วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 12:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: พฤติกรรมแบบเซน :b43:
เหตุที่เขียนเรื่อง "พระเซนองค์แรกของไทย -สมเด็จ-ขึ้นมา เพราะเห็นว่าสมเด็จฯโต ท่านมีพฤติกรรมแปลกๆที่ไปเข้าลักษณะเซนเข้า กล่าวคือ ปฏิบัติการของเซนนั้น จะจี้จุดไปที่จิตใจโดยตรง เป็นการกระตุ้นให้รู้สึก ให้เกิดสำนึกในทันทีทันใด
เช่น อย่างกรณีน้ำชาล้นถ้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อยากจะรู้เรื่องเซน จึงเข้าไปหาอาจารย์นานอิน ซึ่งเป็นอาจารย์เซน
อาจารย์นานอินได้ทำการต้อนรับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านนั้นด้วยน้ำชาตามธรรมเนียม ในขณะที่กำลังรินน้ำชาอยู่นั้น ปรากฏว่าน้ำล้นออกจากถ้วย แต่ท่านอาจารย์นานอินก็ยังไม่หยุดรินน้ำชา กลับรินจนล้นถ้วยแล้วล้นอีก อาจารย์มหาลัยจึงทักท้วงขึ้นว่า"ล้นแล้วอาจารย์ จะเทลงไปได้อย่างไรเล่า"
"ท่านเองก็เหมือนกับถ้วยนี่แหละ เมื่อความคิดทฤษฎีมีอยู่เต็มสมองแล้ว จะพูดเรื่องเซนให้รู้ได้อย่างไร?" ท่านอาจารย์นานอินตอกเข้าให้จนอาจารย์มหาวิทยาลัยมึนไปเลย
นี่แหละ พฤติกรรมการสอนของเซนจะเป็นอย่างนี้ เพราะคนทั่วไปมักจะมีมันสมองที่เต็มไปด้วยความคิดทฤษฎีที่มากมาย ของตัวเองบ้าง ของคนอื่นบ้าง จนเต็มไปหมด จนไม่สามารถจะบรรลุอะไรลงไปได้อีกแล้ว
อันธรรมดา ของที่เต็มแล้วล้นแล้วใครจะบรรจุอะไรลงไปอีก ย่อมไม่ได้ ขวดที่เต็มไปด้วยน้ำ จะเทน้ำใส่ลงไปอีก น้ำย่อมไหลออก ฉันใดก็ดี มันสมองของคนที่จะบรรจุความคิดทฤษฎีไว้ตั้งมากมายย่อมไม่สามารถจะรับความรู้ดีๆ ใดได้อีกแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน
และเพราะเหตุนี้ ความขัดแย้งทางความคิดจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ จนเกิดการต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคานกัน ด้วยอำนาจแห่งการยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตนทั้งนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือกรณีท่านเรียวกัน พระเซนณี่ปุ่น ท่านปลูกกระท่อมอยูที่เชิงเขา เพราะต้องการหาความสงบสุขสันติให้แก่ชีวิต ท่านดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ ยากจนมาก แต่ก็ไม่วายที่จะถูกขโมยเข้าไปลักของในกระท่อมทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรจะให้ลัก
ในตอนนั้นท่านเรียวกันออกไปข้างนอก ไม่ได้อยู่ในกระท่อม เมื่อท่านกลับเข้ามาในกระท่อมขโมยยังง่วนหาของอยู่ แต่หาไม่ได้สักอย่าง ท่านได้พูดด้วยความเมตตาว่า
"เธอคงจะมาจากที่ไกล จึงไม่ควรกลับไปมือเปล่า เอาเสื้อที่ฉันสวมติดมือไปด้วยนะ"แล้วท่านก็ถอดเสื้อให้ขโมยไป
นี่แหละ!..เซนล่ะ เซนนั้นใช้จิตใจเข้าถึงความจริง ไม่ใช้สมองแห่งการแบ่งแยกว่าเป็นโจร เป็นคนดี ไม่แบ่งเราแบ่งเขา ให้เกิดความขัดแย้งแบ่งชั้น จะมีแต่คำว่าคน คนก็คือคน คนคือพุทธะ
ลักษณะอย่างนี้มีอยู่ในพฤติกรรมของสมเด็จฯโต และพระเถระดังๆ อีกหลายท่าน โดยเพาะท่านสมเด็จฯโตนั้น เห็นได้ชัดมากเลยทีเดียว ลองอ่านบทต่อไป..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: เมตตาต่อขโมย :b48:
พระนั้นต้องมีเมตตากรุณา มีความหวังดีปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งคนและสัตว์เดรัจฉาน คอดจะช่วยฝห้ผู้อื่นพ้นทุกข์อยู่เสมอ จะไม่ซ้ำเติมให้ใครเดือดร้อน ทั้งพูด ทำ และคิด ต้องมีจิตเมตตากรุณาตลอดไป ช่วยคนดีให้ดียิ่งขึ้น ช่วยแก้ไขคนร้ายให้ดีงาม และสมเด็จฯโต ท่านเป็นพระอย่างนั้น
ครั้งหนึ่งกลางคืนดึกสงัด ลูกศิษย์ลูกหาของท่านต่างหลับไหลกันหมดแล้ว เหลือแต่ท่านสมเด็จฯโต ที่ยังนอนนิ่งอยู่ในความวิเวก
เรือของท่านจอดนิ่งสนิท เหมือนไม่มีคนอยู่ พวกโจรซึ่งพายเรือมาเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงค่อยไ ลอยเรือเข้าเทียบเรือของท่าน
สมเด็จฯโต ท่านรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่ท่านก็ไม่ห้าม เมื่อโจรหยิบเสื่อใส่เรือมันแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า "เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ" เสียงของท่านดังขึ้นด้วยความเมตตาต่อโจร พวกโจรต่างสะดุ้งเฮือกตกใจกลัวสุดขีด รีบจ้ำเรือผละหนีกันไปในทันทีทันใด ด้วยไม่คิดว่าจะมีคนอยู่ แต่แล้วยังไม่ทันที่พวกโจรจะหนีไป ท่านก็อุตส่าห์โยนหมอนตามไปให้ด้วย พวกโจรเห็นท่านใจดีจึงพายเรือกลับมาเอาหมอนอีก นับว่าโจรนี่ก็น่าดูเหมือนกัน งกเหลือเกิน จนได้ทั้งเสื่อทั้งหมอนสบายไป
จะเห็นว่าสมเด็จฯโต ท่านมีเมตตากรุณา แม้เขาจะเป็นโจร แต่ก็ไม่ประพฤติหยาบคายต่อโจร มองเห็นโจรเป็นคนอดอยากยากจนที่จะต้องสงสารช่วยเหลือ เป็นการกระจายรายได้ไปในตัว ถือว่าพวกโจรเขามาแบ่งของไปใช้ ครั้นจะมาขอซึ่งๆหน้ากันก็ไม่กล้า จึงต้องขโมยเอาลักเอา


:b48: แม้แต่นกตัวน้อยๆก็สงสาร :b48:
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก" โลกจะอยู่ได้ไม่แตกสลายก็เพราะอาศัยเมตตาที่สิงอยู่ในหัวใจคน
มนุษย์เราถ้าปราศจากเมตตาเสียแล้ว คงจะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะไม่ได้แน่ จะต้องมีการแก่งแย่งแข่งขันชนิดที่รุนแรง ไร้น้ำมิตรไร้จิตใจ แต่ที่ยังอยู่ร่วมกันได้ ก็เพราะอาศัยเมตตากรุณาที่หลั่งมาเหมือนฝนอันชื่นใจจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั่นเอง
ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทางไปต่างจังหวัด ในระหว่างทางท่านได้พบนกตัวหนึ่งกำลังติดแร้วที่เขาดักไว้ เห็นแล้วอดสงสารไม่ได้ ยิ่งเห็นกำลังดิ้น ยิ่งน่าสงสาร ท่านจึงเข้าไปปล่อยนกตัวนั้นเสียให้พ้นจากทุกข์ภัยไปสู่ความเป็นอิสระเสรี (ต่อ....)


