ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

รักษาใจให้ปลอดพิษ (พระไพศาล วิสาโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25727
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  บัวไฉน [ 20 ก.ย. 2009, 14:42 ]
หัวข้อกระทู้:  รักษาใจให้ปลอดพิษ (พระไพศาล วิสาโล)

:b45: รักษาใจให้ปลอดพิษ :b45:

"อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย"

หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า "ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ"
ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้
อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามอารมณ์ที่มีพิษบั่นทอนจิตใจและร่างกายนั้น มิได้มีแค่ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ เท่านั้น หากยังมีอีกมากมาย เช่น ความท้อแท้ ผิดหวัง เศร้าโศก พยาบาท และที่เป็นกันแทบทุกคนก็คือ ความเครียด และวิตกกังวล


จากประกายไฟกลายเป็นกองเพลิง

อารมณ์เหล่านี้ก็เช่นเดียวกับไฟ คือไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการสัมผัสหรือเสียดสีอย่างน้อยสองอย่างคือ ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ฯลฯ แน่นอนต้องเป็นรูป เสียง หรือกลิ่นที่ไม่น่ายินดี ทำให้เกิดความทุกข์หรือความไม่พอใจขึ้นมา ความไม่พอใจนี้เปรียบดังประกายไฟซึ่งวาบขึ้นมาเมื่อมีการเสียดสีกัน ธรรมดาประกายไฟเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับวูบไปในทันที แต่ถ้ามีเชื้อไฟอยู่ใกล้ ๆ มันก็ลุกเป็นเปลวไฟ แล้วอาจขยายเป็นกองไฟ หรือลามจนกลายเป็นมหาอัคคีไปในที่สุด
ดังนั้นความทุกข์หรือความไม่พอใจจึงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต และถ้าปล่อยให้มันดับไปเองเฉกเช่นประกายไฟก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่เรากลับทำให้ความไม่พอใจนั้นยืดเยื้อเรื้อรังจนลุกลามขยายใหญ่โต กลายเป็นอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน จนบางทีอั้นไว้ไม่อยู่ ต้องระบายใส่คนอื่น หรือถ้าอั้นเอาไว้ได้ มันก็วกกลับมาทำร้ายร่างกายและจิตใจของตนเอง จนป่วยด้วยโรคสารพัด เราไปทำอะไรหรือ ถึงไปโหมกระพืออารมณ์ให้พลุ่งพล่านขึ้นมา? คำตอบก็คือ เราไปเติมเชื้อให้มันโดยไม่รู้ตัว
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อันไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เรามักจะเก็บเอามาคิดซ้ำย้ำทวน หรือครุ่นคิดอยู่ไม่วาย ทั้ง ๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะครุ่นคิดอยู่นั่นเอง
การครุ่นคิดถึงมันอยู่บ่อย ๆ เท่ากับเป็นการเติมเชื้อให้มันเติบใหญ่และลุกลามไปเรื่อย ๆ จนอาจถึงจุดที่ควบคุมไม่อยู่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะเหตุนี้
เคยมีนักเรียนบางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพียงเพราะถูกเพื่อนล้อว่ามีสิว สิวเพียงไม่กี่เม็ดบนใบหน้าผลักให้นักเรียนวัยใสทำร้ายตัวเองได้อย่างไร หากไม่ใช่เพราะการเก็บเอาคำหยอกล้อของเพื่อน ๆ มาครุ่นคิดทั้งวันทั้งคืน จนความอับอายและน้อยเนื้อต่ำใจกลายเป็นความหมดอาลัยในชีวิต


ทุกข์คลายได้ ถ้ารู้จักปล่อยวาง

เมื่อความทุกข์หรือความไม่พอใจเกิดขึ้น วิธีป้องกันมิให้มันลุกลามหรือหมักหมมจนกลายเป็นอารมณ์เรื้อรังที่เป็นพิษต่อชีวิตของเรา ก็คือการไม่เก็บเอามาคิดย้ำซ้ำทวนหรือหวนกลับไปนึกถึงบ่อย ๆ จนถอนไม่ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งถลำลึกในอารมณ์ และทำให้อารมณ์มีพลังดึงดูดจนหลุดออกมาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ
เหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในอดีตที่ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ การครุ่นคิดถึงมันเพียงเพราะใจอยากคิดนั้น ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร กลับจะเป็นโทษด้วยซ้ำ เว้นเสียแต่ว่าต้องการทบทวนเพื่อสรุปหาบทเรียนหรือทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ (แม้กระนั้นก็ต้องระวังไม่ให้ตกลงหลุมอารมณ์โดยไม่รู้ตัว)
พูดง่าย ๆ คือต้องรู้จักปล่อยวาง เชื่อหรือไม่ว่าตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราทุกข์อย่างยิ่งนั้น อยู่ที่ใจซึ่งปล่อยวางไม่เป็นต่างหาก หาได้อยู่ที่คนอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกไม่ แม้จะมีอะไรมากระทบอย่างแรง แต่ถ้าใจรู้จักปล่อยวาง มันก็ทำอะไรเราไม่ได้


รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น

ไม่ว่าอารมณ์จะหมักหมมเรื้อรังเพียงใด ก็ไม่เกินวิสัยที่จะปล่อยไปจากใจ ขอเพียงมีสติระลึกรู้ทันว่ากำลังหลงยึดมันอยู่ อย่าลืมว่ามันค้างคาในใจเราได้ เพราะใจเรานั่นแหละที่ไปยึดมันเอาไว้ไม่ยอมปล่อย
ทันทีที่ใจปล่อย มันก็หลุด แต่เผลอเมื่อไร ใจก็อาจไปยึดมันเอาไว้อีก ถ้าจะไม่ให้เผลอ ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ สติจึงมีความสำคัญอย่างมากในการปลดเปลื้องอารมณ์เหล่านี้
สตินั้นสามารถใช้รับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทุกชนิด โดยเพียงแต่รู้เฉย ๆ ว่ามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจก็ปล่อยมันหลุดไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปขับไสไล่ส่งมันเลย บางคนคิดว่าจะต้องเข้าไปเล่นงานมัน เช่น กดมันเอาไว้ หรือไล่มันไป แต่ยิ่งทำ ก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อให้มันมีพลังมากขึ้น หรือกลายเป็นการติดกับดักมัน เหมือนกับไก่ป่าที่คิดไล่ไก่ต่อที่นายพรานเอามาล่อไว้ แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนายพราน


เปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่น

การย้ายความสนใจไปยังสิ่งอื่น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจไม่ไปหมกมุ่นกับความทุกข์หรือตกหลุมอารมณ์อกุศลทั้งหลาย เช่น เวลาโกรธใครขึ้นมา ลองดึงจิตมาจดจ่อกับลมหายใจ ขณะเดียวกันก็หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ และนับทุกครั้งที่หายใจออก เริ่มจาก ๑ ไปจนถึง ๑๐ ถ้าลืมก็นับ ๑ ใหม่ แม้ความโกรธจะไม่หายทันที แต่ก็จะทุเลา หรือร้อนรุ่มน้อยลง เพราะมันสะดุดขาดตอนแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม
การนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของเราด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงคนที่ลำบากกว่าเรา


:b42: คำสอนของ พระไพศาล วิสาโล (นิตยสารหมอชาวบ้าน) :b42:

เจ้าของ:  O.wan [ 20 ก.ย. 2009, 19:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: รักษาใจให้ปลอดพิษ (พระไพศาล วิสาโล)

:b8: จะเพียรปฎิบัติธรรมให้มากยิ่งขึ้นค่ะ onion onion onion

เจ้าของ:  pitchaploy [ 12 ต.ค. 2009, 12:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: รักษาใจให้ปลอดพิษ (พระไพศาล วิสาโล)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/