ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=61333
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 พ.ย. 2021, 15:21 ]
หัวข้อกระทู้:  ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้

ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้
คราวนี้ก็มาถึงเรื่องคุณและโทษของความสุข บอกแล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้น โดยทั่วไปพระพุทธเจ้าจะตรัส ทั้งในแง่ว่ามีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร และในเมื่อยังมีคุณมีโทษอยู่อย่างนี้ มีจุดไหนที่ไหนที่จะพ้นไปได้จากข้อดีข้อด้อยเหล่านั้น ก็คือพัฒนาต่อไปนั่นเอง

วิธีมองสิ่งทั้งหลายอย่างที่ตรัสนี้ จะทำให้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อย พอไปถึงจุดหนึ่ง เราก็ยอมรับว่าอันนี้มีข้อดีอย่างนี้ แต่ยังมีข้อด้อยข้อเสียอย่างนั้น แล้วทางออกอยู่ไหน ก็พัฒนาต่อไป พอไปถึงตรงนั้น ก็ดูข้อดีอันนั้นข้อด้อยอันนี้ แล้วที่ไหนจะพ้นไปได้ ก็ไปต่อ

พูดตามภาษาหลัก ก็บอกว่า เป็นวิธีการพัฒนาโดยรู้ข้อดี ข้อด้อย และทางออก คือ รู้อัสสาทะ อาทีนาวะ และนิสสรณะ ๓ อย่างนี้ไปเรื่อย แล้วก็เดินหน้าไปเรื่อย จะทำงานทำการอะไร ก็คอยดูชุด ๓ นี้ไว้ ก็จะมีการพัฒนาเรื่อยไป อย่ามัวเพลินนึกว่าอะไรๆ ก็สมบูรณ์แล้ว ก็เลยหยุด เฉย ละเลย ประมาท ก็จะเสียการ

ทีนี้ก็มาดูกันต่อไปในเรื่องคุณและโทษของความสุข แต่ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะพูดลึกลงไปถึงรายละเอียด ว่า สุขแต่ละอย่าง แต่ละประเภท แต่ละขั้น มีคุณ มีโทษ มีข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย และที่ดีที่พ้นไปอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาแยกแยะออกไป จึงจะพูดถึงจุดใหญ่หรือจุดสำคัญที่โยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้กว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปค่อนข้างชัดเจน

ในระดับหนึ่งที่นับว่าสำคัญ พูดได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป โยงไปถึงเรื่องการพัฒนาชีวิต การปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา หรือการศึกษาทั้งหมด ก็คือเรื่องสมาธิ

ในเรื่องนี้ ความสุข มีคุณ เป็นข้อดีที่เด่นเห็นชัด ว่าตามคำบาลี ก็คือ “สุขปทฏฺฐาโน สมาธิ” แปลว่า สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน ก็คือสุขนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเหตุใกล้ของสมาธิ

“สุข” แปลว่าคล่อง แปลว่าสะดวก แปลว่าง่าย คือ ไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่ติดขัด ไม่ถูกกดดัน ก็ไม่ต้องดิ้นรน ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวาย ก็สงบ พอสุขก็สงบ พอสงบ สมาธิก็มาง่าย มาได้เลย พร้อมอยู่แล้วที่จะเป็นสมาธิ

เพราะฉะนั้น สมาธิจึงอาศัยสุขเป็นที่ตั้ง ก็เลยพูดเป็นหลักไว้ให้รู้กันว่า สุขปทัฏฐาโน สมาธิ แปลว่า สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน ได้แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า ความสุขนี้มีคุณมาก

แล้วสุขก็เป็นอาการของชีวิตที่มีคุณภาพ อย่างพระอรหันต์เวลาว่าง ไม่มีกิจที่ต้องทำ ท่านก็พักอยู่ด้วยภาวะจิตที่เป็นสุขในเวลาปัจจุบัน เรียกว่าทิฎฐธรรมสุขวิหาร ซึ่งตามปกติก็มักอยู่ด้วย ถึงไม่มีอะไรทำที่จะเป็นสุข ก็อยู่อย่างเป็นสุขตลอดเวลาในวาระนั้นๆ อันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดมากนัก

ส่วนในด้านโทษ ก็ต้องพูดว่า โทษของสุขมีไม่น้อย ข้อที่สำคัญก็คือ สุขนั้นชวนให้ประมาท ทำให้มัวเมา ลุ่มหลง เพลิน ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา

ไฟล์แนป:
d6azu81-467b7dca-3db8-4804-bdfe-f3bab3b05bd3.png
d6azu81-467b7dca-3db8-4804-bdfe-f3bab3b05bd3.png [ 68.44 KiB | เปิดดู 307 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 พ.ย. 2021, 15:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้

แม้สมาธิที่มีสุขเป็นบรรทัดฐาน ก็มีโทษในแง่นี้ด้วย ใช้คำบาลีว่า สมาธิเป็นโกสัชชปักข์ คือเป็นพวกเดียวกับความขี้เกียจ ( แปลว่า ความเกียจคร้าน, ปักข์ แปลว่า พวก หรือฝ่าย)

แต่ในเวลาเดียวกัน สมาธิก็เป็นโพธิปักขิยะ อยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือเป็นธรรมในฝักฝ่ายแห่งการการตรัสรู้ อยู่ข้างโพธิ คือโพธิ ความตรัสรู้นั้นก็ต้องอาศัยสมาธิ

ตรงนี้ควรจับเป็นข้อสังเกตไว้ คือ สมาธิ นี้ อยู่ใน “โพธิปักข์” เป็นธรรมในฝ่ายของการตรัสรู้ แต่มันก็เป็น “โกสัชชปักข์” เข้าพวกกับความขี้เกียจด้วย

เพราะฉะนั้น เวลามองธรรม อย่าไปมองในแง่ดีอย่างเดียว แง่ที่จะเสียก็มี ต้องมองไว้ด้วย แล้วก็ระวัง อย่าประมาท ถ้าปฏิบัติสมาธิ ใช้ไม่ถูกทาง ทำให้เกิดความเกียจคร้าน ก็เสีย

เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ใช้สติคอยระวัง ตรวจดูไว้ ตอนนี้ได้สมาธิแล้ว มันเขวไปทางจะเกียจคร้านหรือเปล่า เฉื่อยชาไหม ติดไหม ถ้าเพลินสมาธิ ติดสุขไป ก็กลายเป็นประมาท มีโทษมาก เป็นอันว่า ต้องระวังไว้ รู้จักใช้ให้เป็น อย่าให้จมลงไปในความประมาท

คนเรานี้ พอมีความสุข โดยเฉพาะกามสุข ก็มีความเป็นไปได้มาก ที่จะลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา สยบ ติด แล้วก็ประมาท พอสุขแล้ว ก็ไม่กระตือรือร้น ไม่อยากทำอะไร ทั้งที่มีอะไรรอที่จะต้องทำ ก็ปล่อย เรื่อยเฉื่อย ผัดเพี้ยน แล้วก็เลยขี้เกียจ แล้วก็กลายเป็นคนอ่อนแอ

เพราะฉะนั้น คนที่มีความสุขแล้ว ถ้าไม่มีสติ มัวเพลิน เรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ก็จะประมาท แล้วก็อ่อนแอ แล้วก็เสื่อม อาจจะถึงกับวิบัติ หรือพินาศ ไม่ว่าบุคคล หมู่ชน ประเทศชาติ จนถึงอารยธรรมทั้งหลาย เข้าวงจรนี้กันมามากมาย

พอมีโทษอย่างนี้ ก็รู้สึกเหมือนว่าสุขจะมีคุณค่าตกต่ำมากๆ แต่ที่จริง สุขก็คือสุข คนที่มีกิเลสต่างหากปฏิบัติต่อสุขไม่ถูกต้อง จึงทำให้ประมาท เป็นต้น อย่างที่ว่านั้น

ทีนี้ ความสุขที่เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับมนุษย์จำนวนมาก หรือชาวโลกทั่วไป ก็คือ กามสุข จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงกามสุขนั้นอีก แม้ว่าจะพูดถึงมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ต้องพูดคราวนี้ เพราะโยงไปต่อกับด้านการปฏิบัติ

กามสุข หรือสุขอาศัยอามิส สุขจากวัตถุที่แสวงหามาเสพ ที่ได้ที่เอาเพื่อตัวเอง มีโทษมากอย่างไร จึงจำเป็นต้องเอาศีล ๕ มาคุม อันนี้คือจุดอ่อน เป็นข้อด้อยข้อเสียพื้นฐานของกามสุขนั้น คือมันเป็นเหตุของการแย่งชิงเบียดเบียนกันในสังคมมนุษย์

เนื่องจากสิ่งที่จะมาสนองให้เกิดความสมปรารถนานั้นอยู่ข้างนอก และมันก็มีไม่เพียงพอแก่ความต้องการของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในเมื่อต่างคนต่างก็ต้องการ และทุกคนก็อยากได้ให้มากที่สุด คนก็เพ่งก็จ้องกัน ก็กลายเป็นปฏิปักษ์กัน ก็ขัดแย้งกัน แล้วก็แย่งชิงกัน

ตามมาด้วยการข่มเหง การใช้เล่ห์กลต่างๆ การหลอก การลวง การลักขโมย การหาพวก หาอำนาจมากดบีบกัน ฯลฯ

รวมแล้วก็คือเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในสังคม ตั้งแต่ระหว่างบุคคล ไปจนถึงระหว่างประเทศ แม้กระทั่งเป็นสงครามโลก เป็นที่มาของทุกข์ภัยสารพัด แก้ปัญหากันไม่รู้จบสิ้น ปากร้องหาสันติภาพ มือกวัดแกว่งดาบกันไปมา นี้คือโทษประการแรกของกามสุข

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 พ.ย. 2021, 15:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้

การเบียดเบียนกัน ที่เป็นปัญหาก่อทุกข์ภัยแผ่ขยายออกไปภายนอกนั้น ก็มีต้นตออยู่ในใจ คือความอยากได้ไม่รู้จักพอ อันเป็นลักษณะธรรมดาสามัญของตัณหา แล้วความไม่รู้จักพอ ที่สนองไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเต็มนั้น ก็เกิดเป็นปัญหาที่ก่อทุกข์ขึ้นมาภายในตัวเองด้วย

ตัวคนนั้นเอง ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งอยากได้มากขึ้น ที่เคยได้ในดีกรีและปริมาณเท่านี้ เคยเป็นสุข ต่อมา ได้เท่านั้นไม่เป็นสุขแล้ว กลายเป็นชินชา ของที่เคยทำให้สุข ก็เปลี่ยนเป็นเฉย จากนั้นก็เบื่อหน่าย

พอเบื่อหน่ายแล้ว ที่เคยขาดไม่ได้ ก็กลายเป็นจำใจทน ที่เคยทำให้สุข ก็กลายเป็นทำให้ทุกข์ ความอยากก็เปลี่ยนไป กลายเป็นต้องการว่า เมื่อไรจะหาย เมื่อไรจะไปสักที นี่ก็คือทุกข์ภัยอย่างหนึ่ง

แต่ก่อนนี้ไม่มีเงินสักบาทเดียว พอหาเงินได้พันบาท ก็ดีใจเป็นสุขเหลือล้น มีรายได้วันละพันบาท แหมมีความสุขจัง ต่อไปก็หวังใหม่อยากได้วันละแสน ฝันว่าถ้าได้วันละแสนบาทนี่ ต่อไปฉันไม่เอาอะไรแล้ว แสนสบายมีความสุขเต็มที่ เกิดได้วันละแสนบาทขึ้นมาจริงๆ ตอนแรกสุขเหลือเกิน ยินดีปรีดาสุขสันต์หรรษาเต็มที่

ถ้ามองลึกลงไปในตอนนี้ จะเห็นความคืบขยายของตัณหา ที่ก่อปัญหาทำให้เกิดทุกข์จากความไม่รู้จักพอ ขึ้นมา ๒ อย่าง

หนึ่ง ก็คือ พอได้วันละแสนแล้วอย่างนี้ ถ้าวันไหนเกิดได้วันละพันบาท ที่เมื่อก่อนเคยได้แล้วมีความสุขเต็มที่นั้น คราวนี้กลายเป็นทุกข์ไปแล้ว ที่เคยได้แล้วเป็นสุข ก็กลายเป็นทุกข์ไปเลย

สอง ที่ว่าได้วันละแสนจะไม่เอาอะไรอีกแล้วนั้น ต่อมา ก็ชินชา เบื่อ แล้วก็อยากได้วันละล้าน จึงจะสุขสมใจได้ แล้วก็จะเขยิบขึ้นเรื่อยไปไม่รู้จักจบ

นี่ก็เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แม้แต่เนรมิตภูเขาให้เป็นทองคำทั้งลูก ก็ไม่พอแก่ความต้องการของบุคคลผู้เดียว เพราะความต้องการนั้นไม่รู้จบไม่รู้พอดังที่ว่ามา

เรื่องอย่างนี้ท่านเล่าไว้มากมาย ให้รู้ทันว่าความต้องการของมนุษย์นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากได้ไม่มีที่จบสิ้น จึงทั้งเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันก่อทุกข์ภัยข้างนอกมากขึ้น และข้างในใจของตัวเองก็ยิ่งมีทุกข์ซับซ้อนมากขึ้น แล้วพร้อมกันนั้น ความทุกข์จากความเบื่อหน่ายชินชาก็เข้ามาซ้ำอีกชั้นหนึ่งด้วย

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/