แก้ไขล่าสุดโดย ศรีสมบัติ เมื่อ 22 พ.ค. 2010, 13:11, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 13:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เสร็จท่านก็เอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงแร้ว ทำเสมือนว่าเป็นนกที่ติดแร้ว เมื่อมีคนมาพบเข้าแล้วจะช่วยเหลือท่านให้หลุดจากบ่วง ท่านก็บอกให้เขาไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน ต้องให้เจ้าของแร้วบอกอนุญาตให้ออกจากบ่วง ท่านจึงจะชักเท้าออก จากบ่วงได้
เมื่อเจ้าของแร้วมาถึง ได้พูดคุยกันแล้ว อนุญาตให้สมเด็จฯเอาเท้าออกจากบ่วง ท่านจึงให้เจ้าของแร้วตรวจน้ำ โดยท่านกล่าวยถาสัพพีให้เสร็จสรรพ แล้วท่านสมเด็จฯโต ก็เดินทางต่อไป
พฤติกรรมอย่างนี้ นับว่าแปลกประหลาดมากเป็นการสอนคนที่ลึกซึ้งจริงๆ ผู้ถูกสอนจะรู้สึกไปถึงก้นบึ้งของจิตใจ อย่างกรณีนี้ นายพรานดักแร้วคนนั้นก็จะไม่กล้าหรือไม่อยากที่จะฆ่าสัตว์อีกต่อไป
หากพระสงฆ์สมัยใหม่ยุคไฮเทค จะนำวิธีการอย่างนี้มาใช้บ้าง คงจะไม่ล้าสมัยหรอก เดินไปทางไหนเห็นเขาจะฆ่าไก่ ท่านก็ยื่นเอาคอให้เขาเชือด คงไม่มีมนุษย์คนไหนจะกล้าฆ่าพระได้ลงคอหรอก
พอเขาปล่อยไก่ ไม่ฆ่าแล้ว ท่านก็ยถาสัพพี ให้เขาตรวจน้ำ โดยที่ท่านจะกล่าวสอนเขาสักหน่อยก่อนหรือไม่ก็ได้
หรือท่านไปเห็นญาติโยมกำลังจะแทงคอวัวคอควาย ตามโรงฆ่าสัตว์ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วท่านทนไม่ได้เพราะความกรุณา ท่านก็ยื่นคอไปให้เขาแทง และก็คงไม่มีใครกล้าแทงท่านอีกเช่นกัน เมื่อเขาปล่อยวัวปล่อยควาย รับปากจะไม่ทำการฆ่าสัตว์อีก ท่านก็ยถาสัพพีให้เขาตรวจน้ำแผ่ส่วนกุศลให้สรรพสัตว์ ให้ทุกผู้ทุกนามจงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกัน จงพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
ด้วยวิธีการอย่างนี้ สักวันหนึ่ง ความโหดเหี้ยมอำมหิตในหัวใจคนจักค่อยๆ จางหายไปในโลกนี้ เพราะเมื่อแม้แต่สัตว์เดรัจฉานเราก็ยังเมตตาปราณีได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงมนุษย์ด้วยกันเล่า
หากพระสงฆ์สามเณรลองใช้วิธีอย่างนี้กันบ้าง การจะให้ประชาชนถือศีล ๕ นั้น จะไม่เป็นการยากเย็นอะไรเลย แต่ตราบใดที่เอาแต่ให้ศีลกันอย่างเดียว อย่างที่ทำๆ กันอยู่นี้ ให้เท่าไรก็ไม่ทำกัน แล้วให้ทำไม?


:b48: :b48: สุนัขก็มีหัวใจ :b48: :b48:
หากคนเรามีคารวะต่อคนด้วยกัน ต่อสัตว์ต่อพืช และต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้ว รับรองได้เลยว่าโลกนี้จะไม่มีความรุนแรง จะไม่มีความขัดแย้งแบ่งชั้น เพราะคารวะหรือความเคารพจะทำให้เรายอมรับนับถือในผู้อื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นๆ จนไม่กล้าเข้าไปก้าวก่ายให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ
สมเด็จฯโต นั้น ท่านมีคารวะแม้ต่อสุนัข ครั้งหนึ่งท่านเดินไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านได้พูดกับสุนัขว่า "โยมจ๋า ..ขอฉันไปทีนะจ๊ะ" พฤติกรรมอย่างนี้ ใครเห็นเข้าเขาก็ว่าบ้า แต่สมเด็จฯโต ท่านทำได้สบายมาก เพราะหัวใจท่านมีคารวะธรรม
เหตุที่ท่านเรียกสุนัขเป็นโยม ก็เพราะว่าครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ก็เคยเสวยพระชาติเป็นสุนัข ท่านก็ไม่รู้ว่าสุนัขตัวนี้จะเป็นพระโพธิสัตว์หรือเปล่า
ท่านขอทางแก่สุนัขแล้วท่านก็เดินเลี่ยงไป ไม่ยอมข้ามตัวหมาไป จากเรื่องนี้จะเห็นว่า แม้แต่สัตว์ชาติเดรัจฉานอย่างสุนัข ก็สามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้ แล้วคนชาติมนุษย์เล่าจะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์บ้างไม่ได้เชียวหรือ?
ในเรื่องของสุนัขที่เป็นพระโพธิสัตว์นี้ แสดงว่าพุทธภาวะ ภาวะแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นจะมีอยู่ในสัตว์ด้วยเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นสุนัขจะเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้เลย จึงสอดคล้องกับคำสอนท่านฮวงโป อาจารย์เซนผู้ยิ่งใหญ่ที่สอนว่า "พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง (one mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย...
จิตหนึ่งนี้เท่านั้น เป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไปยึกมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น จึงได้แสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ..."
จากคำสอนของฮวงโป จะเห็นได้ว่า คนทุกคนมีธาตุแห่งความรู้อยู่ในตัว แต่เหตุที่เราไม่ค่อยได้แสดงด้านนี้ออกมา ก็เพราะกิเลสอันเปรียบเหมือนเมฆคอยบดบังตาแห่งปัญญาของเรา ให้แสดงออกแต่ความโง่เขลาเบาปัญญา ลุ่มหลงงมงายอยู่นั่นเอง

:b48: :b48: :b48: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: :b46: :b46: สอนให้รู้สึก :b46: :b46: :b46:
การสอนคนนั้น ไม่ใช่จะสอนกันได้ง่ายๆ การสอนหนังสือหนังหา สอนให้คอดเลขอ่านเขียนนั้นยังพอทำเนา ถึงจะมีความยากเย็นกันอย่างไรบ้าง ก็ยังพอไหว แต่การสอนเรื่องธรรมะ เรื่องศาสนา เรื่องศีลธรรม จริยธรรมนี่สิลำบาก สอนกันยาก และจริงๆ แล้ว มันจะสอนกันได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ยังสงสัยอยู่
การสอนศีลธรรม จริยธรรม เท่าที่ทำๆ กันอยู่มักไม่ใคร่ได้ผล สอนแล้วฟังแล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้นำไปประพฤติปฏิบัติกันอย่างจริงๆจังๆ จึงไม่ค่อยได้ผล ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลายประการด้วยกัน เช่น สภาพแวดล้อมนำไป,ใจไม่แข็งพอ,ผู้สอนไม่เก่งพอที่จะจูงใจ หรือคำสอนไม่จี้จุดไปถึงใจ ทำให้ใจที่ด้สนชาไม่รู้สึก ไม่แว็บขึ้นมา เป็นต้น
ลองดูตัวอย่างการสอนของสมเด็จฯโต บ้างซิ บางทีอาจจะนำไปใช้ในกรณีอื่นได้อีกกระมัง
วันหนึ่ง ท่านสมเด็จฯโต ท่านเดินผ่านไปยังวัดชนะสงคราม ท่านได้ยินพระสวดตลกคะนองกันอื้ออึงอยู่ในวัด ฟังแล้วรู้สึกสลดใจ "ทำไมพระจึงทำอย่างนี้ได้หนอ?"
จะเดินเข้าไปในว่าทันทีทันใดเลยก็ไม่ได้ จึงค่อยๆ เดินเข้าไป พอไปถึงก็ทรุดตัวลงนั่งยอง แล้วประนมขึ้นว่า "สาธุ สาธุ สาธุ " โดยไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินจากไป ปล่อยให้พระเหล่านั้น และญาติโยมที่นั่งฟัง ตะลึงงงงันกันไปหมด
ความสังเวชใจเกิดขึ้นในท่ามกลางประชุมชนโดยเฉพาะพระเหล่านั้นเกิดความละอายเป็นอย่างยิ่งไม่อาจอยู่มองหน้าผู้คน บ้างก็สึกไป ที่ไม่สึกก็เลิกสวดตลกคะนองอีกโดยเด็ดขาด กลับตัวประพฤติปฏิบัติกันเสียใหม่
นี่ลองถ้าสมเด็จฯโต ท่านไปถึงแล้วก็ด่าว่าพระเหล่านั้นเสียยกใหญ่ คงจะไม่ได้ผลออกมาอย่างนั้นเป็นแน่แท้ เพราะมันเหมือนกับจะไปห้ามมิให้สวดอย่างนั้น แต่มนุษย์นั้นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งกระทำใหญ่ นั่นเป็นอย่างนั้น
ใช้ สาธุ สาธุ สาธุ เพียงสามคำ เรียบร้อยหมด ให้เขารู้สึกละอาย ได้ผลดีกว่าให้เขาเกิดความเจ็บใจ
จะสอนคนให้ได้ผล ต้องสอนให้ถึงดวงใจของเขาด้วย

:b48: :b48: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 14:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42: อยู่ที่ใจ :b42: :b42: :b42:
มีพระพุทธภาษิตอยู่สองบท บทหนึ่งว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฏฺเฐน
มนสา เจ ปทุฎเฐน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนวติ
จกฺกํว วหโต ปทํ
ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว
ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา
เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค
อีกบทหนึ่งว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธฺมมา
มโนเสฎฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนวติ
ฉายาว อนปายินี
ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์
ความสุขย่อมติดตามเขา
เหมือนเงาติดตามตน
จากพุทธวจนะทั้งสองบท แสดงว่า"ใจ" ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด สิ่งทั้งมวลสรุปลงอยู่ที่ใจ จะแก้ไขอะไร จะต้องทำการสิ่งใด ในขั้นตัดสินใจนั้นใจเป็นใหญ่หมด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 15:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดังนั้น ดวงใจจึงเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากละอองธุรีแห่งกิเลส ตัณหาให้มากที่สุด เพราะเมื่อดวงใจงดงาม สิ่งอื่นทั้งหมดจะดีงามตามไปด้วย หากดวงใจต่ำทราม สิ่งอื่นก็ชั่วทรามตามเป็นเงา
อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญด้วย มีผลกระทบต่อจิตใจมากเหลือเกิน โดยเพาะแก่ผู้ที่มีกำลังใจอ่อนแอ จะถูกสิ่งแวดล้อมลรุมเร้าให้ดีหรือเลวได้ง่ายดาย แต่สำหรับผู้ที่มีกำลังใจอันเข้มแข็ง ฝึกจิตจนมีคุณภาพในระดับดีงามมากแล้ว สิ่งแวดล้อมจะเลวอย่างไรก็ทำอันตรายใดๆ ให้ไม่ได้ เรียกว่าพ้นจากผองภัย
เรื่องอยู่ที่ใจนี้มีอยู่ว่า วันหนึ่งสมเด็จฯโต เดินผ่านหลังโบสถ์ เห็นพระกำลังเตะตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน นายทศซึ่งเดินไปกับท่านด้วย รู้สึกแปลกใจที่ท่านไม่ว่าอะไร ทั้งๆ ที่การเตะตะกร้อมันผิดพระวินัยจึงถามท่านไปว่า "ทำไมไม่ห้ามพระเตะตะกร้อ?"
"ถึงเวลาเขาเลิกเอง ถ้าไม่ถึงเวลาเขาเลิกเราไปห้ามเขา เขาก็ไม่เลิก" ท่านตอบนายทศอย่างนั้น จะเลิกไม่เลิกมันอยู่ที่ใจของเขา
ต่อมาพระกลุ่มนั้นได้ใจ คิดว่าสมเด็จฯโต ไม่ว่าอะไร จึงเล่นเตะตะกร้อกันอีก แต่คราวนี้ สมเด็จฯโต ท่านไม่ปล่อยเหมือนคราวก่อน ท่านให้เด็กไปเรียกพระเหล่านั้นมา แล้วให้เด็กยกน้ำร้อรน้ำชาและน้ำตาลทรายมาถวาย สักครู่สมเด็จฯโต ได้ถามขึ้นว่า"นี่ คุณตะกร้อนี่หัดกันนานไหม?"
พวกพระต่างมองตากัน รู้สึกอาการชักจะไม่ค่อยดี ไม่รู้ว่าสมเด็จฯโต จะเล่นไม้ไหน ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ
"ลูกไหนเตะยากกว่ากัน ลูกข้างลูกหลังน่ะ?" สมเด็จฯโต หยอดเข้าไปอีก พระเหล่านั้นไม่พูดอะไร หน้าถอดสี รู้สึกละอายจนอยากจะแทรกแผ่นดินหนีเสียให้ได้
โดยปกติ สมเด็จฯโต ท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวอยู่แล้ว ท่านไม่เคยปากเปียกปากแฉะอย่างพระเจ้าอาวาสทั่วๆไป นานๆ ครั้งจะว่ากล่าวกันที ยิ่งท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวตักเตือน ยิ่งทำให้ละอายอย่างมาก
ปรากฏว่าต่อมาพระวัดระฆังเลิกเตะตะกร้อกันอย่างเด็ดขาด นี่คือวิธีสอนแบบเซน ที่จี้จุดไปถึงใจดำ จนรู้สึกขึ้นเอง เมื่อใจเกิดความละอายเกรงกลัวต่อบาปต่อพระวินัย บุคคลก็จะเลิกกระทำสิ่งเลวทราม
ใจที่ดี ย่อมทำแต่สิ่งที่ดี ใจที่ชั่ว ย่อมทำแต่สิ่งที่ชั่ว

:b48: :b48: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42: รู้จักยอม :b42: :b42: :b42:
สมเด็จฯโต ท่านมีวิธีระงับคดีดับเหตุได้อย่างชนิดที่เราคิดไม่ถึงว่าท่านจะตัดสินอย่างนั้น อย่างเรื่องพระทะเลาะกันขั้นรุนแรง จนถึงเลือดตกยางออก เพราะมีการใช้กำลังตีศรีษะกันจนหัวร้างข้างแตก สมเด็จฯโต ท่านกลับตัดสินให้พระที่ถูกตีศรีษะแตกว่าเป็นคนผิด
เรื่องมีอยู่ว่า พระที่ถูกตีนั้นไปฟ้องสมเด็จฯโต ว่าพระรูปหนึ่งตีท่านจนศรีษะแตก อยากให้สมเด็จฯโต ซึ่งเป็นผู้ปกครองลงโทษ แต่สมเด็จฯโต ท่านกลับพูดว่า"ก็คุณตีเขาก่อนนี่"
พระรูปนั้นงงไปเลย ได้เรียนว่า ผมไม่ได้ตีเขาก่อน เขาตีผมก่อนต่างหาก แต่สมเด็จฯโต ก็ยังยืนกรานอยู่เช่นเดิม ทำให้พระลูกวัดรูปนั้นไม่พอใจมากคิดว่าสมเด็จฯโต ไม่ยุติธรรมตัดสินผิดไปจากหลักความเที่ยงธรรม จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง)แห่งวัดอรุณฯ สมเด็จเซ่ง ท่านได้ถามสมเด็จฯโต ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระรูปนี้ตีพระรูปนั้นก่อน
สมเด็จฯโต ท่านตอบว่า "รู้ได้ตามพุทธฎีกาที่ว่า เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร เวรต่อเวรมันตอบแทนกัน" สมเด็จฯเซ่ง ได้ยินดังนั้น ก็จนด้วยเกล้า และเห็นด้วยกับสมเด็จฯโต จึงได้จัดการระงับเหตุอธิกรณ์ไปให้เสร็จสิ้น สมเด็จฯโต ท่านสั่งสอนพระทั้งสองรูปนั้น มิให้จองเวรกัน แล้วให้เงินทำขวัญแก่พระที่ถูกตี แล้วท่านกล่าวว่า "ท่านทั้งสองไม่ผิด ฉันเป็นผู้ผิดเอง เพราะฉันปกครองไม่ดี"
ประโยคนี้แหละจับใจจริงๆ พระทั้งสองรูปเมื่อฟังแล้ว หากไม่เกิดสังเวช น้ำตาก็น่าจะไหลออกมาบ้าง เพราะมันแสดงถึงน้ำใจของท่านที่มีต่อพระลูกวัดนั้นมากด้วยเมตตาจริงๆ แทนที่ท่านจะโทษพระที่ตีเขา ท่านกลับมาโทษตัวเองอย่างนี้ น้ำใจเมตตาปราณีนั้นจะมีมากขนาดไหน
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ แสดงว่าการรู้จักยอมนั้น ทำให้ยุติเรื่องราวได้ เพราะคนเรานั้นมากด้วยมานะทิฏฐิ เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีแห่งตัวกูของกู ไม่ใคร่จะยอมกันได้ง่ายๆ เพราะคิดว่ามึงแน่ กูก็แน่เหมือนกัน เลยเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 16:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b53: :b53: ธรรมะจากหมา :b53: :b53:
อันที่จริง ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถหยิบมาเป็นข้อธรรมให้ขบคิดได้เสมอ ถ้าเรารู้จักฉุกคิด รู้จักสะกิดใจตัวเองให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ดูอย่างกิริยาอาการของหมา สมเด็จฯโต ท่านยังเอามาเป็นคำสอนได้ มีเรื่องเล่าว่า
มีพระสองรูปทะเลาะกัน แล้วเกิดความไม่สบายใจมาก พระรูปหนึ่งได้ไปหาสมเด็จฯโต ด้วยหวังจะได้รับคำสอนที่นำความสบายอกสบายใจมาให้
พระรูปนั้นได้กราบเรียนต่อสมเด็จฯโต ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นบอกว่า"หมู่นี้เกล้ากระหม่อมไม่ใคร่จะสบายใจเลย ทำอย่างไรจึงจะได้สบายใจบ้าง?" คำแนะนำของสมเด็จฯโต น่าตกใจมาก คือท่านให้เอาอย่างหมา โดยท่านบอกว่า
"อยากจะสบายก็ให้ทำอย่างหมาซิ ธรรมดาหมาเมื่อกัดกันขึ้นแล้ว ถ้าหมาตัวหนึ่งทำแพ้แล้วนอนหงายเสีย เจ้าตัวชนะก็คร่อมอยู่ข้างบนแล้วคำรามทำอำนาจ เจ้าตัวข้างล่างนั้น บางที่มันก็แหนบกัดเองได้บ้างเสียอีก ไปทำอย่างนั้นซิจ๊ะ"
จริงอย่างที่ท่านว่า
นี่เป็นธรรมะง่ายๆ ที่เราน่าจะนำมาปฏิบัติกัน ในชีวิตประจำวัน รู้จักแพ้เสียบ้าง มันจะเป็นอะไร มันจะตายไหม? คนที่รู้จักแพ้เสียบ้างนั้น ก็คือคนที่รู้จักยืดหยุ่นชีวิต ไม่ทำชีวิตให้แข็งโป๊ก เมื่อเจอปัญหาจะได้ไม่แตกเปรี้ยง..
เรื่องธรรมะจากหมา จะเห็นได้ว่าสมเด็จฯโต นั้น ท่านอยู่อย่างเซน
อยู่อย่างเซนนั้นอยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างวิปัสสนา รู้จักขบคิดข้อธรรมอย่างแตกฉาน แล้วบรรลุธรรม
คนเราถ้าอยู่อย่างวิปัสสนาได้ ไม่ช้านานจะสามารถบรรลุธรรมได้ทุกคน ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง


:b42: :b42: ธูป ๓ ดอกเจาะกระดาษ ๓ รู :b42: :b42:
สมเด็จฯโต ท่านเป็นพระที่กล้าขัดพระทัยพระมหากษัตริย์อย่างไม่เกรงพระราชอำนาจ ถ้าหากเห็นพระองค์ทรงกระทำไม่ถูกละก็ ท่านก็กล้าที่จะสั่งสอน
ครั้งหนึ่ง ในงานสวดพระอภิธรรม พระที่นั่งสวดเห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จมาก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ จึงหนีเข้าไปแอบเสีย พระองค์ทรงกริ้ว รับสั่งให้จับสึก โดยได้มีลายพระหัตถ์(จดหมาย)ไปให้สมเด็จฯโต ก่อน สมเด็จฯโต อ่านแล้ว เห็นว่าพระองค์จะเอาแต่กริ้ว จะทำไม่ถูกเพราะลุแก่โทสะ จึงใคร่จะสั่งสอนให้รู้ระงับดับความโกรธไว้บ้าง ท่านจึงจุดธูป ๓ ดอกขึ้น แล้วจี้กระดาษเป็น ๓ รู ส่งกลับไปถวาย
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็ทรงรู้สึกพระทัย รับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า "อ้อ ..ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที งดที เอาเถอะถวายท่าน"
พระองค์ไม่ต้องจับพระสึกให้บาปกรรมเปล่าๆ ด้วยอานุภาพของสมเด็จฯโต แท้ๆ
จะเป็นว่าการสอนอย่างนี้แหละ ให้ผลคุ้มค่ามาก มากกว่าการพร่ำสอนแบบจ้ำจี้จ้ำไช ปากเปียกปากแฉะอยู่นั่นแหละ สามารถทำให้กิเลสชะงักชะงันได้ทันที
การสอนสั่งของพระเรา หากจะลองหันมาใช้วิธีการของสมเด็จฯโต ดูบ้าง เห็นว่าปัญหาทางสังคมทางศีลธรรมของเราอาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่บ้างก็ได้ใครจะไปรู้ ไม่ลองไม่รู้
แล้วเมื่อไหร่จะลองล่ะ จะได้รู้เสียที่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 17:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: :b43: คนอื่นเขาก็มีแรงเหมือนกัน :b43: :b43:
สมเด็จฯโต ท่านเป็นพระที่ไม่รู้จักโกรธใครเขาหรอก ชีวิตของท่านมีแต่เมตตากรุณาอันไพศาล ใครจะทำอะไรให้เดือดร้อน ท่านก็เฉยไม่โกรธเคือง
ครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าศิษย์ทำอิท่าไหน ทำให้ท่านต้องล้มลงหน้ากระแทกกระดานเรือนจนปากเจ่อทั้งๆ ที่ชราภาพมากแล้ว แต่ท่านก็ไม่โกรธเคือง ท่านพูดขำๆ ออกมาว่า
"พ่อจ๋า..พ่ออย่าเข้าใจว่า พ่อมีแรงแต่เพียงคนเดียวนะจ๊ะ คนอื่นเขามีแรงยิ่งกว่าพ่อก็คงมีจ๊ะ"
ลูกศิษย์ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ไม่รู้สึกเจ็บใจ ทำให้มีกำลังใจที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ถ้าท่านใช้คำด่าว่าสิ ลูกศิษย์อาจจะไม่พอใจ หรือประหม่าทำอะไรไม่ถูกขึ้นมาก็ได้ สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงไปอีก
การรู้จักใช้ถ้อยคำที่ดีๆ ฟังแล้วไม่ระคายหู ไม่ขัดเคืองใจ มีแต่จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นๆ
ในโลกนี้มีอะไรให้โกรธให้โมโห ให้ขัดเคืองใจ ให้ไม่พอใจมากมาย จนชีวิตชีวิตหนึ่งก็มิอาจจะรับไว้ได้ หากเราแบกภาระแห่งความโกรธ ความโมโหไว้หมด ชีวิตของเราคงจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว
รู้จักขำกับชีวิตเสียบ้าง ยอมรับมันเสียบ้าง ปล่อยวางมันเสียบ้าง เล่นกับมันเสียบ้าง ความทุกข์จะได้เบาสบาย


:b48: :b48: ความไม่ถือตัวถือตน :b48: :b48:
คงเคยได้ยินคำว่า "ยศช้างขุนนางพระ" กันบ้าง คำคำนี้แหละที่ทำให้พระดีๆ หลายรูปต้องเสียความเป็นพระกันไปเยอะ
พระเราตอนแรกๆ ที่ยังเป็นพระธรรมดา จบนักธรรมชั้นเอกหรือเป็นพระครู เจ้าคุณ ฯลฯ ก็ยังไม่แสดงอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไร ต่อเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนาง มียศฐาบรรดาศักดิ์เป็นพระครูนั่นเจ้าคุณนี่ จะรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดชักจะแปลกๆ ไปกว่าเก่า โดยจะค่อยๆ เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ บางทีก็รู้สึกตัว บางทีก็ไม่รู้สึกอะไร
บางท่านบางรูป เคยรู้จักกันดีๆ ก็มาเปลี่ยนไปชักจะไม่ค่อยอยากคบกับผู้ที่ด้อยกว่า เคยโอบอ้อมอารีต่อลูกศิษย์ลูกหาและมิตรสหาย ก็กลับกลายเป็นพระที่ใจคอคับแคบ เห็นแก่ตัว โลภโมโทสันไปเสียฉิบ
อย่างนี้ก็มี
ยศฐาบรรดาศักดิ์จึงมีข้อเสียอยู่ด้วย และมักจะมีมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายด้วยซ้ำ ถ้าหากผู้ใดได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์นั้น ไม่รู้เท่าทันหัวโขนที่สวมให้เล่นตามบทบาทของตนๆ แล้ว แทนที่ยศฐาบรรดาศักดิ์จะช่วบส่งเสริมบำรุงใจบุคคลให้ทำหน้าที่อย่างสุจริตดีงาม ก็กลับจะทำลายบุคคลให้เสียไป
แต่สำหรับสมเด็จฯโต แล้ว คำว่า "ยศช้างขุนนางพระ" ทำอันตรายท่านไม่ได้เลย ถึงแม้ท่านจะเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ ท่านก็มิได้เคยหลงใหลได้ปลื้มไปกับมัน
ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทางไปเทศน์โดยทางเรือ เรือเจ้ากรรมเกิดเข้าคลองไม่ได้ เพราะน้ำแห้งขอดคลอง ท่านจึงลงเข็นเรือไปกับลูกศิษย์ แม้ลูกศิษย์จะห้ามปรามอย่างไร ท่านก็ไม่ฟัง เพราะถือว่ามาด้วยกันก็ต้องช่วยกัน ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะเกี่ยงงอนกันไม่ได้ ต้องช่วยกัน

พวกชาวบ้านเห็นท่านเข็นเรือเหยงๆ อยู่อย่างนั้น ก็ร้องตะโกนกันว่า "สมเด็จฯ เข็นเรือ สมเด็จฯ เข็นเรือ" จนได้ยินกันไปหลายบ้าน ทำให้พวกชาวบ้านต้องลงไปลุยกับท่าน ช่วยท่าเข็นเรือจนถึงท่า
ท่านได้บอกกับชาวบ้านเหล่านั้นว่า"ฉันไม่ใช่สมเด็จฯดอกจ๊ะ ฉันชื่อขรัวโต สมเด็จฯท่านอยู่วัดระฆัง"
ท่านหมายถึงว่า การเป็นสมเด็จฯของท่านนั้นเป็นที่พัดยศ ซึ่งอยูที่วัดระฆัง ไม่ได้เป็นที่เนื่อที่ตัวหรือที่ใจของท่าน กายและใจของท่านนั้นเป็นเพียงขรัวโต คืดเป็นหลวงตาธรรมดา ๆ ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร
ใครๆ ก็ตาม ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตนัก หากรู้จักถอดออกบ้างก็จะดี ให้รู้จักใหญ่โตเป็นเวล่ำเวลา ไม่ใช่โตอยู่เรื่อยๆ จนคับบ้านคับเมือง เป็นที่เคืองแค้นของผู้คน
สมเด็จฯโต ท่านทำตัวเป็นพระที่ธรรมดาๆ ที่สุด เพราะเซนก็ธรรมดาๆ อย่างนี้แหละ และเพราะธรรมดา
จึงเห็นว่าน่าอัศจรรย์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2010, 14:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: :b46: รู้จักพิจารณา :b46: :b46:
ชีวิต...ต้องรู้จักพิจารณา มิใช่ว่าจะปล่อยไปตามยถากรรม แล้วแต่พรหมลิขิตจะพาไป
ชีวิต...ที่มีการพิจารณาไตร่ตรอง มองแยกแยะให้เห็นทุกๆ ด้านเท่านั้น จึงจะเป็นวิธีที่งดงาม ควรแก่การรักษาไว้
ชีวิต....ที่ขาดการพิจารณา ไม่มีการทบทวนบทบาทของชีวิตที่เคยดำเนินมาและดำเนินอยู่ จะเป็นชีวิตที่น่าชื่นชมคงไม่ได้ อยู่ๆไปก็ไม่มีความหมายสำหรับโลก
สมเด็จฯโต ท่านเป็นนักวิปัสสนา ท่านสอนให้รู้จัก "การพิจารณา" ว่าเป็นคุณเครื่องที่จะทำให้กิจการทุกอย่างในโลกสำเร็จเรียบร้อยลงไปด้วยดี
ท่านสอนว่า "พิจารณาเป็นเปลาะๆ เข้าไปตั้งแต่หยาบๆ แล้วก็ชั้นสูง ชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเอียดเข้า จนถึงที่สุด"
เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ กิจที่พึงกระทำต่างๆในโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต ก็จะสำเร็จลงได้เป็นอย่างดี
แต่คนเรามักจะดำเนินชีวิตอย่างลวกๆ ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยกันสักเท่าไร ขาดสติปัญญาที่จะใช้ในการไตร่ตรองกิจการ - เรื่องราวที่กระทำที่เกี่ยวข้อง จนอะไรๆ มันยุ่งเหยิงไปหมด
ชีวิตนั้นถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างเบลอๆ มันก็จะเซ่อๆ ซ่าๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ใคร่จะได้ แต่ถ้าหากรู้จักพินิจพิจารณา รู้จักปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้เฉลียวฉลาดขึ้น มีความเข้าใจในโลกในธรรมมากขึ้น ก็จะมีประโยชน์โสตถิผลมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

:b46: :b46: :b46: :b46:

:b48: :b48: ค้นหาเลือกเฟ้น :b48: :b48:
ชีวิตนั้น แม้บางอย่างจะเลือกไม่ได้ เช่นเลือกเกิด นี่เลือกไม่ได้ มันสุดวิสัย แล้วแต่เวรแต่กรรมที่ทำไว้ ทำดีก็เกิดในที่ดีๆ ทำชั่วก็เกิดในที่ชั่วๆ
แต่บางอย่างนั้นเราเลือกได้ เช่น เลือกเก่งเลือกดีได้
อันคนเราเมื่อเกิดมาจะยากดีมีจนอย่างไรก็สามาราถต่อสู้โชคชะตาให้กลายเป็นคนมั่งมีได้ ไม่เฉลียวฉลาด ศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้าหาความรู้ ไม่นานนักก็อาจกลายเป็นคนมีสติปัญญาได้
ชีวิตต้องมีทางเลือกเสมอ ขอเพียงอย่าตกอยู่ในห้วงแห่งความมึนงงนานๆ ให้รู้จักแสวงหาคุณค่าคุณประโยชน์แก่ตน ชีวิตก็จะดีขึ้นเป็นลำดับๆ
สมเด็จฯโต ท่านสอนว่า "ทุกๆคนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน...ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้นค้นหาของดีของจริง"
หากไม่รู้จักเลือกเฟ้นร่อนเอาแต่สิ่งดีๆมา สำหรับปรับปรุงชีวิต ชีวิตก็จะหาความบริสุทธิ์ผุดผ่องอันใดมิได้ ชั่งบ้างดีบ้างหละ เคล้ากันไป
อาหารเรายังรู้จักเลือกกินแต่ที่ดีๆ อันไหนไม่ดีเขี่ยทิ้ง เหตุไฉนชีวิตจึงไม่รู้จักเลือกสรรสิ่งดีงามให้เป็นประโยชน์สำหรับตนบ้าง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2010, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: อย่างมงาย :b48: :b48:
อันการเดินทางนั้น ต้องมีจุดหมายปลายทางที่จะไปถึง หากไร้จุดหมาย การเดินทางก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน และไปทำไม
นอกจากจุดหมายที่จะต้องมีแล้ว การเดินทางไปตามเส้นทาง โดยไม่แวะเวียนตามข้างทาง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงด้วยเหมือนกัน
การเดินทางของชีวิตก็เหมือนกัน หากมัวแวะตามข้างทาง มัวลุ่มหลงต่อสิ่งล่อตามรายทางชีวิตก็จะสะเปะสะปะ ไม่เข้มแข็งขึ้นมาได้ รวมทั้งจะไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือไปได้เป้าหมายที่ไม่ดี เหมือนเรือแล่นไปสู่ที่ไม่ใช่ท่า คงจะไม่น่าอภิรมย์อะไรเลย
สมเด็จฯโต ท่านย้ำนักย้ำหนาในเรื่องของการให้รู้จักการพิจารณาใคร่ครวญในเรื่องอะไรๆต่างๆ เพราะไม่อยากให้ญาติโยมใช้ชีวิตอย่างเบลอๆ
ท่านสอนไว้ว่า "ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง....ไม่งมงายแล้วอาจจะเห็นผลแก่ตน"
เมื่อพิจารณาอะไร ให้พิจารณาอย่างนักวิปัสสนา คือพิจารณาจนเห็นแจ้งชัด ให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุม ทำได้อย่างนี้ จึงจะเกิดผลดีแก่ตนเอง ไม่ต้องตกไปอยู่ในข่ายแห่งความงมงาย
ยิ่งมองก็ยิ่งเห็น ขอเพียงมองให้เป็น ถ้ามองไม่เป็น มองเท่าไรก็ไม่เห็น

:b48: :b48: :b48:
:b42: :b43: นิพพานนั้นอย่างไร :b42: :b43:
มีผู้สงสัยในเรื่องของนิพพาน อยากรู้ว่านิพพานนั้นเป็นอย่างไร จึงพากันไปเรียนถามสมเด็จฯโต ให้หายสงสัย สมเด็จฯโต ท่านก็บอกว่า ท่านไม่รู้แห่ง แต่จะชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเองตามเหตุผลเทียบเคียงได้ว่านิพพานจะรู้ได้อย่างไร
ท่านเปรียบเหมือนหญิงสองคนพี่น้อง จ้องคิดปรารภปราชมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำ ทาขมิ้น นุ่งผ้าใหม่ ผัดผ้า หวีผมเรียบแปร้ ก็เพราะประสงค์ความรักให้เกิดกับชาย ผู้จะหด้มาสู่ขอเป็นสามีเท่านั้น
ครั้นล่วงมาก็สบโชคสบช่อง คนพี่สาว มีผู้มีชื่อมีหน้ามาขอ ได้ตกลงร่วมห้องร่วมหอกันแล้วหญิงผู้ที่เป็นนางน้องสาวก็มาเยี่ยม แล้วตั้งวิงวอนเซ้าซี้ซักถาม
"พี่จ๋า...การที่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง" นางพี่สาวก็ไม่รู้แห่งจะนำความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามีนั้นออกมาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวรู้ตามเห็นตามในความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ นางพี่สางก็ได้แต่บอกว่า น้องมีผัวบ้างน้องก็จะรู้เองไม่ต้องถามเอาเรื่องกับพี่หรอก
ครั้นอยู่มาไม่นาน นางผู้น้องได้สามีแล้วไปหาพี่สาว พี่สาวถามว่า การหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัว น้องมีความรู้สึกเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกความให้พี่เข้าใจบ้างซีแม่น้อง นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า "ไม่ต้องเยาะ" แล้วพี่น้องคู่นั้นก็นั่งสำรวลกันหัวเราะกันตามฐานที่รู้รสสังวาสเสมอกัน อุปมาของท่านยาวเหยียดมาก ท่านบอกว่าพระโยคาวจรกุลบุตรมีความมุ่งหมายจะออกจากชาติ จากภพ เบื่อหน่ายโลก-สันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนอันไฟไหม้ ก็ต้องเร่งทำศีล ทำสมาธิ ทำปัญญา จนสามารถตัดสังโยชน์ได้เด็ดขาด จนกระทั่งจิตใจมีความเป็นกลาง ไม่รู้สึกบวกหรือลบ ไม่ติดบุญ ไม่ติดบาป อย่างนี้แหละเรียกว่า นิพพาน ที่ไม่มีทุกข์มาเจือปน ท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้เช่นหญิงทั้งสอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: เข็นเบาๆหน่อย :b48: :b48:
ส่วนมากคนเรา รักมิตรเกลียดศัตรู รักคนดีเกลียดคนชั่ว มีน้ำใจต่อมิตรและคนดี แต่ไร้น้ำใจต่อศัตรูและคนชั่ว นี่คือสภาพจิตใจของสามัญชนทั่วๆไป
แน่สำหรับพระผู้มีใจเป็นกลาง ท่านจะปราณีต่อผู้คนอย่างเสมอหน้ากันไม่ว่าโจรหรือคนดี สมเด็จฯโต ท่านมีเรือคู่ชีพอยู่ลำหนึ่ง ท่านจะจอดไว้ใต้ถุนกุฏิของท่าน มีคราวหนึ่ง ขโมยมาลักเรือของท่าน
ท่านรู้ว่าขโมยมันเข็นเหยงๆ อยู่ เห็นแล้วน่าสงสาร ท่านบอกให้เข็นเบาๆ หน่อย เดี๋ยวพระได้ยินเข้าแล้วจะตีเอาตาย
ท่านยังบอกวิธีการเข็นเรือให้กับโจรอีกว่า ในการเข็นเรือบนที่แห้งนั้น ต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อน จึงจะเข็นได้สะดวก เรือก็ไม่เสียหายดีด้วย
นี่แหละน้ำใจของพระแท้จริง จะเป็นอย่างนี้แหละ มีอะไรหลายอย่างที่เราคิดไม่ถึง


:b46: :b46: :b46: ไม่มีสิ่งไรจีรังยั่งยืน :b46: :b46: :b46:
กฏะรรมดาของโลกมีอยู่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอน ทุกขังเป็นทุกข็ ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา มิใช่ตัวตน นี้เป็นกฏมีประจำสำหรับโลก
แล้วจะกอบโกยโกงกินกันไปถึงไหน ไม่นานก็ตายแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนาเชียว
สมเด็จฯโต ท่านสอนว่า ""ความมั่งมีเงินทองความมั่งมียศศักดิ์อัครฐานและอำนาจทั้งหลายทั้งปวงนั้น อย่าคิดว่าเป็นเครื่องจีรังยั่งยืนเที่ยงแท้แน่นอน"
ชีวิต ในที่สุดต้องมีจุดจบ มิใช่จะยั่งยืนอยู่คับฟ้าได้ ไม่เร็วก็ช้า ฉะนั้น จะคิดการอันใดที่จะทำต่อไปข้างหน้า ควรคำนึงถึงเวลาจะตายบ้าง


:b39: :b39: :b39:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: ธรรมใดๆก็รู้แล้ว :b48: :b48:
สมเด็จฯโต ท่านเป็นพระแปลกๆ มักจะทำอะไรให้ผิดไปจากความคาดหมายของผู้คนอยู่เสมอหากผู้ใดไม่คุ้นเคย ก็จะรู้สึกทำใจลำบากเหมือนกัน
ครั้งหนึ่ง มีเทศน์ในพระราชวัง (สมัยรัชกาลที่ ๔ ) ในวันนั้นพระจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์เหล่าขุนนางอำมาตย์ทั้งหลายได้ตั้งความปรารถนาว่า จะฟังธรรมร่วมกัน
แต่เวลาเทศน์จริงๆ สมเด็จฯโต ก็เทศน์เพียงว่า ธรรมอันใดมหาบพิตรก็ทรงรู้แตกฉานแล้ว....เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ผู้ฟังท่านอื่นๆ ฟังแล้วเกิดความงุนงง มีแต่พระจอมเกล้าฯที่ทรงหัวเราะชอบใจ
ท่านเทศน์อย่างนั้น ก็เพราะเห็นว่าวันนั้นพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระทัยแจ่มใส ไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจอันใด การสดับธรรมเพียงนิดหน่อยก็เพียงพอ อีกอย่างหนึ่งพระจอมเกล้าฯท่านเป็นกษัตริย์ที่เคยผนวชมาหลายพรรษา ย่อมเข้าใจธรรมะได้ดีอยู่แล้ว จะป่วยการกล่าวไปใยให้มากความ

:b45: :b45: :b45:

:b43: :b43: แผ่เมตตา :b43: :b43:
มีขโมยคนหนึ่ง เข้าไปลักตะเกียงของท่านแต่ปรากฏว่า เอามือมาเอื้อมยังไม่ถึง ท่านจึงช่วยเขี่ยตะเกียงให้ถึงมือ
ท่านทำอย่างนั้นเพราะความเมตตากรุณานั่นเอง เห็นว่าคนกระทำผิดทุจริตเพราะความอดอยากความหิว และคงไม่ได้หิวเพียงกระเพาะอย่างเดียว อาจจะมีกระเพาะแห่งความหิวรออยู่ที่บ้านอีกก็ได้
ในวันนั้น ท่านจึงช่วยโจรให้ลักเอาตะเกียงของท่านเอง คนทุกคนล้วนอยากเป็นคนดี ไม่มีใครอยากให้ผู้อื่นตราหน้าว่าตัวเองชั่ว แต่ที่เขาต้องกระทำชั่วลงไป ก็เพราะสถานการณ์มันบังคับให้ทำ ถ้าไม่ทำก็จะอยู่ไม่ได้
นี่แหละชีวิต บางทีก็ไร้ทางเลือกอย่างนี้ คนกระทำผิดทุกคนมิใช่คนเลวโดยสันดานเสมอไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 09:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: อายพระพุทธรูป :b42: :b42:
พระนั้นจะต้องแสดงอาบัติทุกวัน หลังจากฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วไปทำวัดเช้ากันในโบสถ์ แต่ก่อนที่จะทำวัตรกันนั้น จะมีการแสดงอาบัติ เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นก่อนที่จะสวดมนต์ต่อไป
ในพระอุโบสถหรือในโบสถ์นั้น จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สำหรับเป็นที่เคารพสักการะ บางแห่งจะมีม่านบังพระพักตร์พระประทาน
เคยมีผู้ถามสมเด็จฯโต ถึงม่านนี้ว่ามีไว้ทำไม
สมเด็จฯโต ตอบว่า มีไว้สำหรับพระสงฆ์จะลงพระอุโบสถจะได้แสดงอาบัติกัน นัยว่าจะได้ไม่อายพระประทาน เวลาแสดงอาบัติสารภาพความผิด ก็ปิดม่านเสีย พระพุทธรูปก็ไม่เห็น แสดงอาบัติกันได้สะดวกปากนั่นแหละ คำตอบของท่านแปลกดีเหมือนกัน


:b48: :b48: สมเด็จพระอรหันต์ :b48: :b48:
สมเด็จฯโต ท่านเป็นพระที่ถ่อมตัว แม้ท่านจะเป็นถึงสมเด็จฯ ท่นก็ไม่ได้เห็นความสำคัญอะไรท่านเรียกตัวเองเสมอมาว่า เป็นเพียงขรัวโต ธรรมดาๆ ในการแสดงธรรม บางครั้งเมื่อมีการเอ๋ยถึงพระอรหันต์
ท่านก็จะใช้คำนำหน้าว่า "สมเด็จ" เช่นสมเด็จพระอานนท์
พระจอมเกล้าฯทรงสดับธรรมเทศนาแล้วสงสัยว่าเหตุไรจึงเรียกสมเด็จ เคยมีเรียกกันที่ไหนบ้างหรือเปล่า เมื่อทรงถาม สมเด็จฯโต ได้ทูลตอบในวันหนึ่งว่า ขรัวโตเป็นเพียงหลวงตาธรรมดาๆ ยังเป็นสมเด็จฯได้ แล้วพระสาวกของพระพุทธองค์เป็นถึงพระอรหันต์ ทำไมจะเป็นสมเด็จฯบ้างไม่ได้ ท่านว่าอย่างนั้น
ท่านยกย่องพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สมควรจะเรียกว่าสมเด็จฯ จะถูกกว่าเรียกว่าพระธรรมดาๆ สิ่งสูงย่อมสมควรแก่สิ่งสูงๆ หาสมควรแก่ของต่ำไม่ ทั้งนี้เพราะศักดิ์ศรีของพระอรหันต์นั้นสูงส่งนัก สมควรที่พุทธศาสนิกจะถวายพระเกียรติให้ท่านเป็นสมเด็จฯทุกๆพระองค์ ที่แต่งตั้งกันอย่างทุกวันนี้ ไม่มีคุณค่าอะไรเลยก็มี
แง่คิดของสมเด็จฯโต ในประเด็นนี้ น่าคิดอยู่เหมือนกัน ว่าพระที่ได้รับแต่งตั้งกันโครมๆ ทุกวันนี้มีความเหมาะสมกันบ้างหรือไม่ แค่ไหน เพียงไร เช่นแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธรนั่น พระครธรรมธรนี่ พระผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นเป็นผู้ทรงพระวินัย ทรงธรรมเป็นอย่างดีหรือเปล่า หรือว่าแม้กระทั่งศีล๕ ก็ยังรักษาได้ไม่ครบ
เรื่องอย่างนี้ ควรจะคำนึงกันไว้บ้างก็จะดี ยศช้างขุนนางพระจะได้มีความหมาย มิใช่ว่าใครๆ ก็เป็นได้ มันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์


แก้ไขล่าสุดโดย ศรีสมบัติ เมื่อ 24 พ.ค. 2010, 09:48, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 10:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: :b43: มืดจริงหนอ!! :b43: :b43:
เซนนั้นมักจะสอนเป็นปริศนาให้ขบคิดเอาจนบรรลุธรรม ผู้ใดใช้มันสมอง ผู้นั้นไม่อาจเข้าถึงเซน ต่อเมื่อคิดด้วยจิตใจ จึงเข้าถึงเซนได้
สมเด็จฯโต ท่านมักจะสอนเป็นปริศนาธรรมเสมอ ครั้งหนึ่งท่านต้องการจะสอนพระจอมเกล้าฯด้วยเห็นพระองค์ชักจะลุ่มหลงการชมละครมากเกินไป จะทำให้เสียพระราชกรณียกิจได้
ท่านจึงจุดไต้ในเวลากลางวัน เดินถือเข้าไปในพระราชวัง แสดงว่าบ้านเมืองมันมืดจริงหนอ..มืดเพราะความงมงายความลุ่มหลง
เมื่อพระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงทราบความหมายว่า สมเด็จฯโต ไม่ให้ลุ่มหลงในการละคร เดี๋ยวจะเสียหายแก่บ้านเมืองได้ พระองค์ได้ตรัสกะเสนาบดีผู้ใหญ่ว่า "ขรัวเขารู้แล้ว เขารู้แล้วละ"
ในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ สมเด็จฯโต ท่านก็ได้จุดไต้กลางวันเหมือนกัน เมือท่านรู้ จะมีการกบฏโดยขุนนางผู้ใหญ่ เพื่อขอบิณฑบาตมิให้กระทำ ตักเตืนผู้ปกครองบ้านเมืองเมื่อเห็นว่าทำไม่ดี หากพระสมัยนี้จะเอาหย่างบ้าง ก็คงไม่เลวนัก


:b43: :b43: :b43: เรื่องของใครของมัน :b43: :b43: :b43:
เป็นที่ทราบกันว่า สมเด็จฯโต นั้น ท่านเป็นพระที่มีคารวะธรรม มีความเคารพในสิทธิผู้อื่นเป็นที่ตั้ง แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่บังอาจที่จะไปล่วงละเมิด
ในการทำบุญที่วัดครั้งหนึ่ง ได้มีหมาคู่หนึ่ง สมสู่อยู่บนศาลา ทายกทายิกาเห็นแล้วไม่พอใจจึงพากันขับไล่ให้ออกไปจากศาลา
แต่สมเด็จฯโต ท่านได้ห้ามไว้ อย่าไปไล่ท่านบอกว่า "เรื่องของสัตว์ก็เป็นเรื่องของสัตว์ เรื่องของคนก็เป็นเรื่องของคน ไม่เกี่ยวข้องกัน"
ท่านหมายความว่า ให้รู้จักเคารพผู้อื่น สัตว์อื่น สิ่งที่คนอื่นทำ โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์ด้วยแล้วเขาจะทำอย่างนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของเขา เราเป็นมนุษย์อย่าไปวุ่นวาย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 17 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron