ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

...อุปสรรคของการพัฒนาปัญญา...(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=18869
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 01 พ.ย. 2008, 14:31 ]
หัวข้อกระทู้:  ...อุปสรรคของการพัฒนาปัญญา...(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ

ลองสังเกตดูว่าเด็กที่เกิดใหม่ ก็ต้องยึดพ่อแม่เอาไว้เป็นที่พึ่ง
เมื่อเขายังอ่อนสอนเด็กหัดเดิน ต้องคลานก่อน
เมื่อยืนต้องเกาะเปลหรือราง
เมื่อหัดเดินก็ต้องเกาะรางหรือมือของแม่เดินไป
แม่หรือพี่เลี้ยงก็ไม่ปฏิเสธเด็กในระยะนั้น เห็นเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู

ถ้าเด็กคนใดเกาะแม่หรือพี่เลี้ยงอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าอายุจะหลายขวบแล้ว จะเดินและวิ่งเองได้แล้ว
เด็กคนนั้นก็ไม่เจริญเติบโตเหมือนเด็กอื่นๆ
พ่อแม่พี่เลี้ยง ญาติพี่น้องก็ไม่มีใครต้องการให้เป็นเช่นนั้น
เพราะว่าเป็นภาระเหลือเกิน
พ่อแม่คนใดพอใจให้ลูกเป็นเช่นนั้น
เพื่อจะได้อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา
พ่อแม่นั้นก็ปัญญาอ่อนด้วยข้อนี้ฉันใด ลองคิดดูให้ดีๆ ว่า
ในสังคมของเรามีพฤติกรรมทั้งทางบ้านเมืองและทางศาสนา
ที่เป็นเหมือนพ่อแม่และเด็กอ่อนนั้นอยู่มากหรือน้อยเพียงใด
เราชวนกันยึดติดทั้งในตัวบุคคลและในวัตถุ
ที่คิดว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์กันมากมายเพียงใด
ลองคิดดูเมื่อเป็นเช่นนี้จะเจริญเติบโตทางสติปัญญาและจิตใจได้อย่างไร

การพัฒนาปัญญาเป็นหนทางสำหรับผู้ถือพุทธศาสนาและของมนุษย์ทั่วไป
การพัฒนาปัญญา ถือว่าเป็นหลักสำคัญ
เป็นมรรคาสำคัญ ของผู้ที่นับถือพุทธศาสนา และของมนุษย์ทั่วไป
การยึดติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ควรเป็นการชั่วคราว
เหมือนเด็กสอนเดินเตาะแตะก็ชั่วระยะเวลาอันสั้น
เพื่อให้เข้มแข็งพอหรือเพื่อก้าวไป ข้างหน้าด้วยตัวเองเท่านั้น
ถ้าพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังยึดติดอยู่ต่อไป
ก็จะเป็นอุปสรรคของการพัฒนาปัญญาอย่างแน่นอน ไม่มีปัญหา

ของเหลวที่ใครจะทำให้แข็งและได้รูปได้ร่างดีตามที่เขาต้องการ
เขาทำอย่าง ไร เขาก็ต้องเอาเข้าเบ้าก่อน
ทำเบ้าให้ดและเอาของเหลวนั้นเทลงไปในเบ้า
พออยู่ในเบ้ารูปทรงมันก็จะเป็นเหมือนเบ้าที่ต้องการ
เราต้องการให้เป็นอย่างไร เราก็ทำเบ้าอย่างนั้น
ของเหลวที่อยู่ในเบ้ามันก็จะเป็นอย่างนั้น

พอแข็งแล้ว เขาจะเอาเบ้าไว้หรือเปล่า เขาไม่เอาไว้
ของเหลวนั้นเป็นของแข็งดีแล้ว เขาก็ต้องทุบเบ้าทิ้ง
เพราะถ้าเอาเบ้าไว้มันไม่สำเร็จประโยชน์ ฉันใดก็ฉันนั้น

คนเราในระยะแรกก็ยึดถือนั่นถือนี่อะไรไป เป็นขนบประเพณี
เป็นวินัย เป็นอะไรหลายๆ อย่าง
ยังไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้
ก็ต้องทำเบ้า ให้อยู่ในเบ้าไปก่อน
แต่พอได้ที่แล้วก็ต้องทิ้งเบ้า จึงจะสำเร็จประโยชน์
ความสำเร็จประโยชน์มันอยู่ตรงนั้น

เราต้องนึกดูว่า ในสังคมของเรามันมีอะไรที่เป็นเบ้าหลอมบ้าง
และเรายังอยู่ในเบ้าตลอดเวลา มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์
เหมือนสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยกำลังมันไม่พอที่จะเอาตัวรอดได้
เขาก็ขังคอกไว้ก่อน มีผู้ดูแล
แต่ว่าถ้ามันเติบโตแล้ว ก็ต้องปล่อยมันไป
เป็นนกมันก็ต้องบินไปด้วยตัวของมันเอง
ทำนองนี้ แต่ถ้ามันยังนอนอยู่ในรังแบบนกอ่อน มันก็ใช้ไม่ได้

มันต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไปติดอยู่กับพิธีรีตอง
พิธีกรรมอะไรต่ออะไร
ที่มันเป็นของเหมือนกับราวที่ให้เด็กไต่ไปในระยะต้นๆ
เมื่อไม่รู้จักโตหรือบางคนใช้คำว่า ยังเป็นชาวพุทธอนุบาลอยู่เรื่อย
ไม่ยอมเลื่อนชั้นขึ้น เป็น ป 1. ป 2. ไปจนมัธยม
คือ เป็นอนุบาลอยู่เรื่อย คือ เป็นสัจจาภินิเวส
ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน มันเป็น Dogmaticism
ไม่เป็นไปเพื่อการพัฒนาปัญญา
และมันเป็นการขัดขวางต่อการพัฒนาปัญญา
ไม่ก้าวหน้าไป มีแต่ศรัทธาอย่างเดียว
และย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพียงแต่การหยุดอยู่ เราก็ยังตำหนิ
ไม่ต้องพูดถึงว่าการ ไม่ก้าวไปข้างหน้า
เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญา
เราต้องเขี่ยออกไปเสียบ้าง มันรุงรัง
เหมือนที่พระกุมารกัสสปพูดกับพระเจ้าปายาสิว่า
ถือรุงรังไปหมดเลย เหมือนกับแบกขี้หมู
ฝนตกขี้หมูไหล ก็ไม่ยอมทิ้งขี้หมู
เพราะว่าแบกมานานแล้วก็เสียเวลา เสียประโยชน์มาก

เพื่อเป็นการพัฒนาปัญญา
เราจะต้องละทิ้งอะไรที่มันควรจะทิ้งเสียบ้าง
พิธีรีตอง อะไรต่างๆ ที่มันมากมายก่ายกอง
เยอะแยะไปหมดเลย ทิ้งเสียบ้าง

เปลือกของผลไม้ มันมีไว้เพื่อจะรักษาเนื้อ
แต่ถ้ามันมีแต่เปลือก มันก็ไม่ได้ประโยชน์
ทุเรียนเปลือกมันมีหนามด้วย แต่มันมีไว้สำหรับรักษาเนื้อ
ถ้ามี แต่เปลือกแล้วไม่มีเนื้อ ก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไม
เขาก็ไม่ซื้อ ทุเรียนมันแพงเพราะเนื้อข้างใน

ฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่าอะไรมันเป็นเปลือก อะไรมันเป็นเนื้อ
หรือว่ามันรักษาเนื้อเอาไว้
ก็เอาเถอะ แต่ต้องรู้ว่าที่ประสงค์ จริงๆ ก็คือเนื้อของมัน
ไม่ใช่ติดอยู่กับเปลือก ไม่รู้ว่าเนื้อมันคืออะไร
หรือเนื้อมันหายไปหมดแล้ว มีแต่เปลือกแล้วก็มาบูชา
เปลือก หรือว่าหมกมุ่นกันอยู่แต่เปลือกของมัน
เปลือกของศาสนา อะไรทำนองนั้น
มันก็ต้องไปให้ถึงเนื้อหรือแก่นของมัน
เพื่อพัฒนาปัญญาอย่างมีหลักเกณฑ์
เราก็ต้องใช้หลักธรรมเป็นเครื่องพัฒนา
ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ในหมวดธรรม
ที่เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม
ธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้ปัญญาเจริญหรือเจริญด้วยปัญญา

1. คบคนดี เข้าหาคนดี

ท่านเรียกว่า สัปปุริสูปสังเสวะ
รู้จักคบคนดี คนที่มีปัญญา จะต้องเริ่มต้นด้วยศรัทธา
มีความศรัทธา นิยมชมชอบคนดี เข้าหาคนดี แล้วก็เงี่ยโสตลงฟังท่าน

2. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านด้วยความเคารพ


ขอเล่านิดหนึ่ง ผมไปบรรยายถวายความรู้พระธรรมทูต
ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ชั่วโมงครึ่ง
ท่านนั่งฟังเงียบตลอดชั่วโมงครึ่ง ไม่คุยไม่รบกวนผู้บรรยาย
ไม่รบกวนกันเอง เงียบอย่างนี้ดี
เมื่อวันเสาร์ที่แล้วก็ไปบรรยาย ถวายความรู้กับพระธรรมทูตที่จะไปต่างประเทศ
ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ท่านก็เงียบดีเหลือเกิน
แล้วพอให้ถามปัญหาก็ถามเยอะเหลือเกินจนตอบไม่ไหว
อันนี้ ก็คือท่านอยู่ในหลักของปัญญาวุฒิธรรม
ฟังด้วยความเคารพในธรรม คือว่า ไม่ต้องเคารพผู้พูดก็ได้
แต่ว่าเคารพในธรรม ให้เกียรติธรรม
อย่างที่เคยเล่าบ่อยๆ แม้องค์พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพในธรรม
เวลาเสด็จไปพระแสดงธรรมอยู่
พระพุทธเจ้ายืนฟังจนจบ แล้วจึงเสด็จเข้าไป
เธอเทศน์ดี ทรงยืนฟังจนจบ ไม่เข้าไปในตอนนั้นคือเคารพธรรม

เราต้องหมั่นฟังคำสั่งสอนของคนดี
อันนี้หายากนะครับ สิ่งที่หายากมี 4 อย่าง ในปริยายหนึ่ง

(1) ทุ ลฺลภญฺจ มนุสฺสตฺตํ ความเป็นมนุษย์

การได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เป็นของยาก
บางคนอาจจะเถียงว่าไม่จริงหรอก เวลานี้คนจะล้นโลกอยู่แล้ว
ลองเทียบ กับสัตว์เดรัจฉาน เอาพวกปลวกกับแมลงเอา 2 อย่างนี้ก็พอแล้ว
มันจะมากกว่ามนุษย์ทั่วโลก
ไม่ต้องพูดถึงปลาในทะเล ไม่ต้องพูดถึงสัตว์ชนิดอื่น
ฉะนั้น การได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก

ถ้าเป็นคนใจสูง ตามศัพท์ของมนุษย์ มนอุษยะ แปลว่าคนใจสูง
จึงเรียกว่า เป็นมนุษย์ ถ้าใจไม่สูงก็เรียกว่า เป็นคน
เกิดมาก็เป็นคน ภาษาบาลีเรียกว่า ชน มวลชน
ถ้าเป็นชนที่ใจสูงก็เรียกมนุษย์
นี่ตามพยัญชนะแต่โดยความหมาย ทั่วไป มนุษย์ก็หมายถึง คน

(2) พุทฺธุปฺปาโท จ ทุ ลฺลโภ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก
อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบาย เพราะว่ารู้ๆ กันอยู่ว่า
กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง ลำบากแค่ไหน
และเป็นบุคคลที่หายากในโลก ในโลกธาตุหนึ่งมีองค์เดียว
ไม่เกิดพร้อมกัน 2 องค์
ลองนึกดูว่ามีมนุษย์อยู่เท่าไหร่ และช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น
ตั้ง 2,000 กว่าปีมาแล้ว ยังไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเป็นองค์ที่ 2 หายากแค่ไหน

(3) ทุลฺลภา ขณสมฺปตฺติ การถึงพร้อม ด้วยขณะเป็นสิ่งที่หายาก
ขณสมฺปตฺติ ในที่นี้หมายถึง โอกาส พร้อมด้วยโอกาส มีโอกาส
เช่น มีโอกาสได้ฟังธรรม มีโอกาสได้ทำบุญ
มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน คนที่ไม่มีโอกาสมีเยอะ
บางคนมีศรัทธาแต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม
บางคนมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมแต่ไม่มีศรัทธา
คนที่จะถึงพร้อมด้วย ศรัทธา วิริยะ และปัญญาหาได้ยาก
โอกาสเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน
บางคนมีความรู้มีความสามารถ แต่ว่าไม่มีโอกาส
ไม่ได้โอกาส หรือเขาไม่ให้โอกาส ก็ทำอะไรไม่ได้

เพราะฉะนั้น การถึงพร้อมด้วยโอกาสเป็นของยาก
บางคนแม้แต่จะศึกษาธรรมก็ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องว่าง ไม่มีเวลา หายาก

(4) สทฺธมฺโม ปรมทุลฺลโภ การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นของยากอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นข้อที่ 2 ที่ว่าเป็นปัญญาวุฒิธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญา
ทำให้ปัญญาเจริญที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวณะ
การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก
พระสัทธรรมนี่หมายถึง ธรรมแท้ ธรรมดี ธรรมของสัตบุรุษ
สัตบุรุษมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น
ไม่ใช่ธรรมปลอม ไม่ใช่ธรรมขี้โคลน
แต่เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ สะอาด
เหมือนน้ำที่สะอาดอาบแล้วชื่นใจ ดื่มแล้วชื่นใจ
ไม่ใช่น้ำโคลน น้ำโคลนมันก็อาบได้เหมือนกัน
เย็นๆ แต่ก็ไม่สะอาด มันทำให้สกปรก

เมื่อคบสัตบุรุษ คบคนดีแล้วก็หมั่นฟังธรรมของคนดีก็จะได้ปัญญา
เป็นเหตุเพิ่มพูนปัญญา
คุยกับเขาสักครึ่งชั่วโมงก็ได้ปัญญาเยอะแล้ว
คนที่เป็นคนดี เป็นสัตบุรุษ เป็นคนที่มีภูมิรู้ภูมิธรรม

3. โยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย มีความคิดที่ถูกต้อง

เป็นระบบ Systematic thought
คนที่มีโยนิโสมนสิการกับคนที่ไม่มี มันผิดกันเยอะ
คือฟังสิ่งเดียวกัน คนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการก็ไม่ได้อะไรเท่าไหร่
แต่ถ้าคนมีโยนิโสมนสิการมันจะได้เยอะ
และเขาก็คิดเป็น คิดต่อไปๆ แตกออกไป
ได้ฟังหนึ่งเขาสามารถแทงทะลุเป็นร้อยนัยพันนัย
ท่านยกตัวอย่างในพระสาวก เช่น พระสารีบุตร
ได้ฟังอะไรแล้วท่านแทงทะลุไปร้อยนัย พันนัย
เพราะว่ามีโยนิโสมนสิการ มีปัญญาเฉียบคม

ตรงกันข้ามก็คือ อโยนิโสมนสิการ
ไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็จะถูกชักจูงไปในทางผิด และคิดไม่เป็น
ก็ตามไปในทางผิด ฟังแล้วก็ไม่เกิดปัญญา

ฉะนั้น เวลาฟังอะไรท่านว่า โอหิตโสโต เงี่ยโสตลงสดับ
และมนสิการิตวา ทำไว้ในใจโดยแยบคาย
อัตถิกัตตะวา จับสาระสำคัญได้
อัตถิกัตตะวา ตามตัวมันแปลว่า กระดูก
ทำให้เป็นกระดูก นั่นเป็นการแปลตามตัว
ความหมายก็คือ จับสาระสำคัญ ให้ได้ว่าเขาพูดอะไร
เขาพูดเยอะๆ เป็นชั่วโมง ต้องจับสาระสำคัญให้ได้ว่า เขาพูดอะไร
โยนิโสมนสิการ คนพวกนี้จะได้ปัญญามาก เพราะว่าจับสาระสำคัญได้เก่ง

และข้อสุดท้ายคือ ธัมมานุธัมมะปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คือหมายความว่า ไม่ใช่เพียงแต่คบคนดี หรือฟังธรรมของคนดี
แล้วก็มีโยนิโสมนสิการอย่างเดียว แต่ว่าลงมือทำตามที่ได้รู้ได้เข้าใจ

คำนี้ถ้าเป็นคุณศัพท์ก็จะเป็น ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน
เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมยังยากอยู่ มันมี 2 ความหมาย

ความหมายที่ 1 ว่า ปฏิบัติธรรมตามฐานะของตน


คือว่ามองดูฐานะของตนว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น
ปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะแก่ฐานะ
อย่างเป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติธรรมให้สมกับเป็นคฤหัสถ์
ไปทำอย่างพระไม่ได้ เพราะว่าบิณฑบาตไม่ได้
ไม่มีใครให้กินก็ต้อง ประกอบอาชีพบ้าง ปฏิบัติธรรมบ้าง
จะไม่ประกอบอาชีพก็ไปขอใครไม่ได้ เขารังเกียจ เขาไม่ให้
ต้องประกอบอาชีพมีรายได้ไปด้วย ปฏิบัติตามฐานะของตน
เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามฐานะของตนแล้วอยู่ไม่ได้ อันนี้สำคัญ

นี่ความหมายหนึ่งของการปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมของตน
ว่าเราอยู่ในฐานะอย่างไร
อยู่ในภาวะอย่างไรให้เหมาะสมแก่ภาวะแก่ฐานะของตน

ความหมายที่ 2 ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยตามธรรมใหญ่

อันนี้ต้องเทียบกับกฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายใหญ่
กฎหมายอื่นๆ จะออกมากี่ร้อยกี่พันมาตรา
จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะต้องคล้อยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ในพุทธศาสนามีหลักใหญ่ แล้วก็มีธรรมปลีกย่อยที่จะต้องไม่ขัดกับหลักใหญ่
ตัวอย่างเช่น หลักกรรมที่เป็นหลักใหญ่หลักหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ให้เชื่อกรรม การกระทำ ไม่เชื่อมงคลภายนอก
บุคคลจะประสบความสำเร็จก็เพราะการกระทำ
จะดีจะชั่วก็เพราะการกระทำ
จะเป็นคนประเสริฐ หรือคนด้อยคนเลวก็เพราะการกระทำ

นี่คือหลักใหญ่ เป็นหลักกรรม
ถ้ามีอะไรที่ชาวพุทธเรานำมาปฏิบัติแล้วมันขัดกับหลักธรรม อันนี้ใช้ไม่ได้
เรียกว่า ไม่คล้อยตามธรรมใหญ่ เช่น จะไปสอบเข้าอะไรสักอย่าง
แล้วต้องไปรดน้ำมนต์เพื่อจะให้สอบเข้าได้
หรือว่าจะต้องแขวน พระเครื่ององค์นั้นองค์นี้เพื่อจะให้บันดาลให้สอบเข้าได้
หรือว่าต้องเอา ปากกาไปให้เขาเสกเสียก่อน อย่างนี้มันขัดกับหลักกรรม
ถ้าเป็นชาวพุทธที่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ทำไม่ได้หรือไม่ทำ

นี่เป็นความหมายที่ 2 ของ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน
หรือธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ปฏิบัติธรรมให้สมควร
คือปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยตามธรรมใหญ่

ถ้าจะทำก็ทำไปเถอะ สมมุติว่าใจมันยังอยากจะทำอยู่ก็ทำไป
แต่ว่าอย่าอ้างเอาศาสนาพุทธ
บางคนชอบอ้างว่าเป็นพุทธ ทั้งที่ก็ต้องดูฤกษ์ยามเสียหน่อย
จะย้ายที่ทำงาน ย้ายห้องหรือเลื่อนย้ายโต๊ะไปอีกทิศหนึ่ง
ก็ต้องไปดูฤกษ์ยามเสีย น่อยเป็นพุทธทั้งที อันนี้ไม่ใช่ อ้างผิด
ถ้าพระพุทธเจ้าท่านทราบ
ท่านจะตรัสว่านี่กล่าวตู่เราด้วยธรรมไม่จริง เราไม่เคยสอนอย่างนั้น

นี่คือปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยตามธรรมใหญ่
คือว่า ไม่ให้ขัดกับหลักใหญ่ของพุทธศาสนา
ถ้าเป็นชาวพุทธที่อยากจะดำเนินตามทางของชาวพุทธ

นี่ผมพูดถึงปัญญาวุฒิธรรม ที่จะเอื้ออำนวยให้มีปัญญาเจริญขึ้น
หรือว่าเจริญด้วยปัญญา ก็ยังมีนัยอื่นๆ อีก แต่คิดว่าเพียงพอแค่นี้
นอกจากนั้นก็หมั่น สดับตรับฟัง หมั่นคิด หมั่นไตร่ตรอง หมั่นอบรมกุศล



คัดลอกจาก... หนังสือ คติชีวิต (ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)

http://www.ruendham.com/book_detail.php ... 1%AD%AD%D2

:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=45418

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44346

เจ้าของ:  Duangtip [ 07 พ.ค. 2019, 19:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...อุปสรรคของการพัฒนาปัญญา...(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 26 เม.ย. 2021, 12:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...อุปสรรคของการพัฒนาปัญญา...(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)

:b8: :b8: :b8:
Kiss

เจ้าของ:  sirinpho [ 09 มี.ค. 2022, 14:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...อุปสรรคของการพัฒนาปัญญา...(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/