ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=23051
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 16 มิ.ย. 2009, 00:42 ]
หัวข้อกระทู้:  อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ)

รูปภาพ

อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
วัดป่านานาชาติ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ไว้กับโลกอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ก็คือ คอนเซ็ปท์ของมนุษย์ที่สมบูรณ์


ในโลกตะวันตก สังเกตว่า ไม่ชัดเจนเลย

ระบบจิตบำบัดของตะวันตกก็อยู่ที่การระงับโรคจิตต่าง ๆ
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยพูดว่า
เป้าหมายของการรักษาโรคจิตของเขาก็คือ
ให้เหลือแต่ความทุกข์ธรรมดา

คือ เขาไม่ได้มุ่งที่จะนำใครไปสู่ความไม่มีทุกข์เลย
แต่ให้มันเหลือแต่ความทุกข์สามัญ
แม้จะยอมรับว่า มนุษย์อยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย
เป็นแนวความคิดที่ไม่ปรากฏในภูมิปัญญาของตะวันตก

ยิ่งกว่านั้นก็ยังมีการบูชาความทุกข์
โดยถือว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่ดี
คนเราจะสูง จะน่าเคารพ ด้วยการยอมเป็นทุกข์เพื่อคนอื่น
อาจจะในบางกรณีเกิดความคิดหรือมุมมองว่า
คนไม่มีความทุกข์เหมือนกับว่า
ไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยซ้ำไป

หรือว่า เหมือนกับว่าหนีจากโลกที่เป็นจริง
แล้วอยู่แบบไม่เป็นธรรมชาติ อะไรทำนองนี้

แต่ทิฏฐิที่จะได้ยินบ่อย บ่อยมากก็คือ

ความทุกข์ในชีวิตเป็นส่วน ๆ หนึ่งที่ควรจะมี
ถ้าไม่มีความทุกข์เลย ส่วนที่เป็นสุขจะไม่มีรสชาติ


อาตมาเคยคุยกับชาวตะวันตกคู่หนึ่ง
ทางฝ่ายผู้ชายมาเมืองไทย มาสนใจเรื่องการภาวนา
ตั้งอกตั้งใจ นั่งสมาธิ ฝึกจิต

แฟนเขามาบ่นกับอาตมาว่า

ตอนนี้เหมือนกับว่าแฟนเขาดีเกินไป
เพราะเขาอธิบายว่า ชีวิตคู่มันเป็นอย่างไร
อาตมาไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร

เขาบอกว่า

ความสุขของพวกเรานี้ต้องมีการทะเลาะกันเป็นระยะ
เพราะว่าทะเลาะกันแล้ว กลับดีกันแล้ว จะหวานมาก มีความสุขมาก
ตอนนี้มันเรียบ ๆ ไม่ค่อยทะเลาะกัน
รู้สึกน่าเบื่อ กำลังคิดอยากจะแยกกันแล้ว

เพราะอะไร เพราะแฟนใจดีเกินไป ไม่ยอมทะเลาะกับเขาเลย
ก็เลย ไม่มีลงก็ไม่มีขึ้น มันก็เงียบ ๆ เรียบ ๆ
ในความรู้สึกของเขาไม่น่าสนุก

นั่นก็ถือว่า อุปสรรคของชาวตะวันตกหลายคน
คือ ยังไม่คิดที่จะละทุกข์ เพราะอะไร ไม่คิดที่จะปฏิบัติพ้นทุกข์


เพราะ หนึ่ง ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้
และ สอง ไม่แน่ใจว่า พ้นทุกข์แล้วจะเป็นสิ่งที่ดี
เพราะกลัวว่า ถ้าไม่มีทุกข์แล้ว ความสุขจะจืดชืดไป


อาจจะมีชาวตะวันออกบางคนคิดอย่างนั้นเหมือนกัน

ดังนั้น การเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเป็นสรณะ
ก็คือการปลูกฝังศรัทธาว่า


มนุษย์เราพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
และการพ้นจากความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่เลิศ
ที่ประเสริฐ ที่มนุษย์เข้าถึงได้ รู้ได้


พระพุทธองค์คล้าย ๆ กับสอนให้เราเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง
อย่าพอใจความสุขเพียงแค่นี้
เอาความสุขที่ดีกว่านี้ซะ เพราะมันยังมีอยู่

แล้วพระพุทธองค์ตรัสไว้บ่อย ๆ ว่า

ชีวิตของคนเรามันเป็นแค่ฉากหนึ่งเท่านั้นเอง
เราเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว แต่เราจำไม่ได้


บางสิ่งบางอย่างเราต้องเชื่อพระพุทธเจ้าก่อน
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

การที่เราจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา ยากมาก
มนุษย์ที่ตายแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดานี่น้อย ที่ตกลงไปนี่มาก


แล้วในเมื่อเราจำไม่ได้ว่า ชาติก่อนเราเคยทำบาปกรรมอะไรไว้
เราจะอ้างแต่บุญกุศลที่ทำในชาตินี้ว่าเป็นเครื่องรับประกันว่า
ตายแล้วขึ้นสวรรค์แน่ ไม่ได้

เพราะบุญกุศลที่เรานึกว่ามากมายนั้น
ถ้าเทียบกับบาปอกุศลที่เคยทำไว้ในชาติก่อนนั้น อาจจะนิดเดียว
เราไม่รู้นะ งั้นจึงถือว่าปุถุชนอยู่ในเขตอันตราย
ถึงแม้ว่า เรารู้สึกว่า เราไม่เคยทำความชั่วอะไร
เราไม่เคยได้เบียดเบียนใคร เราจะประมาทอย่างนั้นไม่ได้


เราถือว่า ผู้ที่ยังไม่ถึงกระแสพระนิพพาน
ยังไม่ถึงขั้น พระโสดาบัน อยู่ในที่อันตราย
นี่ก็คือหลักความไม่ประมาท


(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 16 มิ.ย. 2009, 00:51 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม :ชยสาโรภิกขุ

จริงอยู่ ทุกวันนี้เราอาจจะมีความสุข
อะไรต่ออะไรก็ไม่ค่อยจะทุกข์มาก พออยู่ได้ แต่ก็ไม่แน่นอน

บางคนก็ไม่เชื่อเรื่องชาติก่อน ถ้ามีจริงทำไมเราจำไม่ได้

ถามว่า วันนี้วันที่เท่าไรล่ะ วันที่ ๘ ตุลา ๒๕๔๖
ถามว่าวันที่ ๘ ตุลาปีที่แล้วทำอะไรอยู่
แค่ปีที่แล้วก็จำไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงชาติก่อน

แสดงว่า ปีที่แล้วไม่มีจริง เพราะจำไม่ได้
การเกิดของเรามันก็จำไม่ได้
เพราะทำไมเราจึงจำความเกิดไม่ได้
เพราะมัน trauma (ทรมาน) มาก มันทุกข์ทรมานมาก
แล้วจึงเซ็นเซอร์ออก ลบล้างออกจากความทรงจำ


ตอนนี้เครื่องอัลตร้าซาวน์ดมันก็เจริญก้าวหน้ามาก
ล่าสุดที่อังกฤษมีเครือ่งที่ละเอียดมาก
หมอเขาเจอว่าเด็กอายุเจ็ดเดือนยิ้ม
เขาเห็นชัดลย เพราะมันสบาย มันลอยอยู่

แต่หลังจากเกิดแล้ว ๔๐ กว่าวัน ทารกนี่ไม่ยิ้ม
ต้องอายุสักหกอาทิตย์ เจ็ดอาทิตย์ เด็กจึงจะยิ้มได้
เกิดใหม่ ๆ นี่ยังไม่ยิ้มเลย

ก็มีคนสงสัยว่า อยู่ในท้องมารดาทำไมจึงยิ้ม
ทำไมออกมาแล้วไม่ยิ้มเลย ร้องไห้
ออกมาแล้วทำอะไร อ้อ มาถึงแล้ว มันไม่ใช่ มันแว้ ทุกข์
มันก็ไม่อยากจำ ความเกิดนี่มันไม่อยากจำ ทรมาน

งั้นพระพุทธองค์จึงชวน ไม่ได้ชวนให้เชื่อมาก
แต่เชื่อพอเป็นหลักในการพิจารณา ชวนให้เราศึกษา


เช่น เรื่องความสุข เรื่องความทุกข์ ว่ามันคุ้มจริงหรือ

แล้วพระพุทธองค์ตรัสให้เป็นผู้ลืมหูลืมตา
ต่อความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ถ้าความสุขเป็นความสุขที่ใช้ได้
ระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย
มันก็จะยังอยู่เหมือนเดิม

แต่ถ้าเป็นความสุขที่อาศัยการไม่รับรู้เรื่อง
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก
เป็นความสุขที่หลอกลวง
เป็นความสุขที่เราเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้


ถึงแม้ทุกวันนี้ก็จะเห็นคนจำนวนมากแก่
แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ ก็น่าสงสาร
ก็อายุมากแล้วก็ยังแต่งตัว ทาเล็บ ทาปาก ย้อมผม

ดูแล้ว อาตมาขอสารภาพในฐานะเป็นนักบวช
ดูแล้วรู้สึกสลดสังเวช


ทีนี้ถ้าเป็นเมืองพุทธจริง ๆ นะ

ถ้าหากว่าใครหลงถึงขนาดนี้
เพื่อนผู้หวังดีต้องไปกระซิบว่า

ทำไมจึงปล่อยจิตใจไว้อย่างนี้
คือปล่อยจิตใจให้หลงใหล


แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างไร

ผู้ที่แบบอายุมากแล้วก็ยังใส่รองเท้าส้นสูง
แล้วก็ทานั้นทานี่ เห็นใครที่ว่าแต่งตัวธรรมดา
ไม่ย้อม ไม่อะไร ก็ว่า

โอ๊ย ทำไมจึงปล่อยตัวอย่างนี้
ผู้ที่ปล่อยใจให้หลงใหลก็ไปหาว่าคนที่ไม่ปล่อยว่า
ปล่อยตัว ไม่รู้ความหมาย
กลายเป็นว่าผู้ที่ยอมรับว่าตัวแก่ กลายเป็นคนที่ทำผิด

แล้วพวกคนแก่ พวกนกกระจอกเทศมุดหัวลงไปในทราย
ไม่แก่ ไม่แก่ คิดว่า จะไม่ยอมรับรู้ต่อความแก่ แล้วก็ไม่แก่
ไม่ยอมรับรู้ว่า กำลังจะตาย ไม่ตาย
บางทีลุกขึ้นก็โอ๊ย ทำไมเป็นอย่างนั้น
แต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนี้ ทำท่าแบบงง ๆ

เอ๊ อายุแปดสิบแล้ว งง ๆ ทำไมเป็นอย่างนี้
แต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนี้

ก็แน่นอน

แต่ก่อนอายุห้าสิบมันก็ไม่เป็นอย่างนี้
ตอนนี้อายุแปดสิบมันก็เป็นอย่างนี้
ก็เรียกว่า แก่ เรียกว่า กำลังแก่

(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 16 มิ.ย. 2009, 00:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม :ชยสาโรภิกขุ

ต้องยอมรับความจริงว่า ชีวิตเรามีจำกัด

เหมือนเรา คล้าย ๆ ว่า เราอ่านหนังสือ
แต่ว่าไม่สามารถจะเห็นหนังสือทั้งหมด


เราอ่านวันละหน้า วันละหน้า โดยไม่รู้ว่า หนังสือนี้มีกี่หน้า

ชีวิตเรามันเป็นอย่างนั้น

ถ้าเรารู้ว่าขนาดนี้ ขนาดนี้ก็ว่าไปอย่าง มันอาจจะขนาดนี้ก็ได้
หนังสือหนา ๆ ก็มี หนังสือบาง ๆ ก็มี
ชีวิตคนมีอายุยืนก็มี อายุสั้นก็มี

เราก็ไม่มีเครื่องรับรองว่า
เราจะอยู่ได้ถึงเจ็ดสิบ แปดสิบ เก้าสิบ มันตายได้ทุกวัน
เราไม่มีสิทธิอะไรที่จะอยู่ให้ครบแปดสิบปี เก้าสิบปี
เพราะชีวิตเราไม่แน่นอน

เพราะความตายแน่นอน แต่เวลาที่จะตายไม่แน่นอน
นี่จึงทำให้ชีวิตมีคุณค่า ทำให้เวลามีค่า


พระพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า

ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง
เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาและปัญญา
เป็นชีวิตที่เป็นอิสระอย่างยิ่ง


ถึงแม้ว่า สำนวนที่เรามักจะใช้กัน ก็พูดในทางลบมากกว่า
ว่า ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่ก็ฟังบ่อย ๆ

แต่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว
ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเหลือ ว่างเปล่า
แต่พอสิ่งที่ไม่ดีไม่อยู่ สิ่งที่ดีก็งอกงาม

เมื่อกี้ก็พูดถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติ
เราควรจะเห็นความโลภลดน้อยลง ความโกรธลดน้อยลง
ความหลงใหลมัวเมาต่าง ๆ ลดน้อยลง
ในขณะเดียวกัน ความเมตตากรุณาก็มากขึ้น ปัญญาก็มากขึ้น
ความบริสุทธิ์ คือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเศร้าหมองก็ปรากฏได้ชัด


เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็มีแนวทาง

ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส
เราก็มีแนวทางว่า จะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม หน้าที่ก็ตาม

ต้องเป็นไปในทางที่ความโลภลดน้อยลง
ความโกรธลดน้อยลง ความหลงลดน้อยลง
กุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น นี่คือหลักตายตัว
เป็นแผนที่ เป็นเครื่องระลึกตลอดเวลา


นี่เรามีความรู้สึกก้าวหน้า มีทางไป
เมื่อเราตั้งใจอย่างนี้ ความรู้สึกบางอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไป
อย่างความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปเกิดขึ้น
หรือว่าเจริญมากขึ้น ละเอียดขึ้น ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้มากขึ้น


เรารู้สึกว่า เมื่อเราเป็นเพื่อนกับตัวเอง หวังดีต่อตัวเอง
นั่นคือ หวังความพ้นทุกข์ให้กับตนเอง
นี่คือการเป็นเพื่อน เป็นมิตร เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเองโดยแท้
คือหวังสิ่งสูงสุดให้กับตัวเอง คือ การพ้นทุกข์


เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนกับตัวเองนะ
เราเคารพนับถือตัวเอง จนถึงขั้นที่ว่า

ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากพูดอะไรที่ไม่ดีไม่งาม
เพราะเราเคารพตัวเองมากเกินไป
รักตัวเองมากเกินไปที่จะปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง


(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 16 มิ.ย. 2009, 01:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม :ชยสาโรภิกขุ

เมื่อเราดูจิตใจบ่อย ๆ
เข้าใจความเป็นเหตุเป็นปัจจัยของบุญและบาปได้มากขึ้น
ความเชื่อในกฎแห่งกรรมก็เพิ่มขึ้นทุกวัน
นี่ก็เป็นเครื่องชี้บอกถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติด้วย


หากความเชื่อในกฎแห่งกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่ก็เรียกว่าถูกทางแล้ว
เมื่อเราเชื่อในกฎแห่งกรรม
ความเกรงกลัวต่อการทำบาปกรรมมันจะปรากฏ


เมื่อเราเห็นคนอื่นทำบาปกรรม รู้สึกสยดสยอง ไม่ยินดี กลัว
แล้วเราจะยอมลำบากเพื่อจะรักษาอุดมการณ์ของเราไว้
ตัวเองลำบากดีกว่าทำบาป

มีพระเถระรูปหนึ่ง รับนิมนต์ไปฉันในบ้านเศรษฐี
เศรษฐีคนนี้ยินดีในวัตถุมาก หลงใหลมากพอสมควร

เขามีแหวนทองวงหนึ่ง เขาวางไว้ในห้องที่พระกำลังฉัน ด้วยความประมาท
ออกไปทำธุระหน้าบ้าน ในขณะที่พระท่านกำลังฉัน
นกกระสาตัวหนึ่งบินเข้ามา เห็นแหวนทอง
ไม่รู้คิดว่าอะไร กินลงไปเลย เป็นนกกระสาที่อยู่แถว ๆ นั้น

พระเถระเห็นแต่ไม่พูดอะไร เจ้าของบ้านกลับมาในห้อง
เห็นแหวนหาย ก็ไม่มีใครเข้า ไม่มีใครออก มีแต่พระองค์นั้น
ก็หาว่า พระขโมยไป พระเถระก็ปฏิเสธ
แต่ว่าไม่บอกว่านกกระสากิน
เพราะรู้ว่า คนนี้ใจร้าย ถ้ารู้นกกระสากิน ก็จะฆ่านก

คนนี้จับพระเถระเอาไว้ ตีแล้วก็ทรมาน
จะบังคับให้บอกว่า เอาแหวนไว้ตรงไหน
พระเถระเงียบ ถูกเขาทรมาน แต่ว่าไม่พูด
ถือว่าตัวเองทุกข์ทรมาน ดีกว่าคนนี้ไปฆ่านกตัวนั้น

ทีนี้ในขณะที่เขาทรมาน นกมันก็บินเข้ามาในห้อง มันคงเชื่อง
แล้วก็เนื่องจากอารมณ์ของคนนี้ร้ายมาก
เขาเตะนกตาย พอนกตัวนั้นตาย

พระเถระจึงบอกว่า แหวนคงจะอยู่ในท้องของนกตัวนั้น
เขาก็ผ่าออกมาเจอแหวนทอง

โอ เสียใจมาก ตัวเองเป็นบาปเป็นกรรม
ขอขมา พระท่านก็ไม่ถือสา ท่านก็ให้อภัย

นี่เรื่องที่เล่าในตำรา ในตำราก็บอกว่า
ถึงแม้ว่าขอขมาแล้วพระท่านยกโทษให้
ตายแล้วคนนั้นก็ตกนรก นั่นก็เป็นตัวอย่างที่ผู้มีจิตใจสูง
ถือว่าตัวเองเดือดร้อน ตัวเองทุกข์ลำบาก ก็คุ้มค่า

ถ้าทำยอมเพื่อคนที่รัก หรือเพื่อนก็อย่างหนึ่ง
แต่ท่านก็ยอมแม้เพื่อช่วยชีวิตของนกกระสาตัวหนึ่ง

ความคิดของเราหลายอย่างมันก็จะเปลี่ยนไปโดยศรัทธา
เปลี่ยนด้วยความคิดพิจารณา


เมื่อเราเห็นความน่าเกลียดของบาปอกุศลชัดขึ้น
เราเห็นความงดงามของความดี


เราก็ลองทบทวนตัวเอง

มีอะไรไหมในโลกที่งดงามมากกว่าความดีของคน
การเสียสละ ความใจบุญของคน
การที่คน ๆ หนึ่งช่วยคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
นี่ก็เป็นสิ่งที่อัศจรรย์และสวยงามมาก


การที่คน ๆ หนึ่งถูกชักชวนให้ทุจริต แต่ไม่ยอม
รักษาความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
ทั้ง ๆ ที่มีการชักชวน มีการกดดัน มีการยั่วยวนอย่างไร
แต่ว่าสามารถตั้งอยู่ในความดีได้
นี่มันสวย มันงาม มันพูดไม่ถูก

แต่พอเราปฏิบัติแล้ว จิตใจเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย
เราจะ appreciate (ซาบซึ้ง ชื่นชม) ความดีมากขึ้น
มากขึ้น มากขึ้นโดยลำดับ

และเราก็จะกลัว และสยดสยอง
ในความไม่ดีมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น
นี่คือ อาการของผู้ที่กำลังก้าวหน้าในธรรม
จิตใจที่ได้รับการฝึกอบรมก็จะมุ่งมั่นในทางธรรมมากขึ้น


แล้วเราจะเห็นได้ด้วยว่า

ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อย่างเช่น พอเราปฏิบัติแล้ว
เรารู้สึกเห็นความทุกข์ของคนอื่นนี่
ทนไม่ได้ อยากช่วย เท่าที่จะช่วยได้

แต่ทำอย่างไรความสงสารของเรา
ไม่ได้กลายเป็นความเศร้า
อะไรคือสิ่งที่รักษาความสงสารให้เป็นความกรุณาที่เป็นกุศลธรรม
ไม่เสื่อมเป็นความเศร้า

คำตอบก็คือ ปีติที่เกิดจากการภาวนา
ต้องเข้าถึงปีติภายใน ปีติหล่อเลี้ยงจิตใจ


(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 16 มิ.ย. 2009, 01:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม :ชยสาโรภิกขุ

ความสงสารเพื่อนมนุษย์ที่เป็นทุกข์
โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์
ถ้าเป็นทุกข์เพราะความประมาท
เพราะความหลง มันก็เป็นแค่ความสงสาร
แต่ไม่ถึงกับซึมเศร้าหรือเสียใจจนเกินไป

เราพัฒนาจิตใจของตัวเองก็ได้คุณธรรม
ที่ช่วยให้การสร้างประโยชน์สร้างความสุข
ให้กับคนอื่นเป็นไปในทางที่พอดีและยั่งยืน


การช่วยคนอื่นถ้าเราไม่ฝึกจิตของเราอย่างสม่ำเสมอ
การช่วยคนอื่นมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เพราะเมื่อเราไม่รู้เท่าทันกิเลสอยู่ในจิตใจของเรา
กิเลสนั้นที่เรามองไม่เห็นก็สามารถครอบงำจิตได้ง่าย


อย่างเช่น

ความยินดีในการมีอำนาจ
การที่เราสามารถบังคับบัญชา
หรือว่าสั่งให้คนทำอย่างนั้นอย่างนี้
ที่เรามั่นใจว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์เขา

ในขณะเดียวกัน

ตัวความยินดีในการมีอำนาจเหนือชีวิตคนอื่น
ก็จะเข้ามาครอบงำจิตใจเราได้
หรือความหวังสิ่งตอบแทน

ถึงแม้ว่าไม่ใช่ว่า
หวังเงินหวังทอง หรือหวังตำแหน่ง นั้นยังหยาบอยู่
แต่มันเป็นความหวังความเคารพ หวังความรัก
ต้องการให้เขาซาบซึ้งในบุญคุณ เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยรู้สึกตัว

ถ้าหากว่า เราทำแล้วมีคนกล่าวหาว่า
เราทำด้วยหวังอะไรสักอย่าง รู้สึกน้อยใจเสียใจว่า
ทำไมเขามองเราอย่างนั้น
ถ้าเกิดอาการน้อยใจ แสดงว่ามันต้องมีอะไรอยู่

แต่ถ้าเราขาดความรู้ตัว รู้เท่าทันกิเลส
แล้วฉลาดในการป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น
ฉลาดในการระงับกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว

ถ้าขาดการฝึกอบรมด้านใน
เรามักจะทำความดีตามอารมณ์มากเกินไป
หรือว่าบางทีก็ทำเสียจนหมดกำลัง
เพราะว่าผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือนี่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
บางทีเหน็ดเหนื่อยมาก ก็เลยหมดกำลัง ต้องพักเสียนาน


บางทีป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้
เพราะเอาแต่เจตนาดีเป็นหลัก
แต่ไม่มีหรือว่าขาดปัญญาในระดับใดระดับหนึ่ง
แล้วคิดว่าการให้เวลาแก่ตัวเองก็เป็นความเห็นแก่ตัวไป

ที่จริงการให้เวลากับตัวเอง
เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์ส่วนรวม

ผู้ที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคม

หนึ่ง คือผู้ที่รู้ตัวเอง ผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีความอดทน
แล้วผู้ที่ยังมีอัตตาสูง มีโลภ มีโกรธ มีหลง
ก็คงสร้างประโยชน์ที่แท้จริงได้น้อย

ผู้ที่ฝึกฝนอบรมกายวาจาใจของตนเป็นประจำ
ทำอะไรทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์
ล้วนทำด้วยความเมตตากรุณา ทำด้วยปัญญา
ผู้นี้ทำอะไรก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น


การปฏิบัติธรรมหนึ่งก็เป็นหน้าที่โดยตรงต่อชีวิตของเราเอง
สอง ก็เป็นแนวทางที่ชีวิตเราจะสร้างสรรค์
เพิ่มโอกาส เพิ่มความสามารถที่จะทำสิ่งที่ดีงามในสังคม

เมื่อจิตใจเราไม่ต้องการอะไรจากใคร
ไม่อยากจะได้ แล้วฉลาดในการให้

อาตมาว่า อย่างนี้สังคมต้องการมาก

เพราะฉะนั้นก็ถือว่า

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนบุคคล
หรือเป็นเรื่องด้านในอย่างเดียว
เพราะด้านในด้านนอกสัมพันธ์กันอยู่เสมอ


และผู้ที่ปฏิบัติด้านในให้ดีแล้ว เป็นผู้ที่มีสมรรถภาพสูง
ผู้ที่พร้อมจะทำสิ่งที่ดีงามได้ตลอดเวลา


วันนี้อาตมาก็จะขอแสดงธรรมแต่เพียงแค่นี้

:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : โพสท์ในเว็บนิตยสารรายสะดวก คอลัมน์ ประกายธรรมนำทาง
โดย รจนา ณ เจนีวา เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙)

http://noknoi.com/magazine/article.php?t=1158

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38509

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22230

เจ้าของ:  คนไร้สาระ [ 16 มิ.ย. 2009, 04:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

:b8: อนุโมทนาสาธุค่ะ คุณกุหลาบสีชา
อ่านแล้ัวได้คติดธรรมแง่คิด ใจสุขสงบ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ตรงประเด็น [ 16 มิ.ย. 2009, 07:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  แมวขาวมณี [ 16 มิ.ย. 2009, 11:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

การที่เราจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา ยากมาก
มนุษย์ที่ตายแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดานี่น้อย ที่ตกลงไปนี่มาก

แล้วในเมื่อเราจำไม่ได้ว่า ชาติก่อนเราเคยทำบาปกรรมอะไรไว้
เราจะอ้างแต่บุญกุศลที่ทำในชาตินี้ว่าเป็นเครื่องรับประกันว่า
ตายแล้วขึ้นสวรรค์แน่ ไม่ได้

เพราะบุญกุศลที่เรานึกว่ามากมายนั้น
ถ้าเทียบกับบาปอกุศลที่เคยทำไว้ในชาติก่อนนั้น อาจจะนิดเดียว
เราไม่รู้นะ งั้นจึงถือว่าปุถุชนอยู่ในเขตอันตราย
ถึงแม้ว่า เรารู้สึกว่า เราไม่เคยทำความชั่วอะไร
เราไม่เคยได้เบียดเบียนใคร เราจะประมาทอย่างนั้นไม่ได้


เราถือว่า ผู้ที่ยังไม่ถึงกระแสพระนิพพาน
ยังไม่ถึงขั้น พระโสดาบัน อยู่ในที่อันตราย
นี่ก็คือหลักความไม่ประมาท


:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  -dd- [ 16 มิ.ย. 2009, 11:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 16 มิ.ย. 2009, 11:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณกุหลาบสีชา

ขอบคุณนะคะที่หมั่นนำธรรมะดีดีมาฝาก
จัดแบ่งวรรคตอน เน้นสี สวยงาม
เน้นข้อความสำคัญให้
การกระทำใดๆที่ทำอย่างตั้งใจด้วยดี ย่อมได้ผลดีเสมอ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

เจ้าของ:  อมิตาพุทธ [ 16 มิ.ย. 2009, 17:22 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

ตามมาอ่านต่อให้จบจากเมื่อคืน :b12:
อนุโมทนา สาธุครับ คุณ กุหลาบสีชา
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ปทุมา [ 16 มิ.ย. 2009, 21:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

:b8: :b8: :b8: ขออนุโมทนาค่ะ :b8: :b8: :b8:

:b16: :b16: :b16: ได้ข้อคิดและแนวทางปฏิบัติที่ดีมากเลยค่ะ :b16: :b16: :b16:

เจ้าของ:  ariyachon [ 17 มิ.ย. 2009, 10:51 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม : ชยสาโรภิกขุ

ได้ข้อคิดเยอะเลยครับ
ขออนุโมทนาครับ


:b1: cool :b1:

เจ้าของ:  Duangtip [ 22 เม.ย. 2018, 07:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 22 ก.ค. 2019, 08:51 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ)

:b8: :b8: :b8:
Kiss

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/