วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 11:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




_PNG15918 (1).png
_PNG15918 (1).png [ 71.43 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: กรรม ๑๒

กรรม ๑๒ หรือ กรรมสี่ ๓ หมวด ตามที่ท่านแสดงไว้ในและทั้งหลาย มีหัวข้อและความหมายโดยย่อดังนี้

หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือนี้ ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่หนึ่ง กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็น อโหสิกรรม ไม่มีผลต่อไป เหตุที่ให้ผลในชาตินี้ เพราะเป็นเจตนาดวงแรก ไม่ถูกกรรมอื่นครอบงำ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น จึงมีกำลังแรง แต่ไม่ให้ผลต่อจากชาตินี้ไปอีก เพราะไม่ได้การเสพคุ้น จึงมีผลเล็กน้อย ท่านเปรียบว่า เหมือนพรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูก เนื้อก็ล้มที่นั่น แต่ถ้าพลาด เนื้อก็รอดไปเลย

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่ ๗ กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นเจตนาท้ายสุดของชวนวิถี เป็นตัวให้สำเร็จความประสงค์ และได้ความเสพคุ้นจากชวนเจตนาก่อนๆ มาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกำลังจำกัด เพราะเป็นขณะจิตที่กำลังสิ้นสุดชวนวิถี

๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่ทำในขณะแห่งชวนจิตทั้ง ๕ ในระหว่าง คือ ในชวนจิตที่ ๒-๖ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่สอง ถึงที่หก กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือ ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ใน สังสารวัฏท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตามทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น

๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป (อโหสิกรรมนี้ ความจริงเป็นคำสามัญแปลว่า “กรรมได้มีแล้ว” แต่ท่านนำมาใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในความหมายว่า “มีแต่กรรมเท่านั้น วิบากไม่มี” ดู วิสุทฺธิ.๓/๒๒๓ ย่อจาก ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๒๓/๔๑๔ มิใช่แปลว่าเลิกให้ผล หรือให้ผลเสร็จแล้ว อย่างที่แปลแบบให้เข้าใจกันง่ายๆ ตามสำนวนที่เคยชิน)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 11:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




_PNG15912 (1).png
_PNG15912 (1).png [ 199.53 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่

๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะที่ปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป (ปวัตติกาล)

๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

๗. อุปปีฬกกรมม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ซึ่งให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

๘. อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนความสามารถของกรรมอื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 11:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




space-facts-07.jpg
space-facts-07.jpg [ 50 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามแง่ที่ยักเยื้องกัน คือลำดับความแรงในการให้ผล

๙. ครุกรรม กรรมหนัก ได้แก่ กรรมที่มีผลแรงมาก ในฝ่ายดี ได้แก่ สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม มีมาตุฆาตเป็นต้น ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆ เสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมาก หรือกรรมชิน ได้แก่ กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก หรือทำบ่อยๆ สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือเป็นคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก เคยชิน มีกำลังกว่า ก็ให้ผลได้ก่อน เหมือนนักมวยปล้ำ ลงสู้กัน คนไหนแข็งแรง เก่งกว่า ก็ชนะไป กรรมนี้ ต่อเมื่อไม่มีครุกกรรม จึงจะให้ผล

๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ได้แก่ กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ (แต่คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนอาจิณณกรรม) เปรียบเหมือนโคแออัดอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูออก โคใดอยู่ริมประตูคอก แม้เป็นโคแก่อ่อนแอ ก็ออกไปได้ก่อน

๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆ โดยตรง เป็นกรรมที่เบา เปรียบเหมือนลูกศรที่คนบ้ายิงไป ต่อเมื่อไม่มีกรรมสามข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 12:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




97d630507853de7d27e943f072c09a08.jpg
97d630507853de7d27e943f072c09a08.jpg [ 78.34 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ (สงฺคห.๒๘ และอธิบายใน สงฺคห.ฏีกา ๑๖๓-๖) แสดงกรรมสี่ไว้อีกหมวดหนึ่ง รวมเป็นกรรม ๑๖ คือ

หมวดที่ ๔ ว่าโดยปากัฏฐาน จำแนกตามสถานที่คือภพเป็นที่ให้ผล

๑๓. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล ยกเว้นอุทธัจจะ หรือจำแนกโดยนัยหนึ่งได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

๑๔. กามาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็น ระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (คือ มนุษย์ และสวรรค์ ๖)

๑๕. รูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล ระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ หรือ ๕ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

๑๖. อรูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล ระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดใน อรูปภพ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 05:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




begger-png-4-300x200.png
begger-png-4-300x200.png [ 59.07 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนั้น เรียงลำดับหมวดกรรม ต่างจากนี้ คือ

๑ = หมวด ๒

๒ = หมวด ๓

๓ = หมวด ๑

๔ = หมวด ๔

คัมภีร์ วิสุทธิมัคค์ (วิสุทฺธิ.๓/๒๒๓) เรียง

๑ = หมวด ๑

๒ = หมวด ๓

๓ = หมวด ๒

คัมภีร์ (องฺ.อ.๒/๑๓๑-๑๔๑, ๑๔๖) อธิบายเรื่องกรรม ๑๒ นี้ไว้โดยพิสดารยิ่งกว่าที่อื่นๆ แต่ท่านเรียกการจำแนกกรรมแบบนี้ว่าเป็นสุตตันติกปริยาย คือเป็นแนวทางนักพระสูตร และนับจำนวนว่าเป็นกรรม ๑๑ โดยถือว่าอโหสิกรรม เป็นเพียงอาการที่กรรมต่างๆ ไม่ให้ผล เป็นเพียงคำที่ใช้อธิบายกรรมอื่นๆ แทรกอยู่ในที่ต่างๆ จึงไม่นับเป็นกรรมอย่างหนึ่งต่างหาก

นอกจากนั้น ท่านกล่าวว่า กรรมโดยอภิธรรมปริยาย คือแบบอภิธรรม มีจำนวน ๑๖ ได้แก่ กรรมที่จำแนกด้วย สมบัติ ๔ และ วิบัติ ๔ ที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการให้ผลของกรรม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 05:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




tumblr_pfklkhefOV1wtg8hyo1_500.png
tumblr_pfklkhefOV1wtg8hyo1_500.png [ 293.78 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
นอกจากนี้อรรถกถาจารย์ ยังมีที่อธิบายกรรมชุดนี้ไว้ไม่ครบจำนวนอีก ๒-๓ แห่ง โดยเฉพาะคัมภีร์ ปปัญจสูทนี อธิบายเฉพาะหมวดที่ ๑ (ม.อ.๓/๓๑๕) และเฉพาะหมวด ๒ ( ม.อ.๓/๖๕๒)

กรรม ๑๒ นี้ เรียกได้ว่าเป็นมติของพระอรรถกถาจารย์โดยแท้ แม้ว่าจะมีบางข้อที่ได้เค้าความเดิมจากพระบาลี คือพระไตรปิฎก กรรมบางข้อที่ว่านั้น ได้แก่ กรรมในหมวดแรก ซึ่งจำแนกตามเวลาที่ให้ผล โดยเฉพาะ ๓ ข้อแรก ซึ่งมีต้นเค้ามาจากพระบาลี ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมทั้งหลายเป็นไฉน? เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลายมี ๓ อย่าง คือ ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) ในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อๆ ไป (อปเร วา ปริยาเย)”
(องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๓๔/๔๖๕)


“ภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย มี ๓ ประการดังนี้ สามประการ อะไรบ้าง? ได้แก่ โลภะ..โทสะ..โมหะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย

“กรรมที่กระทำด้วยโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นสมุทัย...กรรมที่กระทำด้วยโทสะ...กรรมที่กระทำด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัย ย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด, กรรมนั้นให้ผล ณ ที่ใด เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ณ ที่นั้น ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อๆ ไป (อปเร วา ปริยาเย)”

(องฺ.ติก. ๒๐/๔๗๓/๑๗๑)


อรรถกถาซึ่งอธิบายบาลีแห่งนี้แหละ คือแหล่งที่อธิบายเรื่องกรรม ๑๒ อย่างพิสดารกว่าที่ใดอื่น ดังได้เคยอ้างถึงแล้วข้างต้น (องฺ.อ.๒/๑๓๑)

ในมหากรรมวิภังคสูตร (ม.อ. ๑๔/๖๑๒-๖๑๕/๓๙๗-๓๙๘) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกบุคคลเป็น ๔ ประเภท โดยสัมพันธ์กับการให้ผลของกรรม จับความได้ดังนี้

บุคคลที่ ๑ เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, การที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เขาย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช) หรือในลำดับต่อๆ ไป (อปเร วา ปริยาเย)

บุคคลที่ ๒ เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึงเสวยผลเป็นสุขไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือเข้าไว้เต็มที่, ส่วนการที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมจะได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆ ไป

บุคคลที่ ๓ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึงเสวยผลเป็นสุขไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือสัมมาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, ส่วนการที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมจะได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆ ไป

บุคคลที่ ๔ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, ส่วนการที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมจะได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆ ไป

อรรถกถาที่อธิบายบาลีแห่งนี้ (ม.อ.๓/๖๖๐) ไขความโดยใช้คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียะ อุปปัชชเวทนียะ และ อปราปริย-เวทนียะ อย่างชัดเจน นอกจากนั้นจะเห็นเค้าของอาสันณกรรม (กรรมที่ทำหรือระลึกในเวลาใกล้ตาย) อีกด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 06:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




IE-holy-man-standing-in-robes.png
IE-holy-man-standing-in-robes.png [ 35.72 KiB | เปิดดู 750 ครั้ง ]
คัมภีร์อปาทาน ซึ่งเล่าประวัติในอดีตของพระสาวกทั้งหลาย ได้กล่าวถึงอสสันณกรรมกระจายอยู่หลายแห่ง (ขุ.อป. ๓๒/๓๕๐/๔๓๖; ขุ.อป. ๓๓/๑๑/๒๔; ขุ.อป. ๓๓/๒๒/๔๕; ขุ.อป. ๓๓/๑๑๑/๑๖๓) เช่น ประวัติอดีตชาติของพระเถระท่านหนึ่งว่า เคยเป็นพรานเนื้อ วันหนึ่งเห็นพระติสสพุทธเจ้า เกิดความเสื่อมใส ได้ถวายหญ้ากำหนึ่งเป็นที่รองนั่ง แล้วมีจิตใจผ่องใส ครั้นออกจากที่นั้นไปไม่นาน ก็ถูกราชสีห์กัดตาย เพราะกรรมที่ทำไว้ใกล้ตาย (อาสนฺเน เม กตํ กมฺมํ) คือการที่ได้พบ ได้ถวายหญ้า และมีจิตเสื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น จึงได้เกิดในสวรรค์ จะเห็นได้ว่า ความคิดใส่ใจเกี่ยวกับกรรมใกล้ตาย และการใช้คำว่าอาสันนะในแง่ของกรรมนี้ ได้มีอยู่แล้วในยุคของคัมภีร์อปทาน

ทิฏฐธรรมเวทนีย (กรรม) มีกล่าวถึงในบาลีอีกบางแห่ง โดยเฉพาะใน ม.อุ. ๑๔/๑๐/๑๐; องฺ.นวก. ๒๓/๒๑๗/๓๙๘ แต่มาคู่กับสัมปรายเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในเบื้องหน้า) ในชุดซึ่งมี ๑๐ คำ อีก ๘ คำ คือ สุขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นสุข หรือให้ผลเป็นสุข) ทุกขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นทุกข์) ปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตภาพที่พร้อมอยู่ หรือถึงคราวแล้ว) อปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตภาพที่ยังไม่ถึงคราว) พหุเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลมาก) อัปปเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลน้อย) เวทนีย (ซึ่งจะต้องเสวยผล) อเวทนีย (ซึ่งจะไม่ต้องเสวยผล)

คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัขขเวทนียกรรม และอปราปริยเวทนียกรรม มีกล่าวไว้ชัดเจน คือเป็นรูปร่างบริบูรณ์ในคัมภีร์กถาวัตถุ (อภิ.ก. ๓๗/๑๘๕๓/๖๔๔; อภิ.ก. ๓๗/๑๘๕๔/๖๔๔) ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระรจนาขึ้น ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ ราว พ.ศ. ๒๑๘ ส่วน อโหสิกรรม มีอยู่ชัดเจนก่อนแล้ว ในคัมภีร์ ปฏิสัมภิทามัคค์ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๒๓/๔๑๔) ที่เคยอ้างแล้ว และอรรถกถานับว่าเป็นกรรม ๑๒ อีกชุดหนึ่ง คือ

๑. กรรมได้มีแล้ว วิบากได้มีแล้ว

๒. กรรมได้มีแล้ว วิบากไม่ได้มี

๓. กรรมได้มีแล้ว วิบากกำลังมีอยู่

๔. กรรมได้มีแล้ว วิบากไม่มีอยู่

๕. กรรมได้มีแล้ว วิบากจักมี

๖. กรรมได้มีแล้ว วิบากจักไม่มี

๗. กรรมมีอยู่ วิบากมีอยู่

๘. กรรมมีอยู่ วิบากไม่มี

๙. กรรมมีอยู่ วิบากจักมี

๑๐. กรรมมีอยู่ วิบากจักไม่มี

๑๑. กรรมก็จักมี วิบากก็จักมี

๑๒. กรรมจักมี วิบากจักไม่มี

อรรถกถาอธิบายกรรม ๑๒ ชุดนี้ ตามแนวกรรม ๑๒ ชุดก่อนนั่นเอง (องฺ.อ.๒/๑๔๔-๕) สาระสำคัญของกรรมชุดนี้คือแสดงกรรมที่มีผล และกรรมที่ไม่มีผล ซึ่งมีฝ่ายละ ๖ เท่ากัน พึงสังเกตว่า อโหสิกรรม ก็คือคำแปลท่อนแรกในหลายข้อว่า “กรรมได้มีแล้ว”

ส่วนกรรมอื่นนอกจากนี้ เช่น ครุกะ และ อาจิณณะ เป็นต้น เดิมเป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้ในความหมายสามัญ ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นกรรม และยังไม่จัดเป็นประเภท มาปรากฏในสมัยอรรถกถา ดังกล่าวแล้วข้างต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2022, 20:40 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร