วันเวลาปัจจุบัน 30 มี.ค. 2024, 11:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2009, 23:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว



อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ
สุตฺเตสุ พหุชาคโร

อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส
หิตฺวา ยาติ สุเมธโส

คำแปล
บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อคนทั้งหลายประมาทอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาท
เมื่อคนทั้งหลายหลับอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นส่วนมาก
ย่อมละบุคคลผู้ประมาท เหมือนม้าฝีเท้าดี ละทิ้งม้าฝีเท้าไม่ดี ไม่มีกำลังไป ฉะนั้น

อธิบายความ

ผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตื่น คือสติ ท่านเรียกว่าผู้หลับ หลับอยู่เป็นนิตย์
ส่วนผู้ไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี
โดยปริยายเบื้องสูงท่านหมายถึงพระขีณาสพ
คือผู้สิ้นกิเลสแล้ว

กล่าวโดยปริยายสามัญ คนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ

ไม่ประมาท
มีความเพียรไม่เห็นแก่หลับนอน และ
มีปัญญาดี

ย่อมเอาชนะผู้อื่นได้โดยง่าย เป็นเสมือนม้าฝีเท้าดี, คนอย่างนั้นย่อมระลึกอยู่เสมอว่า
"ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราไม่ประมาท ใครจะหลับนอนอย่างเกียจคร้านก็ช่างเขา เราตื่นอยู่"
ทำได้อย่างนี้สม่ำเสมอ จะเรียนหรือจะทำงานก็เจริญรุดหน้าได้ทั้งสิ้น

บางคนมีสมองดี แต่เกียจคร้าน บางคนสมองสติปัญญาไม่ดีแต่ขยัน คือ
ได้อย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง ถ้าใครได้ทั้งสองอย่างคือ
ทั้งสติปัญญาดีและทั้งขยันหมั่นเพียร มีกำลังกายดี
คนนั้นย่อมเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว-ไปเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน



เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.

ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร

อาการสำรวมจิตมี ๓ อย่าง

๑. สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ มิให้ความยินดีครอบงำในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา

๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะ และกายคตาสติ หรืออันยังใจให้สลดคือ มรณสติ

๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจรณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานให้เห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

กิเลสกาม คือ เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ กล่าวคือ ตัณหา ความทะยานอยาก ราคะ ความกำหนัด อรติ ความขึ้งเคียดเป็นอาทิ จัดว่าเป็นมาร เพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน

วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของน่าชอบใจ จัดเป็นบ่วงแห่งมาร เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติดแห่งมาร


ในประโยค ป.ธ. ๓ พระธรรมบทภาค ๑ เรื่อง ภิกษุสองสหาย มีใจความเล่าว่า

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุสองสหายได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 นี้


ครั้งหนึ่งมีภิกษุสองรูปเป็นสหายกันจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี ในภิกษุสองรูปนี้รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกจนมีความเชี่ยวชาญสามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500 รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้นมีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้

ดังนั้นพระศาสดาทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌานต่างๆ และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้เพราะตนไม่เคยนำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะแต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน


พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริกไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้นก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโคที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้นได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้ จิตของท่านจึงปลอดพ้นจากตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ


จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 ดังนี้


พหุ ปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน

น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต

โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ

น ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ


คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก

แต่มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน

ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช

เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา.





อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน

ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี

ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ

สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต

อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา

ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ



คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม

ละราคะ โทสะ โมหะได้

รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น

ไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เขาย่อมได้รับผลของการบวช.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากบรรลุพระโสดาบันป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.


อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
หน้าต่างที่ ๑๔ / ๑๔.

๑๔. เรื่องภิกษุ ๒ สหาย [๑๔]
ข้อความเบื้องต้น พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ” เป็นต้น.
สองสหายออกบวช ความพิสดารว่า กุลบุตร ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกัน ไปยังวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ละกามทั้งหลาย ถวายชีวิตในพระศาสนาของพระศาสดา๑- บวชแล้ว อยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ตลอด ๕ ปีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงธุระในพระศาสนา ได้ฟังวิปัสสนาธุระและคันถธุระโดยพิสดารแล้ว๒-, รูปหนึ่งกราบทูลก่อนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บวชแล้วเมื่อภายแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระได้, แต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ” ดังนี้แล้ว ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาจนถึงพระอรหัต พากเพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตพร้อมกับด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
____________________________
๑- อุรํ ทตฺวา.
๒- เป็นประโยคกิริยาปธานนัย.

ฝ่ายภิกษุรูปนอกนี้ คิดว่า “เราจะบำเพ็ญคันถธุระ” ดังนี้แล้ว เรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกโดยลำดับ กล่าวธรรม สวดสรภัญญะ ในสถานที่ตนไปแล้วๆ, เที่ยวบอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เป็นอาจารย์ของคณะใหญ่ ๑๘ คณะ.
ภิกษุทั้งหลายเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระนอกนี้ (รูปบำเพ็ญวิปัสสนา) ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บรรลุพระอรหัตแล้ว นมัสการพระเถระ เรียนว่า “กระผมทั้งหลายใคร่จะเฝ้าพระศาสดา”
พระเถระกล่าวว่า “ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลาย นมัสการใต้เท้า’” ดังนี้แล้วส่งไป. ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า “ใต้เท้าขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึงใต้เท้า” ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า “อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็นใคร?” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ.”
เมื่อพระเถระ (วิปัสสกภิกษุ) ส่งข่าวเยี่ยมอย่างนี้เรื่อยๆ อยู่, ภิกษุนั้น (คันถิกะ) อดทนอยู่ได้สิ้นกาลเล็กน้อย ภายหลังไม่สามารถจะอดทนอยู่ได้, เมื่อพวกอาคันตุกภิกษุเรียนว่า “ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการใต้เท้า” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “อาจารย์ของพวกท่าน นั่นเป็นใคร”,
เมื่อภิกษุทั้งหลายเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ” จึงกล่าวว่า “ก็อะไรเล่า? ที่พวกท่านเรียนในสำนักของภิกษุนั้น บรรดานิกายมีทีฆนิกายเป็นต้น นิกายใดนิกายหนึ่งหรือ? หรือบรรดาปิฎก ๓ ปิฎกใดปิฎกหนึ่งหรือ? ที่พวกท่านได้แล้ว” ดังนี้แล้ว คิดว่า สหายของเราย่อมไม่รู้จักคาถาแม้ประกอบด้วย ๔ บท, ถือบังสุกุล เข้าป่า แต่ในคราวบวชแล้ว ยังได้อันเตวาสิกมากมายหนอ, ในกาลที่เธอมา เราควรถามปัญหาดู”
พระเถระทั้งสองพบกัน ในกาลต่อมา พระเถระ (วิปัสสกะ) ได้มาเฝ้าพระศาสดา, เก็บบาตรจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้สหายแล้ว ไปถวายบังคมพระศาสดา และนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ก็กลับมาที่อยู่ของพระเถระผู้สหาย. ลำดับนั้น พระคันถิกเถระนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทำวัตรแก่ท่านแล้ว ถือเอาอาสนะมีขนาดเท่ากัน นั่งแล้วด้วยตั้งใจว่า “จักถามปัญหา.”
พระศาสดาถามปัญหาพระเถระทั้งสอง ขณะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า “คันถิกภิกษุนี้พึงเบียดเบียนบุตรของเราผู้มีรูปเห็นปานนี้ แล้วเกิดในนรก”, ด้วยทรงเอ็นดูในเธอ ทำประหนึ่งเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จถึงสถานที่เธอทั้งสองนั่งแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เธอจัดไว้. แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะนั่งในที่นั้นๆ จัดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจึงนั่ง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงประทับนั่งเหนืออาสนะที่พระคันถิกภิกษุนั้นจัดไว้โดยปกตินั่นแล. ก็แลครั้นประทับนั่งแล้ว จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.
ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ. พระเถระก็ทูลตอบได้.
พระวิปัสสกเถระได้รับสาธุการ พระศาสดาทรงชมเชยว่า “ดีละๆ” แล้วตรัสถามปัญหา แม้ในมรรคที่เหลือทั้งหลายโดยลำดับ. พระคันถิกเถระก็มิได้อาจทูลตอบปัญหาได้สักข้อเดียว ส่วนพระขีณาสพทูลตอบปัญหาที่ตรัสถามแล้วๆ ได้. พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่พระขีณาสพนั้นในฐานะทั้งสี่. เทวดาทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภุมเทวดา จนถึงพรหมโลกและนาคครุฑ ได้ฟังสาธุการนั้นแล้ว ก็ได้ให้สาธุการ.
พวกอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของพระคันถิกเถระ ได้สดับสาธุการนั้นแล้ว จึงยกโทษพระศาสดาว่า “พระศาสดาทรงทำกรรรมอะไรนี่? พระองค์ได้ประทานสาธุการแก่พระมหัลลกเถระผู้ไม่รู้อะไรๆ ในฐานะทั้งสี่, ส่วนท่านอาจารย์ของพวกเราผู้จำทรงพระปริยัติธรรมไว้ได้ทั้งหมด เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระองค์มิได้ทรงทำแม้มาตรว่า ความสรรเสริญ”
พูดมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์ ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกันนี่?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เช่นกับผู้รักษาโคทั้งหลาย เพื่อค่าจ้างในศาสนาของเรา, ส่วนบุตรของเรา เช่นกับเจ้าของผู้บริโภคปัญจโครส๑- ตามชอบใจ”
ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
๑๔. พหุมฺปิ เจ สหิตํ๒- ภาสมาโน
น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
น ภาควา สามญฺญสส โหติ.
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา
ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.
“หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี
ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว
ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่
เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล๓- เหมือนคนเลี้ยงโค
นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มี
ส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าว
พระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย
(แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มี
จิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือ
ในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”

____________________________
๑- อันเกิดแต่โค ๕ อย่าง คือ นมสด, นมส้ม, เปรี้ยง, เนยใส, เนยข้น.
๒- ม. สํหิต. อยญฺหิ คาถา อุเปนฺทวชิโร นาม โหติ, โส จ ช ต ช คเณหิ เจว ครุทฺวเยน จ นิยมิโต, ตสฺมา "สํหิต อิติ ยุชฺชติ.
๓- ผล คือคุณเครื่องเป็นสมณะ.
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหิตํ นี้ เป็นชื่อแห่งพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก, นรชนเข้าไปหาอาจารย์ทั้งหลาย เล่าเรียนพระพุทธพจน์นั้นแล้ว กล่าว คือบอก ได้แก่แสดงอยู่ ซึ่งพระพุทธพจน์แม้มากแก่ชนเหล่าอื่น (แต่) หาเป็นผู้ทำกิจอันการกบุคคลฟังธรรมนั้นแล้วจะพึงทำไม่ คือไม่ยังการทำไว้ในใจให้เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ชั่วขณะแม้สักว่าไก่ปรบปีก, นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งผล สักว่าการทำวัตรปฏิวัตรจากสำนักของอันเตวาสิกทั้งหลายอย่างเดียว, แต่หาเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะไม่ เหมือนคนเลี้ยงโครักษาโคทั้งหลายเพื่อค่าจ้างประจำวัน รับไปแต่เช้าตรู่ เวลาเย็นนับมอบให้แก่เจ้าของทั้งหลายแล้ว รับเอาเพียงค่าจ้างรายวัน, แต่ไม่ได้เพื่อบริโภคปัญจโครสตามความชอบใจ ฉะนั้นแล.
เหมือนอย่างว่า เจ้าของโคพวกเดียว ย่อมบริโภคปัญจโครสแห่งโคทั้งหลาย ที่นายโคบาลมอบให้แล้ว ฉันใด, การกบุคคลทั้งหลายฟังธรรมอันนรชนนั้นกล่าวแล้ว ปฏิบัติตามที่นรชนนั้นพร่ำสอนแล้ว ก็ฉันนั้น, บางพวกบรรลุปฐมฌานเป็นต้น, บางพวกเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุมรรคและผล, จัดว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ เหมือนพวกเจ้าของโค ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งโครสฉะนั้น.
พระศาสดาตรัสคาถาที่ ๑ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ผู้มีสุตะมาก (แต่) มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ไม่ประพฤติแล้วในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น, หาตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ทุศีลไม่ ด้วยประการฉะนี้.
ส่วนคาถาที่ ๒ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งการกบุคคลผู้แม้มีสุตะน้อย (แต่) ทำกรรมในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายอยู่.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมฺปิ เจ ความว่า น้อย คือแม้เพียง ๑ วรรค หรือ ๒ วรรค.
บาทพระคาถาว่า ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี เป็นต้น ความว่า นรชนรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ประพฤติธรรมอันสมควรแก่โลกุตรธรรม ๙ คือประเภทแห่งธรรม มีปาริสุทธิศีล ๔ ธุดงคคุณ และอสุภกรรมฐานเป็นต้น ที่นับว่าข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีปกติประพฤติธรรมสมควร คือหวังการแทงตลอดอยู่ว่า “เราจักแทงตลอดในวันนี้ เราจักแทงตลอดในวันนี้ ทีเดียว” ชื่อว่าย่อมประพฤติ.
นรชนนั้นละราคะ โทสะ และโมหะด้วยข้อปฏิบัติชอบนี้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ด้วยอำนาจแห่งตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ. หมดความถือมั่นอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือไม่เข้าไปยึดถือขันธ์อายตนะและธาตุทั้งหลาย อันนับเนื่องในโลกนี้และโลกอื่น หรืออันเป็นภายในและภายนอก ด้วยอุปาทาน๑- ๔ ชื่อว่าเป็นมหาขีณาสพ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ คือผลอันมาแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ กล่าวคือมรรค และคุณเครื่องเป็นสมณะคือกองแห่งอเสขธรรม๒- ๕.
____________________________
๑- กามุปาทาน การถือมั่นกาม ๑ ทิฏฐุปาทาน การถือมั่นทิฏฐิ ๑ สีลัพพตุปาทาน การถือมั่นศีลพรต ๑ อัตตวาทุปาทาน การถือมั่นวาทะว่าตน ๑.
๒- สีลขันธ์ คุณคือศีล ๑ สมาธิขันธ์ คุณคือสมาธิ ๑ ปัญญาขันธ์ คุณคือปัญญา ๑ วิมุตติขันธ์ คุณคือวิมุตติ ๑ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คุณคือวิมุตติญาณทัสสนะ ๑.

พระศาสดาทรงรวบยอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัต เหมือนนายช่างถือเอายอดแห่งเรือน ด้วยยอดแก้วฉะนั้น ดังนี้แล.
ในกาลจบคาถา คนเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น.
เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุ ๒ สหาย จบ.
ยมกวรรควรรณนา จบ.
วรรคที่ ๑ จบ.

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2009, 23:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:
สาธุ..คุณ Walaiporn

ถูกใจยิ่งนัก..

:b12: :b12: :b12: :b12: :b12:


แก้ไขล่าสุดโดย กบนอกกะลา เมื่อ 07 ก.ย. 2009, 23:30, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2009, 02:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุค่ะ คุณน้ำ

:b4: :b8: :b8: :b8: :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2009, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1051

งานอดิเรก: อ่านหนังสือธรรมะ
อายุ: 0
ที่อยู่: Bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


กบนอกกะลา เขียน:
:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:
สาธุ..คุณ Walaiporn

ถูกใจยิ่งนัก..

:b12: :b12: :b12: :b12: :b12:


กุหลาบสีชา เขียน:
สาธุค่ะ คุณน้ำ

:b4: :b8: :b8: :b8: :b4:



tongue คุณน้ำ คุณกบนอกกะลา คุณกุหลาบสีชา เก่งจริงๆค่ะ
O.wan อ่านแล้ว :b5: :b23: :b6: :b5: :b23: :b6: ค่ะ ตรงนี้ยากจริงๆค่ะ
:b8:

.....................................................
    มีสิ่งใด น่าโกรธ อย่าโทษเขา.... ต้องโทษเรา ที่ใจ ไม่เข้มแข็ง
    เรื่องน่าโกรธ แม้ว่า จะมาแรง ....ถ้าใจแข็ง เหนือกว่า ชนะมัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2009, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


O.wan เขียน:
กบนอกกะลา เขียน:
:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:
สาธุ..คุณ Walaiporn

ถูกใจยิ่งนัก..

:b12: :b12: :b12: :b12: :b12:


กุหลาบสีชา เขียน:
สาธุค่ะ คุณน้ำ

:b4: :b8: :b8: :b8: :b4:



tongue คุณน้ำ คุณกบนอกกะลา คุณกุหลาบสีชา เก่งจริงๆค่ะ
O.wan อ่านแล้ว :b5: :b23: :b6: :b5: :b23: :b6: ค่ะ ตรงนี้ยากจริงๆค่ะ
:b8:




สวัสดีค่ะพี่วรรณ :b8:

พี่อ่านตรงไหนแล้วไม่เข้าใจ ถามได้ค่ะ :b12:

ข้อความจะแบ่งเป็น 2 แบบนะคะ
แบบนสุด ไม่มีภาษาบาลีปน

เป็นเรื่องราวของพระภิกษุ 2 ท่านที่เป็นเพื่อนกัน
ท่านหนึ่งเก่งปริยัติ อีก ท่านหนึ่งท่านสำเร็จอรหันต์

ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้


เก่งปริยัติอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติ ....

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2009, 20:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2009, 08:46
โพสต์: 405

แนวปฏิบัติ: ดูจิต-อานา
ชื่อเล่น: ขวานผ่าซาก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แล้่ว คุณวไลพรเลือกแบบไหนครับ
cool

.....................................................
สุ จิ ปุ ลิ...(หัวใจนักปราชญ์)

ปัจจุบันธรรม

โยนิโส มนสิการ
สติ สัมปชัญญะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2009, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1051

งานอดิเรก: อ่านหนังสือธรรมะ
อายุ: 0
ที่อยู่: Bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


สวัสดีค่ะพี่วรรณ :b8:

พี่อ่านตรงไหนแล้วไม่เข้าใจ ถามได้ค่ะ :b12:

ข้อความจะแบ่งเป็น 2 แบบนะคะ
แบบนสุด ไม่มีภาษาบาลีปน

เป็นเรื่องราวของพระภิกษุ 2 ท่านที่เป็นเพื่อนกัน
ท่านหนึ่งเก่งปริยัติ อีก ท่านหนึ่งท่านสำเร็จอรหันต์

ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้


เก่งปริยัติอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติ .... [/color][/quote]


onion ขอบคุณนะคะคุณน้ำที่ช่วยแปลไทย.....เป็นไทย :b32: :b9:
คือภาษาบาลี นี่น่ะค่ะยาก ยิ่งเป็นหลักธรรมแล้วกว่าจะแปลออก
อ่านหน้าลืม :b5: หลังไงคะคุณน้ำ แต่ตอนนี้มีตัวช่วยแล้ว จะถามคุณน้ำแล้วกันนะ
tongue

.....................................................
    มีสิ่งใด น่าโกรธ อย่าโทษเขา.... ต้องโทษเรา ที่ใจ ไม่เข้มแข็ง
    เรื่องน่าโกรธ แม้ว่า จะมาแรง ....ถ้าใจแข็ง เหนือกว่า ชนะมัน


แก้ไขล่าสุดโดย O.wan เมื่อ 09 ก.ย. 2009, 09:13, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ก.ค. 2009, 10:32
โพสต์: 25

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุ... smiley


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2009, 19:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว



เมื่อรู้โดยสภาวะ ( ปรมัตถ์ ) เมื่อมาอ่านบัญญัติย่อมเข้าใจได้ง่าย

ผิดกับรู้เพียงแค่บัญญัติ ยากที่จะคาดเดาสภาวะ ( ปรมัตถ์ ) ได้

ตัวสภาวะเป็นตัวบ่งบอกว่า รู้แค่ไหน สภาวะจะมาโกหกกันไม่ได้

บัญญัติย่อมตีความตามที่ได้ศึกษากันมา รู้แค่ไหน ตีความได้แค่นั้น

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2009, 20:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


วัมมิกสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะพักอยู่ที่ป่าอันธวัน.


ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง เมื่อราตรีล่วงปฐมยามแล้ว ยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง
เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะถึงที่อยู่ ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะ

ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน

พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาตราไปขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลักจึงเรียนว่า ลิ่มสลักขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้นเอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่งขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลง ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่าง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาตราขุดลง.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่าเต่าขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.
สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อม ต่อนาค.


ดูกรภิกษุ ท่านพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูล ถามปัญหา ๑๕ ข้อ เหล่านี้แล
ท่านพึงทรงจำปัญหาเหล่านั้น ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์


ดูกรภิกษุข้าพเจ้า ย่อมไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้
นอกจากพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต หรือเพราะฟังจากสำนักนี้.

เทวดานั้นครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้หายไปในที่นั้นแล.


พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า


ดูกรภิกษุ คำว่า จอมปลวก นั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔
ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนม กุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น
มีอันทำลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา.


ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่า พ่นควันในกลางคืน นั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงาน
ในกลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน.


ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่า ลุกโพลงในกลางวัน นั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคล
ตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา
นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน.


ดูกรภิกษุ คำว่า พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

คำว่า สุเมธะ นั้นเป็นชื่อของเสขภิกษุ.

คำว่า ศาตรา นั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ.

คำว่า จงขุด นั้นเป็นชื่อของการปรารภความเพียร.

คำว่า ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อของอวิชชา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย.


คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ. คำนั้นมีอธิบาย ดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้น
ด้วยสามารถความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย.


คำว่า ทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือ จงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมันเสีย


คำว่า หม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์
ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสียจงขุดขึ้นเสีย.


คำว่า เต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์
สัญญูปาทาน ขันธ์สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรายกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.


คำว่า เขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้ง
ด้วยโสต กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึง
รู้แจ้งด้วยกายน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม
เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.


คำว่า ชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย


คำว่า นาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
นาคจงหยุดอยู่เถิดเจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้.


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะ มีใจชื่นชม
เพลิด เพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2009, 21:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบาย จอมปลวก ปัญหา ๑๕ ข้อในวัมมิกสูตร

ปัญหาข้อที่ ๑ คำว่า " จอมปลวก " ในที่นี้ ได้แก่ร่างกาย ได้ชื่อว่าจอมปลวก เพราะเหตุ ๔ ประการคือ

ประการที่ ๑ ธรรมดาจอมปลวกย่อมคายสัตว์ต่างๆออกมาเช่น ตัวปลวก งู พังพอน เป็นต้น
ฉันใด แม้ร่างกายของบุคคลทั่วๆไปในโลกนี้ ก็ฉันั้นเหมือนกัน คือ ย่อมคายของโสโครกมีขี้หู ขี้ตา
ขี้มูก และตัวพยาธิปากข้อตางๆ ออกมากจสกนธ์กาย ดุจจอมปลวกคายสัตว์ต่างๆออกมาฉนั้น


แต่คำว่า " คาย " ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า คายออกจากปากเท่านั้น หมายความว่า
คายออกจากร่างกายทั่วไป เพราะว่าร่างกายทั้งสิ้นย่อมเป็น เหมือน กับปากแผลทุกๆแห่งไป
ที่เห็นได้โดยง่ายคือ ทวารทั้ง ๙ และขุมขน สิ่งโสโครกต่างๆ ย่อมไหลออกมาจากทวารทั้ง ๙
และขุมขนเสมอเป็นนิตย์ สมกับพระพุทธภาษิต ที่สมเด็จพระธรรมสามิสร์ได้ตรัสแก่พระนางเขมาว่า

อาตุรํ อสุจี ปูตี ปส์ส เขเม สมุสฺสยยํ
อุคุฆรนตํ ปคฺฆนนนิตํพาลานํ พาลานํ อภิปตฺถิตํ

แปลใจความว่า

" เขามา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาด เน่าในไหลเข้าไหลออกอยู่เนืองนิตย์ แต่คนพาลมีจิตปรารถนายิ่งนัก "

ประการที่ ๒ ตัวปลวกทั้งหลาย ย่อมช่วยกันคาบเอาดินมาคายออก ก่อให้สูงขึ้นประมาณ
เพียงบั้นเอวบ้าง เพียงศรีษะบ้าง หรือต่ำสูงเกินกว่าที่กล่าวมานี้บ้าง ตามแต่กำลังของปลวก
หรือสถานที่ที่มีปลวกขนเอาดินมาก่อไว้ ข้อนี้ ฉันใด ร่างกายของบุคคลทั่วโลกก็ฉันนั้น
คือย่อมก่อร่างสร้างตัวหาอาหารมาบำรุงบำเรอโดยรอบด้านเพื่อให้เติบดตโดยลำดับๆ และร่างกายนี้
ยังเป็นที่คายความรักใคร่ของพระอริยเจ้าออกให้หมดสิ้น พระอริยเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า
มิได้มีความรักใคร่ใยดีในร่างกายเลย ฉะนั้นท่านจึงเปรียบเทียบให้เห็นว่าจอมปลวกนั้นได้แก่ร่างกาย

ประการที่ ๓ ตัวปลวกที่ขนดินมาก่อนั้น ย่อมคายยางเหนียวคือ น้ำลายของมันออก
ทำเป็นน้ำเชื้อสำหรับทำให้ดินเหนียว ส่วนมนุษย์เรา เมื่อจะทำดินเหนียวสำหรับทำภาชนะสิ่งของต่างๆ มีปั้นหม้อ และปั้นอิฐ หรือกระเบื้อง เป็นต้น ย่อมใช้น้ำท่าหรือน้ายาผสมดิน ขยำดินให้เหนียวก่อน
จึงทำเป็นสิ่งนั้นๆได้ ส่วนปลวกไม่มีปัญญาที่จะทำดินเหนียวเหมือนมนุษย์ได้ จึงต้องใช้น้ำลาย
ต่างน้ำท่าหรือน้ำยา โดยเหตุนี้ดินภายใจจอมปลอมหรือดินที่เป็นปลวกกำลังก่อขึ้นใหม่นั้นจึงเหนียว
ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของมนุษย์ทุกมุมโลกก็ฉันนั้น คือ ย่อมเกลือกกลั้วไปด้วยของสกปรกปฏิกูล
น่ารังเกียจ ย่อมคายน้ำลายออกมาผสมกับอาหาร ในเวลารับประทานเสมอ


และร่างกายนี้ ยังเป็นที่คายสิ่งหลอกลวงออกแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือ สิ่งที่หลอกลวง
สัตว์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงติดอยู่ มีอยู่ในร่างกายที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน
หุ้มด้วยหนังรัดรึงด้วยเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ชุ่มด้วยโลหิตฉาบไล้ด้วยผิวหนังตลอดถึงอาการ ๓๒
มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรืออวัยวะต่างๆ มีหน้า ตา แขน ขา มือ เท้า เป็นต้น
ล้วนแต่เป็นเครื่องหลอกลวงให้สัตว์บุคคลหลงรักใคร่เกลียดชัง บางทีก็รักสิ่งนั้น เกลียดสิ่งนั้น
หรือรักทั้งหมด เกลียดทั้งหมดในสิ่วนที่มีอยู่ในร่างกาย


ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมคายเสีย ถอนเสีย ละเสีย ซึ่งสิ่งที่หลอกลวงทั้งสิ้นนั้น
มีอาการปานประหนึ่งว่าจอมปลวก อันเป็นที่คายน้ำลายของตัวปลวกทั้งหลายออกมาฉะนั้น

ประการที่ ๔ ดินในจอมปลวก เมื่อเอามาขยำด้วยมือบีบคั้นให้แรงๆ ย่อมมียางไหลออก
มีอาการเหนียวคล้ายกับน้ำเชื้อสำหรับปั้นอิฐ ยางเหนียวนั้นเกิดจากน้ำลายของตัวปลวก ฉันใด
ร่างกายของสรรพสัตว์ทั่วสากลโลก ก็ฉันนั้น เพราะร่างกายนี้ เต็มไปด้วยยางเหนียวคือ
ตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ คายออกไปหา รูป เสียง กลิ่นรส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อยู่เสมอๆ แล้วก็ผูกมัดรัดเอาสัตว์ไว้ให้ติดอยู่ในวัฏฏสงสารหรือสังสารวัฏ
ตัดไม่ขาด ทำให้ลุ่มหลง วนเวียนอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสาร ตลอดกาลอันยืดยาวนานไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้


ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย อาศัยกายนี้ คายยายงเหนียวเหล่านั้นออก คือละยางเหนียวเสียได้
ไม่หลงใหลติดอยู่ เพราะท่านมีปัญญาฉลาดเฉลียวสามารถละยางเหนียวได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งมัคคญาณ


นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ารู้ในสกนธ์กาย อันมีอุปทากับจอมปลวกนี้อีกมาก คือ ธรรมดาว่าจอมปลวก
ย่อมมีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

๑. ปสูติฆรสถาน เป็นที่เกิดแห่งปณกชาติทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายก็เป็นที่เกิดแห่งสัตว์
ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดอาศัยอยู่ในผิวหนังบ้าง อาศัยอยู่ในหนังบ้าง
เนื้อบ้าง เส้นเอ็นบ้าง กระดูกบ้าง สัตว์เหล่านั้นได้แก่ ตัวกิมิชาติ คือ หมู่หนอน ๘ หมื่นจำพวก
จะเป็นร่างของคนยากจนเข็ญใจ มั่งมี ผู้ดี ไพร่ ตลอดจนพระราชามหากษัตริย์ และผู้มีอานุภาพมาก
สักปานใดก็ตาม ย่อมเป็นปสูติฆรสถาน คือ เรือนเป็นที่เกิดของหมู่หนอนเหมือนกันทุกประเภท
มิได้มีพิเศษแตกต่างกันเลย แม้แต่คนเดียว อันนี้เป็นอุปมาข้อ ๑

๒. วัจจกุฏิ ธรรมดาจอมปลวก ย่อมเป็นวัจจกุฏิที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ของสัตว์ทั้งหลาย
มีตัวปลวกเป็นต้น ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นวัจจกุฏิที่ถ่ายมูตรคูถแห่งหมู่หนอนฉันนั้นเหมือนกัน

๓. คลานศาลา ธรรมดาจอมปลวก ย่อมเป็นดรงพยาบาล คือ ดรงเจ็บป่วยของตัวปลวก
ทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นคิลานสถานคือ โรงพยาบาล ที่เจ็บป่วยของหมู่หนอน ฉันนั้นเหมือนกัน

๔. สุสานหนอน ธรรมดาจอมปลวกย่อมเป็นป่าช้าแห่งตัวปลวกทั้งหลายฉันใด ร่างกายนี้
ก็ย่อมเป็นสุสานสถาน คือ ป่าช้าของหมู่หนอนและสัตว์ทั้งหลายอื่นๆ อีกเป็นอันมาก
ที่เรารับประทานอยู่ทุกๆวัน มี วัว สุกร เป็ด ไก่ หอย กุ้ง เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถนับคำนวณได้
ว่าสัตว์เหล่านั้นตายเพราะปาก เพราะท้อง ของมนุษย์แต่ละคนนี้มีประมาณเท่าใด ดังนั้น
ร่างกายของบุคคลท่านจึงเปรียบไว้ว่าเป็นเหมือนป่าช้าอันเป็นที่ฝังศพฉะนั้น


โดยเหตุผล ๔ ประการนี้แหละ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จอมปลวกที่มีอยู่ในปัญหานี้
ไม่ใช่อื่นไกลเลย ได้แก่ร่างกายของบุคคลทั้งหลายนี่เอง

จาก หนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ รจนาโดย หลวงพ่อโชดก

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2009, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
อนุโมทนาครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2009, 21:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาข้อที่ ๒ ว่า " กลางคืนเป็นควัน "

ตอบว่า ได้แก่ วิตก คือ ความตรึก อธิบายขยายความต่อไปว่า บุคคลทั้งหลาย
ย่อมตรึกตรองถึงการงานที่ตนทำเมื่อเวลากลางวันว่าจะเป็นอย่างไร จะดีหรือร้าย จะมีผล
สมความประสงค์หรือไม่ ตรึกตรองต่อไปว่าพรุ่งนี้จะทำอย่างไร จะแสวงหาสิ่งนั้นได้ที่ไหน
เมื่อบุคคลตรึกตรองทบทวนไปมาอยู่อย่างนี้ จิตใจหรือความคิดอ่านก็ปานดังว่าควันไฟ
และโดยมากคนเรามักตรึกตรองในเวลาเข้านอน เพราะเป็นเวลาที่ว่างงาน พวกชาวนา
ก็ตรึกตรองในเรื่องทำนา ชาวสวนก็ตรึกตรองในเรื่องทำสวน พ่อค้าก็ตรึกตรองในเรื่องค้าขาย
ข้าราชการก็ตรึกตรองในเรื่องราชการอันเป็นหน้าที่ของตน พวกคนยากจนที่เที่ยวรับจ้าง
หรือเที่ยวขอทานก็ตรึกตรองในเรื่องรับจ้างขอทาน


รวมความว่า คนทั้งหลายย่อมชอบตรึกตรองคิดอ่านถึงการงานที่ทำมาแล้วและจะต้องทำต่อไป
ตามสมควรแก่ฐานะของตนๆมีเหตุผลดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า กลางคืนเป็นควัน ได้แก่ วิตก


คำว่า " ควัน " นอกจากที่ยกมาบรรยายแล้วนั้น ยังมีอยู่อีก ๕ อย่างคือ

๑. ควัน คือ ความโกรธ

๒. ควัน คือ ตัณหา

๓. ควัน คือ กามคุณ

๔. ควัน คือ ธรรมเทศนา

๕. ควัน คือ ควันไฟตามปกติ

๑. ความโกรธ ท่านจัดเป็นควันชนิดหนึ่ง เมื่อกระทบกับอนิฏฐารมณ์แล้วทำให้ใจขุ่น
แล้วตรึกตรองหาอุบายที่จะทำร้ายเบียดเบียนกันและกัน ถ้ายังไม่ได้โอกาสก็ผูกพยาบาทอาฆาต
จองเวรกันไว้ เพราะฉะนั้นความโกรธจึงนับว่าเป็นควันคือ กิเลสอันดุร้ายหยาบคายชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้
ไม่เลือกกาล ไม่เลือกสถานที่และไม่เลือกเวลา ไม่เลือกบุคคล
เว้นไว้แต่ผู้ที่ฆ่าความโกรธได้เด็ดขาดแล้วคือ พระอนาคามีเป็นต้น

๒. ตัณหา ท่านจัดเป็นควันชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
ลิ้นได้รส กายถูกต้องเย็นร้อน อ่อนแข็ง ใจนึกคิดธรรมารมณ์ ย่อมให้เกิดความอยากได้
เกิดความแสวงหา เกิดความเพ่งเล็งที่จะเอามาไว้ในอำนาจ เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว
ปิดบังดวงตาคือปัญญา มิให้มองเห็นทางมรรค ผล นิพพาน ดุจควันเข้าตมคนแล้วเกิดแสบ
น้ำตาออก มองไม่เห็นหนทาง ฉะนั้น

๓. กามคุณ ก็นับว่าเป็นควันอันร้ายแรงเอาการอยู่ เพราะสรรพสัตว์เกิดการฆ่าฟันรันแทงกันเพราะกามคุณนี้มีจำนวนมากมาย มีแทบทุกๆวัน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือ
แย่งกัน กัดกัน หึงกัน หวงกัน เพราะอำนาจกามคุณปิดบัง จึงเป็นเหตุทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันและกัน ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อนไปตามๆกัน ทั้งนี้ก็เพราะกามคุณเป็นควันบังตาไว้มิให้เห็นโทษ
มิให้เห็นทุกข์นั่นเอง

๔. พระธรรมเทศนา ก็เป็นควันชนิดหนึ่ง แต่เป็นไปในฝ่ายกุศล คือมีผลให้บุคคลฉลาด
และสามารถจนทำลายเส้นผมบังภูเขาได้ ผู้ที่จะเทศน์ก็ต้องนอนตรึกตรองและค้นคว้าตำรับตำรามาก่อน แม้เวลาเทศน์ก็ต้องนึกคิดตรึกตรอง และมองดูพุทธบริษัท เลือกคัดจัดสรรถ้อยคำสำนวนเนื้อธรรมคำพูดมาชี้แจงแสดงไขให้แก่สาธุชนฟัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความรู้ แล้วจักได้นำไป
ประพฤติปฏิบัติ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นควันเผาใจของตนนั้นให้หายไป
ดังนั้นพระธรรมเทศนาจึงจัดว่าเป็นควันชนิดหนึ่ง

๕. ควันปกติ ได้แก่ ควันไฟอันเกิดจากเชื้อต่างๆ เช่น เกิดจากฟาง เกิดจากไม้ เกิดจากรูป
ย่อมทำให้บุคลแสบตา บังมิให้มองเห็นทางตอไม้ เสี้ยนหนามต่างๆ เมื่อเดินไปอาจจะกระทบ
กับขวากหนาม แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนา ก่อให้เกิดความโกรธก็ได้ ก่อให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ
ก็ได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คำว่า ควัน นี้ ท่านหมายเอา วิตก คือ ความตรึกตรองซึ่งมีอุปมาดุจควันไฟ
ตามปกติ นอกจากนี้คำว่า ควันนั้น ยังจำแนกแจกออกไปอีกเป็น ๕ อย่างคือ
ความโกรธ ตัณหา กามคุณ ธรรมเทศนา และควันไฟตามปกติ

จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ รจนาโดย หลวงพ่อโชดก

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2009, 03:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาข้อที่ ๓ กลางวันเป็นเปลวได้แก่อะไร?

ปัญหาข้อที่ ๓ ถามว่า กลางวันเป็นเปลว ได้แก่อะไร?

ตอบว่า ได้แก่ การประกอบการงาน คือ การงานน้อยใหญ่ ตามหน้าที่ของตนๆ

การงานนั้นแบ่งประเภท ๒ อย่างคือ

๑. การงานทางโลก

๒. การงานทางธรรม

๑. การงานทางโลก นั้น บุคคลย่อมพากันทำตามสมควรแก่ฐานะของตน เช่น
ชาวนาก็ต้องตากฝน ทนแดด ในการทำนา มีการคราด ไถ หว่าน เกี่ยว เก็บ เป็นต้น
ชาวสวน ก็ต้องลำบากในการทำสวน มีดายหญ้า รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน เป็นต้น
พ่อค้าก็ต้องร้อนด้วยการวิ่งไปซื้อวิ่งขาย หรือนั่งร้านคอยหาลูกค้า เป็นต้น
ข้าราชการก็ต้องร้อนด้วยการทำงานตามหน้าที่ของตน

พูดโดยย่อก็คือ กลางวันร่างกายไม่ได้อยู่เป็นสุขเหมือนกลางคืน ต้องร้อนด้วยการประกอบการงาน

ทั้งเล็กทั้งใหญ่เสมอไป ซึ่งเปรียบเหมือนกับไฟอันลุกเป็นเปลวอยู่ ฉะนั้น

๒. การงานทางธรรม นั้น จำแนกออกเป็น ๔ อย่างคือ

๑. ปริมาณสีลขนฺธโรปนํ ได้แก่ การรักษาศิล ๕ - ๘ - ๑๐ - ๒๒๗

๒. อรญฺญวาโส ได้แก่ การอยู่ป่า ตามสมณวิสัยของผู้ปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสให้ปราศจากขันธสันดานของตน ตามหน้าที่ของพุทธบุตร

๓. ธูตงฺคปริหรณํ การถือธุดงค์ ตามหลักของพุทธศาสนา

๔. ภาวนารามตา การเจริญสมถกรรมฐาน และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ได้ฌาน

และเพื่อให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ผู้ปฏิบัติจะต้องร้อน คือ ร้อนเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว เผาให้ไหม้ ให้หมดไป ให้สิ้นไปจากขันธสันดานของตน

๒. สติมา ผู้ปฏิบัติต้องร้อน คือ รีบสังวรระมัดระวังมิให้กิเลสไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ต้องรีบ ต้องร้อนต้องกัน ต้องปิดไว้ด้วยสติ

๓. สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ ความรู้อยู่ทุกๆขณะ รู้เท่าทันอารมณ์ และรูปนาม

อันได้แก่ ปัญญา นั่นเอง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ เป็นต้น

รวมความว่า การงานทางธรรมก็ต้องร้อนเหมือนกันกับทางโลก แต่ต่างกันที่ภาวะคือ

ทางโลกร้อนนั้น ร้อนเพื่อร้อน ทางธรรมนั้น ร้อนเพื่อเย็น ร้อนคือรีบร้อน เพื่อดับทุกข์ เพื่อตัดกิเลส

เพื่อดับไฟอันเป็นต้นตอของความร้อน ในวัฏฏสงสาร

ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า " กลางวันเป็นเปลว " ได้แก่ การประกอบงาน ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น

จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หลวงพ่อโชดก

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2009, 01:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


หลวงปู่ขาว พุทธรักขิโต

ทิฏฐิมานะ ที่ไม่ยอมวางและด้วยความที่คิดว่าไม่มีใครรู้เกินตน ไม่ยอมรับคำเตือน แม้ว่าผู้นั้นจะรู้
มากกว่าตนและปรารถนาดีแค่ไหนก็ตาม คิดเพียงแค่ว่า ตนรู้ ตนเห็น ตนเข้าใจแล้ว จึงนับว่าเป็น
การเสียโอกาสที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนเอง จากการพบผู้ที่ท่านได้รู้
ได้ผ่านและได้ศึกษาจากการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่จำมาจากตำรา แล้วเอามาพูดให้ผู้อื่นฟัง เป็นการ
คาดเดาหรือกะประมาณเอาเอง เหมือนที่คนทั้วไปชอบทำ เพราะการลงมือปฏิบัติและการกระทำ
อะไรต่างๆนั้น มันต้องใช้เวลา และมันก็มีทุกข์ อุปสรรค ต้องให้พบ ให้เจอ ให้แก้ไขอีกมากมาย
มันลำบาก สู้การจดจำจากการศึกษาไม่ได้ เพราะง่ายดี

ถ้อยคำที่หลวงปู่ได้สนทนาธรรมกับศิษย์

หลวงปู่ขาว : พระพุทธศาสนานี้ถ้าเรียนถึงทำได้ แล้วลึกซึ้งที่สุด ดีเลิศไม่มีอะไรเทียบได้แม้แต่สิ่งเดียว

ลูกศิษย์ : ฤทธิ์ การแสดงฤทธิ์ อิทธิปฏิหารย์ นี้ทำยากไหม ดูคนทั่วไปจะชอบกันนัก

หลวงปู่ : มันเป็นของเล่นเท่านั้น พระที่ท่านทำถึงแล้วง่ายมาก แต่ที่สุดก็เบื่อหน่ายที่จะแสดงที่จะทำ
และไร้สาระที่สุด ไม่เหมือนคนทั่วไปที่เป็นบ้าตื่นอยากรู้ อยากเห็น เหมือนเด็กๆ พระที่ท่านแสดงได้
บางองค์ ท่านเลือกที่จะไปอยู่ป่า ตายในป่า อยู่เงียบๆของท่าน บางทีก็แกล้งบ้า ทำตัวไม่น่านับถือ
จนบางครั้งคนที่อยู่ใกล้ชิดไม่รู้ว่าท่านเป็นอะไร ภูมิจิตระดับใด แม้ท่านจะสะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหน
ก็ไม่มีบุคคลใดรู้ ตายก็ตายอย่างพระหลวงตาท้ายวัดองค์หนึ่งตายเท่านั้น

ท่านกล่าวต่อไปว่า ....
ก็อย่างว่านี้แหละ พวกตาบอด พวกใกล้เกลือกินด่าง เสียดายแทนว่ะ พวกนี้เจอไม้งามเมื่อขวานบิ่น
พวกเสียชาติเกิด ไม่รู้ของดี ของเน่า ช่างหัวมัน

ลูกศิษย์ : แล้วจะทำอย่างไรหลวงปู่

หลวงปู่ : ไม่ต้องทำอะไร ถือว่าวาสนามีแค่นั้น เพื่อนของเราองค์หนึ่งนั่งอาบน้ำกลางแม่น้ำ
โยมอุปัฏฐากทำอาหารถวายท่าน ไม่มีมะนาว ท่านเดินเข้าข้างในกุฏิ ครู่เดียว หิ้วมะนาวออกมาเต็มถัง ถามว่า
เอามาจากไหน กูไปเอามาจากตลาดกรุงเทพฯ โยมเขาก็หัวเราะ คิดว่าท่านพูดล้อเล่น
สุดท้ายท่านก็ตายอย่างพระธรรมดาองค์หนึ่งเท่านั้น ท่านมีโยมอุปัฏฐากสองสามคนเท่านั้น
ไม่เห็นท่านสนใจจะให้ใครนับถือหรือต้องการมีชื่อเสียงสาระอะไร มันเป็นของเน่าธรรมดาสำหรับท่าน
แต่คนธรรมดามันบ้า

ศิษย์ : แล้วหลวงปู่ทำได้ไหมนี่

หลวงปู่ : ไม่รู้มีตาก็ดูเอา มีนักปฏิบัติธรรมบอกว่า นั่งสมาธิเห็นนางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม
กูนั่งแทบตายไม่เห็นบ้าอะไรเลย ไอ้พวกประมาท พวกนี้ไม่นานก็เป็นบ้า เป็นโรคประสาทกันหมด
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเรื่องนี้ ท่านสอนให้ดูใจตัวเอง ให้ปฏิบัติศิล ปฏิบัติจิตภาวนา ให้จิตสงบ
แล้วก็พิจรณาทุกข์ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนต่างหาก เพื่อละ เพื่อถอนกิเลส โลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในจิตใจตนเอง เรื่องฤทธิ์ ญาณรู้ จะมีหรือไม่มี ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ท้ายสุดพระพุทธเจ้าก็
ไม่ได้ทรงยกย่องให้ความสำคัญเกินสติปัญญาเลย คนที่จะมาสนทนาธรรมะกับพระ บางคนก็ปฏิบัติ
แบบผิดๆ บางคนก็หลงยึดบางอย่างจนยากจะแก้ไข บางครั้งดูไปก็น่าสงสาร เขาไม่รู้หลัก
เขาไม่มีครูบาฯที่รู้จริงๆ และเป็นที่พึ่งได้ ไอ้เราก็รู้พองูๆปลาๆ

หลวงปู่ขาวกล่าวต่อไปว่า ....
กรรมฐานปัจจุบันไม่เหมือนเก่า ทำง่ายแต่ช้านาน ไม่เหมือนกรรมฐานเก่าๆดั้งเดิม ครูบาฯรุ่นใหญ่
ที่ท่านล่วงไปแล้วนั้น สิ่งแรกท่านเอาฐานก่อน คือฐานต้องมั่นคงจริงๆ (สมาธิ ) เน้นหนักองค์กรรมฐาน ปฏิบัติยาก ทำยาก แต่เมื่อทำได้แล้ว ง่าย ก้าวหน้าเร็ว กรรมฐานปัจจุบันชอบอะไรเร็วๆไวๆ ขึ้นต้นไม้
ไม่ยอมขึ้นแต่โคนต้น ชอบอุตริกระโดขึ้นยอดไม้เลย สุดท้ายก็เสียเวลา บางทีก็เป็นบ้า เป็นโรคประมาทฆ่าตัวตาย ก็มีมิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติไม่ตรง สุ่มๆเดาๆ อาจารย์พระกรรมฐานที่สอนไม่ได้รู้อะไรจริง
เรียนหนังสือตำรา พอท่องๆได้ก็ตั้งตัวเป็นอาจารย์แล้ว นั่งสมาธิ จิตรวมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้
แล้วนับประสาอะไร ญาณพิเศษรู้อะไรต่างๆ ยิ่งห่างไกลยังกะฟ้ากับดิน และที่ได้อภิญญา สมาบัติ

โถ .... พระระดับนี้ ปัจจุบันจะมีกี่องค์ หาแทบไม่เจอ ยิ่งพระอริยะ พระอรหันต์ ท่านที่เป็นจริงๆ
ท่านไม่ให้ใครรู้หรอก ไม่พูด ไม่ชอบแสดงตัว มันก็มีแต่ประเภทที่ไม่รู้ทั้งนั้น ชอบแสดง ชอบอวด
รู้จริงมันอวดกันได้ที่ไหน มันเป็นกรรม ถ้าไม่ถึงวาระ ไม่ถึงกรรมต้องทำแล้ว แสดงออกมาไม่ได้เลย
แต่ก็เอาเถอะ กรรมใคร กรรมมัน

ลูกศิษย์ : แล้วกรรมฐานรุ่นเก่าทำอย่างไร

หลวงปู่ : กรรมฐานรุ่นเก่านั้น ต้องทำจิตให้เป็นหนึ่งให้ได้ทุกอริยาบถก่อน จากนั้นจึงเข้ากราบครูบาฯ
ขอคำแนะนำอุบายวิธีปฏิบัติต่อไป ถ้าทำพื้นฐานไม่ได้แล้ว ท่านไม่สอนอะไรต่อเลย และห้ามถาม
เรื่องภาวนาอีก คือ ถ้าทำไม่ได้อย่าพูด อย่าถามและโกหกการภาวนากับครูบาฯไม่ได้ด้วย คือท่านรู้จริงๆ เพราะท่านดูจิตของลูกศิษย์ออกหมดว่า ปฏิบัติก้าวหน้าหรือเท่าเดิม ทำได้น้อยหรือมากนี่คือ
ครูบาฯรุ่นเก่าที่ท่านเป็นพระปฏิบัติแท้ๆ เป็นครูจริงๆ รู้จริงและพิสูจน์ได้เสมอหากลูกศิษย์สงสัย
ในคุณธรรมของอาจารย์ มันจึงเป็นกรรมฐานแท้ๆ


ส่วนเรื่องญาณรู้พิเศษต่างๆเหล่านั้น หลวงปู่ขาวท่านมักจะพูดว่า มันเป็นเรื่องที่เหนือคำพูด การประมาณ การคาดเดาที่คนทั่วไปชอบทำกันจนเป็นนิสัยสำหรับวิทยาศาสตร์ วัตถุ วิวัฒนาการต่างๆของมนุษย์
จนเจริญก้าวหน้าอีกกี่พันกี่หมื่นปีก็ยังตามหลังพุทธศาสนาอยู่ดี วิทยาศาสตร์ชอบเอาเครื่องมือทดลอง พิสูจน์ตามทฤษฎีที่ตั้งขึ้นคือ เอานอกดูนอก เช่นใช้กล้องส่องดูเชื้อโรค แต่ทางพุทธศาสนานั้น
เอาในดูนอกคือ ใช้สิ่งที่ไม่มีตัวตน ( จิต ) ดูสิ่งภายนอก มันจึงรู้ได้เกินรู้ได้มากอย่างไม่มีขีดจำกัด
แต่วิทยาศาสตร์รู้มีขีดจำกัด ทฤษฎีต่างๆทั่วโลกและในอนาคตอีกไม่มีประมาณจะมากแค่ไหน
ก็ถูกทฤษฎีของพระพุทธเจ้าครอบคลุมไว้หมด


ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ ( ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ) คือเมื่อมีขึ้นแล้ว
ก็เสื่อมได้ สลายไปไม่มีตัวตนในที่สุด ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้าได้หรอก สิ่งต่างๆมีอายุการใช้งาน
เหมือนกับอายุของสัตวืนี่แหละ สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือค้างโลก สร้างอีกก็เสื่อมสลายอีก จะว่าอะไร
แม้แต่ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเอง สุดท้ายมันก็ต้องตายเป็นเถ้าเหมือนกัน ส่วนแนวปฏิบัติกรรมฐานนั้น
หลวงปู่ขาวจะชอบพูดว่า พุทโธตัวเดียวอย่างเดียว อย่าทิ้งองค์กรรมฐาน เพราจิตจะจกลงสู่ภวังค์
( อารมณ์ต่างๆ ) เมื่อเราบริกรรมพุทโธจะเปรียบเหมือนกับเราทำให้อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นช้าลง
หรือห่างออกจากเดิม ที่เกิดขึ้นเร็วจนบางครั้งตามแทบไม่ทัน ถึงแม้เราจะไม่สามารถทำจิตให้อยู่
ในอารมณ์เดียวได้ ( เป็นหนึ่งอยู่คำบริกรรม ) และแม้ผู้นั้นจะเรียนรู้ธรรมะจากรู้อุบายภาวนามาก
ศึกษาจากครูบาฯมามาก แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหาอุบายวิธีที่จะทำให้จิตของตนเองสงบจากอารมณ์ต่างๆได้แล้ว ธรรมะที่รู้มาก็ไม่มีประโยชน์ ปัญญาที่แท้จริงไม่มีวันรู้ได้ เพราะอารมณ์ต่างๆมันจะปรุงแต่ง
ให้จิตฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย ไม่มีวันหยุดสงบลงได้ เรียกว่า สติยังปัญญายังอ่อน อันมีสาเหตุเนื่องมาจาก

๑. วาสนา บารมี กระทำบำเพ็ญในอดีตยังน้อย ( พละหรืออินทรีย์ ๕ ยังอ่อน )
๒.ความเพียรพยายามในปัจจุบันไม่มีกำลัง คือไม่ค่อยทำหรือทำไม่ต่อเนื่อง
๓.ลังเลสงสัยในองค์กรรมฐาน ( คำภาวนา ) ที่ตนเองใช้
๔.ไม่เชื่อมั่นศรัทธา ไม่มมั่นคงในตัวครูบาฯที่ตนเองศึกษาอยู่
๕.ปฏิบัติผิดทางหรือปฏิบัติอยู่กับอาจารย์กรรมฐานที่ไม่รู้จริง ( ไม่มีภูมิรู้ )
๖.รู้เกินครูบาฯอันเนื่องจากเรียนมามาก ศึกษาหลายอาจารย์จนสับสนแนวปฏิบัติและชอบอวดรู้
มีทิฐิมานะ การถือตนสูงไม่ยอมรับคำสอนของผู้อื่น

นี่คืออุปสรรคเกี่ยวกับการปฏิบัติที่หลวงปู่ขาวสอนเสมอ ท่านว่า คนที่ว่าตนเองรู้ ตนเองฉลาดแล้ว
คนนั้นคือ คนโง่ที่สุด คนที่มีนิสัยถ่อมตน ไม่ถือตัว ไม่อวดความรู้ที่ตนเองมี คนนั้นคือ นักปราชญ์ผู้รู้จริง และผู้นั้นจะมีความรู้จากบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆอีกมาก การภาวนานั้นให้เอาปัจจุบัน พากเพียรเอา
ปัจจุบันเป็นหลัก อีกทั้งต้องเชื่อในกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่สำคัญต้องหาครูบาฯที่รู้จริงในแนวทางปฏิบัติ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องภายใน
และยิ่งปฏิบัติชั้นสูงขึ้นแล้ว ยิ่งต้องได้ครูบาฯที่รู้จริงอย่างถ่องแท้ เพราะไม่อย่างนั้นอาจนำไปสู่
การปฏิบัติที่ผิดและหลงยึดในสิ่งที่ไม่ควรยึด ครุบาฯที่ท่านมีภูมิจิตที่แท้นั้น ท่านจะผ่านการปฏิบัติ
อุบายต่างๆมามาก และรู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรปล่อย สิ่งใดควรปฏิบัติและถูกไม่ถูก

และพื้นฐานการปฏิบัตินั้นที่ขาดไม่ได้คือศิล ๕ ขั้นต่ำเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติภาวนาที่สำคัญ
และขาดไม่ได้ เมื่อมีโอกาสควรสร้างทาน สร้างบารมีอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ติดเป็นนิสัย ผู้ที่ปฏิบัติ
เพื่อต้องการพ้นทุกข์จากวัฏสงสารนั้นกำลังหรือบารมี ทานบารมี ศิลบารมี เป็นต้น ถ้าปราศจาก
สิ่งเหล่านี้ ความก้าวหน้าหรือการยกระดับจิตขึ้นเหนือกิเลสต่างๆคือ โลภ โกรธ หลง นั้นยาก

ปกติคนเราชอบหลงตัวเองว่า ตนเองดี ตนเองเด่นกว่าคนอื่นตลอดเวลา
จนสุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขทิฏฐิมานะได้ และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือสิ่งที่ผู้อื่นชี้แนะ
บอกกล่าวด้วยความหวังดี แม้ผู้นั้นจะเป็นอาวุโสกว่าตนเอง มีความรู้และมีประสบการณ์
มากกว่าตนเองก็ตาม จะไม่ฟังและไม่ให้ความเคารพ จนสุดท้ายตนเองก็เดินทางเข้าสู่ความหายนะ
ในที่สุด

ดังนั้นการบำเพ็ญบารมีหนักเบาต่างกัน ระยะเวลาไม่เท่ากัน รู้มาก รู้น้อย ไม่เท่ากัน แม้ญาณทิพย์
ญาณในฤทธิ์ต่างๆก็ยังไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน รู้มาก รู้น้อย ไม่เท่ากัน แต่การตัดกิเลสให้จิตบริสุทธิ
จากความโลภ โกรธ หลง นั้นเป็นเหมือนกันทุกประการ

การปฏิบัติขั้นพื้นฐานนั้น หลวงปู่ขาวท่านจะเน้นหนักที่สุดคือองค์บริกรรม หากลูกศิษย์ผู้ใดสนใจ
ทางด้านการปฏิบัติภาวนาแล้ว ท่านจะเตือนสติเสมอๆ และเป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอๆจากท่านคือ
อย่าทิ้งองค์บริกรรมภาวนา อย่าให้จิตตกสู่อารมณ์ต่างๆ ต้องพยายามใช้ปัญญาแยกจิตออกจากกาย
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สติปัญญาของตนจะพึงมี จนถึงแยกกายกับจิตออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด

ขั้นบริกรรมภาวนานั้น ( สมถกรรมฐาน ) ต้องฝึกบริกรรมมีสติกำกับรู้ติดต่อกันให้ได้ทุกอริยาบท
พูดคุย ทำงาน สวดมนต์ต่างๆ จิตจะต้องบริกรรมไว้ไม่ขาด หมายถึงจะต้องฝึกจนจิตภาวนาเอง
โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องบังคับ ( ไม่คำนึงถึงระยะเวลาการปฏิบัติว่าดี แต่ให้คำนึงถึงการฝึกปฏิบัติ
จิตภาวนาเท่านั้น ) ทำให้จิตว่างจากอารมณ์ไว้อย่างมั่นคง แม้แต่นอนก็ให้บริกรรมภาวนาองค์กรรมฐานเรื่อยๆ
จนกว่าจะหลับไปในที่สุด พยายามพากเพียรอย่างไม่ท้อถอย ทำทุกวันแม้แต่การปฏิบัติใหม่
จะทำได้ในเวลาสั้นๆ แต่ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีขอบเขตของระยะเวลา

ส่วนการนั่งสมาธิกรรมฐานนั้นจะต้องพยายามบริกรรมองค์ภาวนากรรมฐาน
จนกว่าจิตจะนิ่งเป็นหนึ่ง เพ่งไปเรื่อยๆจนกว่าจะเหนื่อยหรือจนกว่าจิตจะรวมลงเป็นหนึ่ง
( คำภาวนาจะหายไปเอง ) เป็นอัปปนาสมาธิที่สุดแห่งสมาธิและเมื่อชำนาญแล้ว
ให้กราบเรียนขออุบายกรรมฐานจากครูบาฯต่อไป เนื่องจากนิสัยบารมีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

นิมิต ตามแนวปฏิบัติของหลวงปู่นั้นท่านว่า ....

จะเกิดขึ้นในขั้นบริกรรมภาวนาเท่านั้น แต่จะไม่เกิดในอัปปนาสมาธิ เนื่องจากขั้นนี้จิตไม่มีอารมณ์
นิมิตเกิดไม่ได้ เมือคิดภาวนาประสบนิมิตให้วางเฉยต่อนิมิตนั้นทุกประเภท แม้ว่านิมิตนั้นจะพิศดาร
แค่ไหนก็ตาม เมื่อวางเฉยแล้วนิมิตจะหายไปเอง และให้กำหนดจิตอยู่ในองค์บริกรรมภาวนาต่อไป
จนกว่าจิตจะแน่วแน่ และรวมตัวลงเป็นอัปปนาสมาธิในที่สุด และจิตจะถอนขึ้นมาเองสู่อารมณ์ปกติทั่วไป
นิมิตบางอย่างก็มีประโยชน์แต่ให้ถามครูบาฯเพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติต่อนิมิตนั้นโดยตรงเช่น นิมิตอสุภะ
เป็นต้น นิมิตภาวนาบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน

การพิจรณานั้น หลักใหญ่ถ้านักปฏิบัติไม่สามารถจะดำรงจิต ทำให้จิตสงบจากอารมณ์ต่างๆได้
แล้วก็ยากจะพิจรณาให้รู้จริงและเกิดปัญญาในเรื่องนั้นๆได้ เพราะจิตถูกปรุงแต่งจากอารมณ์
ความนึกคิดต่างๆ ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไม่มีที่สิ้นสุด นักปฏิบัติต้องเพ่งอยู่ในองค์บริกรรมภาวนา
จนกว่าจะนิ่งมั่นคงเป็นหนึ่งดีแล้ว จึงยกเรื่องต่างๆขึ้นเพื่อพิจรณา อาทิ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทุกข์ การเกิด
แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น เพื่อหาเหตุและความจริงตามสภาวธรรมต่างๆ และคลายความยึดถือไปในที่สุด

จากหนังสือ อ่านก่อนตาย ก่อนจะเสียดายที่ไม่ได้อ่าน เล่ม ๔

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร