วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2011, 20:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มัชฌิมาปฏิปทา : สายกลางสองมิติ
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

การทำบุญทอดกฐินตามปกติโดยทั่วไปนั้นจะถือการทอดกฐินเป็นจุดประสงค์หลัก ถือการเที่ยวทัศนศึกษาหรือทัศนาจรเป็นจุดประสงค์รอง ผมได้เคยไปร่วมทำบุญทอดกฐินด้วยเมื่อปีก่อนรู้สึกพอใจมาก ในความคิดที่จัดให้มีการบรรยายธรรม มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ของยุวพุทธิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

ครั้งนี้กำหนดให้บรรยายเรื่อง อริยมรรคมีองค์ 8 นิมนต์พระคุณเจ้าบ้าง ช่วยบรรยายองค์ละหรือคนละหัวข้อตั้งแต่สัมมาทิฐิจนถึงสัมมาสมาธิ ครบทั้ง 8 อริยมรรค ผมขอช่วยบรรยายสรุปเพราะอยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 ในบางแง่ ผมต้องกราบขอประทานอภัยด้วย เพราะคนที่อยู่ในฐานะบรรยายสรุปควรจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือเป็นพระคุณเจ้าผู้ทรงความรู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธทั้งหลาย

อริยมรรคมีองค์ 8 เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า โปราณมรรค หรือโบราณมรรค แปลว่า ทางสายเก่า ที่เรียกว่าทางสายเก่า เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงดำเนินตามทางสายนี้แล้วได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระโคดมพุทธะของเราเท่านั้นที่เดินทางสายนี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลายคือ พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เดินทางสายนี้มาแล้ว และก็ได้บรรลุจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินแล้วก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงเรียกว่า ทางสายเก่า แล้วก็เป็นทางที่ประเสริฐที่สุด ซึ่งมีพุทธภาษิตว่า อริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโค เป็นต้นในบรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ 8 นี้ประเสริฐที่สุด บรรดาสัจจะทั้งหลาย สัจจะสี่ประเสริฐที่สุด

อริยมรรคมีองค์ 8 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง คำว่า สายกลางมีอยู่สองเรื่องคือ ธรรมะสายกลาง กับทางสายกลางในการปฏิบัติ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ท่านเรียกว่า สายกลางมีอยู่สองนัย คือสายกลางในแง่ทฤษฎีกับสายกลางในแง่ปฏิบัติ

สายกลางในแง่ทฤษฎี ท่านเรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา แสดงธรรมเป็นกลางๆ นั่นคือ สายกลางในแง่ทฤษฎีในแง่หลักการ

ส่วนสายกลางในแง่การปฏิบัติดำเนิน เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา


สายกลางในแง่ทฤษฎี นั้นได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (ต้องอ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-มุบ-บาด ไม่ใช่ สะ-หมุน-ปะบาด) ตามหลักการของพระพุทธศาสนานั้น การมองสิ่งทั้งหลายที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเรื่องการเกิดขึ้นของความทุกข์หรือการดับทุกข์ หรือเรื่องต่างๆทั้งหมดเป็นกฎธรรมขาติ ซึ่งเป็นเรื่องสัมพันธ์ทางด้านปัจจัย เราไม่ได้พูดถึงเหตุแต่เราพูดถึงเหตุปัจจัย ในสูตรของปฏิจจสมุปบาทเอง พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ
อวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ

เราไม่พูดถึงเหตุ เพราะเหตุก็คือปัจจัยอย่างหนึ่ง ในพระไตรปิฎกพูดถึงปัจจัย 24 ประการ ปัจจัยคือเงื่อนไข ใน 24 ประการนี้ก็พูดถึงเหตุในฐานะที่เป็นปัจจัยหนึ่งใน 24 นั้น เรียกว่า เหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้นถ้าจะมองพระพุทธศาสนาให้ชัดให้กระจ่างจริงแล้ว ต้องมอง ความเป็นเหตุเป็นปัจจัย ไม่ใช่โดยความเป็นเหตุต้องมีความเป็นปัจจัยก็ได้ เพราะว่าเหตุเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น

การเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดพลาดอีกจุดหนึ่งก็คือ ไปเข้าใจว่ามีเหตุและมีผล เมื่ออธิบายปฏิจจสมุปบาทก็อธิบายเรื่องเหตุเรื่องผลอธิบายเรื่องอริยสัจ 4 ก็อธิบายเรื่องเหตุเรื่องผล เพราะมีเหตุจึงผลิตให้เกิดผล แนวความคิดเรื่องเหตุผลิตให้เกิดผลเป็นการมองสายตรง เป็นการมองแคบๆซึ่งนักปราชญ์นักปรัชญาร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง ตำราของท่านใช้เรียนกันในวิชาปรัชญา ก็คือ เบอทรันต์ รัสเซล (Bertrand Russell) เป็นหลานของเอิร์ล รัสเซล เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมาก ท่านเคยพูดไว้ว่า เมื่อท่านศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว ทำให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงมีสติปัญญาลึกซึ้ง ท่านเองยอมรับว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าสมเหตุสมผลที่สุด แล้วท่านก็ปฏิเสธลัทธิศาสนาดั้งเดิมของท่านคือศาสนาคริสต์ ว่าท่านไม่นับถืออีกต่อไป

ท่านเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า why I am not a christian. "ทำให้ข้าพเจ้าไม่นับถือคริสต์ศาสนาอีกต่อไป" ท่านวิจัยหลักคำสอนแนวความคิด (ขอประทานอภัยนี่ผมอ้างคำพูดของท่านรัสเซล) ของศาสนาดั้งเดิมของท่านว่า "สอนขัดแย้งกันและสอนไม่สมเหตุสมผล" โดยเฉพาะแนวความคิดการมองเหตุผลิตผล ชาวพุทธเองก็มักจะเอาแนวความคิดเรื่องเหตุผลิตผลมาใส่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งผมคิดว่าเรายังแคบอยู่ เรายังมองไม่ครบวงจร ไม่ครบประเด็น

ท่านรัสเซลเองบอกว่าศาสนาคริสต์สอนให้มองแบบเหตุผลิตผล คือมองแบบสายตรง เช่นสอนว่าโลกเป็นผลของการสร้างสรรค์ของพระเจ้า ถ้ามองแบบนี้ ถ้าพูดแบบนี้ แสดงว่า "โลกเป็นผล พระเจ้าเป็นเหตุ" แล้วท่านถามต่อไป "แล้วพระเจ้าล่ะ เป็นผลการสร้างสรรค์ของใคร" เพราะว่าถ้ามองแบบเหตุผลิตผล มองผลย้อนหาเหตุ ก็ต้องย้อนไปได้ตลอด

ชาวคริสต์เขาตอบว่า "พระเจ้าไม่มีใครสร้าง เพราะพระเจ้าเป็น "First Cause" (เป็นปฐมเหตุ)" รัสเซลท่านบอกว่าอย่างนี้ผิดท่านใช้คำว่า I&logical คือ ไม่สมเหตุสมผล ในเมื่อโลกหรือ มนุษย์นี้พระเจ้าสร้างมา พระเจ้าก็ต้องเป็นผลของการสร้างสรรค์ของใครสักคน ถ้าตอบว่าพระเจ้าไม่มีใครสร้าง I&logical ไม่สมเหตุสมผล

ท่านรัสเซลบอกว่าเหมือนนิทานอินเดียโบราณที่เล่ากันว่า "โลกนี้ตั้งอยู่บนหลังช้าง ช้างตั้งอยู่บนหลังเต่า" แล้วถามต่อไป "เต่าตั้งอยู่บนหลังอะไร" ชาวอินเดียก็บอกว่า "เปลี่ยนเรื่องพูดได้ไหม" ขืนพูดต่อไปเดี๋ยวก็เตะปากกัน มันย้อนไปไม่ถึงที่สุด

ท่านรัสเซลว่า นี่คือความบกพร่องของแนวความคิดหรือหลักคำสอนศาสนาดั้งเดิมที่ท่านนับถือ และท่านก็ปฏิเสธไม่นับถืออีกต่อไป ถึงขั้นเขียนหนังสือชื่อว่า "Why I am not a christian." มีประโยคสองประโยคที่ท่านผู้นี้พูดถึงพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า Buddha (เวลาฝรั่งพูดถึงพระพุทธเจ้าไม่มี article The แสดงว่า เขาไม่ได้นับถือ ถ้าเป็นชาวพุทธเราต้องเรียกว่า The Buddha) สมเหตุสมผลว่า คือสอน Conditions สอนเงื่อนไขว่าทุกอย่างเป็นเงื่อนไข อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างนี้จะไม่มีทางพลาดทำให้ผมนึกถึงแนวคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะที่เป็นสายกลางในทางทฤษฎี ในทางหลักการ พระพุทธเจ้าตรัสถึง ปัจจัย ไม่ใช่ตรัสถึง เหตุ

เหตุต่างกับปัจจัยอย่างไร

เหตุก็คือ....เหตุเฉพาะที่บันดาลให้เกิดผล เมื่อมีเหตุแล้วก็มีผล ส่วนปัจจัยคือเงื่อนไขหลายๆอย่างมารวมกันเข้า เช่นถ้าถามว่าต้นไม้เจริญงอกงามได้เพราะอะไร ถ้ามองแบบเหตุผลิตผลก็ต้องมองว่าเพราะเมล็ด เมื่อมันมีเมล็ดมันก็เจริญงอกงามเป็นต้นไม้ ตอบแค่นี้ไม่พอ เพราะว่าที่จริงไม่ใช่เมล็ดอย่างเดียว เมล็ดเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แต่เป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยค่อนข้างชัด ก็เลยยกเอามาพูดเป็นประเด็นหลักเท่านั้นเอง ต้นไม้จะเจริญงอกงามไม่ใช่เพราะเมล็ดอย่างเดียว เพราะอุณหภูมิ ดินฟ้าอากาศ การรดน้ำพรวนดินของมนุษย์ การดูแลของมนุษย์ ถ้ามีเมล็ดอย่างเดียวแต่ขาดปัจจัยอย่างอื่น ต้นไม้ก็ไม่สามารถจะเจริญงอกงามได้ ยังมีเงื่อนไขปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามได้ฉันใดก็ฉันนั้น นี่เป็นหลักการที่นักปราชญ์นักปรัชญาตะวันตกเลื่อมใสและพูดว่า "นี่คือความลึกล้ำของพระพุทธศาสนา"

ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนให้รู้จักมอง ให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง เป็นจุดเด่นของพระพุทธศาสนา ใสขณะที่ลัทธิอื่นนั้นไม่ Yes ก็ No ไม่มีก็ขาดสูญโลกนั้นก็เลยมีอยู่สองอย่างคือมีอยู่ชั่วนิรันดร์กับไม่มีเลย เพราะฉะนั้นปัญหาตายแล้วไปไหน ซึ่งสมัยโน้นถามกันมากและก็มีคำตอบมาก แยกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า คนเราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอด เกิดแล้วก็ตาย รางกายก็ดับสูญสลายไป จิตวิญญาณที่เขาเรียกว่า วิญญาหรือชีวะเป็นอมตะ จะต้องไปหาที่เกิดใหม่ตามผลกรรมที่ทำไว้จัดสรรไป วิญญาณนี้ก็จะไปเกิดใหม่เรื่อยๆ จนกว่าจะหมดกรรม หมดกิเลสตัณหา แล้วก็จะไม่ต้องเกิดอีก

การอธิบายอย่างนี้ ฟังเผินๆ คล้ายๆ จะเป็นการอธิบายแบบชาวพุทธเหมือนกัน เพราะชาวพุทธส่วนมากก็อธิบายกันแบบนี้ และบางท่านก็อธิบายชัดเจนยิ่งไปกว่านี้ว่า เวลาเราตายร่างกายดับไปแล้ว เผาไหม้ไปแล้ว แต่ว่าจิตวิญญาณออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ วิญญาณไม่ตายด้วย ถามว่าไปเกิดเป็นอะไร ก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ จะจัดสรร ก็ดูน่าจะถูกต้อง แต่ถ้าดูตามหลักที่แท้แล้วไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเชื่ออย่างนี้ก็ยังเข้าสู่จุดที่ว่า ทุกสิ่งนิรันดร ทุกสิ่งเป็นอมตะ ไม่เปลี่ยนแปลง ยอมรับว่าร่างกายเปลี่ยนแปลง แต่จิตใจหรือวิญญาณไม่เปลี่ยน เมื่อยอมรับว่าจิตหรือวิญญาณไม่เปลี่ยน จิตวิญญาณก็สามารถออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ แสดงว่าเป็นอมตะอยู่ตลอด ก็ผิดหลักอีก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่ามีศาสดาอยู่ 3 ประเภท

ประเภทหนึ่ง
ยอมรับว่า อัตตามีในชาตินี้ ปฏิเสธอัตตาในชาติหน้า ประเภทนี้เรียกว่า อุจเฉทวาท ยอมรับเฉพาะในชาตินี้ตายไปแล้วก็หมดกัน

อีกประเภทหนึ่ง ยอมรับอัตตาทั้งในชาตินี้และชาติหน้าพวกนี้เป็น สัสสดตวาท คือเชื่อว่าทุกสิ่งนิรันดร วิญญาณนิรันดร

อีกประเภทหนึ่ง ปฏิเสธอัตตาทั้งในชาตินี้และชาติหน้าเรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ ก็คือพระพุทธเจ้าของเรา

พระพุทธศาสนาของเราปฏิเสธอัตตาทั้งในชาตินี้และชาติหน้าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอัตตา ใครที่สอนว่ายังมีอะไรๆ ที่เป็นอัตตาอยู่นั้นไม่ถูกหลักพระพุทธเจ้า เพระฉะนั้นถ้าเชื่อว่า ตายแล้ววิญญาณยังไม่ตาย ไปหาที่เกิดใหม่นั้น ก็แสดงว่าเชื่อว่าเป็นสัสสตวาท ซึ่งก็เป็นมิจฉาทิฎฐิ สัสสตทิฎฐิ และก็ถ้าเชื่อว่าเราก็มีชีวิตอยู่เท่าที่เห็นๆ อยู่นี่แหละ ยอมรับว่ามี แต่ว่าพอตายแล้วทุกอย่างก็หมดสิ้นกัน เผาก็เหลือแต่เถ้าแต่ถ่านไม่มีอะไรเหลือก็เป็นอุจเฉทวาท หรือนัตถิกทิฎฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฎฐิอีกอย่างหนึ่ง

มัชฌิมาปฎิปทาทางสายกลางของพระพุทธองค์ ซึ่งทางสายกลางในแง่หลักการ คือ ปฏิจจสมุปบาท ไม่ข้องแวะสัสสตทิฎฐิและไม่ข้องแวะอุจเฉททิฎฐิ อยู่กึ่งกลางแต่กึ่งกลางอย่างไหน มีวาทะของนักปราชญ์อีกท่านหนึ่ง (จอห์น โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์) ที่พูดยกย่องพระพุทธศาสนา ท่านผู้นี้พูดลึกมากว่า

"หากแม้เราจะตั้งคำถามว่าอิเล็กตรอนอยู่ที่เดิมหรือไม่ เราก็ต้องตอบว่า "ไม่"

หากเราจะถามว่าอิเล็กตรอนเปลี่ยนที่ไปตามกาลเวลาหรือไม่ เราก็ต้องตอบว่า "ไม่"

หากเราจะถามว่าถ้าเช่นนั้นอิเล็กตรอนอยู่นิ่งๆ หรือ ก็ต้องตอบว่า "ไม่"

ถ้าจะถามว่ามันกำลังเคลื่อนที่หรือ ก็ต้องตอบว่า "ไม่"

คำตอบเป็น "ไม่" ทั้งหมด

ท่านผู้นี้สรุปว่า "คำตอบเป็น (ไม่) ทั้งหมด" เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามเช่นนี้มาแล้ว เมื่อถูกทูลถามเรื่องสภาพของมนุษย์หลังตาย แต่ก็ยังเป็นคำตอบที่วิทยาศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 17 หรือ 18 ยังค้นไม่ถึง

"สัตว์ตายไปแล้วเกิดหรือไม่"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อย่าพูออย่างนั้น"

"สัตว์ตายไปแล้วเกิดหรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อย่าพูดอย่างนั้น"

"สัตว์ตายไปแล้วไม่เกิดหรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อย่าพูดอย่างนั้น"

"สัตว์ตายไปแล้วจะเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่หรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อย่าพูดอย่างนั้น"

แล้วจะให้พูดอย่างไร ?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อวิชฺชาปจฺจยางสงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ...เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ"

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดเป็นนามรูปไล่ไปจนกระทั่งจบ

ตอนผมเป็นสามเณรน้อยศึกษาธรรมะอยู่ อ่านคำตอบของพระพุทธเจ้า รู้สึกงงไปหมด คล้ายๆถามว่า "ไปไหนมา" แล้วตอบว่า "สามวาสองศอก" ยอมสารภาพจริงๆ ว่าไม่เข้าใจ ไม่ถามอาจารย์ที่สอนธรรมะ ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถให้คำอธิบายให้กระจ่างได้ สงสัยมาจนสกระทั่งแก่ กระทั้งผมลาสิกขามาศึกษาใหม่มาอ่านใหม่ อ่านหนังสือธรรมะที่มีผู้รู้ท่านอธิบายก็เลยถึงบางอ้อ (แต่ไม่ทราบว่า บางอ้อจริงหรือเปล่า) บางอ้อที่ผมถึงก็คือว่า ผิดมาตั้งแต่คำถามแล้ว พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสตอบ

ถามว่า "สัตว์ตายไปแล้วเกิดหรือไม่ ?"

ถ้าตอบว่า "เกิด" คนถามกก็จะแล่นไปสู่ สัสสตทิฏฐิทันที

"อ๋อ..คนเราน่ะตายไปแล้วไม่ตายจริง ตายไปแล้วก็ยังจะต้องเกิดใหม่ จิตวิญญาณตัวเดิมนี่แหละจะไปเกิดใหม่" ก็จะมีความเชื่อเรื่องวิญญาณอมตะ ก็ผิดอีก

ถ้าพระพุทธเจ้าตอบว่า Yes คนรับคำตอบก็จะเข้าใจผิด แต่ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" คนถามก็จะแล่นไปสู่ อุจเฉททิฏฐิ ทันทีว่า ตายไปแล้วทุกอย่างสูญสิ้นไปหมดเลย ไม่มีเกิด เป็น อุจเฉททิฏฐิ ก็เป็น มิจฉาทิฏฐิอีก

เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า "อย่าพูดอย่างนั้น อย่าอยู่อย่างนั้น" แล้วจะให้พูดอย่างไร ก็ให้พูด แบบปัจจยการ พูดแบบ ปฏิจจสมุปบาท จึงจะถูกต้อง ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะที่เป็นเหตุและเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีผู้ใด ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ คนถามนั้นถามผิดมาตั้งแต่ต้น คือมีความคิดว่ามีตัวมีตน ก็ถามว่าตัวตนตายไปแล้วจะเกิดใหม่ ถ้าตอบว่าเกิดก็จะเข้าใจผิดเป็นสัสสตทิฏฐิ ถ้าตอบว่าไม่เกิดจะเข้าใจผิดเป็นอุจเฉททิฏฐิ พระพุทธองค์จึงไม่ให้พูดอย่างนั้น อย่าไปพูด อย่าไปคิดว่ามีตัวมีตน คือความจริงมันเป็นอนัตตาอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไม่มีตัวมีตน เป็นเพียงธาตุ 4 ขันธ์ 5 แต่ถ้าถามว่า "มีกระบวนการตายการเกิดใหม่" "มีการเกิดการไม่เกิดไหม" ตอบได้ว่า "มีกระบวนการตายการเกิด"

เพราะฉะนั้นในพุทธวจนะบทนี้บอกว่า

ทุกข์มีอยู่ ผู้ถึงทุกข์ไม่มี หนทางมีอยู่ ผู้เดินไม่มี
มีทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นดับ ไม่มี "ผู้" ถึงทุกข์


ถ้ามี "ผู้" ถึงทุกข์เมื่อไหร่ก็แดงว่ามีตัวมีตน เราพูดถึง ตัวตน เรายึดมั่นในตัวเอง ตัวตนเป็นแต่เพียงก้อนธรรมชาติก้อนหนึ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถึงเลาก็ดับสลายไปไม่มีตัวมีตนในนั้น ถ้าเราคิดว่ามีตัวมีตน พอตัวตนตายแล้วเกิดใหม่แสดงว่า ตัวตนไม่ตายจริง เป็นอมตะนิรันดร ตรงนี้มองลึกๆ จะเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นทางสายกลางในแง่หลักการที่ไม่แวะข้องเกี่ยวกับ อุจเฉททิฏฐิ จึงเรียกว่ากึ่งกลางระหว่าง สัสสตทิฏฐิ กับ อุจเฉททิฏฐิ ซึ่งละเอียดอ่อนออกมากในความคิดของผม

พวกฮินดูก็เชื่อการตายเกิด เชื่อกรรมว่ากรรมแล้วคนจะไปเกิดเป็นอะไรก็ตามแต่ผลของกรรม พุทธก็เชื่อการตายเกิด เชื่อว่าคนเราจะเกิดเป็นอะไรกัน ก็ขึ้นอยู่ที่กรรมที่เรากระทำไว้เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะส่งให้เป็นไป แต่พุทธนั้นไม่ได้เชื่อวิญญาณอมตะว่าวิญญาณอมตะนี้จะต้องไปเกิดไปถือภพไปถือชาติใหม่ เหมือนคนออกจากบ้านหลังเก่าไปอยู่หลังใหม่ พุทธมองเนื้อในจริงๆ ว่ามันไม่มีตัวมีตน มีการตายเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตรงนี้

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน


อย่างตัวเราไม่ใช่ตัวเรา เป็นแต่เพียงธาตุ 4 ขันธ์ 5 มาประชุมกันเข้า แล้วกก็สมมติกันว่าเป็นตัวเป็นตน แต่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้เราก็จะไม่เข้าใจหลักคำสอนตรงนี้ เมื่อไหร่ๆ เราก็ยังยึดมั่นในตัวตนอยู่อย่างงั้น เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพทีก็มักจะบอกว่า ขอให้ดวงวิญญาณของท่านผู้นั้นจงไปสู่สุคติ แนวคิดที่เป็นแนวคิดของพราหมณ์ ทำให้เราแวะเข้าไปสู่สัสสตทิฏฐิ โดยไม่รู้ตัว เราสอนธรรมะสอนพุทธศาสนา แต่บางทีสอนไปๆ อาจจะเผลอสอนพราหมณ์ฮินดูก็ได้ จึงขอฝากไว้เป็นข้อสังเกต

ข้อสังเกตประการที่สอง เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท

พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าปัจจัย เพราะไม่ต้องการให้เข้าใจผิดว่า ปฏิจจสมุปบาท มีเหตุมีผล มีเหตุที่เป็นเหตุต้น และก็มีผลสืบๆต่อกันมา จริงๆ แล้วพระพุทธองค์ทรงกลัวว่าเราจะเข้าใจผิด พระพุทธองค์เวลาทรงแสดง ปฏิจจสมุปบาท บางทีไม่ทรงยกอวิชชาขึ้นต้น ทรงไปเริ่มที่เวทนา บางทีเริ่มที่ตัณหา บางทีเริ่มที่ชาติ ชรา มรณะ เพื่อจะให้เห็นว่าอย่าไปยึดเป็นกฎตายตัวว่าวงจร ปฏิจจสมุปบาท จะต้องเริ่มที่อวิชชา และอย่าไปเข้าใจว่าอวิชชานี่เป็นปฐมเหตุ เป็นจุดเริ่มต้น เพราะอวิชชาเองก็ยังต้องมีเงื่อนไขเกิดขึ้นจากอาสวะอย่างอื่นด้วย บางครั้งพระองค์กลัวเราจะเข้าใจผิดจึงตรัสว่า

อาสวสมุทยา อวิชฺชา

ในตัวอวิชชาเองก็เกิดขึ้นจากอาสวะอย่างอื่นด้วย คือเป็นเงื่อนไขจากอาสวะอย่างอื่นทำให้เกิดอวิชชาด้วย ไม่ใช่อวิชชา เป็นปฐมเหตุ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วเราก็จะกระจ่างขึ้นอีกนัยหนึ่ง

ท่านเปรียบเทียบเพื่อให้เราอย่าไปเข้าใจว่า มีจุดต้นและต่อมาเป็นจุดที่ 2, 3, 4 ท่านได้เปรียบเทียบเหมือนกับโซ่ที่เป็นสายต่อกันเป็นห่วงๆ สำคัญว่าท่านจับตรงไหน จับตรงไหนเป็นครั้งแรกตรงนั้นล่ะเป็นจุดต้น เพราะฉะนั้นพอผูกเป็นสายโซ่ทั้งหมดแล้ว เรามองไม่รู้หรอกว่า อันไหนเป็นห่วงแรก ทุกห่วงเป็นปัจจัย อิงอาศัยซึ่งกันและกัน จับตรงไหนก็เอาตรงนั้นแหละเป็นจุดแรกที่จะนำมาสอน การสอนแบบนี้ทำให้เข้าใจความเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งอย่างเดียว

ในแง่ประยุกต์

สำหรับผู้บริหาร ไม่เคยมีท่านผู้ใดยก อิทัปปัจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท มาประยุกต์ใช้เลย ถ้าผู้บริหารเข้าใจหลักอิทัปปัจยตา เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท ผู้บริหารจะเป็นผู้บริหารที่น่ารักมาก และก็จะเป็นผู้ที่บริหารงานได้ประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริหารคนนั้นก็จะมองเพื่อนร่วมงานทุกคนมีความสำคัญเท่ากับตัวเอง หรือมากกว่าตัวเอง จะไม่ถือตัวเองเป็นใหญ่ เพราะว่าจะมองว่างานทุกอย่างที่สำเร็จมาแต่ละชิ้น ไม่ได้สำเร็จเพราะคนใดคนหนึ่ง อย่างในโรงเรียนได้รับเกียรติยศชื่อเสียงยกย่อง ได้รางวัลจากรัฐบาล จากองค์กรต่างๆ มิใช่เพราะครูใหญ่ แต่เพราะครูเล็กครูน้อย แม้กระทั่งภารโรง และกระทั่งนักเรียนทุกคน มีส่วนทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นผู้เข้าใจหลักอิทัปปัจยตา จะเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุเดียว ปัจจัยเดียว มันเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจข้อนี้แล้ว คนนั้นจะเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนที่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน เข้าใจเพื่อนร่วมงาน

ทางสายกลางในแง่ปฏิบัติ นั้นพระพุทธองค์เน้นไปที่อริยมรรคมีองค์ 8 โดยตรง เป็นสายกลางระหว่างการปฏิบัติสองชนิดสองประเภท คือ

1. หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์
2. ทรมานตัวเองให้ลำบาก


ทางสายกลางของการปฏิบัติ ถ้าดูในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็จะชัดขึ้นว่า พระพุทธเจ้านั้นหลังจากทรงลาจากอาจารย์ทั้งสองอาฬารดาบสลามโคตร อุทกดาบสรามบุตร หลังจากสำเร็จฌานสมาบัติขั้นที่ 8 จากอาจารย์ทั้งสองแล้ว ก็ไปฝึกปฏิบัติ ตบวิธี คือ การทรมานตน ทรงทรมานตนสารพัดวิธี ลงท้ายด้วยการอดอาหารจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงทดลองตามแนวความเชื่อของคนสมัยนั้น คนสมัยนั้นเขาเชื่ออยู่ 2 วิธีเท่านั้นที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ คือ 1. โยควิธี 2. ตบวิธี พระองค์ก็ทรงทดลองทั้ง 2 วิธี และทรงได้ความคิดว่าไม่ใช่ ทาง หลังจากทรงอดอาหารแล้วสักพักหนึ่งก็ทรงได้ความคิดว่าไม่ใช่ ทาง และทรงค้นพบทางสายกลาง ก็คือ ทรงค้นพบความล้มเหลวของตนเอง แล้วมานึกเปรียบเทียบจนทรงได้คำตอบ

เป็นเรื่องน่าคิดที่พระองค์ทรงนำประสบการณ์สมัยยังเป็นเจ้าชายน้อยมาเปรียบเทียบ ในตำนานเล่าว่าพระอินทร์มาเทียบเสียงพิณให้ฟัง แต่นั่นก็เป็นข้อมูลด้านหนึ่ง ข้อมูลอีกด้านหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้เองในพระไตรปิฎกว่า สมัยยังเป็นพระราชกุมารพี่เลี้ยงพาไปพักอยู่ใต้ต้นหว้า ขณะที่พระราชบิดาทรงแรกนาขวัญพี่เลี้ยงก็ไปดูงานพระราชพิธีแรกนาขวัญ ปล่อยพระราชกุมารไว้ใต้ต้นหว้าโดยลำพัง พระราชกุมารนั่งสมาธิจนจิตสงบได้ฌาน แล้วเกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้น เงาไม้ไม่หมุนไปตามแสงตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ครั้งแรกที่พระราชบิดาเสด็จมาพบเข้า ถึงขั้นอภิวาทพระบาทของพระราชกุมาร ถือว่าเป็นมหัศจรรย์มาก นั่นคือ เหตุการณ์ที่พระองค์ทรงย้อนนึกว่า สมัยเป็นพระราชกุมารที่ทรงนั่งสมาธิจนได้ฌาน และทรงคิดว่าแค่ฌาน 4 เท่านั้น ไม่ต้องถึงขั้นฌานสมาบัติ 8 คงจะพอแล้วสำหรับที่จะดำเนินไปสู่ทางตรัสรู้

เมื่อทรงคิดดังนั้น พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารจนกระทั่งทรงมีพระวรกายแข็งแรง แล้วพระองค์ทรงเข้าฌานแค่ฌาน 4 และทรงใช้ฌาน 4 นั้นเป็นบาท เป็นบาทฐานของวิปัสสนา นำไปสู่ทางแห่งวิปัสสนา ทรงพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นทางวิปัสสนา ก็ได้ตรัสรู้ เพราะฉะนั้นแค่ประสบการณ์เดิมที่ทรงมีตั้งแต่สมัยเป็นพระราชกุมาร มาทำให้ทรงคิดว่าแค่นี้ก็พอในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วมีในหลักวิชาที่เขาบอกว่าแค่นี้ก็พอในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วมีในหลักวิชาที่เขาบอกว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาล้วนๆ ไม่ได้ผ่านทางสมถะก็เป็นพระอรหันต์ได้ หรือจะผ่านทางสมถะก่อน จนกระทั่งได้กสิณได้ฌาน แล้วใช้ฌานนั้นเป็นบาทฐานของวิปัสสนา ก็เป็นพระอรหันต์ได้

ในทฤษฎีกล่าวไว้เช่นนั้น แต่ในหลักปฏิบัตินั้นไม่มีการตรัสรู้ใดๆ ไม่มีการบรรลุใดๆ ที่ไม่ได้ผ่านสมถะ ต้องมีพลังสมาธิพอสมควร อย่างน้อยก็ได้ขณิกสมาธิ มีสมาธิพอสมควรแล้วถึงจะนำเข้าไปสู่วิปัสสนา ก็สามารถบรรลุได้ เรียกว่าบรรลุโดยวิปัสสนาล้วนๆ โดยซึ่งความหมายจริงๆ มันก็ไม่ล้วน เพราะมีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้เน้นสมาธิมาก ไม่ได้ใช้พลังสมาธิมากเพียงใช้สมาธิพอเป็นพื้นฐานที่จะพิจารณาไตรลักษณ์เข้าสู่วิปัสสนาญาณเท่านั้นเอง

ในหลักวิชาพูดว่ามี สุกขวิปัสสก พระอรหันต์ผู้บรรลุธรรมโดยผ่านวิปัสสนาเท่านั้น แต่ความจริงไม่เท่านั้น เพราะว่าก่อนจะถึงวิปัสสนาก็ต้องผ่านสมถะก่อนอยู่แล้ว

นี่เป็นสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงเน้นว่า สายกลางระหว่างการปฏิบัติ 2 อย่าง คือ การทรมานตัวเอง กับ การหมกมุ่นอยู่ในกาม เป็นทางสายกลางตามความหมายหนึ่ง

ทางสายกลางตามความหมายที่สอง ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้กันก็คือ พรหมจรรย์

จะสังเกตเห็นว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกอรหันต์ 60 รูปไปประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกนั้นทรงใช้คำว่า "ให้ไปประกาศพรหมจรรย์" ในที่นี้ก็หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 หรือพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง เพราะว่าพุทธศาสนาทั้งหมดรวมลงอยู่ใน อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดที่จะทำให้บุคคลได้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 เขาเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ พอปฏิบัติดำเนินตาม อริยมรรคมีองค์ 8 จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้ว เรียกว่าผู้จบพรหมจรรย์ ไม่มีกิจที่ต้องทำอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่า พรหมจรรย์ก็ดี คำว่า อริยมรรคมีองค์ 8 ก็ดี ก็เป็นชื่อของระบบพระพุทธศาสนาทั้งหมด

เมื่อวางให้เป็นระบบสำหรับฝึกฝนอบรม ท่านก็ไม่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 ท่านเรียกว่า "ไตรสิกขา" เพราะฉะนั้นไตรสิกขาก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 แต่พูดในฐานะที่เป็นระบบฝึกฝนอบรม เมื่อจัดเป็นระบบฝึกฝนอบรมก็จะฝึกฝนสามมิติ เท่านั้นคือ ทางด้านปัญญา ทางด้านศีล ทางด้านจิต

ทางด้านปัญญา เป็นเรื่องทางความรู้ ความเข้าใจ Concept ค่านิยมที่ถูกต้อง, ทางด้านศีล การควบคุมพฤติกรรม ทางกาย ทางวาจาให้อยู่ในกรอบ สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจ, ทางด้านจิต เป็นการพัฒนาจิตให้มีสมาธิ พัฒนาจิตให้มีความเพียร พัฒนาจิตให้มีสติ

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ทางด้านจิตก็รวมใน อริยมรรคมีองค์ 8 ก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่ สมาธิอย่างเดียว เวลาเราพูดถึงพัฒนาจิตเรามักจะพูดถึงสมาธิ เราบำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจิต ถ้าจะพูดให้ครอบคลุมก็คือพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ พัฒนาจิตให้มีสมรรถภาพ พัฒนาจิตให้มีสุขภาพ ถ้าเราพูดว่าพัฒนาจิตหมายถึงการฝึกสมาธิอย่างเดียวก็แคบไป เพราะสัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้น จิตตสิกขา หมายถึง สัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะก็เป็นความเพียรประเภทหนึ่งใน ความเพียร 4 เขาเรียกมหาปธาน 4 เพียรสังวรระวังความชั่วที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด ซึ่งทำได้ในชีวิตประจำวัน เราทำงานอยู่ เราปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เราก็พยายามทุกนาทีทุกขณะจิตว่า อย่าให้ความชั่วมาครอบงำจิตใจเราให้ โลภ โกรธ หลง อย่าให้ผิดพลาด หรือทำความผิด ความผิดที่ยังไม่เกิดอย่าให้มันเกิด เรียกว่า สังวรปธานนี่เป็นความเพียรในอริยมรรคมีองค์ 8 สมมติว่าเผลอทำความผิดไปเป็นของธรรมดาปุถุชนก็ผิดไปบ้าง ก็ตั้งความเพียรใหม่อีกว่า สังวร ระวัง สังวรละ พยายามละ ไม่ใช่สังวรแค่พยายามละความผิดที่ทำไว้แล้ว และจะไม่ทำอีกต่อไป

สัมมาวายามะในอริยมรรคมีองค์ 8 ให้พยายามบำเพ็ญคุณงามความดีที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ที่ไม่เคยก็มีบำเพ็ญให้มีขึ้น ทำให้มีขึ้น ไม่เคยใส่บาตรก็หัดใส่บาตร ไม่เคยแผ่เมตตาก็แผ่เมตตา ไม่เคยช่วยเหลือใครเลย ไม่เคยให้อะไรใครโดยไม่คิดผลตอบแทนเลยก็หัดทำบ้าง พยายามสร้างคุณงามความดีที่มีอยู่ ที่ยังไม่มีให้มีขึ้น นี่ก็เป็น สัมมาวายามะ ในอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างนี้ก็เป็นการทำพัฒนาจิตเหมือนกัน แล้วก็พยายามรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ และพัฒนาให้เจริญขึ้น อันนี้ก็เป็น สัมมาวายามะ คือ ความเพียรที่ถูกต้อง ไม่ใช่นั่งหลับตาสมาธิอย่างเดียว

ตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นการฝึกจิต พัฒนาจิต สัมมาสติก็คือ ไม่ประมาท มีสติอยู่ในใจตลอดเวลาทุกขณะจิตเท่าที่จะทำได้ วิธีที่จะทำให้สติอยู่กับตัวตลอดเวลาก็มีหลักปฏิบัติเรียกว่า สติปัฏฐาน พยายามตั้งสติอย่างใหญ่ คือตั้งสติอย่างจริงจัง สติปัฏฐานทำได้ทุกกรณี ทุกการเคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ อะไรก็แล้วแต่ถ้ามีสติกำกับอยู่ตลอดเวลาจะรู้ เท่าทัน แล้วพยายามฝึกไปเรื่อยๆ คือฝึกควบคุมสติให้อยู่กับที่ โดยหลักการท่านก็บอกว่าได้สติปัฏฐานสี่กาย เวทนา จิต ธรรมนั้นเป็นหลักในการที่จะฝึกหัด

การประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ประยุกต์ใช้กับการทำงานต่างๆ ก็ได้ กำลัง Lecture อยู่ก็มีสติ ไม่ตาลอย ไม่คิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ กำลังฟังบรรยายอยู่ก็ตั้งใจฟัง มีสติ จะเซ็นหนังสือเป็นตั้งๆ ถ้าไม่มีสติจะเซ็นพลาดได้ ต้องมีสติว่าเซ็นเรื่องอะไร แล้วต้องจำได้ด้วย นี่ก็เป็นการฝึกสติในชีวิตประจำวัน มีเรื่องเล่าตลกๆ ว่าขนาดเซ็นให้ตัวเองลาออกก็มี เพราะไม่มีสติ โดน ลูกน้องแกล้งพิมพ์ข้าพเจ้าขอลาออกจากราชการ แล้วก็เสนอเจ้านายให้เซ็นอนุมัติให้ตัวเองลาออก อย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีสติ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าเป็นเรื่องสูงจนเกินไป ทางพระเรียกว่า ความไม่ประมาท ความมีสติอยู่กับตัว การไม่ประมาทก็เป็นการฝึกและก็เป็นอริยมรรคเป็นการพัฒนาจิต เรียกว่าสัมมาสติ

การฝึกจิตให้ตั้งสติให้อยู่กับการกระทำใดๆ นานๆ สมาธิก็เกิดให้พยายามทำอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเป็นอัตโนมัติเอง จิตจะเข้าที่ง่าย คนที่ไม่เคยฝึกจิตจะเข้าที่ยาก แล้วจะ Control ตัวเองได้ยาก ตัวอย่างเช่น รถชนโครม คนที่ไม่เคยฝึกมาเลยจะร้องโวยวาย จะโทรศัพท์ก็หมุนผิดๆ ถูกๆ ทำใจไม่ถูก แต่ถ้าคนเคยฝึกถึงประสบอุบัติเหตุรถเราชนหรือเขาชนเรา ก็ไม่ตื่นเต้นอะไร เดินลงจากรถหมุนโทรศัพท์ติดต่อตัวแทนประกันมาดูแลต่อไป นั่นแสดงว่าเป็นคนเคยฝึก เพราะการเคยฝึกเรื่องเหล่านี้บ่อยๆ จะเป็นอัตโนมัติ เมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็สามารถควบคุมกิเลสไม่ให้มีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา เมื่อกิเลสมันไม่มีอิทธิพลมาครอบงำจิตใจของเรา เราก็ปลอดจากกิเลส แล้วการที่เราจะพัฒนาจิตให้มันสูงขึ้นก็เป็นไปได้ง่าย ในด้านจริยธรรมท่านเปรียบสติเหมือนนายประตู นายทวารบาล ใครจะเข้าใครจะออกจะรู้ เข้าสิบคนก็รู้สิบคน เข้าไปแล้วออกรึยังก็รู้ เพราะฉะนั้นสติก็เหมือนนายประตูที่คอยดูว่าใครเข้าใครออก

สติเองทำงานร่วมกับสัมปชัญญะ

สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญาพิจารณาว่าแต่ละคนควรจะให้เข้าไหม ทำงานร่วมกันกับสติ เวลาเราพูดถึงสติอย่างเดียวเรารวมถึงสัมปชัญญะด้วย เวลาพูดถึงสัมปชัญญะอย่างเดียวก็รวมถึงสติด้วยเพราะคุณธรรมสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

การปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายถึงการบำเพ็ญสมาธิอย่างเดียว แต่หมายถึงสัมมาวายามะ สัมมาสติด้วย ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะสัมมาสมาธิ แล้วก็ถ้าพูดให้ละเอียดไปอีกหน่อย คำว่าปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรจะอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะว่าการปฏิบัติหมายถึงการดำเนินชีวิต ฉะนั้น การดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม การทำงานประจำวันให้ดีที่สุดก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม

ท่านพุทธทาสพูดว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม นั่นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน แต่ว่าการปฏิบัติโดยหาเวลาพิเศษเพื่อสมาธิบำเพ็ญวิปัสสนานั้นก็จำเป็นอีกเหมือนกันเป็นการปฏิบัติเหมือนกันแต่เป็นการปฏิบัติเข้ม เหมือนเราเรียนหนังสือ ถ้าเราเรียนหนังสือ ถามว่าการบ้านจำเป็นไหม ก็ต้องตอบว่าจำเป็น ทำการบ้านทำไม ครูให้การบ้านไปทำไม ให้การบ้านเพื่อให้ไปฝึก เพื่อให้เกิดความช่ำชอง เชี่ยวชาญ ไม่ลืมและเข้าใจแจ่มแจ้งถ้าจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อฝึกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการบ้านนั้นแหละคือการฝึกเข้ม

การเรียนหนังสือก็จำเป็นต้องมีการบ้าน แต่ว่าไม่ใช่การบ้านอย่างเดียวเป็นทั้งหมดของการเรียน ไม่ใช่ทำการบ้านอย่างเดียว เช่นเดียวกันในการปฏิบัติธรรม การหาเวลาพิเศษ หาเวลาเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งมาฝึกปฏิบัติเทคนิควิธีอะไรบางอย่าง จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม เป็นเหมือนทำการบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาแค่ทำการบ้าน เพราะว่าในชีวิตประจำวันเราต้องทนต่อสู้กับโลกนี้ไม่น้อย ในชีวิตประจำวันเราก็จำเป็นจะต้องนำเอาสิ่งที่เราปฏิบัติได้ไปประยุกต์ใช้ เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ยังต้องปฏิบัติธรรมอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง


เรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 มีบางท่านไปเข้าใจว่าต้องทำทีละข้อๆ สัมมาทิฏฐิเสร็จแล้วสัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะเสร็จแล้วก็ทำสัมมาวาจา เป็นความเข้าใจที่ผิด

อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ใช่อริยมรรค 8 ข้อ ไม่ใช่ทาง 8 ทาง ไม่ใช่ทาง 8 สาย เป็นทางสายเดียวแต่มีองค์ประกอบ 8 เมื่อมีองค์ประกอบ 8 ก็แสดงว่าต้องทำด้วยกัน

เหมือนเราจะกินแกงเลียง องค์ประกอบของแกงเลียงนี่มีอะไรบ้าง อาจจะมีตั้ง 10 อย่าง เพราะฉะนั้นแกงเลียงจะไม่สำเร็จด้วยองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องทั้งสิบ สมมติว่ามีสิบต้องทั้งสิบมารวมกัน มาปรุงกันเข้า จึงจะเป็นแกงเลียง ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ใช่ว่าต้องทำอะไรก่อนแล้วมาตามด้วยข้อที่ 2,3,4 และก็ไม่ใช่ว่าข้อไหนสำคัญกว่าข้อไหน ทุกข้อสำคัญพอๆ กัน ต้องอาศัยทั้ง 8 ข้อ เพราะฉะนั้นอันตรายถ้าจะบอกว่าอริยมรรค 8 ทาง 8 สาย ต้องบอกว่ามีทางสายเดียวแต่มี 8 องค์ประกอบ

เพื่อไม่ให้มีหลายสาย ให้มองถึงไตรสิกขา มี 3 มิติ แต่ไม่ใช่ 3 อย่าง ไม่ใช่ 3 ขั้น แต่เป็น 3 มิติ : ศีล สมาธิ ปัญญา 3 องค์ประกอบนี้เป็น 3 มิติ ต้องทำไปด้วยกัน เรื่องเดียวกันทำไปด้วยกัน เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน จึงตรัสรวมกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องทำศีลก่อนให้สมบูรณ์ แล้วต้องมาทำสมาธิ ทำสมาธิสมบูรณ์แล้วมาทำปัญญา

อาจารย์บางท่านที่แต่งตำราแล้วผิดมากเหมือนกัน ที่เขียนว่า บันได 3 ขั้น ไม่ใช่บันได 3 ขั้น ไม่ใช่ขึ้นขั้นนี้แล้วก็ไปขึ้นขั้นนั้น (ถ้าเป็นบันไดก็ต้องเป็นบันไดเวียน) ถ้าเปรียบให้ถูกจริงๆ ก็เหมือนกับเส้นเชือกที่มี 3 เกลียว เชือกเป็น 3 เกลียวมาตั้งแต่จุดต้นจนกระทั่งจุดสุดท้าย ไม่ใช่เกลียวที่หนึ่งมาอยู่ทางต้นเชือก เกลียวที่สองอยู่ที่กลางเชือก เกลียวที่สามอยู่ที่ปลายเชือก ถ้ามองว่าเชือก 3 เกลียวทำเป็นเชือกได้และใช้ประโยชน์ได้ ไตรสิกขาก็คล้ายๆ อย่างนั้นคือเป็นองค์ประกอบที่ทำร่วมกันมาตั้งแต่ต้น

คนโบราณท่านฉลาด เวลาท่านทำกิจกรรมทางศาสนาเป็นภาคปฏิบัติที่ปฏิบัติจริง ท่านให้ฝึกศีล สมาธิ ปัญญา ในกิจกรรมนั้นทั้งหมดโดยไม่ได้บอก แต่ในกิจกรรมนั้นมีศีล สมาธิ ปัญญา ให้รักษาศีล ให้นั่งสงบฟังพระสวด แล้วก็ให้ฟังธรรมเพื่อจะให้เกิดปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในตัว หรือทาน ศีล ภาวนาอยู่ในตัวเสร็จ กิจกรรมไปถวายอาหารพระ ถามทำไมต้องรับศีลก่อน รับศีลแล้วถวายทาน ฟังพระสวด ทั้งหมดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งทำให้เห็นว่าในชีวิตประจำวันไม่ใช่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทำพร้อมๆ กัน ไม่มีอะไรก่อนอะไร ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ตรัสไว้เป็นหลักการคือ ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องใส นั่นแหละคือหลักศีล สมาธิ ปัญญา อรรถกคาถาอธิบายไว้เลยว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ ก็คือศีล
กุสลสฺสูปสมฺปทา ก็คือสมาธิ
สจิตฺตปริโยทปนํ ก็คือปัญญา


เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ที่สอนให้ชาวพุทธปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็คือสอนให้ทำครบทั้ง 3 แต่ท่านไม่บอกเท่านั้นเอง ทำไปเรื่อยๆ ก็จะครบเองทั้ง 3 เงื่อนไข ครบสมบูรณ์เมื่อไหร่ ทำถูกส่วนเมื่อไหร่ก็จะบรรลุเอง ไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่จะบรรลุ บรรลุแล้วไม่ต้องบอกใครด้วย จะรู้เอง และก็ไม่จำเป็นต้องบอก

เรื่องของพระพุทธศาสนา อริยมรรคมีองค์ 8 นั้น เราจะพูดให้ลึกก็ได้ พูดให้ตื้นๆ ที่สามารถเอาไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้ แล้วก็ต้องถือว่าท่านทั้งหลายที่ได้ทอดกฐิน พูดเป็นภาษาโบราณก็ว่าเป็นคนมีบุญ คือได้ทำบุญทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำบุญถวายผ้าพระกฐินซึ่งเป็นกาลทาน เป็นการถวายทานพิเศษปีหนึ่งมีครั้งเดียว เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเราได้บุญตามภาษาของ คนโบราณบุญชั้นที่ 1 คือได้ทำทานพิเศษ ชั้นที่ 2 ได้ฟังธรรม นี่ก็ถือว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุ เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คือ ธัมมัสวนมัย

การฟังธรรมก็คือการฟังสิ่งที่ดี ฟังสิ่งที่ประเสริฐ ท่านทั้งหลายที่บรรยายธรรมก็นำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาให้ฟัง แนะนำแนวทางที่ดีที่งาม ที่จะพัฒนาจิตให้สะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ก็เท่ากับได้บุญ

ถ้าหากว่าเราจะขยายบุญ เหมือนกับจุดเทียนแล้วต่อเทียนต่อๆ กันไป เราสามารถขยายบุญจากจุดนี้ได้ คือเราตั้งใจอุทิศส่วนบุญที่เราได้รับนี้ให้แก่คนอื่น เป็นอนุโมทนา เป็น ปัตตานุโมทนา ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วย การแบ่งบุญให้กับคนอื่น การแบ่งบุญให้คนอื่นในความหมายธรรมดาก็คือตั้งใจอุทิศคุณงามความดีที่เราทำให้คนอื่น

ในความหมายอีกความหมายหนึ่งก็คือ เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ร่วมทำบุญคือเป็นการแบ่งบุญ เช่นเราจะทอดกฐินเราไม่ทอดคนเดียว เราจะฟังธรรมก็ไม่ฟังคนเดียว เราให้คนอื่นมาฟังด้วย เราอัดเทปเราเปิดให้คนอื่นฟังด้วย นี่เป็น ปัตติทานมัย คือ แบ่งบุญให้คนอื่น ชวนให้คนอื่นมามีโอกาสได้ถวายผ้ากฐินด้วย ก็ถือว่าเป็น ปัตติทานมัย แล้วเรายังได้บุญอีกโดยต่อเทียนเล่มต่อๆ ไปอีกก็คือว่า เห็นคนอื่นเขาฟังธรรม เห็นคนอื่นเขาปลาบปลื้มในรสพระธรรมที่ฟัง เราก็มีความสุขด้วย เห็นเขาได้บุญเราก็อนุโมทนาในคุณงามความดีในบุญกุศลที่คนอื่นเขาได้รับ เราก็ได้บุญอีก

เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องขอบคุณยุวพุทธิกสมาคมฯ ที่จัดให้มีการทอดกฐินสามัคคีโดยมีการบรรยายธรรมด้วย มีน้อยมากที่มีอย่างนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มที่ดี แล้วก็ควรจะอนุรักษ์ไว้ ทำอย่างนี้ต่อๆ ไปอย่าให้ขาดสาย ผมก็เคยทำแบบนี้มาเหมือนกัน เวลาพาชาวพุทธไทยไปเที่ยวทัศนศึกษา ไปไหว้ปูชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ก็ไม่ใช่พาไปชมเฉยๆ พยายามบรรยายธรรมให้ฟัง แล้วพยายามพานั่งสมาธิวิปัสสนา ก็ถือว่าให้ไปช่วยกันทำบุญ ช่วยกันพัฒนาจิตให้สูงขึ้น สะอาดขึ้นบริสุทธิ์ขึ้น โดยที่สุดแม้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เรายังไม่มีโอกาสทำ เพียงเราคิดในเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล เราก็ได้บุญแล้ว

มีพุทธวนจนะบทหนึ่งขอสรุปไว้ตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสว่า เพียงคิดในเรื่องที่เป็นกุศลก็มีอานิสงส์มหาศาลแล้ว ไม่จำต้องพูดถึงการลงมือกระทำ คิดให้ลึกแล้วจะเข้าใจว่า คิดในเรื่องดีๆ บ่อยๆ เข้านานๆ เข้า มีผลอยู่ในตัวแล้วคือจิตเราสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้นประณีตขึ้น ถ้าลงมือทำจะได้บุญได้กุศลเพียงใด

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6606

• ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

• รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 22 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร