วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 22:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 03:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 03:27
โพสต์: 12

แนวปฏิบัติ: ธรรมชาติแห่งธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: สูตรเว่ยหล่าง
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บังเอิญได้ธรรมะ มาชุดหนึ่ง
เห็นว่ามีประโยชน์
เลยอยากนำเสนอ
ได้มาจากเพื่อนอีกทีนึงครับ



“ ชาวฟ้าดาวดึงส์ ”
ธรรมานุสรณ์


เรียบเรียงโดย พระราเชนทร์ อาภาโส.
คำนำ
ตามที่บรรดาศิษยานุศิษย์ได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างกุฏิถวายแก่สงฆ์ ในนาม
“กุฏิดาวดึงส์” ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ข้าพเจ้าในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ได้พยายามเขียนบทความทางธรรมขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่จะพิมพ์แจกเนื่องในวาระที่จะถวาย”กุฏิดาวดึงส์”ให้เป็นสมบัติของสงฆ์ต่อไป การเขียนบทความทางธรรมชิ้นนี้ เป็นการเขียนครั้งแรกซึ่งอาศัยจากประสบการณ์ จากการที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมมาเป็นระยะเวลากว่า 13 ปีแล้ว ข้าพเจ้าหวังว่าบทความนี้คงพอเป็นแนวทางในการให้บรรดาลูกศิษย์ผู้มีศรัทธาในตัวข้าพเจ้าและผู้ที่สนใจ ได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติได้อย่างถูกทาง ตามที่ข้าพเจ้ามุ่งหวังไว้.
เงินปัจจัยที่ญาติโยมได้ร่วมสร้างกุฏิดาวดึงส์ ข้าพเจ้าได้นำส่วนหนึ่งมาใช้ในการพิมพ์บทความทางธรรมชิ้นนี้ โดยข้าพเจ้าหวังว่าบุญอันเกิดจากการให้ธรรม
เป็นทานนี้คงส่งผลให้ญาติโยมที่ร่วมบริจาคเงินปัจจัยมา คงได้รับผลบุญกันถ้วนหน้า
เลือดแห่งความเป็น “ชาวฟ้าดาวดึงส์” ในอดีตของพวกเรา ทำให้เราๆท่านๆต้องมาเจอกันอีกครั้งในชาตินี้ ข้าพเจ้าหวังว่าบุญในการทำร่วมกันในครั้งนี้นั้น คงไม่น้อยหน้ากว่าคราวที่ มฆมาณพได้พาเพื่อนผองน้องพี่ร่วมกันสร้างถนน
เข้าหมู่บ้าน ทำศาลาที่พักข้างทาง สร้างศาลาสุธรรมา ทำสวนจิตลดาเพื่อปลูกดอกไม้
และสร้างสระน้ำชื่อสวนสุนันทา เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์มาแล้วในอดีต..........

ข้าพเจ้า ขอตั้งสัจจะอธิษฐาน....... ด้วยบุญบารมีที่ข้าพเจ้าเคยสั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตชาติ จนถึง ปัจจุบันชาติ ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ขอให้ญาติโยมทุกคนที่ได้ร่วมบริจาคเงินปัจจัย เพื่อสร้าง”กุฏิดาวดึงส์” และพิมพ์บทความทางธรรมชิ้นนี้ขึ้นมา ขอให้ญาติโยมที่ร่วมบริจาคทุกคนได้มีเหตุและปัจจัยให้บรรลุพระนิพพานในกาลเบื้องหน้าด้วยกันทุกคนในชาตินี้ ด้วยเทอญ และหากแม้ว่าโยมคนใดคนหนึ่งไม่สามารถบรรลุนิพพานธรรมในชาตินี้ได้ ก็ขอให้โยมคนนั้นได้ไปจุติในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วก็ขอให้มีโอกาสได้ไปฟังธรรมจากเหล่าอริยชนแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อบรรลุพระนิพพาน ณ ศาลาสุธรรมา นั้นด้วยเทอญ และหากแม้ว่าโยมคนใดคนหนึ่งไม่สามารถบรรลุธรรมในสรวงสวรรค์ได้ ข้าพเจ้าก็ขอให้โยมคนนั้นได้เกิดในศาสนา แห่งพระศรีอริยเมตไตรย และบรรลุนิพพานธรรมในศาสนานั้นด้วยเทอญ
ข้าพเจ้า ขอให้คำตั้งสัจจะอธิษฐาน...จงเป็นจริงทุกประการด้วยเทอญ.
จากหัวใจ......แห่งสักกะ

พระราเชนทร์ อาภาโส
ณ กุฏิดาวดึงส์ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา
ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่
พฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2553







อธิบาย..........อริยสัจ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่อง อริยสัจ 4
อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันยิ่งใหญ่ 4 ประการ
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

1.ทุกข์
ความคิดทั้งปวง คือ ทุกข์
ความคิดทั้งปวง คือ จิตที่ปรุงแต่ง
ความคิดทั้งปวง คือ สังขตะธรรม....(ธรรมอันปรุงแต่ง)
2.สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
โดยปกติ ตามหลักแห่ง”กฎอันเป็นธรรมชาติ” มีอยู่ 3 ข้อ คือ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
โดยหลักแห่งความเป็นจริง ทุกสรรพสิ่งย่อมเป็นทุกข์ ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
มันเป็นโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว เขาถึงเรียกว่า ธรรมชาติ
ธรรมชาติที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง
ธรรมชาติที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วโดยตัวมันเอง
แต่”ความไม่รู้”(อวิชชา) พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน จนเกิดอัตตา มีเรามีเขาขึ้นมา
ภายในจิตใจ หรือที่เรียกว่า จิตปรุงแต่งหรือความคิดนั่นเอง.........สรุปว่า ความไม่รู้ ก่อให้เกิดทุกข์

โดยธรรมชาติ ไม่มีเราอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ เป็นเพียงแต่ กายกับจิต
โดยธรรมชาติ เป็นเพียงแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป คือ รูปกาย เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ
วิญญาณ คือการรับรู้ถึงสิ่งที่เข้ามาทางรูป ( ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ )
โดยธรรมชาติ เมื่อ......มีเหตุปัจจัย เข้ามาทางรูป เช่น
ภาพ ที่เข้ามาทาง ตา
เสียง ที่เข้ามาทาง หู
กลิ่น ที่เข้ามาทาง จมูก
รสชาด ที่เข้ามาทาง ลิ้น
การสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทาง ผิวกาย
สิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึก ที่เข้ามาทาง ใจ


วิญญาณคือการรับรู้ถึงการเข้ามาของสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง กลิ่น รสชาด การสัมผัสสิ่งต่างๆหรือสิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึก ที่เข้ามาทางทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกายหรือใจ
สรุป
เหตุปัจจัย ที่เข้ามาทาง รูป และ มีการรับรู้การเข้ามา(วิญญาณ)
สามสิ่งสิ่งนี้ เป็นการกระทบกัน เรียกว่า ผัสสะ

สัญญา คือความจำได้หมายรู้ว่า สิ่งที่เข้ามาทางรูปนั้นคืออะไร
เช่น ภาพที่เข้ามาทางตาคือ ภาพของสุนัข
เสียงที่เข้ามาทางหูคือ เสียงนกร้อง................................................เป็นต้น
สังขาร คือการปรุงแต่งในรายละเอียดทั่วๆไปแบบเสร็จสรรพ ของเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูปและมีการรับรู้ถึงการเข้ามาและก่อให้เกิดการกระทบกัน
เช่น ภาพที่เข้ามาทางตาและมีการรับรู้ว่ามีภาพเข้ามาทางตานั้น เป็นการกระทบกันทำให้รู้ว่าเป็นภาพของสุนัข ตัวไม่ใหญ่ ขนสีน้ำตาล
รายละเอียดที่แสดงขึ้นนี้เป็นการทำหน้าที่ของสังขาร
เวทนา คือความรู้สึก ที่มีต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
โดยหลักใหญ่ มี 3 เวทนาคือ
สุขเวทนา คือความรู้สึกที่เป็นสุขต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
ทุกขเวทนา คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกที่เป็นกลางๆแบบไม่สุขไม่ทุกข์ต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
โดยธรรมชาติ....เวทนา ย่อมดับไป
โดยธรรมชาติ....เวทนา ย่อมดับอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง

นี่คือธรรมชาติ....
โดยธรรมชาติ เมื่อเวทนาดับไป....สังขารย่อมดับ....สัญญาย่อมดับ....
วิญญาณย่อมดับ....รูปย่อมดับ.....
ตรงนี้เรียกว่า จิตอันเป็นธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง
ตรงนี้เรียกว่า จิตว่าง....(จิตอันว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน)



แต่ความไม่รู้ พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งปวง จนก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน
กลายเป็น ทุกข์คืออัตตา ตัวตน เรา เขา ขึ้นมา.......................................”
นี่คือ สมุทัย


3.นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับแห่งทุกข์
เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงตามหลักแห่งกฎธรรมชาติที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง
ธรรมชาติที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงนั้น หมายถึง โดยสภาพตัวมันเองนั้นย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว

เป็นธรรมชาติที่ ไม่ต้องมีอัตตาเช่นเรา เข้าไปบีบบังคับให้มันไม่เที่ยง
เป็นธรรมชาติที่ ไม่ต้องมีอัตตาเช่นเรา เข้าไปสำรวมให้มันไม่เที่ยง
เป็นธรรมชาติที่ ไม่ต้องมีอัตตาเช่นเรา เข้าไประวังให้มันไม่เที่ยง
เป็นธรรมชาติที่ มันไม่เที่ยงโดยสภาพตัวมันเองอยู่แล้ว

เมื่อมีเหตุปัจจัยเข้ามาทางรูป.....และมีการรับรู้สิ่งที่เข้ามา(วิญญาณ).....เกิดการกระทบกัน(ผัสสะ)....และเกิดการจำได้หมายรู้(สัญญา)และปรุงแต่งในรายละเอียดนั้นๆ(สังขาร).......และก่อให้เกิดความรู้สึก(เวทนา)ต่างๆ.....
โดยธรรมชาติ เวทนาย่อมดับไปอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ เวทนาย่อมดับโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว
เมื่อเวทนาดับ สังขารก็ดับ สัญญาก็ดับ วิญญาณก็ดับ รูปก็ดับ
ตรงนี้ คือ นิโรธ
ปัญหา อยู่ตรงที่ว่า หากความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลาย จนก่อให้เกิดตัณหา อุปาทานแล้ว กลายเป็นจิตที่ปรุงแต่งแล้ว กลายเป็นความคิดอันมีเขามีเราแล้ว....จะทำอย่างไร?

ตอบ....เมื่อเกิดอัตตาขึ้นแล้วเป็นจิตที่ปรุงแต่งแล้ว ก็อย่าเข้าไปเนื่อง อย่าเข้าไปเนิ่นช้า ในความคิดนั้น ในอาการที่จิตปรุงแต่งนั้น
เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง เมื่อไม่เข้าไปเนิ่นช้า ความคิดนั้นก็ไม่เที่ยง จิตที่ปรุงแต่งนั้นก็ไม่เที่ยง “ไม่เที่ยงโดยสภาพมันเอง”.....ตามหลักธรรมชาติที่ว่า......”ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง”
“เมื่อไม่เข้าไปเนื่องไม่เข้าไปเนิ่นช้า มันก็ไม่เที่ยงโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว นี่คือธรรมชาติ”
เพราะเมื่อเข้าใจว่า อะไรคือทุกข์ ก็อย่าเข้าไปยุ่ง ไปสาละวน เข้าไปเนื่อง เข้าไปเนิ่นช้า ให้เกิดปัญหาซับซ้อนขึ้นมาอีก
เมื่อหยุดเข้าไปไปยุ่ง ก็เกิดการคลายกำหนัด อัตตาที่นอนเนื่องในสันดานก็ลดลง
4.มรรค
มรรค แปลว่า หนทาง มรรคในอริยสัจคือวิสุทธิมรรค แปลว่า หนทางที่บริสุทธิ์หลุดพ้น
ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แปดประการ คือ มรรคมีองค์แปด ได้แก่ ปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 วาจาชอบ 1 การงานชอบ 1เลี้ยงชีวิตชอบ 1 ความเพียรชอบ 1ระลึกชอบ 1 ตั้งใจชอบ 1
มรรคตรงนี้เป็น มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางที่ทำให้ไม่หลงและดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นได้
โดยหลัก เมื่อเข้าใจหลักธรรมชาติแห่งธรรมตามกฎธรรมชาติ ก็ถือว่า เป็นปัญญาอันเห็นชอบ 1 แล้ว
เป็นความดำริชอบ 1 แล้ว
เมื่อปล่อยให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติแล้ว จิตที่ดับไปทุกขณะนั้น ก็ถือว่าเป็นความเพียรชอบ 1 แล้ว ระลึกชอบ 1 แล้ว ตั้งใจชอบ 1 แล้ว
วาจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 โดยนัยก็คือศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 นั่นเอง
วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นการแสดงออกทางกายวาจาแบบเหมาะสมในสังคมที่อาศัยอยู่
ส่วน
แต่การแสดงออก ทางกายวาจาที่เหมาะสมนี้ เป็นการแสดงออกจากจิตที่ไม่ปรุงแต่ง
หากใช้จิตปรุงแต่งว่าเราจักพูดสำรวม หากเราใช้จิตปรุงแต่งว่าเราจักพูดไม่ส่อเสียด
การใช้จิตปรุงแต่งแบบนี้มันจะกลายเป็นการปรุงแต่งที่ซ้อนเข้ามา กลายเป็นอวิชชาที่ซ้อนเข้ามา
ทำให้มรรคอันแท้จริงหายไป ปัญญาหายไป ความเพียรหายไป ความตั้งใจชอบ(สมาธิ)หายไป
ความคิดที่ว่าเราจักพูดสำรวมเราจักพูดไม่ส่อเสียด เป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง ที่ขวางกั้นนิพพาน
................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................

อนัตตลักขณะสูตร

ในอนัตตลักขณะสูตร พระพุทธองค์ตรัสสอนปัญจวัคคีย์สาวกทั้ง 5 ให้ละความถือมั่นในขันธ์ 5 ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เหตุนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง, ล่วงไปแล้วก็ดี ยังไม่มีมาก็ดี เกิดขึ้นจำเพาะบัดนี้ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี งามก็ดี ,ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นสักแต่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นแล้วอย่างไร ดังนี้
ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ , ครั้นเบื่อหน่ายก็ปราศจากความกำหนัดรักใคร่, เพราะปราศจากความกำหนัดรักใคร่ จิตก็พ้นจากความถือมั่น, เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว, อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว, กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว, กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.”

สรุป
จิตที่ปรุงแต่งทุกเรื่อง ไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เลว งาม...... ก็ล้วนไม่เที่ยงแท้โดยตัวมันเองโดยสภาพมันเอง........(สักแต่ว่า)
ส่วนใหญ่นักปฏิบัติธรรม จะติดปรุงแต่งในธรรมเนืองๆ โดยที่หารู้ไม่ว่าการพิจารณาธรรมแบบซ้ำๆซากๆ ก็เป็นจิตที่ปรุงแต่งชนิดหนึ่ง เหมือนเส้นผมที่บังภูเขา จิตที่ปรุงแต่งในธรรมก็ไม่เที่ยง
เช่น ใช้จิตปรุงแต่งว่า เราจักทำฌาน 4 เพื่อบรรลุธรรม
ใช้จิตปรุงแต่งว่า นี่คือสติ นี่คือสมาธิ นี่คือปัญญา

จริงๆแล้ว การปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นนั้น เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงต่อสัจจธรรม
ไม่ว่าจะอยู่ในอริยบทใดก็ตาม ยืน นั่ง เดิน นอน หรือ กำลังล้างหน้าแปรงฟัน ขับรถ กินข้าว อาบน้ำ ทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน

การที่เข้าใจเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของขันธ์ 5
การที่เข้าใจเรื่องจิตว่าง หรือ สุญญตา
เมื่อเข้าใจและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการแห่งขันธ์อย่างแท้จริงซึ่งเป็นธรรมชาติของมัน ไม่มีการเข้าไปควบคุม บีบบังคับ เพื่อให้เกิดจิตว่างหรือสุญญตา
ตรงนั้น มรรคมีองค์แปด ก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว
การที่รู้ว่านั้นคือจิตว่าง นั่นคือ ระลึกชอบ และปัญญาอันเห็นชอบแล้ว
การที่มีความตั้งมั่นในจิตว่างแบบไม่ขาดสาย นั่นคือ การตั้งใจชอบ(สัมมาสมาธิ) อยู่แล้วโดยเนื้อหาแห่งธรรม
เป็น ความบริบูรณ์ในธรรม เป็นการลงตัวในธรรมอยู่แล้ว เป็นการกลมกลืนในธรรม เป็นความสามัคคีแห่งธรรม แปดส่วน ในอริยมรรคอยู่แล้ว


การที่ใช้ปัญญาหันเหวิถีแห่งจิตจากหนทางแห่งความไม่รู้(อวิชชา) ไปสู่เส้นทางที่ถูกคือสัจจธรรมในความไม่เที่ยง นั่นคือการสำรวม การระวัง แล้ว
การที่ไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้าในความคิด นั่นคือการสำรวม การระวัง แล้วเช่นกัน


และนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่จะติดความหลงใน “ ลัทธิแว่นส่องสมาธิและปัญญา”
ท่านครูบาฮวงโป ท่านกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนสุนัขที่คอยเห่าทุกครั้งที่เห็นใบตองมันกระดิก เมื่อถูกลมพัด
ท่านเปรียบเปรยนักปฏิบัติว่าเหมือนสุนัขตัวนั้น ที่คอยเห่าอยู่ตลอดเวลาว่า นี่คือจิตชนิดนั้นจิตชนิดนี้ นี่คือสติ นี่คือสมาธิ นี่คือปัญญา นี่คือ......นี่คือ.......นี่คือ ทุกครั้งที่สภาวะจิตเกิดขึ้น

ท่านว่ามันเป็น อวิชชาซ้อนเข้าไป ที่มองไม่เคยเห็น เป็นการบัญญัติให้เกิดอัตตาอีกชนิดหนึ่ง
การที่จิตมันไม่หันเหออกนอกไปจากวิถีแห่งพุทธธรรม ซึ่งมันว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนนั้น มันก็ประกอบไปด้วยอินทรีย์แห่งธรรม มันเป็นทางดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นอยู่แล้ว เป็นมรรคหลุดพ้นอยู่แล้วโดยตัวมันเอง
เมื่อขันธ์ 5 ดับตามวิถีทางธรรมชาติในการทำงานแห่งขันธ์ จะสุขเวทนา จะทุกขเวทนา จะอทุกขมสุขเวนา
เวทนาทั้งหลายก็ย่อมดับอยู่แล้วโดยปกติของมัน ไม่ต้องใช้จิตปรุงแต่งเพื่อให้มีเรา(อัตตา)เข้าไปควบคุม หรือ บีบบังคับ ให้มันดับให้มันไม่เที่ยง
การที่รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ก็บ่งบอกไปในตัวอยู่แล้วว่านั่นคือมรรค
เมื่อจิตว่าง ทุกอย่างก็บริบูรณ์ในธรรมอยู่แล้ว ไม่ต้องปรุงแต่งซ้อนเข้าไปอีกว่านี่คืออะไร ทำไมอย่างไร ชนิดไหน แค่ไหน
มันจบโดยสภาวะมันเองในความดับอยู่แล้ว จบโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว............”ไม่ต้องเข้าไปบัญญัติเพื่อแจกแจงมันให้เกิดอัตตาขึ้นมาอีก......เพราะมันจะเป็นอวิชชาที่ซ้อนเข้ามาทันที.
...................................................................................................
อธิบาย......สูตรเว่ยหล่าง.
เว่ยหล่าง เป็นพระอรหันต์ในยุค 1200 กว่าปีที่ผ่านมา ท่านดำรงตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน ท่านเป็นมหาโพธิสัตว์ที่มาทำหน้าที่ส่วนหนึ่งในการต่ออายุพระพุทธศาสนา ได้อย่างสมภูมิธรรมของท่าน.
เว่ยหล่าง เป็นชายผู้ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ท่านสามารถฟังธรรมและวิเคราะห์ธรรมที่พระพุทธองค์ประกาศไว้ได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น ถือว่าท่านเป็นอริยสงฆ์ที่เด่นทางด้านปฏิสัมภิทาญาณมาก ท่านสามารถอธิบายธรรมที่ยากให้สามารถเข้าใจได้ง่าย.

1.มีอยู่วันหนึ่ง พระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนเขียนโศลก ว่าด้วยเรื่อง จิตเดิมแท้........โดยผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า จิตเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัตร(อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งพระสังฆปรินายก) และจะถูกสถาปนาผู้นั้นเป็นสังฆปรินายกองค์ที่หก แห่งนิกายเซน
ชินเชา ภิกษุผู้เป็นเชฏฐอันเตวาสิก ผู้มีอายุกาลพรรษามากที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ของสังฆปรินายกองค์ที่ห้าได้พยายามแต่งโศลกขึ้น มีข้อความดังนี้
“กายของเราคือต้นโพธิ์
ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองลงจับ”

แต่สังฆปรินายกได้ทราบก่อนอยู่แล้วว่า ชินเชาผู้นี้”ยังไม่ไม่ได้ก้าวเข้าไปในประตูแห่งการตรัสรู้ และเขายังไม่ซึมทราบในจิตเดิมแท้
อธิบาย...........ดูผิวเผิน ชินเชาผู้นี้น่าจะเป็นภิกษุที่เก่งทางด้านภาวนา เพราะท่านคอยตามรู้ตามดูกายและจิตของท่าน ท่านมีความเพียรมีความสำรวมระมัดระวัง เพื่อไม่ให้จิตของท่านเศร้าหมองไปด้วยกิเลสมลทิน
แต่แท้จริงแล้วท่านชินเชาเองกลับเป็นผู้อ่อนด้อยทางด้านภาวนาในสายตาของสังฆปรินายกองค์ที่ห้า
เพราะท่านเองยังไม่เข้าใจในหลักธรรมอันเป็นธรรมชาตินั่นเอง
การที่ชินเชาคิดว่า กายคืออะไร ใจของเราคืออะไรและต้องเช็ดมันทุกๆชั่วโมงเพื่อไม่ให้เกิดกิเลสนั้น การคิดแบบนี้ทุกๆขณะที่ชินเชาเข้าใจเองว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ความคิดแบบนี้ก็เป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง
เป็นการใช้จิตปรุงแต่งในธรรม เป็นการใช้จิตปรุงแต่งเพื่อเข้าไปบัญญัติว่าอะไรคืออะไร นี่คือกายนะ นี่คือจิตนะ นี่คือความเพียรนะ นี่คือความสำรวมระมัดระวังนะ นี่คือผลแห่งการภาวนานะว่าจิตเราปราศจากกิเลส.......
ในขณะที่จิตปรุงแต่งแบบนี้ตลอดเวลา โดยเนื้อหาแห่งธรรมแล้วมันจะทำให้มรรคอันแท้จริงหายไป แต่กลายเป็นการเจริญอวิชชาตัณหาอุปาทานแทน
อุปมาเหมือนกับว่า...เป็นการใช้ความปรุงแต่งเพื่อหานิพพานซึ่งเป็นสภาวะธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ให้ปฏิบัติแบบนี้อีก 100 กัป ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เลย
เป็นการใช้ความมีความเป็นในจิต เพื่อหาความไม่มีไม่เป็นในจิต เป็นการใช้อัตตา(ความมีตัวมีตน)เพื่อหาอนัตตา(ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน).....ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว.

ชินเชาใช้จิตปรุงแต่งเพื่อสร้าง ”ธรรมธาตุแห่งการสำรวมระวัง” ขึ้นมาทุกๆชั่วโมง
นี่ก็เป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์....
โดยหลักธรรมชาติแห่งธรรมนั้น การที่ ”หันเห” วิถีแห่งจิตซึ่งประกอบไปด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทานด้วยความเข้าใจโดยปราศจากความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงนั้น ”ไปสู่” วิถีแห่งจิตอันว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ตรงนี้ เป็นการสำรวมระวัง เป็นการระมัดระวัง อยู่แล้วในตัว เป็นความเพียรโดยชอบอยู่แล้ว เป็นความบริบูรณ์แห่งธรรมไปในตัวอยู่แล้ว อันก่อให้เกิดมรรคอันแท้จริง..........
เพียงแค่ ภิกษุชินเชา ไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้า ในความคิดที่ว่า กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเราคือกระจกอันเงาใส .................เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง เมื่อไม่เข้าไปเนิ่นช้า ความคิดนั้นก็ดับไป
จิตปรุงแต่งชนิดนั้นก็ดับไปเอง เป็นการดับไปแบบวิถีทางธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว ไม่มีตัวตนเราเข้าไปบังคับให้มันดับให้มันไม่เที่ยง
และไม่ใช่การยอมหรือไม่ยอม ที่จะไม่ให้ฝุ่นละอองหรือกิเลสอันเป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานลงมาจับ......ตามที่ภิกษุชินเชาเข้าใจ
หลักตามกฎธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอนอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง มันไม่เที่ยงอยู่แล้ว
การไม่ยอมที่จะไม่ให้อะไรมาจับกับสิ่งใดเพื่อที่จะบรรลุธรรม จึง เป็นการกระทำที่ขวางธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง
“การไม่เข้าไปเนื่องไม่เข้าไปเนิ่นช้าในความคิดทั้งปวงนั้น เป็นการไม่ยอมให้ฝุ่นละอองคือกิเลสลงมาจับจิตใจโดยระบบธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นการไม่ยอมโดยสภาพธรรมเองอยู่แล้ว”
การไม่ยอม แบบภิกษุชินเชาเป็นการไม่ยอมแบบมีอวิชชาตัณหาอุปาทานเข้าไปไม่ยอม
ภิกษุชินเชาจึงเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมอันใดเลย เพราะยังมีความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงอยู่.
2.พระสังฆปรินายกกล่าวว่า ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อเราใช้ปัญญาของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้ง ทั้งภายในและภายนอก และเราอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง การรู้จักใจของเราเองก็คือการลุถึงวิมุติ(การหลุดเป็นอิสระ) การลุถึงวิมุติ ก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปัญญา ซึ่งเป็นความไม่ต้องคิด “ความไม่ต้องคิด”คืออะไร? ความไม่ต้องคิด คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง(ตามที่เป็นจริง) ด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน,เมื่อเราใช้มัน มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย สิ่งที่เราต้องทำนั้นมีเพียงการชำระจิตใจให้ใสกระจ่าง เพื่อวิญญาณทั้งหกเมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้งหก จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค และอยู่ในสถานะที่จะ”มา”หรือ”ไป” ได้โดยอิสระ เมื่อนั้นชื่อว่าเราได้บรรลุสมาธิฝ่ายปัญญา หรืออิสรภาพ สถานะเช่นนี้มีนามว่า การทำหน้าที่ของ”ความไม่คิด”................แต่ว่า การหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้(ไม่ให้ปรากฏหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป) และข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด.

อธิบาย............คำกล่าวของเว่ยหล่างตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกุณฑลิยสูตร

กุณฑลิยสูตร มีเนื้อความว่า.........

ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์

[๓๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปสู่บริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้าเดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆ สู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยาน ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะว่าดังนี้เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่.

[๓๙๕] ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?

พ. ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.

ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

พ. ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์?

พ. ดูกรกุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.
[สุจริต3 คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต]


ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?

[๓๙๖] พ. ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?
ดูกรกุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดี ในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคง
ดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอรู้ธรรมารมณ์ ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.
...............................................................................................
แปลได้ว่า สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์. และ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์. เมื่อวิมุติบริบูรณ์ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าวิมุติแล้ว (วิมุติญาณทัสสนะ)................... และนี่คือเส้นทาง ธรรมอันคือธรรมชาติ...................
และนี่คือเส้นทางแห่งความไม่ต้องคิด...........และนี่คือเส้นทางธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้

“อวิชชา(ความไม่รู้) ต้องแก้ด้วย ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้”
อวิชชา ถูกแก้ไขด้วย สติปัฏฐาน-โพชฌงค์-วิชชา-วิมุติ-วิมุติญาณทัสสนะ
สติปัฏฐาน-โพชฌงค์-วิชชา-วิมุติ-วิมุติญาณทัสสนะ = ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้
การเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วซึ่งสติปัฏฐาน ๔ = เส้นทาง ธรรมอันคือธรรมชาติ นั่นเอง
ไม่ใช่เป็นการปรุงแต่งเพื่อให้มีเราเข้าไปเจริญ ไม่ใช่เป็นการปรุงแต่งเพื่อให้มีเราเข้าไปกระทำให้มาก
การเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว = ความมุ่งไปสู่สภาพธรรมชาติที่มันดับโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจิตชนิดใดๆ...........*****

ในหมวดจิตตานุปัสสนา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆอยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อนึ่ง
จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ หรือ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือ จิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือ จิตไม่หดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่หดหู่
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต(คือถึงความเป็นใหญ่) ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต
จิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหรคต
............................................................................................
............................................................................................
จิตวิมุติ(หลุดพ้น) ก็รู้ชัดว่า จิตวิมุติ(หลุดพ้น)
จิตยังไม่วิมุติ(ไม่หลุดพ้น) ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่วิมุติ(ไม่หลุดพ้น)
................ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ทั้งภายในภายนอกบ้าง ........ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมไปในจิตบ้าง .............. ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก. เธอย่อมเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย.

จะขออธิบายเรื่องสติปัฏฐาน ดังนี้
สติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ อันประกอบไปด้วยธรรม 4 ประการ
คือ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ..............
ธรรมอันว่าด้วยสติปัฏฐานนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในคราวที่ท่านได้เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ ในนิคมที่ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ
ท่านได้ตรัสธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสตินี้ แบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ดูง่ายต่อการศึกษาและเหมาะสมแก่ลักษณะอุปนิสัยของชาวกุรุ


ตรงนี้ก็เป็นข้อยืนยันอย่างหนึ่ง ว่าเมื่อหันเหวิถีแห่งจิตที่ปรุงแต่ง ไปสู่วิถีแห่งจิตอันว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนด้วยความเข้าใจในธรรม ความบริบูรณ์ในธรรมหรืออินทรีย์แห่งธรรมย่อมเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ..................จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ......
ก็รู้ชัด หมายถึง สติ ที่ทำให้ไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้า ในความคิดอันเป็นโทสะนั้น
เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้า จิตที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับโทสะก็ดับไป
เป็นการดับไปเองอยู่แล้ว ตามหลักธรรมชาติ ****************
การดับไปของจิตตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดอินทรีย์แห่งธรรมไปในตัว ก็คือโพชฌงค์ธรรม 7 ประการ
คือ 1.สติ
2.ธัมมวิจยะ คือ ความเลือกเฟ้นธรรม
3.วิริยะ คือ ความเพียร
4.ปีติ คือ ความปลื้มใจ
5.ปัสสัทธิ คือ ความสงบใจสงบจิต
6.สมาธิ
7.อุเบกขา คือ ความเป็นกลางซึ่งตรงต่อสัจจะธรรม ความเป็นกลางในธรรมชาติแห่งธรรม
การดับไปของจิตตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดอินทรีย์แห่งธรรมไปในตัว สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.”

ธรรมโพชฌงค์+การแสดงทางกาย วาจา ที่เหมาะสมในทุกที่และทุกทาง(สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวาจา)= มรรคมีองค์ 8

ในเส้นทางหลุดพ้น ในเส้นทางแห่งอริยชนทั้งหลายตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหันตผลนั้น อริยชนเหล่านั้นย่อมเข้าใจและรู้ว่า “ธรรมปรุงแต่งอันหยาบปราณีต เลว ดีงาม ล้วนไม่เที่ยงแท้ ย่อมดับไป “
ตามกฎธรรมชาติแห่งธรรม
การพิจารณา เป็นการศึกษาและทำความเข้าใจว่าอะไรคืออะไร เพื่อขจัดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง
แต่เมื่อมีความรู้ชัดแจ้งในกระบวนการแห่งธรรมแล้ว อริยชนทั้งหลายก็ควรจะปล่อยทุกอย่างให้ดำเนินไปตามกระบวนการแห่งธรรมทั้งปวงนั้นอันเป็นธรรมแห่งธรรมชาติ
ในขณะที่โพชฌงค์ธรรมเกิดขึ้นแล้วและยังไม่บริบูรณ์ ตรงนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า ”เป็นการคลายกำหนัด”

และที่พระพุทธองค์ตรัสว่า.........”โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.”
แปลว่า เมื่อโพชฌงค์บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ด้วยเช่นกัน เป็นธรรมที่เนื่องซึ่งกันและกัน


ข้าพเจ้าเคยสนทนาธรรมกับภิกษุรูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ.....
ข้าพเจ้าถามว่า ท่านบรรลุธรรมอะไรแล้ว ภิกษุรูปนั้นตอบว่าท่านบรรลุธรรมชั้นอรหันตผล

ข้าพเจ้าถามอีกว่า ท่านปฏิบัติธรรมตามแนวทางอย่างไร
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ท่านปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
ข้าพเจ้าเลยถามท่านอีกว่า การปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย มีหลักการเช่นไร
ภิกษุรูปนั้นให้คำตอบ..........โดยแจกแจงเป็นหลักธรรมดังนี้
(1)ท่านว่า การที่เราเข้าไปรักษาศีล โดยการยึดถือว่ามีเราและเราต้องดีตามนั้น และยังเข้าใจอีกว่า การรักษาศีลแบบนี้จะทำให้บรรลุพระนิพพาน หากศีลไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่สามารถเข้านิพพานได้ ท่านว่าการถือข้อวัตรแบบนี้เป็นศีลพรตปรามาส คือข้อวัตรที่เป็นไปด้วยความงมงายที่ไม่สามารถหลุดพ้นได้
ท่านว่า....การที่จิตปรุงแต่งว่าต้องรักษาศีลและทำให้ศีลนั้นบริสุทธิ์ เป็นเพียงเทวะธรรม เป็นการใช้จิตไปคอยปรุงแต่งเพื่อให้เกิดความระมัดระวัง หรือที่เรียกว่า หิริโอตัปปะ..............เป็นการเจริญในอวิชชาตัณหาอุปาทาน เท่านั้น
ข้อวัตรแห่งอริยะทั้งหลาย ตั้งแต่ชั้นโสดาปัตติมรรคขึ้นไป คือ ข้อวัตรแห่งธรรมอันเป็นธรรมชาติเท่านั้น.....
(2)ท่านว่า หากเรายังไม่เข้าใจในเรื่องอริยสัจ 4 ก็เปรียบเสมือนว่าเรามีความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงอยู่
เราควรศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า ทุกข์คืออะไร ทุกข์นั้นเกิดจากอะไร และจะแก้ไขทุกข์นั้นอย่างไร
(3)ท่านว่า เมื่อเข้าใจในกระบวนการแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว เราก็ควรจะปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามทางอันเป็นธรรมชาติของมัน
.......ท่านให้เว้นเสียซึ่งจิตอันปรุงแต่งว่ามีเรา และเราเอาจิตเข้าไปดำริทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดพระนิพพาน
ท่านว่า จิตที่ดำริเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรม แต่เป็นการเจริญอวิชชาตัณหาอุปาทานชนิดหนึ่ง***

(4)ท่านว่า เวทนามันดับในตัวมันเองอยู่แล้ว......อย่าใช้ อัตตาความมีตัวตนเข้าไปดับ อย่าใช้จิตปรุงแต่งว่านี่คือเวทนา นี่คือการดับแห่งเวทนา ........
(5)ท่านว่า” การรู้ชัด” ในสติปัฏฐาน เป็นการรู้ที่ประกอบด้วยธรรมตัวอื่นๆอยู่แล้วตามโพชฌงค์ธรรมและมรรคมีองค์แปด......เป็นการรู้ที่ประกอบไปด้วย สติ สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว
ท่านว่าบางสำนักแปลความ”การรู้ชัด”แบบผิดๆ.....โดยที่สอนลูกศิษย์ให้ใช้จิตปรุงแต่งว่า “ตัวรู้ตัวเดียว”ทุกครั้งที่สภาวะแห่งจิตเกิดขึ้น
ท่านว่า การกำหนดรู้ แบบตัวรู้ตัวเดียว โดยที่ไม่เข้าใจธรรมในส่วนอื่นๆมันยังเป็นการลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงอยู่
(6)ท่านเล่าว่าประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของท่านนั้น......เมื่อศึกษาและทำความเข้าใจ จนเข้าใจในธรรมทั้งปวงแล้ว
ท่านว่า.....ให้งดการพิจารณาธรรมซะ เพราะการพิจารณาธรรมเป็นจิตที่ปรุงแต่งชนิดหนึ่งซึ่งขวางการบรรลุธรรม.......
ท่านว่า....ในชั้นแห่งอริยชน จะมีการเข้าไปสอดส่องธรรม(ธัมมวิจยะ) ว่าธรรมนี้เป็นธรรมแห่งธรรมชาติหรือไม่ เท่านั้น
ท่านว่า......เมื่อศึกษาและทำความเข้าใจในธรรมทั้งปวง และเข้าใจแล้ว..... ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เราเข้าไปพิจารณาธรรมอีก..... ก็ควรปล่อยให้กระบวนการแห่งธรรมดำเนินไปตามเส้นทางธรรมชาติของมัน...ซึ่งเป็นธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง จนกว่าจะคลายกำหนัดไปถึงระดับที่เรียกว่า วิชชา วิมุติ หรือที่เรียกว่าธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว(นิพพาน)
(7)ท่านเล่าประสบการณ์ของท่านอีกว่า........เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ๆ......
ความไม่รู้(อวิชชา)ของท่านพาท่านปรุงแต่งตามรู้ตามดูในเรื่องจิตชนิดนี้จิตชนิดนั้นของท่านอยู่เรื่อย
จิตเป็นโทสะบ้าง จิตเป็นโมหะบ้าง จิตเป็นกามราคะบ้าง............ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเอง

แต่ท่านก็เริ่มเข้าใจขึ้นมาอีกนิดว่า จิตอันเป็นโทสะ โมหะ ราคะ นั้นก็ล้วนเป็นจิตที่ปรุงแต่ง
ท่านก็เลยสรุปเอาเป็นแค่ว่า จิตที่ปรุงแต่ง(โดยที่ไม่ใส่ใจในชื่อในชนิดของจิตที่ปรุงแต่งนั้น)
บางครั้งจิตท่านก็ไม่ปรุงแต่ง ท่านก็ได้รู้สลับกันไปว่า ทั้งปวงนั้นก็คือจิตปรุงแต่งและจิตอันไม่ปรุงแต่ง(จิตว่างและจิตไม่ว่าง) และจิตที่ปรุงแต่ง(จิตไม่ว่าง)นั้น........ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเอง
ต่อมาท่านก็เริ่มตกผลึกว่า.....จิตที่ปรุงแต่งและจิตที่ไม่ปรุงแต่งนั้น โดยแท้จริงมันเป็นผลโดยรวมแห่งการภาวนาแห่งการปฏิบัติ......ผลมันจะแสดงออกมาแค่ว่า จิตนี้ยังไม่หลุดพ้นหรือจิตนี้หลุดพ้นแล้ว
ท่านจึงไม่ใส่ใจว่าจิตนี้เป็นจิตปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่ง เป็นจิตว่างหรือจิตไม่ว่าง
แต่คราใดที่จิตท่านปรุงแต่ง ครานั้นท่านเองก็จะรู้ชัดว่า จิตนั้นยังไม่หลุดพ้น
ความเข้าใจของท่านอยู่แค่เพียงว่า......จิตท่านยังไม่หลุดพ้น
จิตยังไม่หลุดพ้น......ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ท่านก็คือ.....เมื่อไรมันจะเกิดวิชชา วิมุติ
ท่านรอนิพพานมาเป็นปีกว่าๆ......ท่านนอนรอนิพพานบนเปลผ้าใบหน้ากุฏิท่าน..................................
จนกระทั้งท่านจาริกเดินทางไปหาอาจารย์ท่านที่จังหวัดเลย คือ หลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะ ณ วัดร่มโพธิธรรมสถาน บ้านหลักร้อยหกสิบ ตำบลหนองหิน อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย
ในวันแรกที่ท่านเข้าไปกราบหลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะ ......... หลวงพ่อท่านใช้เจโตวาระจิตอันคล่องแคล่วของท่านทักว่า “นี่ท่าน......ท่านมัวแต่ปรุงแต่งว่าเมื่อไหร่จะวิมุติ เมื่อไหร่จะหลุดพ้น เมื่อไหร่จะนิพพาน..... จิตที่ท่านปรุงแต่งว่าเมื่อไหร่จะอย่างนี้เมื่อไหร่จะอย่างนั้น...... มันก็ล้วนเป็นจิตปรุงแต่งบังพระนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น.......เมื่อจิตปรุงแต่งทุกชนิดมันดับไปด้วยสภาพตัวมันเองนั้น....นั่นแหละจิตที่มันว่างอันเป็นสุญญตา ณ ปัจจุบันกาลที่รู้นั้นมันคือเนื้อหาแห่งพระนิพพานโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว.......นิพพานอยู่แล้วลูก.....นิพพานอยู่แล้ว..............”

ท่านว่า.......ท่านถึงกับอุทานออกมาว่า........”เอวัง....โหตุ......มันจบแล้ว มันจบจริงๆ”...............................
ท่านเล่าต่อไปว่า จากคำสอนของหลวงพ่อโพธิ์ศรีทำให้ท่านเข้าใจในคำว่า วิชชา วิมุติ อย่างท่องแท้
ไม่มีอวิชชาความไม่รู้ใดๆ ที่จะทำให้ท่านหันเหออกไปจากเส้นทางแห่งพุทธธรรมอันเป็นธรรมชาตินี้อีกเลย
มันเป็นการตัดอวิชชาตัณหาอุปาทานได้โดยเด็ดขาดอย่างสิ้นเชิง(สมุจเฉท) ทำให้ใจท่านเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ติดขัดทั้งในการมาและการไป อยู่”ท่ามกลางระหว่าง”ได้อย่างลงตัว
(8)ท่านอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของการที่ท่านบรรลุธรรมว่า............ ในเมื่อความหมายแห่งพระนิพพาน คือ
ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว คือความที่ไม่ต้องคิด คือความหยุดโดยสมบูรณ์ คือความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดปราศจากอวิชชาตัณหาอุปาทาน........เพราะฉะนั้นนิพพานจึงไม่มีขอบเขต ไม่มีสัณฐาน ไม่มีขนาด
ไม่มีปริมาณ
....... ท่านว่าภิกษุหลายๆรูปที่เป็นสหธรรมมิกของท่าน ได้ภาวนาแบบเดินมาถูกทางแล้ว แต่ติดปัญหามองธรรมไม่ออกแบบเส้นผมบังภูเขา......
บางรูปยังหลงอยู่ว่า “ยังไม่บรรลุเพราะยังไม่ชัดเจน”
บางรูปยังหลงอยู่ว่า “ยังไม่บรรลุเพราะยังไม่คงที่...จิตยังหวั่นไหว”
บางรูปยังหลงอยู่ว่า “ยังไม่บรรลุเพราะ............................”
ท่านบอกว่าสหธรรมมิกของท่านหลายๆรูปเข้าใจผิด เพราะยังไม่เข้าใจในคำว่า “ธรรมชาติ”
ซึ่งเป็นธรรมชาติแห่งนิพพาน.......ธรรมชาติแห่งนิพพานมันเป็นความเสร็จเด็ดขาดในความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนโดยลักษณะมันเองโดยตัวมันเอง...........จิตมันว่างอยู่แล้วโดยธรรมชาติมันเอง.......
ไม่ใช่การที่ใช้จิตเข้าไปปรุงแต่งเพื่อเข้าไปกำกับ เข้าไปบังคับ เข้าไประวัง
เข้าไปวัดขนาด เข้าไปวัดความคงที่หรือไม่คงที่..........
นิพพาน คือความคงที่ในความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน “เป็นธรรมชาติแห่งความคงที่ เป็นความคงที่โดยตัวมันเอง เป็นความคงที่โดยเนื้อหาแห่งมันเอง.........”
การที่จิตปรุงแต่ง.....ว่ายังไม่บรรลุเพราะยังไม่ชัดเจน ยังไม่คงที่ ยังไม่........ยังไม่........ยังไม่................
ก็ตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า จิตยังไม่หลุดพ้น ก็ให้รู้ชัดว่า จิตยังไม่หลุดพ้น.............และ เมื่อจิตปรุงแต่งว่าจิตยังไม่หลุดพ้นทุกๆชนิดดับไปตามธรรมชาติมันเองแล้ว เหตุปัจจัยที่เข้ามาทางอายตนะชุดใหม่ เกิดวิญญาณรับรู้ กลายเป็นผัสสะ สัญญา สังขาร เวทนา.........
และเวทนาดับไปเองอยู่แล้ว......สัญญา สังขารก็ดับ.....ขันธ์ 5 ดับ......เป็นธรรมชาติแห่งการดับ............
เป็นธรรมชาติแห่งจิตที่ไม่ปรุงแต่ง......เป็นธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว...........นี่คือนิพพาน.


แต่ท่านก็ว่า มีกรณีแบบตกม้าตาย มีกรณีแบบปลาตายในน้ำตื้น
คือว่า ยังใช้จิตไปปรุงแต่งเพื่อเข้าไปแบกเข้าไปยึด ”ในความเป็นธรรมชาติแห่งความคงที่.....ในความเป็นเนื้อหาแห่งพระนิพพาน......”
ก็คือการใช้จิตปรุงแต่งว่า นี่คือจิตหลุดพ้น นี่เราหลุดพ้น นี่เป็นการหลุดพ้น.....
ท่านว่าการปรุงแต่งแบบนี้ เป็นอวิชชาตัวสุดท้าย ที่ต้องขจัดทิ้งด้วยวิถีธรรมชาติแห่งธรรม

เปรียบเสมือนเป็นการเกร็ง เป็นการปรุงแต่งเข้าไปแบก แบบนิดๆหน่อยๆ ซึ่งกลัวว่ามันจะไม่ใช่ธรรมชาติแห่งธรรมล้วนๆ.......
เมื่อจิตปรุงแต่งว่าจิตหลุดพ้น”ดับไปตามธรรมชาติมันเองแล้ว” เหตุปัจจัยที่เข้ามาทางอายตนะชุดใหม่ เกิดวิญญาณรับรู้ กลายเป็นผัสสะ สัญญา สังขาร เวทนา.........และเวทนาดับไปเองอยู่แล้ว......สัญญา สังขารก็ดับ.....ขันธ์ 5 ดับ......เป็นธรรมชาติแห่งการดับ.........เป็นธรรมชาติแห่งจิตที่ไม่ปรุงแต่ง......เป็นธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว...........นี่คือนิพพานอันแท้จริง.


ท่านสรุปธรรมทั้งหมดให้ว่า..................เมื่อเข้าใจแล้วว่านิพพานอันแท้จริงคืออะไร และวิธีที่จะดำเนินไปสู่นิพพานคือความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดปราศจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ความเข้าใจตรงนี้เรียกว่า “วิชชา” คือความรู้แจ้งทั้งปวง เป็นความรู้แจ้งแทงตลอดในการพ้นจากอวิชชาตัณหาอุปาทานพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้


......................... และเมื่อปล่อยให้ธรรมอันเป็นธรรมชาติมันทำงานของมันโดยอิสระเด็ดขาด ตรงนี้เรียกว่า “อรหันตมรรค”
...........................และความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดปราศจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนปราศจากอวิชชาตัณหาอุปาทาน ตรงนี้เรียกว่า “อรหันตผล” หรือ ”วิมุติ” (ความหลุดพ้น).





3.ในวันหนึ่ง พระสังฆปรินายกเว่ยหล่างได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้
...........ในระบบการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาของเรานั้น เรามิได้กำหนดลงไปที่จิต หรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ หรือว่าเราจะไปจับเอาตัวความหยุดนิ่งปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการ ก็หามิได้.
สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้น ไม่ควรทำ เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้ว และเมื่อเรามองเห็นชัดว่า มันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว และตลอดเวลา
ที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้นเชิง มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา นอกจากความบริสุทธิ์อย่างเดียว
เพราะว่ามันเป็นด้วยอกุศลวิตก นี่แหละ ที่ทำให้ตถตา(ความเป็นเช่นนั้นเอง)ต้องเศร้าหมองไป ถ้าเราเพ่งจิตของเรา กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ เราก็มีแต่จะสร้างอวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เท่านั้น คืออวิชชาแห่งความบริสุทธ์ เพราะเหตุที่อวิชชา เป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน.
ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน ไม่มีรูปร่าง แต่มีคนบางคนที่อุตริถึงกับประดิษฐ์”รูปร่างของความบริสุทธิ์”
ขึ้นมา แล้วก็กุลีกุจอกับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น. เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้ คนเหล่านั้นก็กลายเป็น ผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธ์เสียเองแล้ว จิตเดิมแท้ของเขา ก็ถูกทำให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น.

อธิบาย.....จากข้อความข้างต้น....เว่ยหล่าง พยายามอธิบายว่า การเจริญกัมมัฏฐานภาวนา คือ ธรรมชาติแห่งธรรม นั่นเอง
ธรรมชาติ มิใช่การกำหนด.......เพราะธรรมชาติคือสภาพสภาวะมันเอง มันดับเอง มันไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว จะมี”เรา”.....เข้าไปกำหนดลงไปที่จิตทำไมอีก จิตที่เป็นของมืดมัวชนิดใด เช่นจิตที่เป็นโทสะ จิตที่เป็นราคะ ก็ล้วนแต่ดับในตัวมันเองอยู่แล้ว.......ก็ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว...... เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง เมื่อไม่เข้าไปเนิ่นช้า.....มันก็ดับเองอยู่แล้ว ไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

การจดจ่อและการกำหนด.....ไม่ใช่”การรู้ชัดว่า” ตามสติปัฏฐาน.........
การจดจ่อและการกำหนดจิต เป็นอวิชชาซ้อนเข้ามาตัวหนึ่งที่มองไม่เห็นมัน...เป็นการยึดมั่นถือมั่นในเวทนาก่อให้เกิดตัณหาอุปาทาน
แต่”การรู้ชัดว่า”.....ตามสติปัฏฐาน เป็นการรู้ซึ่งเป็นสภาวะธรรมชาติ เป็นสติ ที่ประกอบไปด้วยสมาธิและปัญญา ครบตามมรรคมีองค์ 8
เป็นปกติแห่งการรู้ เป็นธรรมชาติแห่งการรู้ ........มิใช่การบังคับเข้าไปกำหนดจดจ่อ ซึ่งขวางต่อธรรมชาติ
“การรู้ชัดว่า”.........ชัด ในที่นี้ หมายถึง ปกติแห่งการรู้ ธรรมชาติแห่งการรู้ ปกติมันเอง.....ธรรมชาติมันเอง
การกำหนดจดจ่อ.......มันเป็นการที่เอาจิตเข้าไปดำริเข้าไปริเริ่ม....เพื่อที่จะให้มันชัดเจนตามความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งมันเป็นการเจริญตัณหาอุปาทานขึ้นมาอีกเนืองๆ
นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจตรงนี้ อริยบทต่างที่เคลื่อนไหวไม่ว่าจะยืน นั่ง เดิน นอน มักจะคล้ายหุ่นยนต์ แข็งทื่อ....เพราะคอยเอาจิตเข้าไปกำหนดและจดจ่อ กลัวจิตจะปรุงแต่ง เลยเอาการรู้ไปไว้กับการก้าวย่าง การเคลื่อนไหวของร่างกาย......ตรงนี้ เป็นการปิดบัง อริยสัจ......ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติ

การกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์....... ตรงนี้เป็นการใช้จิตปรุงแต่งซ้อนลงไป ซ้อนลงไปเพื่อเข้าไปบัญญัติสภาวะที่มันเป็นความบริสุทธิ์โดยตัวมันเองสภาพมันเองอยู่แล้ว.....มันคือ อวิชชาแห่งความบริสุทธิ์.
จิตที่ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน จิตที่ไม่ปรุงแต่ง........อันเกิดจากขันธ์ 5 มันดับโดยตัวมันเองตามหลักธรรมชาติ ก็คือ จิตที่บริสุทธิ์ นั่นเอง
แต่การที่เข้าไปกำหนดว่านี่คือความบริสุทธิ์......การกำหนดนั่นแหละเป็นการทำให้เกิดการแปดเปื้อนขึ้นมา
ด้วยอวิชชาที่ไม่สามารถมองเห็นมัน เพราะความที่ไม่เข้าใจในความหมายในคำว่า “ธรรมชาติ”
มันบริสุทธิ์มันเองอยู่แล้ว......อย่าเข้าไปประดิษฐ์รูปร่างแห่งความบริสุทธิ์เข้ามาอีก

ใช้ การกำหนด เพื่อ ทำธรรมชาติแห่งธรรมให้ปรากฏ.......มันเหมือนหาเขาในตัวกระต่าย
หาเท่าไรก็หาไม่เจอ....... เพราะการกำหนดไม่ใช่ธรรมชาติ***
การพยายามจะ “จับฉวย” หรือ “กุมตัว” สิ่งเหล่านี้ที่เป็นธรรมชาติมันเองอยู่แล้ว เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อธรรมชาติของมันอย่างตรงกันข้าม


4.ภิกษุ ฉิต่าว ได้อ่านมหาปรินิรวาณสูตรมานานเป็นสิบปี ท่านไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานที่ว่า “สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร. ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้นและความแตกดับ(กล่าวคือสังขตธรรมหรือธรรมอันปรุงแต่ง) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง(กล่าวคือนิพพาน)
ย่อมปรากฏขึ้น”
พระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง ได้อธิบายว่า “ไม่ว่าในขณะใดทั้งหมด นิพพานย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการเกิดดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ. นิพพานเป็นการแสดงออกของ..........ความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง....แต่แม้ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น ก็ไม่มี ความเห็น ว่าเป็นการแสดงออก ดังนั้นจึงถูกเรียกว่า ความเปรมปรีดิ์อันไม่รู้จักหมดสิ้น ซึ่งไม่ต้องมีตัวผู้เปรมปรีดิ์หรือผู้ไม่เปรมปรีดิ์ แต่อย่างใด”


อธิบาย ....นิพพานไม่มีปรากฎแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับนั้น....เป็นการดับสนิทไม่มีเหลือปราศจากอวิชชาตัณหาอุปาทาน....
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป....นั้น เป็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแห่งอวิชชาทั้งปวง
เมื่อจิตเราเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดต่อเครื่องขัดข้องคืออวิชชาทั้งหลาย การเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปก็ย่อมไม่มีโดยสภาพแห่งธรรมนั้นแล้ว และไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ......เพราะเนื้อหาแห่งพระนิพพานคือธรรมชาติล้วนๆ....เป็นสภาพมันเองอยู่อย่างนั้นแบบนั้น......
เป็นความอิสระอย่างเด็ดขาด “โดยที่ไม่ต้องอาศัยอะไรกับอะไร....เพื่ออะไร”
นิพพานเป็นการแสดงออกของสภาพธรรมอันเป็นธรรมชาติล้วนๆ......การแสดงออกนั้นเป็นการแสดงออกโดยตัวมันเองโดยโดยสภาพมันเอง......จึงไม่ควรให้มีความเห็นใดๆเข้าไปบัญญัติอีกว่านี่คือการแสดงออก
นี่คือนิพพาน นี่คือธรรมอันเป็นธรรมชาติล้วนๆ.....การมีความเห็นเช่นนี้ทำให้ ธรรมชาติอันแท้จริงในเนื้อหาแห่งธรรมนั้นหายไป และการมีความเห็นเช่นนี้กลายเป็นอวิชชาเข้ามาแทนที่
หากจิตเราปรุงแต่งว่าจิตหลุดพ้น......เมื่อจิตชนิดนี้ดับไปโดยตัวมันเอง.....นั่นแหละ.....ถึงจะเป็นการหลุดพ้นโดยแท้จริงโดยเนื้อหาของมันเอง.....เป็นสภาพมันล้วนๆอยู่อย่างนั้น

5.ภิกษุ ฮังฉิ ท่านได้เดินทางมายังเมืองโซกาย เพื่อทำความเคารพพระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง
พระสังฆปรินายกถามว่า ก็ท่านกำลังปฏิบัติอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบว่า.....แม้ธรรมคืออริยสัจทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทุกๆองค์สอนไว้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องเข้าไปแตะต้องด้วย
พระสังฆปรินายกถามอีกว่า แล้วเดี๋ยวนี้ท่านอยู่ใน “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” ชั้นไหนเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบอีกว่า.....จะมี “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” อะไรที่ไหนเล่า ในเมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง

ด้วย แม้กับอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สอนไว้?

หากผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมและยังไม่เข้าใจธรรมทั้งปวง อ่านข้อความที่ภิกษุ ฮังฉิ โต้ตอบกับพระสังฆปรินายก
แล้ว คงนึกในใจว่า ภิกษุรูปนี้คงเป็นภิกษุผู้มีปัญญาอันมืดบอดเพราะท่านไม่เกี่ยวข้องไม่ใส่ใจในอริยสัจซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ได้ตรัสรู้ และคงจะออกอาการงงๆที่พระสังฆปรินายกได้ฟังการโต้ตอบธรรมของท่านฮังฉิแล้ว ถึงกับตั้งท่านฮังฉิเป็นหัวหน้าคณะในนิกายเซน
โดยแท้จริงแล้ว ในสายตาของพระสังฆปรินายก ภิกษุ ฮังฉิ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว
ท่านถึงกล้าแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเผยแพร่ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้ให้คงอยู่ต่อไป

การที่เข้าไปแตะต้องในอริยสัจทั้งหลาย ก็คือการเอาจิตไปปรุงแต่งเรื่องอันเกี่ยวกับว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุทำให้เกิดทุกข์..........การที่เอาจิตเข้าไปปรุงแต่งก็คือการพิจารณาธรรมอันเกี่ยวกับอริยสัจนั่นเอง
การพิจารณา ก็คือ การปรุงแต่งทางจิตนั่นเอง เป็นสังขตธรรม เป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่ง****

การที่ภิกษุ ฮังฉิ ท่านตอบว่า ไม่มีชั้นแห่งคุณวิเศษอะไรที่ไหน หมายถึงท่านกำลังบอกว่า ท่านเองก็ไม่ใช้จิตปรุงแต่งว่าท่านบรรลุธรรมอะไรชั้นไหนอย่างใด ไม่ได้ใช้จิตปรุงแต่งเข้าไปบัญญัติว่าท่านเป็นพระอรหันต์

การพิจารณา หรือ การบัญญัติว่าบรรลุธรรม .....มันกลายเป็นเครื่องเสียดแทง มันคืออวิชชาอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้ธรรมชาติแห่งธรรมล้วนๆอันเป็นสภาพนิพพานธรรมอันแท้จริงไม่ปรากฏไม่แสดงออก


6.พระสังฆปรินายกกล่าวกับภิกษุจิหว่าง ว่า “ไม่ว่าท่านกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคล กับบุคคลธรรมดา อย่าไปคิดว่ามีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำ กับสิ่งที่ถูกกระทำ จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น แล้วท่านจะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา”

อธิบาย ข้อความข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า คำสอนของพระพุทธองค์โดยแท้จริงนั้นเนื้อหาแห่งธรรมเป็นเรื่องเดียวกันไม่มีความแตกต่าง ถึงแม้จะแยกแตกออกเป็นนิกายต่างๆก็ตาม
ลูกศิษย์และเพื่อนสหธรรมมิกหลายฝ่ายต่างก็ถามข้าพเจ้าว่า “อาจารย์ราเชนทร์ คำสอนของท่านเหมือนคำสอนของพวกนิกายเซน ใช่หรือเปล่า?”
ข้าพเจ้าตอบว่า ไม่ใช่แค่เหมือน แต่ข้าพเจ้าก๊อปปี้คำสอนมาเลยทั้งหมด เพราะในความเป็นจริงเส้นทางหลุดพ้นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ก็มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เอกมรรคโควิสุทธิยา หรือเส้นทางธรรมอันเป็นธรรมชาติ
คำว่าเซน ในความรู้สึกของนักปฏิบัติสายเถรวาทในประเทศไทยนั้น เป็นสำนักที่สอนให้บรรลุโดยฉับพลัน
ไม่ให้ติดรูปแบบ ไม่ให้นั่งทำสมาธิเลย เป็นสำนักที่หลุดพ้นโดยใช้ปัญญาล้วนๆ...........สายเถรวาทหลายๆสำนัก สอนบรรดาพวกลูกศิษย์ตน ให้นั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมแบบย่างหนอ ยกหนอ สอนให้พิจาณาธรรมมากๆ สอนให้ตามรู้ตามดู บางสำนักก็สอนจนถึงขนาดว่าสรุปธรรมให้กับบรรดาลูกศิษย์ของตนว่า
“เพียงตัวรู้ตัวเดียวก็พอ”........บางสำนักก็ให้เริ่มต้นคำบริกรรมว่า”พุทโธ” โดยให้นั่งหลับตาแล้วให้บริกรรมคำว่า พุทโธไว้ในใจแบบไวๆจนจิตสงบนิ่งตามความเข้าใจของคณาจารย์เจ้าสำนัก
แต่คณาจารย์ฝ่ายเซนอย่างเช่นสังฆปรินายกเว่ยหล่าง กลับกล่าวว่า “จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น แล้วท่านจะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา”
ถ้าอ่านอย่างผิวเผินด้วยความไม่เข้าใจในธรรม ก็จะคิดไปว่า ท่านเว่ยหล่างนั้นสอนลูกศิษย์ไม่ให้นั่งสมาธิ
เอะอะ..อะไรก็จิตเดิมแท้ ก็จิตเดิมแท้...............

แต่ในความเป็นจริง คำกล่าวของเว่ยหล่างนั้นตรงกับคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ท่านตรัสไว้ว่า
“ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.”
แปลได้ว่า......การเจริญ การกระทำให้มากแห่งสติปัฏฐาน ย่อมยังโพชฌงค์ 7 ให้เต็มบริบูรณ์ได้
โพชฌงค์เต็มบริบูรณ์นั้น ย่อมหมายถึง สมาธิสัมโพชฌงค์อันเป็นธรรม 1 ใน 7 ของโพชฌงค์ 7 ย่อมเต็มบริบูรณ์ไปด้วย
ซึ่งแปลอีกครั้งตามหลักแห่งตรรกศาสตร์ แปลได่ว่า.....การเจริญ การกระทำให้มากแห่งสติปัฏฐาน ย่อมยัง
สมาธิสัมโพชฌงค์เต็มและบริบูรณ์ไปด้วย
เพราะเหตุที่ว่า การเจริญสติปัฏฐาน โพชฌงค์ วิชชา วิมุติ เป็นเส้นทางหลุดพ้น
หากการที่ใช้จิตปรุงแต่งว่าจะนั่งสมาธิแล้วคิดว่าจะทำฌาน 4 เพื่อให้หลุดพ้น แล้วนั่งไปเรื่อยๆจนกว่าจิตจะสงบ สมาธิตรงนี้ ก็ยังไม่ใช่สมาธิสัมโพชฌงค์ และไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดโพชฌงค์บริบูรณ์ วิชชาและวิมุติบริบูรณ์(เพื่อการหลุดพ้น).....แต่การนั่งสมาธิโดยที่จิตดำริริเริ่มปรุงแต่งแบบนี้ เป็นการเจริญอวิชชาตัณหาอุปาทานล้วนๆ.......เป็นการคิดผิด ดำเนินในแนวทางที่ผิดมาแต่ต้น......
การเจริญและการกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐานนั้น “การเจริญ และการกระทำให้มาก” ก็คือ การปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้นนั่นเอง
การปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น ย่อมยังสมาธิสัมโพชฌงค์เต็มบริบูรณ์ไปด้วย หรือ “อยู่ในสมาธิตลอดเวลา” ตามที่เว่ยหล่างกล่าวไว้
“สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์”. นั้น เป็นธรรมที่หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน การเกิดอินทรีย์แห่งธรรมเป็นการเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นความสามัคคีแห่งธรรม.

เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า เซนคือสำนักที่สอนบรรลุโดยฉับพลันและเป็นการบรรลุโดยใช้ปัญญา และไม่ให้นั่งสมาธิ ก็ดูจะเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย
ตามความเข้าใจในธรรมของข้าพเจ้า เซนนั้น คือคณาจารย์ที่สามารถวิเคราะห์ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้ วิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและเข้าใจง่าย และการที่จะบรรลุได้โดยฉับพลันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่ปัญญาของแต่ละคนในการวิเคราะห์ธรรมและสรุปธรรมว่าลงตัวหรือไม่เท่านั้น
ข้าพเจ้าอ่าน เซน หรือ สูตรเว่ยหล่างมา กว่าจะเข้าใจกว่าจะสรุปธรรมได้ทุกกระบวนความก็ใช้เวลาถึง 5 ปี
ไม่เห็นจะฉับพลันตรงไหน จะออกไปทางอืดอาดยืดยาดเชื่องช้าเสียด้วย.........
คำสอนที่พระพุทธองค์ได้นำมาประกาศนั้น เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เป็นหลักธรรมอันคือธรรมชาติ
หากคณาจารย์สำนักใดนิกายไหน สามารถอธิบายธรรม ”เป็นเนื้อหาเดียวกัน” กับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ก็ถือว่าสำนักนั้นหรือนิกายนั้น สามารถถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธองค์ได้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา
การศึกษาธรรมให้ดูที่คำสอนคำอธิบาย ไม่ใช่ให้ดูว่านี่คือนิกายไหน คณาจารย์นี้เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังหรือไม่

7.ภิกษุรูปหนึ่งนำโศลกซึ่งแต่งขึ้นโดย คณาจารย์ที่ชื่อ ออหลุน มาท่องบ่นอยู่ว่า....
“ออหลุน มีวิธีและเครื่องมือ
ที่จะกั้นจิตเสียจาก ความนึกคิดทั้งปวง
เมื่ออารมณ์ต่างๆ มิได้กลุ้มรุมจิต
ต้นโพธิ(เครื่องหมายแห่งปัญญา) ก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน”

พระสังฆปรินายก ได้ยินโศลกนี้ จึงพูดว่า “โศลกนี้ย่อมแสดงว่า ผู้แต่งยังไม่ทันเห็นจิตเดิมแท้อย่างเต็มที่ ถ้าใครรับเอาข้อความมาถือปฏิบัติ ก็จะไม่ได้รับความหลุดพ้นแต่จักกลับผูกรัดตัวเองหนาแน่นยิ่งขึ้น”
แล้วพระสังฆปรินายก ก็แต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า
“เว่ยหล่าง ไม่มีวิธี และเครื่องมือ
ที่จะกลั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง
อารมณ์ต่างๆย่อมกลุ้มรุมจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ
และข้าพเจ้าสงสัยว่าต้นโพธิจะงอกงามได้อย่างไรกัน?”

อธิบาย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักปฎิบัติธรรมติดกันมาก คือ ติดปรุงแต่งอันเกี่ยวกับเส้นทางหรือมรรคที่จะหลุดพ้น
ความหมายของนิพพาน ก็คือ ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้
ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้ ก็คือ สภาพสภาวะของมันเองโดยตัวมันเองนั้น ปรุงแต่งไม่ได้
เส้นทางหลุดพ้นนั้น(มรรค) ก็คือ เส้นทางอันเป็นธรรมชาติแห่งธรรม
ธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการเป็นสภาพมันเอง “เป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง” การที่ใช้จิตปรุงแต่งว่า เรามีวิธีที่จะเข้าไปจัดการกับจิตทั้งหลายนั้นออกเสียจากความนึกคิด และ ด้วยเหตุจากวิธีและเครื่องมือของเรา จะทำให้อารมณ์คือเวทนาต่างๆเข้ามากลุ้มรุมจิต(หมายถึง เราจะได้ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลาย) สภาวะแห่งความหลุดพ้นก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน.........การที่ใช้จิตปรุงแต่งแบบนี้ ก็บ่งบอกอยู่แล้วในตัวว่าผู้แต่งโศลกนี้ยังไม่เข้าใจในธรรม ยังไม่เข้าใจว่ามรรค


หรือเส้นทางที่หลุดพ้นอันแท้จริงนั้นเป็นเช่นไร (การปรุงแต่งในวิธีในมรรคนั้น เป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่งด้วย)
วิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง หรือ วิธีและเครื่องมือโดยธรรมชาติ นั้น เป็นอย่างไรเล่า?
โดยธรรมชาติ อารมณ์หรือเวทนาต่างๆมันก็ดับโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติ ธรรมชาติที่ว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว***
โดยธรรมชาติ เมื่อไม่เข้าไปเนื่องไม่เข้าไปเนิ่นช้าในความคิดทั้งปวง ความคิดทั้งปวงนั้นมันก็ดับโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติ ธรรมชาติที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว***
การรู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงนั้นมันไม่เที่ยงมันดับโดยตัวมันเอง
การรู้ชัดว่าความคิดทั้งปวง(จิต)นั้น มันไม่เที่ยงมันดับโดยตัวมันเอง........นั้น เป็นการเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ซึ่งย่อมทำให้โพชฌงค์ธรรมเต็มบริบูรณ์โดยตัวมันเองด้วย และย่อมทำให้วิชชาและวิมุติเต็มบริบูรณ์โดยตัวมันเองด้วยเช่นกัน.
“นี่คือ....ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้ นี่คือ....นิพพาน”
เว่ยหล่างจึงแต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า ท่านไม่มีวิธีและเครื่องมือนั้น จึงถูกต้อง
ยิ่งปรุงแต่ง.....ในวิธีอันหลุดพ้นว่าต้องทำอย่างนี้ เพื่อการนี้.
วิธีหลุดพ้นอันแท้จริง(วิธีธรรมชาติ).....ก็จะหายไป

8.พระสังฆปรินายกกล่าวไว้ว่า “เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่
และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อเราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี
เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อเราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา....... ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัด
ถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และ เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้น
เป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น ............
การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา........เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? “

อธิบาย การที่เราเข้าไปวางหลักเกณฑ์ในธรรมซะเอง โดยไม่เข้าใจว่าเส้นทางหลุดพ้นนั้นเป็นเส้นทางแห่งธรรมชาติ มันเป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง...... การที่เราดำริเอาจิตไปปรุงแต่งในวิธีหลุดพ้น ว่าจะต้องทำตรงนี้ เพื่อตรงนี้ซึ่งเป็นการค่อยทำค่อยไปทีละขั้นนั้น การวางหลักเกณฑ์เช่นนี้ เป็นการขวางธรรมชาติ.......ทำให้ไม่สามารถบรรลุนิพพานธรรมได้.....
พระพุทธองค์ก็ไม่เคยทรงวางหลักเกณฑ์ใดๆ.....

การที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “มรรคอันหลุดพ้นนั้นมีองค์แปด” หรือตรัสไว้ว่า “โพชฌงค์ธรรม 7 ประการที่เต็มบริบูรณ์ย่อมทำให้ วิชชาและวิมุติย่อมบริบูรณ์”นั้น ไม่ใช่เป็นการที่พระพุทธองค์บัญญัติขึ้นมาเอง ก็หาไม่..........

มรรคมีองค์แปด หรือ โพชฌงค์ 7 มันเป็นอินทรีย์แห่งธรรม....... มันเป็นกำลังของธรรมทั้งหลายที่จะพาจิตให้พ้นจากอาสวะกิเลส อวิชชาตัณหาอุปาทานทั้งปวง
อินทรีย์หรือกำลัง แห่งธรรมนี้......มันเกิดจากการที่เราเข้าใจในอริยสัจ ว่าอะไรคือปัญหา ปัญหาเกิดจากอะไรและต้องแก้ไขอย่างไร เมื่อเข้าใจและปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติแห่งมัน......
การปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามวิถีแห่งธรรมชาติทุกๆขณะนั่นแหละ “เป็นการเกิดและเพิ่ม” อินทรีย์หรือกำลังแห่งธรรม ไปในตัวพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น สติ สมาธิ ปัญญา ความเพียร ปีติ ปัสสัทธิ อุเบกขา ที่มีอยู่ในมรรคมีองค์แปด หรือ โพชฌงค์ 7 ก็ตาม
ในเส้นทางหลุดพ้น ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค จนถึง อรหันตผล นั้น อินทรีย์แห่งธรรมทั้งหลายนั้นประกอบขึ้นมาด้วยความสามัคคี หรือ ความพร้อมเพรียงแห่งธรรมเท่านั้น***
การตระหนักชัดถึงภาวะแห่งจิต กับ การปฏิบัติธรรมนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติพร้อมกันไป.

ความเข้าใจผิดและเข้าไปดำริปรุงแต่ง เพื่อวางหลักเกณฑ์ในธรรมซะเอง วางเพื่อเข้าไปทำทีละอย่างทีละขั้นตอน เช่น ดำริว่าต้องนั้งสมาธิให้ถึงฌาน 4 เสียก่อน และต้องฝึกสติในท่าเดินจงกรมเสียก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาธรรมว่าควรวางจิตอย่างไร วางจิตได้ขนาดนี้แล้ว ยังขาดเหลืออวิชชาตัวไหนอีก และต้องจัดการกับมันอย่างไร .................พระพุทธองค์ท่านไม่เคยสอน....ว่าทำเช่นนี้แล้ว จะพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้. เป็นการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา) เป็นความลังเลสงสัยที่ตนเองก็ไม่สามารถรู้ได้เลย หากตนเองได้ปักใจเชื่อแล้วว่า การวางหลักเกณฑ์เพื่อเข้าไปทำที่ละอย่างที่ละขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องนั้น การปฏิบัติแบบนี้ ก็ไม่สามารถบรรลุชั้นโสดาบันได้เลย เพราะยังไม่สามารถเข้าใจกระบวนการแห่งธรรมที่แท้จริง ยังมีความลังเลสงสัยอยู่.
การที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า มรรคหรือโพชฌงค์ มีธรรมตัวไหนบ้าง ธรรมแต่ละตัวมีหน้าที่อย่างไรและเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรนั้น เป็นการแจกแจงธรรมโดยอาศัย ปฏิสัมภิทาญาณแห่งความเป็น
พุทธวิสัยของพระพุทธองค์ เป็นการแจกแจงธรรมเพื่อให้เราเรียนรู้และขจัดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงเท่านั้น.

และเมื่อเราเข้าใจธรรมตรงนี้แล้ว การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การกินข้าว การทำหน้าที่การงาน การยืน การเดิน การคุยกับเพื่อน การอาบน้ำ การนอน การเคลื่อนไหวในการไปและการมา ก็จะคล่องแคล่วไม่ติดขัด อยู่ท่ามกลางระหว่างได้อย่างลงตัวโดยไม่จำกัดกาล(อกาลิโก) ....เป็นการปฏิบัติธรรมที่เสมอกันด้วยธรรมอันเป็นธรรมชาติ ในการเคลื่อนไหวร่างกายในอริยบททั้ง 4 ได้อย่างลงตัวและเหมาะสมในทางธรรม.
จริงๆแล้ว ธรรมอันเป็นธรรมชาติ ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วโดยเนื้อหา.
ผู้ที่เข้าใจประโยคนี้ได้ชัดเจนรองลงมาจากพระพุทธองค์ ก็คือ พระพาหิยะ นั่นเอง
ท่านเป็นพระอรหันต์ที่บรรลุธรรม “เร็วที่สุด” ใช้เวลาน้อยกว่าใครในการพิจารณาธรรมและปฏิบัติเพื่อบรรลุ

ก็เพราะท่านเข้าใจว่า การปรุงแต่งทั้งปวงในทุกเรื่องของจิตนั้น ล้วนบังพระนิพพานทั้งสิ้น
ก็เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรมชาติมันดับมันไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ก็เพราะท่านเข้าใจว่า จิตที่ปรุงแต่งทั้งปวงนั้นมันดับมันไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ก็เพราะท่านเข้าใจว่า.......ท่านจักไม่ปรุงแต่งว่าท่านยังไม่หลุดพ้น ท่านจักไม่ปรุงแต่งว่าท่านไม่หลุดพ้นเพราะเหตุใด ท่านจักไม่ปรุงแต่งว่าท่านหลุดพ้นแล้ว ท่านจักไม่ปรุงแต่งว่านี่คือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ........
และเมื่อท่านเข้าใจว่า.......ธรรมอันเป็นธรรมชาติ ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วโดยเนื้อหา ไม่จำเป็นต้องดำริใดๆ เพื่อเข้าไปแก้ไขธรรมชาติที่มันลงตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดำริใดๆ เพื่อเข้าไปลูบคลำบัญญัติธรรมอันเป็นธรรมชาติว่ามันคืออะไรขึ้นมาอีก.........ท่านพาหิยะก็ลุถึงวิชชาคือความรู้แจ้งทั้งปวง ลุถึงวิมุติคือความหลุดพ้น โดยท่านใช้เวลาเพียงชั่วครู่เดียว
นิพพานอยู่แล้วโดยตัวมันเองสภาพมันเอง........นิพพานอยู่แล้ว .

นิพพาน......... อยู่แล้ว .
ข้อความบางส่วนที่น่าสนใจ...........ในสูตรเว่ยหล่าง
1.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตเดิมแท้ (essence of mind)ของเรา ซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้น เป็นของ”บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ” และต้องอาศัย จิตเดิมแท้ นี้เท่านั้น มนุษย์เราจึงจะเข้าถึง
ความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ.

2.การที่ใครจะบรรลุอนุตตรสัมโพธิได้ ผู้นั้นจะต้องรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า
จิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้. ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น
ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุกๆสิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง
กล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป. ตถตา(คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้,
ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด. ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร ใจของผู้นั้น ก็ยังคงอยู่ในสภาพแห่ง”ความเป็นเช่นนั้น”. สถานะเช่นนี้ ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจจธรรมแท้ ถ้าสามารถมองเห็น
สิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้ ก็จะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด.

3.จิตเดิมแท้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ อย่างบริสุทธิ์แท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง อย่างนอกเหนือแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัว จิตเดิมแท้.

4.มันเป็นการบังเอิญในวันนั้น เมื่อธงริ้วกำลังถูกลมพัดสะบัดพริ้วๆ อยู่ในสายลม ภิกษุสองรูปเกิดโต้เถียงกันขึ้นว่าสิ่งที่กำลังไหวสั่นระรัวอยู่นั้น ได้แก่ลมหรือได้แก่ธงนั้นเล่า เมื่อไม่มีทางตกลงกันได้ อาตมาจึง
เสนอข้อตัดสินให้แก่ภิกษุสองรูปนั้นว่า ไม่ใช่ลมหรือธงทั้งสองอย่าง ที่แท้จริงที่หวั่นไหวจริงๆนั้นได้แก่จิต
ของภิกษุทั้งสองรูปนั้นเองต่างหาก.

5.คนที่ไม่รู้จัก จิตเดิมแท้ ของตนเอง และยังแถมมีความเขลาไปว่า............. การบรรลุพุทธรรมนั้น มีได้ด้วยศาสนพิธีต่างๆที่กระทำกันทางกายภายนอก(ไม่เกี่ยวกับจิต) นี้แหละคือคนจำพวกที่เข้าใจอะไรได้ยาก.

6.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ผู้ใดอยากทำการปฏิบัติ(ทางจิต) จะทำที่บ้านก็ได้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนเหล่านี้ ที่จะต้องอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบกันได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ พวกที่อยู่ในสังฆาราม แต่ละเลยต่อการปฏิบัตินั้น ไม่แตกต่างอะไรไปจากชาวบ้าน
ที่อยู่ทางทิศตะวันตก แต่ใจบาป.

7.ผู้ที่มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น
ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในฌานมันจะมีมาเอง(แม้จะไม่ตั้งใจทำ)

8.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การบำเพ็ญ “สมาธิที่ถูกวิธี” นั้น ได้แก่ การทำเป็นระเบียบตายตัว เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาส ไม่ว่าคราวยืน นั่ง หรือนอน

9.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การนั่ง เพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา? ในนิกายของเรานี้ การนั่ง หมายถึง
การได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาด และมีจิตสงบได้ในทุกๆกรณีที่แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดี หรือเป็นอย่างใดมา การกัมมัฏฐานภาวนานั้น หมายถึงการเห็นชัดแจ้งในภายใน ต่อ “ความแน่วไม่หวั่นไหว” ของจิตเดิมแท้.
10.เมื่อเราสามารถน้อมจิตของเราไปตามทางแห่งธรรมะอันแท้ และถูกตรงในทุกโอกาส และเมื่อปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเราไม่ขาดสาย จนกระทั้งเราสามารถตีตัวออกห่างเสียได้ทั้งจากความรู้แจ้งและความไม่รุ้ ไม่ข้องแวะด้วยความจริงหรือความเท็จ, เมื่อนั้นแหละ เราอาจจะถือว่า ตัวเราได้รู้แจ่มชัดแล้วใน
“ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ “ หรืออีกนัยหนึ่ง, ได้ลุถึงแล้วซึ่งพุทธภาวะ

11.ปรัชญา(ปัญญา) คือ “สิ่งที่ใจเป็น”
สมาธิ คือ “สิ่งที่พุทธะเป็น”
ในการบำเพ็ญปรัชญาและสมาธิ ต้องให้แต่ละอย่างลงจังหวะต่อกันและกัน
แล้วความคิดของเราก็จะบริสุทธิ์
คำสอนข้อนี้จะเข้าใจได้ ก็แต่โดยการ “ประพฤติดูจนช่ำชอง”
ที่ว่าสมาธิตั้งมั่นนั้น ที่จริงมิใช่สมาธิอะไรเลย
คำสอนที่ถูกต้องนั้นคือ ให้บำเพ็ญปัญญา คู่กันไปกับสมาธิ โดยไม่แยกกัน.

12.การเริ่มต้นปฏิบัติ “ด้วยการแสวงหานั้น” เป็นการถือเอาทางผิดโดยสิ้นเชิง
เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเราเองแล้ว เรื่องของมันก็คือทำให้เห็นแจ้งออกมา ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา.

13.การพยายามจะ “จับฉวย” หรือ “กุมตัว” สภาวธรรมเหล่านี้ เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อธรรมชาติแท้ของมันอย่างตรงกันข้าม

14.ฉันไม่รู้(สึกว่ามี) ธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย

15.การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต
การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย คือสมาธิ ของภาวะที่แท้แห่งจิต
สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั่นแหละคือ วัชร (วัชร หมายถึง ภาวะที่แท้แห่งจิต)
การมา และ การไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ
16.ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร นอกจากเป็นภาพลวงอันเกิดจาก การประชุมกันของขันธ์ห้า
และภาพลวงนี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้.
17.การยึดมั่นว่า มีตถตา(ความเป็นเช่นนั้นเองไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น)สำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือ มุ่งไปสู่
ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง
18.ผู้เดินทาง ควรกำจัดความคิดทั้งมวลเสีย ความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว สิ่งนี้ย่อมเป็นเพียงหนทางที่เรียกกันว่า”ภาวะที่แท้แห่งจิต” เท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใดๆได้ “ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่” นี้ คือ “ธรรมชาติที่แท้จริง”




เรื่องท้าวสักกะ



ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยเมืองเวสาลี ประทับอยู่ในกูฏาคารศาลา(ศาลาดุจเรือนยอด.)
ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อปฺปมาเทน
มฆวา" เป็นต้น.
เหตุที่ท้าวสักกะได้พระนามต่าง ๆ
ความพิสดารว่า เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ อยู่ในเมืองเวสาลี.
พระองค์ทรงสดับเทศนาในสักกปัญหสูตรของพระตถาคตแล้ว(ที. มหา. ๑๐/๒๙๘. ) ทรงดำริว่า
" พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมตรัสสมบัติของท้าวสักกะไว้มากมาย; พระ-
องค์ทรงเห็นแล้วจึงตรัส หรือไม่ทรงเห็นแล้วตรัสหนอแล ? ทรงรู้จัก
ท้าวสักกะหรือไม่หนอ ? เราจักทูลถามพระองค์."

ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ เข้าไปเฝ้าถึงที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ประทับอยู่; ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ
ที่สมควรข้างหนึ่ง. เจ้ามหาลิ ลิจฉวี ครั้นนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้วแล
ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าว
สักกะผู้จอมแห่งเทพทั้งหลาย พระองค์ทรงเห็นแล้วแลหรือ ?"
พระผู้มีพระภาคเจ้า. มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย
อาตมภาพเห็นแล้วแล."
มหาลิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท้าวสักกะนั้น จักเป็นท้าวสักกะ
ปลอมเป็นแน่, เพราะว่า ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย บุคคล

เห็นได้โดยยาก พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้า. มหาลิ อาตมภาพ รู้จักทั้งตัวท้าวสักกะ ทั้ง
ธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ ก็ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะ
สมาทานธรรมเหล่าใด, อาตมภาพ ก็รู้จักธรรมเหล่านั้นแล.
มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อนเป็น
มนุษย์ ได้เป็นมาณพชื่อมฆะ, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า 'ท้าวมฆวา;'
มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อน เป็น
มนุษย์ ได้ให้ทานก่อน (เขา), เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ' ท้าว
ปุรินทท;'

มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อน เป็น
มนุษย์ ได้ให้ทานโดยเคารพ. เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ' ท้าว
สักกะ;'
มหาลิ ท้าวสักกะเป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อน เป็น
มนุษย์ ได้ให้ที่พักอาศัย, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ' ท้าววาสวะ;'
มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ทรงดำริข้อความ
ตั้งพันได้โดยครู่เดียว, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า 'สหัสสักขะ(สหสฺสกฺโข แปลว่า
ผู้เห็นอรรถตั้งพัน
มหาลิ นางอสุรกัญญาชื่อ สุชาดา เป็นพระปชาบดีของท้าว
สักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ' ท้าว
สุชัมบดี;'
มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งจอมเทพทั้งหลาย เสวยราชสมบัติ

เป็นอิสริยาธิปัตย์แห่งเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์, เพราะฉะนั้น เขาจึง
เรียกว่า ' เทวานมินทะ ;'
มหาลิ ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะแล้ว เพราะได้สมาทาน
วัตตบท ๗ ใด, วัตตบท ๗ นั้น ได้เป็นอันท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่ง
เทพทั้งหลาย ซึ่ง ( ครั้ง) เป็นมนุษย์ในกาลก่อน สมาทานให้บริบูรณ์
แล้ว; วัตตบท ๗ ประการเป็นไฉน ? คือเราพึงเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา

ตลอดชีวิต; พึงเป็นผู้มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอด
ชีวิต; พึงเป็นผู้พูดอ่อนหวานตลอดชีวิต; พึงเป็นผู้ไม่พูดส่อเสียดตลอด
ชีวิต; พึงมีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีเครื่องบริจาค
อันสละแล้ว มีฝ่ามืออันล้างแล้ว(หมายความว่า เตรียมหยิบสิ่งของ
ให้ทานยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ
ยินดีในการจำแนกทาน พึงอยู่ครอบครองเรือนตลอดชีวิต; พึงเป็นผู้
กล่าวคำสัตย์ตลอดชีวิต; พึงเป็นผู้ไม่โกรธตลอดชีวิต; ถ้าความโกรธพึง
เกิดแก่เราไซร้ เราพึงหักห้ามมันเสียพลันทีเดียว ดังนี้, มหาลิ ท้าว
สักกะถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะได้สมาทานวัตตบท ๗ ใด, วัตต-
บท ๗ นั้น ได้เป็นของท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย (ครั้ง)
เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อน สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ฉะนี้แล
(พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคำไวยากรณ์นี้แล้ว, ได้ตรัสพระ- พุทธพจน์ภายหลังว่า)
" ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยง
มารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ใน
ตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อ
เสียด ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์
ข่มความโกรธได้ นั้นแลว่า "สัปบุรุษ(สํ. ส. ๑๕/๓๓๗.)."
ท้าวสักกะบำเพ็ญกุศลเมื่อเป็นมฆมาณพ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า " มหาลิ กรรมนี้ท้าวสักกะทำไว้ใน
คราวเป็นมฆมาณพ " ดังนี้แล้ว อันมหาลิ ลิจฉวี ใคร่จะทรงสดับ

ข้อปฏิบัติของท้าวสักกะนั้นโดยพิสดาร จึงทูลถามอีกว่า "มฆมาณพ
ปฏิบัติอย่างไร ? พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า " ถ้ากระนั้น " จงฟังเถิด
มหาลิ " ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)
เรื่องมฆมาณพ
ในอดีตกาล มาณพชื่อว่ามฆะ ในอจลคามในแคว้นมคธ ไปสู่
สถานที่ทำงานในบ้าน คุ้ยฝุ่นด้วยปลายเท้าในที่แห่งตนยืนแล้ว ได้ทำให้
เป็นรัมณียสถานแล้วพักอยู่ อีกคนหนึ่งเอาแขนผลักเขา นำออกจากที่
นั้นแล้ว ได้พักอยู่ในที่นั้นเสียเอง. เขาไม่โกรธต่อคนนั้น ได้กระทำที่
อื่นให้เป็นรัมณียสถานแล้วพักอยู่ คนอื่นก็เอาแขนผลักเขานำออกมา
จากที่นั้นแล้ว ได้พักอยู่ในที่นั้นเสียเอง. เขาไม่โกรธแม้ต่อคนนั้น ได้
กระทำที่อื่นให้เป็นรัมณียสถานแล้วก็พักอยู่. บุรุษทั้งหลายที่ออกไป
แล้ว ๆ จากเรือน ก็เอาแขนผลักเขา นำออกจากสถานที่เขาชำระแล้ว ๆ
ด้วยประการฉะนี้. เขาคิดเสียว่า " ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้ได้รับ
สุขแล้ว, กรรมนี้พึงเป็นกรรมให้ความสุขแก่เรา" ดังนี้แล้ว วันรุ่งขึ้น
ได้ถือเอาจอบไปทำที่เท่ามณฑลแห่งลานให้เป็นรัมณียสถานแล้ว. ปวงชน
ได้ไปพักอยู่ในที่นั้นนั่นแล.
ครั้นในฤดูหนาว เขาได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น, ในฤดูร้อน ได้

ให้น้ำ. ต่อมา เขาคิดว่า " ชื่อรัมณียสถาน เป็นที่รักของคนทั้งปวง,

ชื่อว่าไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ไม่มี, จำเดิมแต่นี้ไป เราควรเที่ยวทำหน
ทางให้ราบเรียบ" ดังนี้แล้ว จึงออกไป (จากบ้าน) แต่เช้าตรู่ทำ
หนทางให้ราบเรียบ เที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย.
มฆมาณพได้สหาย ๓๓ คน
ภายหลัง บุรุษอีกคนหนึ่งเห็นเขาแล้ว กล่าวว่า "ทำอะไรเล่า ?
เพื่อน."
มฆะ. ฉันทำหนทางเป็นที่ไปสวรรค์ของฉันละซิ, เพื่อน.
บุรุษ. ถ้ากระนั้น แม้ฉันก็จะเป็นเพื่อนของท่าน.
มฆะ. จงเป็นเถอะเพื่อน ธรรมดาสวรรค์ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจ
ของชนเป็นอันมาก
ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้เป็น ๒ คนด้วยกัน. แม้ชายอื่นอีก เห็นเขา
ทั้งสองแล้ว ถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล พอทราบแล้ว ก็เป็นสหาย
ของคนทั้งสอง แม้คนอื่น ๆ อีกก็ได้ทำอย่างนั้น รวมคนทั้งหมดจึง
เป็น ๓๓ คน ด้วยประการฉะนี้.
สหาย ๓๓ คนถูกหาว่าเป็นโจร
ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด มีมือถือวัตถุมีจอบเป็นต้น กระทำหนทาง
ให้ราบเรียบไปถึงที่ประมาณ ๑ โยชน์ และ ๒ โยชน์.
นายบ้านเห็นชายเหล่านั้นแล้วคิดว่า " มนุษย์เหล่านี้ประกอบแล้ว
ในฐานะที่ไม่ควรประกอบ, แม้ถ้าชนเหล่านี้ พึงนำวัตถุทั้งหลายมีปลา
และเนื้อเป็นต้นมาจากป่า, หรือทำสุราแล้วดื่ม, หรือทำกรรมเช่นนั้น

อย่างอื่น, เราพึงได้ส่วนอะไร ๆ บ้าง."

ลำดับนั้น นายบ้านจึงให้เรียกพวกนั้นมาถามว่า " พวกแกเที่ยว
ทำอะไรกัน ?"
ชนเหล่านั้น. ทำทางสวรรค์ ขอรับ.
นายบ้าน. ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนทั้งหลาย จะทำอย่างนั้นไม่ควร,
ควรนำวัตถุทั้งหลายมีปลาและเนื้อเป็นต้นมาจากป่า ควรทำสุราแล้วดื่ม
และควรทำการงานทั้งหลายมีประการต่าง ๆ.
ชนเหล่านั้นคัดค้านคำของนายบ้านนั้นเสีย. แม้ถูกเขาว่ากล่าวซ้ำ ๆ
อยู่ ก็คงคัดค้านร่ำไป. เขาโกรธแล้ว คิดว่า "เราจักให้พวกมัน
ฉิบหาย." จึงไปยังสำนักของพระราชา กราบทูลว่า "ข้าพระองค์
เห็นพวกโจรเที่ยวไป ด้วยการคุมกันเป็นพวก พระเจ้าข้า" เมื่อพระ-
ราชาตรัสว่า " เธอจงไป, จงจับพวกมันแล้วนำมา, ได้ทำตามรับสั่ง
แล้ว แสดงแก่พระราชา.
พระราชา มิทันได้ทรงพิจารณา ทรงบังคับว่า "พวกท่านจงให้
ช้างเหยียบ."
ช้างไม่เหยียบเพราะอานุภาพแห่งเมตตา
มฆมาณพได้ให้โอวาทแก่ชนที่เหลือทั้งหลายว่า "สหายทั้งหลาย
เว้นเมตตาเสีย ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกเรา ไม่มี, ท่านทั้งหลายไม่ต้อง
ทำความโกรธในใครๆ จงเป็นผู้มีจิตเสมอเทียวด้วยเมตตาจิต ในพระราชา

ในนายบ้าน ในช้างที่จะเหยียบ และในคน" ชนเหล่านั้นก็ได้ทำ
อย่างนั้น.
ลำดับนั้น ช้างไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ เพราะอานุภาพแห่งเมตตา

ของชนเหล่านั้น. พระราชาทรงสดับความนั้นแล้ว ตรัสว่า "ช้างมัน
เห็นคนมาก จึงไม่อาจเหยียบได้, ท่านทั้งหลายจงไป, เอาเสื่อลำแพน
คลุมเสียแล้วจึงให้มันเหยียบ."
ช้างอันเขาเอาเสื่อลำแพนคลุมชนเหล่านั้นไสเข้าไปเหยียบ ก็ถอย
กลับไปเสียแต่ไกลเทียว.
พระราชา ทรงสดับประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "ใน
เรื่องนี้ ต้องมีเหตุ." แล้วรับสั่งให้เรียกชนเหล่านั้นมาเฝ้า ตรัสถามว่า
" พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าอาศัยเรา ไม่ได้อะไรหรือ ?"
พวกมฆะ. นี่อะไร ? พระเจ้าข้า.
พระราชา. ข่าวว่า พวกเจ้าเป็นโจรเที่ยวไปในป่า ด้วยการคุมกัน
เป็นพวก.
พวกมฆะ. ใคร กราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า ?
พระราชา. นายบ้าน, พ่อ.
พวกมฆะ. ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร, แต่พวก
ข้าพระองค์ ชำระหนทางไปสวรรค์ของตน ๆ จึงทำกรรมนี้เเละกรรมนี้,
นายบ้านชักนำพวกข้าพระองค์ในการทำอกุศล ประสงค์จะให้พวก

ข้าพระองค์ผู้ไม่ทำตามถ้อยคำของตนฉิบหาย โกรธแล้ว จึงกราบทูล
อย่างนั้น.
ชน ๓๓ คนได้รับพระราชทาน
ทีนั้น พระราชา ทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่านั้น เป็นผู้ถึงความ
โสมนัส ตรัสว่า " พ่อทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานนี้ ยังรู้จักคุณของพวกเจ้า,
เราเป็นมนุษย์ ก็ไม่อาจรู้จัก, จงอดโทษแก่เราเถิด," ก็แล ครั้นตรัส

อย่างนั้นแล้ว ได้พระราชทานนายบ้านพร้อมทั้งบุตรและภริยาให้เป็นทาส,
ช้างตัวนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่, และบ้านนั้นให้เป็นเครื่องใช้สอยตาม
สบายแก่ชนเหล่านั้น.
มฆมาณพกับพวกสร้างศาลา
พวกเขาพูดกันว่า " พวกเราเห็นอานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันนี้
ทีเดียว," ต่างมีใจผ่องใสโดยประมาณยิ่ง ผลัดวาระกันขึ้นช้างนั้นไป
ปรึกษากันว่า " บัดนี้ พวกเราควรทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป," ต่างไต่ถามกัน
ว่า " พวกเราจะทำอะไรกัน ?" ตกลงกันว่า " จักสร้างศาลาเป็นที่พัก
ของมหาชนให้ถาวร ในหนทางใหญ่ ๔ แยก." พวกเขาจึงสั่งให้หาช่าง
ไม้มาแล้วเริ่มสร้างศาลา. แต่เพราะปราศจากความพอใจในมาตุคาม จึง
ไม่ได้ให้ส่วนบุญในศาลานั้นแก่มาตุคามทั้งหลาย.
มฆมาณพมีภริยา ๔ คน
ก็ในเรือนของมฆมาณพ มีหญิง ๔ คน คือ นางสุนันทา สุจิตรา

สุธรรมา สุชาดา. บรรดาหญิง ๔ คนนั้น นางสุธรรมาคบคิดกับนาย
ช่างไม้ กล่าวว่า " พี่ ขอพี่จงทำฉันให้เป็นใหญ่ในศาลานี้เถิด"
ดังนี้แล้ว ได้ให้ค่าจ้าง (แก่เขา) นายช่างไม้นั้นรับคำว่า " ได้ "
แล้วตากไม้สำหรับทำช่อฟ้าให้แห้งเสียก่อนสิ่งอื่น แล้วถาก สสักทำไม้
ช่อฟ้าให้สำเร็จ แล้วสลักอักษรว่า " ศาลานี้ชื่อสุธรรมา" ดังนี้แล้วเอา
ผ้าพันเก็บไว้.
นางสุธรรมาได้ร่วมกุศลสร้างศาลาด้วย
ครั้นช่างไม้สร้างศาลาเสร็จแล้ว ในวันยกช่อฟ้า จึงกล่าวกะชน

๓๓ คนนั้นว่า " นาย ตายจริง ! ข้าพเจ้านึกกิจที่ควรทำอย่างหนึ่งไม่ได้."
พวกมฆะ. ผู้เจริญ กิจชื่ออะไร ?
ช่าง. ช่อฟ้า.
พวกมฆะ. ช่างเถิด, พวกเราจักนำช่อฟ้านั้นมาเอง,
ช่าง. ข้าพเจ้าไม่อาจทำด้วยไม้ที่ตัดเดี๋ยวนี้ได้, ต้องได้ไม้ช่อฟ้าที่
เขาตัดถากสลักแล้วเก็บไว้ในก่อนนั่นแล จึงจะใช้ได้.
พวกมฆะ. เดี๋ยวนี้ พวกเราควรทำอย่างไร ?
ช่าง. ถ้าในเรือนของใคร ๆ มีช่อฟ้าที่ทำไว้ขาย ซึ่งเขาทำเสร็จ
แล้วเก็บไว้ไซร้, ควรแสดงหาช่อฟ้านั้น.
พวกเขาแสวงหาอยู่ เห็นในเรือนของนางสุธรรมา แล้วให้ทรัพย์
พันหนึ่ง ก็ไม่ได้ด้วยทรัพย์ที่เป็นราคา, เมื่อนางสุธรรมาพูดว่า " ถ้า

"พวกท่านทำฉันให้มีส่วนบุญในศาลาด้วยไซร้, ฉันจักให้. " ตอบว่า
" พวกข้าพเจ้าไม่ให้ส่วนบุญแก่พวกมาตุคาม." ลำดับนั้น ช่างไม้กล่าว
กะคนเหล่านั้นว่า " นาย พวกท่านพูดอะไร ? เว้นพรหมโลกเสีย
สถานที่อื่น ชื่อว่า เป็นที่เว้นมาตุคาม ย่อมไม่มี, พวกท่านจงรับเอา
ช่อฟ้าเถิด, เมื่อเป็นเช่นนั้น การงานของพวกเราก็จักถึงความสำเร็จ."
พวกเขา รับว่า " ดีละ" แล้วรับเอาช่อฟ้า สร้างศาลาให้สำเร็จแล้ว
แบ่งเป็น ๓ ส่วน ( คือ ) ในส่วนหนึ่ง สร้างเป็นที่สำหรับอยู่ของพวก
อิสรชน, ส่วนหนึ่ง สำหรับคนเข็ญใจ, ส่วนหนึ่ง สำหรับคนไข้.
เรื่องช้างเอราวัณ
ชน ๓๓ คน ให้ปูกระดาน ๓๓ แผ่น แล้วให้สัญญาช้างว่า
" ผู้เป็นแขก มานั่งบนแผ่นกระดานอันผู้ใดปูไว้, เจ้าจงพาแขกนั้นไป

ให้พักอยู่ที่เรือนของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ. การ
นวดเท้า การนวดหลัง ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ที่นอน ทุกอย่าง
จักเป็นหน้าที่ของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ."
ช้างรับผู้ที่มาแล้ว ๆ นำไปสู่เรือนของเจ้าของกระดานนั่นเทียว.
ในวันนั้น เจ้าของกระดานนั้น ย่อมทำกิจที่ควรทำแก่ผู้ที่ช้างนำไปนั้น.
นายมฆะ ปลูกต้นทองหลางต้นหนึ่งไว้ ไม่สู้ห่างศาลา แล้วปูแผ่นศิลา
ไว้ที่โคนต้นทองหลางนั้น. พวกที่เข้าไปแล้ว ๆ สู่ศาลา แลดูช่อฟ้า

อ่านหนังสือแล้ว ย่อมพูดกันว่า "ศาลาชื่อสุธรรมา " ชื่อของชน ๓๓
คนไม่ปรากฏ. นางสุนันทา คิดว่า " พวกนี้ เมื่อทำศาลาทำพวกเรา
ไม่ให้มีส่วนบุญด้วย, แต่นางสุธรรมา ก็ทำช่อฟ้าเข้าร่วมส่วนจนได้
เพราะความที่ตนเป็นคนฉลาด. เราก็ควรจะทำอะไร ๆ บ้าง, จักทำอะไร
หนอ ?" ในทันใดนั้น นางก็ได้มีความคิดดังนี้ว่า "พวกที่มาสู่ศาลา
ควรจะได้น้ำกินและน้ำอาบ, เราจะให้เขาขุดสระโบกขรณี," นางให้เขา
สร้างสระโบกขรณีแล้ว.
นางสุจิตราคิดว่า " นางสุธรรมาได้ให้ช่อฟ้า, นางสุนันทา
ได้สร้างสระโบกขรณี, เราก็ควรสร้างอะไร ๆ บ้าง เราจักทำอะไร
หนอแล ? " ทีนั้น นางได้มีความคิดดังนี้ว่า " ในเวลาที่พวกชนมาสู่
ศาลา ดื่มน้ำอาบน้ำแล้วไป ควรจะประดับระเบียบดอกไม้แล้วจึงไป,
เราจักสร้างสวนดอกไม้. " นางได้ให้เขาสร้างสวนดอกไม้อันน่ารื่นรมย์
แล้ว. ผู้ที่จะออกปากว่า "โดยมากในสวนนั้น ไม่มีต้นไม้ที่เผล็ดดอก

ออกผลชื่อโน้น" ดังนี้ มิได้มี.
ฝ่ายนางสุชาดาคิดเสียว่า "เราเป็นทั้งลูกลุงของนายมฆะ เป็น
ทั้งบาทบริจาริกา (ภริยา). กรรมที่นายมฆะนั่นทำแล้ว ก็เป็นของเรา
เหมือนกัน, กรรมที่เราทำแล้ว ก็เป็นของนายมฆะนั่นเหมือนกัน "

ดังนี้แล้ว ไม่ทำอะไร ๆ มัวแต่งแต่ตัวของตนเท่านั้น ปล่อยเวลาให้
ผ่านพ้นไปแล้ว.
มฆมาณพบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ
ฝ่ายนายมฆะ บำเพ็ญวัตตบท ๗ เหล่านี้ คือ บำรุงมารดา
บิดา ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ๑ พูดคำสัตย์ ๑ ไม่พูด
คำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ กำจัดความตระหนี่ ๑ ไม่โกรธ ๑
ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญอย่างนี้ว่า
" ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยง
มารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ใน
ตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อ
เสียด ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่มีวาจาสัตย์
ข่มความโกรธได้ นั่นแลว่า "สัปบุรุษ."
ในเวลาสิ้นชีวิต ได้เกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์. สหายของ
เขาแม้เหล่านั้น ก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน. ช่างไม้ เกิดเป็นวิศวกรรม
เทพบุตร.
เทวดากับอสูรทำสงครามกัน
ในกาลนั้น พวกอสูรอยู่ในภพดาวดึงส์ อสูรเหล่านั้น คิดว่า
" เทพบุตรใหม่ ๆ เกิดแล้ว" จึงเตรียม (เลี้ยง) น้ำทิพย์. ท้าวสักกะ
ได้ทรงนัดหมายแก่บริษัทของพระองค์ เพื่อประสงค์มิให้ใคร ๆ ดื่ม.

พวกอสูรดื่มน้ำทิพย์เมาทั่วกันแล้ว. ท้าวสักกะทรงดำริว่า " เราจะต้อง

การอะไร ? ด้วยความเป็นราชาอันทั่วไปด้วยเจ้าพวกนี้ " ทรงนัดหมาย
แก่บริษัทของพระองค์แล้ว ให้ช่วยกันจับอสูรเหล่านั้นที่เท้าทั้งสองให้
เหวี่ยงลงไปในมหาสมุทร. อสูรเหล่านั้นมีศีรษะปักดิ่งตกลงไปในสมุทร
แล้ว, ขณะนั้น อสูรวิมานได้เกิดที่พื้นภายใต้แห่งเขาสิเนรุ ด้วยอานุภาพ
แห่งบุญของพวกเขา. ต้นไม้ชื่อจิตตปาลิ ( ไม้แคฝอย) ก็เกิดแล้ว.
แลเมื่อสงครามระหว่างเทวดาและอสูร (ประชิดกัน), ครั้นเมื่อ
พวกอสูรปราชัยแล้ว, ชื่อว่า เทพนครในชั้นดาวดึงส์ประมาณหมื่นโยชน์
เกิดขึ้นแล้ว. และในระหว่างประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแห่ง
พระนครนั้น มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์, ระหว่างประตูด้านทิศใต้และ
ทิศเหนือ ก็เท่านั้น. อนึ่ง พระนครนั้นประกอบด้วยประตูพันหนึ่ง ประดับ
ด้วยอุทยานและสระโบกขรณี. ปราสาทนามว่า เวชยันต์ สูง ๗๐๐ โยชน์
แล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ประดับด้วยธงทั้งหลาย สูง ๓๐๐ โยชน์
(แก้ว ๗ ประการ คือ แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วประพาฬ แก้วมุกดา แก้ววิเชียร
แก้วผลึก แก้วหุง. )
ผุดขึ้นด้วยผลแห่งศาลาในท่ามกลางพระนครนั้น, ที่คันเป็นทอง ได้มีธง
เป็นแก้วมณี, ที่คันเป็นแก้วมณี ได้มีธงเป็นทอง, ที่คันเป็นแก้วประพาฬ
ได้มีธงเป็นแก้วมุกดา, ที่คันเป็นแก้วมุกดา ได้มีธงเป็นแก้วประพาฬ,
ที่คันเป็นแก้ว ๗ ประการ ได้มีธงเป็นแก้ว ๗ ประการ. ธงที่ตั้งอยู่

กลาง ได้มีส่วนสูง ๓๐๐ โยชน์ ปราสาทสูงพันโยชน์ ล้วนแล้วด้วย

แก้ว ๗ ประการ เกิดแล้วด้วยผลแห่งศาลา ด้วยประการฉะนี้.
ต้นปาริฉัตตกะ มีปริมณฑล (แผ่ไป) ๓๐๐ โยชน์โดยรอบ
เกิดขึ้นด้วยผลแห่งการปลูกต้นทองหลาง. บัณฑุกัมพลศิลา มีสีดังดอก(ชยสุมนะ
ชื่อต้นไม้ดอกแดง เช่นต้นเซ่งและหงอนไก่เป็นต้น.)ชัย-
พฤกษ์สีครั่งและสีบัวโรย(ปาฏลิสีแดงเจือขาว.) โดยยาว ๖๐ โยชน์ โดยกว้าง ๕๐ โยชน์ หนา
๑๕ โยชน์ ที่กึ่งแห่งพระวรกายยุบลงในเวลาประทับนั่ง ฟูขึ้นเต็มที่อีก
ในเวลาเสด็จลุกขึ้น เกิดขึ้นแล้วที่โคนไม้ปาริฉัตตกะ ด้วยผลแห่งการปู
แผ่นศิลา.
เทพบุตร ๓๓ องค์นั่งบนกระพองช้างเอราวัณ
ส่วนช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อเอราวัณ. แท้จริง สัตว์ดิรัจฉาน
ทั้งหลาย ย่อมไม่มีในเทวโลก; เพราะฉะนั้น ในเวลาท้าวสักกะเสด็จ
ออกเพื่อประพาสพระอุทยาน เทพบุตรนั้น จึงจำแลงตัวเป็นช้างชื่อ
เอราวัณ สูงประมาณ ๑๕๐ โยชน์. ช้างเทพบุตรนั้น นิรมิตกระพอง
๓๓ กระพอง เพื่อประโยชน์แก่ชน ๓ คน, ในกระพองเหล่านั้น
กระพองหนึ่ง ๆ โดยกลมประมาณ ๓ คาวุต โดยยาวประมาณกึ่งโยชน์.
แดงอ่อนชมพู เสตรตฺตมิสฺโส ปาฏโล นาม. อภิ. หน้า ๑๖๗.
ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตกระพองชื่อสุทัศนะประมาณ ๓๐ โยชน์ ในท่ามกลาง

กระพองทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ท้าวสักกะ เบื้องบนแห่งกระ-
พองนั้น มีมณฑปแก้วประมาณ ๑๒ โยชน์ ธงขลิบด้วยแก้ว ๗ ประการ
สูงโยชน์หนึ่ง ตั้งขึ้นในระหว่าง ๆ (เป็นระยะ ๆ) ในมณฑปแก้วนั้น.

ข่ายแห่งกระดิ่งที่ถูกลมอ่อน ๆ พัดแล้ว มีเสียงกังวานปานเสียงทิพย์สังคีต
ประสานด้วยเสียงดนตรีอันมีองค์ ๕ ห้อยอยู่ที่ริมโดยรอบ. บัลลังก์
แก้วมณีประมาณโยชน์หนึ่งเป็นพระแท่น ที่เขาจัดไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อ
ท้าวสักกะ ในท่ามกลางมณฑป, ท้าวสักกะย่อมประทับนั่งเหนือบัลลังก์
นั้น เทพบุตร ๓๓ องค์นั่งบนรัตนบัลลังก์ ในกระพองของตน. บรรดา
กระพอง ๓๓ กระพอง ในกระพองหนึ่ง ๆ ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตงา
กระพองละ ๗ งา, ในงาเหล่านั้น งาหนึ่ง ๆ ยาวประมาณ ๕๐ โยชน์,
ในงาหนึ่ง ๆ มีสระโบกขรณี (งาละ) ๗ สระ, ในสระโบกขรณีแต่ละ
สระ มีกอบัวสระละ ๗ กอ, ในกอหนึ่ง ๆ มีดอกบัวกอละ ๗ ดอก,
ในดอกหนึ่ง ๆ มีกลีบดอกละ ๗ กลีบ, ในกลีบหนึ่ง ๆ (มี) เทพธิดา
ฟ้อนอยู่ ๗ องค์: มหรสพฟ้อนย่อมมีบนงาช้าง ในที่ ๕๐ โยชน์โดยรอบ
อย่างนี้แล. ท้าวสักกเทวราชเสวยยศใหญ่เสด็จเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้.
ภริยาของมฆมาณพ ๓ คนก็เกิดในภพดาวดึงส์
แม้นางสุธรรมา ถึงแก่กรรมแล้ว(กาลํ กตฺวา ทำกาละแล้ว.) ก็ได้ไปเถิดในภพดาวดึงส์นั้น
เหมือนกัน. เทวสภาชื่อสุธรรมา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ได้เกิดแล้ว

แก่นาง. ได้ยินว่า ชื่อว่าสถานที่อื่น อันน่าปลื้มใจกว่านั้น ย่อมไม่มี.
ในวันอัฏฐมี (ดิถีที่ ๘) แห่งเดือน มีการฟังธรรม ในที่นั้นนั่นเอง.
จนกระทั่งทุกวันนี้ ชนทั้งหลาย เห็นสถานที่อันน่าปลื้มใจแห่งใดแห่งหนึ่ง
เข้า ก็ยังกล่าวกันอยู่ว่า "เหมือนเทวสภาชื่อสุธรรมา."
แม้นางสุนันทา ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้น

เหมือนกัน. สระโบกขรณีชื่อสุนันทา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เกิดแล้ว
แก่นาง.
แม้นางสุจิตรา ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้น
เหมือนกัน. สวนชื่อจิตรลดา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ที่พวกเทพดา
พาเหล่าเทพบุตรผู้มีบุรพนิมิตเกิดแล้วให้หลงเที่ยวไปอยู่ เกิดแล้วแม้แก่
นาง.
ท้าวสักกะโอวาทนางสุชาดาผู้เป็นนางนกยาง
ส่วนนางสุชาดา ถึงแก่กรรมแล้ว เกิดเป็นนางนกยางในซอกเขา
แห่งหนึ่ง. ท้าวสักกะทรงตรวจดูบริจาริกาของพระองค์ ทรงทราบว่า
" นางสุธรรมาเกิดแล้วในที่นี้เหมือนกัน. นางสุนันทาและนางสุจิตรา
ก็อย่างนั้น," พลางทรงดำริ (ต่อไป) ว่า "นางสุชาดาเกิดที่ไหนหนอ ?"
เห็นนางเกิดในซอกเขานั้นแล้ว ทรงดำริว่า " นางสุชาดานี้เขลา ไม่ทำ
บุญอะไร ๆ บัดนี้เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน, แม้บัดนี้ ควรที่เราจะให้นาง

ทำบุญแล้วนำมาไว้เสียที่นี้" ดังนี้แล้ว จึงทรงจำแลงอัตภาพ เสด็จไป
ยังสำนักของนางด้วยเพศที่เขาไม่รู้จัก ตรัสถามว่า "เจ้าเที่ยวทำอะไรอยู่
ที่นี้ ?"
นางนกยาง. นาย ก็ท่านคือใคร ?
ท้าวสักกะ. เรา คือมฆะ สามีของเจ้า.
นางนกยาง. ท่านเกิดที่ไหน ? นาย.
ท้าวสักกะ เราเกิดในดาวดึงสเทวโลก. ก็เจ้ารู้สถานที่เกิดแห่ง
หญิงสหายของเจ้าแล้วหรือ ?
นางนกยาง. ยังไม่ทราบ นาย.

ท้าวสักกะ. หญิงแม้เหล่านั้น ก็เกิดในสำนักของเราเหมือนกัน
เจ้าจักเยี่ยมหญิงสหายของเจ้าไหมเล่า ?
นางนกยาง. หม่อมฉันจักไปในที่นั้นได้อย่างไร ?
ท้าวสักกะ ตรัสว่า " เราจักนำเจ้าไปในที่นั้น" ดังนี้แล้ว นำ
ไปสู่เทวโลก ปล่อยไว้ริมฝั่งสระโบกขรณีที่ชื่อนันทา ตรัสบอกแก่
พระมเหสีทั้งสามนอกนี้ว่า " พวกหล่อนจะดูนางสุชาดาสหายของพวก
หล่อนบ้างไหม ?"
มเหสี. นางอยู่ที่ไหนเล่า ? พระเจ้าข้า.
ท้าวสักกะ. อยู่ริมฝั่งโบกขรณีชื่อนันทา.
พระมเหสีทั้งสามนั้น เสด็จไปในที่นั้น ทำการเยาะเย้ยว่า "โอ
รูปของแม่เจ้า, โอ ผลของการแต่งตัว; คราวนี้ ท่านทั้งหลายจงดู
จะงอยปาก, ดูแข้ง ดูเท้า ของแม่เจ้า, อัตภาพของแม่เจ้าช่างงามแท้ "

ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป.
ท้าวสักกะ เสด็จไปสำนักของนางอีก ตรัส (ถาม) ว่า " เจ้า
พบหญิงสหายแล้วหรือ ?" เมื่อนางทูลว่า "พระมเหสีทั้งสามนั้น หม่อมฉัน
ได้พบแล้ว (เขาพากัน) เยาะเย้ยหม่อมฉันแล้วก็ไป, ขอพระองค์โปรด
นำหม่อมฉันไปที่ซอกเขานั้นตามเดิมเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ทรงนำนางนั้น
ไปที่ซอกเขาตามเดิม ปล่อยไว้ในนั้นแล้ว ตรัสถามว่า " เจ้าเห็นสมบัติ
ของหญิงทั้งสามนั้นแล้วหรือ ?"
นางนกยาง. หม่อมฉันเห็นแล้ว พระเจ้าข้า.
ท้าวสักกะ. แม้เจ้าก็ควรทำอุบายอันเป็นเหตุให้เกิดในที่นั้น.
นางนกยาง. จักทำอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า.
ท้าวสักกะ. เจ้าจักรักษาโอวาทที่เราให้ไว้ได้ไหม ?

นางนกยาง. รักษาได้ พระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะก็ประทานศีล ๕ แก่นาง แล้วตรัสว่า
" เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาเถิด" ดังนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป.
จำเดิมแต่นั้นมา นาง ( เที่ยว) หากินแต่ปลาที่ตายเองเท่านั้น.
โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะ เสด็จไปเพื่อทรงประสงค์จะลองใจ
นาง จึงทรงจำแลงเป็นปลาตายนอนหงายอยู่หลังหาดทราย. นางเห็นปลา
นั้นแล้ว ได้คาบเอา ด้วยสำคัญว่า " ปลาตาย" ในเวลาจะกลืน
ปลากระดิกหางแล้ว. นางรู้ว่า "ปลาเป็น" จึงปล่อยเสียในน้ำ. ท้าวสักกะ
ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้ว จึงทรงทำเป็นนอนหงายข้างหน้า

นางอีก นางก็คาบอีก ด้วยสำคัญว่า "ปลาตาย" ในเวลาจะกลืน
เห็นปลายังกระดิกหางอยู่ จึงปล่อยเสีย ด้วยรู้ว่า "ปลาเป็น." ท้าสักกะ
ทรงทดลองอย่างนี้ (ครบ) ๓ ครั้งแล้ว ตรัสว่า " เจ้ารักษาศีลได้ดี"
ให้นางทราบพระองค์แล้ว ตรัสว่า " เรามาเพื่อประสงค์จะลองใจเจ้า,
เจ้ารักษาศีลได้ดี, เมื่อรักษาได้อย่างนั้น ไม่นานเท่าไร ก็จักเกิดในสำนัก
ของเราเป็นแน่ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด" ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.
นางสุชาดาท่องเที่ยวอยู่ในภพต่าง ๆ
จำเดิมแต่นั้นมา นางได้ปลาที่ตายเองไปบ้าง ไม่ได้บ้าง, เมื่อ
ไม่ได้ โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ซูบผอม ทำกาละแล้วเกิดเป็น
ธิดาของช่างหม้อในเมืองพาราณสี ด้วยผลแห่งศีลนั้น.
ต่อมา ในเวลาที่นางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี ท้าวสักกะทรงคำนึง
ถึงว่า "นางเกิดที่ไหนหนอ ?" (ได้) เห็นแล้ว ทรงดำริว่า "บัดนี้

ควรที่เราจะไปที่นั้น" ดังนี้แล้ว จึงทรงเอาแก้ว ๗ ประการ ซึ่งปรากฏ
โดยพรรณคล้ายฟักทอง บรรทุกยานน้อย ขับเข้าไปในเมืองพาราณสี
เสด็จไปยังถนนป่าวร้องว่า " ท่านทั้งหลาย (มา) เอาฟักทองกันเถิด,"
แต่ตรัสกะผู้เอาถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้นมาว่า "ข้าพเจ้าไม่ให้ด้วย
ราคา," เมื่อเขาทูลถามว่า " ท่านจะให้อย่างไร ?" ตรัสว่า " ข้าพเจ้า
จะให้แก่สตรีผู้รักษาศีล."

พวกพลเมือง. นาย ชื่อว่าศีลเป็นเช่นไร ? สีดำหรือสีเขียว
เป็นต้น.
ท้าวสักกะ. พวกท่านไม่รู้จักศีลว่า ' เป็นเช่นไร ' จักรักษาศีล
นั้นอย่างไรได้เล่า ? แต่เราจักให้แก่สตรีผู้รักษาศีล.
พวกพลเมือง. นาย ธิดาของช่างหม้อนั้น เที่ยวพูดอยู่ว่า 'ข้าพเจ้า
รักษาศีล,' จงให้แก่สตรีนั้นเถิด.
แม้ธิดาของช่างนั้น ก็ทูลพระองค์ว่า "ถ้ากระนั้น ก็ให้แก่
ฉันเถิด นาย."
ท้าวสักกะ. เธอ คือใคร ?
ธิดาช่างหม้อ. ฉันคือสตรีผู้ไม่ละศีล ๕.
ท้าวสักกะ. ฟักทองเหล่านั้น ฉันก็นำมาให้จำเพาะเธอ.
ท้าวสักกะ ทรงขับยานน้อยไปเรือนของนางแล้ว ประทานทรัพย์
ที่เทวดาพึงให้โดยพรรณอย่างฟักทอง ทำมิให้คนพวกอื่นลักเอาไปได้
ให้รู้จักพระองค์แล้ว ตรัสว่า " นี้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิตของเธอ. เธอจง
รักษาศีล ๕ อย่าได้ขาด" แล้วเสด็จหลีกไป.

นางสุชาดาธิดาของอสูร
ฝ่ายธิดาของช่างหม้อนั้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของ
ผู้มีเวรต่อท้าวสักกะ เป็นธิดาของอสูรผู้หัวหน้าในภพอสูร และเพราะความ
ที่นางรักษาศีลดีแล้วใน ๒ อัตภาพ นางจึงได้เป็นผู้มีรูปสวย มีพรรณ
ดุจทองคำ ประกอบด้วยรูปสิริอันไม่สาธารณ์ (ทั่วไป). จอมอสูรนามว่า

เวปจิตติ พูดแก่ผู้มาแล้ว ๆ ว่า " พวกท่านไม่สมควรแก่ธิดาของข้าพเจ้า "
แล้วก็ไม่ให้ธิดานั้นแก่ใคร ๆ คิดว่า " ธิดาของเรา จักเลือกสามีที่สมควร
แก่ตนด้วยตนเอง" ดังนี้แล้ว จึงให้พลเมืองที่เป็นอสูรประชุมกัน แล้ว
ได้ให้พวงดอกไม้ในมือของธิดานั้น ด้วยการสั่งว่า " เจ้าจงรับผู้สมควร
แก่เจ้าเป็นสามี."
ท้าวสักกะปลอมเป็นอสูรชิงนางสุชาดา
ในขณะนั้น ท้าวสักกะ ทรงตรวจดูสถานที่นางเกิด ทราบประพฤติ
เหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า " บัดนี้ สมควรที่เราจะไปนำเอานางมา "
ดังนี้แล้ว ได้ทรงนิรมิตเพศเป็นอสูรแก่ ไปยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท. แม้นาง
อสุรกัญญานั้น เมื่อตรวจดูข้างโน้นและข้างนี้ พอพบท้าวสักกะนั้น ก็เป็น
ผู้มีหทัยอันความรักซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปุพเพสันนิวาสท่วมทับแล้ว ดุจ
ห้วงน้ำใหญ่ ก็ปลงใจว่า " นั่น สามีของเรา " จึงโยนพวงดอกไม้ไป
เบื้องบนท้าวสักกะนั้น. พวกอสูรนึกละอายว่า " พระเจ้าอยู่หัวของพวกเรา
ไม่ได้ผู้ที่สมควรแก่พระธิดาตลอดกาลประมาณเท่านี้ บัดนี้ได้แล้ว, ผู้ที่
แก่กว่าปู่นี้แล สมควรแก่พระธิดาของท้าวเธอ" ดังนี้แล้ว จึงหลีกไป.
ฝ่ายท้าวสักกะ ทรงจับอสุรกัญญานั้นที่มือแล้ว ทรงประกาศว่า

" เรา คือท้าวสักกะ" แล้วทรงเหาะไปในอากาศ.
พวกอสูรรู้ว่า " พวกเราถูกสักกะแก่ลวงเสียแล้ว" จึงพากันติดตาม

ท้าวสักกะนั้นไป. เทพบุตรผู้เป็นสารถีนามว่ามาตลี นำเวชยันตรถมาพัก
ไว้ในระหว่างทาง. ท้าวสักกะทรงอุ้มนางขึ้นในรถนั้นแล้ว บ่ายพระพักตร์
สู่เทพนคร เสด็จไปแล้ว. ครั้นในเวลาที่ท้าวสักกะนั้น เสด็จถึงสิมพลิวัน(ป่าไม้งิ้ว.)
ลูกนกครุฑได้ยินเสียงรถ (ตกใจ) กลัวร้องแล้ว. ท้าวสักกะได้ทรง
สดับเสียงสูกนกครุฑเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามมาตลีว่า " นั่นนกอะไรร้อง ?"
มาตลี. ลูกนกครุฑ พระเจ้าข้า.
ท้าวสักกะ. เพราะเหตุไร มันจึงร้อง ?
มาตลี. เพราะได้ยินเสียงรถแล้ว กลัวตาย.
ท้าวสักกะ ตรัสว่า "อาศัยเราผู้เดียว นกประมาณเท่านี้ถูกความ
เร็วของรถให้ย่อยยับไปแล้ว มันอย่าฉิบหายเสียเลย, เธอจงกลับรถเสีย
เถิด."
มาตลีเทพบุตรนั้น ให้สัญญาแก่ม้าสินธพพันหนึ่งด้วยแส้ กลับ
รถแล้ว. พวกอสูรเห็นกิริยานั้น คิดว่า " ท้าวสักกะแก่ หนีไปตั้งแต่
อสุรบุรี บัดนี้ กลับรถแล้ว, เธอจักได้ผู้ช่วยเหลือเป็นแน่" จึงกลับ
เข้าไปสู่อสูรบุรีตามทางที่มาแล้วนั่นแล ไม่ยกศีรษะขึ้นอีก.
ฝ่ายท้าวสักกะ ทรงนำนางสาวอสูรชื่อสุชาดาไปเทพนครแล้ว ทรง
สถาปนาไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง. นางทูลขอพรกะ
ท้าวสักกะว่า "ขอเดชะพระมหาราชเจ้า มารดาบิดาหรือพี่ชายพี่หญิงของ
หม่อมฉัน ในเทวโลกนี้ ไม่มี; พระองค์จะเสด็จไปในที่ใด ๆ พึง


(ทรงพระกรุณา) พาหม่อมฉันไปในที่นั้น ๆ (ด้วย) ท้าวเธอได้ประ-
ทานปฏิญญาแก่นางว่า "ได้."
พวกอสูรกลัวท้าวสักกะ
ก็จำเดิมแต่นั้นมา เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรประสงค์จะรบ
กะท้าวสักกะ ขึ้นมาเพื่อหมายจะต่อยุทธ ด้วยสำคัญว่า " เป็นเวลาที่
ดอกปาริฉัตตกทิพย์ของพวกเราบาน" ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่
พวกนาคในภายใต้สมุทร. ถัดนั้น พวกครุฑ, ถัดนั้น พวกกุมภัณฑ์,
ถัดนั้น พวกยักษ์, ถัดนั้น ท้าวจตุมหาราช, ส่วนชั้นบนกว่าทุก ๆ ชั้น
ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์ ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ไว้ที่ทวารแห่ง
เทพนคร. พวกอสูรแม้ชำนะพวกนาคเป็นต้นมาแล้ว เห็นรูปจำลอง
พระอินทร์มาแต่ไกล ก็ย่อมหนีไป ด้วยเข้าใจว่า "ท้าวสักกะเสด็จออก
มาแล้ว."
อานิสงส์ความไม่ประมาท
พระศาสดาตรัสว่า "มหาลิ มฆมาณพปฏิบัติอัปปมาทปฏิปทา
อย่างนี้; ก็แล มฆมาณพนั่น ไม่ประมาทอย่างนี้ จึงถึงความเป็นใหญ่
เห็นปานนี้ ทรงเสวยราชย์ในเทวโลกทั้งสอง, ชื่อว่าความไม่ประมาทนั่น
บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว, เพราะว่า การ
บรรลุคุณวิเศษซึ่งเป็นโลกิยะและโลกุตระแม้ทั้งหมดย่อมมีได้ เพราะอาศัย
ความไม่ประมาท " ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

๗. อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิโต สทา.
"ท้าวมฆวะ ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดา

ทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท; บัณฑิตทั้งหลาย
ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท, ความประมาท
อันท่านติเตียนทุกเมื่อ."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาเทน คือ เพราะความไม่
ประมาทที่ทำไว้ ตั้งต้นแต่แผ้วถางภูมิประเทศในอจลคาม.
บทว่า มฆวา เป็นต้น ความว่า มฆมาณพ ซึ่งปรากฏว่า
" มฆวะ" ในบัดนี้ ชื่อว่า ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย
เพราะความเป็นราชาแห่งเทวโลกทั้งสอง.
บทว่า ปสํสนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ย่อมชมเชย สรรเสริญความไม่ประมาทอย่างเดียว.
ถามว่า " เพราะเหตุไร ?"
วิสัชนาว่า " เพราะความไม่ประมาท เป็นเหตุให้ได้คุณวิเศษที่เป็น
โลกิยะและโลกุตระทั้งหมด."
บาทพระคาถาว่า ปมาโท ครหิโต สทา ความว่า ส่วนความ
ประมาท อันพระอริยะเหล่านั้นติเตียน คือนินทาแล้ว เป็นนิตย์.
ถามว่า " เพราะเหตุไร ?"
วิสัชนาว่า " เพราะความประมาทเป็นต้นเค้าของความวิบัติทุกอย่าง."
จริงอยู่ ความเป็นผู้โชคร้ายในมนุษย์ก็ดี การเข้าถึงอบายก็ดี ล้วนมีความ

ประมาทเป็นมูลทั้งนั้น ดังนี้.
ในเวลาจบคาถา เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ ทรงดำรงอยู่ในโสดา-
ปัตติผลแล้ว. แม้บริษัทผู้ประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้เป็นพระอริยบุคคล
มีพระโสดาบันเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องท้าวสักกะ จบ.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 34 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร