วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2010, 12:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พละ ๕ (อินทรีย์พละ ๕)

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

วันนี้จะเทศน์เรื่อง “ กำลัง ” กำลังมี ๒ อย่างคือ กำลังกายเราบำรุงให้เจริญแข็งแรงได้ด้วยบำรุงสุขภาพพลานามัยดี ส่วนกำลังใจเป็นของมองเห็นได้ยาก มันต้องมีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นกำลังที่เรียกว่า “ พละ๕ ” สำหรับบำรุงใจ พละ๕ นั้นมิใช่เป็นตัวกำลังทีเดียว มันเป็นเครื่องทำให้ใจมีกำลัง บำรุงด้วยพละ คือ “ ศรัทธาพละ ” ความเชื่อ เป็นกำลังใหญ่โต “ วิริยพละ ” ความเพียร ก็เป็นกำลังอันหนึ่ง “ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ” ก็เป็นกำลังของใจแต่ละอย่าง ธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ประกอบกันเข้าแล้วทำให้ใจมีพลังแก่กล้า สามารถที่จะทำให้มรรคผลนิพพานลุล่วงไปได้เหมือนกัน ถ้าหากว่ามีครบบริบูรณ์แล้ว เชื่อได้เลยว่าเป็นอันสำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ที่พูดกันว่า บารมีไม่พอ บุญวาสนาน้อย บารมีน้อย ก็เกิดจากพละนี่เอง คือพละนี่แหละน้อย

ศรัทธาพละ ความเชื่อ เชื่อแน่วแน่ในคุณงามความดีว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มีใครคนอื่นรับแทนได้ ตนทำตนต้องได้รับผลนั้นแน่นอน “ ท่าน ” มีพลังเต็มที่ สามารถที่จะสละสิ่งของของตนที่มีอยู่ให้ “ จาคะ ” บริจาคไปได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของมากของน้อยย่อมสละได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จงบำรุงรักษาให้เจริญงอกงาม ยินดีพอใจกับการทำทานนั้นให้แก่กล้าเสียก่อน ให้มันกำลังเต็มที่เสียก่อน เราจะเอาศรัทธานั้นไปใช้ในทางอื่นอีกต่อไป คนประมาทดูถูกศรัทธาเลยไม่กล้าทำความดีต่อไป ทีหลังศรัทธาที่จะเกิดในศีล สมาธิ ปัญญาก็เลยหมดไป ครั้นศรัทธาในการที่จาคะบริจาคไม่มีแล้ว บุญอันนั้นก็หมดไปเหมือนกัน

ศรัทธาในการรักษาศีลก็ให้แน่วแน่ เต็มที่ในการรักษาไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบถ ๑๐ อะไรต่าง ๆ อย่าไปหวังศีล ๒๒๗ อย่างพระภิกษุเลย ถึงศีล ๒๒๗ ก็ตามเถิด ถ้าศรัทธาไม่แน่วแน่เต็มที่แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร สมาธิก็เหมือนกัน ถ้าหากได้สมาธิ ขณิกะ อุปจาระ อะไรต่าง ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่ยินดีพอใจ ก็เลยทำสมาธิไม่ได้ทีหลัง เมื่อสมาธิมีเล็กน้อยก็พอใจยินดีกับสมาธินั้นแหละ ตั้งใจขยันหมั่นเพียรในสมาธินั้นให้เต็มที่มันจึงค่อยเลื่อนไหลขึ้นไปเอง ปัญญาก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเกิดอุบายปัญญาอะไรขึ้นมานิด ๆ หน่อย ๆ ถ้าไม่ตั้งใจพิจารณาอันนั้น ไม่ประกอบศรัทธาอันนั้นให้แก่กล้า มันก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน

การที่ทำอะไรหละหลวมก็เพราะเหตุไม่มีศรัทธา และทำอะไรไม่แน่วแน่เต็มที่ก็เพราะไม่มีศรัทธาเหมือนกันเรา พลั้ง ๆ เผลอ ๆ หลง ๆ ลืม ๆ นั่นคือศรัทธาของเราไม่เต็มที่ ศรัทธามันขาดตรงนี้แหละ เหตุนั้นจงพากันบำรุงศรัทธาให้แก่กล้าเป็นขั้นตอน ให้ศรัทธางอกงามเสียก่อน เจริญเต็มที่เสียก่อน เมื่อศรัทธามีแล้ว วิริยะความเพียร มันวิ่งเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือเป็นกำลังเลยขยันหมั่นเพียรประกอบกิจต่างๆเช่น ทำบุญสุนทานขยันหมั่นเพียรแสวงหาสิ่งที่จะต้องนำมาทำบุญทำทานหามาได้ก็คิดถึงการทำทาน หามาได้เท่าไรไม่ว่าของเล็กของน้อยของมากก็คิดถึงการทำทาน นี่ศรัทธามันสนับสนุนช่วยเหลืออย่างนี้

วิริยพละ เพียรพยายามอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อมีศีลก็พยายามรักษาศีลไม่ให้ขาด ทีแรกก็รักษาได้เป็นครั้งคราวเพียรพยายามนานเข้าให้มันชินให้มันคุ้นเคยกับศีล มันก็เป็นศีลบริบูรณ์ขึ้นมาให้คิดถึงเรื่องศีลของตน ว่าข้อไหนบกพร่อง ข้อไหนบริบูรณ์ ผู้ไม่คิดถึงศีลเลย มีของดีแล้วได้ของดีแล้วแต่ไม่เห็นความของของดีนั้น ก็อย่างโบราณท่านว่าเหมือนลิงได้แก้ว เหมือนไก่ได้พลอย ขอให้พยายามให้เห็นคุณค่าของศีล คุณค่าของปัญญา คุณค่าของสมาธิก็เหมือนกัน เราทำสมาธิได้นิด ๆ หน่อย ๆก็ดีอักโขแล้วคิดถึงเรื่องเก่าที่เราไม่เคยทำสมาธิไม่เคยมีสมาธิเลย อายุขนาดนี่แล้วได้สมาธิครั้งหนึ่งสองครั้ง ก็ยังดีที่เราเห็นตัวสมาธิ พวกที่ไม่ได้นั้นมากมายเหลือหลาย การเห็นสมาธิทำให้เกิดความเพียรพยายาม พยายามทำอยู่นั้นแหละวันหนึ่งต้องได้แน่นอน พละมันเป็นกำลังให้เกิดได้ทีเดียว

สติพละ สติจดจ่อตั้งมั่นอยู่ในเรื่องนั้น ๆ มีศรัทธาวิริยะแล้วอาจที่จะหลงไปได้เชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกก็มี เพียรพยายามในสิ่งที่ผิดก็มี ถ้าหากสติไม่ควบคุมไว้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควรสิ่งนั้นผิดหรือถูก ถูกต้องตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ฟังคำครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนตักเตือนมันตรงกันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องมีสติควบคุมระวัง จึงจะเดินถูกทาง ส่วนมากมีแต่ศรัทธา มีศรัทธาก็ต้องมีวิริยะวิ่งเข้ามาสนับสนุน มากทีเดียวที่เห็นผิด ๆ ทำผิดแล้วคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะตักเตือนได้เสียด้วย ความถือรั้นว่าตนทำถูก คนอื่นไม่ถูก ไม่เหมือนกับตน เพราะศรัทธามั่นแรง วิริยะก็มาก แต่ผู้มีสติเดินเสมอภาคไม่เอนเอียงข้างโน้นข้างนี้ เรียกว่า “ มัชฌิมาปฏิปทา ” ธรรมดาผู้ที่มีสติแล้วไม่ถือตนว่าดีทั้งนั้น คนเรามันไม่ดีทั้งหมดหรอกเหตุนั้นจึงต้องระมัดระวังคอยสังเกตคอยฟังคนอื่นตักเตือนแนะนำสั่งสอน อาตมาจึงพูดอยู่เสมอว่า “ คนใดว่าตนดี คนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม คนนั้นคือคนโง่ ”

สมาธิพละ เป็นหลักใหญ่ที่สุด ศรัทธา วิริยะ สติ มันต้องรวมมาเป็นสมาธิเสียก่อน ถ้าไม่รวมเป็นสมาธิมันเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่โต พระพุทธศาสนาสอนไปไหนก็สอนเถอะ ถ้าไม่เข้ามาถึงใจแล้วไม่ถึงพระพุทธศาสนา สอนไปไหนก็สอนเถอะ ถ้าไม่เข้ามาถึงใจแล้วไม่ถึงพระพุทธศาสนา มันต้องรวมเข้ามาถึงใจ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ต้องมีที่รวมเป็นจุดเหมือนกัน การทำมาหากินทุกสิ่งทุกประการ ค้าขาย ทำราชการบ้านเมืองอะไรต่าง ๆ จุดรวมก็คือมาเลี้ยงตัว จุดรวมก็คือหาเงิน หาเงินแล้วก็รวมเอาเงินเข้ามาใส่ถุงไว้ ทำไร่ทำนา อย่างข้าวก็ต้องขนมารวมที่ลานข้าวแล้วยังต้องเอามารวมกันขึ้นยุ้ง เอาไปสี ไปซ้อม เอามาหุงมาต้ม เอามารวมลงในปากในท้อง นั่นแหละหมดเรื่องพระพุทธศาสนาสอนกว้างขวาง ถ้าหากไม่รวมลงเป็นสมาธิมันก็ไม่ถึงแก่นศาสนา อาตมาจึงพูดอยู่เสมอว่า “ พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุด หมดสิ้นสงสัย หมดเรื่อง ไม่เหมือนวิชาชีพอื่นเขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด ” อย่างธรรมทั้งหลายรวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมลงที่ “ ความไม่ประมาท ” อันเดียว มรรค คือ ทางดำเนินไปให้ถึงมรรคผลนิพพานก็มารวมลงที่ “ มรรคสมังคี ” อันเดียว จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด แต่บุคคลผู้ทำตามนั้นทำไม่ถึงที่สุด

ปัญญาพละ ปัญญาพิจารณาเห็นสังขารร่างกายของตน เห็นอะไร เอากระจกมาส่องดูก็ได้ หน้าตาของเรานี่ล่ะมันเห็นของแก่ของเฒ่าของชำรุดทรุดโทรม เหี่ยวแห้งอันนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเท่านี้ไม่ต้องเห็นอื่นไกลพยายามให้เห็นอยู่อย่างนั้นเสมอ เพราะเหตุที่คนจะเห็นความแก่ความชำรุดทรุมโทรม ความเสื่อมความสิ้นของสังขารไม่ใช่ของง่าย ๆ บางทีจนหนุ่มจนสาว จนเฒ่าจนแก่ก็ไม่เคยเห็นเลย แก่จะตายแล้วก็ยังมัวเมาอยู่ว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ร่ำไป ผู้ที่มองเห็นความแก่ ความชรา ความชำรุดทรุดโทรมนั้นนับว่าดีที่สุด เป็นหนทางที่จะหลุดพ้นได้ทางเดียวเท่านั้น

ถ้าไม่มีปัญญาไม่เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีศรัทธาไม่มีวิริยะ ศรัทธาขั้นนั้นไม่ใช่ศรัทธาวิเศษวิโสอะไรหรอกปัญญาในขั้นทำทาน มีอุบายปัญญาที่จะแสวงหาของมาทำบุญทำทานเรียกว่าปัญญา ความเพียรพยายามในการทำบุญเรียกว่าปัญญาเหมือนกัน จิตจะรวมได้ก็เพราะปัญญา จะเป็นสมาธิได้เพราะปัญญา ปัญญาพวกนั้นยังอ่อน รวมทั้งหมดเรียกว่าปัญญาทั้งนั้นแหละถ้าปัญญาชั้นสูงเป็น “ วิปัสสนาปัญญา ”

พละ ๕ นี้แหละบำรุงให้ใจมีกำลังเข้มแข็งกล้าหาญสามารถที่จะทำสมาธิ สามารถที่จะให้เกิดปัญญาอุบายอันยิ่งใหญ่ และสามารถทำให้ลุล่วงมรรคผลนิพพานได้

จากหนังสือ ธรรมลีลา ฉบับที่ 47 ตุลาคม 2547

ผู้พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร