วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1521 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 93, 94, 95, 96, 97, 98, 99 ... 102  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรียนถามค่ะ ว่าระหว่างแม่ผู้ให้กำเนิดซึ่งเลี้ยงลูกได้แค่ 3-4 เดือน แล้วลูกก็ต้องระหกระเหเร่ร่อนไปตามบ้านญาติและไม่ใช่ญาติ มาประมาณ 6-7 ปี แล้วแม่บุญธรรมซึ่งเป็นพี่สาวของพ่อรับมาเลี้ยง ส่งเสียอย่างดี แต่ระหว่างที่เราเติบโตอยู่กับแม่บุญธรรม แม่แท้ๆมารบกวนบีบคั้นตลอด ซึ่งหนูเกลียดแม่ตัวเองมากๆ และไม่เคยเรียกแม่จะเรียกน้ามาตลอด ตอนที่แม่เเท้ๆมีหนู แกอายุแค่ 14-15 ปี แม่ของหนูคนนี้เป็นผู้หญิงใจร้ายมากๆ เเกมีลูกของตัวเองด้วย แต่ลูกทิ้งไม่ดูแล ไม่ส่งเสีย สามีตาย ชีวิตย่ำแย่มากๆ พอหนูเห็นอย่างนั้นก็อดที่จะส่งเสียไม่ได้ แบบไม่เต็มใจ แถมยังต้องส่งเสียลูกของน้องชายคนละพ่ออีก ส่วนแม่บุญธรรมหนูไม่เคยต้องส่งเสียหรือว่าช่วยเหลืออะไรเลย ตัวหนูเองมาทุ่มให้กับแม่แท้ๆ ตัวของแม่แท้ๆ แกทำกรรมไม่ดีเยอะมากๆ ช่วง 4-5 ปีมานี้ กรรมเริ่มตามสนองแล้วค่ะ ตัวเองเป็นเบาหวาน แล้วตามมาหลายๆโรค ที่สำคัญพาคนและลูกสาวตัวเองไปทำแท้ง 3-4 คน ส่วนตัวแก ตอนนี้เป็นมะเร็งมดลูกระยะที่สอง ตัดมดลูกและต่อมน้ำเหลืองซึ่งแผลไม่ติดน้ำเหลืองไหลเต็มท้อง หนูก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แค่แนะนำให้สวดมนต์นั่งสมาธิ ตัวแกทรมานมาก หนูพยายามจะให้กำลังตัวเองว่า เราทำบุญเพื่อสร้างบารมีสร้างบุญให้กับตัวเองเพื่อจะได้พาติดตัวไปชาติหน้า แม่บุญธรรมเราไม่ค่อยได้ช่วยเหลือหรือตอบแทนบุญคุณเลย เพราะตัวหนูเองอยู่เมืองนอก ส่วนแม่แท้ๆหนูส่งเงินไปทั้งรักษา กินอยู่ ส่งเด็กเรียน 2 คน(คือลูกของน้องชายคนละพ่อ เรียนม. 2 นอกจากส่งเสริมเรื่องเรียนแล้ว หนูให้เด็กบวชเณรตอนปิดเทอม ส่วนช่วงเรียนให้สวดมนต์นั่งสมาธิ เช้า-เย็น อีกคนน้องสาวคนละเเม่เรียนพยาบาล)ส่วนตัวหนูเองไม่มีเหลือเท่าไหร่ ไม่มีส่งให้แม่บุญธรรมเลย แต่ท่านก็ไม่เคยเดือดร้อนเรื่องเงิน อาจจะปีหนึ่งสักครั้งสองครั้ง

ปัญหาของหนูที่คิดมาตลอดคือ หนูเป็นคนอกตัญญู คนที่เลี้ยงเรามาเราไม่เคยตอบแทนบุญคุณ ส่วนคนที่ไม่เคยดีกับเรา แต่เป็นผู้กำเนิด เราต้องมาส่งเสียช่วยเหลือ หนูคิดบ้างครั้งว่า ทำไมเราไม่เป็นคนใจดำนะ น่าจะมองข้ามไปเหมือนคนใจร้าย แกถูกลูกทิ้งเพราะแกเป็นแม่ที่ใจร้ายมาก(เลี้ยงลูกด้วยมือด้วยเท้า แล้วอ้างว่า รักลูก)เป็นครอบครัวมิจฉาทิฐิทั้งครอบครัว

อยากจะถามอาจารย์ค่ะ บ้างครั้งที่หนูส่งเสียให้แม่ผู้ให้กำเนิด ไม่ค่อยเต็มใจนัก หนูคงไม่ได้บุญใช่ไหมคะ ส่งเงินที หมื่นถึงห้าหมื่น เงินขนาดนี้บ้างครั้งทำใจไม่ได้ค่ะ ตัวเองใช้ไม่ถึงห้าพันต่อเดือนเลย ท้อค่ะ แต่พอคิดบวก ว่าดีเหมือนกัน เขาอยู่เขามาเพื่อให้เราสร้างบารมี แต่จะไม่ได้บุญก็ตรงไม่ยินดีในตอนก่อนทำ ขณะทำ แต่พอเห็นผลเป็นยินดีหลังทำ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

คำตอบ

แม่ผู้ให้กำเนิดชีวิต แม้จะไม่ได้เลี้ยงดูลูกก็ถือว่า เป็นผู้มีคุณ ให้เราได้รูปนามมาใช้สร้างบุญสร้างบารมี การดูแลแม่ผู้ให้กำเนิดด้วยการส่งเงินให้ใช้ ถือว่าเป็นความกตัญญูกตเวทีอย่างหนึ่งที่ลูกสามารถทำได้ แต่ก่อนที่จะส่งเงินให้ ต้องมีศรัทธาว่าแม่เป็นผู้มีบุญคุณให้ชีวิตแก่เรา ขณะส่งเงินต้องส่งให้ด้วยความตั้งใจ และเมื่อส่งเงินให้แม่แล้วมีความสบายใจ ถ้าทำได้อย่างที่กล่าวมานี้ถือได้ว่า ผู้ถามปัญหาได้สร้างและสั่งสมบุญเต็มร้อยให้กับตัวเองแล้ว

ส่วนแม่ที่อุปการเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ หากลูกเลี้ยงหวังความเจริญในชีวิต ต้องประพฤติตอบแทนคุณแม่เลี้ยง ด้วยการทำตัวเป็นคนดี มีศีล มีธรรมคุ้มครองใจ ทำให้ท่านสบายใจด้วยทำตัวให้มีชีวิตมั่นคง ก็ถือได้ว่าเป็นการตอบแทนอุปการคุณท่านแล้ว

เรื่องวิบากกรรมของแม่ผู้ให้กำเนิด ท่านเป็นครูสอนลูกไม่ให้ทำอย่างท่าน แล้วเราจะไม่วิบัติเช่นท่าน ฉะนั้นจงดูเรื่องนี้ให้ออก ช่วยเหลือเท่าที่สามารถช่วยได้ เรื่องใดช่วยไม่ได้ต้องปล่อยวาง โดยถือว่าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ท่านทำของท่านเอง ผู้รู้ในพุทธศาสนาประพฤติเช่นนี้

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง สีลัพพตปรามาส เท่าที่กระผมทราบจากท่านอาจารย์ และตามบทความทั่วไป คือความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศีลพรตภายนอกพระพุทธศาสนา ในเรื่องนี้กระผมมีความไม่มั่นใจในเรื่องการกราบไว้อย่าง เช่น การเข้าร่วมพิธีไหว้ศาลหลักเมือง หรือไหว้รูปปั้นบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในบ้านเมือง กระผมขอรบกวนให้ท่านอาจารย์กรุณาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยครับ ว่าเราไหว้อะไร ถ้าจำเป็นต้องไหว้ ต้องทำอย่างไร

กระผมขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ดร.สนอง เป็นอย่างสูงครับ

คำตอบ

สีลัพพตปรามาส เป็นกิเลสตัวหนึ่งที่ผูกมัดใจ (สังโยชน์) สัตว์บุคคล ให้เวียนตาย-เกิดในวัฏสงสาร ซึ่งอริยบุคคลสามารถเว้นได้แล้วคือ

๑. ไม่ประพฤติตนเหมือนอย่างโค (โควัตร) คือ กินหญ้า แล้วคิดว่าเป็นทางนำพาชีวิตเข้าถึงวิมุตติธรรม

๒. ไม่ประพฤติตนเป็นเหมือนอย่างสุนัข (กุกกุรวัตร) คือ กินอาหารสกปรก เสพกาม และท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ แล้วคิดว่าเป็นทางนำพาชีวิตเข้าถึงวิมุตติธรรม

๓. ไม่ประพฤติตน นุ่งลมห่มฟ้า (ชีเปลือย) อดอาหาร มีกินบ้าง ไม่กินบ้าง แล้วคิดว่าเป็นทางนำพาชีวิตเข้าถึงวิมุตติธรรม

๔. ไม่ประพฤติกสิณภาวนา จนสามารถเข้าฌานสมาบัติได้เพียงอย่างเดียว แล้วคิดว่าเป็นทางนำพาชีวิตเข้าถึงวิมุตติธรรม

๕. ไม่ประพฤติสวดมนต์ อ้อนวอนผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าผู้สร้างโลก ให้ประทานความสุขที่เป็นนิรันดร์ให้

ตรงกันข้าม ปุถุชนที่ประกอบพิธีกรรม กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น รูปปั้นของบุคคล ศาลหลักเมือง ไม่เรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เพราะมิได้ปรารถนาความหลุดพ้น แต่เรียกว่าเป็นการแสดงความเคารพกราบไหว้ บูชาผู้ที่ควรบูชา ซึ่งถือว่าเป็นมงคลชีวิต (ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตังมัง คะละมุตตะมัง)

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อยากสอบถามปัญหาเกี่ยวกับความคิดครับ คือผมมีความทุกข์ที่เกิดจากความคิด คือผมชอบปฏิบัติธรรมไหว้พระสวดมนต์ และพยายามคุมความคิดให้คิดแต่ในสิ่งที่ดี ๆ แต่ควบคุมไม่ค่อยได้คือ จิตชอบคิดในสิ่งที่ไม่ดีในสิงที่ไม่อยากคิด พอคิดในสิ่งที่ไม่ดี จิตก็ไปพะวงกับความคิดที่ไม่ดีเหล่านั้นเช่นกลัวบาปกับความคิดนั้นทำให้ ฟุ้งซ่านไปใหญ่ กว่าจะกลับมาได้ก็หาวิธีแก้ตั้งนาน

อยากถามอาจารย์ว่า ถ้าเราคิดในสิ่งที่ไม่ดีซึ่งเราไม่อยากคิดแต่ควบคุมไม่ทันทำให้คิดเลยเถิดไป เราจะบาปกับความคิด ที่ไม่ดีเหล่านั้นมากไหม และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ให้คิดแต่ในสิ่งที่ดีๆ และเป็นบุญ ครับผม


คำตอบ

บาปมากหรือบาปน้อย ขึ้นอยู่กับความยาวนานของความคิดไม่ดี ถ้าคิดไม่ดียาวนานมาก ก็บาปมาก วิธีแก้ไขคือ ทุกครั้งที่ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น ต้องบริกรรมว่า “ คิดหนอๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าความคิดไม่ดีจะดับไป หากผู้ถามปัญหาไม่ทำตัวเป็นน้ำชาล้นถ้วย มีสัจจะ มีความเพียร ทำตามคำชี้แนะ ความสำเร็จในการแก้ปัญหาคิดไม่ดี ย่อมเกิดขึ้น

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผมมีคำถามเกี่ยวกับราคะจริตที่แก้ไม่หายครับ เดิมผมเป็นคนหน้าตาพอใช้ได้
ผู้ใหญ่เห็นมักเมตตา เพศตรงข้ามก็พอมีมาสนใจครับ แต่มาวันหนึ่ง โรคสิวบน
ใบหน้าก็เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน เรื้อรังมา 4 ปีแล้วครับ แรก ๆ ก็รักษาโดยไปหา
หมอ แต่ผมว่ามันเรื้อรังมานาน จนคิดว่าอาจเป็นโรคเวรโรคกรรมก็ได้ ผมพอจะ
ทราบว่าวิธีหนึ่งคือปลงให้ได้จึงหันมาสนใจธรรมะ แต่จิตยังทุกข์อยู่เหลือเกิน
บางวันจิตไปยึดจนนั่งสมาธิไม่ได้ ผมจึงขอความกรุณาอาจารย์ช่วยหาหนทาง
ที่ถูกต้องและถูกตรงให้อาการทุเราหรือหายขาดได้ก็จะขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ผมเองยังไม่ทราบด้วยตนเองจริง ๆ ว่าสวรรค์นรกมีจริงหรือไม่ หากมีจริงผมขอ
บุญที่ทำมาในอดีต ปัจจุบัน และที่จะทำในอนาคตช่วยส่งผมไปให้ได้พบกับ
อาจารย์สักครั้งจะบนโลกมนุษย์หรือสวรรค์ก็ตาม และหากวันนั้นราคะจริตของ
ผมยังไม่หมดไป ขอให้ได้ฟังธรรมจากอาจารย์จนจิตไม่ยึดกับรูปอย่างนี้ด้วย
เทอญ สาธุ

ขอกราบขอบพระคุญอย่างสูงยิ่งครับ

คำตอบ

วิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกตรงที่สุด คือ ปฏิบัติธรรม (วิปัสสนาภาวนา) จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) จนเห็นว่า เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์จริง เมื่อขันธ์ ๕ ดับ ร่างกายไม่มี ตัวตนไม่มี ใบหน้าของตัวก็ไม่มี เมื่อหน้าของตนไม่มีอยู่จริง สิวบนใบหน้า ย่อมไม่มีตามไปด้วย ผู้ใดเห็นแจ้งเช่นนี้ ปัญหาเรื่องสิวขึ้นที่ใบหน้า ย่อมไม่เข้ามากวนใจ คือ หายขาดอย่างสิ้นเชิง

ผู้ใดปรารถนาเห็นนรก ปรารถนาเห็นสวรรค์ ผู้นั้นต้องพัฒนาจิต จนตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (อัปปนาสมาธิ) หรือเรียกว่า สมาธิระดับฌาน เมื่อถอนจิตออกจากฌาน แล้วอธิษฐานขอเห็นนรก ขอเห็นสวรรค์ ตาทิพย์ (ทิพจักขุ) ย่อมสัมผัสกับสิ่งที่ปรารถนานั้นได้ ... พิสูจน์ไหมครับ

และเช่นเดียวกัน ปรารถนาพบกับอาจารย์ ของตัว ต้องทำเหตุให้ตรง คือ เอาศีล ๕ คุมใจ และมีสัจจะคุมใจอยู่ทุกขณะตื่น แล้วอธิษฐานขอพบอาจารย์ของตัวเอง เมื่อใดที่เหตุปัจจัยลงตัว ความสมปรารถนาย่อมเกิดเป็นจริงได้

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


1. ใจของหนูไม่หวังเกิดอีกแล้วถ้ามีบารมีพอที่จะปฎิบัติให้ถึง เพราะหนูเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว การผูกพันในคน ในพ่อ แม่ พี่น้อง สามี ลูก มีแต่ห่วง แต่หนูโชดดีที่เกิดมาเป็นเด็ก กำพร้า พ่อ แม่ บุญธรรมทำมาเลี้ยง ชีวิตที่ผ่านมาหนักไปในทางทุกข์ ช่วง อายุ 30 ได้ฝึกปฎิบัติกรรมฐานและศึกษาธรรม ปีที่ผ่านได้นั่งกรรมฐานนั่งสมาธิผ่านไปสักครู่ เห็นถึงข้อที่ทำให้เราต้องผูกพัน คือศีลข้อ 3 ระหว่างหญิงและชาย ผ่านไปเห็นถึงการปฎิสนธิเด็กที่กำลังเกิดเป็นเหมือนตัวลูกอ๊อด ผ่านไปอีกหน่อย เห็นการแก่ และตายจากนั่งพยายามพิจารณาในสมาธิ ไม่สามารถหยุดการร้องไห้ได้ ร้องแบบสะอึดสะอืน มาก ๆ อยากถามท่านอาจาย์ว่าสิ่งที่หนูเห็น และได้รับรู้นั่น มันเป็นการปฎิบัติที่ถูกทางเปล่าค่ะ

2. การทำอานาปานะสติไปสักครู่ในเกิดความสงบแล้ว ค่อย ภาวนา พุธโธ นี้ถูกต้องใช้ไหมค่ะ เคยไปปฎิบัติวัดอัมพวันมา จะไม่ถนัด หยุบหน่อ พองหน่อ แต่จะชอบเดินจงกรมมากค่ะ ช่วยแนะนำหนูด้วยค่ะ

3. แล้วถ้าเรารู้คู่ของเราอยู่ในสถานะเป็นพระปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ทำให้เราดวงตาเห็นธรรม แต่เราไม่มีจิตใจที่จะทำให้ท่านไม่ได้สร้างบารมีต่อ เพราะชาตินี้เราไม่หวังเกิดและพูกพันกับใครอีกแล้ว ต่างคนปฎิบัติมักผลนิพพานได้หรือเปล่า แล้วทำอย่างไรถึงจะก้าวผ่านไปได้ค่ะ

4. ปกติจะชอบไปไหนมาไหนคนเดียว หรือทำบุญกับเพื่อนที่ปฎิบัติด้วยกัน แต่รู้สึกเสียใจมากเมื่อไม่กีวันมานี้ ปกติจะไปทำบุญด้วยกันในกลุ่ม มีบ้างที่ที่เราไปแล้วเราก็มาเล่าให้เค้าฟัง มีบ้างที่ที่เราชวนแล้วไม่มีใครไปเพราะไม่อยากไป แต่เวลาเค้าชวนเราไป เราไม่อยากไปแต่ต้องไป เพราะว่าไม่อยากขัดเค้า เพราะถ้าเราไม่ไปเค้าก็จะไม่ได้ไปสร้างบารมีบ้าง ที่เราชวนเค้าด้วยคำพูดแบบไม่ได้คิดว่าจะยัดเยียดให้เค้า เราพูดว่าเธอไปสิ ดีนะ ดีนะ แล้วเราก็เล่าให้เค้าฟัง แต่เค้ากลับบอกเราว่าบ้างที่เราพูดเหมือน บังคับจัง เค้าก็ยกตัวอย่างว่า เพื่อนเคยพูดว่าขอดีจริงไม่ต้องโฆษณาหรอก เค้าบอกว่าถ้าอยากไปพูดแล้วไปเอง หนูรู้สึกว่าหนูไม่ได้ตั่งใจที่จะพูดแบบซ้ำกันแค่เล่าให้ฟังไม่ได้รู้สึกว่า เค้าต้องไป แต่ถ้าไปด้วยกันก็ดีจะทำบุญด้วยกัน พูดเพราะกำลังเบิกบานในบุญทื่ไปทำมา
รบกวนถามอาจารย์ค่ะ ถ้าเป็นแบบนี้ทำยังไรเพื่อนสนิทมากปฎิบัติธรรมดี ปฎิบัติธรรมชอบ แล้วควรขออโหสิกรรมให้เค้าเปล่าค่ะ เพราะเค้าไม่รู้ว่าเราเสียใจมากแล้วร้องไห้ การที่ทำให้คนจิตใจกำลังเบิกบานในบุญมา เค้าจะบาปหรือเปล่าค่ะ

รบกวนด้วยค่ะ

คำตอบ

(๑). สิ่งที่ผู้ถามได้เห็นและได้รับรู้ นั่นคือสิ่งที่ผูกมัดใจสัตว์ไม่ให้พ้นจากกามภพ ซึ่งยังต้องเสวยความทุกข์ที่เกิดจากกาม ผู้ใดปรารถนานำพาชีวิตให้พ้นไปจากความทุกข์ ต้องไม่เอาจิตเข้าไปเป็นทาสของสิ่งที่เห็น ตรงกันข้าม ต้องพัฒนาจิต (วิปัสสนาภาวนา) จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์สามตัวแรก (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ให้หมดไปจากใจได้เมื่อใดแล้ว จึงจะถือได้ว่าปฏิบัติธรรมถูกทาง

(๒). การพัฒนาจิต (สมถภาวนา) ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าว่า “ พุท ” กำหนดลมหายใจออกว่า “ โธ ” เรียกการปฏิบัติเช่นนี้ อานาปานัสสติ หรือนิยมเขียนว่า อานาปานสติ การปฏิบัติสมถภาวนาให้จิตตั้งมั่นได้เร็วและยาวนาน ต้องเลือกบทกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของผู้ปฏิบัติ

(๓). ผู้ใดปฏิบัติธรรมจนสามารถกำจัดสังโยชน์ห้า (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ) ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมมีจิตเป็นอิสระจากใครผู้ใด ตรงกันข้าม มีจิตมุ่งตรงสู่ความพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นผู้ปรารถนานำพาชีวิตไปในแนวนี้ ต้องพัฒนาปัญญาเห็นแจ้งให้เกิดขึ้น แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์ทั้งสิบตัวให้หมดไปจากใจ โดยมีอิทธิบาท ๔ เป็นเครื่องสนับสนุน

(๔). ปัญหานี้แก้ไขได้ โดยพัฒนาตัวเองให้มีศีล มีธรรมคุ้มครองใจ คนที่เข้ามาใกล้และสนทนาด้วยย่อมเกิดศรัทธา เมื่อความศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว และเขาเปิดทางให้เราชวนเขาไปทำบุญด้วย เมื่อนั้นเราจึงมีสิทธิ์ชักชวนเขาไปทำบุญโดยไม่ต้องพูดซ้ำ เมื่อชวนแล้ว เขาจะไปหรือไม่ไป เป็นสิทธิของเขา ผู้รู้จริงไม่เซ้าซี้ หรือบังคับใจให้เขาต้องไปด้วย ผู้ใดไม่สบายใจถือว่าผู้นั้นมีบาปเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ผู้ใดเอาจิตไปคิดในเรื่องของคนอื่น แล้วทำให้ตัวเองไม่สบายใจ ผู้นั้นมีบาปเกิดขึ้น

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กราบเรียนพระอาจารย์
(ขออนุญาติเรียกพระอาจารย์นะค่ะเพราะนู๋ถือว่าท่านเป็นผู้สอนนู๋ให้รู้ถึง ธรรมะ)
นู๋ได้มีโอกาสไปเข้าร้วมกิจกรรม แสดง ธรรม ครั่งที่ 17 ณ หอประชุม ธรรมศาสตร์

หลังจากกลับมาก็รู้สึกว่าตนมีสติขึ้นมามาก จากที่คือทำอะไรแล้วก็ยึดติดไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่เด๋วนี้นู๋ปล่อยว่างขึ้นเยอะ และนู๋ก็เคยคิดเล่นๆว่าถ้าวันนึงนู๋นั่งสมาธิ กำหนดจิต แล้วนู๋จะมีโอกาสได้เจอกับท่านทางจิตหรือไม่ค่ะ มันทำได้จริงหรือไม่ แล้วท่านมีสิ่งไดพอที่จะแนะนำนู๋ได้บ้าง่ค่ะ

กราบขอบพระคุณ



คำตอบ

การปฏิบัติธรรมที่ถูกทางคือ ปฏิบัติสมถภาวนา แล้วจิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติวิปัสสนา แล้วต้องเกิดปัญญาเห็นแจ้ง ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นสรรพสิ่งเกิดแล้วดับ สรรพสิ่งจึงไม่ใช่ตัวตนแท้จริง หรือคือไม่มีอยู่จริง จิตปล่อยวางสรรพสิ่ง จิตเป็นอิสระจากสรรพสิ่ง อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่า ปฏิบัติธรรมถูกทาง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หนูได้มีโอกาสไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว จริงๆตั้งใจว่าปีนี้จะไปอยู่แล้วแต่มีทุกข์ทางใจเกิดขึ้น จากความพรัดพรากในคนที่รักอย่างกะทันหัน (จากเป็น) จึงเร่งหาเวลาไปทันทีทันใด ในขณะที่อยู่ที่นั่น7คืน8วัน ก้อมีความสงบเกิดขึ้นบ้าง แต่การปฏิบัติไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนคนอื่น เช่น มีอาการฟุ้ง คิด อยู่ขณะเดินจงกรมอยู่เนืองๆ ขณะนั่งสมาธิก้อไม่มีสภาวะใดเกิดขึ้นเป็นพิเศษ อาการเหน็บชาที่ขาก้อมีบ้าง แต่ไม่ได้รู้สึกปวดทรมานเหมือนที่คนอื่นรู้สึก อาการใดๆที่แสดงว่าเป็นวิปัสสนานุสากิเลส ก้อไม่เกิด หลังจากออกจากคอร์สปฏิบัติกลับมา ก้อไม่ได้รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบายอย่างที่อาจารย์ผู้สอนบอกไว้ว่าควรจะเกิด เรียกได้ว่ากลับมาเศร้าโศกเหมือนเดิม

เหตุแห่งทุกข์นี้เกิดมาเป็นครั้งที่สองแล้วกับคนๆเดิม อาการทรมานใจยังมีอยู่ไม่ต่างจากครั้งแรก สถานการณ์ที่เกิดก้อไม่มีความแตกต่างกันเลย ทำให้หนูมีคำถามในใจว่าหนูไปทำกรรมใดไว้กับเขามากมายขนาดไหน ความทุกข์จึงไม่เบาคลายซักที ทุกบัลลังค์ที่นั่งหนูก้ออุทิศส่วนกุศลให้เขา ทุกเข้าเย็นที่สวดมนต์ขณะปฏิบัติก้อแผ่เมตตาให้ด้วยความตั้งใจที่จะ อโหสิกรรมต่อกันทุกครั้ง หนูตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้เกิดปํญญาแก่หนูเพื่อที่หนูจะได้ประจักษ์เห็นการ เกิดดับของทุกสิ่ง เพื่อที่จะได้มองเห็นอนิจจังของทุกข์ครั้งนี้เช่นกัน

ทำไมหนูถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นพวกชอบจมอยู่กับความทุกข์แห่ง รัก น้ำตาเอ่อท้นได้ง่ายแค่คิดถึงความทุกข์ ลึกๆเหมือนสงสาร สมเพชตัวเอง ทั้งๆที่ก้อมีชีวิตด้านอื่นๆที่ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ การงาน ครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งเบิกบาน หนูมีโอกาสได้ทำบุญเสมอในหลายรูปแบบ เมื่อมีความไม่สบายใจก้ออาศัยการทำบุญเป็นทางออก

หนูควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพิ่มเติมเพื่อให้การพ้นทุกข์ ทางใจเป็นไปได้เร็วขึ้น ขอขอบพระคุณในความกรุณาของอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ


คำตอบ

หากผู้ถามปัญหาประสงค์ทำให้ปัญหาหมดไป ควรนำตัวเองไปพิจารณาอสุภะ ( Life Museum ) ที่วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี แล้วจะรู้ว่าตัวเองเห็นผิด ที่เอาจิตไปผู้ติดเป็นทาสอยู่กับสิ่งที่ตาเห็นว่างาม ซึ่งไม่มีอยู่จริงแท้ พิจารณาดูซากศพที่ห้อยแสดงไว้ จนเกิดเป็นความเห็นถูกตามธรรมขึ้นแล้ว ผู้ถามปัญหา ย่อมตาแจ้ง เห็นความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเราโง่เอง ... ขออภัยพูดตรง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2010, 00:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


1. ผมมีปัญหาความสงสัยในการนั่งสมาธิครับ

ผมนั่งสมาธิ แล้ว ลำตัวผมจะเอนลงเรื่อยๆ จนต้องนอนลงกับพื้น
เคยฝืน อดทน ให้ลำตัวเอนลง แล้วจับจิตที่แผ่นหลังว่าเกิดอะไร ก็รู้สึกกำลังเกร้งไม่มาก
และ เฝ้าดูต่อไป ลำตัวก็ค้างลอยๆ กึ่งนั่งนอน เหมือนจะนอนแต่ไม่นอนลงไป เพราะ ลำตัวล๊อคอยู่ จนสักพักก็นอนลง ผมก็ไม่แน่ใจว่า ควรจะกำหนดจิตในท่านั่งขัดสมาธิ ต่อ หรือ จะนอนท่าศพ เหมือนโยคะ แล้วจับลมหายใจดีครับ ?
คำตอบจากอาจารย์ ดร.สนอง
( ๑). ขณะตัวเอนลง ให้กำหนดว่า “ นอนหนอๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการเอนลงของร่างกายดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิมที่ใช้อยู่
คำถามต่อเนื่อง
อาจารย์ครับ ผมไม่เข้าใจคำว่า"ดึงจิต" และ "องค์บริกรรมเดิม"
......" ดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม".......
ผมเข้าใจดังนี้ครับ เมื่อนอนไปแล้วก็กำหนดจิต ว่าวิญญาณของเราอยากกลับมานั่ง
[ ผมพยายามนึงถึงขันธ์ห้า ถ้าใช้คำผิดรบกวนอาจารย์ช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ]
ก็กำหนดอยากนั่งหนอ อยากนั่งหนอ
เมื่อนั่งแล้วก็นั่งให้หลังตรงกำหนดที่ท้องพองยุบเหมือนเดิมใช่ไหมครับ

2. อาจารย์ครับ ผมได้สนทนากับนักปฏิบัติบางท่าน ซึ่งเขาได้ผ่านการภาวนา
มา สิ่งที่เขาปฏิบัติ คือ ภาวนาละเอียดมากครับ เช่น จะทานข้าว อยากทานหนอๆๆ
มือจับช้อนหนอๆๆๆ จึงจับช้อน ช้อนเย็นหนอๆๆๆ
ยกแขนหนอ เหยียดแขนหนอ ..... อาหารถึงปาก
รู้รสเผ็ด[เวทนา]หนอ....[สังขาร]อาจปรุงแต่งไม่ชอบหนอ
แต่ฟังดูแล้วน่าจะคล้ายที่ อาจารย์เคยบรรยาย ครับ[อาจารย์เคยบรรยายไว้ว่า
ตอนอยู่กับท่านเจ้าคุณโชดก เวลาจะทานข้าวคำนึง ลำบากมาก]
แต่อาจารย์ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าลำบากมากคืออะไร
ผมเข้าใจว่าลำบากเพราะต้องฝึกอย่างที่นักปฏิบัติผู้นั้นทำครับ
สิ่งที่ผมปฏิบัติก็ทำบ้างถ้าการงานไม่ได้รีบ
ก็จะภาวนา แต่ไม่ทุกขั้นตอนเท่านักปฏิบัติผู้นั้น
หรือบางครั้งก็แค่กำหนดรู้ว่าขณะนั้นเกิดอะไร กำลังทำอะไร
เช่น เข้าปาก[ผิวกายในปากสัมผัส รับรู้สัมผัส]
จะเริ่มเคี้ยว[ก็รู้ว่าใจวิญญาณ อยากเริ่มเคี้ยว]
ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ จะได้มีแนวทางเหมือนเสาให้ยึดเป็นหลักครับ

กราบขอบพระคุณครับ


คำตอบ

(๑). ไม่กำหนดตั้งท่านั่งสมาธิและนอนท่าศพ ขณะที่ร่างกายกำลังเอนลง ต้องกำหนดว่า “ เอนหนอๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าการเอนลงของร่างกายจะดับไป เมื่อการเอนตัวลงดับไป ร่างกายยังคงนั่งอยู่ในท่านั่งสมาธิเหมือนเดิม

คำว่า “ ดึงจิต ” หมายถึง เอาจิตกลับมาสู่การบริกรรมดังที่ทำอยู่ในครั้งแรก

คำว่า “ องค์บริกรรมเดิม ” หมายถึง กรรมฐานที่นำมาใช้เป็นองค์ภาวนาในครั้งแรก เช่น ใช้คำภาวนาว่า “ พุท-โธ ” นั่นหมายถึง องค์บริกรรมเดิม

(๒). คำว่า “ ลำบากมาก ” หมายถึง ต้องเอาจิตจดจ่ออยู่กับทุกอิริยาบถที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ถามปัญหา ต้องทำตามครูผู้สอนกรรมฐาน ให้ได้ทุกอย่างตามที่ครูสอน ผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้มรรคผลก้าวหน้า เขาไม่คิดอะไรอื่น เพียงแต่ทำตามที่ครูบอกเท่านั้น

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 20:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผมได้รับคำตอบที่แจ่มแจ้งเสมือนห้องที่เคยมืดถูกทดแทนด้วยความสว่าง
ผมมีความรู้สึกมีปิติและนับเป็นเหตุปัจจัยที่ผมได้สร้างมาเพื่อได้พบกับผู้ รู้ที่ผมมั่นใจ
แต่ก่อนผมคิดว่าเป็นความบังเอิญและดูเหมือนจะบังเอิญมากๆ เพราะผมเคยเห็นชื่อครู
ในเวปไซต์มานานแต่ผมก็ไม่เคยได้คลิ๊กเข้าไปฟังเสียงบรรยายเฉกเช่นพระอาจารย์ รูปอื่นๆ
จนรู้สึกเสียงบรรยายแรกของครูที่ผมได้ฟังคือเรื่องสัมมาทิฏฐิ
เพราะผมค้นหาคีย์เวิร์ดด้วยใจที่อยากมีสัมมาทิฏฐิตลอดภพชาติจนถึงนิพพาน
ผมกลัวหลงภพและชาติจะเป็นเหมือนตัวอย่างคนดังๆในหน้าหนังสือพิมพ์
และได้คลิกเข้าไปฟัง...ผมฟังจนจบและไม่มีวจีใดที่จะไม่เชื่อครูเลย(ทั้งๆที่ ครูมักเอ่ยเสมอว่าไม่ต้องเชื่อผม)
ผมเชื่อเต็มร้อย..และใจยังคิดต่อไปว่าผมน่าจะนำเรื่องนี้ให้เพื่อนสนิท ผมได้ฟัง
แต่เพื่อนผมติดในเรื่องบัญญัติมาก เขาจะชอบอ่านพระไตรปิฏกและมีพื้นฐานดีในเรื่องพุทธศาสนา
แต่ผมชวนเขาปฏิบัติสมถะวิปัสสนา เขาบอกยังไม่พร้อมเพราะติดครอบครัว
แต่เขาบอกเขาเจริญสติอิริยาบถย่อยเสมอ ผมจึงคิดว่าก็เป็นวิธีหนึ่งของสติปัฏฐาน 4
แต่ชวนให้นั่งทำสมาธิ เขายังไม่ทำ...ผมก็ไม่ทราบว่าทำไม

ผมเป็นคนที่มีชีวติเรียบง่าย จนรู้สึกเหมือนง่ายเกินไป
ชีวิตการทำงานราบรื่นไม่มีปัญหาถึงมีปัญหา แต่ปัญหาก็ผ่านไปได้ด้วยดีเสมอ
( ผมทุกข์ได้ไม่นาน ก็หมดลง เช่น ผมไปรักษารากฟันเด็ก แต่พลาด
เข็มที่ล้างรากที่บิดงอ 90 องศาไหลลงไปในคอเด็กอย่างรวดเร็ว ขณะเด็กร้องไห้
ตอนนั้นผมใจหายไปอยู่ตาตุ่มแต่ผมก็ทราบว่าโอกาสที่จะออกมาทางอุจจาระมี
ผม admit เด็กและเฝ้าดูอาการ ปรากฏก็ออกมาได้จริง ในวันรุ่งขึ้น ทั้งๆที่ดูเหมือนจะยากเต็มที
เข็มงอๆจะคุดคู้เลื่อนไปมาในลำไส้เล็กได้โดยไม่เกี่ยวกับผนังลำไส้เลยได้ อย่างไร)
อีกเรื่องที่ผมถือว่าปาฏิหารย์คือระหว่างแคะรากเครื่องมือที่งอยาวเกือบ 3 ซ.ม.
หักเข้าไปใน sinus ของคนไข้ ใจผมไปอยู่ตาตุ่มอีกครั้ง
ผมรับผิดชอบในสิ่งที่ทำผิดพลาดเสมอ พาคนไข้ไปหา specialist
พี่หมอเขาก็เอาฟิล์มที่ผม x-ray ล่าสุด เป็นแนวในการผ่าตัดเลยเพราะเห็นจะๆเลยว่ามี
แต่ผ่านไปชั่วโมง หายังไงๆก็ไม่เจอ ทั้งๆที่หลังเปิดเข้า sinus แล้วไม่นานเกิน 10 นาที ต้องเจอแล้ว
พี่หมอเลยไป x-ray ใหม่ซ้ำ 4 ฟิล์ม (ทั้งกะโหลกเลยครับ) ก็ไม่พบเหล็กที่งอเลย...
พี่หมอเขางงไม่เคยเจอเคสแบบนี้ และก็ปิดแผลผ่าตัดในปากลงและบอกให้คนไข้กลับไป
ครูสนองครับ ผมก็ไม่เข้าใจจริงๆ ตอนที่หักเข้าโพรงอากาศขากรรไกรบน
รูเปิดในปากมีทางเดียวคือรอยแผลที่ผมแคะรากซึ่งเป็นรูกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง เล็กกว่า
ความกว้างของเครื่องมือที่หักถึง 3 เท่า แล้วเหล็กที่หักนั้นไปไหนได้อย่างไรภายในเวลาวันเดียว...
วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ครับครู...คนไข้พอใจในตัวผม เข้าใจผมไม่เคยดุว่าตำหนิ
อ้อมีคนหนึ่ง ผู้หญิงเขาเมามาและว่าผมว่าอุดปิดช่องว่างฟันหน้าไม่สวยสั่งให้รื้อออก
นั่นคือครั้งแรกที่ผมโดนตำหนิ แต่ผมไม่ถือสาเพราะเขาเมามาตอนทำฟันครับ... )

ช่วงนั้นผมขาดสติมาก จนผมกลับมาพบธรรมะของพระพุทธเจ้าอีกครั้ง
( เนื่องจากน้องคนหนึ่งที่ผมสอนหนังสือยามว่างได้เสียชีวิตลงกระทันหันจาก อุบัติเหตุรถชน
จนผมโยมนิโสมนสิกา คิดว่าเราประมาทชีวิตเราไม่ได้แล้ว เขาอายุน้อยกว่าเราเขายังไปไวกว่าเราเลย) ช่วงนั้นผมรู้สึกตัวเองมีเวลาว่างมากๆ มากจนคิดไปว่าทำไมเรารู้สึกสบายจัง เราเป็นคนโชคดีจัง
เพื่อนเราจะมีโอกาสแบบเราไหมที่ได้มาว่ายน้ำสบายๆ วิ่งเล่นกีฬา เพลิดเพลิน
( คือผมไม่ได้คิดจะปั๊มเงินเหมือนเพื่อนๆวัยเดียวกัน ผมทำงานพอเลี้ยงชีพ)

คำถามของผมนะครับครู
1. เพื่อนสนิทผมคนนี้ ทำไมเขาถึงยังไม่เชื่อครูแบบที่ผมเชื่อครับ
( พรุ่งนี้ผมจะพบเขาผมจะลองโหลดไฟล์เสียงของครูให้เขาฟัง)

2. ชีวิตผมมีอุปสรรค แต่ก็ผ่านไปได้เร็วมาก มีเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นแน่ๆใช่ไหมครับครูสนอง

3. วงจรชีวิตแต่ละวันของผมสั้นมาก ตื่นนอน สวดมนต์ ทานข้าวเช้า ทำงาน ออกกำลังกาย ทานข้าวเย็น สวดมนต์ นอน ผมไม่ได้ไปเที่ยวเสวนากับใครเลย บางทีผมวิ่งก็วิ่ง 10 กิโลเมตรคนเดียว
( แต่ก่อนมีพี่จ่าวิ่ง แต่ตอนนี้พี่เขากลุ้มใจเรื่องลูกเลยหยุดวิ่งไปเลย) ผมได้พูดคุยกับคนไข้ , ผู้ช่วยก็จริง แต่ผมก็ไม่ได้คุยกับใครจนสนิทเป็นเพื่อน คนที่ผมคุยด้วยมากสุดคือพ่อกับแม่ในแต่ละวัน ผมก็มีความสุขกับชีวิตครับ ไม่ได้ซึมเศร้าอะไร ผมคงสร้างเหตุไม่ตรงใช่ไหมครับ
จึงไม่ได้อยู่ใกล้เพื่อนๆที่ผมจะพูดคุยด้วยได้ อะไรทำให้ผมต้องทำอะไรด้วยตัวคนเดียวเสมอ
ปัจจุบันผมมีธรรมะเป็นเพื่อน...เปิดฟังทุกที่ทุกเวลาที่มีโอกาส
แต่ผมกลับไม่มีคนเป็นเพื่อนที่อยู่ใกล้ที่พูดคุยหรือเสวนาเล่นกีฬา
ในแต่ละวันแบบเพื่อนสนิทของผม(พวกเขาอยู่ไกลจากผมหมดเลย) ผมมีมิตรน้อยเพราะเหตุใด
ป.ล.ผมได้ฟังปฏิจจสมุปปบาทของอ.วศิน ผมเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเอ่ยถึงกิเลสในสมุทัย
เพราะเหตุว่าความทุกข์กายและใจมีเหตุเบื้องต้นมาจากตัณหาใช่ไหมครับครูสนอง
การทำลายห่วงโซ่ท่อนไหนดีนะครับเป็นการเหมาะสมดีที่สุด

กราบขอบพระคุณในความกรุณาที่ให้วิชาทั้งทางโลกและทางธรรม
แด่ศิษฐ์คนนี้ทั้งตอนที่ผมเรียนเชียงใหม่และจบออกมาแล้วจนถึงปัจจุบัน

คำตอบ

(๑). เหตุปัจจัย คือ บุญบารมีของเขายังไม่พร้อม ที่จะผลักดันจิต ให้มาศรัทธาผู้มีปัญญาเห็นถูกตามธรรม

(๒). ผู้ใดมีบุญบารมีถึงวาระให้ผล ผู้นั้นย่อมมีสติปัญญาเห็นถูกตามธรรมเกิดขึ้น และทำให้ผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาทั้งปวงได้ง่าย ผ่านได้เร็ว

(๓). ผู้ใดมีปัญญาเห็นถูก ย่อมเห็นไปคนละอย่างกับผู้มีปัญญาเห็นผิด โอกาสเข้ามาใกล้ชิดและเสวนาจึงเกิดขึ้นไม่ได้ พระพุทธโคดมตรัสว่า “ ธรรม เป็นเครื่องจำแนกบุคคลให้ดี ชั่ว เลว หยาบ ” และอีกครั้งหนึ่งได้ตรัสกับภิกษุที่อยู่แวดล้อม ในทำนองที่ว่า “ ภิกษุ เธอจงมองดูโน่น
- ผู้มีจริตชอบเล่นฤทธิ์ ย่อมอยู่ร่วมกลุ่มกับพระมหาโมคคัลลานะ
- ผู้มีจริตในทางใช้ปัญญา ย่อมอยู่ร่วมกลุ่มกับพระสารีบุตร
- ผู้มีจริตในทางวินัย ย่อมอยู่ร่วมกลุ่มกับพระอุบาลี ”

และในปฏิจจสมุปปบาท อวิชชาเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทางกาย (ทุกข์) และนำมาซึ่งความทุกข์ทางใจ (โทมนัส) อันได้แก่ ความโศก (โสกะ) ความร่ำไรรำพัน , ความคร่ำครวญ , ความบ่นเพ้อ (ปริเทวะ) , ความคับแค้นใจ , ความสิ้นหวัง (อุปายาส) ผู้ใดกำจัดอวิชชาให้หมดไปจากใจได้แล้ว ผู้นั้นไม่ต้องนำพาชีวิต มาเวียนตาย-เวียนเกิด เป็นสัตว์ (รูปนาม) อยู่ในภพใดๆของวัฏสงสารอีกต่อไป ผู้ที่มีความสามารถใช้ปัญญาเห็นแจ้ง กำจัดอวิชชาให้หมดไปจากใจได้แล้ว เรียกว่า พระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ผู้รู้ไม่จริง จึงใช้ความเห็นผิดไปตัดห่วงโซ่ปล้องอื่นในปฏิจจสมุปปบาท แต่ผู้มีความเห็นถูก กำจัดอวิชชา อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวงให้ขาดสิ้นลงได้

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หนูขอเรียนปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการนั่งสมาธิและ เดินจงกรมค่ะ คือ หนูเริ่มปฏิบัติได้ประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติในแนวพอง-ยุบ กับคุณแม่สิริมาก่อนเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งหนูมีอาการเวียนศีรษะ เหมือนอยู่ในเรือหลัีงปฏิบัติ เป็นมา 5-6 วันแล้วค่ะ ทำให้ต้องเลิกนั่งสมาธิและเดินจงกรมในช่วงนี้แล้วหันมาใช้วิธีดูจิตกับดูกาย แทน แต่อาการเวี่ยนศีรษะกับอาการอึดอัด ก็ยังไม่หายไป จึงอยากเรียนปรึกษาอาจารย์ เกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้อาการที่เป็นอยู่ ทุเลาเบาคลายลงไปค่ะ และหนูควรปฏิบัติในแนวใดดีคะ จึงจะเหมาะกับหนูค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

คำตอบ

ทั้งสองแนวทางที่ผู้ถามปัญหานำมาใช้พัฒนาจิตนั้น ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถกำจัดมาร (เวียนศีรษะ , อึดอัด) ให้หมดไปจากใจได้ จึงทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ผู้รู้และมีประสบการณ์ตรงให้กำหนดว่า “ เวียนศีรษะหนอ ๆๆๆๆ ” จนกว่าอาการเวียนศีรษะจะดับไป เมื่อรู้สึกอึดอัด ให้กำหนดว่า “ อึดอัดหนอ ๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการอึดอัดจะดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์ภาวนาเดิม ผู้ใดทำตามโดยไม่สงสัย คือไม่ประพฤติเป็นน้ำชาล้นถ้วย และเอาความเพียร เอาสัจจะมาเป็นแรงสนับสนุนได้แล้ว ปัญหาดังกล่าวจึงจะหมดไปได้

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


1. การซื้อสลากออมสินถือเป็นการเล่นการพนันหรือไม่ครับ

2. ผมนั่งสมาธิแล้วลมหายใจค่อยๆละเอียดครับ แต่เหมือนมีอาการคล้ายๆลมหายใจจะดับ (เหมือนกับตัวเองจะกลั้นลมหายใจครับ) ก็เลยกลับมาหายใจใหม่ครับ ผมอุปทานไปเองหรือปล่าวครับและผมต้องทำยังไงดีครับ แล้วนั่งสมาธิบางทีตัวก็จะโยกไปซ้ายบ้าง ขวาบ้างครับ ควรทำยังไงต่อดีครับ กระผมทำโดยตามรู้ครับ กระผมทำถูกไหมครับ

3. เวลาสวดมนต์หรือนั่งสมาธิเสร็จ นอกจากผมจะแผ่บุญกุศลให้สรรพสิ่งแล้ว กระผมแผ่ส่วนกุศลให้กับเทวดาประจำตัวของกระผม รวมถึงเทวดาประจำตัวของเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องและผู้มีพระคุณทั้งหลายได้ไหมครับ

4. ผมควรจะแก้กรรมอย่างไรดีครับ (ปัจจุบันมีโรคประจำตัวอยู่ครับ)

สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณคุณพ่อมากครับ

คำตอบ


(๑). ซื้อสลากออมสิน โดยมีเจตนาออมเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่หากซื้อสลากออมสิน ด้วยมีเจตนาถูกรางวัลได้เงินตอบกลับคืนมา ถือว่าเป็นการพนันได้

(๒). นั่งสมาธิ แล้วระลึกได้ในลมหายใจที่แผ่วเบาลง ผู้รู้ใช้จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตามดูลมหายใจไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่ลมหายใจไม่มี (ดับ) แสดงว่า ลมหายใจเข้าสู่อนัตตาตามกฎไตรลักษณ์ แล้วปัญญาเห็นแจ้งในลมหายใจจะเกิดขึ้น ฉะนั้นจงตามดูลมหายใจไปจนกว่าจะถึงความสิ้นสุด แต่ผู้รู้ไม่จริงกลัวตาย จึงกลับมาเอาลมหายใจเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมที่ผิดทาง เช่นเดียวกันหากมีอาการตัวโยก ต้องกำหนดว่า “ โยกหนอ ๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการตัวโยกจะยุติ (ดับ) แล้วจึงดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม ที่ใช้ในการพัฒนาจิต

(๓). ผู้ใดมีบุญอยู่ในใจ ปรารถนาแผ่บุญให้ใครย่อมทำได้

(๔). วิธีบริหารหนี้เวรกรรม ทำได้ดังนี้
๑. เมื่อหนี้เวรกรรมตามทัน (โรคประจำตัว) ต้องยอมรับความจริงว่า เคยประพฤติเบียดเบียนผู้อื่นมาก่อน และต้องชดใช้หนี้เวรกรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดสิ้น
๒. ทำบุญใหญ่ (ปฏิบัติธรรม) แล้วอุทิศบุญใหญ่ชดใช้หนี้กรรม
๓. ทำความดีทุกขณะตื่น เพื่อหนีหนี้เวรกรรมที่ยังไม่เกิด มิให้ตามทัน
๔. หนีเข้านิพพาน

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 21:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อ1 . อาจารย์คะ หนูมีโอกาสได้ฟังธรรมบรรยายของท่านหลายเรื่อง ฟังแล้วรู้สึกศรัทธาท่านมาก อยากหันมาศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง เพื่อชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาดขึ้นบ้าง แต่ด้วยความที่หลงทางมานานทำให้มีภาระหนี้สินทางโลกพอสมควร จึงอยากชำระหนี้ตรงนี้ก่อน ถึงจะสามารถก้าวไปสู่เส้นทางธรรมได้เต็มตัว หนูชอบคำว่าที่อาจารย์สอนว่า “ ให้เอาศีลห้าคุมใจ ” มากค่ะ เพราะมันเป็นเครื่องคอยเตือนให้หนูระมัดระวัง การกระทำของตัวเองมากขึ้น และเข้าใจว่า ขณะนี้ ตัวเองศีลยังไม่บริสุทธิ์พอ มีด่างมีพร้อยบ้าง แต่ก็พยายาม ลด ละ เลิก อยู่ค่ะ ตอนนี้หนูก็สวดมนต์ เดินจงกรม ประมาณ 30 นาที นั่งสมาธิ ประมาณ30 นาที ทุกวันไม่เคยขาด แม้จะมีอาการขี้เกียจและเบื่อหน่ายบ้างก็ตาม (ฝึกตามแนวที่เคยบวชเนกขัมมะและเข้ากรรมฐานมาค่ะ) คิดเอาเองว่าเป็นการเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจ ไปพลางๆ ก่อน แม้จะไม่ก้าวหน้าสักเท่าไร่ก็ตาม การคิดและการปฏิบัติเช่นนี้ หนูไม่รู้ว่าถูกหรือผิด รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

ข้อ2 . เวลามีสิ่งที่มากระทบจิตใจ แบบตั้งรับไม่ทัน คือพอกระทบปุ๊บเรารู้สึกไม่พอใจก่อนเป็นอับแรก แล้วค่อยๆคิดพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น จนความหงุดหงิดใจหรือไม่พอใจนั้นหายไป บางเรื่องใช้เวลานาน บางเรื่องยิ้มได้ในไม่กี่นาที หนูอยากทราบว่าตัวเองจะแก้ไขอารมณ์แบบนี้ได้อย่างไรค่ะ

และโอกาสนี้หนูขอขมาต่ออาจารย์ด้วยค่ะ ที่ได้รบกวนเวลาอันมีค่าของอาจารย์ ขอให้อาจารย์โปรดอโหสิกรรมให้แก่ความไม่รู้ของหนูด้วยนะค่ะ

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ


คำตอบ

(๑). ผู้รู้ยอมรับความจริงที่ตนเคยประพฤติเบียดเบียนผู้อื่นมาก่อน จึงไม่คิดเบี้ยวหนี้เวรกรรม แต่ชดใช้หนี้เวรกรรมไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด แต่ขณะเดียวกัน ผู้รู้ไม่ประมาทประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เพื่อให้บุญสั่งสมอยู่ทุกขณะที่โอกาสของชีวิตเปิดให้ทำได้ ผู้ถามปัญหาประพฤติมาถูกทางแล้ว จงทำต่อไป โดยมีศีล มีสัจจะ มีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน แล้วโอกาสนำจิตให้พ้นไปจากความหลง ย่อมเกิดขึ้นได้

(๒). เมื่อใดมีสิ่งกระทบไม่ดีเข้ากระทบ แล้วจิตรับเข้าปรุงเป็นอารมณ์ไม่ดี พึงรู้เถอะว่า บาปได้เกิดขึ้นแล้ว และสั่งสมอยู่ในจิตของผู้มีอารมณ์ไม่ดี ผู้ใดปล่อยให้อารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นยาวนาน บาปย่อมเกิดขึ้นมาก ฉะนั้นหากผู้ถามปัญหาประสงค์มิให้มีบาปเกิดขึ้น ต้องพัฒนาจิต (สมถภาวนา) ให้มีกำลังของสติกล้าแข็ง แล้วอารมณ์ไม่ดีย่อมหายไปได้ ผู้ใดมีสติกล้าแข็งมาก จนสามารถระลึกได้ทันสิ่งไม่ดีที่เข้ากระทบจิต แล้วเห็นสิ่งกระทบที่ไม่ดีดับไปตามกฎไตรลักษณ์ได้แล้ว อารมณ์ไม่ดีย่อมไม่เกิดขึ้นกับจิต นี่เป็นวิธีป้องกันบาปดีที่สุด

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 21:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คือหนูอยากทราบว่านอกจากการที่เราจะซื้อของไปถวายเป็นสังฆทานแล้ว เราจะสามารถส่งเงินหรือเช็คไปถวายที่วัดแทนแล้ว แจ้งความจำนงว่าขอให้เป็นส่วนสังฆทานได้หรือไม่คะ เพราะบางวัดอยู่ไกล เช่น ที่ต่างประเทศไม่สะดวกที่เราจะซื้อของไปถวายค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ดร. สนอง วรอุไรมา ณ โอกาสนี้ค่ะ ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ


คำตอบ


ทำได้ครับ .... สาธุ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 21:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อก่อนผมไม่เคยสนใจธรรมะเลย จนกระทั่งที่ทำงานมีการจัดอบรม แล้วก็มีช่วงบ่ายวันสุดท้ายของการอบรมเป็นวิชาธรรมะ ก่อนเข้าห้องก็ได้รับแจกหนังสือธรรมะมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ หนังสือเรื่อง ทางสายเอก ของท่านอาจารย์ ตอนแรกกะจะเข้าไปแอบหลับในห้องซะหน่อย แต่พอหยิบหนังสือมาดูก็ลองเปิดอ่านดู ไม่น่าเชื่อว่าผมอ่านได้จบเล่มในเวลารวดเร็ว (ปกติไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะเลย) ก็เริ่มสนใจธรรมะขึ้นมา เลยนั่งฟังการบรรยายธรรมะอย่างตั้งใจ จำได้ว่าผู้บรรยายเป็นท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ คุรุจิตธรรม ผมก็แปลกใจตัวเองมากที่ทำไมถึงนั่งฟังธรรมะได้จนจบการบรรยาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมก็ได้เริ่มลองฝึกปฏิธรรมด้วยตัวเองมาตลอด ผมขอสอบถามท่านอาจารย์ดังนี้ครับ

ข้อ 1 ผมฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองจากการอ่านหนังสือโดยที่ไม่มีครู อาจารย์สอนเลย จะเป็นอะไรหรือเปล่าครับ

ข้อ 2 มีอยู่ครั้งนึงไม่นานนี้ ผมนอนไม่หลับเลยนอนทำสมาธิแทน ใจก็คิดถึงเรื่องการตาย สงสัยในการตายว่าเป็นยังไง ก็เลยกึ่ง ๆ อธิษฐานอยากรู้ว่าเป็นยังไง ปรากฎว่าเหมือนจะเคลิ้มไป แต่เห็นเป็นภาพตัวเองนอนอยู่แล้วรู้สึกว่ากำลังจะตาย คือค่อย ๆ หายใจแผ่วลง ๆ เริ่มเห็นว่าธาตุทั้ง 4 แตก ลมหายใจเริ่มติดขัดหายใจไม่สะดวก แล้วก็รู้สึกเหมือนมีแรงดูดบางอย่าง ทันไดนั้นก็รู้สึกว่าวิญญาณกำลังเคลื่อนออกจากร่าง พอเห็นดังนั้นก็คิดว่าความตายเป็นอย่างนี้เอง แล้วผมก็ลืมตาขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าฝันไปแต่ไม่ใช่ มีความรู้สึกว่าเหมือนเป็นความจริงมากกว่า ไม่ทราบว่าผมคิดมากไปหรือว่าเกิดนิมิตขึ้นมาครับ

ข้อ 3 ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยขยันฝึกปฏิบัติเลย ท่านอาจารย์มีวิิธีอย่างไรให้ขยันมั่งครับ

ผมกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณาครับ



คำตอบ

(๑). การอ่านหนังสือแล้วปฏิบัติตามได้ถูกตรงตามธรรม และเมื่อเกิดปัญหาจากการปฏิบัติขึ้นแล้ว สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ไหน มาช่วยบอกทางแก้ปัญหาให้ แต่หากใช้ปัญญาแก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาย่อมไม่ถูกกำจัดให้หมดไป หรือแก้ปัญหาหนึ่งได้แล้ว แต่ไปสร้างปัญหาอื่นให้เกิดขึ้น อย่างนี้ต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ตรงและเข้าถึงธรรมได้แล้ว มาเป็นผู้ชี้แนะ

(๒). มิได้เนื่องมาจากการคิดมาก แต่เป็นนิมิตของความตายที่มาปรากฏให้จิตสัมผัสได้ .... สาธุ

(๓). ผู้ใดทำใจให้มีศีล มีสัจจะ และพัฒนาจิตด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์เจริญอานาปานสติ (พุท-โธ) อยู่เสมอ จนจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว ความขยันย่อมเกิดขึ้นกับผู้นั้น

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2010, 21:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กระผมได้ติดตามผลงานของอาจารย์มาระยะหนึ่ง ประทับใจกับการเสียสละของอาจารย์ อาจารย์ปรารถนา มีความเมตตาจะช่วยเพื่อนร่วมวัฎฎะสงสารให้พ้นจากภูมิที่ต่ำกว่า มนุษย์ภูมิ เพราะภูมิต่ำกว่านี้ผู้นั้นต้องเสวยผลที่มีแต่ความ ทุกข์ อาจารย์ต้องเบรคตัวเอง ซึ่ง (ผมเข้าใจว่า) อาจารย์จึงไม่อาจ เข้าสู่จุดหมายสูงสุดได้
กระผมขออนุโมธนา ผลของการกระทำของอาจารย์ด้วย เพราะมีผลต่อเพื่อน เพื่อนร่วม มนุษย์ ตอนนี้หลายท่าน ที่ได้รับความรู้จากท่านอาจารย์และนำไปปฎิบัติ การใด้กำลังใจจากท่านอาจารย์ ซึ่งผมมีความเข้าใจเสมอว่า การกระทำของอาจารย์ เสมือนเป็นพระโพธิสัตว์ อย่างหนึ่ง เพราะเป็นการโปรด และช่วย มนุษย์ แต่ท่านอาจาย์ เคย บรรยายว่าไม่ใช่ เพราะพระโพธิสัตว์ ต้องมีการช่วย และ บำรุงพระพุทธศาสนา ให้ดำรงอยู่ เช่น สร้างวัด สร้างเจดีย์ สร้างคนให้มีความรู้ และ เผยแผ่ธรรมออกไป เป็นกำลังทางพระพุทธศาสนนา แต่ผมมีความเห็นว่าการกระทำอาจารย์ที่เผยคำบรรยาย ก็เป็นการทะนุบำรุงพระศาสนา เป็นทนายแก้ต่างให้ศาสนา ให้ความรู้ เช่นกัน และ ผมมีอาจารย์เป็นแบบอย่าง และ มีความปรารถนา (เล็กๆ) ให้มีความสามารถ ความรู้ ในการเผยแผ่ต่อไป ตามกำลังที่มีอยู่ และ พัฒนาต่อไป เฉกเช่นอาจารย์กระทำอยู่

วันนี้อยากขอกราบเรียนถามปัญหาจากท่านอาจารย์ ดังนี้

1) พระพุทธเจ้า มีทั้งหมดกี่พระองค์แล้วครับ พระปฐมพระพุทธเจ้ามีมานานแค่ไหนแล้ว แต่ละพระองค์ทำไมจึงสะสมบารมีมาเป็นกัลป์ ไม่เท่ากัน กว่าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บางองค์สะสมนานมากมาก ความตั้งใจแน่วแน่ของท่าน ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร เท่าที่ทราบ พระอาริยะ บางพระองค์ท่านในยุคของเรา ก็อธิษฐานขอลาจากพุทธภูมิ หากสะสมบารมีแต่ละองค์ มีระยะเวลากำหนดที่แน่นอนแล้วในการเป็นพระพุทธเจ้า ทำไมบางพระองค์ต้องนานมากครับ

2) คำว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้า มีความแตกต่างกับพระพุทธเจ้า เช่นไร และ ต่างกับ พระอรหันต์อย่างไรครับ บางตำราว่า พระปัจเจกท่านไม่ประกาศ หรือเผยแผ่ ธรรมะสอนแก่ เวไนยสัตย์ ทำให้ผมคิดถึงสมัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่านมีความเห็นว่าธรรมะที่ท่านตรัสรู้ ธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และยากที่จะเข้าใจ และไม่มีเจตนาจะสอนหรือเผยแผ่ธรรมนั้นออกไป จนต้องมีพระพรหมมาอารธานาให้พระองค์ท่าน ได้เผยแผ่ และสอนธรรมท่ีท่านตรัสรู้ได้มา ดังนั้นจะต่างกันกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเช่นไร หรือเพียงแต่มีพระพรหมมาอารธนา หรือไม่มีเท่านั้นครับ

3) มีคำสอนจากอาจารย์หลายท่านเกี่ยวกับ นิมิต ไม่ให้สนใจกับ นิมิต ที่เกิดขึ้น อยากเรียนถามว่า นิมิต จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องมีสมาธิในระดับใด ระดับญานชั้นใดหรือไม่ อาจารย์ท่านบางท่านบอกว่า ที่เห็นนะเห็นจริง แต่เรื่องหรือของที่เห็นนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริง อย่าไปยึดติดมัน
ดังนั้น ผมอยากเรียนถามว่า แล้วหากเรา เห็นเรื่องราว ที่เราเข้าใจว่า เป็นอดีตชาติของเรา หรือ กรรมที่เราทำในอดีต เกิดเป็นอะไร จะรู้ได้ไงว่า ของจริง หรือ ของหลอก

การที่คนเข้าณานได้ แล้วอธิษฐานขอเห็น เรื่องนั้น หรือ อื่นๆ จะรู้ได้ไงว่า เป็นเรื่องจริง หรือว่า จิตเรามันหลอกเราเอง

4) การที่มีกล่าวกันว่า มีการนั่งทางใน เพื่อดูสิ่งต่าง ๆ เช่นของหายอยู่ที่ไหน คนหายไปที่ใด ทำได้จริงหรือไม่ เพราะมันก็ไม่เกี่ยวกับตัวของเราเลย จิต หรือ สติที่ติดกับเรา จะไประลึกรู้เรื่องของคนอื่นได้เช่นไร

ด้วยความเคารพอย่างสูง


คำตอบ

(๑). ผู้ตอบปัญหายังเข้าไม่ถึงสภาวะของการดับรูปและดับนาม จึงไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ และไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าองค์ปฐม อุบัติขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว รู้แต่ไม่มีความรู้ว่า

พระปัญญาธิกพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีรวมทั้งสิ้น ๒๐ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป

พระสัทธาธิกพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีรวมทั้งสิ้น ๔๐ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป

พระวิริยาธิกพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีรวมทั้งสิ้น ๘๐ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป

จึงจักได้ตรัสรู้เป็นประเภทของพระพุทธเจ้าตามที่ตนปรารถนา

(๒). คำว่า “ ปัจเจกพุทธเจ้า ” หมายถึง บุคคลผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่สามารถสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ ต่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรงที่ว่า เมื่อตรัสรู้แล้ว สามารถนำธรรมวินัยออกมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ตามได้

พระอรหันต์ คือ ผู้ที่นำเอาธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาปฏิบัติได้อย่างถูกตรง แล้วจิตบรรลุอริยธรรมขั้นสูงสุดได้ จึงเรียกว่า พระอรหันตสาวก

เรื่องคิด (ดำริ) ไม่เผยแพร่ธรรมที่ทรงตรัสรู้ เพราะเป็นธรรมวินัยที่ทวนกระแสของกิเลส ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลก นำพาชีวิตไปตามแนวทางนั้น พระพุทธโคดมมิได้มีเจตนาไม่สอน แต่มีดำริที่จะไม่เผยแพร่ธรรมด้วยสาเหตุดังกล่าว แต่มาระลึกได้ว่า มนุษย์เปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า ดังนี้

๑. บุคคลที่สามารถรู้และเข้าใจธรรมะได้อย่างฉับพลัน ยังมีอยู่
๒. บุคคลที่สามารถรู้และเข้าใจธรรมะได้ต่อเมื่อได้ฟังซ้ำ หรืออธิบายขยายความ ยังมีอยู่
๓. บุคคลที่สามารถสอนให้รู้และมีธรรมะได้ ยังมีอยู่
๔. บุคคลผู้รู้ตัวบทหรือถ้อยคำ แต่ไม่สามารถเข้าใจความหมายของธรรมะ ยังมีอยู่

ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่เปรียบเหมือนบัวเหล่าที่ ๑-๓ สามารถเข้าถึงธรรมได้ พระพุทธโคดมจึงได้นำธรรมวินัยออกเผยแพร่อยู่นานถึง ๔๕ พรรษา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน

(๓). นิมิตเกิดขึ้นเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิระดับต้น (ขณิกสมาธิ) ผู้ใดสัมผัสกับนิมิต แล้วเอาจิตไปยึดติดหรือหลงอยู่กับนิมิต ย่อมเป็นเหตุให้จิตเข้าไม่ถึงปัญญาเห็นแจ้ง ผู้รู้จึงไม่เอาจิตไปหลงอยู่กับนิมิตที่เกิดขึ้น

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1521 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 93, 94, 95, 96, 97, 98, 99 ... 102  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร