วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 05:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2010, 05:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

มัวแต่สันโดษ ชาติจึงไม่พัฒนา
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก



เพื่อนคนหนึ่งปรารภกับผมว่า เขามีความคิดเห็นตรงกับ หลวงวิจิตรวาทการ อดีตปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผมถามว่าในแง่ไหน เขาบอกว่าในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเผยแผ่หรือสอนพุทธศาสนา หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า ที่ประเทศไทยพัฒนาไม่เท่าเทียมนานาอารยประเทศเขา มีความบกพร่องฉกาจฉกรรจ์อยู่ข้อหนึ่งคือ เพราะพระสงฆ์มัวพร่ำสอนแต่ให้ประชาชนมักน้อย สันโดษ ได้เท่าไรมีเท่าไรพอใจแค่นั้น ทำให้เป็นคนไม่กระตือรือร้น ทำงาน งอมืองอเท้า

ผมบอกเพื่อนไปว่า อย่าได้เชื่อหลวงวิจิตรวาทการมากนัก หลวงวิจิตรวาทการอาจเป็นที่เชื่อถือได้ด้านอื่น แต่ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาแล้วให้ฟังๆ ไว้เท่านั้น ทรรศนะทางศาสนาที่ท่านผู้นี้แสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นบทความปาฐกถาหรือคำปราศรัยของผู้นำประเทศที่ตนเป็นผู้ร่างให้ อาจมิใช่จากความรู้จริงๆ ที่ท่านได้เล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ก็ได้ อาจเป็นเพียง “การปรับ” หรือ “เบนทิศทาง” เพื่อให้เอื้ออำนวยแก่การเอาตัวรอดก็เป็นได้ พูดให้ชัดก็คือบิดเบือนพระพุทธศาสนาเพื่อประจบเจ้านาย

เมื่อ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติใหม่ๆ ท่านผู้นี้แสดงทรรศนะออกมาอย่างชัดแจ้งว่าการปฏิวัติเป็นการดี พระพุทธเจ้าเองก็ทรงสรรเสริญการปฏิวัติในปฐมเทศนา (เทศน์กัณฑ์แรก) ที่ทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ พระองค์ตรัสว่า “โลเก อัปปฏิวัตติยัง” การปฏิวัติที่ดีต้องเป็นปฏิวัติที่ผู้อื่นล้มไม่ได้ (เผด็จการตลอดกาล !)

จากวาทะอันคมคายนี้ ทำให้ท่านได้บำเหน็จรางวัลด้วยตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นพลเรือนคนเดียวที่ได้เป็นนายพลตรี

บรรดาหลักธรรมพุทธศาสนาที่มีผู้เข้าใจกันไม่ถูกต้อง นอกจากเรื่องหลักกรรมแล้ว สันโดษก็เป็นเรื่องหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนอาจจะมาจากคำพูดที่ติดปากคนไทยว่า “สันโดษมักน้อย” หรือ “มักน้อยสันโดษ” ก็เป็นได้ การตีความแบบสร้างค่านิยมในแง่ลบ คือแฝง “การไม่กระทำ” หรือ “ความเกียจคร้าน” อยู่ในตัว ไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องการมาก ต้องการน้อยๆ อยู่ไปวันๆ ผลที่ตามมาก็คือความเฉื่อยแฉะ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน งอมืองอเท้า ซึมเซื่อง ปล่อยตามบุญตามกรรม ไม่คิดสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ก็ว่าเป็นมนุษย์ไม่เอาไหน

ถ้าสันโดษของพระพุทธเจ้าหมายถึงอาการอย่างที่ว่ามานี้ ก็น่าจะถูกประณามว่า พระองค์สอนไม่เอาไหน สอนสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา คนพัฒนาประเทศอย่างร้ายแรง ใช้ไม่ได้จริงๆ

แต่สันโดษจริงๆ มันเป็นอย่างไร ?

ลองหันไปดูตำราดูบ้างเป็นไร ในตำราท่านให้ความหมายของ “สันโดษ” ไว้ว่า


ยินดีตามที่หามาได้, ยินดีเท่าที่หาได้ด้วยความบากบั่นของตน (ยถาลาภสันโดษ)

ยินดีตามกำลังสามารถที่หามา, มีสติกำลังเท่าไรทุ่มเทลงไปได้เท่าไรก็พอใจ (ยถาพลสันโดษ)

ยินดีในสิ่งที่หามาได้โดยชอบธรรม, ของที่ได้มาเป็นผลของการสร้างสรรค์ของตน โดยวิธีการที่ชอบธรรม ไม่ทุจริตฉ้อโกงเขามา (ยถาสารุปปสันโดษ)


สรุปให้เข้าใจว่า “สันโดษคือความพึงพอใจในผลสำเร็จ หรือผลได้ที่ตนสร้างขึ้นด้วยความบากบั่น ด้วยการทุ่มเทพละกำลังทั้งหมดลงไปและโดยชอบธรรม”

วิธีจะเข้าใจสันโดษดีอีกอย่างหนึ่งคือ ให้ดูสิ่งที่ตรงข้ามกับสันโดษและคุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ สิ่งที่ตรงข้ามกับ “สันโดษ” คือ

(1) การเบียดเบียนกันเพราะอยาก แต่ไม่อยากกระทำ

(2) การทุจริตเพราะอยากได้ของคนอื่น

(3) ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแต่ไม่ชอบทำงาน

(4) การทอดทิ้งละเลยไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน

(5) ความกระวนกระวาย เร่าร้อนเห่อเหิมทะยานอยากไม่พอใจตลอดเวลา

(6) ความเกียจคร้านเฉื่อยชา


คุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ คือ “วิริยารัมภะ” หรือการปรารภความเพียร ถือเอาความง่ายๆ คือ การตั้งหน้าตั้งตาพยายามปฏิบัติหน้าที่การงานไม่หยุดยั้ง

จากการนิยามความหมายของสันโดษ จากการมองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับสันโดษและคุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ เราพอจะมองเห็นลักษณะของคนที่มี “สันโดษ” ดังต่อไปนี้

(1) คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร และด้วยสติปัญญาเท่าที่เหมาะสมกับภาวะของตนและโดยชอบธรรม

(2) คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่นหรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว

(3) เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยของที่ได้มาเท่าที่จำเป็นและด้วยสติปัญญา ไม่กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น

(4) เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยได้สำเร็จตามต้องการ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนไปได้

(5) ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนหามาได้ สมบัติของตนหรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มขู่ผู้อื่น

(6) หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตนหรือเป็นสิทธิของตน สามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขในทุกฐานะที่ตนเข้าถึงในขณะนั้นๆ

(7) มีความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากกำลังของตน มีความอดทนสามารถคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกระทำของตน

(8) มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน


คุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศชาติใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ใคร่จะเรียนถามว่า ที่ประเทศชาติไม่ค่อยจะพัฒนาเท่าที่ควรเพราะมัวแต่สอนสันโดษ หรือเพราะไม่สอนสันโดษกันแน่

รูปภาพ
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 36 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร