วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 06:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2010, 14:07
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: หลวงปู่ทองดี อนีโฆ
อนีโฆ วัดใหม่ปลายห้วย จ.พิจิตร.jpg
อนีโฆ วัดใหม่ปลายห้วย จ.พิจิตร.jpg [ 38.85 KiB | เปิดดู 2303 ครั้ง ]
onion

การปฏิบัติแบบใช้คำบริกรรมภาวนา
โดย หลวงปู่ทองดี อนีโฆ


สมาธิในวิธีการนี้ ถ้าจะพูดถึงทำสมาธิเพื่ออะไร ความประสงค์ของผู้ทำสมาธิ จะทำสมาธิเพื่ออะไร แยกตามกิเลสของคน บางคนทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ บางคนทำสมาธิเพื่อไม่ต้องการอะไร ขอให้จิตให้ใจสงบ ให้รู้ความจริงของจิตของใจเมื่อประสบกับอารมณ์เกิดขึ้น เพื่อจะอ่านจริตอารมณ์ของตัวเองให้รู้ว่าเราเป็นราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต พุทธะจริต ศรัทธาจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตใจของเรานั้น

เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้วว่า เราเองนี่มีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลงตัดทอนสิ่งที่เกิด แล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่า มัจฉิมาปฏิปทา สมาธิอย่างหนึ่งนั้น เราฝึกเพื่อให้มีสติ มีสัมปชัญญะ รู้ทันเหตุการคืออารมณ์ต่างๆ ในปัจจุบันนั้นสมาธิบางอย่างเราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ รู้เรื่องอดีต อนาคต รู้อดีตนั้นหมายถึง รู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร รู้อนาคตก็หมายถึงว่า เมื่อเราตายไปแล้ว เราจะไปเป็นอะไร

อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้ ทีนี้เมื่อมาพิจารณากันจริงๆ อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้น พวกเราท่านทั้งหลายนี้ ควรสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันนี้ให้มันดีที่สุด ในการปฏิบัติถ้าจะว่าโดยการสรุปง่ายๆแล้ว เราต้องการสร้างสติให้เป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ไม่ได้มุ่งถึงสิ่งที่จะรู้จะเห็นในสมาธิ ที่ครูบาอาจารย์สอนกันว่า ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่ นี่มันยังใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจตัวเราเองก่อนซิ อย่าไปทำความเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไรเรื่อยเฉื่อยไปอย่างนั้น สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดอะไรกับการที่เรานอนหลับไปแล้วฝันไป แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ต้องเห็นนี่คือ เห็นกายของเรา เห็นจิต เห็นใจของเรา

การภาวนาแม้จะเห็นนิมิตต่างๆในสมาธิ หรือรู้ธรรมะซึ่งผุดขึ้นเป็นอุทานธรรม สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราเก็บเอามาเป็นผลแห่งการปฏิบัติได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นในสมาธิ และเป็นสัญลักษณ์ในปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาธิ ซึ่งเรียกว่า สมาธิปัญญา พลังของสมาธินั้นสามารถทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้เห็นอะไรต่างๆแปลกๆ สิ่งที่ไม่เป็นก็เป็น สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น แต่สิ่งนั้นพึงทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ของดีที่จะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติ ให้กำหนดไปเพียงแต่ว่า สิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นเอง เป็นอุบายสร้างสติให้เป็นมหาสติ หลักของพระพุทธเจ้าท่านสรุปหรือท่านสอนเพียงสั้นๆว่า เราทำสมาธิเพื่ออะไร

หนึ่ง เราทำสมาธิเพื่อให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เกิดความมั่นคงสามารถที่จะต้านทานต่ออารมณ์ที่จะมากระทบกระทั่งจิตใจ เพื่อไม่ให้เกิดความหวั่นไหวในอารมณ์เหล่านั้นได้ง่ายๆ

สอง เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิปราศจากอารมณ์ เราจะได้รู้สภาวะอารมณ์ความเป็นจริงของจิตของเราที่ไม่มีอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อมันออกมารับรู้อารมณ์แล้ว เมื่อเรารู้ความเป็นจริงของจิตของเรา เมื่อจิตอยู่ว่างๆจิตของเราไม่มีอารมณ์มันสบายหรือไม่ มีความสุขหรือไม่ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราทุกข์หรือไม่ เราเดือดร้อนหรือไม่ เราต้องอ่านจิตอ่านใจของเราเสียก่อน ในขั้นตอนต่อไป เมื่อเราสามารถที่จะทำจิตของเรานี้ให้ดำรงอยู่ในความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งอื่นใดคือ กิเลส เมื่อเราได้ทำไปเรื่อยๆแล้วเนี่ย ถ้าหากเรายังมีความคิดว่า การทำสมาธิต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมีผู้วิเศษเข้ามาช่วยดลจิตดลใจให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบสุข เข้าไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการเข้าใจผิด และผิดหลักที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งทรงสอน

สมาธิและวิธีนั้น พวกเรามุ่งหวังความเจริญในการปฏิบัติภายหลังนั้น หลังจากเราได้สวดมนต์ เจริญมนต์บทหนึ่งบทใดก็ได้ แล้วเราพึงนั่งขัดบัลลังค์ คือนั่งขัดสมาธิแล้วแต่ตามจริตของเรา อย่าให้ตึง อย่าให้หย่อน แล้วตั้งกายให้ตรง นั่งในท่าที่เรารู้สึกว่าสบายที่สุด อย่าเกร็งหรือไปกดข่มประสาทส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ตรวจดูก่อนว่าการนั่งของเรา ว่าเรานั่งในท่าที่สบาย แล้วอย่าให้ก้มนัก และอย่าให้เงยนัก อย่าให้เอียงไปข้างซ้ายและอย่าให้เอียงไปข้างขวา เมื่อตรวจดูการนั่งของเราให้เรียบร้อยแล้วเนี่ย ว่าเป็นการถูกต้องถูกตามจริตของเราแล้วนี่ พึงกำหนดจิตคือทำจิตให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า คือการมุ่งตรงต่อการปฏิบัติสมาธิและพิจารณาดูจิตของตนว่า จิตของเราเอนเอียงไปข้างรักหรือข้างชัง หรือว่าจิตของเรานั้นเป็นกลางๆ

ในเมื่อเรากำหนดพิจารณาดูจิตของเรา ให้ทราบพื้นฐานจิตของเราว่าเป็นอย่างไร ในขั้นต่อไปจึงพยายามสำรวมจิต การสำรวมจิตของเรานั้น ก่อนอื่นให้เราปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในตัวของเรา คือเชื่อว่าเราสามารถปฏิบัติให้เกิด ให้มี ให้ได้รับผล คือสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิ การปฏิบัตินี้ไม่เหลือวิสัยที่เราจะพึงปฏิบัติได้ และถ้าเรามีความเชื่อมั่นในคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้าท่านก็มานั่งอยู่ที่ใจ พระธรรมเจ้าท่านก็มานั่งอยู่ที่ใจ พระสังฆเจ้าท่านก็มานั่งอยู่ที่ใจ แล้วสำรวมจิตเอาไว้ให้มั่น อันนี้จะขอพูดถึงสมถะวิธีว่าด้วยการบริกรรมภาวนา หลักการของการบริกรรมภาวนานั้น การบริกรรมภาวนานั้นเป็นอุบายกุศโลบาย วิธีการปฏิบัติแบบสมถกรรมฐาน การบริกรรมภาวนานั้นมีด้วยกันตั้งหลายบท หลายแบบ หลายอย่าง บางสำนักก็ให้ว่าพุทโธ บางสำนักก็ให้ว่ายุบหนอพองหนอ บางสำนักก็ให้ว่าสัมมาอรหังแล้วแต่ ความจริงทั้งสามแบบนี้ เราจะภาวนาบทหนึ่งบทใดก็ได้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อมุ่งให้จิตของเรานั้นสงบ เป็นสมาธิ มีสติ มีปัญญา สามารถที่จะพิจารณาสภาวะธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ผลลัพธ์ก็จะลงสู่จุดเดียวกัน ใครภาวนาก็อาศัยหลักการวิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา

ดังนั้นเราจะบริกรรมภาวนาคำบาลีบทหนึ่งบทใดก็ได้ หรือจะบริกรรมภาวนาเป็นภาษาชาวบ้านชาวเมืองก็ได้ ไม่จำกัดว่าเราจะต้องภาวนาบทหนึ่งบทใด หรือหากว่าจิตใจของเราไปติดอยู่กับลูกกับหลานคนหนึ่งก็ให้นึกถือ นึกถึงชื่อลูกเต้าหรือหลานของเราเอาไว้มาบริกรรมภาวนาก็ได้ เป็นห่วงบ้านก็เอาเรื่องบ้านมาบริกรรมภาวนาก็ได้ เพราะอะไรที่เรารักเราชอบเราติดอยู่ มันก็จะเป็นอุบายให้จิตของเราติดเร็วขึ้น ในขั้นต้นเมื่อเราหาอุบายที่จะมาผูกจิตให้ติดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเหนียวแน่นเสียก่อนแล้วเนี่ย เมื่อจิตของเราไปติดกับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น จดจ้องอยู่กับสิ่งนั้นความสนใจในสิ่งอื่นก็เป็นอันว่าเลิกรักกันไปได้ เมื่อจิตไปติดอยู่เพียงสิ่งเดียว ความเบาใจจะมีมั้ย ถ้าถามเนี่ย แตกต่างกับการที่จะไปยึดอยู่กับหลายๆสิ่งหลายๆอย่างหรือไม่ การบริกรรมภาวนานี่ เป็นการฝึกหัดจิตของเราให้มีความคิด เพราะบริกรรมภาวนาเป็นความคิดที่เราหามาป้อนให้แก่จิตของเราเอง เหมือนเราหาอาหารอันเลิศรสมาบำรุงกาย แต่อันนี้เราก็หาอุบายหรือกุศโลบายมาให้จิตของเราเป็นต้น แล้วก็มีสติกำหนดจิตนึกบริกรรมภาวนาอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ ตามที่เราถนัด เมื่อมีการบริกรรมภาวนาทำให้จิตมีอารมณ์ สิ่งรู้ สติ คือสิ่งระลึก

ในตอนต้นๆ เราตั้งใจนึกบริกรรมภาวนา แต่ในใจบริกรรมภาวนาไปจนกระทั่งจิตของเรานึกถึงบริกรรมภาวนาเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งจิตตั้งใจ ในขณะที่เรานึกบริกรรมภาวนาอยู่ หน้าที่ของเรามีเพียงตั้งใจให้ดีที่สุด บริกรรมภาวนากับให้มีสติรู้อยู่ที่บริกรรมภาวนานั้น อันนี้การตั้งใจภาวนาเป็นองค์วิตกที่เราตั้งใจนึกกับความตั้งใจมีสติ กำหนดรู้อยู่ที่บริกรรมภาวนากับจิตได้ชื่อว่าวิจารณ์โดยความตั้งใจ นักภาวนามีหน้าที่เพียงแค่ตั้งใจนึกบริกรรมภาวนาเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบีบบังคับข่มขี่ให้จิตเกิดความสงบและเกิดความรู้ ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะบังคับข่มขี่ให้จิตเกิดความสงบ เป็นกิริยาแห่งความอยาก คืออยากให้จิตมันสงบ ยากนักที่จะทำให้จิตมันเกิดความรู้หรืออยากให้จิตมันเกิดความรู้ เมื่อเรามาปฏิบัติด้วยความอยาก จิตของเราจะสงบได้อย่างไร เพราะความอยากเป็นตัวกิเลสที่คอยปิดกั้นอย่างนั้น

นักภาวนาควรที่จะได้ทำจิตของตนเอง เพียงแค่นึกคำภาวนาและมีสติรู้อยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น เรื่องความสงบหรือไม่สงบขอให้เป็นเรื่องของจิตเอง อย่าไปบังคับจิต จิตจะรู้หรือไม่รู้ก็ให้เป็นเรื่องของจิตเอง อย่าไปบังคับข่มขี่โดยธรรมชาติของจิต เมื่อมีอารมณ์สิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ผู้บริกรรมภาวนานี้ตั้งใจบริกรรมให้มากๆ ทำให้มากๆ ทำจนคล่องตัว ทำจนชำนิชำนาญ ทำจนกระทั่งจิตของเรามีความเป็นเองโดยธรรมชาติ คือ จิตยึดบริกรรมภาวนาเองโดยไม่ตั้งใจ และสติก็รู้อยู่ที่บริกรรมภาวนานั้นโดยตัวของตัวมันเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ภาวนาจะได้ องค์ฌานที่หนึ่ง กับองค์ฌานที่สอง เมื่อจิตมีองค์ฌานที่หนึ่ง องค์ฌานที่สองนึกบริกรรมภาวนาเอง สติรู้อยู่เองย่อมเกิดปิติ เมื่อเกิดมีปิติขึ้นมาแล้ว ความสุขเราไม่ปรารถนาก็เกิดมีขึ้น เพราะความสุขเป็นผลที่เกิดจากปิติ เมื่อจิตของนักภาวนามีปิติและความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตแล้วนี้ จิตย่อมบ่ายหน้าสู่แหล่งความสงบ

ความสงบสบายที่จิตเกิดเป็นความปิติ เป็นอาการที่จิตนักภาวนากำลังดื่มรสแห่งพระสัจจะธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอย้ำอาการของปิติที่เกิดขึ้นกับนักภาวนา นักภาวนาบางท่าน เมื่อปิติเกิดขึ้นทำให้กายสั่นบ้าง ทำให้กายโยกโคลง ทำให้ขนหัวลุกชูชัน ทำให้รู้สึกซาบซ่าไปทั่วกาย รู้สึกคล้ายกับตัวลอยอยู่บนอากาศ รู้สึกว่าตัวใหญ่พองขึ้น รู้สึกว่าตัวเล็กลง เกิดความสว่างขึ้นมา รู้สึกว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหายไป รู้สึกว่ามีความร้อนเกิดขึ้นทำให้น้ำตาไหล ทำให้หัวเราะ ทำให้ร้องไห้ ทำให้กายเบา ทำให้จิตเบา ทำให้กายสงบ ทำให้จิตสงบ นี่คืออาการแห่งปิติ ซึ่งนักภาวนาจะต้องสังเกตให้ดี เมื่อปิติบังเกิดขึ้นแล้ว

บางครั้งนักภาวนาจะหยุดบริกรรมภาวนา บางครั้งก็ยังไม่หยุดยังนึกถึงคำบริกรรมภาวนาตลอดไป บริกรรมภาวนาจะหยุดหรือไม่หยุดไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าบริกรรมภาวนาหยุดไปแต่จิตมีปิติ มีความสุข ไม่ต้องไปนึกถึงบริกรรมภาวนาอีก กำหนดรู้จิตของตัวเอง อย่าให้มีความคิดอันใดเกิดขึ้นมาแทรกแซง อย่าตั้งใจคิดอะไรขึ้นมาในขณะจิตว่างอยู่ แต่ถ้าจิตของท่านผู้ภาวนาเกิดว่างลง แม้จะว่างอยู่ชั่วครู่ชั่วขณะก็ตาม แล้วความคิดเกิดขึ้นแต่รู้สึกว่าจิตอยู่ในความสงบ ดื่มรสปิติและความสุขอย่างเต็มที่ก็ปล่อยให้จิตคิดไป แล้วรู้ตามความคิด คล้ายๆว่าเรารู้อยู่ในทีอย่าให้ความตั้งใจบังเกิดขึ้น หรืออย่าไปนึกว่าเราจะตั้งใจดูความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้นให้ดูอยู่ในที่ อย่าให้สภาพจิตเปลี่ยน ให้ประคองจิตเอาไว้ รู้อยู่ที่ตัวผู้รู้ รู้อยู่ที่ความว่าง รู้อยู่ที่ความคิด กำหนดรู้จิตจนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป ผ่านอุปาจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิขั้นละเอียด เมื่อจิตเข้าไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ถ้าว่าโดยสมาธิก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ว่าโดยจิตก็เรียกว่าอัปปนาจิต ว่าโดยทานก็เรียกว่าอัปปนาทาน บางท่านเรียกว่า จิตอยู่ในชานที่สี่ นักภาวนาควรจะกำหนดหมายรู้ไว้ว่า เมื่อบริกรรมภาวนาจิตดื่มรสปิติและความสุขอย่างเต็มที่ หรือในขณะที่จิตอยู่ในปิติและความสุข จิตอาจจะหยุดบริกรรมภาวนา แต่ไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ ก็ปล่อยให้จิตรู้อยู่ที่ลมหายใจ ไม่ต้องไปนึกถึงบริกรรมภาวนาอีกในตอนนี้ นักปฏิบัติควรจะตั้งใจสังเกตดูให้ดี เมื่อจิตดูลมหายใจในบางขณะจะรู้สึกว่าอาการหายใจจะแรงขึ้น หรือเร็วถี่ขึ้นจนมีลักษณะคล้ายๆกับหอบด้วยความเหน็ดเหนื่อย ฉะนั้นก็ให้กำหนดรู้เฉยๆอยู่ อย่าไปเอะใจหรือตกใจอะไรทั้งสิ้น

เมื่อบางครั้งลมหายใจอาจจะละเอียดลงไป แผ่วเบาลงไปทุกที ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจอยู่อย่างนั้น บางท่านยังไม่ชำนาญในการภาวนา เมื่อลมหายใจแรงขึ้นหรือถี่ขึ้น หรือลมหายใจละเอียดลงทำท่าจะหายขาด เกิดตกใจไปถึงอาการเช่นนั้น จะไประงับอาการอย่างนั้น ถ้าจิตจะเข้าสู่อัปปะนาสมาธิ บางทีเมื่อเราไปฝืนมันก็จะถอนทันที เมื่อถอนทันทีแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าจิตกำลังจะดิ่งลงสู่อัปปะนาสมาธิแล้ว ในบางครั้งเราไปฝืนไปขัดขวางมันเป็นการขัดใจมันเนี่ย แล้วเราจะรู้สึกว่าอึดอัดคล้ายๆกับใจจะขาด นี่ถ้าหากว่าเราไปฝืนมันมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทั้งลมหายใจแรง ลมหายใจแผ่วเบา ก็ให้กำหนดรู้จิตของตัวเองอยู่เสมอ เพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอาการที่จิตเขาแสดงออกเอง

เมื่อเรากำหนดรู้อยู่ทั้งสองอย่างจิตค่อยสงบละเอียดลงไปในที่สุด ลมหายใจทำท่าจะหายไปพร้อมๆกันนั้นร่างกายก็ทำท่าจะหายไปด้วย ถ้าหากพวกเราท่านทั้งหลายที่ยังไม่ต้องการให้จิตสงบลงเป็นอัปปนาสมาธิจนตัวหาย ลมหายใจขาดไปเนี่ย ให้นึกว่ากายยังอยู่ลมหายใจยังอยู่ แล้วความอยากของจิตก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องตั้งหน้าตั้งตากำหนดจิตบริกรรมภาวนา หรือดูลมหายใจใหม่อีก อาการเช่นนี้ไม่ควรทำแม้ว่าลมหายใจจะหายขาดไป ร่างกายจะหายไปก็ตาม ปล่อยให้มันเป็นไปอย่าไปขัดขวางมัน เมื่อเราให้มันเป็นไปเช่นนั้นความเบาบางในความรู้สึกว่ามีกายทำท่าจะหายขาดไป บางทีตัววิจิกิจฉามันก็วิ่งเข้ามาพัน วิจิกิจฉา คือ ความลังเล สงสัย มันก็จะวิ่งเข้ามาพัน แล้วมันจะเกิดมีปัญหาขึ้นมาว่า เมื่อกายหายไปแล้ว ลมหายใจหายไปแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน นี่ปัญหานี่ก็มักจะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติบ่อยๆ

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ ให้จับตัวผู้ที่ว่าเมื่อกายหายไปแล้ว ลมหายใจหายไปแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน จับตัวผู้นั้น ตัวผู้ที่ถามนั่นแหละ เราอาจจะนึกหาคำตอบขึ้นมาได้ว่ากายหายไป ลมหายใจหายไป จิตมันก็อยู่ที่จิตนั่นเอง เมื่อเรามีสติรู้ทันอยู่อย่างนี้ สมาธิของเราจะไม่ถอน แล้วจิตจะบ่ายหน้าเข้าสู่ความสงบละเอียดลงไปจนถึงอัปปนาสมาธิ

ทีนี้เมื่อจิตสงบลงไปเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ เมื่อสมาธิอันนี้เป็นสมาธิในฌาน จิตจะไม่สงบนิ่ง ว่าง สว่างอยู่เฉยๆ ความรู้ก็ไม่มี มีแต่ตัวรู้ปรากฏเด่นชัดอยู่เท่านั้น แม้แต่กายก็ไม่ปรากฏ ลมหายใจก็ไม่มี มีแต่ตัวรู้ ความรู้ไม่มี ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายเคยพิจารณาดูบ้างรึเปล่า ที่จิตบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ หรืออยู่ในฌานเนี่ย อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาทาน ในขณะนั้นร่างกายตัวตนไม่ปรากฏแล้ว มีแต่จิตดวงเดียวจึงเหลืออยู่แต่ตัวรู้ ตัวรู้ตัวนี้คือ ตัวพุทธะ ผู้รู้พุทธะ ผู้ตื่นพุทธะ ผู้เบิกบาน รู้กับความรู้มันต่างกัน จิตที่รู้อยู่เฉยๆประกอบด้วยความสว่างไสวเบ่งบานเต็มที่ อันนี้จิตพุทธะคือ จิตรู้ จิตผู้รู้แต่ไม่มีความรู้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะจิตไม่มีกาย เมื่อกายไม่มีความรู้มันก็ไม่มี เพราะความรู้อันใดที่เป็นสมมุติบัญญัตขึ้นมาเนี่ย มันจะมีได้ก็เพราะมีกายปรากฏอยู่เท่านั้น

เมื่อกายไม่ปรากฏอยู่ จิตไม่สัมผัสกับร่างกายคือ ไม่สัมผัสกับรูป มันละทิ้งตัดขาดจากกันไปแล้ว จิตไม่มีเครื่องมือมันก็ไม่มีความคิดความอ่าน เมื่อมันไม่มีความรู้นั่นเอง เราตั้งใจคิดได้เพราะเรามีกาย เราตั้งใจรู้ได้เพราะเรามีกาย ในเมื่อเราไม่มีกายเราตั้งใจคิดไม่ได้ ตั้งใจรู้ไม่ได้ เพราะอาการแห่งความคิดและความรู้มันเกิดจากประสาทสมองซึ่งเป็นเรื่องของกาย เมื่อจิตมันทิ้งกายไปแล้ว เราก็ไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ ก็ได้แต่นิ่งเฉยอยู่เท่านั้น และนิ่งรู้อยู่ในจุดเดียว ไม่มีความรู้อันใดปรากฏขึ้น ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าจิตอยู่ในฌาน

เมื่อจิตอยู่ในฌานรู้อยู่ในสิ่งเดียว คือรู้ในจิตบ้าง รู้ในดวงกสินที่เราเพ่งบ้าง เช่นบางคนอาจจะเพ่งดูโครงกระดูก เมื่อจิตรู้นิมิตเป็นโครงกระดูกขึ้นมาแล้ว รู้นิ่งอยู่ในโครงกระดูกเพียงอย่างเดียว อันนี้เรียกว่า จิตรู้อยู่เฉยๆ ที่ว่าไม่มีความรู้เพราะในขณะนั้นจิตรู้แล้วจิตไม่บอกว่านี่คือโครงกระดูก สักแต่ว่ารู้เฉยอยู่เท่านั้น

ถ้าหากจิตไม่มีสิ่งรู้เพียงแต่รู้ที่จิตสว่างไสวอยู่จิตก็ไม่มีความรู้ และรู้สักแต่ว่ารู้ ไม่มีความรู้ว่าจิตสงบนิ่งแล้วเนี่ย จิตสว่างแล้ว จิตเบิกบานแล้ว ความรู้อันนี้ไม่มี เพราะมันไม่มีมันสมอง ไม่มีประสาทสั่งการ ไม่มีประสาทที่จะช่วยให้จิตมีความคิด นี่คือธรรมชาติที่แท้ เรียกว่าจิตดั้งเดิมเป็นอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอารัมณูปณิชฌาน มักจะเกิดขึ้นกับนักภาวนาที่เพ่งกสินบ้าง เกิดกับนักภาวนาที่บริกรรมภาวนาบ้าง เมื่อจิตสงบลงไปอย่างนี้เรียกว่า จิตสมถะอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตไม่มีความรู้เนี่ยน่าน้อยใจมั้ย น่าเสียใจมั้ย อย่าไปเสียใจ เมื่อจิตอยู่ในฌานฝึกฝนอบรมมากๆเข้า เข้าออกฌานจนชำนิชำนาญเรียกว่า วสี มีความคล่องตัวต่อการเข้าสมาธิ ต่อการออกสมาธิ สามารถที่จะกำหนดจิตให้อยู่ในฌานขั้นใด หรือให้ไต่ไปตามลำดับของฌาน โดยอาศัยความชำนิชำนาญในการเข้าการออกสมาธิในการเข้าฌาน แม้จิตจะไม่มีความรู้ จิตก็ย่อมมีปัญญาที่จะรู้ขึ้นมาได้ รู้ได้อย่างไร รู้ได้ว่านี่จิตสงบเป็นสมาธิ นี่จิตอยู่ในสมาธิขั้นขณิก นี่จิตอยู่ในสมาธิขั้นอุปปจาร นี่จิตอยู่ในสมาธิขั้นอัปปนา นี่จิตอยู่ในฌานที่หนึ่ง นี่จิตอยู่ในฌานที่สอง นี่จิตอยู่ในฌานที่สาม นี่จิตอยู่ในฌานที่สี่ นี่จิตได้ทอดทิ้งกายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตผู้รู้ดวงเดียวเท่านั้น

เมื่อนักภาวนาได้ความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านยังตำหนิว่านักสมถกรรมฐานโง่หรือฉลาด ความที่จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิเป็นสมถะ ความรู้ว่านี่เป็นสมาธิ นี่คือฌาน เป็นวิปัสสนารู้แจ้งแทงตลอดหายสงสัย ยกตัวอย่างเมื่อเราท่านทั้งหลายยังไม่สามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านก็ยังต้องสงสัยอยู่นั่นแหละว่า สมาธิคืออะไร ฌานคืออะไร ญานคืออะไร ในเมื่อจิตของท่านเป็นดังที่กล่าวมาแล้วนี้ พวกเราท่านก็รู้ทันทีว่านี่คือสมาธิ นี่คือฌาน นี่คือญาน ท่านอาจจะไม่รู้ขั้นตอนของฌานนั้นๆก็ตามที แต่ว่าจิตของท่านเข้าไปอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ชื่อว่าท่านได้ทำแล้วซึ่งสมาธิ

เมื่อท่านฝึกหัดจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนสามารถที่จะกำหนดเข้าสมาธิออกสมาธิได้ตามที่ท่านต้องการ ได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้ได้สมาธิขั้นสมถะ และได้ความรู้ขั้นวิปัสสนาอ่อนๆขึ้นมา คือ รู้ว่าสมาธิคืออะไรนั่นเอง ทำไมท่านจะไปตำหนิว่านักภาวนาขั้นสมถะโง่อย่าเข้าใจผิด จะโง่ได้อย่างไร เพราะเมื่อจิตเขาผ่านสมาธิ ผ่านฌานอย่างชำนิชำนาญจนคล่องตัว เขาเหล่านั้นก็สามารถจะหายสงสัยในเรื่องสมาธิ ในเรื่องฌาน ความรู้แจ้งเห็นจริงจนหายสงสัยนั่นแหละ เราจะเรียกว่าวิปัสสนาก็ไม่ผิด เพราะวิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายอย่าพึ่งเข้าใจว่า เมื่อท่านทำจิตให้สงบ นิ่งสว่างลงไปแล้ว ไปถือความสว่างนั่นเป็นวิปัสสนาคือ ความเห็นแจ้งไม่ใช่อย่างนั้น วิปัสสนา แปลว่า ความรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่มีปรากฏการณ์ขึ้นในจิตของท่านเอง ดังที่จิตได้ผ่านสมาธิมาตามขั้นตอนต่างๆ นักภาวนาทั้งหลายเราไปติดกันอยู่เพียงแค่ว่าบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้ว จิตยังไม่ได้วิตก วิจาร เพียงแต่พุทโธ จิตยังไม่บริกรรมภาวนาเอง จิตยังไม่รู้บริกรรมภาวนาเอง พอรู้สึกว่ามีอาการเคลิ้มๆลงไป จิตก็กระโดดวูบลงไปนี่ว่าสว่าง เสร็จแล้วก็เข้าใจว่าตัวได้สมาธิ ไปพอใจเพียงเท่านั้น

สมาธิที่เราได้มันต้องดำเนินไปตามขั้นตอน สมาธิต้องมีวิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา เราสามารถกำหนดระยะจิตที่ก้าวเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ สู่ฌานตามขั้นตอนได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน พุทโธ พุทโธ แล้วจิตกระโดดวูบลงไปสงบนิ่งว่าสว่างขึ้นมานี้ อันนั้นจิตเริ่มจะได้วิตก วิจาร แต่ว่าสติยังอ่อนประคองจิตอันนี้ พึงเข้าใจเถิดว่าสมาธิแบบนี้เรียกว่า สมาธิขั้นปลุกพระนิมิต แล้วเราก็ไปติดใจอยู่เพียงว่าภาวนาจิตสงบวูบลงไปนี้ ไม่รู้เลยว่าจิตดื่มรสปิติและความสุขเป็นอย่างไร มันข้ามขั้น เมื่อมันข้ามขั้นขึ้นไปเช่นนั้น จิตก็ได้แต่วิตก วิจาร โดยความตั้งใจ ยังไม่ได้วิตก วิจารโดยความเป็นเอง พึงเป็นองค์แห่งฌาน พอกำลังจะได้วิตก วิจาร จิตปล่อยวางบริกรรมภาวนา กระโดดปุ๊บนิ่ง ว่าง สว่างไปเลย ข้ามขั้นไปอยู่โน่นอุเบกขากับเอกัคคตา รู้แต่ว่าจิตสงบนิ่งมันเป็นอย่างนี้เท่านั้น แต่ไม่รู้องค์ฌานที่จะละเอียดละออดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

แต่ด้วยประการใดก็ตาม นักภาวนาที่สามารถทำจิตให้กระโดดนิ่ง ว่างปุ๊บลงไปได้ก็นับว่าเป็นการดี แต่ภายหลังมานี่เมื่อจิตของเรามีสติสัมปชัญญะดีขึ้น เมื่อภาวนาแล้วจิตกำลังจะได้วิตก วิจาร หรือไปอยู่ตรงที่วิตก วิจาร ไม่สงบกระโดดวูบลงไป ท่านก็จะเข้าใจว่าภูมิจิตมันเสื่อม เพราะมันไม่กระโดดไปอย่างเก่า แต่แท้ที่จริงแล้วนี่จิตมันกำลังเริ่มจะมีวิตก วิจาร และมันยังไม่ทิ้งวิตก วิจาร มันจะค่อยๆสงบลงให้ปรากฏว่ามีกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ดำเนินไปตามขั้นตอนตามระยะแห่งฌานขั้นนั้นๆ

เมื่อจิตของท่านถอนออกมาจากสมาธิขั้นนี้เมื่อใด พอรู้สึกว่ามีกายปรากฏขึ้น อย่าพึ่งด่วนผลีผลามออกจากที่นั่งสมาธิทันที ธรรมชาติของจิตเมื่อปรากฏมีกายเกิดขึ้นมา ความคิดก็จะเกิดขึ้นทันที เพราะจิตกับกายซึ่งแยกกันไปตั้งแต่ก่อน ได้กลับมามีความสัมพันธ์กันอีกทีหนึ่ง เมื่อความคิดเกิดขึ้นมาในขั้นนี้ ท่านรีบให้มีสติ ให้มีความรู้ ความคิดทันที ถ้าสามารถกำหนดตามความคิดตามอารมณ์จิตไป จนกระทั่งจิตมีวิตก วิจาร มีปิติ มีความสุขและมีความเป็นหนึ่งอีกได้ยิ่งดี คือเอกัคคตา ถ้าหากว่าท่านมีสติกำหนดได้ตามความรู้ ความคิดของตัวเราเอง หรือตัวท่านนี้ถ้าจิตท่านคิดเอง สติรู้อยู่พร้อมเอง ท่านก็ได้อง์ฌานที่หนึ่งและที่สอง คือวิตกและวิจาร เมื่อจิตมีวิตกกับวิจารเป็นทุนอยู่แล้ว ปิติและความสุขจะไม่เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อปิติและความสุขบังเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นหนึ่งคือ ความสงบของจิต ท่านปล่อยวางอารมณ์มีแต่จิตสงบ นิ่ง ว่างอยู่อย่างเดียวจะเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ ผู้ภาวนาที่ว่าจิตมันได้สมถะไม่นิ่งอยู่เฉยๆ แล้วไม่เกิดความรู้ เพราะในเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้วมาปรากฏว่ามีกาย ท่านให้กำหนดจิตให้มีสติตามรู้ความคิดของตัวเราเองไปตลอดเนี่ย อย่าปล่อยโอกาสทองอันมีค่าให้มันล่วงเลยไป เพราะไปมัวดีใจว่าเราได้สมาธิก็พอแล้ว

ดังนั้นเพื่อให้ภูมิจิตภูมิใจของท่านของตัวเราเองก้าวหน้าไปในด้านทางภาวนา เมื่อความคิดเกิดขึ้นหลังจากจิตถอนจากสมาธิอย่าละโอกาส กำหนดสติตามรู้ไปทันที แต่บางท่านเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้วจิตมันไม่คิด ท่านสอนให้พิจารณา พิจารณาอะไร พิจารณาคือลำดับข้อปฏิบัติที่เราเริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่เรานี่จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ได้ไหว้พระ สวดมนต์ ได้แผ่เมตตา และได้กำหนดจิตบริกรรมภาวนาเอาอะไรเป็นอารมณ์ เมื่อบริกรรมภาวนาไปแล้ว ขณะที่เราบริกรรมไป อะไรเกิดขึ้นกับจิตเราบ้าง จิตของเรามีวิตกวิจาร ปิติ สุข เอกัคคตาสงบลงเป็นสมาธิรึเปล่า นึกตามความเป็นของจิตย้อนกลับไปกลับมาพอสมควรแล้ว จึงกำหนดจิตนึกถึงว่าพุทโธ ธรรมโม สังโฆแล้วก็ออกจากสมาธิ นักภาวนาเมื่อบริกรรมภาวนาก็ดี หรือการกำหนดรู้อารมณ์จิตจนกระทั่งจิตสงบลงเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเอกัคคตา หรือสงบละเอียดจนกระทั่งเหลือแต่ตัวรู้ ตื่น เบิกบาน นิ่งเฉยอยู่ก็ตาม นี่ท่านเรียกว่า จิตรวมลงสู่อริยมรรคในขั้นต้น ในตำราแห่งการภาวนาในพระไตรสรณคมย่อๆ ท่านได้แนะนำไว้อย่างนี้อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา

= รวมคำสอน “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” (พระพิศาลญาณวงศ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49194

= ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45116

= ประมวลภาพ “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=49172
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร