วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 21:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2021, 21:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อนึ่ง กระบวนการความเป็นไปทั้งปวงในธรรมชาติย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นไป
ลอยๆ และไม่มีการบันดาลให้เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัย ความเป็นไปที่ประหลาดน่าเหลือ
เชื่อ ดูเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออัศจรรย์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เหตุปัจจัยในเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยังไม่ถูกรู้เท่าทัน เรื่องนั้นก็กลายเป็น
เรื่องประหลาดอัศจรรย์ แต่ความประหลาดอัศจรรย์จะหมดไปทันทีเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในเรื่อง
นั้นถูกรู้เท่าทันหมดสิ้น ดังนั้น คำว่าสิ่งเหนือหรือนอกเหนือธรรมชาติตามที่กล่าวมาแล้ว
จึงเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง

ในเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ก็เช่นกัน การที่แยกออกมาเป็นคำต่างหากกันว่า มนุษย์กับธรรมชาติ
ก็ดี มนุษย์สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็ดี เป็นเพียงสำนวนภาษา แต่ตามเป็นจริงแล้ว
มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ

ที่พูดกันว่ามนุษย์ควบคุมบังคับธรรมชาติได้ ก็เป็นเพียงการที่มนุษย์ร่วมเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง
และผลักดันปัจจัยอื่นๆ ในธรรมชาติให้ต่อเนื่องสืบทอดกันไป จนบังเกิดผลอย่างนั้นๆ ขึ้น เป็นแต่ใน
กรณีของมนุษย์นี้ มีปัจจัยฝ่ายจิต อันประกอบด้วยเจตนา เข้าร่วมในกระบวนการด้วย จึงมีการ
กระทำและผลการกระทำอย่างที่เรียกว่าสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ทั้งสิ้น

มนุษย์ไม่สามารถสร้าง ในความหมายที่ว่าให้มีให้เป็นขึ้นลอยๆ โดยปราศจากการเป็นเหตุปัจจัย
กันตามวิถีทางของมัน ที่ว่ามนุษย์บังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็คือการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ
ที่จะเป็นกระบวนการให้เกิดผลที่ต้องการแล้ว จึงเข้าร่วมเป็นปัจจัยผลักดันปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น
ให้ต่อเนื่องสืบทอดกันจนเกิดผลที่ต้องการ ขั้นตอนในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือรู้ จากนั้นจึงมี
อย่างหรือขั้นที่ ๒ คือ เป็นปัจจัยให้แก่ปัจจัยอื่นๆ ต่อๆ กันไป

ใน ๒ อย่างนี้ อย่างที่สำคัญและจำเป็นก่อนคือ ต้องรู้ ซึ่งหมายถึงปัญญา เมื่อรู้หรือมีปัญญาแล้ว
ก็เข้าร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าจัดการให้เป็นไปตามประสงค์ได้

การเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้หรือปัญญาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการถือ
เอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ หรือจะเรียกตามสำนวนภาษาก็ว่า สามารถบังคับควบคุมธรรม
ชาติได้ และเรื่องนี้มีหลักการอย่างเดียวกันทั้งในกระบวนการฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม หรือ
ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ ฉะนั้น ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็น
อย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของการ
เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันตามกฎธรรมดานี่เอง จะพูดเป็นสำนวนภาษาว่าสามารถบังคับควบคุม
ธรรมชาติฝ่ายนามธรรมได้ ควบคุมจิตใจของตนได้ ควบคุมตนเองได้ ก็ถูกต้องทั้งสิ้น

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและ นามธรรม
ที่จะช่วยให้มนุษย์ถือเอาประโยชน์ได้ทั้งจากกระบวนการฝ่ายจิตและกระบวนการฝ่ายวัตถุ

ชีวิตแห่งปัญญา จึงมองลักษณะได้ ๒ ด้าน คือ ด้านภายในมีลักษณะสงบเยือกเย็น ปลอดโปร่ง
ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ เมื่อเสวยสุข ก็ไม่หลงระเริงหรือสยบมัวเมา และไม่เหลิงละเลิง
ลืมตัว เมื่อขาด พลาด หรือพรากจากเหยื่อล่อสิ่งปรนปรือต่างๆ ก็มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว
ไม่หดหู่ ซึมเศร้า สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ปล่อยตัวฝากสุขทุกข์ของตนไว้ในกำมือของอามิส
ภายนอกที่จะตัดสินให้เป็นไป ด้านภายนอก มีลักษณะคล่องตัว ว่องไว พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้าเกี่ยว
ข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปม หรือความยึดติด
ภายใน ที่จะมาเป็นนิวรณ์เข้าขัดขวาง กั้นบัง ถ่วง ทำให้เขว ลำเอียง หรือทำให้พร่ามัว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2021, 04:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


มีพุทธพจนบางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึด
มั่นถือมั่น กับชีวิตแห่งปัญญา เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง บ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขม-สุข
เวทนา (เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง

“อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

“ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริย
สาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?”

“เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ
ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น... ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

“อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจ เพราะ
ทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว
ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกข
เวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้น
ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออก
ของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้...ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขม
สุขเวทนา (=อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง

“ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูก
มัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว

“ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข โทมนัส และ อุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2021, 04:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


“ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน เธอย่อมเสวยเวทนา
ทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

“เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อ
เป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้
ก็ฉันนั้น... ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

“อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา
นั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หัน
เข้าระเริงกับ เพราะอะไร? เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา
นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอน
เนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนา
เหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้...ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา
ก็ไม่นอนเนื่อง

“ถ้าเสวยสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่
ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า
อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์”

“ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริย-สาวก
ผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้”

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรกำจัดแก้ไข เมื่อกำจัดแก้ไขแล้วจะ
ได้อะไร อะไรควรทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้อะไร

ส่วนที่ว่า ในการกำจัดแก้ไขและทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของจริยธรรม
ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2021, 05:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




SmartSelectImage_2021-05-18-06-20-18.jpg
SmartSelectImage_2021-05-18-06-20-18.jpg [ 37.28 KiB | เปิดดู 853 ครั้ง ]
๕. คำอธิบายตามแบบ
คำอธิบายแบบนี้ มีความละเอียดลึกซึ้ง และกว้างขวางพิสดารมาก เป็นเรื่องทางวิชาการโดย
เฉพาะ ผู้ศึกษาต้องอาศัยพื้นความรู้ทางพุทธธรรมและศัพท์วิชาการภาษาบาลีมาก และมีคัมภีร์
ที่แสดงไว้เป็นเรื่องจำเพาะที่จะศึกษาได้โดยตรงอยู่แล้ว จึงควรแสดงในที่นี้เพียงโดยสรุป
พอเป็นหลักเท่านั้น

ก. หัวข้อและโครงรูป
หัวข้อทั้งหมด ได้แสดงไว้ในตอนว่าด้วยตัวบทแล้ว จึงแสดงในที่นี้แบบรวบรัด เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

อวิชชา---สังขาร---วิญญาณ---นามรูป---สฬายตนะ---ผัสสะ---เวทนา---ตัณหา---อุปาทาน---
อุปาทาน---ภพ---ขาติ---ชรามรณะ + โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส = ทุกขสมุทัย

ข. คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อ ตามลำดับ

ก่อนแสดงคำจำกัดความและความหมายตามแบบ จะให้คำแปลและความหมายง่ายๆ ตามรูปศัพท์
เป็นพื้นฐานความเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน ดังนี้

๑. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง คือ ไม่รู้ความจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริง

๒. สังขาร ความคิดปรุงแต่ง เจตจำนงและทุกสิ่งที่จิตได้สะสมไว้

๓. วิญญาณ ความรู้ต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ คือ การเห็น-ได้ยิน-ฯลฯ-รู้เรื่องในใจ

๔. นามรูป นามธรรมและรูปธรรม ชีวิตทั้งกายและใจ

๕. สฬายตนะ อายตนะคือ ช่องทางรับรู้ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

๖. ผัสสะ การรับรู้ การประจวบกันของอายตนะ+อารมณ์ (สิ่งที่ถูกรับรู้) + วิญญาณ

๗. เวทนา ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ

๘. ตัณหา ความทะยานอยาก คือ อยากได้ อยากเป็น อยากไม่เป็น

๙. อุปาทาน ความยึดติดถือมั่น การยึดถือค้างใจ การยึดถือเข้ากับตัว

๑๐. ภพ ภาวะชีวิตที่เป็นอยู่ สภาพชีวิต ผลรวมกรรมทั้งหมดของบุคคล

๑๑. ชาติ ความเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ยึดถือเอาเป็นตัวตน

๑๒. ชรามรณะ ความแก่-ความตาย คือ ความเสื่อมอินทรีย์-ความสลายแห่งขันธ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2021, 06:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไปนี้ คือ คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อทั้ง ๑๒ ตามแบบ

๑. อวิชชา = ความไม่รู้ทุกข์ –สมุทัย – นิโรธ – มรรค (อริยสัจ ๔) และ (ตามแบบอภิธรรม)
ความไม่รู้หนก่อน – หนหน้า – ทั้งหนก่อนหนหน้า – ปฏิจจสมุปบาท

๒. สังขาร = กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร และ (ตามนัยอภิธรรม) ปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร

๓. วิญญาณ = จักขุ ~ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~มโนวิญญาณ (วิญญาณ ๖)

๔. นามรูป = นาม ( เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ) หรือตามแบบอภิธรรม (เวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) + รูป (มหาภูตรูป และรูปที่อาศัยมหาภูต ๔)

๕. สฬายตนะ = จักขุ – ตา โสตะ – หู ฆานะ – จมูก ชิวหา – ลิ้น กาย – กาย มโน - ใจ

๖. ผัสสะ = จักขุสัมผัส โสตะ ~ ฆานะ ~ ชิวหา ~ กายะ ~ มโนสัมผัส (สัมผัส ๖)

๗. เวทนา = เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส จากโสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ และมโนสัมผัส
(เวทนา ๖)

๘. ตัณหา = รูปตัณหา (ตัณหาในรูป) สัททตัณหา (ในเสียง) คันธตัณหา (ในกลิ่น) รสตัณหา
(ในรส) โผฏฐัพพตัณหา (ในสัมผัสทางกาย) ธัมมตัณหา (ในธรรมารมณ์) (ตัณหา ๖)

๙. อุปาทาน= กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ)ทิฏฐุปา
ทาน(ความยึดมั่นในทิฏฐิ คือ ความเห็น ข้อยึดถือ ลัทธิ ทฤษฎี ต่างๆ)สีลัพพตุปาทาน (ความ
ยึดมั่นในศีลและพรต ว่าจะทำให้คนบริสุทธิ์ได้)อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นใน สร้างตัวตนขึ้น
ยึดถือไว้ด้วยความหลงผิด)

๑๐. ภพ = กามภพ รูปภพ อรูปภพ อีกนัยหนึ่ง = กรรมภพ ( ปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร ) กับ อุปปัตติภพ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ, สัญญาภพ
อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ, เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ)

๑๑. ชาติ = ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้มาซึ่งอายตนะต่างๆ หรือความเกิด ความ
ปรากฏขึ้นของธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ

๑๒. ชรามรณะ = ชรา (ความเสื่อมอายุ ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์
ความขาด) หรือ ความเสื่อมและความสลายแห่งธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร