วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 09:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2009, 23:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:11
โพสต์: 240

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สาระธรรมบรรยายพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
เรื่อง “ปฏิปทาสิ้นกรรม”
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ


วันนี้อาตมาก็จะนำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาให้กับพวกเราได้ยินได้ฟังกัน ในเรื่องของปฏิปทาให้ถึง
ในความสิ้นกรรมที่พระองค์เรียกว่า กัมมะนิ โลมิทามินี ปฏิปทา ปฏิปทา
หมายถึงเครื่องดำเนินไปของกาย วาจา จิต ว่าเราจะฝึกกายอย่างไร
ฝึกวาจาอย่างไรฝึกจิตอย่างไร ถึงจะทำให้สิ้นกรรมได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่
พระตถาคตได้บอกสอนเอาไว้ และข้อปฏิบัติตรงนี้คืออะไร ซึ่งถ้าเราไปถาม
ผู้ที่ไม่ได้ใช้ความเห็นพระตถาคต ก็อาจจะมีหลายแบบ
บางที่ก็อาจจะให้ไปออกกรรม ด้วยวิธีนอนในโลงบ้าง เอาผ้าคลุมบ้าง
หรือไปทำวิธีต่างๆ ตามแบบตามความเห็นของเขา ถ้าโยมไปในอินเดีย
ก็คงจะถูกแนะนำให้ลงในแม่น้ำคงคา พอขึ้นมาก็บอกว่าสบาย บริสุทธิ์แล้ว
หมดกรรมแล้ว ในอินเดียหลายๆที่ ก็มีรูปหญ้าเขียว ดื่มน้ำโคไมสด บูชาไฟ
บูชาดวงอาทิตย์ บูชาพระจันทร์ ยืนขาเดียว อ้าปากกินน้ำค้าง ก็สารพัดแบบ
พระตถาคตเคยลองมาหมดแล้ว พระผู้มีพระเจ้าเคยเล่าให้พระสารีบุตรฟังว่า
ท่านเคยทำวัตรเศร้าหมองเหล่านี้ ในปฏิปทาเปียกแซะ ปฏิปทาไหม้เกรียม
ได้ทำมาหมดแล้ว เช่นอะไร เช่นพระพุทธเจ้าบอกว่า ท่านทำตัวเป็นผู้ไร้มารยาท
กายเปลือยเปล่า ไม่สนใจอะไร ทำตัวเป็นชีเปลือยก็เคย ท่านนอนบนหนาม
เดินบนหนาม ท่านไปนั่งกลางหิมะที่ตก ๘ วัน ในอินเดีย ท่านเคยไปนั่งกลางแจ้ง
ตากแดดร้อนอยู่อย่างนั้น ไม่มีเสื้อผ้าเลย นั่งกลางหิมะก็ไม่มีเสื้อผ้าเลย
มันจะทำให้สิ้นกรรม มันจะทำให้ถึงความไม่ตายได้
เพราะแต่ก่อนเขาแสวงหาความไม่ตายกัน อะไรคือความไม่ตาย
อมตะธรรม ทุกคนออกแสวงหา

พระตถาคตไปนอนในคอกวัวคอกควาย อาศัยขี้วัว ขี้ควายกินเป็นอาหาร
เด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายมันไม้มาไชจมูก ไชหูท่าน ท่านก็ไม่รู้สึกซึ่งความโกรธ
ความชัง ปล่อยตัวทำเป็นคนไม่รู้เรื่องอะไร คิดว่าทำอย่างนี้ มันจะสิ้นกรรมได้
ลองมาทุกอย่าง จนกระทั่งเอาใหม่ อดอาหารเต็มที่เลย ท่านบอกว่า
ท่านอดอาหาร เอามือลูบท้องไปสัมผัสได้ถึงกระดูกสันหลังเลย
ท่านลองทำมาสารพัด ไม่อาบน้ำเลยก็มี คิดว่าฝุ่นแม้แต่นิดเดียว
เราจะไม่ลูบเลย ท่านไม่เคยคิดจะลูบฝุ่นออกจากตัวเอง
หรือแม้แต่อยากจะให้คนอื่นลูบฝุ่นออกจากตัวของท่าน ผิวของท่าน
เป็นตะตุ่มตะต่ำ เกรอะกรังไปหมด พระพุทธเจ้าลองมาสารพัดก่อน ๖ ปี
ก่อนการตรัสรู้ลองมาแล้ว เพราะฉะนั้นใครรู้จริงเรื่องสิ้นกรรม
ใครรู้จริงเรื่องวิธีแก้กรรม พระตถาคตรู้จริง พระศาสดารู้จริง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้ารู้จริง จึงไม่แปลกเลย
ที่ไม่รู้จริงก็ต่างพูดไปตามความเห็นของตัวเอง ทำให้ผู้ที่ไม่รู้
ก็พลอยเกิดความสงสัยไปด้วยว่าใครพูดจริง มันเลยงงสับสนกันไปหมด

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า จิตของผู้ที่ยังไม่หยั่งในอริยสัจ ๔ มันจะเบาเหมือน
ปุยนุ่น เวลามีลมพัดไปทางซ้ายมันก็ปลิวไปทางซ้าย มีลมพัดไปทางขวา
มันก็ปลิวไปทางขวา เพราะมันยังไม่หยั่งรากไปในอริยสัจ ๔
แต่จิตของคนที่หยั่งรากไปในอริยสัจ ๔ เปรียบเหมือนเสาหิน
ที่ปักลงอย่างแน่นหนา ไม่มีการโยกคอนแม้จะถูกลมพัดมาทั้ง ๔
อันนี้แหละจะทำอย่างไรให้หยั่งลงในอริยสัจ ๔ได้ มันจะได้
ไม่ไหวคอนไปตามสมณะพราหมณ์เหล่านั้นเหล่านี้ หรือเจ้าลัทธินั้นลัทธินี้
จึงถามลงไปในสังคมว่า ใครรู้จริงในเรื่องการสิ้นกรรม ใครรู้จริงเรื่องวิธี
แก้กรรม หรือปฏิปทาให้ถึงความสิ้นกรรม

ที่พระองค์เรียกว่า กัมมะนี โลมิทามินี ปฏิปทา พระตถาคตกล่าวอย่างไร
ในเรื่องของกรรม เรามารู้เรื่องของกรรมก่อนจะสิ้นกรรมกัน กรรมคืออะไร
พระตถาคตบอกว่า “เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม” นี่คือสิ่งที่บุคคลควรทราบ
กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ควรทราบเรื่องอะไร ต้องรู้ก่อนว่ากรรมคืออะไร
พูดกันว่ากรรมๆ กรรมมันคืออะไร จะไปแก้มันอย่างไร จะไปทำให้มันสิ้น
เพราะอะไร “เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม” และสิ่งที่ควรรู้ต่อไปอีกคือว่า
อะไรเป็นเหตุของกรรม พระตถาคตบอกว่า ผัสสะ เป็นเหตุของกรรม
ผัสสะคือการสัมผัส คือการกระทบกัน การกระทบของอะไร ของวิญญาณ
ที่เข้าไปรับรู้ของอายตานะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส
กระทบแล้ว อายตานะภายในภายนอกกระทบแล้ว เกิดการรับรู้ขึ้นมา
วิญญาณเข้าไปรับรู้สิ่งต่างๆ เข้ามา นั่นแหละเป็นเหตุของกรรม
เวมะกะตาแห่งกรรมความมีประมาณต่างๆ ของกรรม
กรรมที่ทำให้สัตว์ไปเกิดในนรก กำเนิดเดียรฉาน เปรตวิสัย มนุษย์โลก เทวโลก
พรหมโลก มี นี่เรียกว่าความมีประมาณต่างๆของกรรม ความดับของกรรมมีไหม
มี พระตถาคตเรียกว่า กัมมะนิโรธ คือความดับกรรม กรรมดับเพราะว่าผัสสะดับ
ผัสสะเป็นความดับของกรรม เพราะฉะนั้นกรรมเกิดที่ไหนดับที่นั่น ผัสสะเป็นเหตุ
แห่งการเกิดของกรรม ผัสสะดับ กรรมดับ วิบากของกรรมมีอะไร วิบากของกรรม
พระตถาคตบอกว่ามี ๓ ระดับ
๑.วิบากในทิฏฐธรรม แปลว่าวิบากในปัจจุบัน
๒.วิบากในอุปัชปะชะ เวลาถัดมา และ
๓.อัปยปรินายะ เวลาถัดมาอีก
วิบากของกรรมคือผลของกรรมส่ง ๓ ระดับ ตามห้วงของกาลเวลาในปัจจุบัน
เวลาถัดมาและถัดมาอีก ไม่รู้ว่าถัดไปเท่าไหร่

ตอนสองครับ

ที่นี้มาถึงกัมมะนิโรธะคามินีปฏิปทา ปฏิปทาให้ถึงความสิ้นกรรม
พอจะทราบไหมว่าอะไรคือวิธีดับกรรม คือวิธีแก้กรรมที่แท้จริงถูกต้อง
ดูสิว่าจะตรงกับพระตถาคตหรือไม่ จะตรงกับความเห็นของผู้นั้นผู้นี้
ที่พูดกันในสังคมหรือไม่ พระตถาคตบอกว่า ปฏิปทาให้ถึงความสิ้นกรรมคือ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่. สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ข้อปฏิบัติ กาย วาจา จิต ๘ อย่างนี้ เป็นเครื่องดำเนินการไป
ให้ถึงความสิ้นกรรม ถ้าพวกเราทั้งหลายฝึกกายอย่างนี้ ฝึกวาจาอย่างนี้
ฝึกจิตอย่างนี้ กรรมหมดไปได้เหมือนกันไหม กับที่เราเคยได้ยินได้ฟังในสังคม
ดูบางทีต่างกันเยอะเหมือนกัน เหมือนกับพระพุทธเจ้าไปเจอนางพราหมณีอยู่คนหนึ่ง
เขากำลังทำพิธีแก้กรรมอยู่เหมือนกัน พาบวงสรวง พระพุทธเจ้าเดินทางไปถึง
ก็ถามว่า “นางทำอะไรเหรอ” นางพราหมณีก็ตอบว่า “เราทำพิธี ปัจจโลหินี
ปัจจโลหินีของเธอทำอย่างไร เขาก็บรรยายไป เขาก็เอาน้ำมัน น้ำผึ้ง เนย น้ำอ้อย
มาสาดใส่ไฟ เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบวงสรวงบูชาไฟ เขาบอกว่าตรงนี้กรรมก็จะสิ้นได้
แล้วเขาก็หันมาถามพระตถาคตว่า “แล้วท่านล่ะ มีพิธีปัจจโลหินีไหม พระพุทธเจ้า
บอก มี ปัจจโลหินี ของเราก็มี อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัจจโลหินี ของเรา
คือวิธีแก้กรรมของเรา” ท่านก็บรรยายไป มรรค ๘ เป็นอย่างไรให้นางพราหมณีฟัง
นางฟังแล้วก็โอ้โฮ วิธีแก้กรรมของพระตถาคตแยบยลมาก ละเอียดมากนัก
เจ้าลัทธิในสมัยก่อน นางพราหมณียังยอมรับความเห็นของพระตถาคตเลย
แล้วพอฟังแล้วบอกมันห่างชั้นกันมาก ที่นี้มาดู ดูตั้งแต่ข้อแรก ใน ๘ ข้อ
๒ ข้อแรกพระตถาคตสงเคราะห์ในกลุ่มปัญญา
๓ ข้อกลางสงเคราะห์ในส่วนของศีล
๓ ข้อท้ายสงเคราะห์ในส่วนของสมาธิ

เพราะฉะนั้นตัวมรรคในองค์ ๘ จึงเริ่มจากปัญญา๒ข้อ, ศีล ๓ ข้อ,
สมาธิ ๓ ข้อ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนมรรคมีองค์ ๘ พูดย่อๆ เหลือ ๓ ส่วน
พระพุทธเจ้าจะพูดว่าศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าพระตถาคตพูดย่อเหลือ ๒ พระพุทธเจ้า
จะพูดว่าอย่างไร ใครรู้ (พระอาจารย์ถามผู้ฟัง) ใครรู้ ....สมถะกับวิปัสสนา
จิตนิ่งเห็นเกิดดับจบแล้ว แก้กรรมได้แล้วแบบสั้นๆ นี่คืออย่างสั้น
สมถะ คือจิตมีอารมณ์อย่างเดียว จิตมีอารมณ์อย่างเดียวคืออารมณ์อย่างไร
อารมณ์ปัจจุบันๆ คืออะไรได้บ้าง เช่นสติปัฏฐานสี่ กาย, เวทนา, จิต, ธรรม
๔ อย่างหรือยกมาอันหนึ่งกายสติปัฏฐาน คืออะไร รู้การเคลื่อนไหว อิริยาบถ
มีลมหายใจ รู้การทำงานในปัจจุบัน ตัวอย่างนี่คือวิธีสิ้นกรรม ต้องไปทำอะไรไหม...
ต้องไปเสียเงินทองไหม... ไม่ต้องเลย ไม่ต้องไปที่โน้นที่นี่เลย นั่งเงียบๆ
อยู่กับบ้านก็สิ้นกรรมได้ ไปดูมรรคมีองค์ ๘ ตามที่ไล่มาทั้ง ๘ ข้อ ปฏิบัติอย่างไร

๑. สัมมาทิฐิ มีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าใด ใครไม่รู้อริยสัจ ๔ คนนั้นชื่อว่า
มีมิจฉาทิฐิ ใครรู้อริยสัจ ๔ ผู้นั้นชื่อว่ามี สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง แล้วอริยสัจ ๔
ฟังแล้วมันกว้างขนาดไหนกัน จริงๆ แล้วก็แค่เห็นเกิดกับเห็นดับ เพราะสิ่งที่เรา
เข้าไปเห็นก็คือกองทุกข์นั่นเอง กาย จิต อารมณ์ ของเราคือสิ่งที่เราเข้าไปเห็น
เข้าไปเห็นอะไรถึงจะเรียกว่า สัมมาทิฐิ เห็นมันเกิด เห็นมันดับ ๒ อย่างแค่นี้
เกิดคือสมุทัย ดับคือนิโรธ ขณะที่เรากำลังเข้าไปเห็นธรรมชาติเหล่านี้ตาม
ความเป็นจริง เรียกว่าเรากำลังเจริญมรรค เจริญข้อปฏิบัติเพื่อให้รู้ ซึ่งสัจจะ
ความจริงของธรรมชาติ ว่าธรรมชาติคือ กาย, จิต, อารมณ์ ของเรานี้
มันมีความจริงอย่างไร และความจริงเหล่านี้มันเป็นอย่างไร ทั้งโลกธาตุคืออะไร
มันเกิดแล้วมันดับหยิบมาเลย ต้นไม้เกิดไหม ภูเขาเกิดไหมดับไหม รถยนต์ คน
สัตว์ สิ่งของต่างๆ แม่น้ำ ลำธาร เกิดแล้วแตกสลายหมด ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ
รวมไปถึงนามธรรม สุขเกิดขึ้นมาดับไหม... ดับ ถ้าไม่ดับ มีใคร
ยืนยันว่าตัวเองสุขแช่ได้ทั้งวันไม่มีการดับ ความทุกข์ ดับไหม..ดับ มีใครทุกข์
แช่ทั้งวันมีไหม..ไม่มีเหมือนกัน แต่เวลามันดับเราไม่เคยสังเกต เมื่อเราไม่สังเกต
เราจึงไม่เห็นอริยสัจ ไม่เห็นความจริงของมัน แล้วเวลามันเกิดก็ไม่สังเกต
ไม่รู้ว่าถ้าสังเกตการเกิดการดับมันจะได้ประโยชน์ นี่คือไม่มีปัญญาเครื่องเจาะ
แทงกิเลส ไม่มีสัมมาทิฐินั่นเอง เพราะฉะนั้นสัมมาทิฐิจึงตีกรอบเข้าไป
แค่เห็นเกิดดับ หรือเห็นอริยสัจแค่นี้ ทำแค่นี้ได้สัมมาทิฐิแล้ว เอาสั้นๆ ก่อนก็ได้
เดี๋ยวค่อยขยายความไปตามแต่ละมรรค

๒. สัมมาสัมปทาทำอย่างไร มรรคข้อที่ ๒ บุคคลนั้นภิกษุนั้น มาทิ้ง
ความคิดอกุศล อกุศลคืออะไร... กาม พยาบาท เบียดเบียน เพราะฉะนั้น
ถ้าเรามาใช้ความเพียรในการที่จะละความคิด อกุศล ๓ อย่างนี้ออกไปจากใจ
พระพุทธเจ้าบอกว่า ผู้นั้นกำลังเจริญสัมมาสัมปะแล้ว กำลังปฏิบัติข้อปฏิบัติ
อันเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมแล้ว เหมือนกับใครเขาบ้างไหม
ดูจะไม่เหมือนอีกแล้วในข้อที่ ๒

๓. สัมมาวาจา พระองค์บอกว่าเธอต้องปฏิบัติวาจาอย่างนี้
คือไม่พูดโกหก คำหยาบ เพ้อเจ้อ ส่อเสียด โยมคุมวาจา ๔ อย่างนี้
ถามว่าโยมต้องคุมใจตัวเองไหม...ต้องคุมใจตัวเอง เพราะปากจะพูดไปต้อง
ใจสั่งก่อน แต่เราพูดจนชำนาญ เลยเหมือนกับว่าพูดแล้วไม่ต้องคิดก็ได้
ลองหยุดพูดสักวันหนึ่ง จะรู้สึกเลยว่ามันคันมาก มันอยากจะพูด อยากมาก
อาตมาเคยไม่พูดอยู่ ๓-๔ เดือน พอออกมาพูดจ้อยๆ เลย มันอัดอั้นมานาน
การไม่พูดโกหกคืออะไร ไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆเท็จเปล่าๆลักษณะของการพูดไม่จริง การพูดคำหยาบคืออะไร
คำพูดที่พูดแล้วเสียดแทงใจคนอื่น คำพูดสอดเสียดเป็นอย่างไร
คำพูดสอดเสียด ในภาษาไทยมันเหมือนกับว่า พูดเสียดแทงใจคนอื่น
แต่พระพุทธเจ้าจัดอยู่ในคำหยาบ แต่คำพูดส่อเสียดของพระพุทธเจ้าหมายถึง
คำพูดยุยงให้เขาแตกกัน นำความฝ่ายนี้ไปบอกฝ่ายนั้น นำความฝ่ายนั้น
ไปบอกฝ่ายนี้ ให้ทั้ง ๒ ฝ่ายแตกร้าวกัน นี่เรียกว่าคำพูดส่อเสียด ภาษาไทย
เรียกว่าพูด ยุยงให้เขาแตกกัน ไม่สมานความสามัคคี ชอบความแตกร้าวกัน
อย่างสุดท้ายอย่างที่ ๔ คำพูดเพ้อเจ้อเป็นอย่างไร คือคำพูดที่เป็นวาจา
ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีเวลาจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ประกอบสมควรแก่เวลา
เป็นคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย นี่คือลักษณะคำพูดเพ้อเจ้อ โยมคุม
วาจาได้ ๔ อย่างนี้ นี่กำลังปฏิบัติข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

๔. สัมมากัมมันตะ คือปฏิบัติกายให้ถูกต้อง ๓ อย่าง ก็คือศีล ๕ สามข้อแรก
นั่นเอง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่พฤติผิดในกาม ปฏิบัติ ๓ ข้อนี้
โยมได้มรรคมีองค์ ๘ ไปหนึ่งข้อ และกำลังปฏิบัติข้อปฏิบัติหรือปฏิปทา
อันเป็นไปเพื่อการสิ้นกรรมแล้ว เราไม่ฆ่า งดการเบียดเบียน ไม่ขโมย
ก็งดการเบียนเบียด แล้วพระพุทธเจ้าก็บอกว่าใครปฏิบัติ ๓ ข้อนี้เรียกว่า
เป็นมรรคมหาทานชั้นเลิศ โยมบอกว่าไม่มีเงินทำบุญเลยทำไงดี
อยากจะทำทาน นี่เลยรักษาศีล๕ สามข้อแรกนี่เลย เป็นมหาทานชั้นเลิศเลย
มหาทานอย่างไร โยมไม่ฆ่าสัตว์ พระพุทธเจ้าบอกเท่ากับให้ทานชีวิตสัตว์
อย่างไม่มีประมาณ การไม่ลักขโมยเป็นการให้ทาน อย่างไม่มีประมาณ
การไม่ประพฤติผิดในกามก็เป็นการให้ของรักอย่างไม่มีการประมาณ อาตมา
มานึกถึงสมัยเด็กๆ ตอนเช้าตื่นมาเข้าห้องน้ำ เปิดห้องน้ำมาก็จะเห็นยุง
เต็มห้องน้ำ ไปตบยุงติดกำแพงไปหมดเลย เลือดสาดเต็มกำแพง ยุงตาย
ไปหลายร้อยตัวด้วยความสนุกมาก เพราะเราไม่มีศีล วันๆ หนึ่งทุกวัน
ชีวิตจะต้องตายไปเป็นร้อยๆชีวิตเพราะเรา แต่พอเรารักษาศีล ๕
ชีวิตไม่ต้องล้มตายเพราะเราเป็นร้อยชีวิตต่อวัน เป็นการให้ทานชีวิต
เห็นง่ายๆ เลย มหาทานชั้นเลิศ เป็นอภัยทาน อเวรทาน อัพพยาปัชทาน
เป็นการให้ทานด้วยการไม่ผูกเวร ไม่ผูกพยาบาท หมั่นไส้มันเหมือนกัน
มันกัดเราอยากตบแต่ก็ไม่ตบ ให้อภัยมันหน่อย เห็นไหม...

ตอนสามครับ

๕. สัมมาอาชีวะ พระตถาคตตรัสอย่างไร สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิต
ที่ไม่เบียนเบียด บอกง่ายๆ สั้นๆ เลี้ยงชีวิตเบียนเบียนอย่าง การโกงด้วย
ตาชั่ง การโกงด้วยเครื่องนับ การพูดโกหกหว่านล้อมด้วยเล่ห์สารพัดอย่าง
หรืออาชีพที่พระองค์บอกว่าอย่าไปทำเลย อาชีพนี้ไม่ดีเป็นไปด้วย
การเบียนเบียด ค้าน้ำเมา ค้ายาพิษ ค้าประหาร ค้าสัตว์มาเป็นอาหาร ค้า
มนุษย์ ๕ อย่างนี้ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นอาชีพอื่นถ้าอยากจะทำ
ทำตามสะดวก อาชีพในโลกมีจิปาถะเป็นร้อย เป็นพัน พระพุทธเจ้า
ไม่ไปนั่งบรรยายว่าอาชีพอะไรทำได้บ้าง เอาแค่ว่าอาชีพอะไรมัน
ไม่ควรทำอย่างยิ่ง บอกไว้ ๕ อย่างพอแล้ว

๖. สัมมาวายามะคืออะไร สัมมาวายามะ พระองค์บอกว่าผู้นั้นมี
ความเพียรที่จะทำให้อกุศลที่ยังไม่เกิดไม่เกิดขึ้น อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
ต้องรีบละไป ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำกุศลที่เกิดแล้วให้ทรงไว้
นี่คือความเพียร ๔ อย่างหรือเรียกว่า สัมมปทาน ๔ ก็ได้ ความเพียร
ของเราต้องทำตรงนี้ เพราะฉะนั้นเวลากุศลเกิดขึ้นในจิตในใจแล้ว
ดูสิเหมือนกับ สัมมาสัมกัปปะไหม..จะตรัสสอดคล้องกันเลย
คือต้องใช้ความเพียรความพยายามทุกอย่าง ที่จะละอกุศลนั้นให้ได้
พระองค์เปรียบเหมือนไฟที่ไหม้เสื้อผ้าของเรา ถ้าไฟไหม้เสื้อผ้า
ของเราอยู่ หรือไหม้ผมของเราอยู่ พวกเราต้องรีบดับไหม...
ต้องรีบก่อนอย่างอื่นเลย ถ้าไหม้ตอนนี้โยมเลิกฟังอาตมาแน่นอน
คงต้องวิ่งเข้าห้องน้ำ หาน้ำดับไฟ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่า
ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่ออกุศลเกิดขึ้นในใจแล้ว เธอต้องรีบทิ้งอย่างเร็วที่สุด
เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูพระสูตรที่พระตถาคตตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้
ว่าอกุศลเกิดขึ้นมาแล้วอย่าไปเลี้ยงมันไว้ เลี้ยงมันไว้ไม่ดีแน่นอน
ความเพียรที่โยมทำ โยมทำแน่นอน ถ้าใครมาบอกว่าเธอทำความเพียร
เพื่อละอกุศลมันไม่ดี มันเป็นกิเลส อย่าไปเชื่อนะ เชื่อพระตถาคตดีกว่า
พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ท่านบอกภิกษุนั้นพึงพิจารณาเถอะว่ามีอยู่
หรือไม่มีอยู่หนอ บาป อกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ แล้วเป็นอันตราย
ต่อเรา ผู้กระทำการละลงไปในคืนนี้ ภิกษุทั้งหลายถ้าภิกษุพิจารณาอยู่
รู้สึกว่าบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำด้วยฉันทะ
วายามะ อุตสาหะ อุโสรหิ ปฏิวานี สติและสัมปัชชัญญะอย่างแรงกล้า
เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น เช่นเดียวกับบุคคล ผู้มีเสื้อผ้า
หรือศีรษะอันไฟลุกโพลงแล้ว จะกระทำฉันทะ วายามะ อุตสาหะ อุโสรหิ
ปฏิวานี สติและสัมปัญชัญญะอันแรงกล้า เพื่อจะดับไฟที่เสื้อผ้า
หรือศีรษะนั้นเสีย ฉันใดก็ฉันนั้น เห็นไหมยืนยันโดยพุทธวัจนะ
คำพระตถาคตสั่งให้เราใช้ความเพียรเข้าไปดับต้องตั้งเจตนาดับให้เร็ว
และถ้าโยมดับได้รวดเร็วดุจกระพริบตา พระองค์ตรัสว่านี่คืออินทรีย์
ภาวนาชั้นเลิศ เพราะฉะนั้นเวลาอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว เป็นอารมณ์ที่ชอบใจ
ไม่ชอบใจก็ตาม จะต้องดับให้เร็วที่สุด ดูพระตถาคตตรัสอย่างไร
อานนท์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่ชอบใจอันบังเกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุนั้นย่อมดับไปเร็วเหมือนการกระพริบตาของคน ส่วนอุเบกขา
ยังคงเหลืออยู่นี้แล เราเรียกว่าอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศในอริยะวินัย
เพราะฉะนั้นใครให้โยมเลี้ยงอารมณ์ไว้อย่าไปเชื่อ เพราะพระศาสดา
บอกว่าเธอต้องทิ้งอารมณ์ให้ไว ไวขนาดไหน กระพริบตาเดียว
หรือพระองค์บอกว่า เปรียบเหมือนบุรุษดีดนิ้วบั๊ปอารมณ์นั้นต้องดับ
หรือเปรียบเหมือนหยดน้ำหยดลงในกระทะร้อนๆ แป็ปเดียวต้องหายไป

เพราะฉะนั้นความเพียรของเราต้องเพียรที่จะละอารมณ์ที่ไม่ดีออกจากใจ
ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นเวลาโกรธมาดีดนิ้วให้เยอะๆ ดับไปๆๆ ดับให้เร็ว
ดีดไป ๑๐ รอบยังไม่ดับเลย ก็กระพริบตาเข้าเยอะๆอย่าเลี้ยงไว้
บางคนก็เลี้ยงข้ามวันข้ามคืนไปเรื่อยๆไม่มีประโยชน์ เรายิ่งเลี้ยงอกุศล
มากเท่าไหร่ เดี๋ยวก็ไปด่าเขาไปทำร้ายเขา เดี๋ยวก็ลามไปถึงฆ่าเขา
แบบพระเทวทัต เลี้ยงอกุศลไว้นานเลยคิดฆ่าพระพุทธเจ้าเลย ไม่ยอม
วางอกุศลความคิดก็จะเดินหน้าไปเรื่อยๆอย่างนี้ เพราะฉะนั้น
สัมมายาวามะดับอกุศลให้ไว แล้วอะไรเป็นกุศล อยากสร้างกุศล
สร้างอะไร พระพุทธเจ้าบอกกุศลาศีล อะไรคือความเป็นกุศลที่แท้จริง
เราไปวิ่งหากุศล วิ่งหาไปเถอะ สิ่งนั้นเป็นกุศล ทำอย่างนี้เป็นกุศล
เขาว่าไปไหว้ที่โน้นที่นี่ ทำบุญที่นั้นที่นี้เป็นกุศล กุศลาศีลที่แท้จริง
คือเจริญสติปัฏฐานสี่

๗. สัมมาสติ พระตถาคตจึงบอกว่าให้ตั้งสติ ตั้งจิตไว้ในฐานทั้ง ๔ คือ
กาย เวทนา จิต ธรรม สติแปลว่าการระลึกได้ จิตเรากำลังคิดอดีต-อนาคต
เพลินๆไป มีสติระลึกได้ กลับมาอยู่กับอะไร กลับมาอยู่กลับกายของเรา
หรืออุเบกขาเวทนา หรือจิตผู้รู้ หรือธรรม ธรรมคืออะไร ให้เห็นอาการ
ของมัน อาการอะไร อาการไม่เที่ยง ดับไม่เหลือสลัดคืน เพราะฉะนั้น
ถ้าใครมีการระลึกได้ กลับเข้ามารู้ เข้ามาเห็น เข้ามาตั้งไว้ในฐานทั้ง ๔
นี่เรียกว่าผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะแล้ว สติแปลว่าการระลึกรู้ระลึกได้กลับ
มาแล้ว จะเหลือสัมปชัญญะความรู้ตัว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามักจะ
พูดติดกัน มีสติและสัมปชัญญะ สติเกิดแว็บหนึ่งดับไปแล้ว
หรือสัมปชัญญะคือการรู้ตัว

แต่ถ้าโยมระลึกได้ เช่น กำลังเพลินกับอดีตแล้วระลึกได้ ไปเพลินกับ
อนาคต (แล้วระลึกได้) อย่างนี้เรียกว่า ขาดสติเหมือนเดิมยังใช้ไม่ได้
หรือเรียกว่ามีนันทิ แปลว่าความเพลิน พระพุทธเจ้าบอกเธออย่ามีนันทิ
ให้เธอตั้งไว้ซึ่งกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะความเพลินใด ความเพลินนั้น
เป็นอุปาทาน ถ้าเธอเพลินเธอยึดแล้ว เรียกว่าเธอมีอุปาทาน ภิกษุผู้มี
อุปาทานไปนิพพานไม่ได้ ถ้าเรายังเพลินอยู่แสดงว่าเรามีอุปาทาน
เราปรินิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่เพลิน และการละความเพลิน
จำสั้นๆง่ายๆก็ได้ ละนันทิ จิตหลุดพ้น เพราะอะไร เพราะตถาคตตรัสอย่างนี้

นันทิคยา ราคะคะโย เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิจึงมีความสิ้นไปแห่ง
ราคะคือความพอใจ เพราะความสิ้นไปแห่งความพอใจ จึงมีความสิ้นไป
แห่งความเพลิน นันทิ ราคะคะยาจิตตัง สุวิมุตตันติจะติ เพราะความ
สิ้นไปแห่งความเพลินและความพอใจ กล่าวได้ว่าจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี
จิตหลุดพ้นก็พ้นกรรมดับกรรม อยากดับกรรมง่ายๆ จำคำเดียวละนันทิ
คือความเพลิน จิตหลุดพ้นเลย เพราะมันเป็นหนึ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘
แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นจะขยายความก็ได้ จะสั้นก็ได้ ยาวก็ได้มีหมด
สติปัฏฐานสี่ ระลึกได้กลับมาสู่กาย เวทนา จิต ธรรม ยกมาอย่างหนึ่ง
กลับมาสู่กาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคืออะไร กลับมารู้อยู่ซึ่งการ
หายใจ กลับมารู้การเคลื่อนไหวอิริยาบถ กลับมารู้อยู่ซึ่งการทำงาน
ปัจจุบันของเรา ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่านี้เรียกอีก
อย่างหนึ่งว่าอนุสติปัฏฐานที่ ๖ คือจิตอธิษฐานการงาน การทำการงาน
ในปัจจุบัน กลับมาตรงนี้แค่นี้ชื่อว่าเธอมีสติสัมปชัญญะแล้ว ถ้าโยม
ระลึกได้แล้วโยมตั้งจิตไว้อยู่กับลมหายใจต่อเนื่องยาวนานเรียกว่า
เรามีสัมปชัญญะ ถ้าสามารถมีสัมปชัญญะต่อเนื่องยาวนานไปได้เรื่อย
เรียกว่าเรามีสมาธิ สติระลึกได้ มีสัมปชัญญะๆ ต่อเนื่องยาวนานเรียกว่า
มีสมาธิ สติสัมปชัญญะ สมาธิแยกแบบนี้และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เรียก
อีกอย่างว่า ที่เที่ยวของจิต ถ้าเธอจะเที่ยวไปให้เที่ยวไปใน ๔ ที่นี้
อย่าไปเที่ยวห้าง อย่าไปช็อปปิ้ง เที่ยวได้บางครั้งบางคราวอย่า
ไปบ่อย เดี๋ยวเงินจะหมดกระเป๋า เจอความเพลินเข้าไป มันจะดึง
เงินบินหนีออกจากกระเป๋า เพราะฉะนั้นให้เที่ยวอยู่ในสติปัฏฐานสี่
กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราทำอย่างนี้ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะถูก
ต้องแล้ว

ตอนสี่ครับ

๘. สัมมาสมาธิ สัมปชัญญะต่อเนื่องยาวนานเรียกว่ามีสมาธิ สมาธิ
มีหลายแง่หลายมุม มุมหนึ่งคือการเข้าฌานที่๑ ๒ ๓ ๔ พระตถาคต
บอกการเข้าฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ ไว้เรียกสัมมาสมาธิ นั่นเป็นอริยะสัมมา
สมาธิที่ถูกต้องในอริยมรรคองค์ ๘ คนพูดเรื่องสมาธิกันเต็มไปหมด
ก็พูดกันไปหลากหลายแบบ แต่พระตถาคตบัญญัติอะไร บัญญัติ
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน อากาสานันกายะ เจตะนะ
วิญญาณนันญารัตนะ อาจิณจัญญาญะตนะ เนวะสัญญาณาญะ
สัญญาณะตะนะ สัญญาเวทิตะนิโรธ ๙ ระดับของสมาธิหมดแล้วแค่นี้
เราอาจจะเคยได้ยิน ที่บอกว่ามี ขณิกะ อุปัชญาญะ อัปปนา
เคยเช็คไหม ลองเช็คดูนิดหนึ่ง ตอนนี้เราโปรแกรมพระไตรปิฏก
ทั้งหมดเข้าไปในคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แล้วมีการตรวจเช็ค เวลา
โยมสงสัยคำว่าอะไรใส่คำนั้นลงไป แล้วให้มันสแกนทั้งพระไตรปิฎก
โยมจะทราบว่าคำๆ นี้พระตถาคตเคยตรัสไว้ไหม ลองใส่คำว่า
ขณิกะสมาธิก็ได้ สแกนดูในบาลีเป็นภาษาไทย กดทั้ง ๔๕ เล่ม
เครื่องหมายติ๊กถูก กดค้นหาไม่เกิน ๑๐ วินาทีแล้วจะทราบว่าคำๆ นั้น
ในพุทธวัจนะมีหรือไม่ สแกนถึงสุดพระไตรปิฎก สแกนถึงอภิธรรมปิฎก
จบสุดท้ายไม่มี ไม่มีข้อมูล เราตรวจสอบอะไรอีกหลายอย่างลองไปดู
ในตาราง ภาพรวมของตาราง ตอนนี้ภาพรวมของตาราง ตารางที่ ๑
ช่องแรกของการตรวจสอบ เวลาสแกนไปเราจะดูว่ามีในพระไตรปิฎก
๔๕ เล่มไหม ต้องเอาไปที่ต้นตอเลยนะเพราะว่าพระมหากัปสปะ
สังคายนา ทรงจำพุทธวัจนะจากนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านมา ก็มีการเพิ่ม
เติมคำเข้าไป เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอรรถกถาเพิ่มเต็มเข้ามา
เมื่อเพิ่มเติมเข้ามามัน ก็มีข้อมูลตรงข้อมูลจริง คลาดเคลื่อนบ้าง
ตรงบ้างจริงบ้างในนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเราสแกนเมื่อเจอคำเราต้อง
แยกคำ คำๆ นี้อยู่ในอรรถกถาหรือพุทธวัจนะ และข้อมูลในบาลีสามรัฐ
ตอนนี้มีข้อมูลที่เก่าที่สุดในประเทศไทย ใช้บาลีสามรัฐ บาลีสามรัฐ
ภาษาบาลีแปลมาเป็นภาษาไทย มหาจุฬาเพิ่งเกิด มหาจุฬาก็ไปหยิบ
บาลีสามรัฐมาแปลเป็นเวอร์ชั่นของตัวเอง เป็นพระไตรปิฎกของตัวเอง
มหามงกุฎเพิ่งเกิดก็ไปหยิบบาลีสามรัฐที่เป็นภาษาบาลีมาเป็นเวอร์ชั่น
ของตัวเอง ท่านพุทธทาสเพิ่งเกิดก็ไปหยิบบาลีสามรัฐมาแปลเป็น
๕ เล่มจากพระโอษฐ์ เฉพาะพุทธวัจนะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราสแกน
ในไหน สแกนในบาลีสามรัฐ ซึ่งทุกสำนักใช้ในการแปลอยู่ เราก็ไปที่
ออริจินอลต้นตอเลย เพราะฉะนั้นมีไม่มีอยู่ที่นี้เพราะเกิดมาสองพัน
กว่าปีแล้ว เกิดมาก่อนอาจารย์ยุคนี้ทุกคนใช่ไหม...

เมื่อขั้นตอนที่ ๑ ถ้าใช่ใส่สีเขียว ไม่ใช่ใส่สีแดงไปขั้นตอนที่ ๒
เมื่อหาเจอใน ๔๕ เล่มแล้วเราต้องไปเช็คว่าคำๆ นั้นอยู่ในพุทธวัจนะ
หรือไม่ ก็คืออยู่ในวลีที่พูดว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย” หรือเปล่า
ถ้าไม่อยู่อันนั้นไม่ใช่ พุทธวัจนะ โยนทิ้งไปได้ คำเหล่านั้นจะ
ขึ้นต้นที่ว่า “ความว่า” ที่ปะปนอยู่ในพระไตรปิฎกที่มีอยู่จำนวนมาก
มากกว่าพุทธวัจนะ

ขั้นตอนที่ ๓ ถ้าเจอคำๆ นั้นแล้วกลับไปเช็คในบาลีอีกทีหนึ่ง ในภาษา
บาลีว่ามีหรือเปล่า เพราะบางทีมีการแปลเพิ่มเติม คำภาษาไทย
ปรุงแต่งภาษาไทยเพิ่มเต็มเข้าไปตั้งแต่การแปลครั้งแรก จากนั้น
เราจึงจะสรุปได้ว่า เป็นพุทธวัจนะหรือไม่ ไปดูว่ามีคำอะไรที่เป็น
การเพิ่มเติมจากครั้งแรก ไปดูคำว่า อรูปฌาน พอเราสแกนไปแล้ว
ปรากฏว่าเจอใน พระไตรปิกฎบาลีสามรัฐภาษาไทย แต่พอไปดู
ภาษาบาลีปรากฏว่าไม่มี ทีนี้เราไปดูใกล้ๆ นี่คือที่คำว่าอรูปฌาน
มีในบาลีสามรัฐ ที่เป็นภาษาไทย หน้าคำว่าอรูปฌานมีคำว่าอะไร..
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หลังคำว่าอรูปฌาน มีอะไร..
โดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นโรค ไปดูภาษาบาลีตัวเลขข้อต้อง
อันเดียวกัน เล่มต้องอันเดียวกัน ไปดูข้อ ๑๕๘ หน้าที่ ๑๖๐ ตัวเลข
๑๕๘ ตรงกัน สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัจฉิมนิกาย มัจฉิมปันนาท
หน้าที่ ๑๒๗ ตรงกันหมดไปดูภาษาบาลี เวทนาคะตัง สัญญาคะตัง
สัญขารคะตัง วิญญาณคะตัง พอคำตอบมามีไหม...ไม่มีใช้คำว่า
เตทัมเม หลังคำนี้เป็นอะไร..อนิจจะโต ทุกขะโต โรคะโต โดยความ
ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นโรค แล้วไล่ดูทุกบรรทัดก็ได้ จากบรรทัดแรก
ถึงบรรทัดสุดท้ายก็ไม่มีคำว่าอรูปฌาน แล้วพอตรวจไปใน
พระสูตรอื่นปรากฏว่าพระตถาคตไม่เคยใช้คำว่า ฌาน ในระดับ
อรูปเลย พอเราสแกนคำว่าอรูปฌานเราจึงไม่เจอคำนี้โดยพุทธวัจนะ
สแกนคำว่ารูปฌานเข้าไปอีกไม่เจออีก แล้วพระตถาคตใช้
คำว่าอะไร..พระตถาคตใช้คำว่า รูปสัญญา กับ อรูปสัญญา
สัญญาแปลว่าความหมายรู้ ความเข้าไปหมายรู้ในรูป สมาธิอันเกิด
จากการเข้าไปหมายรู้ในรูป สมาธิอันเกิดจากการเข้าไปหมายรู้ในอรูป
เรียกว่า อรูปสัญญา แล้วคำที่ใช้แทนได้ทั้งหมดเรียกอีกอย่างว่า
สมาบัติ สมาบัติ ๙ สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๔ มีหมดหรือใช้คำว่าสมาธิก็ได้

เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์ที่จะตรวจสอบ แต่ก่อนไม่มี
คอมพิวเตอร์ใช้ตรวจสอบเราก็ไปเปิดบาลีสามรัฐ อย่างนี้ทั้งภาษาไทย
ภาษาบาลี ไม่เจอหรอกโยมหมดแรงก่อน จะหาคำๆ เดียวก็หมดแรงแล้ว
ตอนนี้เราสามารถเปรียบเทียบเอามาได้เลย บาลีตรงนี้ ภาษาไทยตรงนี้
เทียบเคียงได้ บรรทัดไหนตรงไหน ตรงไหนเป็น พุทธวัจนะ ตรงไหน
ไม่มี เพราะฉะนั้นตรงไหนน่าสนใจมาก เราจะสามารถทำความชัดเจน
ให้กับพุทธวัจนะขึ้นมาได้อีกมาก เพราะอะไร เพราะคำของพระตถาคต
เลิศที่สุด เลิศอย่างไร พระตถาคตเก่งการพูดอย่างไร...มีสามอย่าง

๑. พระศาสดานั่นกำหนดสมาธิทุกครั้งในการพูดโดยไม่ให้พลาดได้
แม้แต่คำเดียว ไม่มีใครทำได้เลย ท่านตรัสไว้กับอคีเวสนะ “อคีเวสนะ
เรานั่นหรือจำเดิมแต่เริ่มแสดงธรรม กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าว
เรื่องนั้นๆ ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิต อันเป็นภายในโดยแท้”
เห็นไหมไม่มีใครทำได้

๒. พระพุทธเจ้าเก่งอย่างไร พระองค์บอกว่า “นับแต่ราตรีที่พระองค์
ตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน คำของพระองค์ไม่มีการจัดแย้งกัน” เห็นไหม
ท่านตรัสไว้กับภิกษุทั้งหลาย

๓. คำของพระตถาคตเป็นอกาลิโก ถูกต้องตรงจริงไม่จำกัดกาล
เพราะฉะนั้นแค่ ๓ เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญมาก ในการที่เราจะ
ต้องเข้าไปศึกษาพุทธวัจนะ ต้องเข้าไปรู้การแก้กรรมที่ถูกต้องจริงๆ
ว่าใครรู้จริง ใครพูดจริง ใครพูดได้ไม่ผิดไม่พลาด พระตถาคตองค์
เดียวเท่านั้น พระตถาคตจึงตรัสว่า “สุตันตะเหล่าใดที่นักกวีแต่งขึ้น
ใหม่ จะเป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์ กลอน มีอักษรสระสลวย
มีพยัญชนะอันวิจิตรเป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก
เมื่อมีผู้นำสุตันตะเหล่านั้น มากล่าวอยู่เธอจะไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง
ไม่ตั้งจิตให้รู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน
สุตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึกมีความหมาย
เป็นชั้นอุตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสูญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้น
มากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ต้องเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน เพราะฉะนั้น
พระศาสดาสั่งอย่างไร ฟังคำตถาคตและการไม่ฟังคำตถาคต
ไม่ศึกษาคำตถาคต ไม่นำคำพระตถาคตไปปฏิบัติ ไม่ถ่ายทอดคำ
พระตถาคตต่อไป จะเป็นเหตุเสื่อมของพระสัจธรรมของพระศาสนาในอนาคต

พระองค์เปรียบด้วยกลองศึกของกษัตริย์พุทธสาระหะ ชื่ออนากะ
กลองอนากะนี้เมื่อตีไปๆ ในที่สุดก็แตกเมื่อแตกกษัตริย์สาระหะ
ก็เอาเนื้อไม้ใหม่ทำเป็นลิ่มตีเสริมเข้าไปในรอยแตก ทำอย่างนี้
ทุกคราวไปในที่สุดเนื้อไม้เดิมของตัวกลองก็หมดสิ้นไป เหลือ
เพียงไม้เนื้อใหม่เท่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น นี่เป็นความอันตรทานของ
คำตถาคต ซึ่งเป็นข้อความลึก เป็นข้อความหมายซึ่งเป็นชั้น
โลกุตระ ว่าด้วยสูญญตา จะมีได้ด้วยอาการเหล่านี้ ยืนยันด้วย
พระสูตร พระบาลีสามรัฐ มีบาลีตรงกันหมด อันนี้อาตมาไปตรวจ
สอบบาลีของต่างประเทศทั่วโลกก็ตรงกัน เวลาเราเช็คบาลีเรา
เช็คไปของทั่วโลกด้วย ให้อาวุโสมารค์ไปเช็คที่หอพระไตรปิฎก
นานาชาติ ที่อักษรศาสตร์จุฬา เขาจะมีพระไตรปิฎกทั่วโลก
ผู้นำประเทศที่มีสัมมาทิฐิ จะช่วยกันปกป้องคำพระศาสดา
อาตมาบอกแล้ว ว่าคำของใครที่คนช่วยกันปกป้อง ช่วยกัน
ถ่ายทอด ช่วยกันนำไปประพฤติปฏิบัติศึกษา คำพระศาสดา
เพราะฉะนั้นให้เราเห็นความสำคัญของพระศาสดา และพระ
ตถาคตตรัสอย่างไรอีก คำของท่านอย่าเติม อย่าตัด ท่านตรัสไว้
ในอริปริหารธรรม คำที่เป็นไปเพื่อความเจริญไม่เสื่อม ข้อที่ ๓ ว่า
พวกเธอทั้งหลาย อย่าบัญญัติเรื่องหรือตัดทอนในสิ่งที่พระตถาคต
บัญญัติไว้ เพราะฉะนั้นคำใดที่มีการเติม แต่งไม่ดีหมดเลย
เราช่วยกันรักษาพุทธวัจนะ ช่วยใช้คำของพระศาสดา คำพระ
ศาสดาจะได้ยืนยงบำรุงอยู่ตราบนานเท่านาน แล้วลูกเรา
หลานเรา เหลนเรา จะได้รู้ในสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกับเราทุกวันนี้
เรากำลังรู้ข้อมูลที่แก้กรรมไม่ค่อยถูกต้องนัก รู้การแก้กรรม
ที่คาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น เมื่ออาตมาบอกปฏิปทาให้ถึง
ความสิ้นกรรม โยมงงไม่เห็นเหมือนกับสิ่งที่กระผมรู้มาจาก
ที่อื่นเลย แต่นี่พิสูจน์ในครั้งพุทธกาลที่ศาสนาพุทธแผ่ไปทั่วโลก
เขารู้มานานแล้ว แล้วเขาปฏิบัติตามนี้ ทำให้เขาเข้าถึงมรรคผล
นิพพานได้ ตรงนี้เป็นวิธีตรวจง่ายๆ

ตอนที่ห้าครับ

กล่าวมาพอสมควร คงได้จะความรู้กัน เราอยากได้คำไหนไหม
ที่จะไปเช็คกันอีก ลองไปดูคร่าวๆ เรากำลังทำวิจัยเหมือนกัน
พระไพบูลย์กำลังให้ตั้งวิจัยพุทธวัจนะ ขึ้นมา ใช้คอมพิวเตอร์
ตรวจสอบ ใช้หลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้า
เวลาตรวจท่านมีหลักเกณฑ์ หลักมหาเทศน์สี่ ถ้าคนอ้างว่า
เป็นคำพระพุทธเจ้า เหมือนอาตมาอ้างอยู่ทุกวันนี้ตอนนี้ว่า
นี่คือคำของพระตถาคต เธออย่างพึ่งรับรองหรือค้าน ให้เธอ
นำคำเหล่านั้นไปเทียบเคียงกับหลักธรรมหมวดอื่นเสียก่อน
ถ้าเข้ากันได้เชื่อว่าคำนั้นจำมาถูก ถ้าเข้ากันไม่ได้คำนั้นเชื่อว่า
จำมาผิด ให้เธอละทิ้งคำนั้นไปเสีย

อย่างที่สอง คนแรกอ้างว่าจำมาต่อหน้าพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคเจ้า คนที่สองฟังมาจากคณะพระเถระ อาวาสนั้น
อาวาสนี้ คนที่สาม ฟังมาจากพระเถระผู้พหูสูตอาวาสนั้น
อาวาสนี้ คนที่สี่ ฟังมาจากภิกษุรูปหนึ่งผู้พหูสูตอาวาสนั้น
อาวาสนี้ ให้เธอกำหนดเนื้อความนั้น ให้ดีอย่าพึงรับรอง
อย่าพึงคัดค้าน นำไปเทียบเคียงในหลักธรรมหลักวินัย
ที่พระตถาคตตรัสเอาไว้ ไม่ใช่คนอื่นพูดนะถ้าเข้ากันได้เชื่อว่า
คำนั้นจำมาถูก ถ้าเข้ากันไม่ได้คำนั้นเชื่อว่าจำมาผิด ให้เธอ
ละคำนั้นทิ้งไป ถ้าเข้ากันได้พึงลงสันนิฐานเถิดว่านี้คือคำของ
พระศาสดาแน่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาอาตมาบอกยืนยันกับโยม
ว่านี้คือคำของพระศาสดา อาตมาจะยกพระสูตรที่หนึ่งที่สอง
สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ มาสนับสนุนเพื่อยืนยันว่าคำนี้
เป็นคำของพระศาสดาแน่แล้ว

อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาหรืออารมณ์ชอบใจไม่ชอบใจ
ควรจะเลี้ยงไว้ไหม หรือควรจะทิ้ง อาตมาควรจะยกอะไร
๑. การสังวรสำรวมอินทรีย์ พระตถาคตให้สำรวมอินทรีย์ ทิ้ง
อารมณ์ไหม...ทิ้งใช่ไหม ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์คือผู้ประมาท
ผู้สำรวมอินทรีย์คือผู้ไม่ประมาท คำว่าประมาทพระพุทธเจ้า
ทิ้งไว้ก่อนปรินิพพาน สำคัญมาก พระพุทธเจ้าสอนให้ละนันทิ
ละความเพลิน นันทิคยาราอัคโย เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ
มีความสิ้นไปแห่งราคะ เพราะความสิ้นใจแห่งราคะมีความสิ้น
ไปแห่งนันทิ นันทิราคะอัคคราจิตตัง สูมิตตังติ มุตันติ เพราะ
ความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะกล่าวได้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว
พระพุทธเจ้าสอนให้สัมมาสัมกัปปะ ทิ้งอกุศล สอนให้สัมมา
วาจามะ ให้ทิ้งอกุศลสร้างกุศลขึ้นมา พระพุทธเจ้าสอนว่า
ผู้เข้าไปหาย่อมไม่หลุดพ้น ผู้ไม่เข้าไปหาย่อมหลุดพ้น ไปดู
พระสูตรเหล่านี้ก็ได้ วิญญาณที่เข้าไปหาอารมณ์ต้องไม่หลุดพ้น
วิญญาณที่ไม่เข้าไปหาก็ย่อมหลุดพ้น ๕ พระสูตรแล้ว

๖ พระพุทธเจ้าบอกพระเสสะ เธอต้องยุบ ต้องไม่ต่อ
ต้องขว้างทิ้ง ต้องไม่ถือเอา ต้องไม่กระจาย ไม่ทำให้เป็นกอง
ต้องทำให้มอดไม่ทำพุโพรงซึ่งขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ ก่อตัวเราต้องกระจายออกทันที พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ในอินทรีย์ชั้นเลิศ “เธอต้องทิ้งอารมณ์ให้เร็วดุจกระพริบตา
อุเบกขายังคงเหลืออยู่” ๗ พระสูตรแล้ว
พระสูตรที่ ๘ พระพุทธเจ้าให้ภิกษุ สังวรณ์ รวมใจไว้
ในกระดองเหมือนเต่า เต่าขดอวัยวะในกระดองเมื่อไหร่ ภิกษุ
ทั้งหลายพึงตั้งมโนวิตกไว้ในกระดอง คือลงการภาวนาฉันนั้น
มารผู้มีบาปจะทำอันตรายไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกายคตาสติ ว่าเปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์
๖ ชนิด จับปลิง จับนก จับจระเข้ จับสุนัข สุนัขจิ้งจอก จับงูเข้ามา
มาผูกด้วยเชือกติดกับเสาหลักอันมั่นคง พอปล่อยแล้วงูจะเข้ารู
จอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน
สุนัขจิ้งจอกเข้าป่าช้า ลิงจะไปป่า ต่างคนต่างยื้อยืดฉุดกันไป
เมื่อหมดแรงแล้วมันก็จะมานั่งเจ่านอนเจ่าอยู่ตรงที่เสาหลักๆ
นี้คือ กายคตาสติ พระตถาคตให้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ เห็นไหม...
๙ พระสูตรแล้ว
พระสูตรที่ ๑๐ ผู้ใดไม่บริโภคกายคตาสติ ผู้นั้นชื่อว่า
ไม่บริโภคอมตะธรรม ผู้ใดหลงลืมกายคตาสติผู้นั่นได้ชื่อว่า
หลงลืมอมตะธรรม

กี่พระสูตร จริงๆ มีมากกว่านั้นยกมาให้ ๑๐ พระสูตรเห็นความ
สอดรับของคำพระศาสดาไหม ว่าพระศาสดาสอนอะไรแล้ว
ไม่มีการขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่าเมื่อจิตเกิดรู้
อารมณ์ใดขึ้นมา พระตถาคตบอกให้ทิ้งให้ไวที่สุด การที่จิต
ไปรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั้นขึ้นมา นั่นคือการตั้งอยู่ของวิญญาณ
การปรากฏขึ้นของวิญญาณคือการปรากฏขึ้นแห่งชาติชรามรณะ
คือการปรากฏขึ้นแห่งกรรม และถ้ากรรมมีอยู่ เราก็ต้องเวียนว่าย
ในสังสารวัฏเพราะฉะนั้นวิธีดับกรรมทำอย่างไร ทิ้งอารมณ์ให้
ไวที่สุด กรรมดับทันที

เพราะฉะนั้นอารมณ์อะไรที่โยมเครียด โยมรักก็ตามมันสร้างปัญหา
ได้ทั้งหมด เราต้องรีบทิ้งให้ไวที่สุด อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ
ไม่เป็นที่ชอบใจ พระพุทธเจ้าจึงให้ทิ้งให้ไวที่สุด เพราะว่าทั้ง
พอใจและไม่พอใจ เป็นเหตุให้เกิดความทะเลาะเบาะแว้งได้
ทั้งหมด มีจอมเทพไปถามพระตถาคตว่าอะไรเป็นเหตุ
ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในสังคมทั้งหมด มนุษย์ เทวดา ยักษ์
นาค อสูร ไม่ใช่แต่มนุษย์ที่ทะเลาะกันอย่างเดียว ทุกภพภูมิ
ทะเลาะกันหมด พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าเพราะธรรมะ ๒ อย่าง
คืออิจฉาและตระหนี่ เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน อยากยุติ
ความรุนแรง ยุติความขัดแย้ง ฝึกปฏิบัติให้มากอย่างยุวพุทธฯ
มาพาปฏิบัติมาฟังธรรมมากๆ นี่สอดรับกับคำพระพุทธเจ้า
ทำให้เป็นปุถุชนผู้ได้สดับในธรรม ได้ยินได้ฟังธรรมพระตถาคต
แล้ว เอาไปฝึกหัดประพฤติปฏิบัติ เรียกเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์
คือคำเทศน์สอน เราก็จะได้มีการฝึกกาย วาจาจิตของเรา ให้ดี
ตามที่พระศาสดาบอกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อทำอย่างนี้ เราทิ้ง
อารมณ์ไปเรื่อยๆ วิญญาณจะตั้งอยู่ไม่ได้ วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้
ณ ที่ใด กรรมก็เกิดไม่ได้ กรรมเกิดไม่ได้เราก็สามารถเข้าถึง
วิมุตหลุดพ้นเข้าสู่อมตะธรรมได้ ที่ใดไม่มีรูปนาม ที่ใดไม่มี
วิญญาณ นั่นแหละคือที่สุดของทุกข์ จะไม่มีการมาการไป
ของจิต จิตถ้ายังมีการมาการไปอยู่ พระพุทธเจ้าก็เรียกว่า
ยังมีการเกิดการดับของวิญญาณอยู่นั่นเอง พระตถาคตตรัส
อย่างไร ถ้าความน้อมไปไม่มีการมา การไปจะไม่มี ถ้าการมา
การไปไม่มี การเคลื่อนและการเกิดขึ้นก็ไม่มี เคลื่อนคือตาย
นั่นแหละคือที่สุดของทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะหยุด
การไปการมาของจิตได้ พระพุทธเจ้าก็บอกว่านั่นแหละคือที่สุด
ของความทุกข์ จะไม่มีการเกิดการตายอีกต่อไป

ตอนหก ตอนจบครับ

เวลากังวลเรื่องอะไร ให้ละทิ้งไปให้ไวที่สุด เพราะสิ่งที่เรา
กังวลนั้น คือวิญญาณกำลังเข้าไปตั้งอยู่แล้ว วิญญาณตั้งอาศัย
อยู่ในที่ใด ชาติชรามรณะเกิดที่นั่น กองทุกข์เกิดที่นั่น จิตคิดถึง
สิ่งใดอยู่ ดำริถึงสิ่งใดอยู่ หรือมีจิตฝังลงไปปักลงไปในสิ่งใด
สิ่งหนึ่งอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์การตั้งอยู่ของวิญญาณ
คำนี้จำให้ดีๆ พระสูตรนี้จำให้ดีๆ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่ ย่อมดำริถึง
สิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็น
การตั้งอยู่ของวิญญาณ เมื่ออารมณ์มีอยู่ความตั้งขึ้นเฉพาะ
วิญญาณย่อมมี ถ้าอารมณ์โยมมี วิญญาณตั้งขึ้นได้ เมื่อ
วิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว ความเกิดขึ้น
แห่งภพใหม่ย่อมมี เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่มี ชาติชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส ปายาสัตทั้งหลาย
จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมกองแห่งเกิดทุกข์
ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเหล่านี้ กรรมมีได้เพราะอย่างนี้
สิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ สิ้นทุกข์ก็สิ้นกรรม เพราะฉะนั้นถ้า
เราต้องการพ้นจากความทุกข์ ต้องการอมตะธรรม ต้องการ
มรรคผลนิพพาน วิญญาณสร้างอารมณ์แล้วรีบดับให้ไว ดีด
นิ้วบ่อยๆ อารมณ์จะได้ดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอาตมา
ยืนยันโดยพุทธวัจนะล้วนทั้งหมด เวลาจะยืนยันจึงต้องให้
อาวุโสมารค์ขึ้นบาลีสามรัฐให้ตลอดเวลา และบอกวิธีสแกน
เช็คพุทธวัจนะ ไม่ต้องสแกนกรรม หมดสิทธิ์สแกนกรรม
เพราะอะไร...ไปดูมิกกสาราสูตรพระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะ
กระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคล ใครเล่าจะพึงรู้ได้
นอกจากตถาคต ตถาคตคนเดียวรู้ดีเรื่องกรรม นอกนั้น
ไม่ต้องไปรู้เลย จะมีเหตุแต่ความเป็นบ้า เป็นอจินตรัย
อย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าบอก อย่าไปคิดซอกแซะเรื่องกรรม
กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบแค่นี้ รู้ว่าเจตนาเป็นกรรม
เหตุเกิดความดับ เวมะกะตาแห่งกรรม วิบากของกรรม
ที่ดับกรรมรู้แค่นี้พอ อย่างอื่นอย่าไปอยากรู้มาก
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เพราะกระแสแห่งธรรม
ย่อมถูกต้องแห่งทางนี้ ใครเล่าจะพึงรู้ได้นอกจากตถาคต
เพราะเหตุนั่นแลอานนท์เป็นอย่างไร เธอทั้งหลายอย่าได้
เป็นผู้ที่ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล
เพราะผู้ที่ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษตนเอง
เราหรือผู้ที่เหมือนเราเท่านั้น พึงถือประมาณในบุคคลนั้นได้
เก่งเท่าพระตถาคตไหม ถ้าเก่งเท่าก็สแกนต่อไป ถ้าเก่ง
ไม่เท่าอย่าไปสแกน นี่พระศาสดาตรัสไว้เมื่อสองพันห้าร้อย
กว่าปีแล้ว ช่วยฟัง ช่วยศึกษา และถ้าความเห็นเราไม่ตรงกับ
พระศาสดาจะไปสอนพระศาสดาไหม ท่านต้องเปลี่ยน
ความเห็นผมดีกว่า มันไม่ได้นะ พุทธบริษัทเราย่อมรับ
พระพุทธเจ้าหมด พระสารีบุตรเลิศทางปัญญา พระโมคคะลานะ
เลิศทางฤทธิ์ ยังไม่มีใครกล้ากับพระพุทธเจ้าเลย เพราะรู้ว่าต่าง
ชั้นกันมาก พระพุทธเจ้าสร้างบารมีมามหาศาล นี่แหละอยากให้
ความสำคัญในพุทธวัจนะ ถ้าเราศึกษาแล้วโยมจะได้คำตอบ
แล้วตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์ คนยุคใหม่ๆเล่นเป็น อาตมาเล่นไม่
เป็นต้องอาศัยพระรุ่นหลังที่เก่งคอมพิวเตอร์ ช่วยสแกนเช็ค
ตรวจสอบ แล้วอาตมาจะช่วยวิเคราะห์ให้ หลังจากวิเคราะห์
คำต่างๆ แล้วก็เอามาถ่ายทอดบอกสอนให้พวกเราเพื่อตาสว่าง
จะได้รู้ว่าพระศาสดาพูดอะไร พระศาสดาเคยตรัสอะไรไว้
เราเคารพพระศาสดาไม่ใช่หรือภิกษุทุกรูปในประเทศไทย
เคารพพระศาสดาไม่ใช่หรือพุทธบริษัททุกคนก็เคารพพระ
ศาสดาไม่ใช่หรือเราทุกคนต่างต้องการความเจริญของ
พระศาสนามิใช่หรือ แล้วความเจริญนั้นมีได้อย่างไร
๑. จดจำบทพยัญชนะการมาถูก ความหมายถูก อธิบายถูก
๒. ภิกษุต้องเป็นผู้ว่าง่าย อดทน ยอมรับการสั่งสอน เคารพหนักแน่
๓. ภิกษุที่คล่องแคล้วในหลักพุทธวัจนะ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา ต้องเป็นผู้ที่ขยันบอกสอนนั้นๆ แก่ชนทั้งหลาย
เพื่อไม่ให้ขาดผู้เป็นมูลรากสืบทอดกันต่อๆ ไป
๔. ภิกษุที่เป็นเถระแล้วบวชนาน ๑๐ ปีขึ้นไปต้องไม่เป็นผู้นำ
ในทางทราม ต้องมุ่งหน้าไปในจิตวิเวกธรรม ความเพียรให้ถึง
สิ่งที่ยังไม่ถึง ถึงสิ่งที่ยังไม่บรรลุนี่คือความเจริญทางศาสนา
๔ ข้อนัยยะที่ ๑ นัยยะที่ ๒ ช่วยกันเจริญสติปัฏฐานสี่ นัยยะที่ ๓
หนึ่งฉลาดในอายตนะ สองฉลาดในปฏิจสมุทบาท อายะตะนะ
กุสาละตาล ปฏิจสมุทปาทะกุสาละตาล ทำสามอย่างนี้ ศาสนา
เจริญแน่นอน เพราะฉะนั้นศาสนาเจริญหรือเสื่อมอย่าคิดเอง
ไม่ใช่ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แล้วจะเจริญก็ไปคิดกันสารพัดแบบ
แต่มีใครเคยคิดอย่างพระตถาคตบ้าง เรากำลังนำพาพุทธ
ศาสนาไปสู่ความเจริญหรือไปสู่ความเสื่อม ช่วยกันคิดดีๆ
ต้องโยนปัญหาไปให้พวกเราคิด และจริงๆ แล้วความเจริญ
ของพระพุทธศาสนา อยู่ในกำมือของพวกเราทุกคน เพียงแต่
ทุกคนกลับมาใช้คำพระศาสดา พระตถาคต อาตมาไม่ได้
แนะนำให้โยมไปใช้คำของเจ้าลัทธิอื่นเลย คำของศาสดาอื่น
ศาสนาอื่นไม่เคยเลย แต่บอกว่าให้มาช่วยกันใช้คำของ
พระตถาคต ปฏิบัติตามคำพระตถาคตแล้วถ่ายทอดตามที่
พระตถาคตสอน ทำ ๓ อย่างนี้ศาสนาเจริญ เราก็หลุดพ้นด้วย
คงจะได้ความรู้กันพอสมควรจากการได้มาฟังธรรมกันในวันนี้


แก้ไขล่าสุดโดย kaveebsc เมื่อ 02 ม.ค. 2010, 11:13, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2009, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:11
โพสต์: 240

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุครับ ขออนุโมทนากับทุกๆท่านที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมครับ

หากมีอะไรที่ผมพิมพ์ผิดพลาด ต้องขออภัยท่านพระอาจารย์ด้วยครับ
เพียงแค่อยากให้ทุกท่านได้ศึกษาหนทางปฏิบัติเพื่อความสิ้นกรรม
อันถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้
เพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่ตลอดไปเท่านั้น

และขออนุโมทนากับทางยุวพุทธฯและผู้ร่วมดำเนินการจัดงานนี้ทุกๆท่านครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2009, 10:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาในความตั้งใจของท่าน

น่าจะแบ่งออกเป็นตอนๆ ซะนิดหนึ่ง
จะได้อ่านสะดวกๆ

เจริญธรรม

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ม.ค. 2010, 11:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:11
โพสต์: 240

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เช่นนั้น เขียน:
อนุโมทนาในความตั้งใจของท่าน

น่าจะแบ่งออกเป็นตอนๆ ซะนิดหนึ่ง
จะได้อ่านสะดวกๆ

เจริญธรรม



ขอขอบพระคุณ คุณเช่นนั้น ที่ให้คำแนะนำนะครับ

อิอิ แก้ไขตามที่แนะนำแล้วครับ ดูแล้วอ่านง่ายขึ้นจริงๆอ่ะ

สาธุครับ

เอ้า...เชิญทุกท่านอ่านกันเลยครับ เยี่ยมมากๆเลย

อ่านง่าย และให้ความรู้ดีด้วย อีกหน่อย จะได้ไม่ถูกคนอื่นหลอกได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ม.ค. 2010, 18:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ
แม้การ เห็นแจ้งเรื่อง กรรม ก็ยังเป็นความรู้อันนำไปสู่ความสละวางได้

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 31 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร