วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 00:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 09:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2010, 14:07
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: หลวงปู่ทองดี อนีโฆ
อนีโฆ.jpg
อนีโฆ.jpg [ 7.45 KiB | เปิดดู 1771 ครั้ง ]
มหาสติปัฏฐานสี่
โดย หลวงปู่ทองดี อนีโฆ
วัดใหม่ปลายห้วย จ.พิจิตร


ลูกเอ๊ยหลานเอย องค์สมเด็จพระบรมครูของเรา พระองค์ทรงตรัสว่า ทางสายเอกหรือทหารเอกนั้น คือ มหาสติปัฏฐานสี่ มหาสติปัฏฐานสี่ บางทีเรารู้ว่า กาย เวทนา จิตธรรม แล้วเรายังไม่ได้รู้ไปอีกว่า

กาย คืออะไร
เวทนา คืออะไร
จิต คืออะไร
ธรรม คืออะไร


กระแสของธรรมนั้นคือกระแสของความจริง ที่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์ทรงได้ตรัสรู้ ได้ทรงแสดงทรงสั่งสอน กระแสของความจริงนี่ก็เป็นความจริงภายในของตัวเอง กระแสของธรรมซึ่งมีอยู่ภายในตัวเองนี้ ก็มีอยู่ที่กายและที่ใจอันนี้ ไม่ใช่มีอยู่ที่อื่น ถ้าเราคิดว่าอยู่ที่อื่น เราก็ย่อมไม่เป็นผู้ฉลาด ถ้าเราเป็นผู้ฉลาด เราต้องคิดว่า กายและใจของเรานี้ไม่ใช่มีอยู่ในที่อื่นโดยปริยาย คือ ทางอันหนึ่ง ทุก ๆ คนย่อมมีกาย มีเวทนา มีจิต และมีธรรม

หลวงปู่ก็จะขออธิบายให้พอเข้าใจง่าย ๆ ถึงกาย เวทนา จิต ธรรม กายก็คือ รูปกายอันนี้ ที่มันประกอบขึ้นด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อันเป็นวัตถุ ซึ่งเรียกกันว่า มหาภูตรูป คือเป็นรูปที่เป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วยรูปที่เป็นส่วนละเอียดต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น จักขุประสาท เรียกกันว่าประสาทตา โสตประสาท คือประสาทหู เป็นต้น รวมประมวลเข้าด้วยกัน มีเนื้อหนังมังสังทั้งหลาย เป็นต้น มีหนังห่อหุ้มกายนี้เอาไว้ มันจึงประกอบกันเป็นชีวิตอย่างนี้ เป็นต้น จึงสมมุติว่านี่คือกายเกิดขึ้น เวทนา เมื่อเป็นกายที่ประกอบด้วยชีวิตดังนี้แล้ว ก็ย่อมมีเวทนาเกิดขึ้น คือความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข นี่เรียกว่าเวทนาจิต จิตคือธรรมชาติที่มีความรู้มีความคิด ที่อาศัยอยู่ในกายอันนี้ ดังที่เรียกกันว่าจิตใจ ซึ่งทุก ๆ คนมีอยู่ และย่อมจะรู้จิตใจของตนเองอยู่เสมอว่ามีความคิดอย่างไร และมีอาการอย่างไร นี่เรียกกันว่าจิตส่วนธรรม ธรรมหมายถึงส่วนประกอบที่ประกอบอยู่กับจิต เป็นส่วนชั่วเรียกว่า อกุศลธรรมก็มี เป็นส่วนดีเรียกว่า กุศลธรรมก็มี เป็นส่วนกลาง ๆ เรียกว่าอัพยากธรรม นี่เรียกว่าธรรม เมื่อกาย เวทนา จิต ธรรม นี้ จึงเป็นส่วนที่ทุกคนมีอยู่ และทั้ง 4 ก็ย่อมมีกระแส คือความเป็นไป ความเป็นไปของกาย เวทนา จิต ธรรม ดังกล่าวแล้ว ถ้าเราจะมาสรุปลงง่าย ๆ คือทางอันหนึ่ง ก็คือ ความเกิด ความดับ ซึ่งมีอยู่เสมอตลอดเวลา และอีกอย่างหนึ่ง ก็คือกระแสของจิตใจ ที่ปรารถนาและยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้

สมมุติว่าเราปรารถนาให้กายของเราสวยงาม ไม่เจ็บ ไม่แก่ ดำรงอยู่เสมอ ปรารถนาให้เวทนา เป็นสุขเวทนาอยู่เสมอ คือต้องการแต่ความสุข ปรารถนาให้จิตใจเป็นจิตใจที่สมประสงค์ดังตัวเองคาดหวังอยู่เสมอ อยากจะได้อะไรก็ต้องการที่จะได้ดังใจ และปรารถนาที่จะให้พบเรื่องที่พอใจที่ชอบใจอยู่เรื่อย ๆ เช่นสมมุติว่าเราต้องการที่จะพบแต่สิ่งที่เรียกว่าเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นสุข ที่จะมาเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่ปรารถนาที่พอใจ และก็มีความยึดถืออยู่ในสิ่งเหล่านั้น จึงได้กลายเป็นจริตเป็นนิสัยขึ้นมา ที่ทำให้ต้องการแต่ความสวยงามของร่างกาย ไม่ชอบแก่ ไม่ชอบเจ็บ ไม่ชอบตาย ต้องการความสุข ต้องการที่จะตามใจตัวเอง และต้องการสิ่งทั้งหลายที่ใจมันชอบ จึงกลายเป็นตัณหา เป็นอุปปาทานขึ้น และตัณหาอุปปาทานที่เป็นตัวจริตดังที่พูดมาแล้วนั้น มันซับซ้อนอยู่ในตัณหา ในอุปปาทาน ที่ยึดถืออยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่แหละที่ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องการที่จะให้สิ่งที่เป็นตัวเราของเรานี้ ไม่แก่ ไม่ตาย สวยงามอยู่เสมอ เป็นสุขอยู่เสมอ ได้ดังใจอยู่เสมอ พบเรื่องราวอะไรที่ชอบอยู่เสมอ ตัณหาอุปปาทานดังนี้ย่อมทำจิตใจให้ปรารถนา ให้ยึดถือ ซึ่งทำให้บังเกิดผลอีกหลายอย่างสืบเนื่องกันไป เช่น ก่อเจตนา คือความจงใจ อันประกอบกรรมต่าง ๆ ออกไปทางกาย ทางวาจา และแม้แต่ทางใจเองที่จะปรนเปรอความต้องการ และความยึดถือนี่เอง เช่น ต้องการไม่แก่ ไม่ตาย ต้องการความสวยงามของร่างกาย ก็ปรนเปรอให้ได้รับผลเช่นนั้น

เราพยายามแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาบำรุงร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นอาหาร เป็นสิ่งต่าง ๆ บ้าง จนร่างกายนี้ใช้ไม่ไหว แล้วยังไม่พอ แล้วเราก็แสวงหาความสุขต่าง ๆ มาปรนเปรอให้เกิดเป็นสุขเวทนา แสวงหาสิ่งต่างมาปรนเปรอใจตัวเอง และแสวงหาเรื่องที่ใจชอบต่าง ๆ เมื่อความปรารถนานี้มีมากเพียงไร ก็ทำให้ความดิ้นรนแสวงหามากเพียงนั้น จนถึงไม่เลือกว่าเป็นทางผิดหรือทางถูก จึงบังเกิดเป็นบาปเป็นอกุศลกรรม เป็นทุจริตขึ้นมา และนอกจากนี้ ก็ยังจะต้องประสบกับความไม่สมปรารถนา เพราะการที่จะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาปรนเปรอ ความอยาก ความต้องการ ดังนี้ ที่พูดมาแล้วนั้นย่อมไม่สามารถที่จะสมปรารถนาไปได้ทั้งหมด และไม่สามารถที่จะทำให้เพียงพอกับความอยากได้ เหมือนอย่างการหาเชื้อมาใส่ไฟ ที่จะให้เพียงพอแก่ไฟนั้นมันหาได้ไม่ ยิ่งหาเชื้อมาใส่ไฟให้มาขึ้นเพียงไร ไฟก็ลุกกองโตขึ้นเพียงนั้น กินเชื้อมากขึ้น ไหม้หมดไปทั้งเมืองแล้วก็ยังไม่พอ ไฟอะไรไม่ร้ายเท่าไฟของตัณหา ก็เปรียบประดุจดังที่พูดให้ฟังฉันนั้น ไม่สามารถจะปรนเปรอให้พอได้ และนอกจากนี้แล้ว ความเกิด ความดับ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เที่ยง ที่ไม่ยั่งยืน ก็ย่อมมีอยู่ในสิ่งทั้งหลาย ในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งทุก ๆ คนปรนเปรออยู่ด้วยตัณหา ด้วยอุปปาทานอย่างหนักหนา อย่างที่พูดมาแล้ว ก็ย่อมตกอยู่ในคติธรรมดา คือมีเกิดกับดับเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อใครประสบความทุกข์เดือดร้อน เพราะความปรารถนาไม่สมหวังบ้าง เพราะอกุศลทุจริตต่าง ๆ นั้น และจิตใจตัวเองก็ไม่ได้พบกับความสงบ ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ด้วยความเศร้าหมอง คือ ตัณหา อุปปาทาน ซึ่งเป็นตัวกิเลส เป็นตัวเครื่องเศร้าหมอง และความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลาย ต้องมีความไม่บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ต้องมีแต่โสกปริเทว คือความแห้งใจ ความคร่ำครวญใจ ต้องมีทุกข์ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ต้องตกต่ำ ต้องเวียนว่ายอยู่ในความทุกข์ร้อนอยู่อย่างนี้เสมอ

ลูกเอ๊ยหลานเอย เราควรกำจัดความยินดี ความยินร้ายในโลกเสีย เมื่อเกิดความยินดีขึ้นก็ดี ความยินร้ายขึ้นก็ดี ก็ให้เรากำจัดเสีย อย่างเช่น เมื่อเราจักปฏิบัติขั้นแรก ก็น่าจะเกิดความยินร้าย เช่นว่า เราต้องเกิดอาการเมื่อยขบในการนั่ง จิตใจก็ไม่เป็นสุข เพราะต้องมากำหนดอยู่ในการปฏิบัติ ก็แปลว่าก็น่าจะไม่สบายทั้งกายทั้งใจ เมื่อปฏิบัติทีแรกนี่ก็ทำให้ยินร้าย ถ้าหากว่าแพ้ต่อความยินร้ายเสียสิ้นนี้ ก็ต้องเลิกจากการปฏิบัติ การปฏิบัติจะเกิดขึ้นก็จะดำเนินเป็นไปไม่ได้ หรือว่าเกิดความยินดีในอารมณ์ภายนอก ที่มันพยายามดึงอารมณ์ใจออกไปอยู่เสมอ ใจรวมเข้ามาก็มีอารมณ์ที่น่ายินดีที่ค้างอยู่ในใจ คอยดึงใจออกไปเช่นนี้ ก็ต้องกำจัด ใจจึงจะรวมเข้าเป็นสมาธิได้ แม้ยินดีในข้อปฏิบัติก็ต้องกำจัดเหมือนกันนะลูก เพราะจะทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่านไปด้วยความยินดี ต้องคอยระมัดระวัง ความยินดี ยินร้ายอยู่อย่างนี้ พยายามประคับประคองใจให้ตั้งให้เป็นอุเบกขา คือการเข้าไปเพ่งให้มันเฉยอยู่ในการปฏิบัติ ให้เราพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนที่พระพุทธเจ้าของเราตรัสว่า

กาย สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา
เวทนา สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา
จิต สักแต่ว่าจิต ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา
ธรรม สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา


มาสรุปโดยย่อ ๆ แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดกับดับเท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีวันดับ มีวันเสื่อมสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นของเราเลย ขอให้เรามีความรู้ คือเราพยายามตั้งสติ พิจารณาลงไปให้ถึงแก่นถึงกาย เวทนา จิต ธรรม ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อุบัติบังเกิดขึ้นมาแล้ว มันต้องมีความเสื่อมเป็นของธรรมดา อะไรเกิดขึ้นต้องมีเสื่อมต้องมีดับ และไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้เราได้สมปรารถนา ได้สมหวังในทุกสิ่งทุกเรื่อง เราพยายามทำใจของเราให้เกิดความสงบ ให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา เพื่อเราพิจารณาให้เห็นของจริง เราก็เห็นของจริง เราพิจารณาแต่ของหลอกลวงตัวเราเอง เราก็จะได้แต่ของที่หลอกลวงตัวเราเอง ให้ลูกหลานทุกคนจงไตร่ตรองและใคร่ครวญ ว่าเราอยากได้ของจริงหรืออยากจะได้ของหลอกลวงตัวเราเอง ก็สุดแท้แต่พวกเอ็งทั้งหลายนะลูกเอ๊ยหลานเอย

= รวมคำสอน “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” (พระพิศาลญาณวงศ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49194

= ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45116

= ประมวลภาพ “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=49172


แก้ไขล่าสุดโดย jeerus เมื่อ 08 ต.ค. 2010, 09:48, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร