วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 10:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2008, 20:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 18:57
โพสต์: 41


 ข้อมูลส่วนตัว


อันเนื่องมาจากหนังสือธรรมะ ตอนสาม :b5:

หนังสือธรรมะที่ดีมาก เพิ่งอ่านจบไปสดๆร้อนๆ คือ รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว บทสนทนาค้นหาความหมายของชีวิต โดยเขมานันทะ
ขออนุญาตยกข้อความส่วนหนึ่ง ในคำนำ ของสำนักพิมพ์ อมรินทร์
หนังสือ รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัวนี้ เป็นหนังสือที่รวบรวมคำบรรยายและคำสนทนาระหว่าง เขมานันทะ(อาจารย์โกวิท เอนกชัย)กับกลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายพ.ศ.๒๕๓๔
ความรู้สึกตัว เป็นเรื่องหนึ่งที่ท่านเขมานันทะได้ยกมาอธิบายไว้ในที่นี้อย่างแจ่มแจ้ง เหตุเพราะคำของหลวงพ่อเทียนที่ร้องทักขึ้นมาว่า
“อาจารย์รู้อะไรมากแล้วในด้านปัญญา ด้านความนึกคิด แต่ยังขาดอยู่สิ่งหนึ่งคือยังไม่รู้สึกตัว”
ประโยคนี้ทำให้ท่านได้หยุดคิดและหันมาทบทวนสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อนหน้า จนทำให้หันมาสนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานและการปฏิบัติภาวนา จนได้ข้อสรุปว่า
“เมื่อมนุษย์ไม่รู้สึกตัว ก็เข้าไปอยู่ในความคิด ความคิดจะลากตัวผู้คิดเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวที่คิดอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วย่อมดิ้นรนออกจากความคิดได้ลำบากยิ่งขึ้น ความคิดที่คิดต่อเนื่องนั้นเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ถ้าเราเผลอตัวเหยียบฝั่งพลาดและตกลงไปในกระแสธาร เราก็ลำบาก ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวได้ ก็เปรียบเหมือนเราขึ้นมาจากกระแสน้ำเชี่ยว การเจริญสติปัฏฐานสี่ ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนนั้นคือการปลุกความรู้สึกตัวให้ตื่นขึ้นมาควบคุมความปราดเปรียวของความคิดและใช้มันในทางสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
ในส่วนคำนิยมของ ธัมมนันทาภิกษุณี แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม
รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว เป็นหนังสือที่สามารถพกพาเป็นเพื่อนคู่กาย พูดคุยในยามเหงา เป็นครูนำทางในการปฏิบัติ เป็นธรรมะที่เป็นธรรมดา ธรรมชาติและเป็นรุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัวตามนัยแห่งชื่อเรื่องโดยแท้
เนื้อหาสาระที่เขมานันทะพูดเปรียบเสมือนน้ำชโลมใจคนเดินทางที่หิวกระหายในวังวนของจิตวิญญาณ แสงสว่างจากธรรมะที่เขมานันทะเล่าสู่กันฟัง เป็นแสงสว่างจากจันทร์เจ้าที่นำทางพอรำไร ส่วนการเดินทางเพื่อแสงหานั้น ผู้ฟัง(ผู้อ่าน)แต่ละคนต้องเพียรพยายามเอง

ตัวอย่าง บทสนทนาธรรมะ ที่น่าสนใจ ในหนังสือเล่มนี้

** มาพูดกันถึงเรื่องสติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนา เป็นเรื่องสำคัญ ชาวพุทธต้องเดินไปทางนี้ เดินไปทางอื่นก็ไม่ผิดแต่เรียกว่าตนเองว่าเป็นชาวพุทธไม่ได้ เช่นเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์อภินิหาร (เชื่ออำนาจลึกลับ ฤกษ์ยาม)ยิ่งกว่ากรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าได้บอกเหล่าสาวกว่า อย่าไปรับและอย่าไปค้าน
**เมื่อเราทำความสงบ สิ่งที่ปรากฏคือเวทนาอันปราณีต ลักษณะมันนิ่ง เนื่องจากจิตของเราคือตัวบงการ เมื่อเห็นนิมิต มักจะติดใจนิมิตนั้น ด้วยยางเหนียว(ตัณหา)ยังไม่แห้ง ไปถึงที่สุดคือพรหมโลก ในนั้นไม่มีปัญญา เพราะไม่มีการรู้การเห็นอะไรทั้งสิ้น
**คืนหนึ่งผมเห็นพระพุทธเจ้ามานั่งข้างหน้า แต่ผมทราบว่านั่นเป็นภาพนิมิต ทางจิต รูปลักษณ์ใสเหมือนน้ำค้าง ท่านยิ้มกับผม มันมีจริงๆแต่ไม่ใช่ของจริง หมายความว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆแต่ไม่มีเนื้อหา ไม่มีความจริงเหมือนที่เราจับต้อง ผมเห็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระพุทธรูปแบบคุปตะ ซึ่งผมชอบมาก ผมรักงานปั้นโดยเฉพาะปั้นพระพุทธรูป พอจิตเนรมิตออกมา ผมลืมอย่างอื่นหมดเพราะเป็นไปในระดับสมาธิ นี่คือประสบการณ์สมัยก่อน ที่ผมยังไม่รู้จักสติ ผมผิดปรกติไปในทางบวก นั่งที่ไหนก็เยือกเย็นเป็นสุข ปิติท่วมทับ เป็นสุขเหมือนอยู่ในสวรรค์ ผมไม่อยากยุ่งกับมนุษย์เลย คิดว่าพวกนี้โสโครก โง่เง่าเต่าตุ่น ตอนนั้นผมกำลังพิสดารพิลึกแต่ผมไม่เข้าใจ ไม่มีแม้แต่เมตตา ไม่มีปัญญาที่จะรู้จักความโกรธ ความรังเกียจเดียดฉันท์ที่เข้ามา ผมผิดปรกติไปประมาณหนึ่งเดือน ตอนนั้นเพื่อนพยายามอธิบายผมว่า ผมเห็นพระพุทธเจ้าจริง ท่านมีพระชนม์ชีพอยู่ในโลกอื่น เดชะบุญที่ผมยังมีสติอยู่บ้าง ผมจับได้ว่ามันเป็นการสำแดงออกของแสงสว่าง ในคลองอินทรียประสาท เหมือนฉายหนังจริงๆแสงสำแดงไปทั่วห้อง เหมือนมีหมอกขาว พระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่นั่น ผมแจ่มใสเป็นสุขอย่างประหลาดหลังจากนั้นหนึ่งเดือนผมทุกข์ชนิดเหมือนอยู่ในไฟนรก เรียกว่าสิ่งที่พบเป็นมิจฉาญาณ ญาณนี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส รวมทั้งแสงสว่างภายในที่ว่านี้ ดังนั้นเมื่อสิ้นอำนาจสะกด มันจึงเสื่อม เป็นช่วงที่ตนเองเหมือนผ้าขี้ริ้ว สับสนมาก ผมตกใจตัวเองมาก ได้ข้อคิดว่าเทวดาทั้งหลายจุติจากสวรรค์แล้วลงนรกทั้งสิ้น ดังนั้นโลกมนุษย์ ที่กลางๆ นั่นเองที่จะรู้อริยสัจ สตินั่นเองที่พาเราไปสู่พระนิพพาน ไม่ใช่ความสงบ เมื่อสติสะสมขึ้นถึงระดับหนึ่ง เหมือนหยดน้ำ เกิดเป็นสายเล็กๆ เมื่อเคลื่อนไหวอย่างมีสติจะสะสมความรู้สึกตัวที่ต่อเนื่อง กลายเป็นวังน้ำใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่อย่างมีพลัง ต่อจากนั้นจึงไหลถึงมหาสมุทรแห่งปัญญา เข้าใจเรื่องขันธ์ ธาตุ กิเลส มีกี่ชั้น และเรื่องชั้นลึกที่เรียกว่าอาสวะ เป็นกิเลสชั้นละเอียด รู้จักยาก อาสวะเเปลว่าหมักหมม คือจิตที่กำหนัดยินดีเป็นตัวกามของบุคคล ปรกติจิตของมนุษย์ติดอยู่กับอารมณ์ คือความนึกคิดต่างๆ เหมือนมือเรามีกาวเปียกแล้วแหย่ไปในกองทราย มันก็ติดนุงนัง แต่ถ้ามือเราแห้ง ทรายก็ไม่ติด จุดนี้สำคัญมาก มือที่แห้งคือจิตที่รู้ตัว จิตที่มียางเหนียวๆคือความอยากคืออวิชชา
**ความรู้ตัวคือ การมีสติ บางนิกายว่าพุทธะ ตัวนี้ต้องไวเหมือนฟ้าแลบจึงจะทันเกมกับความคิด ทีนี้ถ้าไปนั่งให้สงบก็เท่ากับทำลายสมรรถนะของจิต ดังจุดไฟแล้วเอาปี๊บครอบไว้ แสงสว่างไม่อาจทำหน้าที่ได้ เราสงบจริงแต่ไม่มีปัญญา จึงได้ชื่อว่าติดสงบ สำหรับวิปัสสนานั้นเป็นไปเพื่อรู้แจ้ง ปัญหาของมนุษย์นั้นมีสองอย่าง ประเภทแรกคือปัญหาภายนอกที่เราต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ส่วนปัญหาภายในคือความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดตลอดเวลา จะเกิดตอนที่เราขาดสติ
**ปัญหาที่เราไม่สามารถทำให้ความทุกข์จบสิ้น ด่านแรกคือเราไม่เชื่อว่ามีทางสิ้นทุกข์ เหมือนกับเรากำลังหาบ่อน้ำและคิดว่ามันอยู่ทางทิศตะวันออก เราจึงมุ่งไปทางทิศตะวันออก แม้จะมีคนมาบอกว่าอยู่ทางทิศตะวันตก เราก็ไม่เชื่อ ดังนั้นเมื่อเราเดินสวน เราก็จะไม่มีวันพบบ่อน้ำ ถ้าเราต้องการพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าการพ้นทุกข์มีจริง และอยู่ทางตะวันตก เราก็ต้องลองไปดู มีหรือไม่มีก็ให้มันรู้ไป อย่างนี้เรียกว่าสาวกของพระพุทธเจ้า
การปฏิบัติวิปัสสนานั้น เป็นการทดลองความจริง การทดลองกับการยึดถือนั้นต่างกัน เช่นพวกยึดถืออาจไม่เคยทดลอง เช่นคนที่บอกว่าฉันเป็นพุทธ แต่ไม่เคยปฏิบัติ(ทดลอง)
**ถ้าถามผมว่าความรักคืออะไร ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าอะไรไม่ใช่ความรัก พอตอบได้ ความเกลียด ความยึดถือไม่ใช่ความรัก เป็นความทุกข์ทรมาน หญิงชาย ผัวเมีย เวลาอยู่ด้วยกัน มักยึดกันและกันแล้วก็ทุกข์ แต่ก็รัก ความรักแท้น่าจะอยู่ตรงที่เป็นความกรุณา เมตตา เป็นความรู้สึกเอื้ออาทร ฝ่ายหนึ่งตายไป ฝ่ายที่ยังอยู่ยังเศร้าแต่ไม่โศก ไม่คร่ำครวญต่อความจริง ความพลัดพราก
**เมื่อเคลื่อนไหวกาย ให้รู้การเคลื่อนไหว สติจะค่อยๆสะสมตัวเหมือนหยดน้ำทีละหยด เมื่อบ่มความรู้สึกตัวนี้พอเพียงแล้ว มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐาน ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน
การเจริญสติปัฏฐานคือการปลุกความรู้สึกตัวให้ตื่นขึ้นมาควบคุมความปราดเปรียวของความคิดไว้และใช้มันในทางสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดความคิด เราหยุดไม่ได้ ความคิดเป็นสิ่งที่ดีแต่สิ่งที่ตามมันมานั้นเราต้องระวัง เช่นเท้าที่สะอาด พอไปย่ำโคลน ไม่ใช่ไปตัดเท้าทิ้ง แต่ต้องระวังอย่าให้เท้าเปื้อน ดังนั้นเราจึงต้องระวังไม่ติดยึดในความคิด ไม่พลัดไปในกระแสของความคิด เหมือนคนที่ยืนบนฝั่งเฝ้าพินิจกระแสน้ำ คือฝั่งแห่งความรู้สึกตัว เราจะรู้จักจิตใจของเราตลอดเวลา :b41:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 22 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron