละทุกข์ได้ เชื่อว่ามีสุข แต่สุขนั้นแท้จริงก็ไม่เที่ยงยังต้องวาง เหมือนกัน เอ๊ะทำไมต้องวาง ก็ศาสนาสอนให้พ้นทุกข์ แล้วจะมีความสุข มันยังไม่ถึงที่สุด เพราะความจริงแล้วสุดท้ายมันต้องเหนือทุกข์และสุข ก็คือว่างทุกข์และสุขไม่สามรถครอบงำจิตได้อีกต่อไป
......วิตกหรือตัวภาวนา มันแค่เป็นอุบายให้จิตเข้าไป คลอเคียอยู่แค่ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นพุทธ-โธ หรือสัมมา-อรหัง เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตมันก็วางตัวภาวนาเอง ต้องเข้าใจอย่างนี้ บางคนเขาให้ตัวภาวนามา พอได้ก็ยึดเลย ว่าเป็นตัวภาวนาของฉัน ยึดเอาไว้ เป็นอันอื่นก็ไม่ได้ เป็นวิธีอื่นก็ไม่ได้เดี๋ยวไม่เคร่ง ไม่ขลัง
.......เคล็ดลับอันนี้เป็นเคร็ดลับทางธรรม อยากได้ต้องไม่อยาก ต้องวางความยึด ความอยากลง ทั้งหมดที่กล่าวมานั่นแหละ ทั้งสถานที่ รูปแบบ ครูบาอาจารย์ พิธีกรรมต่างๆ แล้วก็จะได้รู้ ได้เห็น
ว่าธรรมมะไม่ใช่ของยาก....อย่างที่ผู้ตั้งกระทู้นำเสนอไว้.....เจโตวิมุติ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 04:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อนุโมทนาจ๊ะ..น้องลูกโป่ง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 04:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุๆๆ

อนุโมทนาค่ะ

บางทีถ้าดูจังหวะดีๆจับจุดถูก การชักชวนใครสักคนมาปฏิบัตธรรมเนี่ยก็ง่ายดายซะงั้นเลยนะคะ
ถึงเราจะปฏบัติยังไม่เก่ง แต่ถ้าเราปรารถนาดีกับใครสักคน การชวนเขามาศึกษาธรรมะเนี่ยก็เป็นการแสดงถึงความปรารถนาดีจากเราอ่ะเนอะ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 19 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร