วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2008, 20:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 18:57
โพสต์: 41


 ข้อมูลส่วนตัว


บทความจากหนังสือพิมพ์ชาวไทย(ในประเทศเยอรมนี) เขียนโดย แก้ว พิกุล :b34:
อันเนื่องมาจากหนังสือธรรมะ ตอนสอง
เขียน(คุย)เรื่องหนังสือแล้ว ชักติดลม ไม่ยอมจบสักที เพราะมีกัลยาณมิตรส่งหนังสือธรรมะดีๆมาให้อ่านอีกหลายเล่ม จนต้องจับปากกามานั่งเขียน(สำนวนเก่าค่ะ ที่จริงก็คือต้องหยิบหนังสือที่อ่านจบแล้ว มานั่งหน้าคอม แล้วจิ้มนิ้วลงบนแท่นพิมพ์ อย่างนี้น่าจะถูกต้องมากกว่า)
เล่มแรก ชื่อ หลวงปู่ฝากไว้ บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา ของ พระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม อ.เมืองจ.สุรินทร์ เขียนโดย พระครูนันทปัญญาภรณ์ สำนักพิมพ์ นัสณิกา
ขออนุญาต คัดมา ให้ท่านผู้อ่านอ่านเป็นตัวอย่าง
ธรรมะปฏิสันถาร
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคมพ.ศ.๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ทรงมีพระราชปุจฉาว่า
“หลวงปู่ การละกิเลสนั้นควรละกิเลสอะไรก่อน”
หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า
“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”
ทุกข์เพราะอะไร
สุภาพสตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งเข้านมัสการหลวงปู่ พรรณนาว่าตนเองมีฐานะดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใด แต่มีความทุกข์เพราะสอนลูกชายไม่ได้ ลูกชายตกอยู่ภายใต้อบายมุข ทำลายสมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทน ขอให้หลวงปู่ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และช่วยลูกชายให้พ้นจากอบายมุข หลวงปู่ก็สอนให้รู้จักปล่อยวาง แนะอุบายทำใจให้สงบ เมื่อสุภาพสตรีผู้นั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะว่า
“คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด”
อุทานธรรม
เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้วและได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น เมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกต่ำทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เล็กน้อยเช่นเหาย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ควรเรียกว่า เป็นภิกษุแท้
“ภิกษุเรา ถ้าปลุกความยินดีในเพศภาวะของตนได้แล้วก็จะมีความสุข เยือกเย็น ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุแต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ภาวะอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป หยุดกระหาย หยุดแสวงหา นั่นคือภิกษุภาวะโดยแท้ ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข”
“พระบางรูป มัวแต่ตั้งใจรักษาศีล๒๒๗ จนลืมรักษาศีลห้า”
กล่าวเตือน
“การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละเมิด เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบเทียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”
รู้ให้พร้อม
มีคนถามหลวงปู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธได้ หลวงปู่ตอบว่า
“ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทัน มันก็ดับไปเอง”
เรื่องความหลังฝังใจ
หลวงปู่แนะนำว่า
“อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา อย่าปล่อยให้มันรู้อารมณ์ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ”
หวังผลไกล
หลวงปู่มักถามญาติโยมว่าเคยภาวนาไหม คนหนึ่งตอบฉะฉานกว่าใครว่า
“ดิฉันเห็นว่า พวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้ลำบากลำบน เพราะปีหนึ่งๆดิฉันฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง๑๓กัณฑ์ ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้ จะได้ถึงศาสนาพระศรีอารย์ ก็จะพบแต่ความสุข สบาย”
หลวงปู่ว่า
“สิ่งประเสริฐที่มีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอารย์ ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก”
ละอย่างหนึ่งติดอีกอย่างหนึ่ง
ลูกศิษย์คนหนึ่งรายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า
“เมื่อนั่งภาวนา ก็ละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตสงบ ดิ่งสู่สมาธิ มีแต่ความสุข อย่างยิ่ง สบาย จะให้นานเท่าไรก็ได้”
หลวงปู่ยิ้ม แล้วพูดว่า
“ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิ มันก็สุขจริงๆจะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้อยู่แค่นั้น ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัดภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ห้า ให้แจ่มแจ้งต่อไป”
มีคนอยากฟังความเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด อ้างว่าท่านผู้นั้นผู้นี้ระลึกชาติได้ ใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง
หลวงปู่บอกว่า
“เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไรจิตบันดาลได้ทั้งนั้น หากพอใจแค่นี้ ผลดีก็คือทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ต่ำ ทำให้ตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล ไม่เบียดเบียนกันแล้วก็พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก”
หลวงปู่เปรียบเทียบให้ฟัง
พุทธศาสตร์นั้นต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างสมดุล และใช้ความเพียรชั้นอุกฤษฏ์ เพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุดของพุทธธรรมด้วยตนเอง หมดข้อสงสัยได้เองโดยสิ้นเชิง เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ มีคนอธิบายให้ฟังว่า กรุงเทพฯนอกจากมีความเจริญแล้ว ยังมีกำแพงแก้วและภูเขาทองอันมหึมาอีกด้วย เขาจึงคิดว่าจะไปเอาแก้วที่กำแพงและไปเอาทองที่ภูเขา ครั้นเพียรพยายามไปจนถึงแล้ว ผู้รู้ก็ชี้ว่านี่คือกำแพงแก้ว นี่คือภูเขาทอง เพียงแค่นี้ความตั้งใจและความสงสัยของเขาก็สิ้นสุดลงทันที
มรรคผลนิพพานก็เช่นนั้นเหมือนกัน
และหน้าสุดท้ายของหนังสือ เป็นพุทธวัจนะ
“ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิหรือแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ฯ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระความสำรวม เพื่อปหานะความละ เพื่อวิราคะความหายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะ ความดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้ นอกจากแนวทางนี้แล้ว ผิดทั้งหมด”
พอดีฉันไปอ่านพบ ในเว็บไซต์ ที่อาจารย์ศุภวรรณตอบคำถาม
มีหลายครั้งที่อาจารย์ได้รับอีเมล์บอกว่า คำสอนของอาจารย์ศุภวรรณเหมือนของหลวงปู่ดุลย์ อาจารย์ยังไม่เคยอ่านหนังสือของหลวงปู่ แต่วันนี้พอดีมีผู้อ่านส่งอีเมลให้อาจารย์และได้แนบคำสอนของหลวงปู่ดุยล์ อตุโลมาเรื่องอริยสัจสี่
อ่านแล้วก็เข้าใจคำสอนของหลวงปู่ (ตรงที่ขีดเส้นใต้)ได้เช่นนี้
จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
(สนองอารมณ์-เวทนา)
ภาษาของศุภวรรณคือ เมื่อตัวใจออกจากบ้านของใจไปท่องเที่ยวกับเจอรี่ เป็นสาเหตุของความทุกข์
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
(หวั่นไหว-คิดปรุงแต่ง, ตัณหา)
ภาษาของศุภวรรณคือ เมื่อตัวใจออกจากบ้านท่องเที่ยวไปกับเจอรี่แล้ว ก็อาจพบคนร้ายที่มาทำร้ายตัวใจของเราบ้าง เจออุบัติเหตุบ้าง พบภัยธรรมชาติบ้าง หลงทางบ้างเพราะหาทางกลับบ้านไม่ถูกบ้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจหวั่นไหว จึงเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
(สติเห็นจิตสังขารในขันธ์๕)
ภาษาของศุภวรรณคือ เมื่อตัวใจสามารถอยู่ติดบ้าน หรือ ตาใจเห็นลมหายใจ เห็นการเคลื่อนไหวของกาย (กลับบ้านที่ ๑) ตาใจเห็นความรู้สึกของกาย(กลับบ้านที่ ๒) ตาใจเห็นการเกิดดับของความคิด หรือ เห็นการทำงานของเจอรี่ จนสามารถแยกแยะความคิดออกจากช่องว่างของใจ (กลับบ้านที่ ๓ จิตเห็นจิต) ใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นและเข้าใจการทำงานของความคิดของตนเอง จึงพบมรรค หรือ ทางเดินที่จะออกจากทุกข์
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
ภาษาศุภวรรณคือ เมื่อใครพาตัวใจกลับบ้านที่ ๑, ๒ และ ๓ ได้แล้ว ก็จะย่างเข้าบ้านที่ ๔ รับผัสสะบริสุทธิ์ พบสัจธรรม หรือ เข้าถึงพระนิพพานซึ่งเป็นสภาวะดับทุกข์หรือนิโรธ

:b39:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร