วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 04:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 17:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

...เข้าแดนเนรมิต...

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

บางคนไม่คิดฆ่าตัวตาย แต่ใช้วิธีแก้ทุกข์ด้วยการเข้าแดนเนรมิต
ถ้าบ้านพังก็เนรมิตขึ้นมาอีกจนโตอย่างกับวัง
ลูกที่ว่าตายไปแล้วก็เนรมิตขึ้นมาอุ้ม คนอื่นมองไม่เห็น ฉันมองเห็นคนเดียว
ใครก็ว่าบ้าไปแล้ว พวกนสร้างจินตนาการ ที่เรียกว่าคนบ้านั่นเอง
เขา Out of Reality มองเพี้ยนไปจากความจริง
บางคนเป็นอย่างนั้น พอถูกปลดออกจากตำแหน่ง
แล้วยังเดินโฉบไปโฉบมาในที่ทำงาน
บางคนเกษียณไปแล้ว รุ่งขึ้นยังมาที่ทำงานอีกเพราะทำใจไม่ได้
ท่านเตรียมทำใจไว้นะ ไม่ใช่พอเกษียณแล้ว ยังมาเดินแถวนี้
แล้วบอกว่าเก้าอี้ของผมหายไปไหน เราต้องยอมรับความจริง
ที่พูดอย่างนี้เป็นธรรมะ ไม่เกี่ยวกับใคร ธรรมดาเป็นอย่างนั้น
คนทำใจไม่ได้ก็เข้าแดนเนรมิต ถึงตอนนี้สรุปว่า

บางคนพอทุกข์มากก็คิดฆ่าตัวตาย
ถ้าไม่อยากฆ่าตัวตาย ก็บ้าหนีปัญหาด้วยการเข้าแดนเนรมิต
ถ้าไม่อยากเข้าแดนเนรมิต ก็ควรใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยธรรมะ


สมัยพระพุทธเจ้า มีผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าแดนเนรมิตไปครึ่งตัว
เธอชื่อ กีสาโคตมี เธอมีลูกอยู่คนหนึ่งกำลังน่ารักมากเลย ต่อมาลูกตาย
เธออุ้ม ลูกไปหาหมอ เพราะยอมรับไม่ได้ว่าลูกตาย
บอกว่าลูกดิฉันหลับ ช่วยปรุงยาให้ตื่นขึ้นมา
หมอบอกว่าลูกตายแล้ว เธอก็รับไม่ได้ บอกว่าลูก ตัวเองหลับ

เธอเข้าแดนเนรมิตด้วยขาข้างหนึ่ง เรื่องลูกนี่ทำใจไม่ได้
ไปหาหมอคนไหนเขาก็บอกว่าลูกตาย เพราะลูกขึ้นอืดแล้ว
ผู้หญิงคนนั้นจึง น่าสมเพชในสายตาของคนทั่วไปในที่สุด
ไปเจอหมอคนหนึ่ง หมอคนนี้ บอกว่า
เธอจงไปหาหมอวิเศษคนหนึ่งที่สามารถรักษาลูกเธอให้หายได้
พวกเรารักษาไม่ได้หรอก เธอต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่วัด
พระองค์จะ ปลุกลูกเธอให้ตื่นขึ้นมา
กีสาโคตมีดีใจมากอุ้มลูกที่ตายแล้วไปหา พระพุทธเจ้าที่วัด
พอไปถึงวางแทบพระบาทพระพุทธเจ้า
ทูลว่าขอให้ พระองค์ช่วยปรุงยาปลุกให้ลูกของตนตื่นขึ้นมา

พระพุทธเจ้าดูด้วยสายตาก็รู้ว่าเด็กนี้ตายแล้ว
แต่พระองค์ไม่ปฏิเสธทันที
เพราะรู้ว่า คนเมื่อมีความทุกข์ เราอย่าไปตัดความหวังเขา
คนที่ทุกข์มาก ๆ เหมือนคนจะจมน้ำ
ฟางเส้นเดียวลอยมา เขาก็เกาะเป็นที่พึ่ง
ถ้าคนไม่รู้จะพึ่งทางไหนมาปรับทุกข์กับเรา
แม้เราช่วยอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรให้ความเห็นใจ
อย่าด่วนตัดรอนเขา ดีไม่ดีเขาไปฆ่าตัวตาย
บางทีจะมายืมเงินเรา บอกว่าผมจะล้มละลายแล้ว ขอยืมเงินหน่อย
พอเราตัดรอนปั๊บ เขาฆ่าตัวตายเลย
เราจะมีเงินให้หรือไม่ไม่สำคัญ
ข้อสำคัญคือบอกให้เขาใจเย็น เราจะพยายามหาให้
พระพุทธเจ้าก็ทำ อย่างนั้น หมออื่นบอกว่ารักษาไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่ายังมีหวัง กีสาโคตมี ใจชื้นขึ้นมาทันที
หมอกี่หมอปฏิเสธหมด

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ยังพอมีหวัง เราจะรักษาให้โดยปรุงยาขนานหนึ่ง
แต่ตัวยายังไม่ ครบ ต้องไปหาตัวยาอีกอย่างหนึ่ง คือเมล็ดผักกาด จะทำได้ไหม"
"จะซื้อเท่าไรก็ได้ กว้านซื้อให้หมดเท่าไรก็ได้" เธอตอบ
พระองค์ตรัสว่า "ไม่ต้องซื้อ จงไปขอมาจากบ้านที่ไม่เคยมีคน ตายมาก่อนเลย"
เธอจึงมีความหวังรีบรับคำแล้วไปขอจากบ้านที่ไม่เคยมีญาติตาย หรือไม่มีใครตาย
พอไปถึงบ้านแรกก็ถามว่า "มีเมล็ดผักกาดไหม"
"มี จะเอาเท่าไร"
"แล้วขอถามหน่อย บ้านนี้เคนมีคนตายไหม"
"พูดอะไร ยังไว้ทุกข์อยู่เลย"

บ้านนี้มีคนตายเสียแล้ว ไปบ้านต่อไป ถึงบางบ้าน
ลูกน่ารัก เหมือนลูกเธอเองเพิ่งตาย แม่กำลังร้องไห้ กีสาโคตมีนึกถึงลูกตัวเอง
ร้องไห้ไปกับเขาแล้วปลอบเขาเสียอีก ไปหลาย ๆ บ้านเข้า
เห็นความทุกข์ ของคน ใจก็เริ่มฟื้นขึ้นมา

คนเราถ้านึกว่าตัวเองทุกข์คนเดียว จะรู้สึกย่ำแย่
พอไปเห็นคน อื่นทุกข์เหมือนเรา สุขภาพจิตดีขึ้น
ไม่เชื่อไปถามคนที่ฟัง จส. 100 รายการวิทยุ จส. 100
แก้ปัญหารถติดไม่ได้แต่แก้ปัญหาสุขภาพจิต ของคนได้
ผู้ใช้รถรู้ว่าเราไม่ได้ติดกลางถนนคนเดียว
ถนนสายนั้นแย่ยิ่ง กว่าถนนที่เราอยู่นี้ ฟังวิทยุแล้วรู้สึกดีขึ้น

มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยเสือฝ้ายอาละวาดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
เสือฝ้ายส่งบัตรเชิญงานวันเกิดไปให้พวกเถ้าแก่ทั้งหลาย มางานวันเกิดของเขา
แต่ห้ามมีของขวัญ วันนี้จะเลี้ยงตอนแทน เขียนหมายเหตุไว้ท้ายบัตรเชิญอย่างนั้น
ปรากฏว่าคนก็มามือเปล่ากันหมด
พวกพ่อค้าทั้งหลายต้องสยบยอมมาเฟียท้องถิ่น
แต่เถ้าแก่คนหนึ่งอ่าน หนังสือไม่ออก หิ้วกล้วยมาเครือหนึ่ง ยื่นให้เสือฝ้าย
พอเสื้อฝ้ายเห็น เท่านั้นโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย นี่ขัดคำสั่งเราได้อย่างไร
บอกว่าอย่าเอา ของขวัญมา นี่เอามาหรือถือดีอย่างไร
จึงสั่งลูกน้องจับเถ้าแก่ขึงพืด
เอากล้วยครึ่งดิบครึ่งสุกผลหนึ่งยัดทวารหนักเถ้าแก่
เถ้าแก่ก็ร้องใหญ่เลย แต่ตอนหลังแกกลับหัวเราะก๊าก

เสื้อฝ้ายถามว่า "หัวเราะทำไม บ้าหรือไง"
แกบอกว่า "ที่หัวเราะเพราะคิดถึงเพื่อนที่เป็นเถ้าแก่ด้วยกัน"
"คิดว่าอย่างไร" เสือฝ้ายถาม
"คือว่าเพื่อนคนนั้นกำลังหิ้วทุเรียนมาฝากลื้อ"
เถ้าแก่ตอบพลาง หัวเราะพลาง


นี่เรียกว่าพอนึกถึงเพื่อนร่วมทุกข์ สุขภาพจิตดีขึ้น กีสาโคตมีก็คล้ายกัน
เธอรู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นว่าคนอื่นม่ทุกข์ยิ่งกว่าตน เมื่อมองที่สูง เรายังต่ำ
เมื่อมองที่ต่ำ เรายังสูง กีสาโคตมีกลับมาหาพระพุทธเจ้ามือเปล่า

พระพุทธเจ้าถามว่า "ไหนละเมล็ดผักกาด"
"หม่อมฉันหาไม่ได้"
"ทำไมจึงไม่ได้"
"เพราะทุกบ้านมีแต่คนตายทั้งนั้น"
"แล้วเธอคิดว่าอย่างไร"
"หม่อมฉันคิดว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องตาย"
"แล้วลูกของเธอล่ะ"
"ลูกของหม่อมฉันก็ตายเหมือนกัน"


เธอปลงตัวเอง ปล่อยวาง ออกจากแดนเนรมิตโดยกุศโลบายที่ พระพุทธเจ้าใช้
พระพุทธเจ้าเทศน์ต่อจนเธอเลื่อมใสและขอบวชเป็น ภิกษุณีได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ภายหลังได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุณีอื่นด้านครองจีวรเศร้าหมอง
กีสาโคตมีภิกษุณีรูปนี้น่าถือเอาเป็นตัวอย่าง
เธอไม่บ้าและไม่ฆ่า ตัวตายเพราะมีธรรมะประจำใจ

บางคนไม่ถึงกับเสียสติเข้าแดนเนรมิต แต่สุขภาพใจก็เสื่อมลง ๆ
เพราะความเครียด (stress)
โรคเครียดมาจากความโลภบวกกับความ กังวลและความไม่รู้
บางคนบอกว่า ความเครียดก็ดีเหมือนกันเพราะ ทำให้เราขยัน
คนบางคนบริหารงานบนฐานของความเครียด
ถ้าไม่ถึง วันสุดท้ายหรือเสันตาย (deadline) แล้วก็จะเฉี่อยชา
ต้องมีเจ้านายหรือ เหตุการณ์มาเร่งจึงจะเริ่มทำงาน
ความเครียดเกิดเมื่อมีสัญญาณอันตรายเตือนว่า
ถ้าทำงานไม่เสร็จ เราจะลำบาก จึงเกิดความกลัวซึ่งทำให้เครียด
เช่น สามีภรรยาอยู่บ้าน เดียวกันอย่างปกติสุข
จนมาระยะหลังสามีมักกลับบ้านดึก บางคืนมี ลิปติกติดแก้มมาด้วย
ภรรยาจะเครียดเพราะรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย
ไม่มี security จึงระดมความคิด ระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา
คนเราพอรู้ว่ามีปัญหาจะระดมความคิดมาแก้ไขเป็นธรรมดา
แต่ที่เป็นปัญหาของคนก็อยู่ตรงที่เคียดแล้วยังไม่ยอมปล่อยวาง
เหมือนกับเวลาที่รู้ว่าจะมีคนมาปล้นบ้าน
เจ้าของบ้านสมัยก่อนเขาใช้ธนูป้องกันตน
พอได้ยินเสียงแกร็กเขาก็ง้างธนู ง้างธนูทุกครั้งที่ได้ยินเสียงผิดปกติ
บางที ง้างค้างเลย ยิงก็ไม่ได้ยิง ง้างธนูอยู่อย่างนั้น
นอนก็ไม่หลับ ประสาทตื่น ตัวตลอดเวลา งานก็ทำไม่เสร็จ
บางคนคิดมากจนควันขึ้น ศีรษะร้อน รากผมไหม้เลย
เพื่อนถามว่านี่คุณอายุเท่าไรแล้ว พอตอบว่า "สี่สิบปี"
เพื่อนอุทานว่า "งั้นเหรือ นึกว่าจะเกษียณปีหน้า
ทำไมโทรมเร็วอย่างนี้" ธรรมะสร้างสุขภาพใจ

คนมีสุขภาพใจดีจะรู้จักยืดหยุ่น คือ ปล่อยวางเมื่อถึงคราวควร ปล่อยวาง
หยุดเมื่อสมควรหยุด ดังที่หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง สอนว่า
ทุกข์มีเพราะยึด
ทุกข์ยืดเพราะอยาก
ทุกข์มากเพราะพลอย
ทุกข์น้อยเพราะหยุด
ทุกข์หลุดเพราะปล่อย


ถ้าปล่อยวางได้ก็จะไม่เสียสุขภาพใจ
คนเราจะทำอย่างนั้นได้และ
มีสุขภาพใจดีเพราะมีกระบวนการพัฒนาสุขภาพใจตามลำดับดังต่อไปนี้

สติสัมปชัญญะ ----
สังวร ----
อวิปปฏิสาร ----
ปราโมทย์ ----
ปีติ ----
ปัสสัทธิ ----
สุข ----


การสร้างสุขภาพใจต้องเริ่มจากสติสัมปชัญญะ และสติสัมปชัญญะ
ทำให้เกิดสังวรคือสำรวมระวัง ทำอะไรไม่ผิดพลาด
เมื่อทำอะไรไม่ผิดพลาดตามกำหนดเวลา
ก็จะมีอวิปปฏิสาร คือไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล ไม่รู้สึกผิดหรือ guilty ไม่ตำหนิตัวเอง
อวิปปฏิสารทำให้เกิดความปราโมทย์คือ มีความบันเทิง ร่าเริง สนุกกับงาน

ความบันเทิงจะทำให้เกิดปีติ อิ่มใจ ทำอะไรแล้วอิ่มใจ ภูมิใจ พอใจ
ความอิ่มใจจะทำให้เกิดปัสสัทธิแปลว่า สงบ คือ ไม่เครียดนั่นเอง
สภาวะทั้งหมดที่ว่ามารวมกันเป็นความสุข หรือสุขภาพใจที่ดี
พื้นฐานของสุขภาพใจอยู่ที่สติสัมปชัญญะ
ผู้มีสุขภาพใจดีแสดง ว่ามีสติสัมปชัญญะมาก
ส่วนผู้มีสุขภาพจิตไม่ดีเรียกว่าเสียสติ
คนบ้าคือ คนเสียสติ เพราะสติสัมปชัญญะไม่มีเลย
ใครมีสติสัมปชัญญะ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเป็นพระอรหันต์
เพราะพระอรหันต์ได้ชื่อว่า ผู้มีสติไพบูลย์ คือ มีสติ 100 เปอร์เซ็นต์
ท่านไม่หลงสติเลย จึงทำอะไรไม่ผิดพลาด
ไม่ต้องฝืนใจรักษาศีลเหมือนคนทั่วไป
เพราะท่านมีศีลโดยธรรมชาติ เนื่องจากมีสติไพบูลย์
เมื่อจุดเริ่มต้นของสุขภาพใจอยู่ทีสติ
เราะก็ควรตระหนักว่าสติคือ อะไรและพัฒนาได้อย่างไร

สติ แปลว่า ความระลึกได้ และความรู้ทันปัจจุบัน
สติที่เราใช้ในความหมายทั่วไปก็คือความระลึกได้ (recollection)
อย่างคนที่มีสตินั้นจะจำและนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาทำหรือเห็นมา แล้วไม่ดี
แต่คนที่เสียสติจะระลึกและต่อเรื่องไม่ถูก
ในทางปฏิบัติ เราใช้คำว่าสติในอีกความหมายที่ว่ารู้ทันปัจจุบัน (mindfulness)
ใจอยู่กับปัจจุบัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าท่านทำอะไรก็ตาม
คุมใจตัวเองให้อยู่กับปัจจุบันนั่นคือสติ
เช่น ท่านกำลังฟังบรรยายอยู่นี้ ถ้าฟังอย่างไม่มีสติ
ใจจะลอยกลับไปอดีตบ้าง ไปเรื่องอื่นบ้าง
ถ้ามีสติ ใจจะจดจ่ออยู่กับเรื่องเฉพาะหน้าในปัจจุบัน
คือ มองก็เห็น ฟังก็ได้ยิน คนที่มองแล้วไม่เห็นฟังแล้วไม่ได้ยินคือ คนไม่มีสติ
ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันหมายถึง ขณะปัจจุบัน นาทีปัจจุบัน
ถ้าจิตอยู่กับขณะ ปัจจุบันเฉพาะหน้ารับรู้อะไร ๆ ที่เข้ามากระทบตอนนี้
คือ ตากำลังมอง หูกำลังฟัง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ให้รับรู้ทันทีเรียกว่า สติ
และบางครั้งเราคิด เรื่องอะไรก็ตาม ก็ให้ใจอยู่กับเรื่องนั้น นั่นเรียกว่าสติ
แต่สตินั้นควรได้รับ การฝึก ถ้าหากว่าเราไม่ได้ฝึกสติ สติจะพร่าซัดส่าย
แม้ท่านจะอยู่กับปัจจุบันเหมือนกัน
เมื่อท่านนั่งฟังบรรยาย เสียงที่ท่านได้ยินแต่ละครั้ง เป็นสติ
พอคนลุกออกไป ท่านหันไปดู นั่นก็เป็นสติ สติอย่างนี้เป็นสติฟุ้งซ่าน
บางทีเป็นมิจฉาสติด้วยซ้ำไป สติที่ถูกต้องจะมีการกำหนดขอบเขตของปัจจุบัน
เช่น ท่านกำลังทำงานเฉพาะหน้าอยู่คือ อ่านรายงานหนึ่งชิ้น
สติช่วงนี้จะอยู่กับการอ่านรายงาน ใครจะมาเปิดทีวีรบกวน ท่านจะไม่ใส่ใจ
ใครจะมาทำอะไร สติยังไม่ไปสนใจเขา
แต่ยังอยู่กับงาน เราจะทำอย่างนั้นก็ต่อเมื่อได้ฝึกเจริญสติ

วิธีหนึ่งในการเจริญสติสำหรับชาวบ้าน
ก็คือ ฝึกเรียกความคิด กลับมาอยู่กับตัวเรา ที่นี่ เดี๋ยวนี้
จิตเท่านั้นที่วิ่งกลับสู่อดีตหรือก้าวไปในอนาคตได้ กายทำอย่างนั้นไม่ได้
กายจึงเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าเรารักษาใจให้อยู่กับกายตลอดเวลา
เรียกว่าเจริญกายคตาสติ สติที่กำหนดกายเป็นขอบเขตการรับรู้เฉพาะหน้าเช่นนั้น
เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสมาธิ

คัดลอกจาก...
http://www.mongkoltemple.com/page02/articles028.html

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 39 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร