วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 21:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2010, 14:07
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: หลวงปู่ลงมือสร้างฝายให้ชาวบ้าน 10/08/2010
.jpg
.jpg [ 54.79 KiB | เปิดดู 1880 ครั้ง ]
s007

หลวงปู่ลงมือสร้างฝายให้ชาวบ้าน 10/08/2010
แม้หลวงปู่ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ร่างกายท่านก็มิได้แข็งแรง
นายอำเภอมาบอกว่า น้ำในลำคูกำลังหลาก หากไม่กั้นไว้ก็จะไม่มีน้ำใช้
ขอร้องหัวหน้าหมู่บ้านและชาวบ้านแล้ว ยังไม่เห็นมีใครมาช่วย
หลวงปู่ท่านไม่นิ่งเฉย เกณฑ์พระเกณฑ์เณรช่วยกั้นฝายเท่าที่จะทำได้
แม้ตัวท่านเองก็ลงมือเอง ทำงานจนถึง ๒ ทุ่ม
ทั้งที่วันรุ่งขึ้นต้องเข้ากรุงเทพฯ มาประกอบพิธีที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค (ของซีคอนฯ)
เห็นได้ว่าหลวงปู่ท่านไม่เคยละเลยที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเลย
มีแต่จะสงเคราะห์ให้ชาวบ้าน ชาวนา มีน้ำไว้ใช้ไม่เดือนร้อน


จิตที่ควรละออกจากกิเลส

ก่อนที่ลูกเอ๊ยหลานเอย เราจะนั่งปฏิบัติหรือเราจะนั่งภาวนานั้น เรานั่งปฏิบัติ นั่งภาวนาเพื่ออะไร เพื่อฝึกจิตฝึกใจของเราให้สงบ หลวงปู่ก็จะต้องพูดให้ลูกหลานได้เข้าใจถึงคำว่าจิตเสียก่อน ให้พวกเราทุกคนที่จะนั่งภาวนา ให้รู้จักจิตรู้จักใจเสียก่อน จึงค่อยฝึกหัดจิต ถ้าเรายังไม่รู้จักจิตก็ฝึกจิตไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจิตคืออะไร ถึงฝึกหัดก็ฝึกหัดไปอย่างนั่นแหละ มันก็นำไปตามเรื่องตามราวของมัน เพราะไม่รู้จักที่ตั้งของจิต เพราะไม่รู้จักอาการของจิต ไม่รู้จักจุดมุ่งหมายของจิตคืออะไร

เหตุทั้งหลายนั้นควรที่จะจับตัวต้นของจิตให้ได้เสียก่อน ว่าจิตนั้นมีอาการเป็นแบบไหน อาการมันหลอกหลอน มันโกหก มันเป็นมายา ท่านเรียกไว้หลายอย่างหลายเรื่องด้วยกัน จิตเป็นผู้ปรุงแต่ง จิตเป็นคนหลอกลวง จิตมีมายาสาไถย จิตเป็นมาร จิตเป็นกิเลส ท่านพูดถึงเรื่องจิตทั้งนั้น อันนี้พูดถึงเรื่องจิตที่อยู่ฝ่ายชั่ว ในทางที่ดี องค์สมเด็จพระบรมครูท่านก็บอกไว้ว่า จิตที่ฝึกหัด ฝึกอบรมบ่มนิสัยบ่อย ๆ หรือจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี่ยากนักที่จะเข้าใจว่า จิตที่ฝึกฝนแล้วนั้นมันอยู่นิ่งสงบ นั่นแหละลูกเอ๊ยหลานเอย มันเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ แต่คนไม่ชอบ หากมันพาวิ่งว่อน พาปรุง พาแต่ง พานึกพาคิดส่งส่ายด้วยประการต่าง ๆ นั่นแหละคนเรามักชอบ เพราะนิสัยของจิตนั้น แต่ไหนแต่ไรมามันไม่อยู่คงที่ อุปมาอุปไมยมันก็เหมือนกับลิงทั้งหลายที่ชอบกระโดดโลดเต้นไปตามภาษาของมัน คนเราก็เลยเข้าใจว่า การกระโดดโลดโผนนั้นเป็นความสุขความสบาย

จิตที่สงบที่อบรมได้แล้ว ให้เราเข้าใจว่าเป็นเครื่องเดือดร้อน ควรคุมให้มันอยู่คงที่ มันไม่กระโดดโลดโผน เห็นว่าจิตนั้นอยู่ในบังคับ ไม่มีอิสระ ความเข้าใจของคนเป็นแบบนั้น จิตที่ควบคุมได้แล้วนั้น ท่านบอกว่านำความสุขมาให้ ให้คิดดูว่า อันจิตที่มันไม่หยุดไม่นิ่ง มันเดือดร้อนวุ่นวายกระสับกระส่าย ไปหาสิ่งที่รักที่ชอบ ยินดีพอใจก็เพลิดเพลินเจริญใจไปทุกสิ่ง ที่ทุกข์โศกที่เศร้าที่เสียใจก็เดือดร้อนวุ่นวาย ร้องห่มร้องไห้ไปตามประสา มันไม่ได้อยู่นิ่ง จิตที่เป็นกลาง ๆ นั้น เค้าเรียกว่าจิตอุเบกขา คือการวางเฉย ความอุเบกขาไม่มีอะไรเลย ความไม่มีอะไรเลยนั่น เมื่อมีขึ้นมาแล้วจึงเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าวิสัยของจิต มันดิ้นรนอย่างนั้น ก็มีหลายคนเข้าใจว่า อันนั้นเป็นความสุขสบาย เราทำอย่างไรจึงจะให้พอใจยินดีกับความสุขอันนั้น ก็ให้เรามาฝึกปฏิบัติให้จิตตรงนี้แหละให้เข้าถึงความสงบ แล้วเกิดความยินดีพอใจกับอันนั้นสิ่งนั้น ให้อยู่กับสิ่งเหล่านั้นทั้งหลาย จึงจะได้รับความสุขความสบาย เมื่อได้แล้ว ไม่พอใจก็ไม่ยินดี ไม่เกิดความสุขเหมือนกัน แล้วจะไปเอาความสุขอันไหน เราจะไปหาความสุขที่ไหน แต่ไหนแต่ไรมา เราหาความสุขได้ยาก มนุษย์ชาวโลกนี้ ร้อยเกือบทั้งร้อยหาความสงบสุขไม่ได้ ถึงพวกปฏิบัติก็ลองดูกันเองนะลูก ลองดูเถอะ จะอยู่ได้สักครู่หนึ่ง ขณะหนึ่งก็ไม่ได้ วิ่งว่อนอยู่อย่างนั้นละ หาความสุขสงบกันไม่ได้ จึงว่ามนุษย์ชาวโลกพอใจยินดีในวิสัยของมาร คือความทุกข์นั่นเอง มันชอบหลอกมันชอบลวงให้หลงไปตามวิสัยของมัน วิสัยชอบ วิสัยรัก วิสัยยินดี พอใจเพลิดเพลินเจริญใจไปกับสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น หาได้เข้าใจว่าเป็นสิ่งไม่มีสาระไม่ เรายินดีในสิ่งใด เพลิดเพลินลุ่มหลงในสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเจริญถาวร มีวันหนึ่งจะต้องฉิบหายเสื่อมสูญจากไปอย่างแน่นอน นี่คือความเป็นจริง

สิ่งของวัตถุเงินทองข้าวของสมบัติ คนเรานั้นมักยินดีพอใจชอบสิ่งเหล่านั้น หาความเข้าใจได้ว่ามันจะต้องพลัดพรากจากไป เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวเองเอาจริง ๆ จัง ๆ ถือเป็นอัตตา คือตัวตน ยึดมั่นถือมั่น เวลามันเสื่อมสูญไป เกิดความเศร้าโศกเสียใจเดือดร้อนนั่นแหละ จะมีความสุขที่ไหนเล่าลูกเอ๊ยหลานเอย ถ้าหากเราพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา แต่หากเราไม่เห็นเป็นธรรมดา มันเห็นเป็นของตนของตัวเอาจริง ๆ จัง แท้ที่จริงธรรมดามันต้องเป็นอยู่อย่างนี้ เราเข้าไปสวมไปกอดไปรัดเอาไว้เฉย ๆ แล้วเราก็เอามาเป็นของตนของตัวเฉย ๆ สิ่งนั้นก็ต้องพลัดพรากจากไปเป็นธรรมดา

ปิยโต ชา-ยเต โสโก นี่ รักในสิ่งใดชอบในสิ่งใด ความโศกเกิดจากสิ่งเหล่านั้นแหละ สมมุติว่าถ้าหากพ่อแม่พี่น้องบุตรหลานของพวกเราทั้งหลายที่เราถือว่าเป็นของเรา วันหนึ่ง เขาเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากไป ความทุกข์โศกแสนที่จะทุกข์แสนที่จะโศก ถ้าหากเป็นคนอื่นคนไกลที่ไมใช่ญาติของเรา เราก็เฉย ๆ นั่นแหละ

ปิยโต ชา-ยเต โสโก ปิยโต ชา-ยเต ภยํ ภัยนี้มันเกิดจากความรัก เป็นภัยอันตรายต่าง ๆ ที่มาถึงลูกของเราหลานของเรา พ่อแม่พี่น้องของเรา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะถือว่าเป็นของเรา ถ้าภัยถึงคนอื่น เราเฉย ๆ ไม่เห็นเดือดร้อนวุ่นวายอะไร ถ้าไม่เกิดความรักก็ไม่มีภัย ไม่มีความโศก ลูกเอ๊ยหลานเอย นี่แหละจิตมันหลอกลวง แท้จริงของเขากับของเราก็เหมือนกัน ชื่อว่าเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคน เกิดมาในโลกนี้เหมือนกัน เป็นธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกันทุกคน แต่เราไปสมมุติว่าเราว่าเขานั้น มันจึงคอยโศกคอยเดือดร้อน ที่สมมุติว่าเราว่าเขาว่าตนว่าตัวนั่นแหละ มันหลอก แท้ท่จริงมันไม่ใช่ของใคร มันมีเกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา

จึงอยากจะให้ลูกหลานทั้งหลายได้ใคร่ครวญพิจารณาอยู่เสมอนะลูก ว่าของอันนี้เป็นของเกิด-ดับ เกิด-ดับอย่างนี้ตลอดเวลา อย่าให้เข้าไปยึดไปติดได้ ถ้าหากไปยึดไปติดเข้า ก็ต้องบอกมันด้วย อันนั้นมันหลอกลวงเราแล้ว จิตมันหลอกลวงเราแล้ว มันลวงให้เราหลง ให้เราเมามัวไปกับกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น พระประทีปแก้วของเราทรงสอนพวกเรา ทรงบอกแล้วบอกอีก พระองค์ทรงกลัวว่าพวกเราจะไปหลงตามมัน ตามเล่ห์กลมายาของมัน พระองค์ทรงสอนเท่าใด สอนมากมายมหาศาล เราก็ยังไปติดเล่ห์กลมายาของมันอยู่นี่แหละ จึงว่ามันยาก ยากตรงนี้แหละ ยากที่จะถอนตรงนี้ ไม่ต้องละไม่ต้องถอนตรงอื่นหรอก จะอยู่ใกล้ชิดกันก็ตาม หรืออยู่ไกลแสนไกลก็ช่างเถอะ ถ้าหากละตรงนั้นได้แล้ว อยู่ใกล้ชิดก็เหมือนกับอยู่ไกล อยู่ไกลก็ยิ่งแสนไกลออกไป ห่างเหินกันไปหลายร้อยหลายชั่งหลายร้อยโยชน์

อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่น ขอให้ลูกหลานทั้งหลายคิดเฉพาะตัวของเราก็แล้วกันนะลูก เอาตัวของเรานี่แหละเสียก่อน เรารัก เราชอบใจ เรายินดี เราพอใจ แขนขาหรือแม้แต่อวัยวะทุกชิ้นส่วนที่เราถือว่าเป็นตัวของเราขึ้นมา ถ้ามันเจ็บหูเจ็บตาเจ็บแข้งเจ็บขา ก็เข้าใจว่าเป็นของเรา แท้ที่จริงแล้วจิตมันหลอก สภาพของมันเกิดขึ้นมาปรุงแต่งขึ้นมา มันให้เป็นอยู่อย่างนั้นตามเรื่องของกาย ครั้นจิตไม่ได้เกี่ยวข้องแล้วก็หมดเรื่อง ถ้าไม่เชื่อก็ลองปฏิบัติดูนะลูก จิตเราเมื่อทำความสงบเต็มที่แล้วน้น ของเหล่านั้นหายหมด คือความเจ็บ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พิจารณาเฉพาะอันนี้เสียก่อน เห็นเฉพาะสิ่งนี้เสียก่อน จริงจังลงไปเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปพิจารณาสิ่งอื่นต่อไป

จึงว่าตัวของเรานั่นแหละเป็นที่ตั้งของธรรมทั้งหลาย ถ้าเรามาพิจารณาอะไรก็พิจารณาไปกันเถิด ถ้าไม่พิจารณาในตัวของเราแล้ว มันจะไม่เห็นความชัดเจนในตัวของเรา แล้วเมื่อปล่อยวางในตัวของเราแล้ว สิ่งอื่น ๆ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงมันเลย มันต้องเกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จึงว่าธรรมมีอยู่ในที่นี้ ครั้นเห็นที่นี้เป็นธรรมแล้ว ของอื่นก็เป็นธรรมทั้งหมด

ธรรมคืออะไร ธรรมคือธาตุสี่ ที่เราเรียกกันว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ เรียกธรรมชาติ เรามาพิจารณาเป็นธรรมชาติ มีความเกิด ความดับ ความเสื่อมสลายเป็นที่สุด เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ให้ลูกเอ๊ยหลานเอยพิจารณาให้เห็นธรรมชาติได้แล้ว สิ่งอื่นนอกกายของเรามันก็เป็นธรรมชาติไปด้วยทั้งหมด ให้เรามาพิจารณา อย่างไรมันจึงจะเป็นธรรมชาติ เอาตรงนั้นแหละ ให้มันชัดเจนตรงนั้น แท้ที่จริงมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็นธรรมชาติ มันสำคัญอยู่ตรงนั้น เราเกิดขึ้นมาเรียกว่าเราเอาธาตุสี่คือดิน น้ำ ลม ไฟมาเกิด เอาธรรมชาติมาเป็นแข้งขามือตีนทั้งหลาย เราเอาอวัยวะทุกส่วนนั้นเป็นธรรมชาติทั้งหมด แต่บางครั้งเราไม่เคยเห็นธรรมชาติ เห็นเป็นตัวเป็นตนเป็นกายของเราเขาขึ้นมา มันจึงไม่ลงเป็นธรรม มันเป็นโลกไปเสียแล้ว มันเป็นสมมุติกับบัญญัติไปเสีย สมมุติว่าตนว่าตัว ว่าแข้งว่าขาว่ามือ ว่าอวัยวะต่าง ๆ ทุกชิ้นทุกส่วน ถ้าลูกหลานทั้งหลายพิจารณาลงถึงธรรมชาติได้แล้ว ไม่มีอะไรหรอกในโลกที่จะติดอยู่กับของสมมุติพวกนั้น เราก็จะมองเห็นเป็นสิ่งเกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่อย่างนั้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับลงเป็นของเก่า ๆ เรื่องของธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราเอาจิตวิญญานเข้าไปสวมเข้าไปใส่ เราก็ไปถือเอาเฉย ๆ นั่นแหละ มันหนาแน่นยิ่งกว่าภูเขาอีก คือกิเลส อวิชชามันบังอยู่ตรงนั้น ไม่เห็นจิตตามความเป็นจริงของมัน ถ้าหากว่าเราเห็นจิตตามความเป็นจริงของมันแล้ว ของเหล่านั้นไม่มีอะไรหรอก สมมุติบัญญัติกันเฉย ๆ นี่เอง ว่าตัวว่าตนว่าเขาว่าเรา สมมุติทังนั้น ถ้าไปเป็นสมมุติบัญญัติเล้วเราไปยึดถือ ก็เป็นความคิดที่มันต้องติดอยู่เสมอในโลกนี้ แต่ถ้าเราไปเป็นสมมุติบัญญัติแล้ว เราไม่ยึดไม่ถือ มันก็เป็นทางหลุดพ้นคือพระนิพพานทั้งหลาย ลูกเอ๊ยหลานเอย พยายามมองดูตัวดูตนของเราให้ดี แล้วก็ให้ลูกหลานทุกคนพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ในกายหรือในธรรมชาติว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบเกิดเป็นรูปร่างกายมาแล้ว สักวันหนึ่งย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา เมื่อมีความเสื่อมเป็นธรรมดาแล้ว เราจะได้อะไรจากความเสื่อม ให้พิจารณาอย่างเนืองนิตย์อยู่เป็นประจำว่า

เรามีความเกิดเป็นธรรมดา
เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา
เรามีความแก่เป็นธรรมดา
เรามีความตายเป็นธรรมดา
เรามีความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา


แม้แต่ตัวเราเองที่เรายึดมั่นว่าตัวว่าตนของเรา เราก็ต้องพลัดพราก ย่อมเสื่อมไปในที่สุดเหมือนกัน ลูกเอ๊ยหลานเอย พิจารณาให้ถึงแก่นแท้นะลูก พิจารณามองให้ลึกลงไปว่า ตัวตนของเราไม่มี สิ่งที่มีอยู่นี่มันสมมุติกันขึ้นมาทั้งสิ้น อย่าไปยึดอย่าไปติดกับคำว่าสมมุติที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราไปถือ เราไปยึดติดกับคำสมมุติ เราก็จะไม่รู้จักเลยว่าสุขที่แท้จริงเป็นแบบไหน เราจะรู้จักกับคำว่าสุขจอมปลอมที่มันเกิดขึ้นกับพวกลูกหลานหรือพวกเราทุกคน หลวงปู่ก็ขอฝากไว้ว่า มองให้ถึงแก่นนะลูก เวลาจะมองอะไร อย่ามองแค่เปลือกนอก เมื่อเรามองถึงแก่นแล้ว เราก็จะได้พบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ เราจะได้ละเราจะได้คลายจากความหลง ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตัวเราเอง ให้เราพิจารณาอย่างนี้นะลูก อย่าเอาความหลงทั้งหลายมาครอบงำดวงจิต ดวงใจของเราเข้าไว้ ถ้าเราเอาดวงจิตดวงใจเอากิเลสทั้งหลายมาครอบงำตัวเราไว้ เราก็จะต้องไปอบายภูมิอย่างแน่นอน เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไรลูก เพื่อมรรคเพื่อผลเพื่อพระนิพพาน สิ่งแรกที่เราต้องดูต้องรู้ คือต้องให้เห็นจิตให้เห็นธรรมชาติ ว่ามันเป็นของสมมุติที่จิตมันหลอกลวง เป็นกิเลสครอบงำใจเราเอาไว้ ก็ขอบอกให้ลูกให้หลานทราบพอเป็นเครื่องเข้าใจ

ขอให้ลูกหลานทุกคนเมื่อได้อ่านหรือได้ฟังแล้ว จงได้ไตร่ตรองตริตรองพิจารณาธรรมชาติทั้งหลายที่หลวงปู่พูดหลวงปู่บอกให้ฟังอยู่ขณะนี้ ให้เป็นเครื่องเข้าใจ ให้เป็นเครื่องประดับสติปัญญาของลูกหลานทุกคน ให้เกิดเป็นมรรคเป็นผล ให้เกิดเป็นความรู้ ให้เข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นจริงในการเกิดมาเป็นคน มามีชีวิต มามีความคิด จงคิดให้เป็นปัญญาสัมมาทิฏฐินะลูก อย่าเอาปัญญามิจฉาทิฏฐิมาคิด ให้พิจารณาให้เห็นธาตุแห่งธรรมทั้งหลาย หรือธรรมชาติทั้งหลาย ให้เกิดเป็นสิ่งที่ประดับเป็นสิ่งที่รุ่งเรืองของปัญญาตัวเองให้ได้นะลูก ให้รู้เท่าทันมันไอ้พวกกิเลสทั้งหลาย ถ้าเรารู้เท่าทันมันเสียแล้ว เราก็จะเกิดความสบายแก่จิตแก่ใจว่า ต่อไปมึงหลอกกูไม่ได้แล้วกิเลสทั้งหลาย เพราะกูถูกมึงครอบงำมานมนานแล้ว พอกันทีชาตินี้ภพนี้ กูจะไม่ให้มึงมาหลอกลวงกูอีกต่อไป

ขอให้เราหมั่นพิจารณาอย่างเนืองนิตย์อย่างนี้นะลูก วันหนึ่งเราอยู่กับกิเลสเท่าไร วันหนึ่งมันนอนเนื่องอยู่กับกิเลสเท่าไร ถ้าตัวเองไม่รู้ตัวเองว่าจมอยู่กับกองกิเลส แล้วใครจะสามารถบอกเราได้ ถ้าตัวเรายังไม่ยอมสอนตัวเราเอง หลวงปู่หวังว่าลูกหลานของหลวงปู่ทุกคนคงเข้าใจ คงคิดเป็น คงอ่านเป็น ว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือความดี ก็ขอให้ลูกหลานทั้งหลายจงหมั่นตริตรองพิจารณาดูนะ ลูกเอ๊ยหลานเอย...

= รวมคำสอน “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” (พระพิศาลญาณวงศ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49194

= ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45116

= ประมวลภาพ “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=49172
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 31 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร