วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2010, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ปัจจุบันธรรม

หลวงพ่อชา สุภทฺโท
แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท วัดหนองป่าพง
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑



เราจะไม่ต้องพนมมือก็ได้ ถ้าท่านตั้งอกตั้งใจฟังธรรม นี่ก็เป็นทางหนึ่ง
ฟังธรรมเนี่ยไม่ใช่มากหรอก คำสองคำมันก็ไปได้เหมือนกัน
แต่ให้เข้าใจในธรรมะอันนั้น อะไรมันเป็นธรรมะ
พูดง่ายๆว่าอะไรที่ไม่เป็นธรรมไม่มี มันมีธรรมทั้งนั้นแหละ
เรียกว่าธรรมมันเป็นภาษาธรรมะ เราทุกคนนี่ก็เป็นธรรม
จิตใจก็เป็นธรรม ร่างกายก็เป็นธรรม กาย วาจา ทั้งหมดเป็นธรรมทั้งนั้น
มวลหมู่มนุษย์ ทั้งหลายนี้ที่จะมารวมกันอยู่เป็นหมู่หมวดกลุ่มก้อน
ในความสบาย ในความสะดวกดีนั้น มันก็เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง


ต้นไม้ต้นหนึ่งนั้นมันมีโคนและมีลำต้น แล้วก็มีกิ่งก้านสาขา
ต้นไม้ต้นนั้นเรียกว่า ต้นไม้ จะมีแต่โคนไม่มีลำต้นมันก็เป็นไม่ได้
จะมีลำต้นกิ่งก้านสาขาไม่มี มันก็เป็นไม่ได้ รวมเป็นลำต้น
เป็นต้นไม้ก็คือมีโคน มีลำต้น มีกิ่ง ก้าน
ต้นไม้ทั้งต้นนั้นถึงแม้จะมีสามอย่างก็จริง
แต่ว่าไปรวมอยู่ที่โคนมัน เป็นหลัก
ไอ้กิ่งมันก็ดี ใบมันก็ดี มันก็อาศัยโคนเป็นอยู่


มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น มันมีกาย มีวาจา แต่ว่ามันอาศัยจิต
ซึ่งทำงานทั่ว ถึงทุกชนิด คือจิต
จิตนี้คนชอบมาบ่นทุกข์นัก แหม! จิตมันเป็นทุกข์


อาตมาที่มาอยู่ในวัดหนองป่าพงนี้ นับหลายร้อยรายมากราบ
หลวงพ่อ อิฉันเป็นทุกข์ ใจ สุขมันก็สุขใจ ทุกข์มันก็ทุกข์ใจ
ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรยังไงกัน ไอ้ความ เป็นจริงแล้วไม่น่าจะมีทุกข์นะ
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนว่าอย่าทุกข์ๆ ทุกข์ แล้วมันไม่สบาย
คืออย่าไปทำอย่างนั้นสิ ไปทำอย่างนั้นมันทุกข์
เราก็อยากจะไปทำอย่างนั้นแหละ มันก็ทุกข์



การฟังธรรมะ การประพฤติ ธรรมะปฏิบัติธรรมะ นี่ก็เพื่อจะให้พ้นทุกข์
อย่างเราทั้งหลายมาทำบุญวันนี้ ก็เหมือนกันเพื่อจะบรรเทาทุกข์
เพราะว่าทุกข์ทั้งนั้นแหละ นี่มันเป็นสิ่งที่สำคัญ
มันเกิดมาจากเหตุของมัน คือกิเลสทั้งหลาย
บางคนก็เห็นว่าไอ้ทุกข์ มันประจำอยู่ในใจนี้อยู่นานแล้ว
ใครวันนี้โยมก็ถาม อาตมาก็ตอบว่า โยม มันไม่นอนเนื่องอยู่อย่างนี้หรอก
มันเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้แต่อารมณ์ไม่ชอบใจมัน เลยทุกข์อยู่อย่างนี้
เหมือนผลมะนาว เอามันทิ้งไว้ตรงโน้นมันเปรี้ยวไหม
หรือมะขามเปียกเราเอาทิ้งไว้ตรงนั้นแล้วมันเปรี้ยวไหม มันก็ไม่เปรี้ยว
เราเอามาแตะลิ้นมันก็เปรี้ยวขึ้นเดี๋ยวนี้เอง นี่มันเป็นไปอย่างนี้
ปัจจุบันธรรมมันเป็นอย่างนี้
ไม่ใช่ไอ้ความเปรี้ยวมันนอนเนื่องอยู่ในมะขามเปียกหรอก
ไม่รู้เรื่อง ไอ้สิ่งที่มันไม่รู้ มันเกิดเมื่อมันรู้เดี๋ยวนี้
เอามาแตะลิ้นมันเปรี้ยวเกิดเดี๋ยวนี้ เปรี้ยวไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก
มันเกิดความไม่ชอบก็เกิดกิเลสเดี๋ยวนี้ กิเลสก็ไม่ใช่ว่านอนเนื่องอยู่ในใจเรา
มันเกิดเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนาธรรม
เรื่องปัจจุบันธรรมมันเป็นสิ่งที่ สำคัญเหลือเกิน


ที่เราปฏิบัติธรรมะ การมาทำบุญสุนทาน
วันนี้เรียกว่ามาบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ว่าให้รู้จัก พระพุทธศาสนา
ถ้าเรา บำรุงพุทธศาสนาเพื่อเอาบุญกันอย่างเดียวนั้น
บางทีมันก็จะไม่ถึงพุทธศาสนา
เอาบุญอย่างเดียวนั้นเราถึงชักชวนกันว่าไปสร้างบุญสร้างกุศลกัน
เราต้องฉีกมันออก แยกมันออก บุญมันเป็นยังไง กุศลมันเป็นยังไง
บุญที่ทำเอาบุญนั้น ท่านเรียกว่า มันปราศจากปัญญา
คนเราเมื่อไม่มีปัญญานั้น มันทำอะไรก็ไม่ได้ มันไม่พ้นทุกข์
ท่านเรียกว่าบุญกุศล บุญก็คือ หามารวมไว้ แบกไว้ๆ มันหนัก ไม่รู้จักทิ้ง
มันก็ทับเราตายนั่นแหละ ถ้าเรามีปัญญาเราก็ทิ้งมันออกซะ มันหนัก
มันก็เบานี่เรียกว่ากุศล อันหนึ่ง เรียกว่าบุญ รวมเข้ากันเรียกว่า บุญกุศล



ทำบุญกุศลเช่นนี้ก็เรียกบำรุงพุทธศาสนา
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราที่ท่านประทานไว้
ที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ใครเป็นพระพุทธเจ้า
อันนี้บางทีเราก็งงเหมือนกันนะ หลักของท่าน ท่านผู้สอนให้ประชุมชน
ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา คือชื่อพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ดูซิเราดูเถอะ ท่านไม่รู้ ว่าใครเป็นท่าน
เรียกท่านกันหมดทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่คนอยู่นี้ ท่านผู้สอนให้ ประชุมชน
ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา
ชื่อพระพุทธเจ้าเห็นไหม เห็นพระพุทธเจ้าไหม
ใครที่สอนในประชุมชนคือธรรมะ ธรรมะเราจึงฟังธรรมกัน
ฟังธรรมเอาความฉลาดแล้วก็เอาความสุข แล้วพิจารณารู้จักความสุขนั้น
รู้จักใช้ความสุขนั้นให้เกิดประโยชน์


เราทำไปเพื่อการปล่อยวาง คือ เอาอย่างเดียวมันทุกข์ ไม่มีปัญญา
เห็นไหม เห็นคนจน ไหม จนมันก็ทุกข์มันทุกข์แบบคนจน
เห็นคนรวยทุกข์ไหม เห็นคนรวยก็ทุกข์มัน ทุกข์แบบคนรวย
เห็นเด็กมันทุกข์ไหม เห็นมันทุกข์แบบเด็ก เห็นพ่อแม่ของเด็ก ทุกข์ไหม
ทุกข์มันทุกข์แบบพ่อแม่ของเด็ก มันเป็นเรื่องของอย่างนี้



ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงชี้ให้ประพฤติธรรมะ
ให้ปฏิบัติธรรมะเพื่อให้เราออกจากทุกข์ ออกจากวัฏสงสาร
สังสารวัฏอันนี้ไม่ใช่สิ่งทั้งหลายมันผูกเรานะ เราผูกมัน
บางคนว่าฉันพ้นทุกข์ไม่ได้หรอก ได้ซิแต่เราไม่ทำน่ะ
เราไม่ทำ ต้องมา พิจารณา ต้องเรียนธรรมะ จะต้องรู้จักธรรมะ
ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีที่เกิด มีที่เกิดมาก็ต้องมีที่ดับ
มันต้องมีที่เกิดและมีแดนเกิดทั้งนั้น ลองๆ ดูสิว่า
ธรรมทั้งหลายมันเกิดเพราะเหตุ
เมื่อไรโยมเป็นทุกข์มันเป็นทุกข์ เพราะอะไรรู้ไหม
หรือมันเกิดขึ้นมาลอยๆอย่างนั้นหรือ



เมื่อโยมเป็นสุขมันเกิดมาจากอะไรรู้ไหมที่มันเกิดมาก่อนทุกข์มันจะลำบาก
ไม่ใช่ว่าอะไรหรอก อดีตก็มี ที่เรานั่งอยู่ก็คิด
ไอ้คนนั้นก็ดูถูกเรา คนนั้นก็ นินทาเรา คนนั้นก็อิจฉาเรา
น้ำตาก็ค่อยๆซึมออกมานะ
พี่ชายก็อาศัยไม่ได้ น้องชายก็อาศัยไม่ได้
คิดไปก็น้อยใจน้ำตามันก็ซึม
ขนาดมันทำโทษให้น้ำตามันไหลออก
ยังไม่รู้จักว่ามันเกิดมาจากที่ไหน


บางทีเรานั่งอยู่คนเดียว หรือเดินไปคนเดียว
นึกถึงอารมณ์ที่ชอบใจอะไรต่างๆ บางทีก็ยิ้มออกมาเสียอย่างนี้
อะไรนั้นมันเกิดมาจากไหน มันยิ้มเองหรือ มันยิ้มเอง หรือเปล่า
ธรรมเกิดเพราะเหตุอยู่แล้ว มันเป็นแดนเกิด
มันเกิดจากเหตุทั้งหลายไม่ใช่มันเกิดมาลอยๆ มันเกิดมาเฉยๆ
อย่างนั้นพระพุทธองค์จึงจ้ำจี้จ้ำไช พวกเราซ้ำๆ ซากๆ
ให้เราเข้าไปเห็นตรงนั้น ไม่ใช่ว่ามันเกิดใหม่หรอก
สิ่งทั้งปวงในโลกนี้มันก็ไม่มีอะไรปรากฏให้มนุษย์ทั้งหลาย
ทุกข์ยากลำบาก แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน


อย่างก้อนหินก้อนนั้นมันตั้งอยู่อย่างนั้น มันก็ยังไม่หนักอะไร
เราเดินผ่านมันไปมามันก็ยังไม่หนัก เราไม่ไป เกี่ยวข้องกับมัน
ถ้าเราไปเกี่ยวข้องกับมัน พอลองยกมันขึ้นมาก็หนักทันที มันเป็นอย่างนี้
อารมณ์ทุกอย่างก็เหมือนกันเช่นนั้น ถ้าเรารู้เรื่อง ของมัน ไม่น่าจะทุกข์
เหตุมันไม่มี เหตุจะเกิดทุกข์มันไม่มี มันไม่มีอย่างนั้น



เรื่องทุกข์นี้มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถึงจนก็ ทุกข์ รวยก็ทุกข์
เป็นเด็กก็ทุกข์ แก่แล้วก็ทุกข์ ถ้าคนไม่รู้จักทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์
รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เราก็รู้ทุกคนทุกข์ แต่ว่าเรา รู้ไม่ถึง รู้ไม่ถึงทุกข์ รู้ทุกอย่างแต่ว่ารู้ไม่ถึง
ถ้าเรารู้ถึงมันแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะเป็นทุกข์ อย่างเราเห็นตนเช่นนี้ เป็นต้น
ตนเราที่นั่งอยู่ นี้ ก็เรียกว่าเห็นตนกันแล้ว ที่ว่าเราเห็นตนนี่เห็นอยู่นี่
ขาฉันอยู่ นี่ แขนฉันอยู่นี่ เพื่อนฉันอยู่นี่ เห็นอยู่ เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นตน



ความจริงที่ว่าเห็นตนนั้นไม่ใช่อย่างนี้
ตามธรรมะเห็นตนคือเห็นว่าตนนั้นมิใช่ตน เห็นตนอย่างนั้น
อันนี้แขนเรา อันนี้ขาเรา อันนี้ตัวเรา อันนี้ของเรา ทั้งนั้นแหละ
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมว่าเห็นตน
เห็นตนคือมีความรู้สึกเห็นออกจากญาณในใจของตนนั้นว่า
รู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้ไม่ใช่ตน ท่านเรียกว่าคนเห็นตน เห็นแล้วไม่แบกมัน
เห็นงูแล้วไม่จับงู พิษงูก็ไม่ตามเราไป นั่นเรียกว่าคนรู้จักงู ไอ้คนเห็นตน
อันนั้นคนนั้น อันนี้คนนี้ ไม่ใช่คนเห็นตน ก็เพราะว่าตนนั้นแหละมันไม่มี
จะเอาอะไรมาเห็นมัน มันไม่มีตน
พระพุทธเจ้าสอนว่าให้มีตน มันฟังยากเหลือเกินนะ
ความเห็นมันกลับกันอย่างนี้แหละ มันฟังยาก ดูก็ยาก


เช่นว่า คนบ้ากับพระอรหันต์นี้ มันแยกกันไม่ออก
มันเหมือนกันอย่างนั้น เพราะว่ามันสูงที่สุดกับต่ำที่สุด
มันจะอยู่ต่ำก็ช่างมันเถอะมันอยู่ที่สุด
มันสูงก็จริงแต่มันสูงอยู่ที่สุดของสูง ๒ อย่างนี้
มารวมกันแยกกันไม่ออกซะแล้ว
เหมือนบ้ากับพระอรหันต์ นี่เหมือนกันทีเดียว
แต่ว่ามันมีลักษณะเหมือนกัน แต่ว่ามีคุณธรรมต่างกัน
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านถึงที่สุดแล้ว
ท่านเห็นถึงอารมณ์ทั้งหลายท่าน ก็ยิ้มอยู่ในใจของท่านเท่านั้นแหละ
บ้าก็ถูกเขาว่าก็ยิ้มเหมือนกัน ยิ้มโดยที่ว่าไม่รู้เรื่อง
พระอรหันต์เจ้าท่านยิ้มรู้เรื่องอย่างแท้จริง มันคนละอย่างกัน
แต่ว่ามันสูงที่สุดกับต่ำที่สุดมัน เลยเข้ากัน
บางแห่งในปัจจุบัน นี้แหละ ยังมีอยู่ไปกราบบ้าๆบอๆอยู่นั่นแหละ
คิดว่าเป็นพระอรหันต์อยู่นั่นแล้ว
มันเป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น มันเป็นมาอย่างนั้น


ดังนั้น ก็เพราะเราไม่รู้จักธรรมะอันแท้จริง
ดังนั้น พระองค์ของเราท่านจึงได้สอนให้รู้จักธรรมะ
อย่างให้รู้จักผลไม้ทุกอย่างอย่างแท้จริง
ว่าละมุดมัน เป็นยังไง มังคุด มันเป็นยังไง ลำไยมันเป็นยังไง
อะไรมันเป็นยังไง ให้รู้จัก รู้จักผลไม้ให้รู้จักทั้งหมด
เมื่อเรารู้จักมันแล้วก็เอาผลไม้ทั้งหลายนี้มารวมเข้าในตะกร้าเดียวกัน
เท่านั้นแหละ ให้มันปะปนกันไปหมด
ยังไงก็ช่างมันเถอะ เราไม่หลงไม่ลืมเพราะเราจำได้แน่นอน
จะไปชี้ว่าไอ้ลางสาดมัน เป็นลำไยเราก็รู้จัก
แต่ว่ามันเยอะไปคนว่าอย่างนั้น แต่ว่าเราเฉยรู้
จะว่า ลำไยเป็นมังคุดหรือลำไยเป็นลางสาด เราก็รู้จัก แต่ไม่ท้วง



อันนี้เปรียบเหมือนว่าโลกสมมุติเดี๋ยวนี้ เราก็พูดกันอย่างนั้น
คำสอนของโลกถ้าเข้าถึงจิตของพระองค์แล้วเป็นของปลอมทั้งนั้น
คำสอนของพระอริยบุคคลเมื่อเข้าไปถึงจิตของปุถุชนแล้วก็เป็นของปลอมเหมือนกัน
ดังนั้น มันเป็นบ้ากันคนละอย่างนะ มันพูดยากเหมือนกัน
คำสอนของท่านมันไม่ค่อยเข้ากัน
อย่างนั้นพวกเราเป็นกุลบุตรลูกหลาน
จึงพิจารณามันยาก มันจึงพิจารณาลำบากเหลือเกิน


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 18 พ.ค. 2010, 16:28, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2010, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อย่างเรามาทำบุญกันอย่างนี้อยากจะได้บุญ
แหม! ทำบุญฉันมาเป็นไข้ เป็นโรคไม่หยุด
ไม่ค่อยสบายใจ เป็นโรคติดต่อกัน บุญฉันก็ไปทำอยู่เรื่อยๆ
ไม่ใช่ว่าจะมาแก้บุญตรงนี้
ไม่ใช่ไม่ให้มันเจ็บมันปวด มันคนละอย่างกัน


เราจะทำบุญในบ้านเรานี้ ให้แมวตัวนี้กลายเป็นสุนัข ให้สุนัขกลายเป็นแมว
มันคนละอย่างกัน ร่างกายนี้มันเป็นไปอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าท่านว่ามันเป็นไปอย่างนี้ มันเป็นไปตามเรื่องของมัน
ไม่ใช่ว่าเราทำบุญไม่ให้มันเจ็บมันไข้
ไม่ให้มันอะไรต่ออะไรหลายๆอย่าง มันคนละเรื่องกัน
เพราะมันเป็นอย่างนี้แหละพระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ไว้ใจมัน
ให้เราผ่านมันหนีไปซะ อย่างนี้ เรายังเสียดายอยู่ มันก็ไปไม่ได้อย่างนั้น
อันนี้ มันเป็นเรื่องของอย่างนี้


อย่างไรก็ช่างมันเถอะ ให้เข้า ใจว่าการมาทำบุญสุนทานทำเพื่ออะไร
ทำเพื่อให้มันไม่มีทุกข์ ให้มันบรรเทาทุกข์ ให้มันค่อยๆหมดไป
ถ้าทำบุญให้บรรเทาทุกข์มันต้องทำบุญด้วย ทำกุศลธรรมด้วย
ถ้าไม่ทำกุศลธรรมมันไม่มีปัญญา บุญอย่างเดียวมันเหมือนเนื้อกับปลาที่มันสดๆ
เราทิ้งไว้เฉยๆมันก็เน่าเท่านั้นแหละ อาศัยเกลือเป็นอยู่เนื้อหรือ
ปลานั้นจะมีอายุได้นาน หรือเข้าตู้เย็นซะ อย่างนี้มันเป็นซะอย่างนั้น


ปัญญานี้ท่านจึงบอกว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
นัต ถิ ตัณหา สมานที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
คำนี้ยันกันเลย ยันกัน ร้อยเปอร์เซ็นต์เท่ากันเลย ก็จริงอย่างนั้น
ความอยากนี้ไม่มีจบ ตัณหาคือความอยาก



ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า การทำก็ทำเถอะ อย่าให้มันเป็นตัณหา
การกินก็กินเถอะอย่าให้มันเป็นตัณหา การดูก็ดูเถอะอย่าให้มันเป็นตัณหา
อยู่ในโลกนี้ก็อยู่ไปเถอะ ให้มันรู้จักโลก อย่าให้มันเป็นตัณหา
คือทำโดยการปล่อยวางมันเสีย มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ
ให้คิดเสมอว่า เรามีช้อนอันหนึ่ง เอาไว้ทำไมช้อน เอาไว้ตักแกง
แต่ว่าเราไม่ทานช้อนใช่ไหม
เราเอาช้อนเข้าในปากแต่เราไม่ทานช้อนหรอก
ทานแกง ทานแล้วก็เก็บช้อนนั้นไว้อีก
ถ้ามีคนมาถามว่า เก็บช้อนไว้ทำไม เก็บไว้ซดแกง
ไม่ใช่ คุณกินช้อนสิ นี่เขาจะว่าเราก็ช่างเขา
ความเป็นจริง เรารู้จักว่าช้อนไม่ใช่ของบริโภคอย่างนี้
เรารู้เราอย่างนี้ เขาจะว่าเราเอาช้อนไปซดแกงอะไร
ไม่ทานช้อนอะไร เราก็เฉย สบาย นี่คือเรารู้อย่างชัดเจน
นี่อยู่ด้วยการปล่อย เราก็ใช้ช้อน ของเราเรื่อยไป


หรือขันตักน้ำเรานี่ น้ำอย่างหนึ่ง โอ่ง น้ำอย่างหนึ่ง ขันตักน้ำอย่างหนึ่ง
สามอย่าง สี่ก็ตัวเรา เราจะต้องดื่มน้ำ ดื่มน้ำก็เอาขันไปตัก
แต่ไม่ใช่ว่าเราไปทานขัน เสร็จแล้วก็เก็บขันนั้นไว้ โดยการปล่อยวาง
ที่ว่าขันนี้เราทานมันไม่ได้หรอก ที่เราจะดื่มมันก็คือน้ำ แล้วก็มีเก็บไว้
มีคนคนหนึ่งมาว่าเราว่าเก็บขันไว้ ไม่บริโภคอย่างนี้
เราก็สบายของเราอยู่ เพราะเราไม่เป็นอย่างนั้น


ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า อาศัยตัวเอง
คำที่ว่า ตัวเองนั้นคือไม่ใช่ตัวนั่นแหละ
ถ้าจะอาศัยตัวเอง ที่จริงๆแล้วนี่ เดี๋ยวมันก็ล้มอีกไม่กี่ปีก็ล้มนะ
เราอาศัยตัวอันนี้ มันเป็นเรื่องสมมุติซ้อนกัน
สมมุติมันซ้อนสมมุตกัน ก็ต้องเรียกตามภาษาสมมุติ คนเราเรียกว่าตน
เพื่อให้มันเป็นภาษาเฉยๆ
ความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า
ถ้าเรารู้ธรรมะให้มันจบเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา
อะไรๆมันเป็น คนละอย่างๆ ไม่ได้เกี่ยวพันกัน
แต่เราจับให้มันมาเกี่ยวพันกันซะ เราก็ไปยุ่งกับเขาซะ เราก็ไปยุ่งกับเขา
ความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายมันไม่ยุ่ง



อย่างที่ว่าก้อนหินก้อนนั้นมันนิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่ยุ่งกับเรา
มันจะยุ่งกับเรา เมื่อเราอยากจะได้ก้อนหินก้อนนั้นเท่านั้นแหละ
ตัวก้อนหินก้อนนั้นไม่ได้มีอะไร มันก็อยู่เป็นธรรมชาติอย่างนั้น
เมื่อความคิดอยากได้ก้อนหินก้อนนั้น ก็ไปยกมันก็หนักนะซิ
มันหนักเดี๋ยวนี้ หนักเมื่อเรายกเดี๋ยวนี้
เมื่อก่อนมันหนักไหม ไม่มีหนักหรอก ยังไม่เกิด มันไม่เกิดหนัก
มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันไปหนักตรงที่ว่า เราไปต้องการมัน
เราไปยุ่งกับมัน ไม่ใช่มันมายุ่งเรา ความเป็นจริงมันฝ่ายเดียวทั้งนั้นแหละ


อย่างเราใช้ถ้วยใบหนึ่งมันแตก เราเสียดาย ใครผิด ใครเป็นทุกข์
ถ้วยหรือเราเป็นทุกข์ มันไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยนะ
ถ้วยมันก็แตกไปเฉยๆ หรือมันไม่แตกก็เฉยๆ อยู่นี่แหละ
มันไม่น่าเป็นทุกข์อย่างนั้น มันคนละอย่างกัน
แต่เราว่าถ้วย เรามันแตก เป็นทุกข์นี่เพราะอะไร
มันเห็นชัดอยู่อย่างนี้ ท่านแยกออกอย่าง นี้พระพุทธเจ้าของเราน่ะ
ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้น เราไม่ไปยุ่งกับมัน
มันก็ไม่มีอะไรกับเรา มันก็หมดเรื่องกันเท่านั้น


โยม ที่มีจานมากๆ มีถ้วยมากๆอยู่ในบ้านก็ต้องพิจารณาอย่างนั้น
แต่ก็บอกลูกให้ มันระวัง ให้มันเช็ดให้สะอาด ให้เก็บให้ดี กลัวมันจะแตก
สอนลูกต้องสอนอย่างนั้น อย่าไปสอนว่าช่างมันเถอะลูก
มันจะแตกก็ช่างมันเถอะ ไม่ใช่ของเราหรอก
ไม่มีถ้วยใส่แกงนะ มันจะหมดนะ


นี่เรื่องสอนคนต้อง สอนอย่างนี้ มันเป็นคนละเรื่อง
จำเป็นที่จะต้องสอนอย่างนั้น ให้ลูกระวังนะ ลูกนะ
เก็บมันให้ดีกลัวมันจะแตก ดุมันอยู่เรื่อยๆ
แต่เราพูดอย่างใจอย่างนะ ถ้ามันแตกเพล้ง! จริงๆก็ไม่ต้องว่าอะไรมัน
แต่ว่ามันเจ็บๆเรื่อยๆ ให้มัน ระวังไว้
ไม่งั้นไม่มีเงินจะซื้ออะไรมาใช้ มันหมดไป
คือบอกให้คนปฏิบัติมุ่งธรรม มุ่งวินัยอย่างนี้
ถ้าไปสอนอย่างธรรมะสูงๆอย่างผู้ใหญ่ ถ้วยไม่มีแล้วในบ้าน
หมดแตกหมด ไม่มีใครล้างมันหรอก มันเป็นเรื่องของอย่างนี้



ดังนั้น พระพุทธเจ้าให้ฟังธรรมะแล้วเข้าใจ
ผู้รู้จักธรรมะไม่ใช่ผู้ที่เกียจคร้าน ต้องเป็นคนฉลาดและเป็นคนขยัน
เป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่ขยันพูดขยันทำ กระทำด้วยการปล่อยวาง
ทำด้วยความสงบระงับ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า
ทำงานมันก็สบาย ทำโน่นทำนี่มันก็สบาย
ที่มันเป็นสัมมาอาชีวะ มันก็สบาย
ถึงแม้มันหนักหน่อยมันก็สบาย เพราะโทษตรงนั้นไม่มี
อย่างนี้ ทิฐิคือ ความเห็น
มานะคือความไปยึดไว้ สองอย่างนี้มันเกาะกัน


ทิฐินี้พระพุทธเจ้าไม่ต้องอะไรหรอก ดูที่ ในใจของเรา
ความเห็นวันหนึ่งมันเกิด ยังไงบ้างมั้ย
ที่มันเกิดขึ้นมานี่เราตามดูมันได้ไหม นี่มันเกิดความคิด หลายๆอย่าง
แต่อย่างไรก็ช่างมันเถอะ ตัวมานะที่เข้าไปยึดมันเป็นตัวที่สำคัญมากที่สุด
ดีชั่วเราอย่าไปยึดมัน อย่าไปยึดมัน ให้ดูมันเถอะ
พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปยึดมัน ทิฐิแปลว่า ความเห็น
ถ้าทิฐิไม่ฟังใครมันก็เป็นมานะ ความเป็นจริงท่านให้ปล่อยวาง
ถ้ามนุษย์เรามาคิดเราปล่อยวางเราจะเอาอะไร อย่างนี้เป็นต้น
มันก็ลำบาก ยังไม่เข้าใจธรรมะ


อย่างพระพุทธองค์ท่านสอน อย่างคนเราถ้าหากว่า
ทำสิ่งไม่ดีจะตายไม่ได้เกิดหรอก เสียใจซะแล้วตกใจ กลัวจะไม่ได้เกิด
ความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่ามาเกิดนั่นนะมันดี
ถ้าเราไม่ได้เกิดแล้วกลัวจะไม่ได้เห็นหน้าลูก หน้าหลาน
อะไรวุ่นขึ้นมาเลย เราไม่คิดหรือว่าที่เราทุกข์ทุกวันนี้
เพราะเราเกิดมาเราจึงมีทุกข์เกิดขึ้นมา
ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ ทุกข์เพราะการเกิดมา
ถ้าหากว่าคนเราบางคนคิดว่ามันบาปไม่รู้จักผุดจักเกิดแล้ว
ก็เข้าแง่ของพระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ให้เกิด มันเป็นอย่างนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2010, 16:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทีนี้ ความเกิดคือคนเราอยากจะเกิดมา
เมื่อเกิดมาแล้วไม่ให้เราเป็นโรคเป็นภัย ให้อยู่สบาย
อายุก็ให้ยืนๆ มันคิดไปซะอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านว่า เหตุตายคือเหตุเกิดนั่นแหละ
ที่มันเกิดมานั้นคือสมัครตายแล้วอย่างนี้
อย่างวัตถุที่ยังไม่มีมาในมือเราเดี๋ยวนี้
พอเราแสวงหามาได้มา นี้แหละมันจะแตกแล้ว มันจะหายแล้ว
เพราะอะไร เพราะมันมีอยู่ ที่มันมี
อย่างกระโถน นี้ถ้าซื้อมาใหม่ๆ ว่ามันแตกแล้ว
พระเห็นว่ากระโถนแตกแล้วนะ แต่เราเห็นว่า กระโถนนี้ไม่แตก
ความเห็นต่างกันนะ คนหนึ่งใช้กระโถนไม่แตก
คนหนึ่งใช้ กระโถนแตกไปด้วยกัน
เอาสิ มันหลุดมือเราวันหนึ่งก็กระโถนมันแตก
ผู้ที่รู้ ว่ามันแตกมาก่อนแล้ว
ไอ้ที่ว่าไม่แตกก็เพิ่งแตกเดี๋ยวนี้ก็ร้องไห้ อย่างนั้นเห็นก่อน


เมื่อมันเกิดมาแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านสอนว่า
อยากจะให้มันพ้นจากความเกิดนั่นแหละ
แต่ยังไงๆมันก็อยากเกิดขึ้นมาอยู่นั่นแหละ มันอดไม่ได้
ถ้าจะเกิดขึ้นมาแล้วมีอะไรบ้างไหมล่ะ
มันแสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก
สารพัดอย่างเราก็ยังไม่เห็นโทษมัน
ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไงก็ไม่ รู้จัก ไม่เห็นโทษมัน


ทำไมเราจะเห็นโทษมัน เราจะต้องประพฤติปฏิบัติพิจารณา
ให้มันเข้ารูปของธรรมะของพระพุทธเจ้า
เดี๋ยวนี้พุทธบริษัททั้งหลายยังไม่เห็นพร้อมกับพระพุทธเจ้า
เทศน์ไปก็ขัดไปเรื่อยนะ อย่างเราตายไม่เกิดนี่แหละ
คือมันไม่ให้เกิดมานะ
ถ้ามันมีแล้วมันเป็นเหตุ คำสอนของท่าน ที่สุดของท่าน


มานะ ความยึดไว้เป็นผู้เลิศกว่า
เขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง
เป็นผู้ที่เลิศกว่าเขา เห็นว่าเสมอเขาก็ยังไม่ถูกอีก
เป็นผู้เลิศกว่าเขาสำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ก็ไม่ใช่อีก
เป็นผู้ที่เลวกว่าเขาสำคัญตัวว่าดีกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่อีก แหละ
เป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าดีกว่าเขา นี่ก็ไม่ใช่
เป็นผู้เสมอเขาสำคัญ ตัวว่าเสมอเขา อันนี้ก็ยังไม่ใช่อยู่อีก
เป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเลวกว่า เขาอันนี้ก็ไม่ใช่อีก
เป็นผู้เลวกว่าเขาสำคัญตัวว่าดีกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ ใช่
เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา อันนี้ก็ไม่ใช่
เป็นผู้เลวกว่า เขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขานี้ก็ยังไม่ใช่อีก
เอาอะไรกันมั้ยทีนี้ ตรงไหนที่ เราจะเอาไปมั้ย


เรามาดูซะ ท่านจึงเห็นว่าเหตุนี้มีไม่มี
มีไม่มี อย่าให้มันมี มีให้มันมีไม่มี มีเหมือนกับไม่มีอย่างนี้
ก็เรียกว่ามันหมดนั่นแหละ มานะ ๙ ทั้งหลายท่านให้ทิ้งมันซะ คือไม่มีอะไร
ถ้ามีอะไรอยู่ มันก็ยังมีอะไรอยู่นั่นเองแหละ


อันนี้พูดถึง ที่สุขมันนะ แต่เราพูดถึงคนเราที่อยากจะมีความสุข
อยากจะร่ำจะรวย อันนี้ เรียกว่ามันไม่พ้นทุกข์คือบุญ
อย่างนั้นท่านให้สร้างบุญไปด้วย
พิจารณาไปด้วย คือกุศลคือปัญญา ไม่ใช่ทำลาย


คล้ายๆกับวิธีเลข มัน มีคูณ มันมีบวก มันมีลบ มีหาร
มันถึงจะได้จำนวนมันที่เราชอบใจตามจำนวนของเลข อันนี้เราไม่เอา
มีวิธีคูณอย่างเดียว มันไม่มีที่ใส่เห็นมั้ยล่ะ
วิธีคูณกับวิธีบวกรวมกันเข้าไปเรื่อยๆ
วิธีลบไม่มี วิธีแบ่งก็ไม่ค่อยจะมีซะด้วยนะ
ถ้ามีวิธีแบ่งมันก็เบา วิธีลบมันก็เบา
มันมีวิธีบวกกับวิธีคูณ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
เท่านั้นแหละเห็นไหม มันจะเกิดว่า
กลับเข้ามามันจะเห็นแก่ตัว มันเป็นไปอย่างนั้น



การทำบุญกุศลนี้มันถึงมีสองคำ
กุศล คือ ทำไปให้มีความฉลาดขึ้น
ให้มีความรู้รอบคอบในสิ่งที่เราได้มานั้น
ให้รู้จัก เช่นว่าครอบครัวของเรานี้ เราได้ขึ้นมาครอบครัวนี่ จะต้องมีปัญญา
สามารถที่รักษาครอบครัวของเรานี้ให้มันคุ้ม
กลับไปบ้านเขาถามว่าบุญอยู่ที่ไหน ไม่รู้เรื่อง
บุญหรือไปกราบพระ ยายไปกราบพระ เขาถาม แม่ไปกราบพระที่ไหน
ตอบหลานไม่ได้ บุญนี้ก็ตอบไม่ได้ก็เพราะว่าเราไม่รู้จักบุญนั้นเอง
ทำไปเพื่อทำกันไปเรื่อยๆ อันนั้นเราเป็นพุทธบริษัทที่ฝึกหัดนี้อย่าให้มันหลง
เหมือนผลไม้ในตะกร้า หลายชนิดก็ช่างมันเถอะ
จะไปเทรวมกันเป็นกองๆ เราก็ ไม่หลงหรอก


ผู้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา
รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วไม่หลง
มันจะเป็นไปอย่างไรก็ไม่หลง เหมือนเรารู้จักผลไม้นานาชนิด
เอาลงตะกร้าเดียวกันมันจะทับกันอยู่ก็ช่างมันเถอะ
เรารู้มันชัดเจนแล้วผลอะไรต่ออะไรเรารู้ เราชี้ถูกทั้งนั้น
ถ้าเราเข้าใจใน ธรรมะของหลักพระพุทธศาสนา แล้วก็อย่างนั้น
ใครจะพูดกันไปตรงไหนก็ช่างเถอะ
เรารู้จักอยู่แล้วในทางพุทธศาสนา มันก็ผลไม้
มันจะทับกันอยู่กี่ชั้นก็ ช่างมันเถอะ
เรารู้ว่าผลเงาะเป็นเงาะ ผลลำไยเป็นลำไย
ลางสาดเป็นลางสาด มันไม่หลงอย่างนั้น
อันนี้สูตรธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านสอนเพื่อไม่ให้หลง
ไม่หลงถึงได้ความดีมาก็ไม่หลงดี
ถึงมีความชั่วเกิดขึ้นมาก็ไม่หลงชั่วอีก มันรู้ไปถึงขนาดนั้น


แต่พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนให้รู้จัก
ข้อประพฤติปฏิบัติในใจของเจ้าของ
ความเป็นจริง การประพฤติปฏิบัติความรู้อันนี้
มันเกิดจากจิตบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เกิดด้วยสัญญาอย่างหนึ่ง
มันต่างกันหลาย มันเข้ากันไม่ได้
มันของบริสุทธิ์กับของไม่บริสุทธิ์ มันเอาเข้ากันไม่ ได้ ปนกันไม่ได้


ธรรมะที่เกิดมาจากจิตคล้ายกับตาน้ำที่มันซึมซาบมา
มันแห้งไม่ได้มันไหลอยู่อย่างนั้น แต่ความรู้ตามสัญญาที่มาคล้ายน้ำในโอ่ง
หมดน้ำฝนมันก็แห้งเท่านั้น นี่ก็เป็นอย่างนี้
เรื่องจิตของเราที่รู้ธรรมะ ที่บรรลุธรรมะ



แต่ว่าคนเราทุกวันนี้ว่า บรรลุธรรมะนี่ก็กลัวแล้ว
บางคำนี้มันสูงไปเสียแล้ว บรรลุธรรมะนี่มันสูงไป ไม่ค่อยอยากพูด
ถ้าไปพูดก็ตะแคงๆในใจ ธรรมะ ลองไปพูดซิ
กลับไปบ้านว่า ฉันบรรลุธรรมะแล้ว คนตกตะลึงเลยทีเดียว
บรรลุธรรมะ ในความเป็นจริงคำนี้ เป็นของสมมุติ ไม่ใช่มันสูงมันต่ำหรอก
พวกญาติโยมทั้งหลายมาวัดหนองป่าพง วันนี้ก็บรรลุวัดหนองป่าพงวันนี้
ไม่เห็นแปลกอะไรกัน จะมาถึงวัดหนองป่าพง วันนี้ก็ได้ รู้หนองป่าพงก็ได้
ถ้าพูดภาษาธรรมะ บรรลุวัดหนองป่าพงก็ได้
ถ้าเรารู้จักว่าอันนี้มันเป็นบาปเป็นบุญ
ถ้าเรารู้จักมันก็เรียกว่าเราบรรลุธรรมะก็ได้
ถ้าว่าบรรลุธรรมะแล้วตกใจ คนเราเป็นซะอย่างนั้น


อันนี้มันเป็นภาษาให้รู้ความเข้าใจกันได้ ภาษาอย่างหนึ่ง
พูดไปอย่างหนึ่งเท่า นั้นแหละ ในความเป็นจริงก็เป็นธรรมดาของเรา


อย่างพระ พุทธเจ้าที่อาตมาว่า ใครเป็นพระพุทธเจ้า
ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า ดูตรงนี้สิ แล้ว ก็ว่าไปเรื่อย แน่ะ


ดูไปสิ แต่เราก็เรียกว่า แหม เมื่อ ฉันเกิดพร้อมพระพุทธเจ้า
ฉันก็จะไปแล้วขนาดนี้ นึกว่า พระพุทธเจ้าองค์นั้น นิพพานไปแล้ว
ความเป็นจริง เมื่อเราเห็นธรรมะ เราก็เห็นพระพุทธเจ้า
อันนี้ ก็ฟังยากนะคนที่ยากนะ เราเห็นพระพุทธเจ้าเราก็เห็นธรรมะ
เมื่อเห็นธรรมะก็ เห็นพระธรรม เห็นพระธรรมก็เห็นพระพุทธ
เห็นพระพุทธก็เห็นพระธรรม เห็นพระพุทธ พระธรรม แล้วก็เห็นพระสงฆ์
ให้พระพุทธอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระ สงฆ์อยู่ที่ใจ
ท่านให้เห็นชัด อันนั้นเรามาจับท่านมายัดใส่เฉยๆ ให้พระพุทธ อยู่ที่ใจของข้า
พระธรรมอยู่ที่ใจของข้า พระสงฆ์อยู่ที่ใจทั้งนั้น
แต่ความ ประพฤติมันไม่เรียบร้อย ไม่สมกับว่าพระพุทธอยู่ที่ใจ
ไม่สมกับพระธรรมอยู่ ที่ใจ พระสงฆ์อยู่ที่ใจ
คือจิตเป็นคนที่จะรู้จักธรรมะ ท่านเรียกว่าผู้รู้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2010, 17:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระพุทธองค์ที่ท่านตรัสรู้ไปแล้วนั่นน่ะ ก็ตรัสธรรมะ
องค์ธรรมตรัสรู้นี่ แหละ ตรัสรู้ท่านก็ไม่เอาไปหรอก ท่านทิ้งไว้ในนี้แหละ


พูดง่ายอย่างครูเรานี้ ครูโรงเรียนไม่ได้เป็นครูมาแต่กำเนิดนะ
มาเรียนวิชาครู ถึงได้เป็นครูกัน ได้สอนในโรงเรียน ได้รับเงินเดือน
อยู่ไปนานๆ ก็ตายไป เสีย ตายจากครูไปเสีย
ถ้าหากพูดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ครูนั้นยังไม่ตาย
คือ คุณธรรมที่ทำครูนั้นให้เป็นครูยังอยู่อย่างพระพุทธเจ้าเรานี้
สัจธรรมที่ทำให้คนคนนั้นเป็นพระพุทธเจ้ายังอยู่ ไม่หนีไปที่ไหน
ก็ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นรูป องค์หนึ่งเป็นนาม


ธรรมะที่แท้จริงนั้นแหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า
“อานนท์ ให้ท่านประพฤติไปเถิด ให้ท่านปฏิบัติไปเถิด
ท่านจะงอกงามในพระพุทธศาสนา
ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นก็เห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นก็เห็นธรรม”

นี่ไม่รู้ว่าเป็นยังไงถึงเป็นอย่างนั้น ฟังอย่างกับพระพุทธเจ้าก็เป็นพระธรรม
พระธรรมก็เป็นพระพุทธเจ้า มันสับสนกัน ความจริงมันเป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าแต่ก่อนยังไม่มี จะได้เรียกขานชื่อของท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ก็ในเมื่อท่านรู้ธรรมอันนี้แหละ แต่ก่อนก็เป็นสิทธัตถะราชกุมาร
พอพูดมาถึงตรงนี้ก็เหมือนกันกับเรานั่นเอง
เราก็ เป็นตาสี ตาสา ตามี ตามาอยู่อย่างนั้น
ถ้าเราได้บรรลุถึงธรรมมอันแท้จริง
มันก็จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียวกันแหละ ไม่แปลกกันหรอก


อย่างนั้นนะญาติโยมทั้งหลาย ให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่นะ
เข้าใจเสียวันนี้ ว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่ เราทำที่ไหนๆ คือมันเป็นสัจธรรมแล้ว
เราทำชั่วอยู่ ที่นี่ ไม่เป็นไรไม่มีใครเห็น อย่าไปว่านะ พระพุทธเจ้าเห็นนะ
ท่านยังอยู่ ทุกวันนี้ ยังคอยจะประคับประคองพวกเราให้เดินทางให้มันถูกต้องอยู่เสมอ
แต่เราไม่เห็น เราไม่รู้เรื่อง
อย่างนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติแล้วจะทำดี ทำชั่วก็ไม่ต้องสงสัย มีพยานอยู่แล้ว
ไม่ได้สงสัยจะทำชั่วที่ไหน มันก็มีละ ทำไมไม่มี ไม่มีใครเห็น ก็เราเห็นเรา
จะทำชั่วที่ไหนไม่มีใครเห็นไม่ มี เพราะเราน่ะเห็นเราอย่างนี้
จะทำดีที่ไหนทำชั่วที่ไหนไม่พ้น ท่านเรียก ว่า กรรม
มันรู้ตามก็ความจริงนะ คือความจริงในการกระทำมันมีอยู่แล้ว
พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ความจริงอันนี้
ความจริงอันนี้จึงเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป ในโลกนี้
ถ้าใครทุกคนมาประพฤติปฏิบัติบรรลุคุณธรรมคือ
ความจริงเช่นนี้ มันก็เปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า เป็นท่าน
ท่านผู้สอนให้ประชุมชน ประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
ที่เรียกว่า พระพุทธศาสนาชื่อพระพุทธเจ้า


อย่างนั้นพระพุทธเจ้ายังอยู่นะ จงดีใจเถอะ อย่าไปเสียใจเลย
บางคนนึกโมโห แหม ! ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ฉันไปแล้วล่ะ
ความเป็นจริงคือ ความจริงน่ะยัง อยู่ที่เราทำไปมันถูกความจริงหรือผิดความจริง
มันก็ถูกก็ผิดของมันอยู่ นั้นก็เรียกว่าพระพุทธเจ้าโดยนามธรรมยังมีอยู่


ฉะนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นท่านจึงเคารพ เคารพทำไม
ก็ท่านเห็นพระพุทธเจ้าอยู่ นั่ง อยู่นี่ก็เหมือนพระพุทธเจ้าอยู่ต่อหน้านี้
เดินก็เหมือนพระพุทธเจ้าอยู่ต่อ หน้านี้ ไปไม่ได้แล้ว
ท่านเห็นประจักษ์ในใจของท่าน
ท่านจึงเคารพพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์ อยู่สม่ำเสมอ ไม่จืดจาง อย่างนี้
เพราะท่านเห็นว่าอยู่ในใจของ ท่านอยู่แล้ว มันเห็นอยู่อย่างนี้ มันไม่หายไปไหน
เห็นอย่างนี้ก็เรียกเรา เห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า มันเป็นอยู่อย่างนี้


ฉะนั้น จึงเห็นว่า เมื่อเราเห็นพระพุทธเจ้าก็เห็นธรรมะเช่นนั้น
ไปนั่งที่ไหนก็ได้ฟัง ธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกเวลา
เดินอยู่เราก็ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า นอนอยู่ ก็ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า


อันนี้อาตมาศีรษะจะแตกไปฟังธรรมท่านอาจารย์มั่น
ปฏิบัติไปเถอะ ฟังธรรมพระพุทธเจ้า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ก็ ฟังธรรมท่านอยู่อย่างนั้น
นอนก็ฟังธรรม นั่งก็ฟังธรรมอะไรอยู่ อาตมาคิดไม่ได้เลย
คือไม่ใช่ของคิดเอา มันต้องเกิดมาจากความบริสุทธิ์
จำคำท่านพิจารณาไม่ได้ อย่างนี้ความเป็นจริงคือมันเห็นธรรมะนั่นเอง
ไม่ใช่อื่นไกล มันเป็นธรรมะ จะเป็นต้นไม้ เป็นภูเขา
สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่มันเป็นธรรมะทุกอย่าง


ดังนั้น อาตมาถึงให้ว่าธรรมะอยู่ที่ไหน
ที่ไม่เป็นธรรมะนั้นมันไม่มีหรอก มันเป็นธรรมะ



ธรรมะ คือธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติมันก็เป็นธรรมชาติของมัน
เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเรา ใช้ธรรมชาติฝึกธรรมชาติ
อย่างกายของเราทุกวัน จิตใจของเรามันเป็นธรรมชาติอยู่
มันมีการกิน มันมีการหลับ มันมีการนอน เป็นธรรมดาของมัน
เหมือนกับสัตว์ มันก็อาศัยทั้งนั้นแหละ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายมันไม่รู้ภาษา
มันเป็น อภัพพสัตว์เสีย สั่งสอนไม่ได้ มันสมองมันช้าเกินไป
ไม่เหมือนมนุษย์เรา มนุษย์เรามันสมองมันเร็วมันไว
และเรามาพูดอันหนึ่ง ท่านจึงจัดว่าเป็น ภัพพสัตว์ควรตรัสรู้ธรรมได้ของเรา
อย่างร่างกายหรือจิตใจของเรา มันจะเห็น ชั่วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เห็นมา
มีครูบาอาจารย์มาสอนมันก็ค่อยๆเข้าใจ มันไว เข้าใจง่าย ง่ายกว่าสัตว์อย่างอื่น
ง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ป่า นี่มัน เป็นสัตว์บ้าน เป็นสัตว์มนุษย์
สัตว์มนุษย์นี่มันหายาก คำสอนของพระท่านว่า “จะเป็นมนุษย์นี้มันก็ยาก”
นี่ก็คิดยาก คิดไม่ค่อยถึงหรอก คือยังไม่รู้จักมนุษย์ที่แท้จริง
ถ้าเรามองๆ เราก็ว่า มนุษย์นี้จะเกิดยากทำไม
เกิดที ละ ๒ ยังมีเลย เราก็คิดไปอย่างนั้น มันก็ไม่ยากนี่


มนุษย์ ซึ่งไม่มีคุณธรรมอย่างนั้น มันก็เป็นมนุษย์แบบหนึ่ง
มันยังไม่เป็นมนุษย์ เอาชื่อเขามาโอนเป็นมนุษย์เฉยๆ
เป็นเดรัจฉานโนอย่างหนึ่ง เหมือน สัตว์เดรัจฉานอย่างนั้น
มนุษย์ที่จะเกิดมามีคุณธรรมเหมือนกับที่เป็นมนุษย์นี้
เราเกิดมาเป็นเด็กไม่รู้เรื่องของมนุษย์ ไม่รู้จะประพฤติปฏิบัติอย่าง ไร
ไม่รู้คุณธรรมของมนุษย์ ไม่รู้คุณสมบัติของมนุษย์
เมื่อโตมาแล้วเราฟัง พ่อแม่ของเราสอน ครูบาอาจารย์สอน
เราก็ค่อยๆรู้ขึ้นมา ก็เลยมีคุณธรรมเกิด ขึ้นมา เราเลยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
มันแปลกกันอย่างนั้น เมื่อเกิดเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์เรียกว่า
มนุษย์เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ เกิดยาก ใครจะ ติดตาม คือมันเกิดยากอย่างนี้


ศีลธรรม ใครจะปฏิบัติ มัน ปฏิบัติยาก มันถูกแต่ว่ามันปฏิบัติยาก
เช่นง่ายๆ เวรทั้ง ๕ ประการนี่ ศีลห้า
ที่พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายสมาทานกันอยู่ ทำกันอยู่นี้
อันนี้ก็คือ คุณสมบัติของมนุษย์แท้ๆ
ถ้าใครมีศีลห้าในใจของตนทุกๆคนอย่างนั้น ไม่ต้องมี อะไรแล้ว มันหมด
เรียกว่าศีลธรรม ถึงไม่ทำให้พ้นทุกข์ ก็อยู่ด้วยความสงบ ระงับ
เป็นสัมมาอาชีวะในโลก ก็ยังไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันนี้
ถึงไม่เป็นมนุษย์ เป็นสมบัติของมนุษย์
จะมีเกิดมีตายก็จริง แต่ว่าเกิดมาก็อยู่ในความสบาย
ตายก็อยู่ในความสบาย มันรู้จักอย่างนี้ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อันนั้นเป็นโลกมนุษย์ที่แท้ๆ สมบูรณ์


มนุษย์ที่มัน เป็นมนุษย์สมบูรณ์ มีคุณสมบัติ
ที่เราศึกษามานั้นเรียกว่า เราเพิ่งเกิด เดี๋ยวนี้ เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ จะรู้ว่ามนุษย์หา ยาก ดูสิว่า
คนเราจะมีศีล ๕ ศีล ๕ ประการ มันจะเป็นยังไง มันจะมีไหม
เรากำหนดดูก็ได้ ในบ้านเรา ในเมืองเรา ในชนบท ในกลุ่มเรา มีไหม
บางคนก็จะตอบ ว่าไม่มี บางคนก็ตอบว่า มีแต่น้อย อย่างนี้


อันนี้มัน เป็นรากฐาน เราจะมองๆดูก็ได้ว่าอันนี้มันจะเกิดประโยชน์อย่างไร
เรามองดูก็ ได้ มันเห็นผลประโยชน์มันทุกส่วนเลยทีเดียว
เรื่องศีล ๕ ประการนี้ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องมาย
แค่คอยรักษาศีล ๕ ประการให้มีในใจอย่างแจ่มใสของเราเถอะ
คนนั้นจะสบาย ไม่มีใครรู้จักก็สบายใจ สว่างไสว
นึกไปข้างหลังที่เป็นอดีตก็ สบายใจ
เพราะเราไม่ได้ทำอะไรที่ยุ่งเพราะการกระทำบาปทั้งหลาย
ระลึกไว้ที่ ไหนก็สบายใจ จะยืนอยู่นึกขึ้นมาได้ก็สบาย
นอนอยู่นึกขึ้นมาได้ก็สบาย จวนจะ ตายนึกขึ้นมาได้ก็สบาย
กรรมใดที่ทำไปแล้วภายหลังนึกไปมันเดือดร้อน
กรรมนั้น ไม่ดี นี่มันติดตามอย่างนั้น



ยกตัวอย่างเช่น วัดหนองป่า พงนี้ โยมมานี่ โยมมาหลายๆคนนี้นะ
มีคนใดคนหนึ่งมาต่อยเอาเศียรพระวัดหนอง ป่าพงไปเสีย
สมมุตินะ ใครไม่รู้ล่ะ รู้คนเดียวแต่คนที่ทำ วันนี้ก็มาทอดผ้าป่าด้วยกัน
ก็มามองเห็นเศียรพระหักก็ไม่สบายอยู่อย่างนั้น ไม่สบายคนเดียวเท่านั้น
คนที่รู้จักนั่นแหละ คนที่ไม่รู้ เขาก็ไม่เป็นอะไรของเขา
รู้แต่คนที่ทำ ไม่สบายแต่คนที่ทำ นี่แหละกรรมชั่วที่ทำแล้ว
ภายหลังนึกได้ก็เดือดร้อนกรรมนั้นไม่ดีเสียแล้ว


นี่ถ้าเอาทั้งองค์พระมาถวาย ณ วัดหนองป่าพงหรือวัดใดวัดหนึ่ง
ด้วยศรัทธาของเราซะ เมื่อมาทำบุญ กราบไหว้
เห็นของเรานี้ที่ได้สร้างไว้ก็สบายใจแล้ว
ทำไว้นานภายหลังคิดไปก็ ไม่เดือดร้อนสบายใจ
อันนี้เราจะรู้เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวของเราอย่างนั้น


การทำบุญสุนทานทุกวันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
ถึงแม้ว่าบำรุงพุทธศาสนาเป็นเปลือกเป็นผิวอย่างที่มากันวันนี้ก็ดี
แต่ว่ามันก็ เหมือนต้นไม้ ต้นหนึ่งนั่นแหละ
บางแห่งว่าการทำบุญสุนทานเป็นเปลือก เปลือก ก็ดีเหมือนกันนะ
ต้นไม้ถ้าไม่มีเปลือกหุ้มมันก็ตายเหมือนกัน อย่าไปว่ามันน้อย ไม่มีใบมันก็ตาย
ไม่มีโคนมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ มันอาศัยสามัคคีซึ่งกันและกันนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล
มันมีประโยชน์ทุกส่วน ให้เราเข้าใจเสียอย่างนั้น
ก็เรียกว่าการกระทำบุญกับการกระทำกุศล



ให้มันเป็นบุญให้มันเป็นกุศล คือให้มีปัญญา อย่าทำไปด้วยโลภะ
ทำไปอย่างเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ให้มีเหตุผล ทำแล้วก็ให้มันได้บุญ
ให้มันได้บุญโดยรู้จักถามกลับไปบ้านนั่นมั้ย ไปทอดผ้าป่าได้บุญมาไหม
ติดตรงไหน มันเป็น ยังไงก็ชี้แจงให้ฟัง
บุญมันเป็นอย่างนั้นๆ นี่คือความเข้าใจของเราเช่นนี้
ที่การกระทำของเราทั้งหลายมันเป็นอุบายอย่างนี้
การพูดธรรมะทั้งหมดมัน เป็นอุบายทั้งนั้น ให้เข้าใจในที่ตรงนั้น เป็นของสมมุติ
เป็นอุบายคือตัว ธรรมะจริงๆ มันมองเห็นไม่ได้แต่มันมีอยู่
ต้องยกหยิบยกอันอื่นขึ้นมาพิจารณากัน เช่นว่า


ครูโรงเรียนสอนนักเรียน สมมุติว่านาย ก. มี เงินเท่านั้นเท่านี้
แต่ว่านาย ก. ไม่มีที่นั่นจะทำยังไง เอาชอล์กมา เขียน
สมมุติว่าเป็นนาย ก. อันนี้เป็นนาย ก. มั้ย เป็นสมมุติ
แต่ นาย ก. วิ่งไม่ได้ เป็นตัว ก. ได้สมมุติเป็นนาย ก. ได้
ให้มีเงินเท่านั้นก็ ได้เท่านี้ก็ได้ เป็นนาย ก. โดยสมมุติ
แต่นาย ก. คนนี้สำนึกในการสมมุติ จะ ใช้ให้นาย ก. วิ่งไม่ได้
เพราะมันเป็นตัว ก. มันก็เป็นตัว ก. ให้เราอยู่ อย่างนั้น
อันนี้เรียกว่าอุบายให้เรารู้จักว่านาย ก.
ไม่มีต้องเขียน ตัว ก. ลงไปให้มันสำเร็จประโยชน์อย่างนั้น


ภาษาทั้งหลาย บางทีเราก็ฟังไม่ได้เหมือนกันมันพ้นไป
อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น หลักธรรมะ ที่เราประพฤติปฏิบัติ
ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะอยู่ตรงไหนก็ช่างมันเถิด
บางคนเข้าใจว่าอิฉันไม่มีเวลาจะภาวนา
ทำไมขายของค่ะ ขายของไม่ได้
ภาวนาโยมขายของโยมได้หายใจไหม หายเจ้าค่ะ อ้าว ทำไมมีเวลาล่ะ
ทำไมมีโอกาส หายใจ ทำไมไม่อึดลมไว้ เรื่องภาวนาไม่ใช่เรื่องอื่น
คือเรื่องความรู้สึกนึก คิด
เราคิดแต่จะมานั่งแต้หลับตาอยู่ในกลางตลาดเท่านั้นซิ ไม่ได้อย่างนั้น


ความ รู้สึกนึกคิดการพิจารณานี้ ให้รู้จักว่าบัดนี้เราทำอะไรอยู่
เราผิดมั้ย ถูก มั้ย เราสุขมั้ยหรือ เราทุกข์มั้ย เราเป็นอะไร ที่เราเป็นอยู่เดี๋ยวนี้
นี่ก็การภาวนา มันรู้เรื่องเหตุผลอยู่อย่างนั้น
เราทำอะไรอยู่ เราก็ ได้ภาวนาอยู่ได้ ปฏิบัติอยู่ เรามีสติอยู่
ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น รู้จักความ ผิดชอบอยู่เสมอ เรียกว่ าการภาวนา
วันนี้เราพูดผิดหรือเปล่า วันนี้เราทำผิด หรือเปล่า
วันนี้เราคิดผิดหรือเปล่า ถ้าเรามีสติอยู่ เราก็ต้องรู้จัก
ถ้ามีสติอยู่เสมอก็ต้องรู้จักความรู้สึกของเรานั้นอยู่เสมอ


อย่างนั้นโยมทั้งหลายอย่าเพิ่งเข้าใจว่า
การปฏิบัตินั้นจะมาบวชในวัดอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น
การปฏิบัติคือ การมีสติทรงตัว รู้อยู่ รู้สึกความผิดชอบอยู่เสมอ
จะหยิบจับอะไรก็ได้ จะขายของอยู่ก็ได้ จะเขียนหนังสืออยู่ก็ได้
มันก็เท่าๆกับลมหายใจเรานั่นเอง ถึงแม้ว่าเราจะทำอะไรอยู่ เราก็หายใจ
อยู่นี่เราก็หายใจอยู่เรื่อย เราจะทานข้าวก็หายใจ
จะนอนก็หายใจ ถึงหลับไป ก็หายใจ ทำไมมีเวลาหายใจเล่า ใช่ไหม
มันเป็นของจำเป็นเหลือเกิน
เพราะว่าลมมันเป็นอาหารอย่างละเอียดที่สุด เป็นอาหารชนิดดีมาก


แต่คนเราไม่ได้พิจารณาอย่างนั้น
คงจะว่ามันไม่เป็นอาหารก็ได้นะในความเป็นจริง ลมเป็นอาหารอย่างยอด
เราจะไม่ทานอาหารคือลมสัก ๒ นาทีก็ไม่ไหวเสียแล้ว ล่ะนะ
ขนมหรืออาหาร อย่างดีๆ สัก ๓ ชั่วโมงเราไม่ทานมันก็ได้ เป็นวันก็ได้
๙ วันก็ยังได้ แต่ลม ไม่ได้ ขนาดนาทีหนึ่งก็เต็มทีแล้วนะ จะไม่ไหวแล้ว
อึดใจดูซิ เดินไปซีกี่เส้นมั้ย ลมมันมีประโยชน์อย่างนี้
ให้ความเป็น อยู่แก่เราอย่างนี้


ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงจับเอาลม หายใจมาให้พิจารณา


อานาปานสติเป็นมงกุฎกรรมฐาน ท่านให้ นั่งพิจารณาลมเข้า-ออก
นึกว่า พุทโธ พุทโธ คือให้รู้นั่นเอง คือให้รู้ว่าลม มันเข้าออก
ร่างกายเราทุกส่วนมันอยู่ด้วยลม ที่เราเดินไปเดินมามันเคลื่อนไหวด้วยลม
ลมเป็นของที่สำคัญมากที่สุด เป็นอาหารอย่างยอดทีเดียว ถึงนอนหลับ
อยู่ก็ยังทานอาหารนี้อยู่เสมอ ไม่ทานไม่ได้ นอกจากตายเสียแล้วเท่านั้น


เราก็สนใจ เออ อันนี้นะ ลมมันสำคัญเหมือนกันนะ
เรานั่งกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่ อย่างนี้ ความรู้สึกมันสงบ
ความรู้สึกเกิด ลมมันสำคัญเหลือเกิน มันดีกว่ามี เงินหมื่น เงินแสน
ดีกว่ามีอะไรๆทั้งนั้น ดูสิถ้ามันออกแล้วมันไม่เข้ามาก็ตายเท่านั้น
ถ้ามันเข้าแล้วไม่ออกก็ตายเดี๋ยวนี้ ก็เห็น ใกล้ๆเราอย่างนี้
มันจะเป็นของที่มีกำลังกว่าอย่างอื่นเสียแล้ว
เมื่อสนใจลมเราก็พิจารณา กำหนดลม
พิจารณาฉุดเอาเรื่องต่างๆ มาเป็นลม มีสติกับลมหายใจเข้าออกเสมอ
มันมีปัญญาหลายอย่าง ดูลมอันเดียวเท่านั้นแหละ
ท่านเรียกว่าลมอานาปานสตินี้ เป็นมงกุฎของกรรมฐานทั้งหมด


พระพุทธเจ้าท่านจึง ยกกรรมฐานคือ ลมหายใจเข้า-ออก เอาง่ายๆ
เพราะว่าเรามีลมทุกคน ที่มานี้ ใช่ไหม พอเรารู้สึกว่าลมเข้าออกเท่านั้น
ก็กำหนดลมซะแล้ว จะนอนก็นอนกำหนดไปเถิด
ให้มันมีความรู้สึกจนกว่ามันจะหลับไป
ไม่ใช่มันเป็นของยากลำบากถ้าเรารู้จักมันแล้ว



อย่างนั้นให้โยมทั้งหลายรู้ว่าภาวนากัน เถิด ทาน ศีล ภาวนา
เรื่องภาวนานี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องให้เราพ้นทุกข์ มันติดตรงไหนก็แก้ตรงนั้น
มันแน่นตรงไหนก็เอาตรงนั้นออก มันสกปรกตรง ไหนก็ทำตรงนั้นให้มันสะอาด
ถ้าได้ภาวนาแล้วจะเห็นชัด เมื่อเห็นชัด การภาวนา
เมื่อทำให้มันเกิดขึ้น มันมีขึ้นจะต้องอาศัยการภาวนา
จึงจะรู้จักธรรมะ มันเป็นอย่างนั้น


อันนี้แหละให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจ เกี่ยวกับการภาวนา
การทำบุญสุนทาน ให้รู้จักบุญให้รู้จักกุศล
ให้มันเกิดประโยชน์ทำอะไรไม่ให้สงสัยทั้งนั้นแหละ
ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทำอะไรรู้จัก ทั้งนั้น ไม่ใช่ทำปลอมๆไปหรอก


วันนี้ก็ให้ญาติโยมทั้ง หลายทุกๆท่านที่มาวันนี้ ก็เรียกว่าแสวงบุญกัน
เพิ่มกุศลเข้า แสวงกุศล ด้วย พินิจพิจารณาอานาปานสติทำกรรมฐาน
กรรมฐานนี้ควรทำ จะเป็นทางโลกก็จริง จะเป็นทางธรรมก็จริง
จะเป็นโยม จะเป็นพระ ทำอันนี้จะทำให้ใจเราสะอาด ได้ให้ใจเราผ่องใสได้เสมอ
เราทำไปๆ มันจะเป็นปัจจัตตัง รู้จักเฉพาะตัวเอง เท่านั้นแหละ


วันนี้ญาติโยมทั้งหลายก็ได้ฟังธรรมะมา พอสมควร
บางทีมันจะสู้ไอ้ความง่วงหงาวหาวนอนไม่ได้
บัดนี้ก็ได้เทศนามานี้ในที่สุด สุดท้ายแห่งการบรรยายธรรมะวันนี้
ขอญาติโยมทั้งหลายจงมี กำลัง พละ คือกำลังกาย กำลังวาจา
กำลังใจ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ให้ เกิดปัญญา ให้เชี่ยวชาญ
รู้ว่าอันนี้เป็นบาป อันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นกุศล
แล้วไปประพฤติปฏิบัติตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้แนะนำพร่ำสอนมานี้ จิตของญาติโยมทั้งหลาย
ก็จะกระเตื้องขึ้นจากความมืดหนาสาโหด จะเป็นจิตที่ผ่องใส
อันนี้ทำแล้วจะเป็นปัจจัตตังรู้เฉพาะเจ้าของ


และ ผลที่สุดนี้ขอด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย
จงปกปักรักษาที่ท่านทั้งหลาย ที่มาแสวงบุญในวันนี้
จงให้เป็นผู้มีสุข มีสุข ด้วยการยืนก็ดี การเดินก็ดี
การนั่งก็ดี การนอนก็ดี ให้มีสุข มีสุข ทุกๆคนเทอญ



หมายเหตุ : ธรรมบรรยายชุดนี้ได้พิมพ์เป็นหนังสือชุดมรดกธรรม เล่มที่ ๔๖
ชื่อ “ รู้เรื่องทุกข์” พิมพ์เดือนมกราคม ๒๕๔๘

ที่มา...บ้านเรือนธรรม


:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2010, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..จร้า..น้องลูกโป่ง :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2010, 09:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว




111.bmp
111.bmp [ 68.55 KiB | เปิดดู 4604 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2010, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 พ.ย. 2009, 15:09
โพสต์: 122

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




นกสู่ความสงบ.gif
นกสู่ความสงบ.gif [ 77.59 KiB | เปิดดู 4537 ครั้ง ]
ขออนุโมทนาครับ
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร