ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

มนุษยธรรมที่ ๔ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20684
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  I am [ 19 ก.พ. 2009, 08:09 ]
หัวข้อกระทู้:  มนุษยธรรมที่ ๔ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


มนุษยธรรมที่ ๔

“มุสาวาทา เวรมณี” เว้นจากการกล่าวเท็จ


อันแก้วแหวนเงินทองสิ่งของต่างๆ ทุกๆ คนคงต้องการของจริงของแท้ ไม่ต้องการของเทียมของปลอม แม้ถ้อยคำที่จริงไม่ต้องการฟังคำเท็จ เว้นไว้แต่จะพูดฟังกันเล่น เช่น เล่านิทานเรื่องเท็จแข่งกัน ถ้าเป็นถ้อยคำที่พูดกันโดยปกติแล้ว ก็ต้องการถ้อยคำที่พูดกันตามความจริงทั้งนั้น ถ้าใครพูดเท็จอยู่เนืองๆ จนเป็นที่จับได้แล้ว ถึงจะพูดจริงสักครั้งก็ไม่มีใครเชื่อ เหมือน นิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ

ซึ่งชอบพูดหลอกคนว่าหมาป่ามากินลูกแกะ เพื่อให้คนแตกตื่นกับไปช่วย เห็นเป็นสนุก เมื่อพูดหลอกเขาอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ครั้นมีหมาป่ามากินลูกแกะจริงๆ จึงวิ่งมาบอกเพื่อให้คนไปช่วยก็ไม่มีใครเชื่อ ต้องเสียลูกแกะไปเพราโทษของมุสา

เรื่องเช่นนี้ มีเล่าไว้ในนิทานชาดกทางพระพุทธศาสนามากเรื่อง เช่น เรื่องหนึ่งเล่าว่า มีหมอรักษาพิษงูผู้ขาดแคลนคนหนึ่ง ไม่ได้การรักษาอะไรในละแวกบ้าน จึงออกเดินเรื่อยไปถึงต้นไทรต้นหนึ่งใกล้ประตูบ้าน เห็นงูตัวหนึ่งกำลังนอนหลับโผล่ศีรษะออกมาทางคาคบไม้ ในขณะนั้น มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่ในที่นั้น หมองูจึงคิดจะลวงเด็กให้จับงูเพื่อให้งูกัดแล้ว รักษาเอาค่าจ้าง จึงพูดแก่เด็กว่า เห็นลูกนกสาลิกานั่นไหมจับเอาซิ เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กฉลาด มองไปเห็นศีรษะที่คาคบไม้ยังไม่รู้ว่าเป็นงู จึงปีนต้นไม้ขึ้นไปจับเข้าที่คอจึงรู้ว่างู แต่ก็จับให้แน่นไม่ให้งูกลับศีรษะมากัดไว้ แล้วเหวี่ยงไปโดยเร็ว งูนั้นปลิวไปตกที่คอของหมอเข้าพอดี พันคอของหมอนั้นกัดให้ล้มลงสิ้นชีวิตในที่นั้นเข้าภาษิตที่ว่า หมองูตายเพราะงู ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว

อีกชาดกหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีการมหรสพครั้งใหญ่ในกรุงพาราณสี เป็นที่น่าตื่นเต้นยินดีในหมู่มนุษย์ ตลอดถึงเทพก็พากันมาดู ได้มีเทพบุตร ๔ องค์ประดับเทริดดอกไม้แตงทิพย์มาชมมหรสพ หมู่มนุษย์เห็นเทริดนั้นซึ่งสวยสดงดงามและมีกลิ่นหอมตลบ ก็พากันร้องขอ เทพบุตรตอบว่าดอกไม้ทิพย์เหล่านี้มีอานุภาพมาก ควรเฉพาะแก่ทวยเทพ ไม่ควรแก่คนประพฤติชั่วในหมู่มนุษย์ แต่ว่าก็สมควรแก่มนุษย์ที่ประกอบด้วยคุณงามความดีเหมือนกัน ครั้นกล่าวนำร่วมกันอย่างนี้แล้ว

เทพบุตรองค์ที่ ๑ กล่าวว่า
คนใดไม่ลักของเขาด้วยกาย
ทางวาจาก็ไม่พูดเท็จ
ได้ยศก็ไม่มัวเมา คนนั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๒ กล่าวว่า
คนใดแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม
ไม่ตักตวงทรัพย์ด้วยวิธีหลอกลวง
ได้บริโภคทรัพย์แล้วก็ไม่มัวเมา
ชนชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๓ กล่าว่า
ชนใดมีจิตไม่เหลืองเรื่อดังขมิ้นด้วยกามราคะ
มีความเชื่อตั้งมันไม่หน่ายง่าย
ไม่กินดี (อยู่ดี) แต่คนเดียว
ชันชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๔ กล่าวว่า
ชนใดไม่บริภาษด่าว่า คนดี คนสงบ
ทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง
มีปกติพูดอย่างใดทำอย่างนั้น
ชนชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

ฝ่ายปุโรหิตในนครนั้นได้ยินแล้วคิดว่า คุณเหล่านี้แม้สักข้อหนึ่งไม่มีอยู่ในตน แต่ว่าจักพูดประกาศว่ามีเพื่อว่าจักได้รับดอกไม้ทิพย์เหล่านี้มาประดับ แล้วมหาชนจักได้นับถือยกย่อง จึงได้กล่าวแก่เทพบุตรทั้ง ๔ องค์โดยลำดับว่า ตนประกอบด้วยคุณเหล่านี้ๆ

เทพบุตรเหล่านั้น ถอดเทริดดอกแตงทิพย์ออกให้แก่ปุโรหิต ปุโรหิต ก็รับมาสวมประดับที่ตนทีละเทริดโดยลำดับ เทพบุตรทั้ง ๔ ครั้นให้ดอกไม้ทิพย์แก่ปุโรหิตแล้วก็กลับไปสู่เทวโลก ครั้นเทพบุตรพากันไปแล้ว ก็เกิดความเจ็บปวดอย่างยิ่งที่ศีรษะของปุโรหิต เหมือนอย่างถูกบดด้วยหินอันคม เหมือนอย่างถูกบีบด้วยแผ่นเหล็ก

ปุโรหิตนั้นเจ็บปวดรวดร้าวกลิ้งเกลือกไปมา ร้องครวญครางด้วยเสียงอันดัง เมื่อมหาชนพากันถามว่าเป็นอะไรก็บอกว่า ข้าพเจ้าพูดเท็จแก่เทพบุตรว่ามีคุณต่างๆ ขอเทริดดอกไม้นี้มาสวม ช่วยถอดออกจากศีรษะที ชนทั้งหลายพากันพยายามถอดก็ถอดออกไม่ได้ เหมือนอย่างถูกผูกไว้แน่นด้วยแผ่นเหล็ก จึงนำไปบ้าน ปุโรหิตร้องครวญครางอยู่ถึง ๗ วัน พระราชาจึงทรงปรึกษากับหมู่อำมาตย์ แล้วจึงให้มีมหรสพขึ้นใหม่ เพื่อให้เทพบุตรมาอีก เทพบุตรทั้งหลายก็พากันมา มหาชนก็นำพราหมณ์ทุศีลมา พราหมณ์นั้นก็อ้อนวอนขอชีวิต

เทพบุตรเหล่านั้นก็กล่าวว่า ดอกไม้ทิพย์เหล่านี้ไม่ควรแก่ท่าน ซึ่งเป็นคนไม่ดีท่านเข้าใจว่าจักลวงเทพดาฟ้าดินได้ จึงได้รับผลของมุสาวาทของตน แล้วได้กล่าวตำหนิปุโรหิตนั้นต่างๆ ในท่ามกลางมหาชนแล้วก็ถอดเทริดออก กลับไปสู่สถานของตน ฝ่ายปุโรหิตก็หายจากความเจ็บปวด แต่ก็ได้รับความอัปยศเป็นอย่างมาก เพราะโทษของการอาศัยยศตำแหน่งหน้าที่ทำชั่ว แล้วยังมุสาว่าทำดีเพื่อจะได้ทิพยบุปผาภรณ์ (เครื่องประดับดอกไม้ทิพย์) จากฟากฟ้า ซึ่งไม่ควรแก่คนชั่ว

การพูดเท็จมีโทษดังเช่นเรื่องที่เล่าเป็นนิทาน สภาษิตสอนใจ ดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๔ ว่า

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการกล่าวเท็จ เท็จหรือมุสาคือไม่เป็นความจริง กล่าวเท็จก็คือพูดไม่จริง หรือพูดปดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เช่น ไม่รู้ไม่เห็นพูดว่ารู้ว่าเห็น ไม่ได้ทำพูดว่าทำ หรือได้รู้เห็นได้ทำพูดปฏิเสธเสีย ไม่ใช้แต่พูดด้วยปากเท่านั้น เขียนหนังสือเท็จปดเขา หรือแสดงอาการให้เขาเข้าใจผิด เช่น เมื่อเขาถามว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ไหม

ความจริงก็เห็น แต่สั่นศีรษะ เพื่อให้เข้าใจว่าไม่เห็น เรียกว่ากล่าวเท็จหรือมุสาวาทเหมือนกัน การแสดงความเท็จนั้น มักใช้กันเป็นส่วนมาก จึงเรียกว่ามุสาวาท แต่ก็หมายถึงทุกๆ วิธี ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดจากความจริงเช่น ที่เรียกว่า

ปด ได้แก่มุสาจังๆ เพื่อให้แตกกัน
เพื่อหลอก เพื่อยอยก เพื่อประจบสอพลอ เป็นต้น

ทนสบถสาบาน เพื่อให้เขาเชื่อในคำเท็จ
ทำมารยา เช่น ไม่เป็นอะไรแกล้งทำเป็นไข้

ทำเลศนัย เช่น ทำกลอุบายลวงหลอก
หรือล่อให้เขาตายใจให้เชื่อผิดๆ
หรือทำแย้มพรายให้เขาคิดต่อไปผิดๆ

เสริมความ คือ ขยายให้มากไปกว่าความจริง เช่น
คนที่ ๑ พูดเพียงว่า ไปเยี่ยมเพื่อป่วย
คนที่ ๒ พูดต่อไปว่า เพื่อนคนนั้นป่วยมาก
คนที่ ๓ พูดต่อไปอีกว่า เพื่อนคนนั้นป่วยมีอาการร่อแร่

อำความ คือ พูดไม่หมด
เว้นความบางตอนไว้เสียเพื่อปกปิด
เช่น กลับบ้านผิดเวลา ผู้ปกครองถามว่าไปไหนมา
ก็ตอบว่าไปบ้านเพื่อน ไปบ้านเพื่อนจริงเหมือนกัน
แต่ก็ได้พากันไปเที่ยวที่อื่นๆ อีกด้วย

มุสาวาททุกวิธีเช่นที่กล่าวนี้ มีโทษน้อย ปานกลางหรือมาก ตามระดับแห่งเรื่องที่มุสาจะก่อให้เกิดขึ้นได้เพียงไรและเจตนา (ความจงใจ) แรงเท่าไร กิริยาที่ประกอบมุสวาท ใช้พยายามเท่าไร

เวรมณี คือความเว้นจากมุสาทุกอย่าง เป็นศีลข้อที่ ๔ นี้
ถ้าเว้นด้วยตั้งใจรับศีลไว้ก่อนเป็น สมาทานวิรัติ
ถ้าเว้นด้วยตั้งใจขึ้นเดี๋ยวนั้นเอง ในขณะที่พบโอกาสจะพูดเท็จได้ เป็น สัมปัตตวิรัติ
ถ้าเว้นได้จนเป็นปกตินิสัยจริงๆ ก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ

เมื่อรับศีลข้อนี้ไว้แล้ว ทำอย่างไรศีลจึงจะขาด
ให้กำหนดมองดูลักษณะดังนี้ คือ

จิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริงทั้งรู้อยู่
มีความพยายามเกิดจากจิตนั้น
และคนอื่นรู้เข้าใจความ
เช่น พูดกันด้วยภาษาไทยแก่คนที่รู้ภาษาไทย
เขาฟังออกว่าพูดว่าอย่างไร
หรือใช้กิริยาสั่นศีรษะ เขาเห็นแล้วเข้าใจความประสงค์ว่าปฏิเสธ
ใช้กิริยาพยักหน้า เขาก็เข้าใจว่ารับรอง
ถ้าคนอื่นไม่รู้เข้าใจความ
เหมือนอย่างพูดปดด้วยภาษาไทย แก่คนที่ไม่รู้ภาษาไทย
เขาฟังไม่รู้ว่าอะไร ศีลก็ยังไม่ขาด


พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๔ อาศัยหลักยุติธรรมและเมตตากรุณาเช่นเดียวกับข้ออื่นๆ คือทุกๆ คนปรารถนาจะได้รับความจริง ไม่ต้องการถูกหลอกลวงด้วยความเท็จ จึงไม่ควรจะกล่าวเท็จหลอกลวงคนอื่นให้เข้าใจผิด

เมื่อพูดอย่างยุติธรรมไม่ลำเอียงไปทางตนและทางผู้อื่นก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่เมื่อพูดอย่างลำเอียงเข้ากับตน ก็ต้องพูดอีกอย่างหนึ่งว่า หลอกลวงเขาได้เป็นดี แต่ถูกเขาหลอกลวงไม่ดี อนึ่ง ทุกๆ คนถ้ารักเมตตากรุณากันก็หลองลวงกันไม่ลง แต่ทุกๆ คนก็ควรจะรักเมตตาปรารถนาสุขต่อกัน กรุณาปรารถนาจะช่วยกันจากความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ มิใช่หรือ ตัวเราเองก็ปรารถนาให้คนอื่นให้ความปรารถนาดีด้วยเมตตา ไม่ต้องการให้ใครมุ่งร้าย ปรารถนาให้คนอื่นให้ความช่วยเหลือเมื่อทุกข์ ไม่ต้องการให้ใครก่อทุกข์เพิ่มทุกข์มิใช่หรือ จึงไม่เป็นการสมควรหรือ ที่จะทำจิตใจให้มีเมตตากรุณาแก่คนอื่น เหมือนอย่างที่ตนต้องการให้คนอื่นมีแก่ตน

และคนที่มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จะพูดมุสาหลอกทำลายกันได้หรือ นอกจากจะพูดความจริงที่ควรพูดแก่กัน พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณาเที่ยงธรรมในสรรพสัตว์ จึงทรงบัญญัติศีลข้อนี้ เพื่อให้เว้นจากมุสาวาท

ผู้ที่ตั้งใจรักษาวาจาตามศีลข้อนี้
ควรเว้นจากมุสาวาทโดยตรง
ดังเช่นที่กล่าวแล้ว ควรเว้นจากมุสาวาทโดยอ้อมด้วย
เช่น พูดส่อเสียด พูดเสียดแทง
ประชดหรือด่า พูดสับปลับเหลวไหล


เมื่อทำสัญญากันไว้แล้วก็รักษาสัญญา ไม่บิดพลิ้วทำให้ผิดสัญญา เมื่อให้สัตย์แก่กันไว้แล้วก็รักษาสัตย์ ไม่กลับสัตย์หรือเสียสัตย์ เมื่อรับคำแล้วไม่คืนคำ รวมความว่าให้รักษาสัจวาจา คือ ให้พูดจริงและให้ทำจริงดังพูด การพูดจริงนั้นง่ายกว่าพูดเท็จ เพราะไม่ต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงเรื่อง พูดตรงไปตามเรื่องเท่านั้น แต่การพูดเท็จต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงยากที่จะโกหกได้สนิท มักมีพิรุธให้จับได้ไม่เร็วก็ช้า

แต่การทำจริงดังพูดอาจยากสำหรับคนที่ชอบพูดอะไร พล่อยๆ แต่ไม่ยากสำหรับคนที่ตริตรองแล้วจึงพูด ใครก็ตามจะรักษาสัจวาจาได้ต้องมีธรรมที่คู่กันกับศีลข้อนี้ในจิตใจ คือความมีสัตย์

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๔ คือ ความมีสัตย์ ได้แก่มีความจริง ความตรง

คนที่มีความจริง จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตามย่อมเป็นคนซื่อตรงต่อมิตรสหาย สวามิภักดิ์คือจงรักภักดีในเจ้าของตน มีความกตัญญูกตเวทีในท่านผู้มีคุณ มีความยุติธรรมหรือเที่ยงธรรม รู้จักผิดรู้จักถูก และว่าไปตามผิดตามถูกในบุคคลในเรื่องทั่วไป กล่าวโดยเฉพาะ ก็เป็นคนมีวาจาสัตย์พูดเป็นที่เชื่อถือได้

ศีล คือ มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากกล่าวเท็จ) และธรรมคือความมีสัตย์นี้ จำเป็นแก่สังคมมนุษย์ทุกสังคม เป็นต้นว่าในระหว่างเพื่อน ในระหว่างสามีภรรยาหรือครอบครัว ขึ้นไปจนถึงในระหว่างประเทศ เมื่อต่างมีศีลและธรรมคู่นี้ จึงอยู่ด้วยกันเป็นปกติเรียบร้อย เชื่อถือกันได้ ไว้วางใจกันได้ ผู้ปกครองประชาชนตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อรักษาศีลและธรรมคู่นี้อยู่ เป็นที่เชื่อถือได้ทั้งในประเทศทั้งต่างประเทศ คือภายในประเทศ ก็ไม่พูดหลอกลวงประชาชน รักษาสัตย์ต่อประชาชน สำหรับที่เกี่ยวกับประเทศ ก็รักษาสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ตั้งแต่โบราณกาลมา ปรากฏในเรื่องต่างๆ ว่าได้ทรงรักษาวาจาสัตย์อย่างกวดขัน บางพระองค์แม้จะรับสั่งพลั้งพระโอษฐ์ออกไปก็ไม่ทรงคืนคำ ด้วยทรงถือเป็นพระราชธรรมว่า เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ดังนิทานชาดกเรื่องหนึ่งว่า

พระราชาองค์หนึ่ง มีพระราชโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสี ๒ พระองค์
มีพระนามว่า
มหิสสากุมารองค์หนึ่ง
จันทกุมารองค์หนึ่ง

พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ พระราชาทรงตั้งพระอัครมเหสีขึ้นใหม่ พระนางประสูติพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า สุริยกุมาร

พระราชทอดพระเนตรเห็นสุริยกุมารซึ่งประสูติใหม่ มีประราชหฤทัยโสมยินดี ตรัสแก่พระอัครมเหสีองค์ใหม่ว่า พระองค์พระราชทานพรแก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนาง คือพระราชทานให้พระนางทูลขออะไรให้แก่พระราชโอรสของพระนางได้ตามปรารถนา

พระนางจึงทูลขอราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสของพระนาง ในเวลาเมื่อพระราชโอรสคือสุริยกุมารนั้นทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว

พระราชาไม่อาจทรงปฏิบัติ เพราะได้ตรัสพระราชทานพรไว้แล้ว จึงทรงส่ง มหิสสาสกุมารและจันทกุมาร ซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีองค์แรก ให้ออกไปประทับอยู่ในป่า ทรงสั่งให้กลับมาถือเอาราชสมบัติต่อเมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว พระกุมารทั้งสอง กราบถวายบังคมลาพระราชธิดาลงจากประสาทเสด็จดำเนินออกไป สุริยกุมารซึ่งพระราชมารดาทูลขอราชสมบัติให้ ทรงเห็นทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว เสด็จออกไปกับพระเชษฐาทั้งสอง

พระกุมารทั้งสามได้เสด็จเข้าป่าหิมพานต์ (ป่ามีหิมะ) ได้หยุดพักในที่ไม่ไกลจากสระบังแห่งหนึ่ง มหิสสาสกุมารสั่งสุริยกุมารให้ไปที่สระ อาบ ดื่ม แล้วให้ใช้ใบบัวทำกรวยใส่น้ำมา

สระนั้นมีผีเสื้อน้ำตนหนึ่งรักษาอยู่ ผีเสื้อน้ำนั้นได้รับอนุญาตจากท้าวเวสสวรรณ ให้จับคนที่ลงไปในสระกินได้ เว้นแต่คนที่รู้ [ “เทวธรรม”

ผีเสื้อน้ำได้จับคนที่ไม่รู้กินเสียเรื่อยมา
สุริยกุมาร ก็ถูกจับและถูกถามถึง “เทวธรรม” เช่นเดียวกัน
จึงตอบว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่า “เทวธรรม”
ผีเสื้อน้ำกล่าวว่าท่านไม่รู้ “เทวธรรม” แล้วจับไปขังไว้ในที่อยู่ของตน

มหิสสาสกุมาร เห็นสุริยกุมารชักช้า
ก็ส่งจันทกุมารไปอีก จันทกุมารได้ถูกจับถามเช่นเดียวกัน
ตอบว่าทิศทั้ง ๔ ชื่อว่า “เทวธรรม” จึงถูกขังไว้อีก

ฝ่าย มหิสสาสกุมาร เห็นจันทกุมารยังชักช้าอยู่อีก ก็คิดว่าน่าจะมีอันตราย จึงไปยังสระนั้นเอง ทรงตรวจดูเห็นแต่รอยลงไม่เห็นรอยขึ้น ก็ทรงทราบว่ามีผีเสื้อน้ำรักษา จึงทรงผูกสอดพระขรรค์ถือธนูยืนระวังอยู่ ผีเสื้อน้ำเห็นมหิสสาสกุมารไม่ลงสระจึงจำแลงเพศเป็นคำทำงานป่ามาชักชวนให้ลง มหิสสาสกุมารเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นยักษ์ จึงถามว่าท่านจับน้องชายของเราไปหรือ จับไปเพราะเหตุอะไร จับทั้งหมดหรือเว้นใครบ้าง ยักษ์ก็ทูลรับว่าได้จับกุมารทั้งสองไป เพราะได้รับอนุญาตให้จับคนที่ลงสระนี้ทุกคน เว้นไว้แต่ผู้รู้ “เทวธรรม” และตนต้องการ “เทวธรรม” มหิงสสาสกุมารก็รับว่าจะกล่าว “เทวธรรม” ให้ฟัง แต่จะต้องชำระกายให้สะอาดก่อน

ยักษ์ได้ปฏิบัติพระราชกุมาร ให้ทรงสนานเสวยน้ำเรียบร้อยแล้ว ได้นั่งเพื่อจะฟัง “เทวธรรม” ใกล้พระบาทกุมาร มหิสสาสกุมารตรัสเตือนให้ฟังโดยเคารพแล้ว

จึงกล่าว “เทวธรรม” ดังมีคำแปลว่า
“คนดีทั้งหลายถึงพร้อมด้วย “หิริ” (ความละอายใจต่อความชั่ว)
และ “โอตตัปปะ” (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว)
ตั้งอยู่ดีในธรรมอันขาว สงบแล้ว
เรียกว่า “ผู้มีเทวธรรมในโลก”


ยักษ์ได้สลับแล้วเลื่อมใส ก็กล่าวว่าจะคืนอนุชาให้องค์หนึ่ง จะให้นำองค์ไหนมา มหิสสาสกุมารตรัสให้นำองค์เล็กมา ยักษ์จึงกล่าวติเตียนว่า พระกุมารรู้แต่ “เทวธรรม” เท่านั้น แต่ไม่ประพฤติใน “เทวธรรม” เพราะควรที่จะให้นำอนุชาองค์โตมา จึงจะชื่อว่าทำความนับถือคนที่เจริญ

มหิสสาสกุมารตรัสว่า ทรงรู้ “เทวธรรม” และ ประพฤติด้วย แล้วก็ตรัสเล่าเรื่องให้ยักษ์ฟังมีความว่า พระองค์ ๒ พี่น้อง ต้องเข้าป่าก็เพราะอนุชาองค์เล็ก แต่มิได้ประทานพรแก่พระองค์ทั้งสอง เมื่อพระมารดาเลี้ยงทูลขอราชสมบัติให้แก่อนุชาองค์เล็กซึ่งเป็นโอรสของพระนาง

พระราชบิดาก็จำต้องทรงอนุญาตเพราะได้ทรงลั่นพระวาจาไว้แล้ว และก็ต้องทรงอนุญาตอรัญวาส (การอยู่ป่า) แก่พระองค์ทั้งสอง ฝ่ายอนุชาองค์เล็กไม่ยอมกลับขอมาด้วย
ฉะนั้น เมื่อพระองค์กล่าวว่า อนุชาองค์เล็กถูกยักษ์ตนหนึ่งกินเสียในป่าแล้ว ใครเล่าจักเชื่อถือ ฉะนั้น พระองค์จึงให้นำอนุชาองค์เล็กมา เพื่อมิให้เป็นที่พึงตำหนิติเตียนได้

ยักษ์ได้ฟังเหตุผลมีความเลื่อมใส จึงคืนอนุชาให้ทั้งสององค์ ต่อมาเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ มหิสสาสกุมาร จึงกลับมาทรงรับราชสมบัติในกรุงพาราณสี ประทานตำแหน่งอุปราชแก่ จันทกุมาร ประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่ สุริยกุมาร และได้ทรงนำยักษ์ซึ่งได้กลับตัวเป็นผู้มีศีล ไม่ดุร้ายเยี่ยงยักษ์ทั้งหลายแล้ว มาบำรุงไว้ในบ้านเมืองให้เป็นสุขสืบไป

จบ มนุษยธรรมที่ ๔

: มนุษยธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ฌาณ [ 21 ก.พ. 2009, 21:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: มนุษยธรรมที่ ๔ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

โมทนาด้วยครับ :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/