วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 15:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2009, 07:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


คำว่า "ภูมิ" หมายถึง "โอกาสโลก"

โอกาสโลก เป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลก.


โอกาสโลก หรือ ภูมิ

มีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ.


จำแนกตามระดับขั้นของจิต.

ดังนี้ คือ


กามภูมิ ๑๑ ภูมิ.

รูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ.

อรูปพรหม ๔ ภูมิ.


รวม โอกาสโลก

ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลกทั้งหมด

๓๑ ภูมิ ๓๑ ระดับขั้น.

ซึ่ง สถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้น มีมากกว่านั้น.!


หมายความว่า

แม้แต่ ภูมิของมนุษย์ ก็ไม่ได้มีแต่ โลกนี้เพียงโลกเดียว

ยังมีโลกมนุษย์ อื่น ๆ อีกด้วย.!


.


"กามภูมิ ๑๑"

จำแนกออก เป็นดังนี้ คือ


เป็น อบายภูมิ ๔ ภูมิ.

เป็น มนุษย์ (มนุสสภูมิ) ๑ ภูมิ.

สวรรค์ ๖ ภูมิ.


.


อธิบายเพียงย่อ ๆ ดังนี้ คือ


"อบายภูมิ"

ได้แก่

นรก ๑. สัตว์ดิรัจฉาน ๑. ปิตตติวิสัย (เปรต) ๑. อสุรกาย ๑.


.


"นรก"

ไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว หรือ ขุมเดียว.

นรก ขุมใหญ่ ๆ มีหลายขุม.


เช่น

สัญชีวนรก กาฬสุตนรก สังฆาตนรก

โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนรก และ อเวจีนรก.


นอกจาก นรกใหญ่ ๆ ดังกล่าว

ก็ยังมี นรกย่อย ๆ

ซึ่งในพระไตรปิฎก

ก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดมากนัก.


.


เพราะจุดประสงค์

ที่ พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง ภูมิ ต่าง ๆ

ทรงแสดง เพื่อให้เข้าใจ "เหตุ" และ "ผล"

ของกุศลกรรม และ อกุศลธรรม.

ฉะนั้น

สิ่งใด ซึ่งไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง ด้วยตา

ก็ย่อม "ไม่เป็นสิ่งที่ควร" แก่การที่จะทรงแสดง

เท่ากับ การที่จะทรงแสดง

"สภาพธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้"

และ สามารถที่จะรู้ได้

โดยการ อบรมเจริญสติปัฏฐาน.


.


การเกิด ใน อบายภูมิ ๔ นั้น.


ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนัก

ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในนรก.


ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนักมาก

ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในนรก ที่สุดแสนจะทรมาน

คือ อเวจีมหานรก.


และ เมื่อพ้นจากนรกขุมใหญ่ ๆ แล้ว

ก็เกิดในนรกขุมย่อย ๆ อีก

เมื่อ ผลของอกุศลกรรมที่หนัก นั้น

ยังให้ผลไม่หมด.


.


ขณะใด ที่กระทำอกุศลกรรม ใด ๆ

ไม่ได้คิดว่า ภูมินรก รออยู่แล้ว ในอนาคตข้างหน้า.!


แต่เมื่อยังไม่ถึงกาลที่จะเกิดในภูมินรก

เพราะว่า ยังอยู่ในโลกมนุษย์นี้

และ ตราบใด ที่ยังไม่พ้นไปจาก สภาพของการเป็นบุคคล

ในโลกมนุษย์นี้......ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น.

แม้ว่า "เหตุ"

คือ อกุศลกรรมที่ได้กระทำ มีแล้ว.


เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมแล้ว

ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

คือ เกิดในอบายภูมิใน อบายภูมิหนึ่ง

เมื่อ สิ้นชีวิต.


.


ผลของอกุศลกรรม ที่เบากว่านั้น

ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอยายภูมิอื่น

เช่น

การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน.


จะเห็นได้ว่า สัตว์ดิรัจฉาน นั้น

มีรูปร่าง ลักษณะ ต่าง ๆ นานา

เช่น สัตว์ดิรัจฉาน บางชนิด

มีขามาก บางชนิด มีขาน้อย หรือไม่มีขาเลย.

บางชนิดมีปีก หรือ ไม่มีปีก

บางชนิด อาศัยอยู่ในน้ำบ้าง หรือ บนบกบ้าง.


รูปร่าง ลักษณะ ของสัตว์ดิรัจฉาน แต่ละชนิด

ก็มีความต่างกัน อย่างมากมาย

ตามความวิจตรของจิต.


.


แม่แต่ มนุษย์.

ซึ่ง มีตา หู จมูก ลิ้น กาย คล้ายกัน

แต่ ผิวพรรณ วัณณะ ความสูงต่ำ ฯลฯ

ก็ยังมีความวิจิตรต่าง ๆ กัน

ไม่เหมือนกันเลยสักคน

ไม่ว่าจะมีจำนวนคนในโลกนี้มากสักเท่าไรก็ตาม.!

ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต.


แต่ สัตว์ดิรัจฉาน ยิ่งวิจิตร ต่างกันยิ่งกว่ามนุษย์

มีทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ที่บินได้ เป็นต้น.


ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรม อันเป็นเหตุปัจจัยให้ทุกชีวิต

มีรูปร่าง ลักษณะ ที่วิจิตรต่าง ๆ กัน.


.


ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ที่น้อยกว่านั้น

ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิของ "เปรต"

ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า "ปิตติวิสัย"


เปรต ทรมานด้วยความหิวโหยอยู่เสมอ.

และ ภูมิของเปรต ก็มีความวิจิตร ต่าง ๆ กันมาก.


มนุษย์ทุกคน

มีโรคประจำตัว-ประจำวัน

คือ โรคหิว.

ซึ่งจะกล่าวว่า ไม่มีโรค ไม่ได้

เพราะว่า

ความหิว เป็นโรคอย่างยิ่ง.!


ถ้าหิวมาก ๆ

ก็จะรู้สึกถึงสภาพที่เป็นทุกข์ ของความหิว.


ถ้าหิวนิดหน่อย แล้วรับประทานอาหาร

ซึ่งถ้าเป็นอาหารที่อร่อย ๆ ก็เลยลืม ว่า

แท้จริงแล้ว

ความหิว ไม่ใช่ความสบายกายเลย

แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข บรรเทา ให้หมดไป.


คนที่หิวมาก

เมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร

ก็จะรู้ถึงสภาพที่เป็นทุกข์ของความหิว ว่า

ถ้าหิวมากกว่านั้น จะเป็นอย่างไร.!


ท่านผู้หนึ่ง ท่านมีมิตรสหายมาก.

วันหนึ่ง ท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้า จนถึงเย็น

ไม่ได้รับประทานอาหารเลย.

พอค่ำก็เลยรู้ว่า ความหิวที่แสนทรมาน

ที่ใช้คำว่า แสบท้อง นั้น เป็นอย่างไร.!


และ ท่านก็ไม่สามารถรีบร้อนทานอาหาร เพื่อแก้ความหิวได้

เพราะ ถ้าทำอย่างนั้น ก็จะเป็นลม เป็นอันตรายต่อร่างกาย.


ท่านต้องค่อย ๆ บริโภค แก้ไขความหิวไปทีละน้อย

แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังเป็นลม.


นี่ก็แสดงให้เห็นว่า

ความหิว เป็นโรคอย่างยิ่ง.!

เป็นโรคประจำวัน

ที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงโรคอื่น ๆ เลย.

แล้วถ้าเป็นเช่นนี้

ผู้ที่เกิดเป็นเปรต จะหิวสักแค่ไหน.!


ในภูมิของเปรต ไม่มีการค้าขาย ไม่มีกสิกรรม

จะไปปลูกข้าวทำนา หุงข้าวเอง

หรือ ซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร

เพื่อให้ได้อาหารมาบริโภค ก็ไม่ได้.


การเกิดเป็นเปรต เป็นผลของอกุศลกรรม.


แต่เมื่อใด เปรต ได้อนุโมทนากุศล

ที่บุคคลกระทำ แล้วได้อุทิศไปให้

กุศลจิต ที่เปรตอนุโมทนา นั้นเอง

เป็นปัจจัยให้ เปรตได้บริโภคอาหาร

ที่เหมาะสมกับภูมิของตน.


หรือ กุศลจิต นั้น

อาจเป็นปัจจัยให้พ้นจากสภาพของความเป็นเปรต

โดย จุติแล้วปฏิสนธิในภูมิอื่น

เมื่อหมดผลของกรรม ที่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเปรต.


.


อบายภูมิ อีกภูมิหนึ่ง คือ

"อสุรกาย"

การเกิดเป็นอสุรกาย

เป็นผลของอกุศลกรรม ที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น.


เพราะว่า ผู้ที่เกิดเป็นอสุรกาย นั้น

ไม่มีความรื่นเริงใด ๆ อย่างในภูมิมนุษย์ และ สวรรค์.


ในภูมิของอสุรกาย

ไม่สามารถแสวงหาความเพลิดเพลิน สนุกสนานได้

เหมือนใน สุคติภูมิ.


.


ฉะนั้น

เมื่ออกุศลกรรม มีความต่างกัน

"ภูมิ" ซึ่งเป็นที่เกิด ก็ย่อมต่างกันไปตาม "เหตุ"

คือ อกุศลกรรมนั้น ๆ



บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

ทส ( สิบ ) + ปุญฺญ ( ความดี ,เครื่องชำระสันดานให้สะอาด ) + กิริยา ( การกระทำ )+

วตฺถุ ( ที่ตั้ง )

ที่ตั้งแห่งการกระทำความดี ๑๐ อย่าง หมายถึง กุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการ

กระทำออกมาทางกาย วาจาหรือทางใจ ได้แก่ ...

๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒. ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริต

ทางกาย วาจา

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา)

และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง(วิปัสสนาภาวนา)

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง



บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อสงเคราะห์ลงเหลือบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทานมัย ศีล

มัย และภาวนามัยเท่านั้นก็ได้ เพราะปัตติทานและปัตตานุโมนา เกี่ยวข้องกับ

เรื่องของการให้ จึงสงเคราะห์เป็นทานมัย ส่วนอปจายนะและเวยยาวัจจะ

เกี่ยวข้องกับการประพฤติทางกาย วาจาจึงสงเคราะห์เป็นศีลมัย ธัมมัสสวนะ

และธัมมเทสนาก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญา จึงสงเคราะห์เป็นภาวนามัย ส่วนทิฏฐุ-

ชุกรรมสงเคราะห์ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพราะเมื่อมีความเห็นตรง ย่อม

เป็นปัจจัยให้กุศลขั้นอื่นเจริญไพบูลย์ และมีผลมีอานิสงส์มาก

ฉะนั้น ในการให้แต่ละครั้ง ก็จะต้องรู้ด้วยว่า

เมื่อให้ไป กุศลจิตเกิดน้อย หรือ อกุศลจิตเกิดมาก

หรือว่า เมื่อให้ไปแล้ว กุศลจิตเกิด มากกว่า อกุศลจิต.


เพราะถ้าให้อะไรไปแล้ว

กุศลจิตเกิด มากกว่า อกุศลจิต ย่อมจะดีกว่า

แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็มุ่งที่จะให้ หรือ ไม่คิดที่จะให้เสียเลย

โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล

หรือ ไม่คำนึงถึง กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ที่จะเกิดภายหลัง

ก็ย่อมเป็นการให้ที่ตึงเกินไป หรือหย่อนไป

ซึ่งก็ย่อมทำให้เกิดทุกข์ขึ้นภายหลังได้

ความเห็นถูกมีหลายขั้น กุศลจิตก็ต้องมีหลายขั้น

ตามความเห็นถูกแต่ละขั้น.



ความเห็นถูกว่าธรรมใดดี ธรรมใดชั่ว

เช่นเห็นว่า การพูดไม่จริง เป็นสิ่งที่ไม่ดี

ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู เป็นต้น เป็นสิ่งที่ดี

ความเห็นถูกอย่างนี้ เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง.


......................................


ความเห็นถูกว่าควรจะขัดเกลากิเลส ด้วยการให้ทาน

เพื่อเปลื้องความตระหนี่ความติดข้องในวัตถุออกเสียบ้าง

ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง.


.......................................



ความเห็นถูกว่าควรเป็นผู้มีศีล

เว้นทุจริตทางกาย วาจา ซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลส

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลง

ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง.


........................................


ความเห็นถูกว่าควรระงับกิเลลสที่ทำให้หัวใจเศร้าหมอง

ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง.


.......................................



ความเห็นถูกว่าควรเจริญปัญญา ดับกิเลสให้หมดสิ้น

ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง.


.........................................


และเมื่อไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ดีหรือชั่วของธรรมแต่ละชนิด

ด้วยการคิดไตร่ตรองของตนเอง ก็จะต้องอาศัยการฟังหรือศึกษาธรรม

ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ใน

ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร หมวด ๓

แสดงปัญญา ๓ คือ


๑ จินตามยปัญญา

๒ สุตามยปัญญา

๓ ภาวนามยปัญญา
พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 606

วิเคราะห์ปาราชิก

[๑,๐๓๕] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า

ปาราชิก ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป บุคคลเป็นผู้เคลื่อนแล้ว ผิดพลาด

แลเหินห่างจากสัทธรรม อนึ่ง แม้สังวาสก็

ไม่มีในผู้นั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียก

อาบัตินั้นว่า ปาราชิก.

วิเคราะห์สังฆาทิเสส

[๑,๐๓๖] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า สังฆา

ทิเสส ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชักเข้าหา

อาบัติเดิมให้มานัต อัพภาน เพราะเหตุนั้น

เราจึงเรียกอาบัตินั้นว่า สังฆาทิเสส.

วิเคราะห์อนิยต

[๑,๐๓๗] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า อนิยต

ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป

กองอาบัติชื่อว่าอนิยต เพราะไม่แน่ บท

อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำแล้วโดยมิใช่

ส่วนเดียว บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอย่างใด

อย่างหนึ่ง เรียกว่า อนิยต.

วิเคราะห์ถุลลัจจัย

[๑,๐๓๘] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ถุล-

ลัจจัย ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป ภิกษุแสดงอาบัติถุลลัจจัย ในที่ใกล้

ภิกษุรูปหนึ่ง แ ละภิกษุรับอาบัตินั้น โทษ

เสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น

จึงเรียกโทษนั้นว่า ถุลลัจจัย.

วิเคราะห์นิสสัคคิยะ

[๑,๐๓๙] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า นิส-

สัคคิยะ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป ภิกษุเสียสละในท่ามกลางสงฆ์ ท่าม

กลางคณะ และต่อหน้าภิกษุรูปหนึ่ง ๆ แล้ว

จึงแสดงข้อละเมิดใด เพราะเหตุนั้น จึง

เรียกข้อละเมิดนั้นว่า นิสสัคคิยะ.

วิเคราะห์ปาจิตตีย์

[๑,๐๔๐] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า

ปาจิตตีย์ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป ความละเมิดยังกุศลธรรมให้ตก ย่อม

ฝืนต่ออริยมรรค เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลง

แห่งจิต เพราะเหตุนั้น จึงเรียกความละเมิด

นั้นว่า ปาจิตตีย์.

วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ

[๑,๐๔๑] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ปาฏิ-

เทสนียะ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป ภิกษุไม่มีญาติ หาโภชนะได้ยาก

รับมาเองแล้วฉัน เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ

ภิกษุฉันอยู่ในที่นิมนต์ ภิกษุณีสั่งเสียอยู่ใน

ที่นั้นตามพอใจ ภิกษุไม่ห้าม ฉันอยู่ในที่นั้น

เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุไม่อาพาธ

ไปสู่ตระกูลที่มีจิตศรัทธา แต่มีโภคทรัพย์

น้อย เขามิได้นำไปถวายแล้วฉันในที่นั้น

เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุใดถ้าอยู่ในป่า

ที่น่ารังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ฉันภัตตาหาร

ที่เขาไม่ได้บอกในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรม

ที่น่าติ ภิกษุณีไม่มีญาติ ขอโภชนะที่ผู้อื่น

ยืดถือว่าเป็นของเรา คือ เนยใส น้ำมัน

น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด และนมส้ม

ด้วยตนเอง ชื่อว่า ถึงธรรมที่น่าติ ในศาสนา

ของพระสุคต.

วิเคราะห์ทุกกฏ

[๑,๐๔๒] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ทุกกฏ

ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป

กรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่า

ทำไม่ดี คนทำความชั่วอันใด ในที่แจ้ง

หรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมประกาศ

ความชั่วนั้นว่า ทำชั่ว เพราะเหตุนั้น กรรม-

นั่นจึงเรียกว่า ทุกกฏ.

วิเคราะห์ทุพภาสิต

[๑,๐๔๓] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ทุพ-

ภาสิต ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว

ต่อไป บทใด อันภิกษุกล่าวไม่ดี พูดไม่ดี

และเศร้าหมอง วิญญูชนทั้งหลายย่อมติเตียน

บทใด เพราะเหตุนั้น บทนั้น จึงเรียกว่า

ทุพภาสิต.

วิเคราะห์เสขิยะ

[๑,๐๔๔] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า เสขิยะ

ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป

ข้อนี้เป็นเบื้องต้น เป็นข้อประพฤติ เป็นทาง

และเป็นข้อระวัง คือ สำรวม ของพระเสขะ

ผู้ศึกษาอยู่ ผู้ดำเนินไปตามทางตรง สิกขา

ทั้งหลาย เช่นด้วยสิกขานั้นไม่มี เพราะ

เหตุนั้น สิกขานั้น จึงเรียกว่า เสขิยะ.

อุปมาอาบัติและอนาบัติ

เรือนคืออาบัติอันภิกษุปิดไว้ ย่อมรั่ว

เรือนคืออาบัติอันภิกษุเปิดแล้ว ย่อมไม่รั่ว

เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเปิดเผยอาบัติที่ปิดไว้

เมื่อเป็นอย่างนั้น เรือนคืออาบัตินั้น ย่อม

ไม่รั่ว ป่าใหญ่เป็นที่พึ่งของหมู่มฤค อากาศ

เป็นทางไปของหมู่ปักษี ความเสื่อมเป็นคติ

ของธรรมทั้งหลาย นิพพานเป็นภูมิที่ไปของ

พระอรหันต์.

คาถาสังคณิกะ จบ

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 619

คำอธิบายจากอรรถกถา

[วิเคราะห์ปาราชิก]

บรรดาบุคคลปาราชิก อาบัติปาราชิก และสิกขาบทปาราชิก ชื่ออาบัติ

ปาราชิกนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว, บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้น

ย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำ

ให้ห่างจากสัทธรรม. เมื่อบุคคลนั้นไม่ถูกขับออก (จากหมู่) ก็ไม่มีสังวาส

ต่างโดยอุโบสถและปวารณาเป็นต้นอีก. ด้วยเหตุนั้น ปาราชิกนั่น พระผู้มี

พระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น คือ เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น พระผู้มี

พระภาคเจ้าจึงตรัส ว่า ปาราชิก.

ก็ในบทว่า ปาราชิก นี้ มีความสังเขปดังนี้:-

บุคคลย่อมเป็นผู้พ่ายด้วยอาบัติปาราชิกนั้น เพราะเหตุนั้น อาบัติ

ปาราชิกนั่น ท่านจึงกล่าวว่า ปาราชิก.

[วิเคราะห์สังฆาทิเสส]

ก็ในบทว่า สงฺฆาทิเสโส เป็นอาทินี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้:-

การออกจากอาบัตินั้นใด ของภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้แล้วใคร่จะออก สงฆ์

อันภิกษุนั้นพึงปรารถนา ในกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัตินั้น เพื่อ

ประโยชน์แก่การให้ปริวาส และในกรรมที่เหลือจากกรรมเบื้องต้น คือใน

ท่ามกลาง เพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์

กับมูลายปฏิกัสสนะ และในที่สุดเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน. ก็ในกรรมทั้งหลาย

มีปริวาสกรรมเป็นต้นนี้ กรรมแม้อย่างหนึ่ง เว้นสงฆ์เสีย อันใคร ๆ ไม่อาจ

ทำได้ ฉะนี้แล.

สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่ง

กองอาบัตินั้น เหตุนั้น กองอาบัตินั้น ชื่อว่าสังฆาทิเสส.

[วิเคราะห์อนิยต]

เนื้อความแห่งคาถาที่ ๓ พึงทราบดังนี้:-

สองบทว่า อนิยโต น นิยโต มีความว่า เพราะไม่แน่ กองอาบัตินี้

จึงได้ชื่อว่าอนิยต.

คำที่ว่า ไม่แน่ นี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะสิกขาบทนี้ ปรับอาบัติ

ไม่จำกัดส่วนอันเดียว. อธิบายว่า สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนอันเดียวไม่ได้.

สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนเดียวไม่ได้อย่างไร ? อย่างนี้

บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง อันพระวินัยธรพึงปรับ.

จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในอนิยตสิกขาบทนั้นว่าภิกษุนั้น อันพระวินัยธร

พึงปรับด้วยธรรม ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะเหตุนั้น กองอาบัตินั้น ท่าน

จึงกล่าวว่า อนิยต คือ กล่าวว่า ไม่แน่.

เหมือนอย่างว่า บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง ท่านกล่าวใน

กองอาบัตินั้น กองอาบัติ ชื่อว่าอนิยต ฉันใด, บรรดาฐานะ ๒ ฐานะอันใด

อันหนึ่ง ท่านกล่าวในกองอาบัติใด กองอาบัติแม้นั้น ก็ชื่อว่าอนิยตเหมือนกัน

ฉันนั้น.

[วิเคราะห์ถุลลัจจัย]

เนื้อความแห่งคาถาที่ ๔ พึงทราบดังนี้:-

บาทคาถาว่า อจฺจโย เตน สโม นตฺถิ มีความว่า บรรดาโทษ

ที่เป็นเทสนาคามี โทษที่ล่ำ เสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ความ

ละเมิดนั้น ท่านจึงเรียกอย่างนั้น. อธิบายว่า ความละเมิดนั้น ท่านเรียกว่า

ถุลลัจจัย เพราะเป็นโทษล่ำ.

[วิเคราะห์นิสสัคคีย์]

เนื้อความแห่งคาถาที่ ๕ พึงทราบดังนี้:-

หลายบทว่า นิสฺสชฺชิตฺวา ย เทเสติ เตเนต มีความว่า ความ

ละเมิดนั้น ท่านเรียกนิสสัคคิยะ เพราะต้องสละแล้วจึงแสดง.

[วิเคราะห์ปาจิตตีย์]

เนื้อความคาถาที่ ๖ พึงทราบดังนี้:-

บาทคาถาว่า ปาเตติ กุสล ธมฺม มีความว่า ความละเมิดนั้น

ยังกุศลจิตกล่าวคือกุศลธรรม ของบุคคลผู้แกล้งต้องให้ตกไป เพราะเหตุนั้น

ความละเมิดนั้น ชื่อว่ายังจิตให้ตกไป เพราะฉะนั้น ความละเมิดนั้น ชื่อว่า

ปาจิตติยะ.

ก็ปาจิตติยะ ย่อมยังจิตให้ตกไป, ปาจิตติยะนั้น ย่อมผิดต่ออริยมรรค

และย่อมเป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต. เพราะเหตุนั้น คำว่า ผิดต่อ

อริยมรรค และคำว่า เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต ท่านจึงกล่าวแล้ว.

[วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ]

ในปาฏิเทสนียคาถาทั้งหลาย คำว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่มีญาติ เป็นอาทิ

ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงความกระทำความเป็นธรรมที่น่าติ ซึ่งพระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ. ก็อาบัตินั้น ท่านเรียกว่า

ปาฏิเทสนียะ เพราะจะต้องแสดงคืน.

[วิเคราะห์ทุกกฏ]

เนื้อความแห่งทุกกฏคาถา พึงทราบดังนี้:-

คำว่า ผิด แย้ง พลาด นี้ทั้งหมด เป็นคำยักเรียก ทุกกฏที่กล่าว

ไว้ในคำนี้ว่า ยญฺจ ทุกฺกฏ.

จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่า

ทุกกฏ. ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดา

ตรัส ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อ

ปฏิบัติในอริยมรรค.

ส่วนคำว่า ย มนุสฺโส กเร นี้ แสดงข้อควรเปรียบในทุกกฏนี้.

เนื้อความแห่งคำนั้นว่า มนุษย์ในโลก ทำบาปใด ในที่แจ้งหรือใน

ที่ลับ, บัณฑิตทั้งหลายประกาศบาปนั้นว่า ทุกกฏ ฉันใด, ทุกกฏแม้นี้ ก็ฉันนั้น

ชื่อว่าบาป เพราะเป็นกรรมลามก อันพระพุทธเจ้าทรงเกลียด เพราะเหตุนั้น

พึงทราบว่า ทุกกฏ.

[วิเคราะห์ทุพภาสิต]

เนื้อความแห่งทุพภาสิตคาถา พึงทราบดังนี้:-

บาทคาถาว่า ทุพภาสิต ทุราภฏฺมีความว่า บทใดอันภิกษุกล่าว

คือพูด เจรจาชั่ว เหตุนั้น บทนั้น ชื่อว่าอันภิกษุกล่าวชั่ว: อธิบายว่า บทใด

อันภิกษุกล่าวชั่ว บทนั้น เป็นทุพภาสิต.

มีคำที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งน้อยหนึ่ง; ความว่า อนึ่ง บทใด เศร้าหมอง

บทนั้น เป็นบทเศร้าหมอง เพราะเหตุใด; อนึ่ง วิญญูชนทั้งหลาย ย่อมติ

เพราะเหตุใด; อธิบายว่า ท่านผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ติบทนั้น เพราะเหตุใด.

บาทคาถาว่า เตเนต อิติ วุจฺจติ มีความว่า เพราะความเป็นบท

เศร้าหมอง และแม้เพราะความติแห่งวิญญูชนนั้น บทนั้น ท่านย่อมกล่าว

อย่างนั้น คือ บทนั้น ท่านกล่าวว่า ทุพฺภาสิต.

[วิเคราะห์เสขิยะ]

เนื้อความแห่งเสขิยคาถา พึงทราบดังนี้:-

พระอุบาลีเถระ แสดงความที่พระเสขะมี โดยนัยมีคำว่า อาทิ เจต

จรณญฺจ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ในบทว่า เสขิย นี้ จึงมีเนื้อความสังเขป

ดังนี้ว่า นี้เป็นข้อควรศึกษาของพระเสขะ

สิ่งที่สำคัญคือขณะนี้ ไฟกำลังไหม้ศีรษะอยู่ ก็ยังไม่รู้ ก็ยังประมาทอยู่ ยังคง

เพลิดเพลินอยู่ ขณะที่เพลิดเพลินอยู่ทุกขณะรู้หรือไม่ว่าสังสารวัฎฎ์ก็ยึดยาวต่อ

ไปอีก... ขณะนี้ประมาทไม่ได้เลย ถึงเวลาที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญความ

เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีอยู่จริงที่กำลังปรากฎขณะนี้ เพื่อละความไม่รู้ ปัญญา

ที่ค่อย ๆ อบรมขึ้นย่อมมีความละอาย เกรงกลัวต่ออกุศลกรรม ค่อย ๆ ขัดเกลา

กิเลสที่มีอยู่อย่างมากมาย และไม่ประมาทที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการก่อน

ที่วันนั้นจะมาถึง... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุก ๆ ท่าน

ควรทราบว่ากิเลสรู้ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริงเป็นอารมณ์ก็ได้

กิเลสรู้บัญญัติสิ่งที่ไม่มีจริงเป็นอารมณ์ก็ได้

ดังนั้นสิ่งทั้งหมด ไม่ใช่เป็นตัวตน สัตว์บุคคล แต่กิเลสเข้าไปยึดถือ

ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล..


เหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศ

ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้มีคติ ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือ

อานนท์ ผู้มีสติ, ผู้มีธิติ (ปัญญาเครื่องทรงจำ),ผู้ได้ฟังมาก, ผู้อุปัฏฐาก (รับใช้) นั่น

คืออานนท์".

ขอช่วยอธิบายความเป็นเลิศ 1. ผู้มีคติ 2. ผู้มีสติ 3.ธิติ 4.สุตะ 5.ผู้อุปัฏฐาก

ผู้มีสติ หมายถึง พระอานนท์เป็นผู้เลิศในการทรงจำพระพุทธพจน์

ผู้มีธิติ หมายถึง พระอานนท์เป็นผู้เลิศในทางความเพียรในด้านต่างๆ เช่น เพียรที่

ศึกษาธรรม เพียรทรงจำ เพียงฟังธรรม เพียรอุปัฏฐาก เป็นต้น

ผู้มีคติ หมายถึง ฟังเพียงบทเดียวแต่สามารถระลึกเป็นนัยต่างๆได้ หกหมื่นบท เช่นฟัง

คำว่าขันธ์ 5 ก็สามารถระลึกเป็นไปในเรื่องของขันธ์ 5 ได้หกหมื่นนัย

ผู้เป็นพหูสูต(สุตะ) หมายถึง พระอานนท์เป็นผู้เลิศในการสดับ ฟังมาก

ผู้อุปัฏฐาก หมายถึง พระอานนท์เป็นผู้เลิศในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ไม่มีใครยิ่งกว่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 443

อรรถกถาสูตรที่ ๑

ประวัติพระอานนทเถระ

วรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า พหุสฺสุตานํ เป็นต้นดังนี้. แม้พระเถระ

รูปอื่น ๆ ที่เป็นพหูสูต มีธิติทรงจำและเป็นอุปัฏฐากก็มีอยู่ ส่วนท่าน

พระอานนท์นี้ เล่าเรียนพระพุทธวจนะ ก็ยึดยืนหยัดอยู่ในปริยัติดุจ

ผู้รักษาเรือนคลัง ในศาสนาของพระทศพล เพราะเหตุนั้น ท่านจึง

ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต. อนึ่ง สติที่เล่าเรียน

พระพุทธวจนะแล้วทรงจำไว้ของพระเถระนี้เท่านั้นก็มีกำลังกว่า

พระเถระรูปอื่น ๆ เพราะเหตุนั้น ท่านจ่งชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุ

สาวกผู้มีสติทรงจำ. อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้นี่แล ยืนหยัดยึดอยู่

บทเดียวก็ถือเนื้อความได้ถึงหกหมื่นบท จำได้ทุกบทโดยทำนองที่

พระศาสดาตรัสไว้นั่นแล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของ

เหล่าภิกษุสาวกผู้มีคติ. อนึ่ง ความเพียรเล่าเรียน ความเพียรท่องบ่น

ความเพียรทรงจำ และความเพียรอุปัฏฐากพระศาสดา ของท่านพระ-

อานนท์รูปนั้นเท่านั้น ที่ภิกษุอื่นๆ เทียบไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึง

ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีธิติ. หนึ่ง ท่านพระอานนท์รูปนี้

เมื่ออุปัฏฐากพระตถาคต ก็ไม่อุปัฏฐากด้วยอาการอุปัฏฐากของเหล่าภิกษุ

ผู้อุปัฏฐากรูปอื่น ๆ ด้วยว่าเหล่าภิกษุผู้อุปัฏฐากรูปอื่น ๆ เมื่ออุปัฏฐาก

พระตถาคต อุปัฏฐากอยู่ไม่ได้นาน ทั้งอุปัฏฐากยึดพระหฤทัยของพระ-

พุทธะทั้งหลายไว้ไม่ได้. ส่วนพระเถระ นับแต่วันที่ได้ตำแหน่งพระ- อุปัฏฐาก

ก็เป็นผู้ปรารภความเพียร อุปัฏฐากยึดพระหฤทัยของพระตถาคตไว้ได้ เพราะเหตุนี้

ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้อุปัฏฐาก….

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 443

อรรถกถาสูตรที่ ๑

ประวัติพระอานนทเถระ

วรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า พหุสฺสุตานํ เป็นต้นดังนี้. แม้พระเถระ

รูปอื่น ๆ ที่เป็นพหูสูต มีธิติทรงจำและเป็นอุปัฏฐากก็มีอยู่ ส่วนท่าน

พระอานนท์นี้ เล่าเรียนพระพุทธวจนะ ก็ยึดยืนหยัดอยู่ในปริยัติดุจ

ผู้รักษาเรือนคลัง ในศาสนาของพระทศพล เพราะเหตุนั้น ท่านจึง

ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต. อนึ่ง สติที่เล่าเรียน

พระพุทธวจนะแล้วทรงจำไว้ของพระเถระนี้เท่านั้นก็มีกำลังกว่า

พระเถระรูปอื่น ๆ เพราะเหตุนั้น ท่านจ่งชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุ

สาวกผู้มีสติทรงจำ. อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้นี่แล ยืนหยัดยึดอยู่

บทเดียวก็ถือเนื้อความได้ถึงหกหมื่นบท จำได้ทุกบทโดยทำนองที่

พระศาสดาตรัสไว้นั่นแล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของ

เหล่าภิกษุสาวกผู้มีคติ. อนึ่ง ความเพียรเล่าเรียน ความเพียรท่องบ่น

ความเพียรทรงจำ และความเพียรอุปัฏฐากพระศาสดา ของท่านพระ-

อานนท์รูปนั้นเท่านั้น ที่ภิกษุอื่นๆ เทียบไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึง

ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีธิติ. หนึ่ง ท่านพระอานนท์รูปนี้

เมื่ออุปัฏฐากพระตถาคต ก็ไม่อุปัฏฐากด้วยอาการอุปัฏฐากของเหล่าภิกษุ

ผู้อุปัฏฐากรูปอื่น ๆ ด้วยว่าเหล่าภิกษุผู้อุปัฏฐากรูปอื่น ๆ เมื่ออุปัฏฐาก

พระตถาคต อุปัฏฐากอยู่ไม่ได้นาน ทั้งอุปัฏฐากยึดพระหฤทัยของพระ-

พุทธะทั้งหลายไว้ไม่ได้. ส่วนพระเถระ นับแต่วันที่ได้ตำแหน่งพระ- อุปัฏฐาก

ก็เป็นผู้ปรารภความเพียร อุปัฏฐากยึดพระหฤทัยของพระตถาคตไว้ได้ เพราะเหตุนี้

ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้อุปัฏฐาก….

คำว่า อินทรีย์ต่างๆกัน ในที่นี้ หมายถึง ในขณะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล

ของพระอริยเจ้าแต่ละท่านนั้น บางท่านยิ่งด้วยศรัทธา บางท่านยิ่งด้วยสมาธิ

บางท่านยิ่งด้วยปัญญา คือ ขณะนั้นอินทรีย์ไหนมีกำลังยิ่งกว่าอินทรีย์อื่นๆ จึง

ทำให้ประเภทของพระอริยบุคคลมีต่างๆกัน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 294

ข้อความตอนหนึ่งจาก...

อรรถกถามหาเวทัลลสูตร

ภิกษุที่มีปัญญาน้อย ถึงใช้เวลาตั้งสี่เดือน ก็ไม่สามารถเรียนคาถาเพียงสี่บทได้.

ส่วนผู้มีปัญญามากยืนอยู่บนก้าวเดียวก็เรียนได้ตั้งร้อยตั้งพันบท ก็พระอานนท์เถระ

ท่านยืนบนก้าวที่กำลังยกก้าวเดียวได้ ฟังครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ถามซ้ำอีก ก็รับเอาได้

ตั้งหกหมื่นบท ตั้งหนึ่งหมื่นห้าพันคาถา ในขณะเดียวกันนั่นเอง, เหมือนเอาเถาวัลย์

ดึงเอาดอกไม้มาถือไว้, และที่ท่านได้เล่าเรียนมาแล้ว ก็ตั้งอยู่โดยอาการที่ได้รับไว้

เหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน และเหมือนมันเหลวราชสีห์ที่ใส่ในหม้อทองคำ เพราะเหตุ

ที่ท่านมีปัญญามาก. เหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศ

ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้มีคติ ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือ

อานนท์ ผู้มีสติ, ผู้มีธิติ (ปัญญาเครื่องทรงจำ),ผู้ได้ฟังมาก, ผู้อุปัฏฐาก (รับใช้) นั่น

คืออานนท์

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 25

พระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อานนท์ ! ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว

แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลล่วง

ไปแห่งเรา ดังนี้ อย่ากระนั้นเลย เราพึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยซึ่งจะ

เป็นวิธีที่พระศาสนานี้จะพึงดำรงมั่นตั้งอยู่สิ้นกาลนาน. อนึ่ง โดยเหตุที่ เรา

เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสป ! เธอจักทรงผ้าบังสุกุลอันทำด้วย

ป่านของเรา ซึ่งเราใช้นุ่งห่มแล้วหรือ ดังนี้ แล้วทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณ-

บริโภคในจีวร และด้วยการทรงยกย่องไว้เทียบเทียมพระองค์ในอุตริมนุสธรรม

มีอนุปุพพวิหารเก้า และอภิญญาหกเป็นประเภท โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุ

ทั้งหลาย ! เราจำนงอยู่เพียงใด เราสงัดแล้วจากกามทั้งหลายเทียว ฯลฯ ย่อม

เข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน อยู่ได้เพียงนั้น ภิกษุทั้งหลาย ! แม้กัสสปจำนงอยู่

เพียงใด เธอสงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเข้าถึงพร้อม ซึ่งปฐมฌานอยู่

ได้เพียงนั้นเหมือนกัน ดังนี้ ความเป็นผู้ไม่มีหนี้อย่างอื่นอะไรจักมีแก่เรานั้นได้,

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเราว่า กัสสปนี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของ

เรา ดังนี้แล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยอสาธารณานุเคราะห์นี้ดุจพระราชาทรงทราบ

พระราชโอรสผู้จะดำรงวงศ์สกุลของพระองค์แล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยการทรง

มอบเกราะของพระองค์และพระอิสริยยศฉะนั้น มิใช่หรือ ดังนี้ จึงยังความอุตสา-

หะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัย๓ เหมือนอย่างที่พระ

ธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ครั้นนั้นแล ท่านพระมหากัสสป ได้เตือนภิกษุ

ทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ! สมัยหนึ่งเราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

ประมาณภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากเมืองปาวา มาสู่เมืองกุสินารา ดังนี้

เป็นต้น. สุภัททกัณฑ์ทั้งปวง ผู้ศึกษาพึงทราบโดยพิสดาร.

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 26

[พระมหากัสสปชักชวนทำสังคายนา]

เบื้องหน้าแต่นั้น ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย !

เอาเถิด เราทั้งหลายจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยกัน เพราะว่า ในกาล

เบื้องหน้า อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะ

ถูกขัดขวาง ในกาลภายหน้า พวกอธรรมวาทีจะมีกำลัง พวกธรรมวาทีจะ

หย่อนกำลัง พวกอวินัยวาทีจะมีกำลัง พวกวินัยวาทีจะหย่อนกำลัง ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลายได้เรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระ

โปรดคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด.

[พระมหากัสสปคัดเลือกภิกษุ ๔๙๙ รูป]

พระเถระเว้นภิกษุผู้เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระ-

อนาคามี และพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้ทรงพระปริยัติ คือนวังคสัตถุศาสน์

ทั้งสิ้นเสียจำนวนหลายร้อยและหลายพัน เลือกเอาเฉพาะพระภิกษุขีณาสพ

เท่านั้น มีจำนวน ๔๙๙ รูป ผู้ทรงไว้ซึ่งประเภทแห่งสรรพปริยัติ คือ

พระไตรปิฎก ได้บรรลุปฏิสัมภิทามีอานุภาพมาก แตกฉานในไตรวิชชาเป็นต้น

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นสู่เอตทัคคะโดยมาก ผู้ซึ่งพระธรรมสังคาหกา-

จารย์หมายถึงจึงกล่าวคำนี้ว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปได้คัดเลือก

พระอรหันต์ ๔๙๙ รูป ดังนี้เป็นต้น.

[ทำสังคายนาจะเว้นพระอานนท์ไม่ได้]

ถามว่า ก็พระเถระทำให้หย่อนอยู่ ๑ รูป เพื่อใคร ? แก้ว่า เพื่อให้

โอกาสแก่ท่านพระอานนทเถระ. จริงอยู่ การสังคายนาธรรมไม่อาจทำทั้งร่วม

ทั้งแยกจากท่านพระอานนท์นั้นได้ เพราะท่านพระอานนท์นั้นยังเป็นพระเสขะ

มีกิจจำต้องทำอยู่, ฉะนั้นจึงไม่อาจทำร่วมกับท่านได้, แต่เพราะวังคสัตถุศาสน์

มีสุตตะ เคยยะ เป็นต้น อะไรๆ ที่พระทศพลแสดงแล้ว ชื่อว่าท่านมิได้รับ

เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี, เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจจะเว้น

ท่านได้, ฯลฯ



พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์

เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสประการ

ต่าง ๆ พระธรรมจึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอยู่เสมอ, ในฐานะที่เป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลส

ยังเต็มไปด้วยกิเลสทุก ๆ ประการ จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม

สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ย่อมจะรู้จักตนเอง

ตามความเป็นจริงว่าเป็นผู้มีกิเลสมาก กิเลสที่มีมากนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะละได้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ดังนั้น กิจที่

ควรกระทำ คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อละกิเลสของตนเอง ไม่ใช่กิเลสของผู้อื่น

สัมมาสัมพุทธเจ้า

สมฺมา ( ชอบ , ถูก ) + สํ ( เอง ) + พุทฺธ ( ผู้ตรัสรู้ , พระพุทธเจ้า )

ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง หมายถึง พระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อที่จะ

ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และสามารถสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย คือสามารถตั้งศาสนา

ประกาศคำสอนได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ ประเภท

จำแนกตามความยิ่งหย่อนของปัญญา ศรัทธา และ วิริยะ คือ

๑. ผู้ที่เป็นปัญญาธิกะ ยิ่งด้วยปัญญา สะสมบารมีน้อยที่สุดคือ ๔ อสงไขย

แสนกัปป์

๒. ผู้ที่เป็นสัทธาธิกะ ยิ่งด้วยศรัทธา สะสมบารมีปานกลางคือ ๘ อสงไขย

แสนกัปป์

๓. ผู้ที่เป็นวิริยาธิกะ ยิ่งด้วยวิริยะ สะสมบารมีมากที่สุดคือ ๑๖ อสงไขย

แสนกัปป์



นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์แรก ว่าจะได้เป็นพระ

พุทธเจ้าในอนาคตแน่นอน ขณะนั้นจึงเรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ คือ สัตว์ที่จะได้

ตรัสรู้แน่นอน ก่อนหน้าที่จะได้รับพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์

ก่อนๆ ยังเป็นอนิยตโพธิสัตว์ ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วมาก แต่ยังไม่แน่นอนที่

จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะอาจสละความเป็นพระพุทธเจ้าเสีย

ก่อน



พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลเอก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 187

ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร ? เพราะอรรถว่า ไม่มีผู้อื่นเหมือน

เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่า เสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภาร

นับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า

บุคคลเอก เพราะอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงมี

คุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะ

อรรถว่า มีความพิเศษโดยคุณ.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้

พระองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูป-

กายและพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเอก เพราะอรรถว่า

เสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.



มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส



[ ๒๘๕] มหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็น

อยู่ ด้วยอาการเป็นอันมาก จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ คือ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาส

อันไฟติดโชนแล้ว จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสยกพลแล้ว . . .

โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว . . . โลกสันนิวาสเดินผิดแล้ว . . . โลก

อันชรานำเข้าไปมิได้ยั่งยืน ... โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ . . .

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป . . .โลกพร่องอยู่

เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา . . . โลกสันนิวาสไม่มีทีต้าน

ทาน ... โลกสันนิวาสไม่มีที่เร้น ... โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ... โลก

สันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร... โลกสันนิวาสฟุ้งซ่าน ไม่สงบ...โลก

สันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรเป็นจำนวนมากเสียบแทงแล้ว ใครอื่นนอก

จากเราผู้จะถอนลูกศรทั้งหลายของโลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี...โลก

สันนิวาสมีความมืดตื้อคืออวิชชาปิดกั้นไว้ ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส

ใครอื่นอกจากเรา ซึ่งจะแสดงธรรม เป็นแสงสว่างแก่โลกสันนิวาสนั้น

เป็นไม่มี. . .โลกสันนิวาสตกอยู่ในอำนาจอวิชชา เป็นผู้มืด อันอวิชชา

หุ้มห่อไว้ ยุ่งดังเส้นด้าย พันกันเป็นกลุ่มก้อน นุงนังดังหญ้าปล้อง

หญ้ามุงกระต่าย ไม่ล่วงพ้นสงสาร คือ อบายทุคติและวินิบาต ...โลก

สันนิวาสถูกอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่แล้ว มีกิเลสเป็นโทษ .. .

โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะและโมหะ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะ

ช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี... โลกสันนิวาสถูกกอง

ตัณหาสวมไว้... โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ... โลกสันนิวาส

ถูกกระแสตัณหาพัดไป . . . โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้อง

คล้องไว้ ... โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะตัณหานุสัย... โลกสันนิวาส

เดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา . . . โลกสันนิวาสเร่าร้อน

ด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา . . . โลกสันนิวาสถูกกองทิฏฐิสวมไว้

... โลกสันนิวาสถูกข่ายทิฏฐิครอบไว้ . . . โลกสันนิวาสถูกกระแสทิฏฐิ

พัดไป. . . โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้ . . .โลก

สันนิวาส ซ่านไปเพราะทิฏฐานุสัย . . . โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วย

ความเดือดร้อนเพราะทิฏฐิ . . .โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อน

เพราะทิฏฐิ ... โลกสันนิวาสไปตามชาติ . . . โลกสันนิวาสซมซานไป

เพราะชรา . . . โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ . . . โลกสันนิวาสถูก

มรณะห้ำหั่น ... โลกสันนิวาสตกอยู่ในกองทุกข์ . . . โลกสันนิวาสถูก

ตัณหาซัดไป โลกสันนิวาสถูกกำแพงคือชราแวดล้อมไว้ . . . โลก

สันนิวาสถูกบ่วงมัจจุคล้องไว้ . . . โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูก

เป็นอันมาก คือ เครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส

ทุจริต ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยแก้เครื่องผูกให้แก่โลกสันนิวาสนั้น

เป็นไม่มี . . . .โลกสันนิวาสเดินไปตามทางแคบมาก ใครอื่นนอกจาก

เราผู้จะช่วยชี้ทางสว่างให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี . . . โลก

สันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพันไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วย

ตัดความกังวลให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี... โลกสันนิวาสตกลง

ไปในเหวใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้น

พ้นจากเหวเป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก ใครอื่นนอก

จากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นข้ามพ้นทางกันดารได้ เป็นไม่มี. . .

โลกสันนิวาสเดินทางไปในสังขารวัฏใหญ่ ใครอื่น นอกจากเราผู้จะ

ช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นพ้นจากสังขารวัฏได้ เป็นไม่มี... โลกสันนิวาส

กลิ้งเกลือกอยูในหล่มใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้ช่วยฉุดโลกสันนิวาส

นั้นให้พ้นจากหล่มได้ เป็นไม่มี...โลกสันนิวาสร้อนอยู่ บนเครื่องร้อน

เป็นอันมาก ถูกไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ชาติ ชรา มรณะ

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาสครอบงำไว้ ใครอื่นนอก

จากเราผู้จะช่วยดับไฟเหล่านั้นให้แก่โลกสันนิวาสนั้นได้ เป็นไม่มี. . .

โลกสันนิวาสทุรนทุราย เดือดร้อนเป็นนิตย์ ไม่มีอะไรต้านทาน ต้อง

รับอาชญา ต้องทำตามอาชญา . . . โลกสันนิวาสถูกผูกด้วยเครื่อง

ผูกในวัฏฏะปรากฏอยู่ที่ตะแลงแกง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยโลก

สันนิวาสนั่นให้หลุดพ้นได้ เป็นไม่มี . . . โลกสันนิวาสมีที่พึ่งควรได้

รับความกรุณาอย่างยิ่ง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยต้านทานให้แก่

โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี. . . โลกสันนิวาสถูกทุกข์เสียบแทงบีบคั้น

มานาน . . . โลกสันนิวาสติดใจกระหายอยู่เป็นนิตย์ . . .โลกสันนิวาส

เป็นโลกบอด ไม่มีจักษุ . . . โลกสันนิวาสมีนัยน์ตาเสื่อมไปไม่มีผู้นำ

. . . โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ทางผิด หลงทางแล้ว ใครอื่นนอกจากเรา

ผู้จะช่วยพาโลกสันนิวาสนั้นมาสู่ทางอริยะ เป็นไม่มี. . .โลกสันนิวาส

แล่นไปสู่ห้วงโมหะ. ใครอื่นนอกจากเราผู้ฉะช่วยฉุดโลกสันนิวาส

นั้นให้ขึ้นจากห้วงโมหะ เป็นไม่มี . . . โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิ ๒ อย่าง

กลุ้มรุม. . . . โลกสันนิวาสปฏิบัติผิดด้วยทุจริต ๓ อย่าง. . . โลก

สันนิวาสเต็มไปด้วยกิเลสเครื่องประกอบ ถูกกิเลสเครื่องประกอบ ๔

อย่างประกอบไว้ . . . โลกสันนิวาสถูกกิเลสผูกไว้ด้วยเครื่องผูก ๔

อย่าง . . .โลกสันนิวาสถือมั่นด้วย อุปาทาน ๔ . . .โลกสันนิวาสขึ้น

สู่คติ ๕ . . . โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกามคุณ ๕ . . . โลก

สันนิวาสถูกนิวรณ์ ๕ ทับไว้ ... โลกสันนิวาสวิวาทกันอยู่ด้วยมูลเหตุ

วิวาท ๖ อย่าง . . . โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกองตัณหา ๖ . . .

โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิ ๖ กลุ้มรุมแล้ว . . . โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะ

อนุสัย ๗. . . โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๗ เกี่ยวคล้องไว้ . . . โลก

สันนิวาสฟูขึ้นเพราะมานะ ๗ . . . โลกสันนิวาสเวียนอยู่เพราะโลก

ธรรม ๘ โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ... ๘ . . . โลก

สันนิวาสประทุษร้ายกันเพราะบุรุษโทษ ๘ . . . โลกสัน นิวาสมุ่งร้าย

กันเพราะอาฆาตวัตถุ ๙ . . . โลกสันนิวาสพองขึ้นเพราะมานะ ๙

อย่าง . . . โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่เพราะธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙

...โลกสันนิวาสย่อมเศร้าหมองเพราะกิเลสวัตถุ ๑๐ . . . โลกสันนิวาส

มุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ ๑๐ . . . โลกสันนิวาสประกอบด้วยอกุศล

กรรมบถ ๑๐ ... โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๑๐ เกี่ยวคล้องไว้ . . .

โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ ๑๐ ... โลกสันนิวาสประกอบ

ด้วยมิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ... โลกสันนิวาสประกอบด้วยสักกายทิฏฐิมี

วัตถุ ๑๐ . . . โลกสันนิวาสต้องเนิ่นช้า เพราะตัณหาเครื่องให้เนิ่น

ช้า ๑๐๘

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า

โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิ ๖๒ กลุ้มรุม จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปให้หมู่

สัตว์ว่า

ก็เราแลเป็นผู้ข้ามได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังข้ามไม่ได้

เราเป็นผู้พ้นไปแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่พ้นไป

เราทรมานได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังทรมานไม่ได้

เราสงบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่สงบ

เราเป็นผู้เบาใจแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่เบาใจ

เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่ดับรอบ

ก็เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกข้ามได้ด้วย

เราเป็นผู้พ้นไปแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นไปด้วย

เราทรมานได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกทรมานได้ด้วย

เราเป็นผู้สงบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกสงบด้วย

เราเป็นผู้เบาใจแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกเบาใจด้วย

เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกดับรอบด้วย

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้แล้วทรงพิจารณาเห็นดังนี้

จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ นี้เป็นมหากรุณาสมาปัตติญาณ

ของพระตถาคต.

เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย และ นานักขณิกกัมมปัจจัย



สหชาตกัมมปัจจัย หมายถึง เจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่ง

เกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนา ก็เกิดกับ

กุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เป็น

กิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะว่าเกิดกับกิริยาจิต

เจตนาที่เป็นกรรมเป็นนานักขณิกกัมมะ ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่านา

นักขณิกกัมมะ หมายถึง กรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้า

เป็นสหชาตกัมมะ เจตนานั้นให้ผลคือทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตน

เองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกัมมะ แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกัมมะ ก็หมายถึงกรรมที่เรา

เข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือให้ผล

ต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร