วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธศาสนาสอนเรื่องตัวเอง และเป็นวิชาที่ขึ้นต้นแล้วจบลงตัวได้ คือขึ้นต้นด้วยความรัก และจบความรู้นั้นด้วยการไม่ต้องเรียนต่อ เพราะมีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เช่นเรียนรู้เรื่องความร้อนแล้วก็มีความคงสภาพของความร้อน อย่างไม่หลีกหนีไปไหน เกลือมีรสเค็มฉันใด ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงฉันนั้น นี่คือปรมัตถสัจจะ

เกร็ดย่อยๆ เกี่ยวกับคำพูด ถ้าเราอยู่ตัวคนเดียว วาจามีน้อย มีแต่งานนึกคิด แต่ถ้าเกินตัวเราอีกคนหนึ่ง เรามีโอกาสแสดงสัมผัปปลาปวาทมากมายนัก ฉะนั้น ไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรทั้งสิ้น มีการกระทำ คือ มีสติอยู่ทุกขณะว่าควร หรือไม่ควร เพราะเผชิญแต่เรื่องเขา เอาใจใส่เขามากเกินเหตุแห่งความจำเป็น แต่ไม่เป็นประโยชน์ นึกว่ากลัวเขาจะว่า ต้องรีบแสดงวาจาออกไปเพื่อไม่ให้เขาเก็บไปว่าได้ เมื่อมีความปกติ คือ สงบ สงบกาย วาจา โอกาสแสดงพฤติกรรมของกรรมชนิดที่มีสามกาลก็น้อยเข้า พูดในสิ่งที่ควรพูด ละเว้นในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้ค่อยๆ เบาลง จะเห็นได้ว่า การที่เราคละเคล้าอยู่กับชีวิต เมื่อมีชีวิตแล้วอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดมีชีวิตขึ้นอีก จะง่ายหรือไม่ง่ายแน่นอน


ฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ จึงต้องมีทางง่ายเหมือนกัน ถ้าเรารู้ความจริง ในการปฏิบัติ รู้ตัวอยู่เสมอ รู้หลักต่างๆ ที่เราศึกษาเล่าเรียนมา ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมฝ่ายความรู้เท่านั้น เรียกว่าปริยัติ เราก็เอาความรู้นั้นมาสืบสวนเรื่องราวของตัวเองว่า เป็นจริงไหม เมื่อเป็นจริงแล้ว จิตมันก็รู้ จิตมันเป็นตัวเรานี่ รู้ดี รู้ชั่ว รู้ละ รู้เก็บ เพราะมีผัสสะ

เรามีพื้นฐานของอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค และอวิชชานี้ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขาร เพราะความไม่รู้ทำให้เกิดการทะยานอยากขึ้นมา คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รูปคือสิ่งที่สัมผัสทางตาได้ รสต่างๆ สัมผัสทางลิ้น กลิ่นสัมผัสทางจมูก เสียงสัมผัสทางหู และสิ่งที่สัมผัสทางกาย เรียกว่ากามคุณทั้งห้า เมื่อติดแล้ว จิตมันก็จับ คือมีความต้องการอยู่ จึงปรุงแต่งให้เกิดสังขาร คือ ความเคลื่อนไหวออกมา แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย หรือไม่ก็ทางจิตก็เก็บความรู้ไว้ แล้วก็แสดงพฤติกรรมออกไปพร้อมกับกรรม อุตุ อาหาร สร้างสังขารขึ้นมาใหม่

ครั้นตายแล้วก็เกิด เนื่องจากมีจิตเป็นตัวรู้ สังขารจึงเป็นปัจจัยให้แก่ วิญญาณ คือจิต เก็บอารมณ์ต่างๆ ไว้ มาแสดงออกเป็นปัจจัยให้แก่ นามรูป นามรูปนี่คือ รูปธรรมและนามธรรม จะต้องมี อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ เป็นประตู ฐานรองรับ เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก มีผัสสะเป็นตัวเชื่อมกระทบแล้วก็มีเวทนาขึ้นมา คือความรู้สึก สุข หรือทุกข์

เมื่อมีความรู้สึก สุข ทุกข์ ตัณหาก็เกิด คือความยินดีติดใจ ยินดีในตัณหานี้ไม่ใช่ชอบ คือความจำได้หมายรู้เกี่ยวกับสัญญาโดยตรง คือจำว่า อันนี้ฉันไม่ชอบ อันนี้ฉันชอบ คือตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ฉันไม่ชอบ ฉันชอบ เมื่อมี “ฉันไม่ชอบ” จิตก็จับคำว่าไม่ชอบ อันนี้ชอบ มีตัณหาแล้วอุปาทานก็ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นตัวของเรา ของเขา และสิ่งที่เราชอบ

เมื่อมีอุปาทานแล้ว อุปาทานเป็นปัจจัยแล้วนี่ กรรมทั้งหมดที่รวบรวมมาเนื่องจากอวิชชาตัวนี้ จิตเป็นปัจจัยที่รวบรวมการนึกคิดต่างๆ เข้าไว้ สร้างภพ สร้างชาติ เมื่อมีชาติขึ้นมาแล้ว ก็มี ชรา มรณะ นี่ ปฏิจจสมุปบาท ทางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันมิรู้จบ แล้วเราจะทำอย่างไร


เราจะต้องเข้าใจว่า อวิชชาคืออะไร คือความไม่รู้จักความจริง อวิชชาคือวิชาที่ขึ้นต้นและจบลงตัวไม่ได้ และไม่สามารถนำวิชานั้นมาแก้ไขทุกข์ที่เกิดในจิตของตัวเองได้เช่น วิชาแพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศาสตร์ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนกันมามากมาย เป็นวิชาที่ขึ้นต้นและจบลงตัว ไม่ได้ เพราะมีการค้นคว้า สืบสวน หามาอีก เนื่องจากมีกิเลสและตัณหา คือทะยานอยากเพิ่มความรู้ เอ้า อย่างวิทยาศาสตร์ จบไหม ค้นเจอตรงนี้ ก็ไปตรงนั้น ตรงนั้นก็ไปตรงนี้ การค้นนั้นก็มีอำนาจของจิต คือจิตวิจิตรด้วยการกระทำ การกระทำนั้นแอบแฝง ซ่อนเร้นไปด้วยตัณหาและกิเลสต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เมื่อเจอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สิ่งที่ตรงข้ามก็ย่อมเกิดขึ้นมาได้เสมอ มีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ คละเคล้ากันในโลกียธรรมเสมอ สิ่งที่เราไม่รู้จริง เราหาไป เราก็ยังมีความประมาทอยู่ แต่สิ่งที่อยู่กับตัวเรา เราไม่เคยเรียนรู้ เราควรจะรู้ว่า ทำไม เราจึงต้องเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนั้น เมื่อเราไม่ค้นคว้า เราจะต้องท่องเที่ยวอยู่ในความเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนั้น ตราบนานเท่านาน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คืออวิชชา

เพราะว่าเราไม่เข้าใจความจริงว่า ทำไมเราจึงเกิดมาเป็นผู้หญิง เกิดมาเป็นผู้ชาย เกิดมาทุกข์ เกิดมายากจน เกิดมาดีเพราะอะไร เราจะต้องมีศรัทธาเข้าไปค้นคว้า ใช้ ธัมมวิจยะ คือการค้นคว้าสืบสวน การค้นคว้านั้นจะต้องมีจิตอันมั่นคงต่อการทำงานั้น คือ ศรัทธา เข้าไป

เมื่อศรัทธาแล้วก็มีความ ปราโมทย์ คือความยินดี ปราโมทย์ ยินดีเข้าไปค้นคว้า สืบสวน เรื่องของตัวเองให้รู้แน่ เมื่อรู้แล้วก็เกิด ปีติ ว่า สิ่งที่ฉันยังไม่รู้ ฉันได้รู้แล้วว่า ภายในตัวของฉันนั้น ไม่มีของฉันเลย มีแต่รูปธรรมและนามธรรม ความสงบแห่งกิเลส คือ ปัสสัทธิ จึงเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อมีตัณหาเกิดขึ้น ความทะยานอยากก็ตามา ลำพังตัวตัณหานั้นก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว คือความทะยานอยาก เมื่ออยากก็เป็นทุกข์กระวนกระวายอยากได้มา คือความเสี่ยงต่อสิ่งที่ได้ เมื่อมีความเสี่ยงแล้ว เมื่อเจอกับความไม่ได้ ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น ปัสสัทธิ คือสงบต่อกิเลสเกิดขึ้น ทำให้เกิด สุข ที่ไม่มีตัณหาเข้าแทรก

และมี สมาธิ อันดิ่งตรงต่อความสงบนั้น คือหมดตัณหาได้ ยถาภูตญาณทัสสนะ จึงเกิดขึ้น มีความเห็นอันถูกต้องในภัยพิบัตินานาประการ เนื่องจากมีมหาภูตรูป คือรูปร่างกายต่างๆ นั้น นิพพิทา จึงเกิดความเบื่อหน่ายในนามรูป วิราคะ จึงอยากสลัดให้พ้นจากนามรูป วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น ขยาญาณัง คือการทวนสืบสวนเรื่องราวกิเลสต่างๆ ดีแล้วก็เจอ นิพพาน นี่ ปฏิจจสมุปบาทและทางหลุดพ้น

.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของเรานี่ เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์มีกี่อย่าง มี ๒ อย่างคือ สภาวทุกข์ กับ ปกิณณกทุกข์

สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำ ทุกข์ประจำได้แก่การเกิด การแก่ และการตาย หนีไม่พ้น ใครหนีการแก่ได้ ใครหนีการตายได้ นี่คือทุกข์ประจำที่มีเกิดแล้วจะต้องเจอ แต่ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์เบ็ดเตล็ด ที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากมีเกิด ดังนั้น การเกิดจึงเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ต่างๆ อีก ๘ อย่างคือ ความเศร้าโศกเสียใจ ความพิไรรำพัน คือ ตัดอาลัยไม่ขาด การประสบหรือได้สิ่งที่ไม่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก พบเห็นแต่สิ่งที่ไม่ชอบต่างๆ นั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะเนื่องจากมีเกิด จิตเป็นตัวรู้ อารมณ์เป็นตัวถูกรู้ รู้กระทบความพอใจอยู่ตลอดเวลา

ในการปฏิบัติ เมื่อเราเข้าใจแล้ว เรามาทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ คือ โพธิปักขิยธรรม ธรรมฝ่ายความรู้ซึ่งจะเอาไว้สอบสวนเรื่องราวของตัวเองว่า ในตัวเรานั้นมีความอ่อนแอหย่อน ตึงประการใด แยกออกเป็นหมวดๆ ก็ได้ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘


สติปัฏฐาน ๔ มีฐานที่ตั้งคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ในกายมีอะไรบ้าง “กาย” มีได้เนื่องจาก มีเกิด และในกายของเราประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ ๕ เมื่อสังเคราะห์ลงแล้วก็มีรูปธรรม ๑ กอง นามธรรม ๔ กอง “เวทนา” คือการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ “จิต” คือ ตัวรู้ “ธรรม” คือเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุถึงความดี หมายถึงธรรมชาติต่างๆ ที่มากระทบแล้วก็ดับไปแต่เราไม่ได้ดับไปด้วย เราเอามาปรุงแต่งเข้าไปในจิต แล้วปรุงแต่งสังขาร มีสัญญาเป็นตัวสืบเนื่อง ทำให้ธรรมนั้นก้าวมาสู่ขันธ์ ๕ ทำให้มีความยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ดังนั้น ทางพ้นทุกข์ และเป็นทางสายเอกสายเดียวเท่านั้น ที่จะเดินเจริญได้คือ การเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ มี กาย เวทนา จิต และธรรม คือการกำหนดรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม อันนี้เป็นหัวข้อเท่านั้น

สัมมัปปธาน ๔ คือ
๑. เพียรกำจัดอกุศลให้หมดสิ้นไป
๒. เพียรพยายามกั้นไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว กลับมาเกิดขึ้นอีก
๓. เพียรพยายามปลูกฝังกุศลให้มีขึ้นในตน
๔. เพียรเจริญกุศลนั้นให้มีสืบต่อไป

โดยสรุปก็คือ ความเพียรพยายามกำจัดอกุศล และปลูกฝังกุศล

อิทธิบาท ๔ อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์ที่เหนือธรรมดา เช่น นักชกมวย ต่อยมวยกันบนเวที ต่อยคู่ต่อสู้ได้ เพื่อหวังอะไร เพราะมีตัณหา จำไว้ว่า มีสินจ้างรางวัล ต่อยได้ทุกคน แต่พอกลับมาบ้าน แม่ด่า พ่อด่า ก็ไม่กล้าต่อยทั้งที่เป็นนักชก ก็ไม่กล้าชกแม่ แต่ถ้าวันใดสามารถชกแม่ของตัวได้ อำนาจนั้นจะต้องมีความกล้ามากขึ้น กำลังมากขึ้น กำลังก็คือ อิทธิ อิทธิ คือ อำนาจที่มากขึ้น บาทของอำนาจต่างๆ นั้นก็มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ถ้าขาดสัมมัปปธานเข้ามาอุดหนุน “ฉันทะ” นั้น คือความพอใจไปในทั้งทางดีและทางชั่วได้ เช่น ออกไปฆ่าสัตว์ ก็มีความพอใจจะฆ่า “วิริยะ” ก็มีความเพียรฆ่ามากขึ้น “จิตตะ” ก็มีความตั้งใจมั่นต่อเป้าหมาย แล้วก็มีความรู้ว่ายิงตรงไหนจะตาย “วิมังสา” ปัญญาใช่หรือไม่ ถ้าขาดสัมมัปปธาน ๔ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรมฝ่ายความรู้ว่าอิทธิตัวนี้ ถ้าจะใช้ให้ได้ผลในทางมรรคผลนั้น จะต้องมีสัมมัปปธาน รู้ดีรู้ชั่ว รู้เก็บหรือรู้ละ รู้กระทำ รู้กำจัด จึงจะมีความพอใจในการกระทำฝ่ายกุศล และมีความเพียรฝ่ายกุศล มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

อินทรีย์ ๕ คือกำลังที่เกิดขึ้นมาจากสติ สัมมัปปธานและอิทธิบาท รวมพลังได้แก่ มีความ“ศรัทธา” อันมั่นคงต่อการพ้นทุกข์ และมี “ความเพียร” เพื่อจะพ้นทุกข์ มี “สติ” มั่นคงต่อกุศลและการพ้นทุกข์ มี “สมาธิ” เป็นปัจจุบันต่อรูปธรรม และ นามธรรม เพื่อให้ “ปัญญา” รู้ความจริง ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุและธรรมทั้งหลายนั้นก็เป็นอนัตตา คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ศรัทธาก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วิริยะก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สติก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สมาธิ ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ปัญญาก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จึงจะต้องมีกำลังของพละ

พละ ๕ แปลว่าตรงต่อกำลัง ส่งให้มี “ศรัทธา” อยู่สม่ำเสมอ “วิริยะ” เพียรอยู่สม่ำเสมอ “สติ” ระลึกอยู่สม่ำเสมอ “สมาธิ” ตั้งมั่นอยู่สม่ำเสมอ “ปัญญา” จึงจะก้าวขึ้นสู่อินทรีย์ ๕ ได้ครบ เมื่อเรามีสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละแล้ว การดำเนินของสติในโพชฌงค์ ๗ ก็เกิดขึ้น

.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:13 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


โพชฌงค์ ๗ คือมี “สติ” มั่นคงต่อการกระทำ สติเป็นกุศลโดยตรง เพราะสตินั้น เป็นตัวกุศลที่ทำแล้วได้รับผลทันที คือความสงบของปัสสัทธิจะเกิดขึ้น “ธัมมวิจยะ” คือเมื่อมีสติแล้ว ก็มีการค้นคว้าสืบสวนเรื่องราวความจริงของตัวเองให้พบ แล้วก็มี “วิริยะ” ความเพียรอันมั่นคง “ปีติ” คือการดื่มรสของความเพียรนั้นได้มีความสุขอันสงบจาก “ปัสสัทธิ” ต้องมี “สมาธิ” อันมั่นคงต่อนามรูปที่เป็นปัจจุบัน “อุเบกขา” คือไม่มีความสั่นไหวเคลื่อนคลอนต่ออารมณ์ที่มากระทบทั้งดีทั้งชั่ว เพราะรู้ว่า เราทำมา เราจึงได้รับ ในการปฏิบัติจึงมีอุเบกขา เวทนา ธรรมทั้งหมด ๖ หมวด ในโพธิปักขิยธรรมนี้จะต้องเดินตาม มรรค ๘ เท่านั้น จึงจะถึงซึ่งพระนิพพานได้ เพราะว่าทางสายเดียว และทางสายเอกนั้น มีมรรค ๘ เป็นองค์ประธาน คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ผู้ใดสามารถทำมรรค ๘ นั้นมาประชุมเป็นมรรคสามัคคีได้ เรียกว่าเดินทางสู่ปลายทางได้ เพราะว่ามรรค ๘ เป็นทางพ้นทุกข์

มรรค ๘ สังเคราะห์ลงในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ศีล ได้แก่อะไร ศีลได้แก่ความปกติ ควบคุมกาย วาจา สมาธิ ได้แก่ ความตั้งมั่นในอารมณ์ อารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญา คือสิ่งที่ปูให้เกิด และปลูกฝังให้มีขึ้นได้ จึงจะต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าช่วย และศีล สมาธิ ปัญญา นั้นมีทั้งบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ จึงจะต้องมีวิสุทธิเข้าช่วยอีกทีหนึ่ง

วิสุทธิ หมายถึงอะไร วิสุทธิหมายถึง ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ที่เป็นไปทางกาย ทางจิต และทางปัญญา ได้แก่ ศีลวิสุทธิ จิตตตวิสุทธิ และปัญญาวิสุทธิ ในศีล สมาธิ ปัญญา นั้น คือการระงับกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบก็โดยตทังคปหาน (ระงับได้โดยเป็นขณะๆ ) ถ้าอย่างกลางก็คือ วิขัมภนปหาน (ระงับได้โดยการข่มไว้) ถ้าอย่างละเอียดก็คือ สมุจเฉทปหาน (ตัดกิเลสออกไปได้โดยเด็ดขาด)


ทำอย่างไร ศีล จะบริสุทธิ์ได้ ศีลในที่นี้หมายถึงอะไร ศีล มี ศีลอะไรบ้าง มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ รวมแล้วเรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล คือความปกติด้วยการควบคุม กาย วาจา

ประการที่ ๒ คือการตั้งอยู่ในอินทรียสังวรศีล ได้แก่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เว้นกั้นมิให้อกุศลเกิดขึ้น

ประการที่ ๓ ก็คือ รักษากาย วาจา ใจ เว้นจากการ เว้นจากการทำและพูด เนื่องจากมิจฉาชีพ เลี้ยงชีวิตด้วยความเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์ และหมดจดจากกิเลส คือ อาชีวปาริสุทธิศีล

ประการที่ ๔ ก็คือ พึงตั้งอยู่ในการอาศัยปัจจัย ๔ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค เว้นกั้นการอาศัยและบริโภคด้วยอวิชชาและตัณหาเรียกว่า ปัจจยสันนิสสิตศีล


.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


ศีล ที่จะเป็นวิสุทธิ คือ ศีลที่จะทำให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้ หมายถึงขณะปัจจุบัน ปัจจุบันคือขณะที่พูดและที่ทำ ขณะที่พูด มีสติรู้ทันทุกคำพูด สติที่รู้ทันทุกคำพูด คือ สัมมาวาจา เจรจาชอบ เว้นโลภ เว้นโกรธ เว้นหลง ได้มาซึ่งมรรคองค์ที่หนึ่ง คือ “สัมมาวาจา” ในขณะทำงาน

การทำงานนั้น ไม่ใช่ออกไปทำตามห้างหรือตามกรมต่างๆ การทำงานของมรรค คือ การทำงานของรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ หลับ ตื่น รู้กระทำตลอดเวลาเป็น “สัมมากัมมันตะ” มีสติรู้ทันทุกขณะ เว้นโลภ เว้นโกรธ เว้นหลง เป็นมรรคองค์ที่สอง

และมรรคองค์ที่สาม คือ “สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีพชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ไม่ใช่การค้าขาย ที่ลูกมาถามว่า การกระทำอย่างนี้สุจริตแล้ว เป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่ ก็ยังไม่เป็น สัมมาอาชีวะตัวนี้ คือการเลี้ยงชีพชอบด้วยการกินเข้าไป สวมเครื่องนุ่งห่มต่างๆ เข้าอยู่ภายในชายคาหลับนอน การกระทำนั้น ต้องกั้น เว้นความโลภ ความโกรธ ความหลง ทุกขณะ จึงจะได้มรรคทั้ง ๓ เกิดในศีลวิสุทธิ เพราะว่า การพูดชอบ การทำงานชอบ เลี้ยงชีพชอบนั้น อยู่ที่การมีสติ

ถ้าเราอยู่ในเคหาสน์บ้านเรือน เวลาอยู่ในบ้านให้อยู่ด้วยสติ เวลาลงจากบ้านให้ลงด้วยปัญญา อยู่ในบ้าน มีสติรู้อยู่ทุกขณะ จะได้ไม่หลงระเริงกับบ้านว่ายังใหม่ หรือว่าบ้านของฉันเป็นอย่างไรต่างๆ ถ้ามีสติรู้กระทำแล้ว มันจะไม่ติด เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราอยู่นี้ แค่กันแดดฝน จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นของเรา มีสติอยู่ทุกขณะ การกระทำอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฝักใฝ่กับสิ่งที่เป็นของนอกกาย มีสติอยู่ในบ้าน ลงจากบ้านไปด้วยปัญญา คือรู้ว่า การไปนั้น มีทั้งกระทบดี กระทบชั่ว มีการเก็บ และการละไปโดยจะไม่ต้องพะวงมาถึงข้างหลังด้วย ไปด้วยปัญญา ก็คือไปด้วยปัจจุบันนั้นเอง เมื่อเราไปแล้ว บ้านนี้อาจจะไม่เป็นของเราก็ได้ จึงได้ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ด้วยสติ ลงไปด้วยปัญญา เมื่อศีลเป็นวิสุทธิแล้ว มรรค ๓ ข้อก็เกิดง่าย


ส่วน “สัมมาสติ” คือการระลึกชอบ เป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ จิตตวิสุทธิ วิสุทธิข้อนี้ เกี่ยวข้องไปในวิปัสสนากรรมฐาน คือ มีสติรู้ทันปัจจุบันแห่งนามรูปทางทวารทั้ง ๖ รูปธรรม นามธรรมของเราเอง ได้แก่มีรูป และมีจิตที่รู้มีสองอย่าง ปราศจากทวารก็ไม่ได้ เพราะจิตจะต้องทำหน้าที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต่างๆ แล้วมาปรุงแต่งแสดงพฤติกรรมออกมาทางรูปธรรม เมื่อมี “สัมมาวายามะ” ความเพียรชอบ เพียรให้มีสติระลึกอยู่กับปัจจุบันไม่เผลอ สมาธิจึงเกิดขึ้นเป็นขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิในมรรคตัวนี้ คือ “สัมมาสมาธิ” อยู่กับปัจจุบันด้วยการเพียรแห่งการมีสติ ฟังดูง่าย แต่ปฏิบัติยาก ด้วยความเพียรแห่งสติ จึงมีจิตวิสุทธิ เพราะไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง เอาไปใช้ได้ เรียนอะไรมาก็แล้วแต่ ตรงกลาง จับเป้าหมายให้ดี

ศีลกับจิต ลูกตั้งเป้าหมายเสีย ว่าจะไปไหน ไปทำไม ไปเพื่ออะไร การมาวัด ลูกต้องตั้งเป้าหมายเสียก่อนไม่อย่างนั้น ไม่ได้ประโยชน์ ตั้งเป้าบอกว่าเราจะมาเพื่ออะไร แล้วเราก็เอา “เพื่อ” ที่เราตั้งใจกลับไปใช้ ไม่ใช่มาตามกัน ฟังเขามา เพราะว่า “ดูเขา เราแย่ กลัวแก่ เราตาย”

เมื่อเราตั้งเป้าหมายว่า เราจะมาทำปัญญา เราจะต้องเข้าใจคำว่า ปัญญาตัวนี้จะเอามาเพื่ออะไร เอามาทำความเข้าใจกับตัวเอง ให้รู้แจ้ง เพื่อจะละอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นเหตุทำให้ทุกข์ ตั้งเป้าเสียก่อน เมื่อเราตั้งเป้าแล้ว สติก็เกิดขึ้น สติเกิดขึ้นแล้วก็ไปด้วยปัญญา สติตั้งเป้าที่บ้าน แล้วลงมาด้วยปัญญา ปัญญาก็จะมีการตัดสินด้วยความรอบคอบว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีของเรา ไม่มีของเขา ทุกอย่างล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เรียนกับพ่อ ซ้ำๆ ถ้าใครเก็บได้ก็มีใหม่ไป เพราะธรรมะมีมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่ขึ้นต้นและจบลงตัว แต่การแสดงออกนี้ มีเกร็ดความรู้ซึ่งก้าวไปสู่ความจริงซึ่งมีอยู่อันเดียว ทุกอย่างมีแค่หนึ่ง เลขสองถึงเลขร้อยไม่มี มีแต่หนึ่งซ้ำๆ ซากๆ เท่านั้น

.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


คนแต่ละคนย่อมมีเหมือนกัน คือ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ในคนแต่ละคนก็มีต้นตระกูลเหมือนๆ กัน ต้นตระกูลของตัวเองที่แท้จริง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทุกคนมีเหมือนๆ กัน นอกจาก อ่อน แก่ ห่อน ตึง ไปกว่ากัน จึงอย่าประมาท ประมาทแปลว่า กล้าเสี่ยง เมื่อมีความกล้าเสี่ยงแล้ว ก็มีโมหะเข้าไปบัง เมื่อเสี่ยงแล้วไม่ได้ผล โมหะก็ปิดบัง ว่ายังมีหวังอยู่ ทั้งๆ ที่ความหวังต่างๆ นั้น เป็นอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน จึงเอาปัจจุบันก้าวสู่อนาคต โดยที่มีสัญญาแห่งอดีต เป็นตัวต่อเนื่องแห่งความเพ้อฝัน อดีตคือความปด อนาคตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง

ขอให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ให้เทวาอารักษ์พิทักษ์รักษา ให้หน้าที่การงานกิจการเจริญ ศัตรูพ่ายพิษภัยแพ้ อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เจริญด้วยปัญญา นำพาชีวิตพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ทั่วหน้ากัน ขออกุศลเจตนาที่ทุกๆท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และหาความจริงในเรื่องชีวิตนี้ จงเป็นปัจจัยให้ทุกท่านถึงซึ่งวิมุตติรส คือพระนิพพานโดยเร็วชาตินะคะ


ด้วยความปรารถนาดีนะคะ
พี่ดอกแก้ว

.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


แก้ไขล่าสุดโดย พี่ดอกแก้ว เมื่อ 14 พ.ค. 2010, 18:18, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...พี่ดอกแก้ว

อยากให้พี่ดอกแก้ว นำธรรมะดีดีมาฝากกันอีกนะคะ :b20:
จะรออ่านอีกค่ะ แวะมาบ่อยๆนะคะ...ระลึกถึงค่ะ :b1:


:b48: ธรรมรักษาค่ัะ :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 18:40 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2004, 16:16
โพสต์: 114


 ข้อมูลส่วนตัว


ด้วยความยินดีนะคะน้อง พี่จะเข้ามาบ่อยๆนะคะ ขอให้ธรรมคุ้มครองน้องนะคะ

.....................................................
เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร