ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เมื่อสุขของบุคคล คือสุขเพื่อมวลชนทั้งโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=61358
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 22 พ.ย. 2021, 10:33 ]
หัวข้อกระทู้:  เมื่อสุขของบุคคล คือสุขเพื่อมวลชนทั้งโลก

เมื่อสุขของบุคคล คือสุขเพื่อมวลชนทั้งโลก
อีกอย่างหนึ่งที่โยงกับเมื่อกี้ คือว่า เพราะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ โล่ง ไม่มีอะไรค้างคาระคายเลยนี้แหละ พระอรหันต์จึงสัมผัสเข้าถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขได้ทันที เช่น ถึงกันกับธรรมชาติ ไม่มีอะไรในใจของตัวที่จะมากีดมากันมาขวางมากั้น

เหมือนอย่างพระอรหันต์ขึ้นบนภูเขา เข้าไปในป่า ก็เกิดความสุขฉับพลัน พอมาสัมผัสธรรมชาติ ท่านก็มีความสุขทันที

ไม่เหมือนคนที่ยังมีทุกข์ มีเชื้อทุกข์อยู่ เข้าไปในที่ๆ น่าจะมีความสุข แต่เจ้าตัวความกังวล ความห่วง ความไม่สบายใจ ความคิดถึงการแข่งขัน เรื่องการค้าขาย เรื่องการเมือง ฯลฯ อะไรต่างๆ สารพัด ก็ตามไปรังควานใจ ทำให้สัมผัสไม่ถึงความสุข หรือแม้สุข ก็สุขไม่ได้เต็มที่

สำหรับพระอรหันต์นั้น สภาพแวดล้อมทั่วไป มีแต่สิ่งที่มาเสริมความสุขให้ จนกระทั่งถึงว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่เอื้อ ก็เป็นที่รื่นรมย์ได้หมด และไม่เฉพาะตัวท่านเองที่มีความสุขพร้อมอยู่เสมอแล้วเท่านั้น ผู้คนอื่นมาอยู่ใกล้ท่าน สภาพที่เคยวุ่นวาย ก็กลายเป็นที่สบายใจไปด้วย ดังที่มีคำตรัสเป็นคาถาธรรมบทว่า

คาเม วา ยทิ วารญฺเญ นินฺเน วา ยทิ วา ถเล

ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ

แปลว่า: ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์

พระอรหันต์จะไปอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย ท่านสามารถมองสิ่งปฏิกูล ของน่ารังเกียจ ให้ดูดีน่าสบายใจ ก็ได้ เพราะมีอำนาจบังคับสัญญาตามต้องการ (เป็นภาวิตินทรีย์)

นี่ก็เป็นเรื่องของความสามารถในการมีความสุข ที่ว่าเป็นไปเองตามการพัฒนาของมนุษย์

การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไปอย่างนี้ เมื่อความสุขสมบูรณ์ ธรรมอื่นก็สมบูรณ์ด้วย เป็นไปเองตามกระบวนการธรรมชาติ อย่างเรื่องแม่ไก่ฟักไข่ จึงแน่นอน ไม่มีอะไรจะต้องสงสัย

จึงได้บอกไว้ จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่ากระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ จะพูดว่าอะไร เมื่อเข้าแนวธรรม ลงกับธรรมดาของธรรมชาติ ก็พูดได้ทั้งนั้น ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ยังไม่จบ ขอบอกเพิ่มว่า ความสุขที่บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ปรากฏเป็นคุณสมบัติที่มีความหมายแผ่ขยายออกไป ที่ควรต้องกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่ง คืออะไร

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 22 พ.ย. 2021, 10:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เมื่อสุขของบุคคล คือสุขเพื่อมวลชนทั้งโลก

ขยายความหน่อยหนึ่งว่า พอคนพัฒนาตนสมบูรณ์ มีความสุขที่สมบูรณ์แล้ว ก็หมายความว่า คุณสมบัติต่างๆ ก็มาถึงจุดสมบูรณ์ทั้งหมด โดยมาบรรจบที่ปัญญาอันสมบูรณ์เป็นโพธิ รู้เข้าใจทั่วถึงเท่าทันสิ่งทั้งหลาย ทำให้จิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ และวางใจต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องลงตัวพอดีทั้งหมด

ถึงจุดนี้ บุคคลนั้นก็เป็น “กตกรณีย์” คือเป็นผู้ทำสิ่งที่ต้องทำเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อให้ตัวเป็นอย่างนี้อีก อะไรที่จะทำเพื่อให้ตัวเป็นสุข ก็ไม่ต้องทำแล้ว แม้แต่จะฝึกตนเพื่อให้พัฒนาในชีวิต ในการศึกษาอะไร ก็ไม่ต้องทำแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป

พูดง่ายๆ ว่า พระอรหันต์มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไปแล้ว เพราะมีชีวิตที่สมบูรณ์แล้ว ศึกษาพัฒนาจบแล้ว เป็นอเสขะ เป็นภาวิต

เมื่อตัวเองสมบูรณ์จนหมดตน ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเพื่อให้มีความสุข ไม่ว่าจะเพื่อพัฒนาตน ไม่ว่าเพื่ออะไรแล้ว คราวนี้จะทำอะไรต่อไป ชีวิตก็ยังอยู่ แถมชีวิตที่ยังมีนั้น ก็เป็นชีวิตที่ได้พัฒนาแล้วอย่างดี เต็มที่ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เปี่ยมด้วยประสบการณ์เยี่ยมยอด

ทีนี้ ก็นำเรี่ยวแรงพลังงานเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นมาทำการเพื่อโลก คือเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกต่อไป

ตอนนี้ก็จึงมาบรรจบกัน คนที่พัฒนาสูงสุดหมด กิเลสมีความสุขสมบูรณ์แล้ว ก็ใช้คำสั้นๆ ว่านิพพาน ก็คือบุคคลนั้นนิพพาน พอบุคคลนิพพาน ทีนี้ก็ทำการเพื่อโลก จึงเป็นคติพุทธศาสนา

พูดสั้นๆ ว่า “บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก”

อนึ่ง ตรงนี้ มองมาได้จากหลายแง่ และแง่หนึ่งที่อยากจะให้มองในตอนนี้ ก็คือ การที่คุณสมบัติด้านปัญญาที่สมบูรณ์ ส่งผลให้คุณสมบัติด้านจิต (ที่ปัจจุบันนิยมใช้คำว่าอารมณ์) สมบูรณ์ด้วย ก็คือปัญญาทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ

แล้วจิตที่เป็นอิสระของผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว ตนเองมีความสุขสมบูรณ์แล้ว พร้อมด้วยปัญญาที่มองเห็นหมู่มนุษย์ที่ยังมีทุกข์ ก็พ่วงเอากรุณาที่แท้มา จึงมุ่งหน้าแต่จะไปแก้ไขทุกข์ นำสุขมาให้แก่หมู่มนุษย์เหล่านั้นสืบต่อไป และนั่นก็คือชีวิตที่แท้ของพระอรหันต์

มีแง่ที่พึงกล่าวแทรกว่า เป็นธรรมชาติของคน เมื่อมีทุกข์ ก็จะระบายกระจายทุกข์ออกไป ถ้าระบายออกได้ทางปาก โดยจัดทางระบายให้ปลอดภัย ก็จะผ่อนคลายมีทางแก้ไขปัญหาได้ดี แต่ถ้าไม่จัดช่องระบายทางปากให้ดี ก็อาจใช้กำลังร่างกายเป็นต้น แผ่ขยายทุกข์ออกไปในหมู่มนุษย์ให้เป็นปัญหาที่พาให้เดือดร้อนกันไปทุกที่

ในทางตรงข้าม คนที่มีความสุข ก็มีพลังที่จะแผ่รังสีแห่งความสุขให้กระจายแพร่ออกไป ยิ่งเป็นผู้ที่มีความสุขเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แล้ว เมื่อตนได้หลุดพ้นเป็นอิสระ ก็อยากจะไปช่วยคนอื่นที่ยังถูกมัด ให้หลุดพ้นเป็นอิสระด้วย

ดังนั้น พระอรหันต์จึงเปรียบหมือนคนที่หลุดพ้นออกไปจากเครื่องผูกมัด เป็นอิสระเสรีแล้ว เมื่อหายเดือดร้อนวุ่นวายกับเรื่องของตัวเองแล้ว ปัญญาที่มองกว้างออกไป ได้เห็นผู้คนทั้งหลายถูกมัดอยู่ ก็ทำให้เกิดพลังแห่งกรุณา ที่ปรารถนาจะช่วยคนเหล่านั้นให้หลุดออกมาด้วย ดังนั้น เมื่อตนเองไม่มีอะไรต้องวุ่นพะวงอีกแล้ว ก็เที่ยวแก้มัดคนอื่นไปทั่ว

เป็นอันว่า เมื่อบุคคลนิพพาน และความสุขก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรต้องทำให้แก่ตัวเองอีกแล้ว ก็ทำการเพื่อโลกต่อไป

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 22 พ.ย. 2021, 10:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เมื่อสุขของบุคคล คือสุขเพื่อมวลชนทั้งโลก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ในคราวส่งพระสาวก ชุดแรก ๖๐ องค์ ไปประกาศพระพุทธศาสนาว่า ทั้งพระองค์เอง และพระสาวกเหล่านั้นก็เช่นเดียวกัน ได้หลุดพ้นแล้วจากบ่วงผูกรัดทั้งปวง ทั้งบ่วงทิพย์ และบ่วงมนุษย์ เป็นอิสระเสรีแล้ว

เพราะฉะนั้น “จะระถะ ภิกขะเว … พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่เหล่าพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก

นี่คือคติพระอรหันต์ ตัวเองหมดกิจที่ต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว ทีนี้ก็ทำเพื่อโลกอย่างเดียว เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันตสาวก ดังที่กล่าวมา

รวมความว่า ตั้งแต่เริ่มต้น การปฏิบัติธรรมก็มีสองด้านคู่กันไป ทั้งการทำเพื่อขัดเกลาตนเอง และการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น บางวิถีที่กว้างออกไป ก็ปฏิบัติเพื่อผู้อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์

ทั้งนี้ การปฏิบัติก้าวหน้าไป ให้ตนเองได้พัฒนามากขึ้น ก็มีความหมายรวมไปถึงการทำเพื่อผู้อื่นด้วย โดยที่การทำเพื่อผู้อื่นนั้น ก็เป็นวิธีการที่รวมอยู่ในการพัฒนาตนนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมทั้งหมด ตลอดกระบวนการ ทั้งการทำกิจในการฝึกตัวเองก็ตาม ในการทำเพื่อผู้อื่นก็ตาม แม้ถึงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็คือการพัฒนาตัวเอง เพราะยังมีตัวเองที่ต้องฝึกต้องพัฒนาอยู่ ตอนแรก ไม่ว่าทำที่ตน หรือทำแก่คนอื่น ก็คือกิจเพื่อตน เป็นกิจคู่กันไปในการพัฒนาตน

แต่พอพัฒนาตนจบแล้ว เรียกว่าจบกิจในพระศาสนา ทีนี้ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว จึงมาถึงคติที่ว่า “บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก” ดังได้กล่าวแล้ว

ถึงตอนนี้ ความสุขสูงสุด ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ของบุคคล ก็แผ่ขยายออกไปเป็นความสุขของมวลชนทั้งโลก

ตรงนี้ ก็เหมือนกับว่า พุทธพจน์สำคัญว่าด้วยความสุขที่เป็นจุดหมายสูงสุดของการพัฒนาชีวิต กับพุทธพจน์สำคัญว่าด้วยความสุขที่เป็นจุดหมายอันยิ่งใหญ่ของการบำเพ็ญ พุทธกิจมาประสานบรรจบ และส่งต่อผลแก่กัน คือ พุทธพจน์ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ (นิพพานเป็นบรมสุข) มาบรรจบรับกันกับพุทธพจน์ว่า พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ (เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก)

พูดสั้นๆ ว่า สภาวะสูงสุดแห่ง “บรมสุข” อำนวยผลกว้างใหญ่เป็น “พหุชนสุข” ซึ่งถือความโดยนัยว่า “บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก” ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น

พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมา ฉะนี้แล

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/