วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 22:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 10:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: มีแต่ของจอมปลอม :b48: :b48:
ในโลกนี้มีของอยู่สองอย่าง คือของปลอมกับของจริง ของจริงนั้นหายาก ของปลอมนั้นหาง่าย แต่ของปลอมนั้นคนลุ่มหลงงมงายได้ง่ายกว่าของจริง
ของสองสิ่งนี้ ใครจะเลือกเอาอย่างไหนก็ตาม ใจปรารถนา แต่ท่านสมเด็จฯโต ท่านสอนว่า "อันยศศักดิ์นั้นเป็นของจอมปลอม เป็นของสมมุติกันขึ้นทั้งสิ้น หาความจริงอันใดมิได้"
มันเป็นของลวงที่หลอกล่อให้เราหลงใหลได้ปลื้ม จะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อหลงมันแล้วเราจะเดินตามมันอย่างเชื่องๆ
ยศศักดิ์อัครฐาน มิใช่สิ่งอันเป็นที่พึ่งพิงของคนเรา ใครพึ่งพาอาศัยมัน จะถูกมันพาไปสู่ที่อันไม่สมควร จะมีแต่ทุกข์ มีแต่ปัญหานานาสารพัน
ที่พึ่งอันแท้จริงของคนเรา คือ ธรรมะ คือ สัจจธรรม ที่จะนำพาเราไปสู่อันสมควร จะมีแต่สุข สงบ สันติ เยือกเย็น
สมเด็จฯโต ท่านแนะนำให้ดูตัวอย่างของพระโพธิสัตว์ นักเสียสละผู้ยิ่งใหญ่ ที่สละทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นของท่านน่าหวงแหน แม้กระทั่งลูกเมียที่แสนจะน่ารักน่าเอ็นดู เพื่อปรารถนาในโพธิญาน
แบบอย่างของพระโพธิสัตว์เวสสันดรนั้น หากผู้ใดนำมาเป็นแม่แบบแห่งชีวิตของตน ถือเอาพระเวสสันดรเป็นวีระบุรุษในดวงใจได้ละก็ ชีวิตของผู้นั้นคงจะมีแต่คุณค่า มีแต่ความดี ไม่ถึงกับต้องสละลูกสละเมียหรอก เพียงสละความตระหนี่ สละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้นก็มากพอแล้ว


:b48: :b48: :b48: ตระหนี่มีแต่ยากจน :b48: :b48: :b48:
ให้แล้วท่านจะได้ คนที่คิดแต่จะเอาก็จะอด ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวมีแต่จะยากจนลง คนเราทำอย่างไรได้อย่างนั้น นี่เป็นกฏเกณฑ์ตายตัวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาแต่ไหนแต่ไร
สมเด็จฯโต ท่านสอนว่า "ปราศจากความตระหนี่เหนียวแน่นแล้ว ชาติหน้าจะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้ใดตระหนี่ ชาติหน้าก็จะเกิดเป็นคนยากจน"
ส่วนหนึ่งของความยากจนของคนเรานั้น นอกจากจะเกิดจากกรรมใหม่ คือ การกระทำของตนเองในปัจจุบัน และการถูกเอารัดเอาเปรียบแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากกรรมเก่า คือความเลวในอดีตของตนด้วย จะเป็นชาติที่แล้ว ปีที่แล้ว หรือเมื่อวานนี้ก็ตาม
แต่คนเราไม่ค่อยจะรู้สำนึกกัน เอาแต่ตระหนี่เอาแต่กอบโกยโกงกินกันไว้ก่อน ทำเหมือนกับว่าตนเองจะไม่ตายอย่างนั้นแหละ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b53: :b53: :b53: ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างพ่ายแพ้ :b53: :b53: :b53:
เมื่อชีวิตคือการต่อสู้ จึงต้องมีคำว่า แพ้-ชนะ ตามมา ในการต่อสู้ของคนเรานั้น สู้กันได้หลายแนว มีการต่อสู้กันหลายชนิด ทหารต่อสู้กับข้าศึก ชาวนาชาวไร่ต่อสู้กับความยากจน ส่วนพระต่อสู้กับกิเลสตัณหา
พระที่ปรารถนาเป็นพระอรหันต์ จะต้องถือเอาการต่อสู้กับกิเลสตัณหาเป็นเรื่องสำคัญ และถือเอาชัยชนะในกิเลสตัณหาเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะอื่นใดทั้งหมด
แต่การจะมีชัยชนะต่อกิเลสตัณหานั้น ก็มิใช่เรื่องง่ายดาย ต้องมีใจเด็ดเดี่ยว แน่วแน่มั่นคง ซื่อตรงต่อการต่อสู้ ไม่ยอมอ่อนข้อให้กิเลสตัณหา ต้องฟาดฟันมันให้บรรลัยลาญ
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า"ถ้าจะตายแบบผู้ชนะ ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านก็ต้องเชื่อแบบท่าน"
ต้องดำเนินชีวิตแบบท่าน ละ-ลด-ปลด-ปล่อย-วาง อย่างท่าน มิฉะนั้น จะไม่มีทางได้ชัยชนะอย่างแน่นอนจะมีแต่ทางแพ้
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "ไม่มีอะไรดีเลย สำหรับผู้แพ้ทุกประตู" ใครบ้างล่ะ จะกล้าหาญชาญชัยต่อสู้กับอริราชศัตรู คือกิเลสตัณหาได้อย่างไม่ถดถอย


:b51: :b51: อย่ายอมแพ้แก่กิเลส :b51: :b51:
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "คำว่าแพ้ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แม้แต่เด็กเล่นกีฬากัน ต่างฝ่ายก็มุ่งหวังที่จะเอาชนะกัน เราจึงควรสะดุดใจและไม่ควรทำตัวให้เป็นผู้แพ้"
อย่าเป็นผู้แพ้ จงเป็นผู้ชนะ แต่จะชนะอะไรกันจึงจะวิเศษวิโส ท่านสมเด็จฯโต ท่านแนะนำให้เอาชนะกิเลสที่นำเข้าไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดภพแล้วภพเล่า ชาติแล้วชาติเล่า
ก่อนที่เราจะตายไป ทุกคนควรจะเอาชนะมันให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นจะตายไปอย่างผู้แพ้ อย่างมีความกังวล แต่จะมีใครสักกี่คนล่ะที่หวังเอาชนะกิเลสจริงๆ จังๆ เห็นมีอยู่ทั่วไปเอาแต่เลี้ยงกิเลสไว้กันเป็นฟาร์มใหญ่โต จนกิเลสแต่ละตัวอ้วนพีไปตามๆ กัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: มองให้เห็นคุณค่า :b48: :b48:
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนมีคุณค่าให้มองเห็นทั้งนั้น สุดแต่ว่าใครจะมองเห็นอย่างไร
คนที่มองเห็นอะไรๆ ล้วนแต่มีค่า คนนั้นจะรู้จักนำสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้มาก
สมเด็จฯโต ท่านชอบไปเยี่ยมป่าช้า โดยท่านบอกว่ามันเป็นสถานที่ๆจะทำให้เกิดสติปัญญา ทำให้รอบรู้ในตน ในสังขารร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างศอก ว่าสุดท้ายชีวิตก็คงเป็นอย่างนี้ คือ ต้องตายอย่างแน่นอน ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้
ในที่สุดจะเกิดการปลง การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นในชีวิตจนเกินไป เพราะมาคิดพิจารณาได้ว่า สรพพสิ่งมีการเกิด-ดับ เป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่แล้ว ก็ดับกันไปตามกาลเวลา หาความจีรังยั่งยืนอันใดมิได้


:b42: :b42: รั้วกั้น :b42: :b42:
ถ้ารั้วกั้นประเทศคือทหาร รั้วกั้นมนุษย์ไม่ให้ทำชั่วก็คือศีลธรรม
ศีลธรรม โดยเฉพาะศีล ๕ ข้อ เป็นหลักมนุษยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ หากมนุษย์ไม่มีศีลธรรมในการเป็นอยู่ มนุษย์ก็จะเบียดเบียนและทำลายกัน ดังเช่นเดรัจฉาน
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "มนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น และประคับประคองตัวเสียเลย ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆ นี่เอง"
มีผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า แม้พระเรา ขอเพียงให้มีศีล ๕ ก็อยู่ได้แล้ว ไม่ต้องมีถึง ๒๒๗ ข้อหรอก นี่ก็แปลว่า ศีล๕ นั้นสำคัญมาก เป็นเบื้องต้นของมนุษย์ เป็นพื้นฐานของชีวิต
ทุกวันนี้ คนขาดศีล ๕ พื้นฐานชีวิตจึงไม่ดี มักจะกระทำผิดในเรืองนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: :b43: อย่าอยู่ด้วยความโง่ :b43: :b43:
ความโง่ ไม่มีอะไรดีสักอย่าง บางทีการแกล้งโง่อาจจะดีก็ได้ แต่การโง่จริงๆ นั้น ไม่ดีเลย
สมเด็จฯโต ท่านสอนว่า "เราอย่าฟังเพื่อความโง่ อยู่ด้วยความโง่ มิใช่ของดีทั้งนั้น" แต่คนเรามักจะขาดความคิดพินิจพิจารณา จึงเป็นอยู่กันอย่างโง่ๆกันเสียมากกว่า
คนยิ่งโง่ ชีวิตยิ่งจมลง
สมเด็จฯโต ท่านสอนไม่ให้ทำความสนิทสนมกับความโง่ ไม่ให้เอาความโง่มาเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหาย ให้ทำตัวออกห่างความโง่เข้าไว้แล้วชีวิตจะได้ดี
โง่-จน-เจ็บ สามตัวนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ความโง่พาให้ยากจน จนทรัพย์สิน จนทุกสิ่งทุกอย่าง ไปจนกระทั่งจนใจ ความจนก็ก่อให้เกิดความเจ็บ ทั้งเจ็บกาย เจ็บไข้ได้ป่วย ตลอดถึงเจ็บใจ แล้วความเจ็บก็ก่อให้เกิดความโง่อีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เป็นวัฏจักรอุบาทว์ เพราะฉะนั้น จงอย่าโง่...อย่าโง่...


:b43: :b43: มองต่างมุม :b43: :b43:
ทัศนะของคนมีต่างๆ กัน คนจึงมองต่างมุมกันมาก การมองต่างมุมกัน มิใช่เรื่องเสียหาย ขอให้เพียงรู้จักยอมรับความนึกคิดของคนอื่นบ้าง เราก็พอจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ
อันว่าเรื่องของความคิดนั้น ความคิดของใครก็ของมัน คนประเภทเดียวกันยังมองต่างกันได้ นับประสาอะไรกับคนต่างประเภทเล่า
อย่างพระอรหันต์ด้วยกัน ท่านยังมีมุมมองที่แตกต่างกัน สิ่งๆหนึ่งองค์ นั้นว่าอย่างนี้ แต่อีกองค์หนึ่งว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ยิ่งถ้าคนมีกิเลสกับคนไม่มีกิเลสด้วยแล้ว ความคิดยิ่งห่างกันเหมือนฟ้ากับเหวเลยที่เดียว
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "ความคิดของคนสิ้นกิเลส...มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้ง กับความคิดที่เป็นไปด้วยกิเลสที่มีผลให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน...เป็นความคิดผิดอยู่มาก"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 15:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: ขายผ้าเอาหน้ารอด :b48: :b48:
สมเด็จฯโต มักจะสอนโดยวิธีให้ผู้รับได้ขบคิดจากปริศนาที่มีไว้ให้ หลักการสอนของท่านก็เหมือนกับหลักของเซน คือจะสอนให้ขบคิดด้วยตัวเอง จึงจะสามารถเข้าถึงธรรมได้แท้จริง เข้าใจถึงข้อธรรม ได้อย่างถ่องแท้
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงมีพระราชดำริให้วัดต่างๆ ให้มีการจัดตกแต่งเรือเข้าประกวดทุกวัด และแต่ละวัดนั้น ก็ต้องนำเรือที่ตกแต่งไว้สวยงามแล้ว จอดไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อที่พระองค์จะได้เสด็จทอดพระเนตรและทรงตัดสินรางวัลให้
เมื่อมีพระราชดำริมาเช่นนี้ ทุกวัดก็ต่างกุลีกุจอตกแต่งประดับประดาเรือเสียวิจิตรตระการตาสวยงาม ต่างฝ่ายก็ต่างหวังที่จะชนะการประกวด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จทอดพระเนตรเรือต่างๆ โดยเริ่มต้นจากท่าราชวรดิษฏ์ล่องไปเรื่อยๆ ทรงทอดพระเนตรอย่างสำราญราชหฤทัย แต่ครั้นพอผ่านมาหน้าวัดของสมเด็จฯโต ก็ตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรือที่จอดอยู่หน้าวัดของขรัวโต ไม่ใช่เรือที่ประดับประดาสิ่งสวยอะไร เป็นเรือสำปั้นเล็กๆ เก่ามาก ไม้ผุจนเกือบพัง หาสภาพดีไม่ได้ มีสามเณรพายอยู่ตรงหัวเรือและท้ายเรือ กลางเรือมีลิงผูกไว้กับหลักตัวหนึ่ง และมีกระดาษแข็งเขียนผูกไว้กับคอลิง ข้อความบนกระดาษนั้น ตัวใหญ่ชัดเจน มีใจความว่า"ขายผ้าเอาหน้ารอด"
การทำเช่นนี้ของขรัวโต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบความหมาย ในวันรุ่งขึ้นจึงให้มหาดเล็กไปสอบถาม
สมเด็จฯโต ได้อธิบายให้มหาดเล็กผู้นั้นทราบว่า พระสมณะย่อมหาสมบัติได้ยาก นอกจากจะมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายเท่านั้น ซึ่งของที่ได้รับก็มีแต่เครื่องบริโภคอุปโภค ย่อมไม่มีทุนทรัพย์หรือสิ่งใดที่จะนำมาแลกเปลี่ยนหาซื้อสิ่งต่างๆ นำมาประดับประดาเรือ ให้สวยงามได้ ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ก็มีแต่จะต้องเอาผ้าจีวรไปขาย ถึงจะมีเงินมาเป็นทุน ซื้อสิ่งของมาประดับเรือได้ จำยอมขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อนเพราะยังทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเอาใช้ห่มสังขารกันร้อนหนวก่อน
การสอนเป็นปริศนาเช่นนี้ของขรัวโต เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์แจ้งแล้ว ก็ไม่ทรงทำเช่นนั้นอีกเลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2010, 15:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: ไหว้พระพุทธรูป :b42: :b42:
เซนสอนให้ลึกซึ้งถึงธรรม ธรรมนั้นจะลึกซึ้งได้ย่อมอยู่ที่ใจของผู้ศึกษา สิ่งเห็นออกมาเป็นรูปร่างอาจจะมิใช่สิ่งที่เป็นธรรมที่แท้จริง หรือสิ่งที่เป็นสัจจธรรมที่แท้จริงก็ได้
ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯโต ไปสวดมนต์ที่บ้านชาวเหนือหรือบ้านช่างหล่อในปัจจุบันนี้ ที่บ้านนั้นเขาได้เอาหุ่นพระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ ห่างจากทางเดินประมาณ ๒ ศอก
เมื่อสมเด็จฯโต เดินผ่านมาเห็น ท่านได้ก้มกายลง ยกมือขึ้นประนมเหนือศรีษะ ทำคารวะทันที พระและลูกศิษย์ที่มาด้วยเมื่อเห็นท่านไหว้ก็ไหว้ตามบ้างทั้งๆที่ ไม่รู้ว่าท่านไหว้ทำไม
ครั้นเมื่อขึ้นนั่งบนบ้านเรียบร้อย ผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งเห็นการกระทำของสมเด็จฯโต จึงเข้าไปเรียนถามด้วยความสงสัย เพราะไม่เคยเห็นสมเด็จฯโต ทำมาก่อน
สมเด็จฯโต ได้ตอบว่า ที่ท่านยังไม่เคยทำนั้นเพราะท่านยังไม่เคยเห็น เมื่อเห็นจึงต้องทำ แม้ท่านจะตอบอย่างนี้ แต่ก็ยังไม่คลายสงสัยแก่ผู้ถามได้กระจ่างผู้ถามจึงกล่าวซักไซ้ต่อไปอีกว่า
"ยังไม่ยกขึ้นตั้ง และยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระได้หรือขอรับ"
สมเด็จฯโต จึงตอบว่า ความเป็นพระหรือไม่เป็นพระนั้น มันเริ่มตั้งแต่ผู้ที่ทำหุ่นยกดินก้อนแรกลงบนกระดานแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจจะทำให้เป็นองค์พระ ย่อมเป็นพระอยู่วันยังค่ำ แม้จะยังไม่ได้ผ่านการปลุกเสกก็ตามที
การที่ท่านสอนเช่นนี้ หมายความว่าการเป็นพระหรือไม่เป็นพระไม่ได้อยู่ที่การปลุกเสก ไม่ได้อยู่ที่การปั้นขึ้นมาให้เป็นรูปร่าง แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่ใจ เอาแค่ใจเป็นพระ ทุกๆ สิ่งก็เป็นพระหมด
เซนเองก็สอนในทำนองนี้ ขอแค่ทำใจให้ว่าง ทำใจให้เข้าถึงเซนอย่างเดียว ทุกสิ่งย่อมเป็นเหมือนกันหมด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 09:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b48: :b42: พลังจิต :b48: :b42: :b48:
พลังอันยิ่งใหญ่ของคน มิใช่อยู่ที่พลังกายที่มีกล้ามเป็นมัดๆ แต่อยู่ที่พลังใจพลังจิตที่เข้มแข็งแกร่งกล้า
คนเราจะกล้าหาญได้ ก็เพราะมีกำลังใจอันมหาศาล ผู้ที่มีกำลังอ่อนปวกเปียก จะเป็นผู้กล้าไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น การฝึกจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะอะไรหรือ สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า เพราะจิตเป็นพลังที่รวมแห่งพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะต้องมีทุกคน เมื่อบุคคลฝึกจิตจนได้ที่ มีพลัง เข้มแข็ง บึกบึน จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่มีประโยชน์อย่างมหาศาล สำหรับที่บุคคลจะใช้ในกรณียกิจต่างๆ
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "ผู้ใดสามารถบำเพ็ญวิธีการที่ถูกต้องสะกัดกั้น ก็จะพึงได้พลังจิต เกิดประโยชน์มากมายเหลือคณานับทีเดียว"
การนั่งสมาธิเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกจิตให้เข้มแข็ง ผู้ที่นั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน จนจิตเป็นสมาธิจะเป็นคนสุขุมรอบคอบ เยือกเย็น ทรหด อดทน ทนทานต่ออุปสรรคต่างๆได้ดี
ในการทำจิตให้เป็นสมาธิ มีได้หลายรูปแบบ สำหรับการนั่งสมาธินั้นถือเป็นพื้นฐานที่ดี
ในชีวิตประจำวันของเราที่กำลังทำการงานที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดนั้น ก็สามารถฝึกได้ในทุกอิริยาบถ โดยการกำหนดใจไม่ให้วอกแวก ให้แน่วนิ่งต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ จิตก็เป็นสมาธิได้
การรู้จักหักห้ามจิตใจไม่ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ แล้วให้ทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น ห้ามใจไม่ให้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ห้ามิให้กินจุกกินจิก เป็นต้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดพลังจิตได้


:b43: :b43: ยายแฟงสร้างวัด :b43: :b43:
บุญกุศลที่แท้จริงจะเกิดแก่ผู้ทำได้ ผู้ทำนั้นต้องสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง มิใช่อาศัยผู้อื่นมาทำความสำเร็จให้ และจะบังเกิดผลแรงกล้ายิ่ง ก็ต้องมาจากจิตใจที่ดี จิตใจที่เป็นกุศล ใจที่ปรารถนาจะทำบุญกุศลอย่างจริงจัง
เซนเองก็เช่นเดียว ผลบุญกุศล ที่เซนว่าก็มิใช่เกิดจากผู้อื่น แต่เกิดจากผู้ปฏิบัติเท่านั้น เกิดจากความตั้งใจของผู้นั้นจริงๆ ผลบุญกุศลจึงจะส่งผลได้
มีวัดอยู่วัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยของขรัวโต วัดนี้ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อยายแฟงเป็นผู้สร้างถวาย เนื่องจากว่ายายแฟงนี้มีอาชีพคุมซ่องโสเภณี เพราะอาชีพนี้ยายแฟงแกจึงร่ำรวย มีเงินทองผิดจากคนอื่นที่ทำอาชีพที่ต่างกับแก
ถึงแม้ว่ายายแฟงแกจะร่ำรวย แต่ก็ไม่หลงลืมที่จะทำบุญทำทานโดยการสร้างวัดถวาย เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ยายแฟงก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวัดใหม่ยายแฟงขึ้น และได้นิมนต์สมเด็จฯโต มาเทศน์บอกอานิสงส์การสร้างวัด
ครั้นเมื่อสมเด็จฯโต เทศน์ ตอนหนึ่งท่านได้เทศน์ถึงยายแฟงวา ถึงแม้ยายแฟงจะสร้างวัดถวายก็จริงอยู่ แต่เงินที่แกนำมาสร้างวัดนั้นมิได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง แต่มาจากเงินที่เบียดเบียนแรงงานผู้อื่น จึงไม่ชอบด้วยธรรม ถ้าจะเปรียบอานิสงส์กับเหรียญบาท ยายแฟงก็คงจะได้ไม่เต็มบาทอาจจะได้ประมาณ ๓๗ สตางค์เท่านั้น
หลักของอานิสงส์ที่แท้จริง ย่อมขึ้นอยู่กับผู้กระทำ และขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้กระทำด้วย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 09:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: ศรัทธาหัวเต่า :b48: :b48:
จะทำการใด หรือคิดจะทำสิ่งใด ควรมีศรัทธาในการทำนั้นอย่างจริงจัง อย่าทำขึ้นๆลงๆ เมื่อคิดจะทำก็ควรทุ่มให้หมดตัว ถึงแม้ว่าการข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ควรคาดการณ์ล่วงหน้าไปในทางเสีย แต่ควรคิดไปในทางที่ดี และพยายามทำศรัทธาให้มั่นคง จงเชื่อมั่นในศรัทธาของตนเอง อย่าให้สิ่งแวดล้อมมาบดบังศรัทธาของตนลงได้
ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯโต ได้รับนิมนต์จากคหบดีคนหนึ่ง ซึ่งได้มาขอร้องให้ท่าน ทำการนิมนต์พระที่มีความสามารถเทศน์กัณฑ์มัทรีได้เป็นอย่างดี ไปเทศน์ที่บ้านของตน สมเด็จฯโต ก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะหาเอาไปให้
แต่ครั้นนั้นถึงวันนิมนต์จริงๆ สมเด็จฯโตกลับไปเสียเอง เมื่อคหบดีเห็นสมเด็จฯโตมาเอง ก็เกิดความไม่แน่ใจว่า สมเด็จฯจะเทศน์เป็นหรือเปล่า เพราะดูชรามากแล้ว จึงเกิดความคลอนแคลนในศรัทธาของตน และได้ดึงเครื่องกัณฑ์เทศน์ออกมาเก็บไว้จำนวนหนึ่ง เพราะรู้สึกเสียดาย
สมเด็จฯโต นั้น ท่านรู้ว่าคหบดีคิดอย่างไร วันนั้นท่านจึงเทศน์กณฑ์มัทรีให้ไพเราะมากกว่าทุกครั้ง คหบดีเมื่อได้ฟังก็เกิดศัทธาแรงกล้าขึ้นมาอีก จึงได้ใหห้เด็กรับใช้ ไปหยิบเงินที่เก็บมาไว้มาติดกัณฑ์เทศน์ตามเดิม
ในท่อนสุดท้ายของการแสดงธรรมเทศนาท่านได้ให้สติในการทำบุญแก่คหบดีคนนั้นว่า
"เมื่อคิดจะทำบุญหรือการกุศลอันใด ต้องมีศรัทธาที่มั่นคง...อย่าให้เป็นศรัทธาหัวเต่า"
ศรัทธาหัวเต่า คือ ศรัทธาที่ขึ้นๆลงๆ นั่นเอง คนที่ขึ้นๆลงๆ ย่อมหาความมั่นคงในชีวิตไม่ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 10:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: ผู้สร้าง :b48: :b48:
โลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งต่างๆ บนโลกนี้มาได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้รู้ทั้งหลายพยายามให้คำตอบอยู่ เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ตามสัจจะที่มองเห็น
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "ศาสดาต่างๆ...ต่างก็ได้บัญญัติคล้ายกันหรือตามกันว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้
ต้องมีผู้สร้าง...แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธผู้สร้าง ผู้สร้างที่แท้จริงคือเหตุและปัจจัย"
ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวให้ยืดยาวหมดจดไปเสียทั้งหมด หากแต่จะนำเอาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการมากล่าวให้ได้รู้กันพอเป็นสังเขป ว่านี่แหละคือผู้สร้างไม่ใช่พระเจ้าที่ไหน
.....๑ อวิชชา (ความไม่รู้)
.......อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๒ สังขาร (ความปรุงแต่ง)
......สังขารเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๓ วิญญาน(ความรู้สึก)
.......วิญญานเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๔ นามรูป (กายกับใจคือขันธ์ ๕ )
.......นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๕ สฬายตนะ (เครื่องต่อ ๖ ประการ)
.......สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๖ ผัสสะ (ความกระทบถูกต้อง)
.......ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๗ เวทนา (ความเสวยสุขทุกข์)
.......เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๘ อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น)
.......อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๙ ภพ (ความก่อให้เกิด)
.......ภพเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๑๐ ชาติ (ความเกิด)
.......ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๑๑ ชรา (ความแก่ความตาย)
.......ชรา มรณะเป็นปัจจัยให้เกิด
.....๑๒ โสกะ ความโศกเศร้า ปริเทวะ ความร้องไห้ ทุกขะ ความทุกข์กาย โทมนัสสะ ความเสียใจ
อุปายาสะ ความคับแค้นแน่นใจ ฯลฯ
เมื่อเวียนไปเช่นนี้ หดตัวเข้ามาเป็นอวิชชาอีก ตามธรรมดามนุษยืทุกคนต้องมีความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ต้องเป็นมาแต่ ๑ ถึง ๑๒ แล้วก็ย้อนกลับเข้ามา ๑ ...ซึ่งบางครั้งก็อัตภาพเป็นเทวดาเป็นพรหม
บางครั้งก็ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ หรือบางครั้งก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย แล้วแต่กรรมคือการกระทำของตนที่ได้กระทำ สร้างเอง การหมุนเวียนเช่นนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า
ถ้ายังไม่ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ก็ต้องวนเวียนจาก ๑ ถึง ๑๒ อยู่ร่ำไป แต่ที่พระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบนั้นแล้ว พระองค์ก็ไม่หมุนเวียน ไม่มีการเวียน ๑ ถึง ๑๒อีกต่อไป อีกอย่างหนึ่งการหมุนเวียนนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ เป็นการหมุนเวียนที่หาต้นปลายไม่พบ ต้องมีการประสบกับความยุ่งยากลำบาก ทุกข์ทรมาณตราบใดที่อวิชชายังอยู่ในจิตใจของผู้ใด ตราบนั้นผู้นั้นต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: ปฏิบัติการทางใจ :b48: :b48:
การปฏิบัติธรรมทางศาสนานั้น เน้นกันที่จิตใจเป็นสำคัญ สิ่งอื่นๆ เป็นรองลงมา การปฏิบัติการทางจิตทางใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสามารถชำระจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ หมดเวรหมดกรรม อยู่เหนือบุญ บาปได้ นั้นแหละคือเป้าหมายในการปฏิบัติธรรม
มนุษย์เรานี้มีทั้งอวิชชาและพุทธภาวะ ผู้ที่รู้สึกได้ ผู้ที่เป็นอยู่อย่างมีสติ จึงจักอาจนำเอาพุทธภาวะมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตน ส่วนผู้เป็นอยู่อย่างเบลอๆ ไร้สติสัมปชัญญะ ย่อมถูกอวิชชาเข้าครอบงำ
ด้วยการปฏิบัติการทางจิตเท่านั้น บุคคลจึงจักอาจโค่นล้มอวิชชาลงได้ เมื่อใดอวิชชาถูกโค่นลงพุทธภาวะก็เบ่งบาน ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ปรากฏขึ้น
สมเด็จฯโต ท่านบอกว่า "อันว่าอวิชชาใหญ่ก็จริง แต่ยังมีหนทางแก้ความใหญ่ของอวิชชาได้ โดยการปฏิบัติทางใจให้ถูกต้อง เมื่อทำถูกต้องแล้วอวิชชาก็จะหมดความยิ่งใหญ่ลงไปเป็นลำดับ เมื่อลดความยิ่งใหญ่ของอวิชชาลงไปได้เป็นขั้นๆ แล้ว เราทั้งหลายก็จะเห็นความจริงที่ถูกปกปิด หรือปิดบังมาเป็นเวลานานหลายพันล้านปีแล้ว"


:b42: :b42: พระคาถาชินบัญชร :b42:
ในงานพระราชพิธีหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้เจริญพรคาถาชินบัญชรถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสดับแล้ว ชอบพระทัย รับสั้งว่า พระคาถานี้ดี ขรัวโตเอามาจากไหน? เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทูลตอบว่า " ถวายพระพรมหาบพิตร พระคาถาบทนี้อาตมภาพเก็บความจากคัมภีร์โบราณผูกหนึ่ง ซึ่งได้จากลังกาประเทศ" พระคาถาบทนี้มีคุณานุภาพมากมาย ผู้ใดได้จำเริญภาวนาไว้เสมอจะเจริญด้วยลาภยศ เจริญชนมายุยืนยาว ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง
ตั้งแต่วันั้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมหม่อมห้าม และเหล่าข้าราชการใหล้ชิดพระยุคลบาทเจริญภาวนาพระคาถาบทนี้


แก้ไขล่าสุดโดย ศรีสมบัติ เมื่อ 25 พ.ค. 2010, 14:10, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 14:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: พระคาถาชินบัญชรสูตร :b43:

ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)
วัดระฆังโฆสิตาราม

๑. ชินนะสะรากะตา พุทธา เชตวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา
๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะตินายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิโต มัยหัง มัตถะเก เต มะนุสสะรา
๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
๔. หะทะเย อนุรุทโธ จะ สาริปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก
๕. ทักขิเน สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา
กัสสะโป จะ มะหานาโม อาภาสุง วามะโสตถะเก
๖. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโล
๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ
๙. เสลาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชวันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
๑๐. ระตะนัง ปุเรโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะลังกะตัง
๑๒. ชินา นานาวะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา
วาตาปิตตะทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
๑๓. อะเสสา วิญญัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
๑๔. ชินะปัญชะระมัชเฌหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา
๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะรีโย
สัทธัมมานุภาวะ ปาลีโต จะรามิ ชินะปัญชะเรตีติ.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร