ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

มนุษยธรรมที่ ๒ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20652
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  I am [ 17 ก.พ. 2009, 08:11 ]
หัวข้อกระทู้:  มนุษยธรรมที่ ๒ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


มนุษยธรรมที่ ๒

“อทินฺนาทานา เวรมณี”
เว้นจากการถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตคิดลัก


ในสมัยหนึ่งในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี โกศลรัฐ มีพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง เป็นผู้ที่พระราชแห่งรัฐนั้นทรงยกย่องนับถือ ยิ่งกว่าพราหมณ์คนอื่นๆ จึงคิดว่า ในหลวงทรงเห็นเราว่าเป็นผู้มีศีลหรือมีสุตะ (คือมีวิชาความรู้เพราะได้เรียนมาแล้ว) จึงทรงนับถือเป็นราชครู เราจะทดลองดูให้รู้แน่ว่า ศีล หรือวิชาความรู้จักสำคัญกว่ากัน วันหนึ่ง เมื่อเข้าไปเฝ้าพระราชาในพระราชวัง จึงลองหยิบเอาเงิน ๑ กหาปณะ จากที่เก็บของราชเหรัญญิก (ผู้รักษาเงินหลวง) ราชเหรัญญิก ก็นิ่งไม่พูดว่ากระไรเพราะเคารพในครั้งที่ ๒ พราหมณ์ก็ลองทำอย่างนั้นอีก ราชเหรัญญิกก็ยังนิ่ง

ครั้นพราหมณ์นักทดลองนั้น ลองหยิบเอาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ราชเหรัญญิก จึงร้องขึ้นว่าโจรลักพระราชทรัพย์ จับตัวพราหมณ์ผูกพันธนาการไปแสดงต่อพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาได้ทรงสดับแล้ว ไม่สบายพระราชหฤทัย ได้ตรัสสอบถามความจริงแก่พราหมณ์ พราหมณ์ได้กราบทูลว่าข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ มิได้มีเจตนาลักพระราชทรัพย์ มีเจตนาเพียงเพื่อจะทดลองดูให้หายสงสัยเท่านั้น เพราะข้าพระองค์สงสัยอยู่ว่า ศีล กับวิชาความรู้ ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน จึงลองทำเหมือนผิดศีล คือทำแกล้งหยิบฉวยทรัพย์หลวง ดังที่ราชเหรัญญิกยิกได้กราบทูลนั้น

บัดนี้ ข้าพระองค์สิ้นสงสัยแล้ว เห็นชัดแล้วว่าศีลสำคัญ เมื่อพระราชาได้ทรงทราบเรื่องการทดลองศีล ของพราหมณ์แล้ว ก็ไม่ทรงถือว่าเป็นความผิด พราหมณ์ได้กราบทูลขอพระราชานุญาตบวชในสำนักพระพุทธเจ้า พระราชาได้พระราชทานอนุญาต พราหมณ์นั้น จึงได้เข้าบรรพชาอุปสมบทอยู่ในพระพุทธศาสนาสืบมา เรื่องนี้ พระอาจารย์ได้เขียนเล่าไว้ ตั้งชื่อว่า เรื่องทดลองศีล เพื่อเป็นตัวอย่างว่าศีลนั้น เป็นข้อสำคัญในทางความประพฤติตัว คู่กับวิชาความรู้ ที่เป็นข้อสำคัญในการเลี้ยงชีวิตเป็นต้น จะหมิ่นศีลเสียว่ามีวิชาความรู้อย่างเดียวก็พอ ดังนี้หาชอบไม่ จำต้องมีศีลด้วยจึงจะได้รับความยกย่องนับถือ ให้ดำรงฐานะตำแหน่งต่างๆ แม้จะดำรงฐานะตำแหน่งสูง มีวิชาสามารถ ถ้าประพฤติเป็นการผิดศีลเป็นที่ปรากฏ

ดังพราหมณ์ราชครูหยิบทรัพย์หลวง ก็จะต้องเสื่อมเสีย และต้องได้รับโทษตามความผิด และตามกฎหมายในเวลานั้น ลักทรัพย์เพียง ๑ บาท ก็มีโทษถึงประหารชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ได้ปรับโทษการลักทรัพย์ตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป เป็นปาราชิก คือขาดจากเป็นภิกษุ จะอุปสมบทอีกไม่ได้ เท่ากับเป็นโทษประหารในทางศาสนา อนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง และตามตราเงินในเวลานั้น ๕ มาสก เป็น ๑ บาท ๕ บาท เป็น ๑ กหาปณะ พราหมณ์นักทดลองศีลได้หยิบทรัพย์หลวงเกิน ๑ บาทมากมาย ฉะนั้น แม้จะเป็นการทำเพื่อทดลองดู แต่ถ้าพระราชาไม่ทรงเชื่ออย่างนั้น ก็มีหวังว่าจะได้รับมหันตโทษ

ใครๆ จึงไม่ควรทดลองศีลอย่างพราหมณ์ตามที่เล่า และใครจะเชื่อเมื่อไปหยิบของอะไรของใคร เจ้าของเอะอะขึ้น จึงพูดแก้ว่าลองหยิงดูเล่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่หยิบเอาจริงๆ เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์ของศีลข้อที่กล่าวนี้ จะได้แสดงเรื่องศีลข้อนี้ โดยเฉพาะต่อไป

อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดลัก คำว่าสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ หมายถึงของทุกๆ อย่าง ที่มีเจ้าของยังหวงแหนยึดถือกรรมสิทธิ์อยู่สิ่งของหรือวัตถุทุกอย่าง ที่บุคคลสามารถเข้ายึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ได้ เรียกรวมว่าทรัพย์ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ คือ

สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าตัวทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ได้เองเพราะเป็นสิ่งมีวิญญาณ (สวิญญาณกทรัพย์) เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเป็นสิ่งที่คนทำให้เคลื่อนเพราะเป็นสิ่งไม่มีวิญญาณ (อวิญญาณกทรัพย์ เช่น สมุด ดินสอ ปากกา เงิน ทอง เป็นต้น)

อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ที่ดินและบ้านเรือน ที่ปลูกอย่างถาวรบนที่ดิน ถ้าแบ่งทรัพย์ออกเป็นสวิญญาณกทรัพย์ (ทรัพย์ที่มีวิญญาณ) และอวิญญาณกทรัพย์ (ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ) อสังหาริมทรัพย์ก็จัดเข้าในอวิญญาณกทรัพย์ (สัตว์บางชนิดได้ยินว่าเกิดติดที่ เช่น หอยนางรม ถ้าเป็นสวิญญาณกะที่เป็นอสังหาริมะ)

ทรัพย์เหล่านี้ ที่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์อยู่ เรียกว่า อทินนะ สิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คำว่า ไม่ได้ให้ ก็หมายความว่ายังถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอยู่ ยังไม่สละกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ และคำว่า เจ้าของ หมายถึงคนใดคนหนึ่งก็ได้ หมายถึงส่วนกลางก็ได้ เช่น ถ้าเป็นของของใครคนไหน คนนั้นก็เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นของสมาคมไหนองค์การไหน สมาคมนั้นองค์การนั้นก็เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นของหลวง หลวงก็เป็นเจ้าของถ้าเป็นของสงฆ์ของศาสนา สงฆ์และศาสนาก็เป็นเจ้าของ เป็นต้น

การถือเอา (สิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ด้วยจิตคิดลัก มาจากศัพท์ว่า อาทานะ ในคำว่า อทินฺนาทานา (อทินฺน+อาทาน) หมายความว่า ถือเอาทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นไป จากความครอบครองของเขา ด้วยเจตนาทุจริตคือด้วย เถยเจตนา เจตนาลักขโมย เรียกสั้นๆ ว่า ลัก

การลักทุกอย่างที่ผิดศีลข้อที่ ๒ นี้
มีโทษน้อยและมากตามวัตถุที่ลัก
เจตนาที่ลักและกิริยาที่ประกอบโจรกรรม
ถ้าวัตถุที่ลักเล็กน้อย เจตนาอ่อน
กิริยาที่ทำการลักไม่ร้ายแรงก็มีโทษน้อย

ถ้าวัตถุที่ลักมาก เจตนาแรง
กิริยาที่ทำร้ายการลักร้ายแรงก็มีโทษมากขึ้น
คือเป็นบาปมากขึ้นตามส่วนกันและจะลักเอง

หรือสั่งใช้ให้ผู้อื่นลัก
ก็เป็นการลักอันผิดศีลข้อนี้เหมือนกัน


ถ้าจะถามว่า อทินนาทาน เป็นศีลข้อที่ ๒ ใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ เพราะอทินนาทานแปลว่า การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตคิดลัก อทินนาทานจึงไม่ใช่ศีล แต่เป็นการทำที่ผิดศีล

ถ้าถามว่าอะไรเป็นศีลข้อที่ ๒ ตอบว่า

เวรมณี คือความเว้นจากอทินนาทาน
หรือวิรัติเจตนางดเว้นนี้แหละเป็นศีล
ถ้าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ลักของของใคร
ด้วยรับศีลไว้หรือด้วยตั้งใจเอาเอง
ก็เป็นสมาทานวิรัติ

ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน
ไปพบของใครวางเผลอไว้
จะลักก็ได้ แต่ก็เกิดตั้งใจขึ้นเดี๋ยวนั้นว่า
ไม่ลักเป็น สัมปัตตวิรัติ

ถ้าเว้นได้เป็นปกตินิสัย
ไม่มีเกิดความคิดจะลักขึ้นเลย
ทุกสิ่งทุกโอกาส
ก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ
เช่นเดียวกับที่ได้แสดงแล้วในศีลข้อที่ ๑


การล่วงศีลข้อนี้ มีขึ้น ในเมื่อของที่จะลัก เป็นของที่มีเจ้าของหวงแหน ตนก็รู้อยู่ว่าเป็นของที่มีข้าวของหวงแหน มีเจตนาลัก ทำการลักเองหรือสั่งใช้ให้คนอื่นลัก และได้ของนั้นมาใครมือไวใจเร็วประพฤติผิดศีลข้อนี้ เมื่อตั้งใจงดเว้นขึ้นใหม่เมื่อใด ก็เกิดเป็นศีลขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะคือมีขึ้นด้วยวิรัติเจตนาดังแสดงแล้ว อนึ่ง ควรเว้นจากลักทรัพย์โดยอ้อม คือไม่ใช่โจรกรรมหรืออทินนาทานโดยตรง แต่ว่าอนุโลมโจรกรรม เช่น สมโจร คือ เป็นใจรับซื้อของโจรของขโมย ปอกลอก คือ คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ มุ่งหมายจะเอาทรัพย์ถ่ายเดียว หาวิธีให้เขาจ่ายทรัพย์ให้ บางทีจนถึงเขาต้องสิ้นตัว ต้องตกยาก รับสินบน คือ ถือเอาทรัพย์ที่เขาให้ เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด

อีกอย่างหนึ่ง ควรเว้นจากการทำทรัพย์ของผู้อื่นให้สูญเสียที่ตนจะต้องรับใช้ อันนับว่าเป็น ฉายาโจรกรรม ฉายาแปลว่าเงาฉายาโจรกรรมก็ได้แก่เงาของโจรกรรม คือใกล้จะเป็นโจรกรรมทีเดียว เช่น ผลาญ คือ ทำอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยโทสะพยาบาท เช่น ผูกโกรธเขาจึงลอบฟันต้นผลไม้ของเขา ลอบทำของอะไรของเขาให้เสีย หยิบฉวย คือ ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นด้วยความมักง่าย เช่น บุตรหลานผู้ประพฤติมักง่าย ไม่บอกขออนุญาตก่อนหยิบฉวยสิ่งของของมารดาบิดาปู่ย่าตายายไปใช้ ด้วยถือว่าเป็นของมารดาบิดาและญาติ มิตรสหายหยิบฉวยสิ่งของของมิตรไปใช้ไม่ได้บอกให้เจ้าของรู้

อันคนที่คุ้นเคยไว้วางใจกัน เช่น เป็นญาติกัน เป็นมิตรสหายกัน เรียกว่าคนวิสาสะกัน คำว่าวิสาสะแปลว่า คุ้นเคยกันไว้วางใจกัน คนที่มีวิสาสะกันนี้ อาจถือวิสาสะคือถือเอาสิ่งของของกันไปใช้ มิได้บอกให้เจ้าของรู้ก่อน แต่การถือวิสาสะนี้ มีโทษถ้าถือไม่ถูกลักษณะ เมื่อถือให้ถูกต้องตามลักษณะของการถือวิสาสะ จึงจะไม่มีโทษ ลักษณะของการถือวิสาสะที่ถูกต้อง คือ

เจ้าของเป็นผู้สนิทกับตน เมื่อถือวิสาสะแล้วจะไม่มีใครสนเท่ห์
เจ้าของได้สั่งอนุญาตไว้ หรือเป็นสิ่งที่เขาไม่หวงหรือพอให้แก่ตนได้
เมื่อถือเอาแล้วเขารู้เข้า เขาจะพอใจหรือไม่ว่าอะไร


การถือวิสาสะไม่ถูกลักษณะ มีโทษ ทำความไม่พอใจแก่เจ้าของ ทำให้เขาสิ้นรักสิ้นไว้วางใจใจตน และทำให้เป็นที่สงสัยของคนอื่นว่าตนเป็นโจรเป็นขโมย ฉะนั้น ยิ่งคุ้นเคยกันมากก็ควรจะยิ่งระวัง เพื่อมิให้เกิดความประมาทถือเสียว่าคุ้นเคยกันพาให้ประพฤติผิดต่อกัน เช่น ถือวิสาสะกันอย่างมักง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ความคุ้นเคย ก็จะกลายเป็นเหตุก่อความกินแหนงแตกร้าว ถ้าไม่คุ้นเคยกันยังดีกว่า

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ ต่อจากข้อที่ ๑ พิจารณาดูเห็นว่า
ทรงบัญญัติขึ้นด้วยอาศัยหลักยุติธรรมและเมตตากรุณาเช่นเดียวกัน
เพราะทุกๆ คน ต่างต้องมีทรัพย์ไว้สำหรับบริโภคใช้สอย
และไม่ปรารถนาให้ใครลักขโมยช่วงชิง


บางคนต่อสู้เพื่อป้องกันทรัพย์ จนถึงต้องบาดเจ็บล้มตาย เมื่อตนไม่ชอบให้ใครมาลักทรัพย์ของตน ก็ไม่ควรลักทรัพย์ของคนอื่น ฉะนั้น การไม่ลักทรัพย์ของกัน จึงเป็นการละเว้นที่ยุติธรรมในทรัพย์ เพราะเป็นการละเว้น ความลำเอียง เห็นแก่ตัวเสียได้ด้วยนึกเห็นใจคนอื่น ที่มีความหวงแหนรักษาทรัพย์เหมือนกับตน และคนเราจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ก็เพราะไม่เบียดเบียนในทางต่างๆ ในทางหนึ่ง คือไม่เบียดเบียนทรัพย์ของกัน ละเว้นจากการเบียดเบียนกันได้ ก็ด้วยปลูกเมตตากรุณาในกันคอยยับยั้งหักห้ามใจ ที่อยากได้ หรือโกรธเกลียด เมื่อมีเมตตาหวังดี มีกรุณาหวังช่วยกันอย่างจริงใจแล้ว ก็จะไม่คิดขโมยของกัน ฉะนั้น ศีลข้อนี้ จึงเป็นศีลโดยปกติของคนที่มีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ต้องไปรับมาจากที่ไหนเลย แต่เกิดจากใจเมตตากรุณาเอง

ดังเช่น มารดาบิดาและผู้ที่มีเมตตาทั้งหลายไม่ได้ไปรับศีลจากที่ไหน แต่ก็มีศีลในบุตรธิดาและในผู้ที่ตนเมตตา ไม่มีคิดเลยที่จะเบียดเบียนทรัพย์ของบุตรธิดาและในผู้ที่ตนเมตตา มีแต่คิดให้ อาศัยหลักเมตตากรุณาดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลข้อนี้ และด้วยศีลข้อเป็นอันรับรองความมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของเจ้าของทรัพย์ทุกคน มีบางคนกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสนาไม่ให้ยึดถือทรัพย์ ถ้ามีก็ให้รวมเป็นกองกลางคือเป็นของสงฆ์ คำอ้างนี้ผิดหลักศีลข้อนี้และผิดหลักสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ)

ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ เป็นอันทรงรับรองความมีทรัพย์ยึดครองอยู่ จึงห้ามมิให้ลักทรัพย์ของกัน และทรงสอนให้ประกอบอาชีพแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบ เมื่อได้มาก็ให้รักษาไว้ให้ดี และใช้จ่ายให้พอสมควรแก่กำลัง ส่วนของสงฆ์นั้น เกี่ยวแก่พระภิกษุสงฆ์เมื่อมีวัดขึ้น ก็ต้องมีของกลางสำหรับวัด เรียกว่าเป็นของสงฆ์ สำหรับวัดเป็นวัดๆ ไป เช่นเดียวกับในฝ่ายอาณาจักรก็มีของหลวง ขององค์การของสมาคมนั้นๆ

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติให้ต้องรวมของบุคคลเข้าเป็นของสงฆ์ และในคำสอนที่ให้สละบริจาค ก็สอนให้รู้จักเลือกให้ มิได้สอนให้สละเรื่อยไป แต่เมื่อจะออกบวชต้องสละสมบัติฆราวาสอยู่เองและต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของผู้บวช เป็นคฤหัสถ์ก็ควรปฏิบัติตามฆราวาสธรรม (ธรรมของคฤหัสถ์) เป็นพระจะปฏิบัติอย่างชาวบ้าน หรือชาวบ้านจะปฏิบัติอย่างพระหาได้ไม่ ในธรรมข้อเดียวกัน บางข้อก็มีวิธีปฏิบัติต่างกัน เช่น สัมมาอาชีวะ เป็นพระเที่ยวบิณฑบาต เป็นสัมมาอาชีวะ ไปประกอบการค้าไม่เป็นสัมมาอาชีวะ

เป็นคฤหัสถ์ประกอบการค้าในทางชอบเป็นสัมมาอาชีวะ แต่จะเที่ยวบิณฑบาตไม่ได้ ฉะนั้น การอ้างเอาพระพุทธศาสนาต่างๆ นั้น บางทีเป็นการอ้างเอาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งนอกพระพุทธศาสนา

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๒ คือ สัมมาอาชีวะ ความเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ


เป็นข้อที่ควรมีให้คู่ไปกับศีลข้อนี้ คนมีศีลที่ยากจนขัดสนและคนที่เป็นโจรเป็นขโมย ก็เพราะขาดสัมมาอาชีวะถ้ามีสัมมาอาชีวะ ก็จะไม่ยากจน จะไม่เป็นขโมย การอาชีพเป็นกิจจำเป็นของทุกๆ คน เพราะทุกๆ คนต้องบริโภคที่แปลว่ากินเครื่องบริโภคที่จำเป็นก็ได้แก่ปัจจัย (เครื่องอาศัย) ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และบางทีแยกเรียงของกินคืออาหารว่า เครื่องบริโภค ของใช้ นอกจากนี้ว่า เครื่องอุปโภคกิจการเพื่อให้มีของกินของใช้มา เคยเรียกว่าโภคกิจ แล้วเปลี่ยนเรียกว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปากท้อง หรือเป็นเรื่องยังชีวิต เลี้ยงชีวิต คือการอาชีพ ทุกคน ต้องหาปัจจัยมาบริโภคเลี้ยงตน และผู้อื่นที่จะต้องเลี้ยง พระพุทธเจ้า จึงตรัสสอนให้ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ เพื่อให้ได้ทรัพย์มาในทางที่ชอบให้พอเพียง

เมื่อหาเลี้ยงชีพเองยังไม่ได้ เช่น ยังเป็นเด็กกำลังเล่าเรียนศึกษา ต้องอาศัยมารดาบิดาหรือผู้อื่นที่มีเมตตากรุณาเลี้ยงดู ก็ควรประพฤติอนุโลมสัมมาอาชีวะ เช่น ช่วยมารดาบิดาหรือผู้ที่ตนอาศัยอยู่ ทำการงานที่พอควรแก่กำลังและเวลาของตน ไม่ใช้ทรัพย์ที่ท่านให้ในทางที่ผิด เช่น ไปเล่นการพนัน ใช้แต่ในทางที่เป็นประโยชน์ ให้รู้จักค่าของทรัพย์ ให้รู้ว่าท่านได้ทรัพย์มาด้วยความเหนื่อยยาก รู้จักประหยัด ออมทรัพย์ ไม่หลอกลวงขอทรัพย์ท่าน เช่น ขอด้วยอ้างว่าจะไปชำระค่าเล่าเรียน แต่ไปใช้ดูภาพยนตร์เสีย และเมื่อท่านอุปการะเพื่อให้เรียน ก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ให้สมกับความเมตตากรุณาของท่านแล

จบ มนุษยธรรมที่ ๒

: มนุษยธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/